เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 45556 นิราศกวางตุ้ง
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


 เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:12


          จากกระทู้เรื่อง พระเจ้าตากสินมหาราช  มีส่วนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับกรุงจีน ทำให้นึกถึง
ร้อยกรองบันทึกการเดินทางของคณะทูตครั้งปลายรัชสมัยไปกรุงจีน ที่มีชื่อว่า นิราศกวางตุ้ง

ข้อมูลจากเว็บผู้จัดการ และ ไทยวิกิพีเดีย เป็นหลัก ท่านผู้มีข้อมูลอื่นใดช่วยเพิ่มเติม ขอบคุณล่วงหน้าครับ

              ในช่วงปลายรัชสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้แต่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ
เซียนหลงฮ่องเต้ (พระเจ้าเฉียนหลง บางแห่งว่า พระเจ้าเกาจงสุนฮ่องเต้ หรือ พระเจ้ากรุงต้าฉิ่ง) ณ กรุงปักกิ่ง
เป็นครั้งที่สาม สองครั้งแรก เชียนหลงฮ่องเต้ไม่ทรงรับรองฐานะของพระเจ้าตากสิน คือยังไม่ยอมรับว่าพระเจ้าตากสิน
เป็นกษัตริย์สยาม จนกระทั่งครั้งที่สาม เชียนหลงฮ่องเต้จึงทรงรับรองให้คณะทูตเข้าเฝ้า นั่นคือ ทรงรับรองว่าพระเจ้าตากสิน
เป็นกษัตริย์แห่งสยาม

        ทูตสยามไปครั้งนั้น มีเรือเดินทางไปถึง 11 ลำ ออกเดินทางจากกรุงธนบุรี เมื่อวันอังคารเดือน 7 แรม 13 ค่ำ
พุทธศักราช 2324 มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเป็นหัวหน้าคณะ เรื่องราวของคณะทูตระหว่างเดินทางนั้น ชนรุ่นหลัง
ทราบเรื่องราวจากที่มีบันทึกปรากฏในนิราศกวางตุ้ง ที่แต่งโดยพระยามหานุภาพเท่านั้น
 
        พระยามหานุภาพ (อัน) มีชีวิตอยู่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยรัชกาลที่ 1 ประวัติของท่าน
ไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าได้ร่วมเดินทางไปกับคณะราชทูต แต่จะไปในตำแหน่งใดไม่ปรากฏหลักฐาน
ท่านกลับมาถึงสยามเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช และได้รับยศเป็นพระยามหานุภาพ ทางด้านการกวี ท่านเป็นผู้มีฝีปากทางกลอนด้วยผู้หนึ่งในสมัยนั้น
 
             วรรณคดีเรื่องนี้จึงนับว่ามีประโยชน์มากทั้งทางวรรณกรรมและทางประวัติศาสตร์

             ลักษณะการแต่ง  แต่งเป็นกลอนนิราศ มีความยาว 372 คำกลอน

             เนื้อเรื่อง  แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ

ตอนที่ 1      กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการแต่งนิราศ ชมการจัดขบวนเรือคณะทูต เครื่องราชบรรณาการ พระราชสาสน์
                      ความอาลัยบ้านเมือง
ตอนที่ 2      กล่าวถึงการเดินทางผ่านที่สำคัญต่างๆ จากปากน้ำ ผ่านเขาสามยอด เมืองพุทไธมาส เมืองญวน จนถึง
                      เกาะมาเก๊าเป็นเวลา 33 วัน
ตอนที่ 3      กล่าวชมเมืองกวางตุ้งและประเพณีของจีน
ตอนที่ 4      เป็นการเดินทางกลับ และยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:16

         นิราศเรื่องนี้เป็นเพียงการบันทึกเหตุการณ์ ไม่มีการคร่ำครวญถึงคนรัก ผิดกับนิราศเรื่องอื่น ทั้งยังเป็น
นิราศร้างห่างไกลไปนอกสยามเป็นเรื่องแรก

เนื้อเรื่องย่อ ( โดย คุณโชติช่วง นาดอน)

         ขบวนเรือ 11 ลำออกเดินทางจากกรุงธนบุรี ถึงปากน้ำในตอนเช้า ต้องรอน้ำขึ้นถึงสองวันจึงเดินทางต่อไปได้
เมื่อออกปากอ่าวแล้วแล่นเลียบฝั่งอ้อมแหลมญวน จนถึงเมืองกวางตุ้งใช้เวลา 33 วัน คณะทูตเข้าพักเรือนรับรอง
 (กงกวน) ในเรื่องใช้คำว่า “กงกวนเก่า” ทำให้น่าคิดว่า พระยามหานุภาพเคยเดินทางไปกวางตุ้งมาแล้ว จึงระบุว่า
ได้พักที่บ้านรับรองเดิม
        จงตกหมูอี๋ – อุปราชเมืองกวางตุ้ง จัดการให้ม้าเร็วนำหนังสือไปแจ้งข่าวราชทูตสยามขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงปักกิ่ง
ม้าเร็วเดินทางไปกลับใช้เวลา 27 วัน พระเจ้าเชียนหลงฮ่องเต้โปรดให้คณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าได้ คณะทูตเชิญ
พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนฯ ในพระราชสาส์น พระนามของพระเจ้าตากสินปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า พระองค์
ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า แต้เจียว คำเต็มว่า เสี้ยมหลอก๊กแต้เจียว

         เดินทางทางเรือจากกวางตุ้งไปปักกิ่ง ณ วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ส่วนขุนนางที่ทำหน้าที่ค้าขาย
มิได้ร่วมเดินทางไปกับราชทูตก็อยู่ทำการค้าขายที่กวางตุ้ง ต้องรอคณะทูตไปกลับกรุงปักกิ่งอยู่ถึง 3 เดือน จึงได้กลับ
สยามประเทศ
       
        นิราศกวางตุ้งนี้เรียกกรุงจีนว่ากรุงราชคฤห์ กษัตริย์จีนก็เรียกกษัตริย์ราชคฤห์ อันนี้เป็นคติการเขียนแบบเก่า
ที่นิยมนำชื่อนครใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปมาเรียกเป็นชื่อเมืองต่างๆ รอบๆ บ้านเมืองสยาม  เช่น
เรียกกรุงญวนว่าจุฬนี เรีกกเมืองคุนหมิงว่าวิเทหราช เรียกเมืองมาวหลวง (ต้นเค้าของไทใหญ่) ว่ากรุงโกสัมพี เป็นต้น

        เรือสำเภาเดินทางไป 33 วันจึงถึงเขตกวางตุ้ง เรือสำเภาจะเข้าเมืองกวางตุ้งทางใด อ่านในนิราศแล้วยังนึกไม่ออก
ทราบแต่ว่าจาก “โหลบาน” – ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณปากน้ำกวางตุ้ง แล่นเรือเข้าแม่น้ำไปสองวันจึงถึงเมืองกวางตุ้ง
        แต่ระหว่างทางก่อนเข้าแม่น้ำ พระยามหานุภาพเอ่ยชื่อ “เกาะมะเกาสถาน” ทำให้งุนงง มะเกาตรงนี้ดูจากระยะ
การเดินทางแล้วไม่ใช่เมืองท่า “มาเก๊า”

                เขาบอกกันว่านั่นแลขอบเขต          เป็นประเทศที่จีนทั้งหลาย
         ก็ชื่นเริงบันเทิงร่ำทำกรุยกราย               บ้างอธิบายบอกเบื้องเรื่องคิรี
         อันโหลบานนี้ทวารแต่ชั้นนอก                ที่เข้าออกกวางตุ้งกรุงศรี
         จำเพาะทางเข้าหว่างคิรีมี                    ครั้นลมดีก็ได้แล่นเข้าโหลบาน
         ขึ้นยืนดูผู้คนมั่งคั่ง                            ฝรั่งตั้งเต็มเกาะมะเกาสถาน
         เป็นท่วงทีหนีไล่ก็ได้การ                      มีกำแพงสามด้านดูดี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:19

        จากเวลาออกเดินทางมาถึงตรงจุดนี้ พระยามหานุภาพบอกว่าเป็นเวลา 33 วัน ระยะทางประมาณสามร้อยโยชน์เศษ
บริเวณนี้มีป้อมรักษาการ เจ้าหน้าที่จีนลงเรือมาสอบถามที่มาที่ไปของขบวนเรือ เมื่อทราบว่าเป็นคณะราชทูตก็รับตัวคณะทูต
ลงเรือจีนไป ขบวนเรือแล่นเข้าแม่น้ำไปสองวัน จึงถึงเมืองกวางตุ้ง (คือเมืองกวางโจวหรือกวางเจา ในแม่น้ำจูเจียง)

                 แต่เข้าคลองไปได้สองราตรี         ก็ถึงที่หยุดพักนัครา
       เห็นกำปั่นแลสำเภาเขาค้าขาย                เป็นทิวทอดตลอดท้ายคฤหา
       ทั้งสี่แถวตามแนวนัครา                       ก็ทอดท่าหน้าเมืองเป็นเรื่องกัน
       แต่เสากระโดงที่ระคะตะกะก่าย              จนสุดสายเนตรแลแปรผัน
       บ้างขึ้นล่องเที่ยวท่องจรจรัล                   สุดอนันต์ที่จะนับคณนา

       ท่าเรือกวางตุ้งมีเรือสำเภามาค้าขายมากมายนับไม่ถ้วน สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจการค้าเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว
ต่อไปเป็นคำบรรยายป้อมค่ายสำหรับป้องกันเมือง ขณะนั้นจีนยังไม่ได้รบพุ่งทำสงครามกับฝรั่งนักล่าอาณานิคม

                 พิศภูมิสถานที่นัคเรศ            เป็นขอบเขตอยู่แนวเนินผา
        มีกำแพงสามชั้นกั้นนัครา                ล้วนศิลาแลงปรับระดับดี
        อันหอรบนางเรียงที่เรียงเรียบ            ไว้ระเบียบป้องกันบุรีศรี
        มีป้อมขวางอยู่กลางชลธี                  วารีแล่นรอบเป็นขอบคัน
        ตรงฟากเมืองไว้เครื่องข้างเรือรบ         ก็เตรียมครบทอดราอยู่ท่านั้น
        พอขุกเหตุสังเกตคืนวัน                    ก็เรียกทันถอยไล่ก็ได้ที

        ป้อมค่ายแม้จะใหญ่โตเตรียมไว้ดี ทหารประจำการและกองเกณฑ์ก็มีตระเตรียมพร้อม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับศึกฝรั่ง
จีนก็พ่ายแพ้ต่ออาวุธทันสมัยที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงกว่า
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:27

          คณะทูตไทยได้เข้าพักที่กงกวนเก่า (ที่พักรับรองทูตต่างประเทศ) ต่อมาทูตได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง
ส่วนคณะผู้ทำหน้าที่ค้าขายต้องดูแลการค้าขายอยู่ที่กวางตุ้ง ซึ่งพระยามหานุภาพเขียนบอกเป็นนัยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ออกไปรบทัพจับศึกยังจะง่ายกว่า ด้วยเกรงว่าจะมีผิดพลาดบกพร่อง ค้าขายไม่ได้กำไร แต่ในที่สุด บุญญาธิการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทำให้การค้าขายราบรื่น

                 ฝ่ายทูตเขาจะไปเห็นได้ดี        เพราะธุลีบาทคุ้มคลุมไป
        อันพวกเราอยู่ขายจำหน่ายของ            แต่นั่งตรองนอนตรอมจนผอมไผ่
        ที่ขาดเหลือเจือครบบรรจบไป             ก็มีในบานชีว่าทั้งห้าบาน
        ครั้งเสร็จของเงินทองสำเร็จรับ            แล้วประดับเภตราจะมาสถาน
        ความดีใจประหนึ่งได้วิมานปาน           แต่นับวารคอยเคร่าทุกเช้าเย็น
        ..................................................
            ประการใดไปทางระวางเหตุ            ก็สังเกตรัถยาเข้ามาถวาย
        เห็นการค้าเหลือบ่าจะแบกตะพาย          ถ้าหักค่ายฤาตีทัพขอรับไป
        ไม่เห็นช่องเลยว่าของพระราชทรัพย์        จะได้กลับฤามามากลายเป็นง่ายได้
        แล้วแสนยากที่ทะเลคะเนไกล              ก็กลับพามาได้สะดวกดี
        ดังเทวามาสุมประชุมทรัพย์                 ไว้สำหรับหน่อเนื้อพระชินศรี
        จะสร้างสมอบรมพระบารมี                  ในยุคนี้บรรจบให้ครบกัลป์
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:31

ตอนชมบ้านเมือง

                อันร้านรายขายของทั้งสองฟาก        ประหลาดหลากล้วนทำด้วยฉำฉา
        ประจงเจียนเขียนวาดแล้วชาดทา             ที่ตั้งหน้าตรงร้านกระดานทอง
        เป็นวิสัยลูกค้าบรรดาขาย                      จารึกรายไว้ให้ดูรู้ของ
        ที่กระถางธูปเทียนนั้นเขียนทอง               ทั้งเตียงรองหลั่นลดนั้นรจนา
        อันเครื่องร้านที่สำหรับประดับของ             ล้วนแก้วแหวนเงินทองนั้นหนักหนา
        แพรพรรณสรรพสิ่งละลานตา                  ทั้งเสื้อผ้ามุ้งม่านตระการใจ
        ทั้งถ้วยโถโอจานแลจันอับ                     จะคณนานามนับไปเป็นไหนไหน
        บ้างหาบคอนร่อนขายอุบายไป                 บ้างเคาะไม้แทนปากก็มากมาย

 ตอนที่กล่าวถึงประเพณีการห่อเท้าของผู้หญิงจีน

                อันชมสาวที่ชาวสถลมาศ         ไม่อุจาดเหมือนจีนประจำท่า
         อันรูปทรงสรรเสริญจำเริญตา            ครั้นพิศเบื้องบาทาก็เสียดาย
         เอาผ้าคาดขึงเหนี่ยวจนเรียวรัด          พาวิบัติอินทรีย์ให้มีสลาย
         จะดำเนินมิใคร่ตรงพอทรงกาย          ย่อมใช้ชายขายค้ามาให้กิน

บทวิจารณ์(ไม่ได้ระบุผู้เขียน) 
          สำนวนโวหาร สำนวนกลอนเรียบๆ ใช้ถ้อยคำง่ายๆ บทบรรยายและบทพรรณนาละเอียด
และเด่นชัด มีสัมผัสอักษรอย่างกลอนสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าความไพเราะจะไม่เท่ากลอนของสุนทรภู่
แต่ก็สมควรยกย่องพระยามหานุภาพว่าเป็นกวีเขียนนิราศได้ไพเราะคนหนึ่ง

คุณค่าของหนังสือ

         ในด้านประวัติศาสตร์ นิราศเรื่องนี้เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าในการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในการเดินทาง
เพื่อเจริญพระราชไมตรี ตลอดจนบันทึกเกี่ยวกับการทูตสมัยโบราณ โดยพรรณนาการเดินทางอย่างละเอียด
         ในด้านวรรณคดี พระยามหานุภาพเป็นผู้ริเริ่มการบันทึกเหตุการณ์ และเป็นนิราศที่ใช้ฉากต่างประเทศ
เป็นเรื่องแรกในวรรณคดีไทย
         ในด้านสังคม นิราศบรรยายให้เห็นสภาพของบ้านเมืองของจีน และวัฒนธรรมของจีน ตลอดจนชีวิต
ความเป็นอยู่ของคนจีนในสมัยนั้น

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 พ.ค. 07, 13:33


              และขอจบด้วย บทกลอน ยอพระเกียรติพระบามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากนิราศเรื่องนี้ ครับ

           ชะรอยอรรถบุรุษอุดมวงศ์
ในสิบองค์โพธิสัตว์ดุสิตสวรรค์
ได้รัฐยาเพททายทำนายพรรณ
ในอนันต์สำนักชิเณรนาน
จึงดลใจให้พระองค์ทรงนั่ง
บัลลังก์รัฐรสพระธรรมกัมมัฏฐาน
ให้ทรงเครื่องนพรัตน์ชัชวาล
พระชมฌานแทนเบญจกกุธภัณฑ์
เอาพระไตรลักษณ์ทรงเป็นมงกุฎ
พระงามสุดยอดฟ้าสุทธาสวรรค์
เอาพระศีลสุจริตในกิจกรรม์
เป็นสุวรรณเนาวรัตน์สังวาลย์
เอาพระมุติธรรม์เป็นคันฉัตร
เอาพระสัจจะเป็นระใบไพศาล
ล้วนเครื่องศีลวัตรอันชัชวาล
พระอุเบกขาญาณเป็นธารกร

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 พ.ค. 08, 21:18

เกิดข้องใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับนิราศกวางตุ้ง กลับมาอ่านกระทู้นี้ คิดว่าสามารถไขข้อข้องใจบางอย่างได้ด้วยรูปนี้ครับ

ไม่ต้องสงสัยอะไรเลย มะเกา ก็คือ มาเก๊า นั่นเอง จากมาเก๊าเรือล่องขึ้นไปสู่กวางตุ้ง (เมืองกวางเจา) ตามแม่น้ำจูเจียงครับ



บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 พ.ค. 08, 10:29

          ขอบคุณคุณ CHO ครับ

       ค้นเรื่อง นิราศกวางตุ้งจากเน็ทเพิ่มเติม ได้ส่วนหนึ่งของนิราศที่ปรากฏในบทความเรื่องของคำว่า ดอกทองครับ

       จากนิราศกวางตุ้ง  พระยามหานุภาพพาดพิงถึงหลวงราไชย ว่าได้ติดโรคผู้หญิง (กามโรค) จากหญิงคณิกา
จนต้องเก็บตัวไม่กล้าออกพบผู้ใด
           เนื้อหาในกลอนบทนั้นมี ความว่า

           ที่ภักดีโดยการก็งานเปลือง
ไม่ยักเยื้องกริยาเหมือน "ราไชย"
เมื่อท่านยุกรบัตรหาปรึกษาของ
ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป
พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว

          คำว่า อุปทม ที่ปรากฏอยู่ใน นิราศกวางตุ้ง คือ กามโรค ชนิดหนึ่งในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
อุปทม (อุปทังสโรค) แบ่งออกได้ ๔ จำพวก

อ่านต่อได้ที่ http://gotoknow.org/blog/kelvin/168214 ครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 พ.ค. 08, 21:16

ขอบคุณ คุณ SILA ครับ

เรื่อง "ดอกทอง" นี้ ผมก็เคยค้นมาพักหนึ่ง แต่เนื่องจากอยู่ไกล จึงขาดข้อมูลปฐมภูมิ เช่น คำกลอน และกฎหมายเก่าๆ จึงหยุดไว้

เรื่องประหลาดใจอย่างหนึ่งคือ ได้พบคำว่า "ดอกทอง" ในพจนานุกรมภาษาเขมร แต่เมื่อได้ถามท่านผู้รู้ภาษาเขมรแล้ว ท่านบอกว่า ทางเขมรก็ยืมมาจากคำไทย

ส่วนที่มาจากคำจีน ผมตัดทิ้งเลยครับ เพราะว่าเป็นคำที่ใช้กันในหมู่คนแต้จิ๋วในไทยเท่านั้น คนแต้จิ๋วที่เมืองจีนจะไม่รู้จักคำนี้ เรื่องนี้คุณ CrazyHOrse เคยยกตัวอย่างคำว่า "ตลาด" มาเปรียบเทียบแล้ว

ส่วนที่ว่าเป็น "คำผวน" ผมก็ไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะถ้า "ผวน" คำว่าดอกทอง กลับแล้ว มันก็ไม่ได้สื่ออะไรเท่าไหร่ ดูเหมือนจะเป็นการลากคำมาอธิบายมากกว่า

แต่ที่ทำให้ผม ค่อนข้างเชื่อคือ "ดอกทอง" เป็นการเรียกตัดคำมาจาก "ดอกทองกวาว" หรือ "ดอกทองธรรมชาติ" หรือ คำว่า "ทอง" มีนัย (สมัยโบราณ) หมายถึงสีแดง (เทียบการเรียก ทองแดง)

ที่เชื่อเช่นนี้ เพราะชัดเจนว่า การประนามผู้หญิงคบชู้ จะใช้สัญลักษณ์คือ "ดอกไม้สีแดง" เป็นกฎหมาย เป็นธรรมเนียมที่รู้กันในชุมชน และเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 พ.ค. 08, 22:00

สารภาพตามตรงว่ายังไม่กล้าตัดความเป็นไปได้ว่าเป็นคำที่มาจากภาษาแต้จิ๋วครับคุณ Hoฯ

ศัพท์คำนี้บรรจุอยู่ในพจนานุกรมของ gaginang.com ร่วมกับอีกสองสามคำที่อยู่ในชุดเดียวกัน ผม "ว่าจะ" ไปโพสต์ถามที่ gaginang.com หลายหนแล้ว แต่ไม่รู้เป็นไง นึกได้ทีไร gaginang.com ต้องเข้าไม่ได้ทุกที (ตอนนี้ก็เข้าไม่ได้)

แต่ที่ว่ามาจากคำผวนนี่ผมก็ไม่เชื่อครับ รู้สึกว่าจับแพะชนแกะมากไปหน่อยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 พ.ค. 08, 22:20

ไม่แน่ว่า ทางกากี่นั้ง เค้ารวบรวมคำแต้จิ๋วโพ้นทะเลไว้ด้วยก็ได้นะครับ คงต้องดูแหล่งว่าเค้ารวบรวมจากพจนานุกรมไหนบ้าง สังเกตดูว่าไตเติ้ลตรงหน้าเพ็จเค้าจะมีเขียนอยู่สองสามภาษา มีไทยและเขมรด้วย ผมคิดว่าน่าจะรวบรวมมาจากพจนานุกรมแต้จิ๋วในไทยและเขมรด้วยมั้งครับ

ถ้าคุณ CrazyHOrse ถามแล้วก็มาบอกด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 24 พ.ค. 08, 23:59

"คำว่า อุปทม ที่ปรากฏอยู่ใน นิราศกวางตุ้ง คือ กามโรค ชนิดหนึ่งในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
อุปทม (อุปทังสโรค) แบ่งออกได้ ๔ จำพวก"


คำว่า "อุปทม" นี้ ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานไม่ได้ให้ที่มาไว้ว่าเป็นคำบาลีหรือไม่ อธิบายเพียงว่า

"อุปทม    [อุปะทม, อุบปะทม] น. กามโรค."

ดูรูปคำแล้ว น่าจะเป็นคำบาลี เพราะเป็นคำที่ใช้ตั้งชื่อหมวดของโรค คือ "อุปทังสโรค" (Upadansa ? Roga)

อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตว่า คำอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ล้วนมุ่งไปเฉพาะที่องค์ชาติเท่านั้น คือเป็นโรคที่เกิดขึ้นแต่ที่องค์ชาติ ไม่เกี่ยวกับเพศหญิงแต่อย่างใด จึงสงสัยอยู่ว่าคำว่า "อุปทม" นี้ เป็น "คำเพี้ยน" มาจากภาษาบาลี ซึ่งอาจมีรากมาจากคำว่า "อุบัติ" (บาลี: อุปฺปตฺติ) มีความหมายว่า "เกิด" หรือ "กำเนิด" ดังนั้นคำว่า "อุปทังสโรค" จึงน่าจะมีนัยหมายถึง "โรคที่เกี่ยวเนื่องกับอวัยวะที่ให้กำเนิด" คือ "กามโรคของอวัยวะเพศชาย" มากกว่าที่จะหมายถึง "กามโรค" เฉยๆ (ซึ่งหมายร่วมทั้งหญิงและชาย)

ลองไปค้นดูในพจนานุกรมภาษาบาลีของสมาคมบาลี ก็ไม่พบคำว่า "อุปทม" แต่พบคำว่า

Upapātika (อุปปาติก) (adj.) = opapātika (โอปปาติก) i. e. rebirth without parents, as a deva คำไทยคือ โอปปาติกะ

Uppāda (อุปฺปาท) flying up, jump; a sudden & unusual event, portent.

Uppāda (อุปฺปาท) coming into existence, appearance, birth.

Uppādaka (อุปฺปาทก) (adj.) producing, generating.

Uppādana (nt.) (อุปฺปาทน) making, generating, causing.

Uppādin (adj.) (อุปฺปาทิน) having an origin, arising, bound to arise.

ดังนั้น "อุปทม" จึงน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาบาลีว่า "อุปฺปาทํ" (uppāda ํ) ซึ่งมีนัยหมายถึง องค์ชาติ อันเป็นเครื่องให้กำเนิดชีวิต


ที่มา:
Pali Text Society, London. The Pali Text Society's Pali-English dictionary. Chipstead, 1921-1925.
http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/pali/
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 00:49

เคยอ่านเรื่องนี้เมื่อค้นข้อมูลเขียน"รัตนโกสินทร์" จำได้แต่ว่าบันทึกถึงปลาวาฬในอ่าวไทย 
น่าจะเป็นประเภท ปลาวาฬหัวบาตร
นึกออกแค่นี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 21:39

นิราศเล่มนี้มีศัพท์แสงน่าสนใจอยู่หลายคำเลยครับ มีโอกาสต้องอ่านแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

อย่างคำว่า "ปลาวาฬ" ผมก็เคยพยายามหาที่มาอยู่ บางคนบอกว่าเพี้ยนมาจาก Whale แต่ผมไม่ค่อยเชื่อ บางท่านบอกว่ามาจากคำบาลี ตรงๆ คือ "วาฬ" หรือ "พาฬ" แปลว่า สัตว์ร้ายช้างร้าย, สิงโต, งู, เสือ หรือ จะหมายถึงเป็นสัตว์ร้ายในสายตาของนักเดินเรือ  ฮืม

ถ้ามีคำว่า "วาฬ" ในนิราศนี้ ก็ยืนยันได้ว่า คำนี้มีใช้กันอย่างน้อยก็ตั้งแต่อยุธยาตอนปลาย-ธนบุรี

โดยส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นคำยืมมาจากภาษาเปอร์เซียครับ

وال (wāl, วาล = ปลาวาฬ, ปลาตัวใหญ่) ซึ่งในพจนานุกรมที่ผมค้นก็ไม่ได้บอกว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาอะไร

แต่คิดว่าเป็นไปได้ที่ชาวเปอร์เซียอาจรับคำนี้มาจากภาษาเยอรมัน: Wal หรือ จากภาษาอังกฤษ: Whale อีกทีหนึ่ง

ส่วนทำไมถึงสะกดด้วย "ฬ" ก็อาจเป็นไปได้ว่า เป็นการใช้เพื่อบอกว่าเป็นคำต่างชาติ แทนที่จะเขียน วาน หรือ วาล ก็เขียน วาฬ คล้ายๆ กับคำว่า กระดาษ ที่ยังเก็บ "ษ" ไว้ ให้เห็นเค้าว่ามาจากเสียง "s" จากภาษามาเลย์-เปอร์เซีย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 22:04

ผมข้องใจคำว่าวาฬมาตั้งแต่ตอนตามรอยกำสรวลสมุทรแล้วครับ

ฉบับที่แพร่หลายบนเน็ตเขียนว่า "วาลเลขลํไล่ปรุ้ย ไปมา"
ฉบับมติชนที่ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ชำระ เขียนว่า "วาฬเลกลมไล่ปรุ้ย ไปมา"

จะวาฬหรือวาลก็ไม่รู้ล่ะ ที่ผมข้องใจคือพฤติกรรมที่ว่ามันเหมือนโลมามากกว่าวาฬน่ะสิครับ

ยิ่งอ.เทาชมพูบอกว่านิราศกวางตุ้งพูดถึงวาฬหัวบาตร ยิ่งข้องใจหนักเข้าไปใหญ่ เพราะผมเข้าใจว่าไม่มีวาฬหัวบาตร มีแต่โลมาหัวบาตรครับ

หรือคนโบราณจะเรียกปลาโลมาว่าวาฬด้วย  ฮืม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง