เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 20845 ยาใจ ยาจก
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


 เมื่อ 15 พ.ค. 07, 11:22

                        ยาใจยาจก           

คำร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล       ทำนอง  ครูเอื้อ สุนทรสนาน


               เมื่อได้อยู่กับชู้ชื่น                ต้องกล้ำกลืนเพราะความจน

สู้บากบั่นกันสองคน                             ยังไม่พ้นความจนได้

               ต่างก็อยู่ไม่รู้ห่าง                 ไม่จืดจางไปทางใด

ต่างก็อยู่คู่หัวใจ                                  ฝากรักไปจนวันตาย

               ปรองดองกันสองคน              ดิ้นรนจวบจนชีพสลาย

ทนไปไม่เว้นวาย                                ฟ้าดินสลายมิคลายแคลงไป 

               จะไม่ให้ใครเขาหมิ่น             กัดเกลือกินจนสิ้นใจ

ฝากสวาทฝากรักไป                             ไม่ร้างไกลใจแน่นอน


ร้องโดย  คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 พ.ค. 07, 11:33


             อ่านข่าวการจากไปของศิลปินแห่งชาติ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี หลังจากที่ "ยาใจยาจก" ของท่าน
(ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติเช่นกัน) เพิ่งจะล่วงหน้าไปก่อนเมื่อเดือนที่แล้ว เสียงเพลงที่ดังขึ้นมาในความคำนึง
จึงไม่อาจเป็นเพลงอื่นใดได้ นอกจากเพลงนี้ที่ครูเพลงประพันธ์ให้เป็นเพลงแห่งชีวิตคู่ของท่านทั้งสอง
 
                  ข่าวกล่าวว่า คุณเพ็ญศรี ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ท่านไม่ทราบว่าคุณสุวัฒน์ได้จากไปแล้ว
แต่คืนก่อนที่ท่านจะเสีย ท่านบอกกับคนดูแลว่า คุณสุวัฒน์ได้มาชวนท่านไปที่ศาลาแห่งหนึ่ง 

                  คุณเพ็ญศรี ฝากผลงานเพลงที่ท่านร้องด้วยเสียงใสๆ สูงๆ ไว้มากมายหลายเพลง เป็นเพลงที่ไพเราะ
ติดหู ชวนฟัง มากกว่าชวนร้อง เพราะเสียงสูง และร้องให้ไพเราะ(เช่นท่าน)ได้ยาก
                   ผลงานเพลงเอกของท่าน ทั้งเมื่อครั้งอยู่วงสุนทราภรณ์ และหลังจากออกจากวงแล้ว ได้แก่ 
                   คนึงครวญ คำรำพัน หาดสงขลา หงส์เหิน ฝากรัก สัญญาที่เธอลืม ศกุนตลา วิหคเหินลม
ม่านไทรย้อย หนามชีวิต คนจะรักกัน บางปะกง   ฯลฯ           
   
                  ในขณะที่ได้ฟังเสียงของคุณเพ็ญศรี ก็ได้มีโอกาสดูผลงานของคุณสุวัฒน์ทางหน้าจอโทรทัศน์
ไทยทีวีช่องสี่ บางขุนพรหม ที่ท่านได้เขียนบทละครฝากไว้หลายเรื่อง ที่โดดเด่นจำได้ดีก็คือ เรื่อง ลูกทาส
และ ขุนศึกมหาราช

               งานเขียนของท่านที่ได้มีโอกาสอ่าน เป็นผลงานเบาๆ ที่ท่านเขียนในยามที่บรรยากาศบ้านเมืองมืดหม่น
จนกระทั่งถึงช่วงที่ฟ้าเปิดมีแสงส่องจึงได้มีโอกาสอ่านผลงานที่ประทับใจที่สุด คือ พิราบแดง

                      ขอแสดงความรำลึก อาลัยต่อการจากไปของท่าน และขออุทิศส่วนกุศลที่เคยได้กระทำไว้ในอดีต
แด่ท่านทั้งสองด้วย 
         

       
บันทึกการเข้า
tante-marz
อสุรผัด
*
ตอบ: 6


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 พ.ค. 07, 13:15


ชื่นชอบผลงานของท่านมากค่ะ...ฟังไม่เคบเบื่อเลย..ขอให้ดวงวิญญาณของท่านสู่สุขคติ.


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 พ.ค. 07, 13:49

แสงดาวแห่งศรัทธา
คำร้อง/ทำนอง: จิตร ภูมิศักดิ์
ขับร้อง: เพ็ญศรี พุ่มชูศรี

ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง..........

<a href="http://i.domaindlx.com/bvrs/song/thai/mp3ss17d.swf" target="_blank">http://i.domaindlx.com/bvrs/song/thai/mp3ss17d.swf</a>

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 พ.ค. 07, 15:28


        ถ้าจำไม่ผิดคุณเพ็ญศรีเคยร้องเพลงนี้สดๆ บนเวทีที่ธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงได้ร้องบันทึกเสียง
ลงในอัลบั้ม สายทิพย์ 
            รู้สึกดีใจ และชื่นชมผู้ที่คัดเลือกเพลงเพื่อชีวิตที่แสนไพเราะนี้มาให้ท่านบันทึกฝากเสียงเพลงไว้
เป็นการจับคู่ทางเพลงที่สวยงาม และ
            ขอบคุณ คุณ tante-marz สำหรับภาพ และคุณ CHO สำหรับเสียง ครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 พ.ค. 07, 10:38


       วันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเว็บผู้จัดการ อ่านบทความรำลึกถึงคุณเพ็ญศรี และหลากหลายความเห็น
ที่แสดงไว้ รู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่าท่านเป็นที่รัก อาลัยของใครต่อใครมากมาย

           ที่เว็บมีเพลงให้ฟังด้วย เป็นเพลง ใต้ร่มมะลุลี จากเรื่องจุฬาตรีคูณ นิยายจาก
ปลายปากกาของ พนมเทียน  เป็นเพลงอำลา อาลัยรักของเจ้าชายขัตติยะ และ เจ้าหญิงอาภัสรา
เมื่อเจ้าหญิงต้องไปอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอริยวรรตพี่ชายของตน(เจ้าชายขัตติยะ)
           เสียงของท่านร้องคู่กับคุณวินัย จุลบุษปะ (นักร้องชายคุณภาพ ผู้ล่วงลับไปก่อนแล้ว) ได้ไพเราะ
และเศร้าสะเทือนอารมณ์มาก

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000055060&CommentPage=1&#Comment
             

           
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 พ.ค. 07, 10:25


           ช่วงนี้ ผู้อาวุโส ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมหลายท่าน ได้จากไปในเวลาไล่เลี่ยกัน
สร้างความรู้สึกอาลัยแก่ผู้ยังอยู่หลัง

        ได้มีโอกาสอ่านคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก เรื่องความหมายของการไว้อาลัยแล้ว
คิดว่ามีประโยชน์มาก จึงขอนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ ท่านใดที่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ได้รับฟังโดยเต็ม
หรือมีความเห็นเช่นไร  โปรดให้ความเห็นเพิ่มเติม

          การแสดงธรรมกถา โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อไว้อาลัยแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข
ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา


         " คำว่า 'ไว้อาลัย' นี้ ตามความหมายในพจนานุกรม เป็นเรื่องของการแสดงความระลึกถึงด้วย
ความเสียดาย ห่วงใย ผูกพัน และอีกความหมายหนึ่ง  'อาลัย' นั้นแปลว่า ที่พัก ที่อยู่ เช่นในคำว่า
หิมาลัย ก็แปลว่า ที่อยู่ของหิมะ คือภูเขาที่เป็นดินแดนของหิมะ หรือคำว่า ชลาลัย แปลว่า ที่อยู่ของน้ำ
ก็อาจหมายถึงทะเล เป็นต้น

       แต่ถ้ามอง นึกดูไปแล้ว ความหมายทั้งสองนี้ก็อันเดียวกัน ความหมายหนึ่งเป็นความหมายนามธรรม
อีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายทางรูปธรรม
           อาลัยที่แปลว่าห่วงใย ผูกพัน หรือระลึกถึงด้วยความเสียดายนั้น เป็นความหมายทางนามธรรม
แต่อาลัย ในความหมายที่ว่า ที่อยู่ ที่พัก เป็นความหมายทางรูปธรรมชัดเจน
           ถ้ามองกว้างออกไป หรือแปลให้กว้างอย่างในภาษาพระ ก็ต้องบอกว่าอาลัยคือ ที่ติดที่ข้อง ที่ขัง
ที่ค้าง ที่พัก ที่อยู่ ที่อาศัย
       ทีนี้ความหมายในรูปธรรมนั้น พอโยงมาทางใจก็คือว่า เวลาเรามีอะไรอยู่ ติดค้างในใจ ก็กลายเป็น
อาลัยขึ้นมา สิ่งนั้นมันค้างอยู่ในใจ ก็กลายเป็นความปรารถนา ใจเราก็เลยเป็นที่ค้าง ที่ขัง ที่อยู่ของสิ่งนั้น
ที่เราใฝ่หา
         อย่างที่เราอาลัยบุคคลท่านนั้น ยังค้างอยู่ในในใจเรา เราก็ระลึกถึงด้วยความห่วง ด้วยความปรารถนา
ด้วยความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นความอาลัยไป

         ...การอาลัยในแง่ว่าระลึกถึงด้วยความเสียดายนี้ เป็นแง่หนึ่งที่ใช้กันทั่วไป เราลองมามองว่า
เรามีทางไหมที่จะทำให้การไว้อาลัยนี้ มีความหมายที่ดีขึ้นกว่าเดิม มิฉะนั้นแล้ว พิธีไว้อาลัยก็เป็นเพียง
มาพบกัน แล้วก็แสดงเพียงความระลึกถึงหรือคิดถึงผู้ล่วงลับ แล้วก็จากไป เงียบหายกันไป

         ...ท่านผู้หญิงพูนศุขท่านเป็นผู้ใหญ่ ทำตัวเป็นแบบอย่าง และถือคติที่พระพุทธเจ้าหรือสาวก
ชั้นผู้ใหญ่ว่าไว้ คือ "คำนึงถึงหมู่ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง" มีใจอนุเคราะห์หรือหวังดี หวังประโยชน์
แก่คนรุ่นหลัง ถือเป็น "ทิศานุคติ"

         ...ทิศานุคติ มาจากคำว่า ทิศ และ อนุคติ ซึ่ง อนุคติ แปลว่า ดำเนินตาม ส่วน ทิศ แปลว่า มองเห็น
การเดินตามคนที่มองเห็น
             สังคมนี้มีความยกย่องเชิดชูคนดีหรือไม่ ซึ่งถ้าเชื่อมโยงต่อไปก็คือการเชิดชูธรรมะนั่นเอง
คุณธรรมความดีที่วันนี้จะยกมาเป็นอุทาหรณ์ก็คือความเข้มแข็ง
              เข้มแข็งในทางธรรมะ คือการรักษาความดี รักษาธรรมแล้วก็จะเข้ากับพุทธภาษิตที่ว่า
              ธรรมนั้นแล รักษาผู้ประพฤติธรรม "

         ซึ่งประโยคที่ว่า 'ธรรมนั้นแล รักษาผู้ประพฤติธรรม' ก็เป็นประโยคเดียวกันกับที่ท่านผู้หญิงพูนศุข
พนมยงค์ ใช้เป็นหลักชีวิต ซึ่งท่านเคยถ่ายทอดไว้ในนิตยสาร 'สาวิกา' และ รายการ 'นี่แหละ...ชีวิต' ว่า
         "มีคนเคยบอกว่า ฉันชื่อไม่สมตัว ไม่สุขเหมือนชื่อ เพราะฉันขาดความสุข...ฉันผ่านมาแล้วทุกอย่าง
ที่มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็เพราะ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม...ธรรมะสอนให้ฉันปลงอนิจจัง"

       
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ก.ย. 07, 16:03


         วันนี้ คอลัมน์ที่อ่านประจำทุกวันอาทิตย์ในนสพ. มติชน เขียนเรื่อง คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี 
กับช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญผ่านขวากหนามชีวิต
           คิดว่า บางท่านอาจจะสนใจอ่านเรื่องราวชีวิตเพื่อเป็นคติข้อคิด (มิได้มีความประสงค์ที่จะเสนอ
แนวคิดขัดแย้งทางการเมือง ครับ)   

หนามชีวิต... ที่เผด็จการลิขิต ของเพ็ญศรี พุ่มชูศรี

คอลัมน์ CD-D มีอดีต

 
          "ป้าโจ๊ว" หรือคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นนักร้องสตรีที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยในศตวรรษที่ 20...
ในระหว่างปี พ.ศ.2501-2503 ป้าโจ๊วและคุณสุวัฒน์ วรดิลก สิ้นอิสระภาพด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้ป้ายสีคุณสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งหาญมาสมัคร ส.ส. แข่ง ....
         
         ในสมัยของเผด็จการทหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งป้าโจ๊วและคุณสุวัฒน์สิ้นอิสรภาพ มีความนิยมป้ายสีใครๆ ซึ่งไม่ใช่
พวกของผู้มีอำนาจว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ด้วยเป็นยุคสงครามเย็นที่ใครๆ กำลังหวาดคอมมิวนิสต์
          ตรงกันข้าม 20 กว่าปีก่อนหน้านั้น ในสมัยที่คณะทหารและพลเรือนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใครถูกหาว่าเป็น "พวกเจ้า"
คือพวกพระเจ้าอยู่หัว ก็จะถูกจับตามอง หรือถูกจำคุก เหล่าข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงๆ ที่ต้องออกจากประเทศไทย ไปอาศัย
แผ่นดินอื่นอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก....

            ในช่วงชีวิตที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาร่วมสองปี ป้าโจ๊วมีหน้าที่ร้องเพลงให้บรรดาเพื่อนๆ ร่วมเรือนจำฟัง ทุกครั้งที่
ทางการจัดงานเช่นงานฉลองปีใหม่ หรือสงกรานต์ และป้าโจ๊วมักจะเลือกร้องเพลง "วิหคเหินลม"

         "แสนสุขสมนั่งชมวิหก อยากเป็นนกเหลือเกิน นกหนอนกเจ้าหกเจ้าเหิน ทั้งวันนกเจ้าคงเพลิน เหินลอยละลิ่วล่องลม…"

         ท่วงทำนองอันพรายพริ้งของ "วิหคเหินลม" นั้นประพันธ์โดยครูสมาน กาญจนะผลิน ผู้ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ตั้งแต่ พ.ศ.2531 ส่วนคำร้องอันแจ่มใสราวกับแต่ละคำเกาะไปบนปีกของวิหคที่กำลังเหินลม เป็นฝีมือของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
ป้าโจ๊วบันทึกแผ่นเพลงนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2494 หรือกว่า 50 ปีมาแล้ว คนไทยสมัยนั้นร้องตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง
            เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะที่ไร้อิสรภาพ เพลงวิหคเหินลมนั้นจับใจนัก เพราะเนื้อร้องตรงกับใจ ด้วยอยาก…เหินลอยละลิ่วล่องลม
ไปสู่อิสระภาพข้างนอก
             เชื่อว่าคนฟังซึ่งถูกขังร่วมอยู่กับป้าโจ๊ว คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันแทบทุกคน

             ในช่วงชีวิตการทำงานอันยาวนาน ในฐานะของศิลปิน ชื่อเสียงของป้าโจ๊วไม่ตก คุณภาพของศิลปินมีอยู่เต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็น
การทำงานบนเวที ร้องกระจายเสียงทางวิทยุ ออกโทรทัศน์ หรือแสดงสดในคลับ
          เคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า ครั้งหนึ่งมีการยิงกันในไนต์คลับ ป้าโจ๊วซึ่งกำลังร้องเพลงอยู่ไม่ได้หยุดร้อง เพียงสุ้มเสียงเครือไปนิดเดียว
ในแวบแรกเพราะตกใจ

           ป้าโจ๊วมีวินัยในการทำงาน ไม่ว่าในสถานการณ์อย่างไร ความสุขของคนฟังดูจะเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในหัวใจของศิลปินขนานแท้
แม้เมื่อยามที่ตนเองเปี่ยมด้วยความทุกข์ หรือความเหนื่อยล้า ก็เก็บงำซ่อนไว้ แล้วทำหน้าที่ต่อไปอย่างดีที่สุด ราวกับว่าเต็มใจก้มหน้าก้มตา
ใช้พรสวรรค์สร้างสุขให้ผู้ฟัง ตามคำสั่งของสวรรค์ผู้ให้มา
 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 ก.ย. 07, 16:07

           เมื่อถูกจำขังอยู่สองปีเศษ ป้าโจ๊วก็ได้รับอิสรภาพ วันที่ออกจากเรือนจำในปี พ.ศ.2503 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว
เจ้าของคณะละครวิทยุรับตัวป้าโจ๊วไปบันทึกแผ่นเสียงเพลง "หนามชีวิต" ในทันที

           "เกิดมาขื่นขมระทมอุรา…ตรมน้ำตา…ตรมน้ำตาโศกาทุกวัน จะสุขอย่างไรกันนั่น…สุขเพียงในฝันหรือไร…"

            เล่ากันว่าทีแรกป้าโจ๊วร้องเพลงและร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ก็ข่มอารมณ์ร้องไปได้ไม่มีที่ติ
สตางค์ที่รับจากการร้องเพลง ก็ได้ไปเป็นค่าอาหารส่งให้สามีซึ่งยังอยู่ในเรือนจำ
           ละครวิทยุเรื่อง "หนามชีวิต" ประสบความสำเร็จอย่างสูง คนติดกันทั้งเมือง ต้องเพิ่มความยาวจาก 60 ตอนเป็น 99 ตอน
           ทุกคนในวงการยอมรับว่า เพลงมีส่วนทำให้ละครดังอย่างเหลือเชื่อ ในครั้งที่โทรทัศน์ยังเป็นเพียงความบันเทิงของคนมีเงิน
คุณป้าคุณน้าทั้งเมืองไทยในแถบถิ่นที่การส่งกระจายเสียงไปถึง แทบจะเอาแป้งเปียกติดหูไว้กับวิทยุเมื่อถึงเวลาละครจะมา เพื่อไม่ให้พลาด
ฟังเพลงสีโศกสวยอย่างหนามชีวิต และบทละครอันสุดเศร้า (สำหรับคุณหลานๆ ที่อ่านคอลัมน์นี้ จะต้องบอกไว้ด้วยว่า สมัยโน้นกาวยังไม่เป็น
ที่นิยมเพราะต้องเสียเงินซื้อ คนส่วนใหญ่ใช้แป้งเปียกแทนกาว เพราะสามารถทำได้เองจากแป้งมันที่นำมาลงให้ผ้าแข็ง)

         ในช่วงชีวิตต่อๆ มา อดีตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างป้าโจ๊ว ได้รับรางวัลพระราชทานครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งแผ่นเสียงทองคำ
และดาราทองนักร้องดีเด่น
            รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ.2534 ด้วย ......

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent02020950&day=2007-09-02&sectionid=0105

     
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 ก.ย. 07, 16:16

                               หนามชีวิต

เกิดมาขื่นขม ระทม อุรา
ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา โศกาทุกวัน
จะสุขอย่างไร จะสุขอย่างไร กันนั่น
สุขเพียง ในฝัน หรือไร

เปรียบดังชีวิต นั้นมีขวากหนาม
ทรมาน ทรกรรม ทรกรรม ฉันจนช้ำใจ
กว่าเราจะตาย กว่าเราจะตาย มิรู้เมื่อไหร่
โอ้ไฉน ชีวิตคอยเป็นนายเรา

มีแต่น้ำตา มาปลอบหัวใจ
ให้คลาย ความช้ำ ทุกค่ำเช้า
เหมือนหนามชีวิต กรีดใจ เป็นเป้า
ให้เราอับเฉา ระทม

หวั่นไหวว่าขวากหนาม ชีวิตเอย
ควรพิเปรย ความรักเอย ความรักเอย มิเคยภิรมย์
สุขเพียง ชั่วคืน ชื่นเพียง ชั่วคราว ร้าวราน เหลือข่ม
โศรกตรม แทบล้ม ประดาตายเอย
 
คำร้อง-ทำนอง ครูไพบูลย์ บุตรขัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 ก.ย. 07, 21:39

ถ้าคุณ Sila อยากฟังเสียงป้าโจ๊ว   ไปที่เว็บนี้ค่ะ มีเพลงของท่านเปิดให้ฟังบ่อยๆ
จะขอเพลงก็ได้     มีเพลงเก่าแก่ที่ยังไพเราะกินใจ     บางเพลงดิฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย

http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/RADIO/
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ก.ย. 07, 10:29


       ขอบคุณครับ อาจารย์ 

       ได้อาศัยเว็บคนรักสุนทราภรณ์เป็นที่ค้นเนื้อเพลง และข้อมูล ตลอดจนติดตามข่าวคราวนักร้องเก่าๆ ที่มักเป็นข่าวการจากไปของท่าน
ก่อนคุณเพ็ญศรีก็เป็นคุณศรีสุดาที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลวชิระเป็นเวลานานก่อนจะจากไปในที่สุด
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 11:41

        จากคห. เดิมแสดงข้อมูลเพลงหนามชีวิต ที่ค้นได้ว่าเป็นผลงานของครูไพบูลย์ บุตรขัน

        วันนี้ ได้ข้อมูลใหม่จาก  http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000119937

ว่าเป็นผลงาน    คำร้อง - ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ทำนอง - ครูสมาน กาญจนะผลิน ครับ

         ไพลิน รุ้งรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน เขียนเล่าถึงเบื้องหลัง เพลงหนามชีวิต ว่า
       
        “...คุณเพ็ญศรี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลหุโทษ เช้าวันที่ 12 มกราคม 2504 ภายหลังการจองจำครั้งที่สอง เป็นเวลาสองปีเศษ
ดูเหมือนว่า ชีวิตคุณเพ็ญศรีจะมีงานรออยู่นับแต่นาทีแรกที่ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ
       
        เพราะ คุณถาวร สุวรรณ และ คุณปรีชา พิบูลย์เวช สองนักจัดรายการวิทยุ เจ้าของละคร สุปรีดา ขับรถไปรอเธออยู่หน้าเรือนจำ
รับคุณเพ็ญศรี ไปอัดเสียงที่ช่อง 4 บางขุนพรหมทันที เพื่อที่จะอัด เพลงหนามชีวิต ที่ คุณชาลี อินทรวิจิตร และ คุณสมาน กาญจนะผลิน
แต่งเนื้อร้องและทำนอง เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบละคร เรื่องหนามชีวิต
       
        คุณเพ็ญศรี ไม่ได้แสดงอาการแปลกใจอะไร เธอขึ้นรถไปกับชายหนุ่มทั้งสองอย่างสงบ เมื่อไปถึง ก็มีการตระเตรียมต่อเพลงฝึกซ้อมกัน
เธอสามารถทำได้อย่างเยือกเย็น ราวกับไม่ได้เพิ่งออกมาจากเรือนจำ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้
       
       เรื่องหนามชีวิต เป็นบทประพันธ์ละครวิทยุเรื่องแรก ของ ถาวร สุวรรณ ซึ่งว่าด้วยชีวิตของครอบครัวคนจน ที่มีชีวิตขื่นขมเกินพรรณนาโดยมีนางเอกเป็นตัวชูโรง
เพลงหนามชีวิต ได้รับการแต่งขึ้น เพื่อใช้เป็นเพลงนำและประกอบละครเรื่องนี้
       
        ผู้แต่ง ซึ่งรักและสนิทกับคุณเพ็ญศรี รู้ดีในขณะแต่งว่า เพลงนี้ แต่งขึ้นเพื่อให้คุณเพ็ญศรี ผู้มีชีวิตขมขื่นไม่ต่างจากนางเอก เขาจึงบรรจงใส่อารมณ์ทั้งหมด
ลงไปอย่างสุดฝีมือ
       
        คุณเพ็ญศรี รักษาระดับความมั่นคงของจิตใจไว้ได้ อย่างงดงามน่าชมเชย
       
        “เกิดมาขื่นขม ระทมอุรา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา ตรมน้ำตา โศกาทุกวัน...”
       
        ทันทีที่เริ่มอัดเสียงจริง และคุณเพ็ญศรี เริ่มเปล่งเสียงออกมานั้น สะกดคนทั้งห้องให้เงียบกริบ มนต์เสน่ห์จากเสียงอันเต็มไปด้วยอารมณ์ของเธอ
ยังตรึงทุกคนได้เหมือนเดิม
       
        “จะสุขอย่างไร จะสุขอย่างไร กันนั่น...”
       
        ดูเหมือนว่า น้ำเสียงของเธอจะเครือลงกว่าเดิมเล็กน้อย ทันใดนั้น เธอก็ร้องไห้ออกมาโฮลั่น ทุกคนในห้องอัดเงียบกริบ คุณเพ็ญศรี ก้มลงจนตัวงอ
ความเข้มแข็งเยือกเย็นที่เห็นอยู่ภายนอกอ่อนรูปลงมาเป็นน้ำตาทะลักทลาย
       
        นานกว่าเธอจะหยุดน้ำตาแห่งความขื่นขม ตลอดระยะเวลาสามสี่ปีได้
       
        ไม่มีใครสักคน ในห้องอัดเสียงกล้าทำอะไร ทุกคนรู้ดีว่า เธอสมควรแก่การร้องไห้ และที่จริงจะยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำไป
        ละครหนามชีวิต ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ทุกวัน จันทร์ ถึง ศุกร์ กลายเป็นละครยอดนิยม มีคนฟังทั่วทุกหัวระแหง
       
        เสียง เพลงหนามชีวิต ของ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สะท้านสะเทือน เข้าไปในจิตใจของคนไทยทุกบ้านทุกเรือน ละครที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะออกอากาศ ทั้งหมด 60 ตอน
ต้องขยายออกเป็น 95 ตอนจนได้
       
        เมื่อย้อนถามถึงอดีตของ หนามชีวิต คุณเพ็ญศรี ตอบสั้นๆว่า
       
        “ร้องไห้โฮเลย ตอนนั้น มันนึกถึง คุณวัฒน์...”
       
        ไม่มีน้ำตาพระจันทร์สำหรับการสงสารตัวเองแม้สักหยด เพราะอุทิศให้เขาไปแล้ว”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 11:38

เสียงของคุณเพ็ญศรี เยือกเย็นและเศร้าสร้อย  เป็นเอกลักษณ์    เพลงของเธอก็มีแนวไปในทางนี้  ไม่เคยเป็นเพลงรื่นเริงสนุกสนาน
อย่างดีที่สุดก็เป็นเพลงนิ่มๆ อ่อนหวาน อย่างเพลง "หงส์เหิร"

คุณเพ็ญศรีร้องเพลงของมัณฑนา โมรากุลได้  แต่ให้อารมณ์ต่างกัน   คุณมัณฑนาเยือกเย็นแต่ไม่เศร้า  เป็นความเย็นที่ลึกและบาดใจ
อย่างเพลง สนต้องลม    ดิฉันรู้สึกว่าหาใครร้องชนิดสัมผัสลมเย็นต้นฤดูหนาวอย่างเธอร้องไม่ได้จนบัดนี้

ลมพัดโชยพลิ้วมา เยือกเย็นอุราพาให้ชื่น
ลมเย็นระรื่น ชุ่มชื่นรื่นฤทัย
ดูสนเป็นแถวทิว แลละลิ่วงามวิไล
ต้องลมพัดไกว กิ่งใบไกวอ่อนโยน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 15:43

       ครับ, เพลงสนต้องลม จากเสียงคุณรวงทอง ฟังไม่เย็นเท่าคุณมัณฑนา

         ค้นไป ค้นมา ปีนี้ครบ ๗ รอบอายุคุณมัณฑนา ในเดือนมีนาคม อ.เจตนาเขียนถึงดังนี้ ครับ

                                     84 ปี มัณฑนา โมรากุล
เจตนา นาควัชระ

          มัณฑนา โมรากุล นักร้องแนวหน้าของวงดนตรีกรมโฆษณาการ (หรือที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์) จะมีอายุครบ 84 ปี
ในวันที่ 30 มีนาคม 2550
          แม้ว่าเธอจะเลิกร้องเพลงไปเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว แต่เพลงที่เธอร้องก็จัดได้ว่าเป็นเพลงอมตะ เราคงจะต้องยกย่องทั้งผู้แต่งเพลง และ
ทั้งผู้ตีความ คือ ผู้ร้องในยุคนั้น ว่าเป็นผู้ที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในทางศิลปะขึ้นมาได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
          เพลงไทยสากลเป็นประเภทของศิลปะที่หลอมรวมอัจฉริยภาพในด้านคีตศิลป์ทั้งของไทยและของตะวันตกเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างแนบสนิท
ศิลปินรุ่นบุกเบิกใช้เวลาประมาณเพียง 20 ปี ก็สามารถนำศิลปะประเภทใหม่ขึ้นสู่สภาพที่เรียกว่าวุฒิภาวะได้ เพลงไทยสากลสามารถสะท้อนอารมณ์
ความรู้สึกและความคิดของคนไทยได้อย่างดีเยี่ยม

       นักแต่งเพลงและนักดนตรีรุ่นบุกเบิกโดยเฉพาะกลุ่มของเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิกตะวันตกมาอย่างดีมาก
และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้ดนตรีไทยอย่างลึกซึ้งด้วยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บันทึกเพลงไทยเดิมลงเป็นโน้ตสากล กล่าวได้ว่า
เพลงไทยสากล (หรืออีกนัยหนึ่งเพลงไทยแนวตะวันตก) เป็นการตื่นตัวขึ้นรับโอกาสใหม่ที่มากับดนตรีตะวันตก และสามารถใช้ศักยภาพของวัฒนธรรมทั้งสอง
ได้อย่างเต็มที่ นับเป็นโชคมหาศาลที่เทคโนโลยีการอัดเสียงได้พัฒนาขึ้นมาถึงขั้นที่สามารถสร้างพยานหลักฐานให้ปรากฏชัดถึงความสามารถอันยอดเยี่ยม
ของศิลปินเหล่านี้ไว้ได้

       ถ้าไม่มี มัณฑนา โมรากุล เพลงไทยสากลจะพัฒนาขึ้นมาได้ถึงขั้นที่เป็นศิลปะอันยอดเยี่ยมได้ละหรือ คำถามในแนวนี้เป็นการสดุดีมัณฑนา โมรากุล
เกินกว่าเหตุหรือไม่
       แต่หลักฐานก็มีปรากฏชัดว่านักแตงเพลงระดับบรมครูของเรา อาทิ เอื้อ สุนทรสนาน นารถ ถาวรบุตร และเวส สุนทรจามร อาจจะได้มอบงานที่ดีที่สุดที่พวกท่าน
ได้เคยสร้างขึ้นมาให้แก่มัณฑนา โมรากุล นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์คำร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก้ว อัจฉริยะกุล และ สุรัฐ พุกกะเวส ก็สามารถตอบสนองข้อเรียกร้อง
ของผู้แต่งทำนองได้อย่างดียิ่งเช่นกันด้วยวรรณศิลป์ที่ลุ่มลึกและหลากหลาย
       กระบวนการหลอมรวมคีตศิลป์ให้เข้ากับวรรณศิลป์ดูจะถึงขั้นที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ เป็นต้นแบบที่คนรุ่นหลังจำนวนหนึ่งพยายามจะเอาเป็นตัวอย่าง
แต่ก็มีคนรุ่นหลังอีกจำพวกหนึ่งที่คงจะเบือนหน้าหนี เพราะเกลียดวรรณคดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กล่าวได้ว่า นักร้องให้แรงบันดาลใจแก่นักแต่งเพลง และ
ในขณะเดียวกันนักแต่งเพลงก็ให้เพลงที่ท้าทายความสามารถของนักร้องอย่างเต็มเปี่ยมเช่นกัน

       ผู้สันทัดกรณีมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เพลงของมัณฑนา โมรากุล ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ร้องยาก และเป็นปัญหาสำหรับนักร้องรุ่นหลัง
ถ้ามุ่งลอกแบบมัณฑนาก็เท่ากับเป็นการทำอัตวินิบาตกรรม ถ้าพยายามจะตีความใหม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ช่างคิดพินิจพิเคราะห์ และในขณะเดียวกันมีความสามารถ
ในการขับร้องสูงมาก
       รายการแสดงดนตรีเพื่อเป็นเกียรติแก่มัณฑนา โมรากุล ในวาระอายุครบ 7 รอบ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรนั้น เป็นเพียงแค่
การแสดงความสวามิภักดิ์ของผู้ที่รักและบูชาคุณมัณฑนา แต่คงจะเรียกว่าเป็นการแสดงสาธารณะ (public concert) ได้ไม่เต็มปากนัก ยกเว้นนักร้องที่โดดเด่น
เพียง 1 หรือ 2 คน ดูจะเป็นเรื่องของลูกๆหลานๆที่มาฉลองอายุของผู้อาวุโสมากกว่า

       งานของคุณมัณฑนาเป็นงานที่เราไม่ควรตั้งไว้บนหิ้ง และก็มิใช่งานที่ควรจะนำมาลอกแบบ แต่น่าจะเป็นงานตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า
ครั้งหนึ่งมีนักร้องคนหนึ่งที่โชคดีมากที่มีนักแต่งเพลงกลุ่มหนึ่งสร้างงานที่ดีที่สุดขึ้นมาท้าทายเธอ จากการวิจัยที่คณะนักวิชาการในโครงการ
"การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย" (ด้วยการสนับสนุนของสกว.) ได้เสนอเอาไว้ในหนังสือ เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล (2547)
เป็นที่แน่ชัดว่า พรสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียวคงมิอาจจะหนุนเนื่องให้มัณฑนา โมรากุล ขึ้นมาถึงระดับที่เรารู้จักกันได้

       เธอเป็นศิลปินที่ใฝ่รู้ พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และได้รับคำชมจากนักดนตรีรุ่นพี่ว่าเรียนรู้ได้เร็วมาก นอกจากนั้น เธอก็เป็น "นักวิจัย"ในรูปแบบหนึ่ง
คือทดลองหาแนวทางในการขับร้องด้วยตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวงานได้อย่างดีเลิศ วิเคราะห์ทั้งเนื้อร้องและทำนองให้ถ่องแท้
ก่อนที่จะนำมาร้อง
       เธอเป็นศิลปินผู้ตีความที่มีความเข้าใจทั้งในธรรมชาติของคีตศิลป์ และธรรมชาติของมนุษย์ทั้งในทางกว้างและทางลึก เพลงที่เธอขับร้องไว้จึงมีความหลากหลาย
มากในด้านเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก
        ในรายการแสดงดนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม เธอได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า แม้แต่เพลงปลุกใจที่เธอได้รับมอบหมายให้ร้อง (ซึ่งจากจุดยืนของปัจจุบันเราอาจจะมองว่า
เป็นเพลงเชิดชูผู้นำแบบโฆษณาชวนเชื่อ) เธอก็เต็มใจร้องอย่างสุดความสามารถ ไม่ได้หมายความว่าเธอสยบกับทรราช แต่เป็นเรื่องของศิลปินคนหนึ่งซึ่งหน้าที่กับความพึงใจ
ส่วนตนหลอมรวมกันเข้าเป็นเอกภาพได้ในทุกเมื่อ ถ้าจะหันไปพิจารณาเพลงรักที่โศกสลด ก็คงจะหานักร้องที่หยั่งลึกลงไปจนถึงก้นบึ้งของชีวิตมนุษย์ เช่น มัณฑนา โมรากุล
ได้ยากนัก สำหรับอารมณ์ขันที่มากับคีตศิลป์นั้นเล่า มัณฑนาก็ตอบสนองได้อย่างไร้ปัญหา แม้จะให้ร้องนำในเพลงของคนขี้เมา ก็ร้องได้อย่างไม่เคอะเขิน จะให้ร้องเพลง
สะท้อนความสะเทิ้นเขินอายของสาวแรกรุ่นก็ร้องได้เช่นกัน
        คุณูปการที่มีต่อวงการเพลงของมัณฑนา โมรากุล ยากที่จะพรรณนาได้หมดสิ้น นอกจากนี้ เธอก็ยังมีเมตตาต่อนักร้องรุ่นหลัง เธอชมเชยนักร้องบางคน
ที่ร้องฉีกแนวออกไปจากแบบอย่างของเธอเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เธอเข้าใจดีว่าคีตศิลป์จะอยู่ได้ก็ด้วยการตีความใหม่

        ถ้าประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผ่านเลยไปกับกาลเวลา ประวัติศาสตร์ที่ฝากฝังตัวไว้กับงานศิลปะคือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ภาพของคุณมัณฑนาที่นั่งอยู่บนเวที
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2550 เป็นภาพที่ชวนประทับใจยิ่ง (ประวัติศาสตร์ยังอยู่กับเราให้เห็นเป็นรูปธรรม)
พวกเราตั้งความหวังเอาไว้ว่า เราจะมาชุมนุมกันอีกเพื่อฉลองอายุครบ 90 ปีของคุณมัณฑนา โมรากุล จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ที่แน่นอนก็คือ
ผลงานของเธอจะดำรงอยู่ต่อไปกับประวัติศาสตร์ของคีตศิลป์ไทย

----------------------

กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) (วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2550)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง