เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 20842 ยาใจ ยาจก
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 12 ต.ค. 07, 19:01

เพลงที่คุณรวงทองร้องได้ดีที่สุด  ยังไม่เห็นใครร้องได้จับใจเท่าเธอ คือ "รักบังใบ"  ที่ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม "บังใบ"  น่าจะเป็นเพลงแรกของเธอด้วยซ้ำ   
คนแต่งเนื้อที่แต่งได้เพราะมากๆคือคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ แต่งเนื้อเพลงนี้เข้ากับท่วงทำนองได้เนียนสนิททีเดียว
ใครชอบเพลงลูกกรุงรุ่นเก่า  ฟังเพลงนี้ตอนใกล้ค่ำ จะได้อารมณ์จากเพลงเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะคำว่า "น้ำตาตกตามตะวัน" เป็นภาษาภาพที่กระชับ แต่ได้ใจความกว้างและลึก ครบถ้วน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 10:16


        คุณรวงทอง เคยจัดรายการ เสียงทิพย์จากรวงทอง ทางช่อง ๗ สนามเป้า เมื่อนานมากแล้ว ครับ
ครั้งหนึ่งในรายการ มีการแสดงละครย้อนชีวิตตัวคุณรวงทองก่อนที่จะมาเป็นนักร้องศิษย์ครูเอื้อ และ
คุณรวงทองเคยให้สัมภาษณ์เล่าประวัติชีวิตตัวเอง 
         คุณรวงทองเล่าว่า ที่บ้านไม่มีวิทยุ จึงต้องอาศัยฟังเพลงวงสุนทราภรณ์จากเสียงวิทยุข้างบ้าน
เมื่อคุณรวงทองจะจดเนื้อร้องแต่ด้วยความขัดสน ไม่มีกระดาษ จึงต้องตัดกระดาษจากถุงปูนมาจดเนื้อเพลง
เมื่อคุณรวงทองเติบโตมีฐานะดีขึ้น จึงชอบสะสมกระดาษ การ์ด สวยงามไว้มากมาย
        เพลงรักบังใบ จำได้ว่า คุณรวงทองโดนเคี่ยว ซ้อมร้องอยู่หลายเที่ยวก่อนที่ครูเอื้อจะให้ออกงาน ครับ

        ค้นพบ ว่าปีนี้คุณรวงทองมีอายุ ๗๐ ปี จากบทความจาก อ.เจตนา อีกแล้ว ครับ

                            70 ปี รวงทอง ทองลั่นธม

เจตนา นาควัชระ

              รวงทอง ทองลั่นธม ศิลปินแห่งชาติ จะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 เธอปรารภไว้หลายครั้งแล้วว่าอยากจะเกษียณตัวเอง
จากความเป็นนักร้องเสียที แต่ก็คงจะใจไม่แข็งพอ ก็จะให้ใจแข็งได้อย่างไร ในเมื่อผู้ฟังจำนวนไม่น้อย (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกแฟนคลับของเธอ)
ยังยืนยันว่า เธอยังร้องเพลงได้ และในการร้องของเธอนั้น ยิ่งร้องก็ยิ่งไปได้ลึก เพลงที่เธอเคยร้องอัดแผ่นไว้เมื่อ 40 ปีก่อนนั้น บัดนี้เธอก็ยังคงร้องได้
ร้องไม่เหมือนเมื่อก่อน เป็นการร้องที่บ่งบอกว่าการแสวงหาตัวตนของเธอเองเป็นกระบวนการที่ยังไม่จบสิ้น กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านก็คงจะว่าเป็นว่า
 "ยิ่งแก่ ยิ่งเก่ง" แม้ว่าลักษณะบางประการจะชี้ให้เห็นถึงวัยที่ล่วงเลยอย่างเลี่ยงไม่ได้

          ศิลปินไทยจำนวนมากไม่ว่าจะอยู่ในสาขาใด มีปัญหาเรื่องการปรับตัวขึ้นสู่วุฒิภาวะ หลายคนย่ำอยู่กับที่ กินบุญเก่า หาทางออกจากวังวนของ
ความสำเร็จในอดีตไม่ได้ นักวิชาการที่เฝ้าศึกษางานของศิลปินบางคนอย่างต่อเนื่อง จำต้องฝืนใจลงความเห็นว่า ท่านเหล่านั้นตาย (ในทางศิลปะ) เสียแล้ว
ตั้งแต่อายุ 40-50 ปี และก็หาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ง่ายที่สุด (เพราะเป็นคำตอบที่มาจากปัจจัยภายนอก) ก็คือ "เมรัยพิฆาต"
(และบางคนก็ตายจริงๆ ในทางกายภาพ) แต่นั่นเป็นเรื่องของสุภาพบุรุษเสียเป็นส่วนใหญ่ และสุภาพสตรีในหมู่ศิลปินที่ก้าวไปข้างหน้าอีกไม่ได้เล่า เป็นเพราะอะไร
         ในหมู่นักร้องที่คงพอมองเห็นกันอยู่บ้าง บางคนหลงเสน่ห์ตัวเอง พุ่งความสนใจไปในจุดที่เป็นเสน่ห์ซึ่งดึงดูดผู้ฟังได้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มาบัดนี้
ก็ยิ่งสะดุดหยุด ณ จุดเหล่านั้น ถ้าทอดเสียงหวานและผู้คนชมว่าหวาน ยิ่งวัยล่วงเลยมาก็จงใจทอดให้หวานยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวัยและสังขารไม่อำนวย ความหวานนั้น
จึงกลายเป็นน้ำผึ้งขม
         
          เมื่อหันหลับมาพิจารณากรณีของรวงทอง เธอมีความสามารถที่น่ายกย่องอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ความสามารถในการเฝ้าพิจารณาตัวเอง ในการวิเคราะห์ตนเอง
และในการที่จะแสวงหาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ในบางกรณีเธออาจจะใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะค้นพบตัวเอง (ดังที่ผมได้เคยกล่าวเอาไว้ในบทวิจารณ์ชื่อ
"เมื่อวัยวุฒิกับวุฒิภาวะมาบรรจบกัน : รายการรวงทองมินิมาราธอนที่โรงละครแห่งชาติ" [สกุลไทย ปีที่ 49 ฉบับที่ 2544 : 22 ก.ค. 46 ตีพิมพ์ซ้ำใน
จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์ 2548 : หน้า 93-98] )
        ศิลปินระดับแนวหน้าจะพึ่งพรสวรรค์แต่ถ่ายเดียวมิได้ รวงทองรู้จักใช้ปัญญาในการปรับการสร้างผลงานของตนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ท่าทางบนเวทีของเธอนั้น
เป็นท่าของดาราอย่างแน่นอน แต่กรณีของเธอมิใช่ดาราที่หลงตัวเอง เธอยังฝึกร้องเพลงอยู่ทุกวัน ร้องไปก็หาทางใหม่ไป ไม่พอใจกับสิ่งที่เคยทำมาแล้ว
ไม่พอใจกับระดับที่ไปถึงแล้ว ความทะเยอทะยานของรวงทองในวันนี้ที่จะร้องเพลงให้ดีกว่ารวงทองเมื่อวันวาน คือวิสัยของศิลปินที่รุ่นน้องรุ่นหลานน่าจะถือ
เป็นแบบอย่าง
          ผมไม่ต้องการจะทำให้บทความนี้กลายเป็นอาศิรวาทไป ความจริงมีอยู่ว่า มีอยู่ช่วงหนึ่ง (นานถึง 14 ปี) ในชีวิตศิลปินของเธอ ที่มาตรฐานของเธอ
ตกต่ำลงไป แทบจะกล่าวได้ว่าร้องไม่ออก ร้องช้าลง ความแม่นยำของระดับเสียงไม่มั่นคง ความจริงเธอป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง แต่ก็โชคดีที่หาสาเหตุพบ
และรักษาให้หายขาดได้

           รวงทองมีโชคดีอีกหลายประการ ซึ่งเธอไม่เคยปฏิเสธความโชคดีเหล่านั้น นั่นก็คือเธอเป็นศิษย์ที่มีครู และในกรณีของครูเอื้อ สุนทรสนานนั้น
เธออาจใกล้ชิดกว่านักร้องคนอื่น เพราะยินดีฝากตัวเข้าไปเป็น "เด็กในบ้าน" เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของครู และครูก็ถ่ายทอดวิชาการร้องเพลงให้
ในระบบที่เราอาจเรียกว่าระบบทิศาปาโมกข์
           และสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือครูย่อมได้แรงดลใจจากศิษย์คนนี้ และพวกเราที่ชื่นชอบเพลงไทยสากลก็เลยได้รับอานิสงส์จากครูและศิษย์คู่นี้
นั่นคือเพลงอมตะจำนวนหนึ่งที่ครูเอื้อแต่งขึ้นให้รวงทองเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสุดยอดของเพลงไทยสากล และก็เป็นโชคดีอีกเช่นกันที่ผู้ประพันธ์คำร้อง
ระดับแนวหน้าหลายท่าน อาทิ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล สร้างเนื้อร้องที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์เสริมเข้ามาอีกแรงหนึ่ง ผมไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อเพลงเหล่านี้ที่เรารู้จักกันดี

         
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 10:39


        ถ้าจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ในเรื่องของนักแต่งเพลงและนักร้อง"ส่องทางให้แก่กัน"แล้วละก็ รวงทองนับว่าโชคดีอีกนั่นแหละ
ที่ได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงชั้นครูอีกหลายท่าน หลังจากที่ได้ลาออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปเผชิญโลกภายนอกที่ท้าทาย และ
ก็นับเป็นโชคอันมหาศาลที่ในยุคหลังกึ่งพุทธกาล วงการดนตรีของไทยยังมีนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมอยู่อีกหลายท่าน (ถ้ารวงทองเกิดช้าไป 40 ปี
เธอคงจะต้องเผชิญกับทะเลทรายแห่งคีตศิลป์ไทยเป็นแน่) เพลงเหล่านั้นยังอยู่กับเรามาจนทุกวันนี้ อาทิ "แรมพิศวาท" ของพยงค์ มุกดา
"รอยมลทิน" ของ "พรพิรุณ" "แน่หรือคุณขา" ของ สมาน กาญจนผลิน และ "แม้แต่ทะเลยังระทม" ของ สง่า อารัมภีร สรุปได้ว่ารวงทองมีประสบการณ์
ในเรื่องขององค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางมาก เธอเป็นหนึ่งในเสาหลักของเพลงไทยสากลในฐานะประเภทของศิลปะ (artistic genre)

       รวงทองเป็นศิลปินผู้ตีความ (interpretative artist) ที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ในกรณีที่เธอนำเพลงที่นักร้องรุ่นพี่ เช่น มัณฑนา โมรากุล
(ผู้ซึ่งเธอเคารพนับถือ) มาตีความใหม่ เธอแสดงความคารวะต่อนักร้องต้นแบบด้วยแนวคิดใหม่ที่น่าทึ่ง
         จะขอยกตัวอย่างเพลง "วังบัวบาน" มัณฑนา โมรากุล ร้องได้จับใจเรา เพราะเธอสามารถชักพาเราให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ระทมของบัวบาน
รวงทอง ทองลั่นธม เสนอทิศทางที่เป็นของเธอเอง ซึ่งปรากฏชัดในการแสดงที่โรงแรมตรัง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 เธอแสดงบทบาทของผู้เล่าเรื่อง
ของผู้สังเกตการณ์ซึ่งชี้ให้เห็นความสง่างามของโศกนาฏกรรมของสาวชื่อบัวบาน ที่มิได้ตายอย่างคนไร้ค่า แต่ดิน น้ำ ลม ฟ้ารวมแรงกันสร้าง "สุสานเทวีผู้มีความช้ำ"
โดยที่เราถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสักขีพยานนั้นด้วย

         ด้วยประสบการณ์ที่ลุ่มลึกและกว้างขวาง รวงทองตัดสินใจที่จะสร้างคุณูปการในมิติใหม่ ด้วยการทำหน้าที่สอนการขับร้องให้แก่นักร้องรุ่นหลัง ทั้งที่
เป็นนักร้องอาชีพและนักร้องสมัครเล่น ศิษย์ของรวงทองที่ออกแสดงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 สะท้อนทิศทางของ "สำนักรวงทอง ทองลั่นธม" ได้อย่างชัดเจน
         เธอน่าจะเป็นครูที่ถ่ายทอดความรู้และความชำนาญได้ดี มิใช่ด้วยการร้องให้ลูกศิษย์ฟังเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่ด้วยการอธิบายที่แจ่มชัด
รวงทองเป็นผู้ที่ใช้ภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถอธิบายอารมณ์ความรู้สึกด้วยภาษาที่ไพเราะและเป็นเหตุเป็นผล ถ้าท่านไม่เชื่อผมโปรดลองอ่านบทอภิปรายของเธอ
ในการสัมมนา "มัณฑนาวิชาการ" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ (ตีพิมพ์ในหนังสือ เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล 2547 : หน้า 175-181)

       อาจเป็นครั้งแรกในวงการเพลงไทยสากลที่จะมีการจัด "ชั้นเรียนตัวอย่าง" (master class) เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาและการแสดงดนตรีในรายการ
รวงทองส่องทางศิลป์ ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2550 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ผู้คนเริ่มเรียกเธอว่า "อาจารย์รวงทอง" สำหรับผู้อาวุโส วิทยาทานคือ
การสร้างบุญกุศลที่ดีที่สุด

-----------------------------------

ตีพิมพ์ใน : กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) (วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2550)
     
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 11:01

คุณศิลาค่ะ  ยังมีอีกไหม  มาได้เรื่อย ๆ เลยนะคะ  ได้ทราบปลาย ๆ ข่าวว่า คุณสุเทพ วงศ์คำแหง ป่วย  ได้แต่ภาวนาให้เธอหายป่วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 11:14

ดร.เจตนาเขียนบทความเรื่องคุณรวงทองได้ถูกใจ  แม้ว่าหลายประโยคดิฉันจะต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที  แต่ภาษาวิชาการก็มักจะต้องแปลกันอยู่แล้ว
อ้างถึง
เป็นการร้องที่บ่งบอกว่าการแสวงหาตัวตนของเธอเองเป็นกระบวนการที่ยังไม่จบสิ้น กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านก็คงจะว่าเป็นว่า
 "ยิ่งแก่ ยิ่งเก่ง
"

ศิลปินถ้าหยุดนิ่งอยู่ในวันวาน ก็คือขุดหลุมฝังตัวเองได้เลย

ขอพูดเลยไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังเพลงของศิลปินผู้ขับร้อง    นอกจากผู้แต่งทำนองแล้วก็คือผู้แต่งเนื้อ    อย่างหลังนี้ดิฉันชอบลีลาของครูแก้ว อัจฉริยกุลมากที่สุด    เป็นนักแต่งเพลงที่ถึงขั้น "กวี"  ลองอ่านที่ท่านตีความโคลงของศรีปราชญ์มาเป็นเพลง"พรานล่อเนื้อ"   พอดีลงตัวเต็มร้อย    แก้ไขเพียงคำเดียวก็จะบกพร่องหรือเกินจำเป็น
นอกจากครูแก้ว ที่ต้องยกนิ้วให้ก็คือคุณสุรัฐ พุกกะเวส คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์   ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร  ครูชาลี อินทรวิจิตร
นึกออกแค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 12:10

        ยินดีครับคุณ pakun, ถ้ามีเรื่องราวน่าสนใจจะนำมาแปะอีก
คุณ pakun เข้าเว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์ที่อาจารย์แนะนำดู จะได้ค้นเนื้อร้องและอ่านกระทู้ บทความเกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ครับ

        ชื่นชมยกย่องครูแก้ว มากๆ ครับ ตอนเด็กๆ เคยได้ฟังละครวิทยุคณะแก้วฟ้า ที่ท่านเขียนบทและเล่นเป็นตัวประกอบด้วย
โตขึ้นมาถึงได้ทราบว่า ท่านคือผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงที่มีคุณค่ามากมายของวงสุนทราภรณ์ ท่านยังเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวชีวิต
ผู้คนที่สนุกมาก เคยอ่านเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก น่าเสียดายที่หนังสือไม่อยู่แล้ว ชื่อหนังสือ ประมาณว่า  ชีวิตหลังเที่ยงคืน ครับ

เคยนำโคลงของศรีปราชญ์ไปโพสท์ในความเห็นของเพลง พรานล่อเนื้อ ที่เว็บด้วยครับ

           
เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้        เรียมเหงา

ดูดุจนายพรานเขา       ล่อเนื้อ

จะยิงก็ยิงเอา            อกพี่ ราแม่

เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ       เงือดแล้วราถอย
 

               พรานล่อเนื้อ

      เจ้ายักคิ้วให้พี่
เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์
ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม
อกเรียมก็ตรมตรมเพราะคมตาเจ้า

เรียมพะวักพะวง
เรียมคิดทะนงแล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อเงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา
ยั่วใจให้เมาเมาแล้วยิงนั่นแล

**น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง
หากเจ้าหมายยิงก็ยิงซิแม่
ยิงอกเรียมสักแผล
เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ

เรียมเจ็บช้ำอุรา
เจ้าเงื้อเจ้าง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด
เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป
เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 12:33

เพลงที่ครูแก้วแต่งจากโคลงของศรีปราชญ์ ใน"ตำนานศรีปราชญ์" มี ๓ เพลง
คือพรานล่อเนื้อ   ยูงกระสันเมฆ   เพลงที่ ๓ นึกไม่ออกในตอนนี้ว่าเพลงอะไร
คุณศิลานึกออกไหมคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 12:59

       การบ้านอาจารย์ คือเพลง นวลปรางนางหมอง หรือเปล่าครับ  ที่ได้บันดาลใจจากโคลงในตำนานศรีปราชญ์
เคยได้ชมจากเทปรายการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ยุคหลังครูเอื้อ ครั้งหนึ่งจัดเป็นรายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดี ครับ

       อันใดย้ำแก้มแม่     หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย       ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย           ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ            ชอกเนื้อเรียมสงวน

     
               นวลปรางนางหมอง

นวลปรางนางดูช้ำ
ใครทำให้หมอง
รัญจวนในนวลน้อง
ฉันมองเศร้าใจ

ปรางนางเคยนวล ยวนเย้าฤดี
เสื่อมสิ้นราศีเศร้าไป
พี่มองแก้มนาง หมางดวงใจ
หมองใดไฉนเล่า

เสียดายปรางทองต้องตรม
ใครลอบชมแล้วฤาเจ้า
โถใครคงชมข่มเอา
เหลือจะเศร้าร้าวรัญจวน

เหลือบจะไต่ฤาริ้นไรแกล้งทำ
หรือพรายย้ำคนลอบทำกล้ำกวน
โถทำเสียจนสิ้นนวล
เรียมสู้สงวน ช้ำนวลตรมใจ

นวลปรางนางหมอง
พี่หวังปองต้องหมองไหม้
ปรางทองหมองลงไป
พี่พลอยหม่นหมองดวงใจ
พี่สุดแสนจะหมองไหม้

เหลือบจะไต่ฤาริ้นไรแกล้งทำ
หรือพรายย้ำคนลอบทำกล้ำกวน
โถทำเสียจนสิ้นนวล
เรียมสู้สงวน ช้ำนวลตรมใจ

นวลปรางนางหมอง
พี่หวังปองต้องหมองไหม้
ปรางทองหมองลงไป
พี่พลอยหม่นหมองดวงใจ
พี่สุดแสนจะมองได้
โอ้ใจ จะขาด แล้ว เอย...

                   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 13 ต.ค. 07, 13:21

รายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดี เสียดายไม่ได้ดู
มีเพลงหนึ่ง ชื่อ "คนธรรพ์กับพิณทิพย์"  น่าจะมาจากละครเวที มากกว่าวรรณคดี
แต่เนื้อร้องฝีมือครูแก้ว กินใจจริงๆ  ตีความถึงเสน่ห์และความอาภัพของศิลปินได้แตก

เพลงนี้ได้ยินมาว่าร้องยากมาก    ต้องขึ้นเสียงสูง ทั้งฝ่ายชายและหญิง
เคยได้ยินคุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวาร้องในรายการสุนทราภรณ์  เสียงนุ่มและร้องได้ฟิลลิ่งดีกว่าคุณวินัย

ใช่แล้วค่ะ  นวลปรางนางหมอง  ขอบคุณ ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 25 ต.ค. 07, 22:09

ดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีกครั้ง   ตอนนี้ ฟังเพลงของคุณเพ็ญศรีจากซีดีอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของเธอ
เสียงของคุณเพ็ญศรีเยือกเย็นและเศร้าโดยธรรมชาติ   ร้องเพลงเศร้าๆเหงาๆ จะเหมาะมาก อย่างเพลง กุสุมาอธิษฐาน  แต่เวลาร้องเพลงสุข ในเพลง ยิ้มคือความสุข  ฟังยังไงก็ไม่รื่นเริง
น้ำเสียงเธออ่อนโยน  สงบเสงี่ยม    ส่วนคุณมัณฑนา กังวานมีสง่า ไพเราะกันคนละแบบ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 26 ต.ค. 07, 10:23

        ได้อ่านคอลัมนิสต์ในวงการเล่าเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพคุณเพ็ญศรี รพีพร ว่ามีหนังสือและซีดีเพลงมอบให้
ผู้ร่วมงานมากมายครับ แล้วก็บ่นว่าตอนนี้วงการหนังสือเก่ามีการจ้างคนเข้าไปเวียนเทียนรับหนังสือเพื่อนำมาขายต่อ เพราะเก็งว่า
จะขายได้ราคาสูง

           ผู้อาวุโสที่ทำงานที่ชอบเพลงเก่าและคบหากับรุ่นเดียวกันที่อยู่ในแวดวงเคยเล่าให้ฟังครับ ว่าตอนที่หลวงสุขุมนัยประดิษฐ
แต่งเพลง คนึงครวญ ออกมานั้นคุณมัณฑนาไม่อยากร้อง(คงเป็นที่ท่วงทำนอง) คุณเพ็ญศรีเลยได้ร้องเพลงนี้แทน ในขณะที่
คุณมัณฑนาได้ร้องเพลงเอกอีกเพลงหนึ่งของหลวงสุขุมฯ คือเพลง สิ้นรักสิ้นสุข ที่ท่วงทำนองเศร้า ช้า ไพเราะมาก
คุณเพ็ญศรีเอ่ยประมาณว่า อยากร้องจนน้ำลายหก ครับ

         
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 ต.ค. 07, 10:34

        นึกขึ้นมาได้อีกหนึ่งเพลงจากรายการเพลงสุนทราภรณ์จากวรรณคดีครับ 

ยากยิ่งสิ่งเดียว

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล         ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน       
 
       จะเรียนจะร่ำจะทำอะไรไม่ลำบาก
ยอดยากอยู่อย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
คำครูสุนทรภู่กล่าวพาดพิง
ฉันไม่ท้วงติงเพราะว่าสมจริงยิ่งสิ่งใด

     ยิ่งตรองยิ่งเห็นเป็นเรื่องหนักใจให้อาวรณ์

     แม่กงแม่กนจวบจนกบเกยเคยเรียนร่ำ
บากบั่นหมั่นท่องจำตามคำสอน
เรียนกันถึงโคลงดั้นกาพย์ฉันท์กลอน
ทุกบททุกตอนฉันไม่ร้าวรอนไม่อับจน

       แต่เรียนเรื่องรักหนักในกมลจนปัญญา

       ได้ยินครูเอื้อร้องไว้เท่านี้ แต่จากเว็บคนรักสุนทราภรณ์มีเนื้อร้องต่อไปอีก และบอกว่า

เพลงนี้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย เรื่อง "พระอภัยมณี" ตอนที่ 45 "นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร" ที่ว่า

"...หน่อกษัตริย์หัสไชยอยู่ในรถ          ทุกข์ระทดถึงพี่น้องสองสมร
เคยพูดเล่นเจรจาให้อาวรณ์                มาจำจรจากน้องทั้งสององค์
โอ้จนจิตคิดไฉนจะได้นุช                  เห็นยากสุดที่จะสมอารมณ์ประสงค์
เฝ้ากอดจูบลูกคลำพระธำมรงค์            คิดถึงองค์อาลัยด้วยไกลกัน
เคยพูดพลอดกอดพี่เป็นที่รัก              ไม่รู้จักรังเกียจคิดเดียจฉันท์
นึกจะเกี้ยวเจียวเมื่อไปอยู่ใกล้กัน          กลับหวนหันไปเสียได้เจียวใจคอ
นึงคะนึงถึงที่เขาเป็นเจ้าชู้                  จะเรียนรู้ไว้อย่างไรที่ไหนหนอ
ผู้หญิงรักลักลอบมาชอบพอ               แม้พบหมอเหมือนเช่นนั้นขยันจริง

จะเรียนร่ำทำอะไรไม่ลำบาก               มันยอดยากอย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
ถึงยามดึกนึกนอนแนบหมอนอิง            เรไรหริ่งเรื่อยริมหิมวา

เสียงจังหรีดแว่ววับตรับสำเหนียก           ว่าร้องเรียกนึงสงสารร้องขานจ๋า
จนรู้สึกนึกสะอื้นกลืนน้ำตา                  ตามประสามิตรจิตมิตรใจ..." 
 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 26 ต.ค. 07, 10:40

แต่ดูเนื้อร้องท่อนที่ว่า แม่กงแม่กนจวบจนกบเกย  แล้วคาดว่าครูแก้วอาจจะได้บันดาลใจจาก  นิราศวัดเจ้าฟ้าด้วยครับ

         ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก            แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย                       ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย                        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง                      มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 26 ต.ค. 07, 10:57

ดิฉันจำประวัติครูแก้วได้รางๆว่า มีเชื้อชาติกรีกทางฝ่ายบิดา  ส่วนการเรียนไม่รู้ว่าเรียนร.ร.ไหนในกรุงเทพ
แต่ลองอ่านเนื้อเพลงแล้ว เชื่อว่าครูแก้วน่าจะอ่านวรรณคดีไทยแตกฉาน   จำรายละเอียดเอามาผสมผสานใส่ในเนื้อได้เหมาะเจาะ   ยิ่งสัมผัสของเพลง  บอกให้รู้เลยว่ารู้จักหลักฉันทลักษณ์กลอนอย่างขึ้นใจ  เนื้อเพลงครูแก้ว เป็นเนื้อร้องที่เข้าขั้นกวีนิพนธ์

งานพระราชทานเพลิงศพคนดังๆ   มักจะมีผู้หูไวจมูกไวมาปะปนแอบแฝงคอยยกหนังสืออนุสรณ์ออกไปเป็นตั้งๆ  แล้วเราก็จะไปเจอภายหลังในร้านหนังสือเก่า  ขายราคาแพงมาก
งานพระราชทานเพลิงศพคุณรพีพรและคุณเพ็ญศรีมีหนังสือที่ระลึกและซีดีเพลง ใส่กล่อง ทำสวยงามมากค่ะ โชคดีที่ได้มา ไม่ต้องไปซื้อในราคาแพงลิบ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 26 ต.ค. 07, 14:46

        ครับ จำได้ว่าท่านมีเชื้อสายชาวตะวันตก ประวัติของท่านหาจากกูเกิ้ลมีน้อยนิดและเป็นประวัติเหมือนๆ กัน
จากเว็บคนรักสุนทราภรณ์      http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/template/readtext.asp?HID=125

        ครูแก้วเป็นบุตรชายคนโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน บิดาชื่อนายใหญ่ อัจฉริยะกุล ( หรือ นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส ) เป็นชาวกรีก
มารดาชื่อ นางล้วน อัจฉริยะกุล ( เหรียญสุวรรณ )
       ครูแก้ว ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนครูสว่าง ใกล้ถนนสี่พระยา จากนั้นได้ย้ายไปเข้าโรงเรียนเยนเฮส์เมมโมเรียล เป็นโรงเรียนมิชชันนารี
ที่มีชื่อมากในสมัยนั้น เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว
        ครูแก้วได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนของชาวอังกฤษ คือ โรงเรียนเซ็นต์ปีเตอร์ และย้ายมาศึกษาต่อจนจบมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
จนได้รับดิโพลมาหรือประกาศนียบัตรจากโรงเรียน ซึ่งในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริการับรองและสามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาได้ทันที
โดยไม่ต้องผ่านคอลเลจ ครูแก้วจึงคิดที่จะไปศึกษาต่อ แต่บิดาของท่านไม่อนุญาตให้ไปเพราะขณะนั้นกำลังป่วยอยู่
        ครูแก้วจึงไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ แต่เข้าไม่ได้เพราะตรวจสายตาตก บิดาอยากให้เรียนต่อที่จุฬาฯ แต่ครูแก้วเรียนที่ธรรมศาสตร์
โดยเลือกศึกษาวิชากฎหมาย

        และจากเว็บนี้ได้อ่านเรื่องครูเอื้อ " เด็กชายละออหม้อแตก "  อีกครั้งหนึ่ง เดิมเป็นตอนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตหลังเที่ยงคืน ของครูแก้ว และ
ต่อมาได้นำมาลงหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครูเอื้อ
       
http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/template/readtext.asp?HID=213
 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.116 วินาที กับ 19 คำสั่ง