เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7570 พระตำหนักเขาน้อย
เอ้อระเหย
อสุรผัด
*
ตอบ: 32

เอกเขนก


เว็บไซต์
 เมื่อ 30 เม.ย. 07, 14:49

เรียนถามผู้รู้และอาจารย์เทาชมพูครับ
พระตำหนักเขาน้อย อ.เมือง จ.สงขลา เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อที่จะเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร  ในคราวที่ทรงเป็นอุปราชมณฑลนครศรีธรรมราช ที่ผมทราบมาก็แค่เพียงเท่านี้ครับ อยากถามท่านผู้รู้ว่าเคยมีพระราชวงศ์พระองค์ใดบ้างมาประทับ  (เท่าที่ผมทราบมาโดยการสอบถามผู้ใหญ่หลายท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เคยได้เข้ามาเข้าเฝ้าฯ เช่น พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บางท่านบอกว่าพระบรมราชินีนาถ สมัยยังทรงพระเยาว์ พระยศม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็เคยมาประทับอยู่  รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ กับ พระนางเจ้าสุวัทนาด้วย ) แล้วที่พระองค์มาประทับที่สงขลาเป็นเพราะเหตุใด อาจจะเป็นไปได้ไหมครับว่า พระองค์ท่านเหล่านั้นทรงหลีกภัยจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  และยังมีเรื่องเล่าที่น่ากลัวเกี่ยวกับเสาตกน้ำมันในพระตำหนัก รวมทั้งเรื่องผีที่ว่ากันว่าดุมาก ๆ เช่นที่ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อ ทำเป็นธรรม ในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงมาเยี่ยมราษฎรที่ภาคใต้ เรื่องผีที่ว่าเป็นเช่นไรครับ
            ปัจจุบันนี้พระตำหนักเขาน้อยเป็นที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  (ถ้าผมอยากจะเข้าไปชมในพระตำหนัก จะต้องติดต่อที่ใดครับ สำนักพระราชวังหรือไม่)
บันทึกการเข้า
ciri
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 เม.ย. 08, 11:57

เท่าที่หาเจอนะครับ

จากหนังสือ ประชาชาติ วันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๖:(เรื่องถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า )

...นายถวัติไปถึงสงขลาในวันที่ ๒๓ เวลาเที่ยงเศษ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเวลาราว ๑๖ น.ในวันนั้นเอง พร้อมด้วยนาย ต. บุญเทียม. ท่านวรรณฯทรงนำคนทั้ง ๒ เข้าเฝ้า. เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมารับรอง คนทั้ง ๒ ก็คุกเข่าลงถวายพานดอกไม้ธูปเทียน ท่านวรรณฯทรงขานนามคนทั้ง ๒ และทรงกล่าวคำขอขมาโทษ.

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่สงขลานั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักของกรมหลวงลพบุรี ณ ที่บริเวณเขาน้อย เปนตำหนักที่กว้างขวางพากพูมพอใช้. ขณะที่ทรงเสด็จออกมาพบนายถวัตินั้น ทรงฉลองพระองค์กางเกงแพรดอกสีสด และทรงเสื้อกุยเฮงแพรขาว สีพระพักตร์ในขณะนั้นตามคำบอกเล่าที่เราได้รับทราบมาดูก็เปนการแสดงพระราชอัธยาศัยอันราบรื่นดีอยู่.....

เครดิต: ที่มาจากงานค้นคว้าของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


บางตอนจาก "เป็น อยู่ คือ"  ประพันธ์โดย ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ครับ


....นอกจากนั้น คุณเภา รงควานิช ซึ่งเป็นพระญาติสนิทเจ้าจอมมารดาของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ก็ได้บันทึกเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

 "ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ภายหลังที่ประทับอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาวงษาฯ จนประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อสมเด็จฯ (หมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ทรงเจริญขึ้นพอสมควร คุณท้าวยายได้นำสมเด็จ ไปประทับกับท่านย่าที่สงขลา (ผมเข้าใจว่าท่านย่าคือ ม.จ.อัปษรสมาน (เทวกุล) กิติยากร)   ระหว่างนี้ ท่านย่าได้ทรงใช้ให้ท่านอาหญิงนิด (หม่อมเจ้าจิตรบรรจง) ถวายการดูแลเลี้ยงกับพระนมและข้าหลวงของท่านอานิด ภายในตำหนักเดียวกับท่านย่าและท่านอาอีกหลายๆ องค์ ที่ช่วยท่านอานิดคือท่านอาเขียว (หม่อมเจ้ากิติมตี) ประมาณต้นปี ๒๔๗๖ ท่านย่าทรงอพยพกลับจากสงขลา เจ้าคุณตาและคุณยายคิดถึงสมเด็จฯมาก จึงขอท่านย่าไปถวายอภิบาลเองอีกระยะหนึ่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดขบถวรเดชในเดือนตุลาคม ท่านย่าทรงอพยพเจ้านายลูกๆ และหลาน ตามเสด็จฯ สมเด็จพระพันวัสสา (หมายถึง พระศรีสวรินทราฯ)  และทูลกระหม่อมฟ้าหญิง (หมายถึงทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์) ไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ที่สงขลาอีก ส่วนสมเด็จฯนั้นคุณท้าวยายได้พาไปประทับกับท่านย่าอีกในภายหลัง ตอนนี้ท่านอาหญิงนิดก็ได้เป็นผู้ถวายการอภิบาลอีก ท่านย่าและท่านอาทั้งหลายต้องแยกกัน ท่านย่าประทับกับทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์ที่ตำหนักท่านลุงกลาง (หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร-ซึ่งในที่นี้ผมไม่แน่ใจว่าตำหนักนี้อยู่ที่ไหนระหว่าง ในเมืองสงขลากับสวนปาล์มของหม่อมเจ้าอมรฯ ที่อำเภอสะเดา สงขลา) ส่วนเจ้านายลูกหลานอยู่บ้านพระยานราฯ (ปู่นายกร ทัพรังสี สมัยนี้) เพราะเจ้าคุณนราฯ และคุณหญิงถวายตัวเป็นข้ากับเสด็จปู่(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) ตั้งแต่เป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่ประทับนั้นเป็นบ้านของคลังจังหวัด อยู่ริมทะเลสาบ "

สรุปได้ชัดเจนคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับที่ตำหนักเขาน้อยแน่นอน (ดังนั้นน่าจะรวมทั้งพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ด้วย)
                  ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์ ประทับที่ตำหนัก ม.จ.อมรสมานลักษณ์
                      สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เท่าที่อ่านไม่แน่ใจว่าประทับที่ตำหนักม.จ.อมรสมานลักษณ์  หรือบ้านพระยานราฯ แน่ครับ
บันทึกการเข้า
ciri
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 เม.ย. 08, 12:06

พอดีเลยลองค้นดูเพิ่ม เจออีกตามนี้ครับ เจ๋ง

จากคอลัมน์ 89ปีตำหนักเขาน้อยจากที่ประทับสู่สามัญชน  ใน web focuspaktai.com ครับ

"...ถ้าพลิกไปดูประวัติ พบว่า ตำหนักแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2453 - 2458) และต่อมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ. 2458-2468)...

....สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 เป็นต้นมา จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2468 พรบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาณ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้เสด็จกลับไปยังเมืองหลวงร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วพระองค์ได้ประทับและดำรงตำแหน่งทางราชการในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้น โดยมิได้เสด็จกลับมาประทับ ณ เมืองสงขลาอีกเลย  ในกาลต่อมาพระองค์ได้มอบตำหนักเขาน้อย ให้เป็นสมบัติของทางราชการอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของจังหวัดสงขลา..

...ตำหนักเขาน้อย เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรกพระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลา และทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช ระหว่าง 13-19 มิถุนายน พ.ศ. 2458
พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นองค์ประธาน พิธีวิสาขบูชาที่วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่สำคัญของมณฑลนครศรีธรรมราช ในคราวนั้น กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ โปรดให้มีกการสมโภชพระบรมธาตุเป็นการเฉลิมฉลองเป็นประเพณี รวม 3 วัน 3 คืน เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย

พ.ศ.2502 ตำหนักเขาน้อยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คราวที่เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม 2502

หลังจากนั้นยังไม่มี เจ้านายองค์ไหนมาที่ตำหนักเขาน้อย ยกเว้นเมื่อ 27 กันยายน 2543 ที่เพิ่งผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเสวยกลางวันที่นี่ ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เป็นผู้ตกแต่งสถานที่
บันทึกการเข้า
ciri
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 เม.ย. 08, 16:32

แล้วก็เจอหนังสือชื่อ "สมเด็จพระบรมราชินีกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง"
(ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง)  ขอสรุปความจากหนังสืออีกครั้ง ดังนี้

...ขณะที่เกิดกบฎบวรเดช (11-24 ตุลาคม) ก็ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะให้ผู้ใดอ้างว่าทำอะไรเพื่อราชบัลลังค์
ราชเลขาฯ (ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิวัตน์) กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน ขณะที่หลวงพิบูลสงครามก็จะส่งรถไฟมาทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ  จึงรับสั่งให้หลวงศรสุรการไปแจ้งว่า "พระองค์ไม่ทรงยอมเข้ากับใครทั้งสองข้างไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉยๆ "

ประกอบกับทรงได้ข่าวว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือหลวงสุโขทัยมาที่พระตำหนักฯ ที่หัวหินด้วย ก็ทรงเกรงว่าจะมาจับเป็นองค์ประกันเหมือนครั้งที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ ประทับเรือยนต์หลวง มุ่งไปทางใต้..

อีกตอน จากพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

...ตอนนั้นเรามีเรือยนต์พระที่นั่งอยู่ ขนาดเล็ก ตกลงออกเรือกันตอนกลางคืน มีทหารรักษาวังไปด้วย...ข้าราชบริพารตอนนั้นเท่าที่จำได้ก็มีอย่างท่านประสบศรี (พันตรีหม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ ราชองครักษ์ ท.บ.) ท่านครรชิต (นาวาเอกหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ราชองครักษ์ ท.ร.) มีพ่อมีแม่ฉัน (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี) แล้วก็มีน้องชายอีกคน มีท่านกมลีสาน (หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล)
หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร...

สำหรับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่ตามเสด็จฯ ไปประทับแรมที่หัวหิน ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์  เป็นหัวหน้าดูแล ติดต่อหาทางนำเสด็จโดยรถไฟตามไปเฝ้าฯ ที่จังหวัดสงขลา..

ซึ่งหม่อมเจ้ารัสสาทิศ กฤดากร ผู้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์เวลานั้นได้ทรงเล่าว่า

...ในรถไฟขบวนนั้น จำได้ว่ามีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ รวมทั้งพระธิดา...

...รถไฟไปถึงสงขลาประมาณ 08.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เมื่อบรรดาเจ้านายเสด็จไปถึงพระตำหนักเขาน้อยของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ก็พากันทรงวิตกไปตามๆ กัน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ยังเสด็จมาไม่ถึง จวบจนกระทั่งถึงตอนเย็นวันนั้น จึงได้เสด็จฯ มาถึงและประทับแรมอยู่ที่พระตำหนักนั้น โดยประทับอยู่ที่ชั้น 2 ของพระตำหนัก ส่วนเจ้านายฝ่ายในอื่นๆ ประทับอยู่บนชั้น 3...

...ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักเข้าน้อยอยุ่เป็นเวลาเกือบสองเดือนจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครโดยทางเรือ....

ทั้งหมดนี้ก็สรุปเรื่องราวได้ชัดเจนครับ เพียงแต่ยังสรุปไม่ได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน ในครั้งนั้นประทับที่ใด ระหว่างพระตำหนักเขาน้อย หรือ ตำหนักหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเป็นในเมืองสงขลา หรือที่สวนปาล์มตำบลปริก อำเภอสะเดา) หรือจะเป็นที่บ้านพระนราฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง