
ถ้าพิจารณาตามความหมายแล้ว เห็นด้วยกับคุณ CrazyHOrse ครับ ว่า "รูปคำ" ไม่ตรงกับ "เนื้อหา"
คำว่า Rational ในภาษาอังกฤษเป็นคำ adj. มาจาก RATIO ซึ่งแปลว่า สัดส่วน อัตราส่วน ดังนั้น ถ้าจะแปล Rational Number แบบเอาความก็น่าจะได้ว่า จำนวนเชิงอัตราส่วน หรือ จำนวนที่เป็นสัดส่วน หรือ จำนวนสัดส่วน หรือ จำนวนเศษส่วน ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ "ตรรกะ" เลย
อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่า ผู้ที่บัญญัติศัพท์คำว่า "จำนวนตรรกยะ" ขึ้นมา (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใคร ? ราชบัณฑิตยสถาน ?) คงบัญญัติขึ้นตามความหมายของ "รากศัพท์ละติน" มั้งครับ
คำว่า RATIO กัับ REASON เค้าว่ามาจากรากเดียวกัน ความหมายจึงออกมาคล้ายๆ กันคือแปลว่า เหตุผล ตรรกะ อะไรแนวๆนี้
R (a) = R (ea)
TI (o) = S (o)
ความหมายเดิมในภาษาละตินนั้น RATIO แปลว่า การคำนวณ การคาดคะเน, จากกริยา RERI : คิด คำนวณ คำนึง ไตร่ตรอง พิเคราะห์
ส่วนคำว่า Rational นั้น มาจากภาษาละตินว่า RATIONALIS แปลว่า มีเหตุผล สมเหตุสมผล อย่างมีความคิด
ส่วนในภาษาอังกฤษมาแปลคำว่า Ratio ให้มีความหมายว่า สัดส่วน ได้อย่างไรนั้น ตอนนี้จนปัญญาครับ นึกไม่ออกเหมือนกัน
คำชุดนี้ผมเข้าใจว่า มันเกิดมาจากคำว่า "คิด" คือ คิดอย่างมีเหตุผล ไตร่ตรองให้ดี มันก็กลายเป็นตรรกะ เป็นเหตุผล
และนี่คงเป็นที่มาของการแปลคำว่า Rational (ซึ่งจริงๆ ในภาษาอังกฤษ หมายถึง เชิงสัดส่วน เพราะมาจากคำว่า Ratio) ออกมาเป็น ตรรกยะ
ตรรกยะ คงเป็นรูป adj. ของ ตรรกะ มั้งครับ ผม หาในพจนานุกรมออนไลน์ของราชบัณฑิตฯ ก็ไม่เจอคำนี้ เจอแต่ ตรรกะ
ดังนั้น ผมคิดว่า จำนวนตรรกยะ คงแปลตามรูปศัพท์เดิมของภาษาละตินมากกว่าครับ
น่าสังเกตอีกอย่าง ผมลองไปค้นของภาษาจีนดู เค้าก็ใช้ตัวอักษรที่แปลว่า "ตรรกะ" เหมือนกัน
有理数 = จำนวนที่เป็นตรรกะ
無理數 = จำนวนที่ไม่เป็นตรรกะ
คุณ CrazyHOrse มีอะไรเพิ่มเติมก็เชิญนะครับ