เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4405 ประเพณีบุญบั้งไฟ
jumo
มัจฉานุ
**
ตอบ: 55

สวัสดีทุกท่านคร้าบ


 เมื่อ 14 เม.ย. 07, 11:10

ประเพณีบุญบั้งไฟคืออะไรครับ จัดขึ้นที่ไหนครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

jumo__
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 เม.ย. 07, 16:48

มีตำนานของการจุดบั้งไฟขอฝน มักเห็นในกลุ่มลาว ยวน และ ลื้อ เป้นส่วนมาก (ทางไทยใหญ่ ผมไม่แน่ใจว่าจะมีหรือเปล่า ส่วนทางไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เค่อยเห็นนะครับ)

ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือ "แถน"

หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามา จึงนำ "แถน" เข้ามาเป้นตัวละครฝ่ายร้ายในชาดกนอกนิบาต

ธรรมเรื่องนั้นก็คือเรื่อง “คันธฆาฏกะ” หรือ “พระญาคางคาก” ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องของล้านนา นอกจากนี้เรื่องพระญาคางคากนี้ยังปรากฏในแถบภาคอีสานของไทยอีกด้วย คาดว่าคงรับถ่ายทอดมาจากลาวอีกต่อหนึ่ง เพราะในอดีต ล้านนาและล้านช้างนั้น วัฒนธรรมหลายอย่างได้ถ่ายเทไปมาระหว่างกันไม่ขาด

และปัจจุบัน ได้มีสำนักพิมพ์หนึ่งได้จัดพิมพ์เรื่อง “พระญาคางคาก” ออกมาในรูปแบบการ์ตูนภายใต้ชื่อว่า “พญาคันคาก” ตามแบบฉบับธรรมอีสานเลยทีเดียว นั่นก็ทำให้น่าสนใจ และอ่านง่ายกว่าที่จะอ่านจากคัมภีร์ใบลานอยู่มาก

เรื่องนี้ เป็นการเรียกร้องขอฝน จนถึงกับทำสงครามกันเลยทีเดียว แต่ไม่เหมือนที่ก่อม็อบแย่งทรัพยากรน้ำระหว่างชาวบ้านกับนายทุน สงครามในเรื่องฝ่ายหนึ่งเป็นถึงแถน ส่วนอีกฝ่ายเป็นเพียงพระญาคางคากเท่านั้น

ลองไปหาอ่านดูนะครับผม


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 เม.ย. 07, 16:50 โดย jumo » บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 เม.ย. 07, 17:28

คัดเอาพระญาคางคากของล้านนา มาให้ครับผม ดังนี้

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า พระโพธิสัตว์ได้ไปประสูติใต้เศวตฉัตรแห่งเมืองมิถิลานคร เป็นโอรสของท้าวราชบุญเรือง และพระนางสรีจันทา เสียแต่ว่า เกิดมาเป็นคางคกเท่านั้นเอง กระนั้นพระบิดามารดา ก็รักอย่างยิ่ง เหล่าปุโรหิตจึงถวายพระนามว่า “คันธฆาฏกกุมาร”

เมื่อคันธฆาฏกกุมารเจริญพระชันษาได้ ๑๖ ชันษา พบว่ามีความเฉลียวฉลาดเป็นอันมาก สามารถให้คำปรึกษาในราชกิจแก่พระบิดาได้อย่างมาก แต่เมื่อพระบิดาจะมอบราชสมบัติให้ คันธฆาฏกกุมาร ก็ยังไม่ยอมรับและได้ขอไปศึกษาวิชาความรู้เพิ่นเติมยังเมืองตักกศิลา จวบจนสำเร็จการศึกษา จึงกลับคืนสู่พระนคร

เมื่อคันธฆาฏกกุมารมีพระชันษา ๑๗ ชันษาแล้ว พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้วิสสุกัมมเทวบุตรไปเนรมิตรปราสาทแก้วให้ ส่วนพระอินทร์ก็ไปนำเอานางแก้วจากอุตรกุรุทวีปมาให้เป็นชายา

จากนั้นคันธฆาฏกกุมารจึงกลับเพศจากคางคาก มาเป็นชายหนุ่มรูปงาม จึงอภิเษกกับนางแก้วจากอุตรกุรุทวีปและปกครองเมืองมิถิลาต่อจากพระบิดา

คันธฆาฏกกุมารปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรมและเมตตาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินกันถ้วนหน้า ทำให้บ้านเมืองก้านกุ่งรุ่งเรืองทุกด้าน เป็นที่เลื่องลือไปไกล จนทำให้กษัตริย์น้อยใหญ่ ตลอดถึงนาคา เทวดา พระญาครุฑ ท้าวจตุโลกบาล ต่างก็นำเครื่องปัณณาการมาถวายไม่ขาด แม้กระทั้งเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ก็นำของมาถวายเช่นกัน แล้วพระอินทร์ ก็ได้นำธนูทิพย์ ดาบสรีกัญไชย และเกิบตีนทิพย์มาถวายคันธฆาฏกกุมาร เพราะได้แลเล็งเห็นการณ์ในภายภาคหน้าว่าจักเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

เป็นเหตุให้พญาแถนผู้มีหน้าที่ทำให้เกิดฝนตกลงลงมา ที่พำนักอยู่เมืองฟ้าแดนเขายุคันธรโกรธกริ้วเป็นอย่างมาก ที่เหล่านาค ครุฑ เทวดาทั้งหลายหันไปนิยมแลส่งเครื่องปัณณาการแก่คันธฆาฏกกุมาร แทนที่จะมานอบน้อมต่อพญาแถน พญาแถนจึงปิดกั้นก่อคันขอบสระโบกขรณีไม่ให้น้ำในสระ ตกลงมาเป็นฝนแก่เมืองคนแลบาดาลได้

สระโบกขรณีของพญาแถนนี้ กว้างได้หมื่นโยชน์ เวลาลมพัดผิวน้ำให้เป็นระรอกคลื่น หรือยามที่นาคทั้งหลายลงตีฟองคะนองเล่น ก็จะเกิดเป็นฝนหลดหยาดลงมาสู่โลกมนุษย์ นาคพิภพ และป่าหิมพานต์

เมื่อปิดกั้นสระโบกขรณีแล้ว ระลอกคลื่นฟองน้ำก็ไม่ได้กระเซ็นสาดหยาดลงมาเป็นฝนได้ ทำให้โลกมนุษย์แลบาดาลเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันยาวนานถึง ๗ ปี

เหล่าไพร่ไทยทั้งหลายต่างเดือดร้อนกันอย่างหนักหน่วงพืชผลเสียหายเหลือคณานับ จึงพากันมาขอความช่วยเหลือจากคันธฆาฏกกุมาร เมื่อคันธฆาฏกกุมารสอบถามถึงสาเหตุจากบรรดานาคาทั้งหลายแล้ว จึงคิดจะไปขอร้องต่อพญาแถน หากไม่ยินยอมต่อข้อเสนอ หากถึงขั้นทำสงครามก็ต้องยอมทำสงครามกันล่ะ

บรรดานาค รี้พลคนเมืองชมพูทวีปทั้งหลาย ตลอดถึงสัตว์น้อยใหญ่ ต่างพร้อมใจช่วยกันสร้างทางไปเมืองแถน เมื่อถนนเสร็จสิ้น คันธฆาฏกกุมาร ก็นำพาริพลคนศึกทั้งหลายมุ่งหน้าสู่เมืองแถนทันที

คันธฆาฏกกุมารคืนเพศมาอยู่ในร่างของคากคาก หรือคางคกอีกครั้ง เดินทางเป็นเวลาเจ็ดเดือนก็จรดจอดรอดถึงเมืองแถน จึงได้ส่งสาส์นไปถึงพญาแถนให้ปล่อยน้ำเป็นฝนลงสู่โลกมนุษย์และบาดาล แต่แล้วก็เงียบหาย ไม่มีการติดต่อกลับมา จึงยิงปืนใหญ่เตือน พร้อมกันนั้นคันธฆาฏกกุมารจึงแผลงศรธนูทิพย์ตกยังสระโบกขรณี เกิดเป็นละอองหยดน้ำกระจายกลายเป็นฝนลงสู่โลกมนุษย์ติดต่อกันถึง ๗ วัน

เมื่อพญาแถนเห็นดังนั้นจึงยกไพร่พลโยธาออกมาประจัญศึก

การรบพุ่งระหว่างสองกองทัพกินเวลาถึง เจ็ดวันเจ็ดคืน

คันธฆาฏกกุมารจึงแผลงศรอีกครั้ง ครานี้กลายเป็นบ่วงบาศคาดรัดพญาแถน จนตกจากหลังช้าง จนพ่ายแพ้ในที่สุด

เมื่อจัดการกับพญาแถนแล้ว จึงนำพญาแถนเข้าเมือง แล้วสั่งให้ท้าวธตรฐะที่เป็นท้าวทั้งสี่อันรักษาด้านทิศตะวันออก ควบคุมเชื้อเครือวงศาพญาแถนไว้ทั้งหมด

ต่อมาบรรดาท้าวเสนาอามาตย์เมืองแถนขอสมมาคารวะต่อคันธฆาฏกกุมารแล้ว คันธฆาฏกกุมารจึงตรัสว่า

“ที่ตัวข้ามายังที่นี้ หาได้มีความต้องการครุบชิงเมืองหรือต้องการประหัสประหารด้วยความพอใจของเราไม่ หากแต่พญาแถนไม่ปล่อยน้ำฝนให้ตกลงสู่โลกมนุษย์แลบาดาลตามรีตคลองครรลองธรรม ทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทุกข์ยากสาหัสนัก เพื่อชาวเมืองผู้ทุกข์ยากเหล่านั้น ทำให้เราต้องมาร้องขอต่อท่าน แต่เมื่อท่านไม่สำนึกถึงสิ่งที่ท่านทำ เราถึงต้องใช้กำลังให้ท่านได้สำนึก” พญาแถนได้ยินดังนั้นจึงสำนึกผิดและได้ขอสมมาแก่คันธฆาฏกกุมาร

เมื่อคันธฆาฏกกุมารเห็นพญาแถนสำนึกผิดแล้วดังนั้นจึงกล่าวว่า “เมื่อท่านสำนึกแล้ว เราก็ยินดี และสัญญาว่าจะไม่กระทำดังที่ผ่านมาอีก ให้น้ำฝนหลั่งฟ้าชโลมดินสู่เมืองคนตามปกติวิสัย แล้วเราก็ขอให้ท่านกลับคืนสู่บัลลังก์ของท่านเถิด”

จากนั้นคันธฆาฏกกุมารก็ตรัสสั่งสอนพญาแถนและชาวเมืองแถนในข้อธรรมต่าง ๆ เป็นที่สาธุการแก่พญาแถนและประชากรทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง และน้อมถวายเครื่องสักการะปูชาอันวิเศษต่าง ๆ แด่คันธฆาฏกกุมารอย่างพร้อมมวล

รุ่งขึ้น คันธฆาฏกกุมารจึงพาริพลโยธากลับสู่พระนครมิถิลา พร้อมพรักเฉกเช่นเดียวกับตอนเดินทางสู่เมืองแถน ด้วยพระญาเวสสุวัณณ์ หนึ่งในท้าวทั้งสี่ผู้รักษาทิศเหนือ ได้ร่ายมนต์ชุบชีวิตผู้ที่เสียชีวิตจากการรบให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง

(( จาก วัสสะพราวฟ้า สู่หล้าเมืองคน (๔) : การต่อสู้ของโพธิสัตว์

แต่มีเรื่องที่ต่ออีกหน่อย หลังจากที่พระญาแถนแพ้และยอมแก่พระญาคางคากแล้วนั้น ก็บอกว่า หากยามใดต้องการน้ำฟ้าสายฝน ก็จุดบั้งไฟส่งสัญญาณขึ้นมา เลยทำกันมาเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมา

...................

และประเพณีนี้ ก็ทำให้เกิดตำนานท้าวผาแดง - นางไอ่ ตามมาอีก
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.034 วินาที กับ 19 คำสั่ง