เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6686 ฅ คน กับ ฌ กระเชอ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 02 เม.ย. 07, 18:01

สมัยเด็ก เชื่อว่าทุกคนต้องผ่านการท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก กันมาแล้ว ในจำนวนนี้ มีตัวอักษรที่มีปัญหาอยู่สองตัว คือ ฅ คน และ ฌ กระเชอ

อักษร ฅ นี้ เป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้กันแล้วในปัจจุบัน แต่จะได้ยินเสียงเรียกร้องให้เอากลับมาใช้เขียน ฅน แทน คน อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก เพราะคำว่า คน นั้น โบราณท่านไม่เคยเขียนด้วย ฅ เลย

ราวปี พ.ศ.๒๔๒๐ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้เขียนเรื่อง "วิธีสอนหนังสือไทย" คิดคำกำกับตัวอักษรไว้บางตัวเฉพาะตัวที่มีเสียงพ้อง เพื่อให้ง่ายในการออกชื่อตัวสะกด ตัวที่ไม่มีเสียงพ้องไม่ต้องตั้งชื่อ ดังตัวอย่างดังนี้ ข ขัดข้อง, ฃ อังกุษ, ค คิด, ฅ กัณฐา, ช ชื่อ, ฌ ฌาน

จะเห็นได้ว่า ฅ ในยุคนั้นใช้ชื่อกำกับว่า กัณฐา แปลว่า คอ เพราะคำว่า คอ ในสมัยก่อนสะกดด้วย ฅ เป็น ฅอ ดังนี้ครับ

พ.ศ. ๒๔๔๒ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์แบบเรียนเร็วเล่มแรกของไทย มีชื่อเรียกกำกับตัวอักษรครบ ๔๔ ตัว เรียก ฅ ว่า ฅ ฅอ

หลังจากนั้น ได้มีการพิมพ์แบบเรียนออกมาอีกหลายเล่ม เรียกชื่อ ฅ ต่างๆกันไปดังนี้

พ.ศ.๒๔๕๓ หนังสือดรุณศึกษาโดย ฟ.ฮีแลร์ ยังเรียก ฅ ฅอ
พ.ศ.๒๔๕๘ หนังสือมูลบทบรรพกิจโดยโรงพิมพ์เจริญราษฎร์์ เรียก ฅ ฅอเสื้อ
พ.ศ.๒๔๖๓ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ปรับปรุงหนังสือมูลบทบรรพกิจของพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ขึ้นใหม่ เรียก ฅ กอดฅอ

จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๗๓ ครูย้วน ทันนิเทศ (วินัย ทันนิเทศ) จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนไวขึ้น คราวนี้เองครับที่ ฅ กลายเป็น ฅ ฅนโสภา เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนเด็กให้เขียน คน ว่า ฅน (แต่จะเป็นคนแรกที่เขียน คน ด้วย ฅน หรือไม่นั้นไม่ทราบครับ)

ส่วน ฌ นั้น อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ต้นตำรับของพระศรีสุนทรโวหารใช้ ฌ ฌาน (พ.ศ.๒๔๒๐)
พ.ศ.๒๔๖๓ มูลบทบรรพกิจฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา ใช้ ฌ เพ็ชฌะฆาต
พ.ศ.๒๔๗๓ แบบเรียนไวของครูย้วน ทันนิเทศ ใช้ ฌ เฌอริมทาง

จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๙๐ บ.ประชาช่างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียม คราวนี้แหละครับที่ ฌ เฌอ กลายเป็น ฌ กระเชอ โดยที่รูปประกอบดันเป็นรูปต้นไม้(เฌอ) แบบเรียน ก ไก่ ฉบับนี้มีกลอน ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ ในเล้าฯ ที่เป็นที่รู้จักใช้กันแพร่หลายมาอีกหลายสิบปี ครับ

ข้อมูลจาก "อักษรไทยมาจากไหน?" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 เม.ย. 07, 19:58

ห่างจากการท่องพยัญชนะไทยมาหลายสิบปี       อ่านแล้วพยายามทบทวน ก.ไก่ จนถึง ฌ. ว่ามีคำขยายว่าอะไรกันแน่    นึกไม่ออก  จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า พอถึง ฌ. แล้วต่อด้วย กระเฌอ  ไม่ใช่ เฌอ คำเดียว
เคยได้ยินสำนวน"นางกระเชอก้นรั่ว" เอาไว้เปรียบเปรยคนที่ทิ้งๆขว้างๆเงินทองของใช้  ไม่รักษาให้ดี    ผู้ใหญ่ท่านเปรียบเป็น นางกระเชอก้นรั่ว 
ทำให้รู้ว่ากระเชอเป็นของใช้ชนิดหนึ่ง คล้ายๆกระบุงตะกร้า แต่ตอนเด็กๆสะกดว่า กระเฌอ
เคยมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ "เฌอมาลย์" ยังจำได้ว่าอาจารย์เคยถามว่า รู้ไหมว่าแปลว่าอะไร แล้วแปลให้ฟัง   
ไปเปิดพจนานุกรมออนไลน์มา เพิ่งรู้ว่า เฌอ กับ กระเชอ เป็นคนละคำ  แล้ว กระเชอ ทำไมมีภาพประกอบเป็นต้นไม้?
เข้าใจมาตลอดว่า สะกดว่า กระเฌอ และเป็นต้นไม้ที่เอามาทำ กระเชอ
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 เม.ย. 07, 23:00

พูดถึงบทอาขยาน ก เอ๋ย ก ไก่ แล้ว ผมโตมากับแบบเรียนของ ประชาช่าง

ก็เล็ก ๆ ก็ติดคำว่า ฌ กระเฌอ เหมือนกัน กับอีกคำคือ ษ บอฤๅษี ทุกทีสิน่าครับผม รูดซิบปาก

แต่เดี๋ยวนี้ไปว่าอย่างนั้นอีก เดียวครูภาษาไทยจะได้เขกกบาลเอา หุหุ
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 เม.ย. 07, 23:40

คงจะมีแต่เด็กรุ่นใหม่ๆกับผู้อาวุโสมากๆเท่านั้นแหละครับที่ไม่ใช่ศิษย์ประชาช่าง  ยิงฟันยิ้ม

แต่สำหรับตัวผมเอง ตั้งแต่จำความได้จนเลิกเรียนหนังสือ ไม่เคยท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ได้เลยครับ

ที่ทะลึ่งจำได้กลับเป็นวรรคอักษรบาลี

ก ข ค ฆ ง
จ ฉ ช ฌ ญ
ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
ต ถ ท ธ น
ป ผ พ ภ ม
ย ร ล ว
ส ห ฬ อ

และจำไม่ได้เหมือนกันว่าไปเรียนมาตั้งแต่ตอนไหนครับ

ไม่กี่ปีมานี้ ผมเพิ่งจะสังเกตเห็นว่า ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก เรียงเหมือนกับวรรคอักษรบาลีที่รู้จัก โดยมีอักษรบางตัวที่ไทยเราเพิ่มเอง ลองไล่ๆดู อ๊ะ... ไม่ยาก เราก็ท่อง ก ถึง ฮ ได้เหมือนกันนี่นา

ผลคือทำให้เปิดพจนานุกรมไทยได้อย่างมีความสุขขึ้นมากครับ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
dara
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 เม.ย. 07, 09:08

มันแปลกดีนะ  ถ้า "คน" ไม่สะกดด้วย ฅ แล้ว  ไฉนจึงเรียก ฅ.คน?  ทำไมไม่เอา ค.ควายมาเป็น ค.คนหว่า   เง้อ คนโบราณเนี่ยะ เข้าใจทำให้เด็กสับสน โกรธ

ฌ กระเชอก็เช่นกัน  แล้วตกลง "ฌ" ใช้กับศัพท์อะไรมั่งคะ?  รวมทั้ ฅ กับ ฃ   ฮืม   ฮืม   ฮืม
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 เม.ย. 07, 09:46

ตัว ฅ นี้ตอบยาก เพราะทางล้านนามีใช้เวลาปริวรรตออกมาเป็นอักษรไทย

แต่ตัว ฃ ไม่ค่อยได้เห็นใช้แล้ว แต่มักจะพบ ตัว ขร  แทน

ซึ่งขอคัดเอาคำศัพท์ที่ปรากฏในพจนานุกรมล้านนา - ไทย มาฝากกันครับผม เพราะของราชบัณฑิต ผมไม่แน่ใจว่าจะมีเก็บศัพท์ไว้หรือเปล่า

ในพจนานุกรมล้านนา - ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๑ กล่าวว่า

"จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Fang Kuei Li ท่านเห็นว่า อักษร ฃ นี้เป็นพยัญชนะสำคัญอันหนึ่งในภาษา ไทดั้งเดิม (Proto Tai) ซึ่งมีเสียงเสียดแทรกและไม่ก้อง และท่านได้สันนิษฐานศัพท์ที่เคยใช้อักษรนี้เป็นพยัญชนะต้นได้ส่วนหนึ่ง  ซึ่งอาจสถาปนารูปศัทพ์ให้ตรงกันกับศัพท์สันนิษฐานไว้ดังนี้"

ซึ่งคำศัพท์เหล่านั้น คือ

(ไม้)ฃอ
ฃ้อ
ฃด
ฃบ(กัด)
ฃม
ฃ่ม ...ที่แปลว่า ก. กดลง, ทำให้ต่ำ  น. บริเวณที่ลดระดับ
ฃวบ
ฃอด(เกล็ดปลา)
(ไก่)ฃัน
ฃ้า(ทาส)
ฃ่าง ....ที่แปลว่าระบายออก
ฃาน(รับ)
ฃ้าม
ฃาว
ฃิง
ฃิ่ว... ที่แปลว่า น. กลิ่นฉุน ว.ฉุนจัด
ฃี้
ฃึ้น
ฃุด
ฃูด
เฃน ...เข็น
เฃ่า
เฃ้า... เข้า และ ข้าว
เฃียง
เฃียว
เฃี้ยว...มี ๓๒ ซึ่ ในปาก
เขื่อง
แขก(คนแปลกหน้า)
(แห้ง)ใฃ่
ไฃ(ประตู)
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 เม.ย. 07, 11:57

ส่วนมาก ฌ จะใช้ในคำที่มาจากภาษาบาลีครับ

เพราะเสียง ฌ ไทยออกเสียงเหมือน ช เรารับมาใช้เพื่อรักษารูปในการเขียนภาษาแขกครับ

ส่วน ฃ นั้น รู้สึกว่าจะใช้ปะปนกับ ข มาตั้งแต่จารึกสมัยสุโขทัยแล้วนะครับ เป็นไปได้ว่าเสียง ข กับ ฃ เริ่มสับสนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ต้องศึกษาย้อนหลังไปถึงภาษาไทเดิมอย่างที่ อ.หลี่ฟางกุ้ยทำครับ

ดูจากเด็กสมัยนี้เขียนหนังสือ ร กับ ล อาจจะหายไปในอนาคต นอกจากนี้วรรณยุกต์อาจจะต้องย้อนกลับไปสมัยสุโขทัย มีแต่ ' กับ  ้ (รูป  ๋ )  และใช้ปนๆกันเพราะเขียนกันไม่ค่อยจะถูก

ถ้าไม่พยายามคิดแก้ ก็ต้องเตรียมทำใจกันไว้เลยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง