เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 11300 สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร
มุดฉานะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


 เมื่อ 01 พ.ย. 06, 20:03

 เนื่องจากด้อยความรู้เลยไม่ค่อยได้ปรากฏตัวได้แต่หยิบอ่านข้อมูลซะฝ่ายเดียว..เผอิญได้อ่านหนังสือใหม่เรื่องศรีสวรินทิรานุสรณีย์ ฯ ที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทำออกมาจำหน่าย..เกิดความสงสัยใคร่รู้ประวัติของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร รวมทั้งอยากรู้ว่าทำไมพระองค์ถึงต้องโทษแล้วสุดท้ายของชีวิตท่านไปอยู่ไหน รวมทั้งพระโอรสที่หนีไปอยู่ต่างประเทศได้กลับมาเมืองไทยหรือไม่ค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ย. 06, 09:52

 พระประวัติสมเด็จกรมพระชัยนาทนเรนทรอย่างละเอียด ระบุไว้ในหนังสือ
ไปเมืองนอก ร.ศ.__ ครับ
ในกระทู้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ในเรือนไทย,หนังสือ เจ้าชีวิต ก็มีกล่าวไว้เล็กน้อยครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
มุดฉานะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 พ.ย. 06, 15:16

 ขอเรียนตามตรงว่าจนปัญญาไปหาที่ไหนอ่าน...(ที่ว่าอย่างละเอีนด)..เพราะเป็นเด็ก ตจว. ที่ไม่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ที่พอจะมีห้องสมุดใหญ่ๆให้ค้นคว้าด้วย...เลยอยากขอพึ่งบารมีทางปัญญาจากผู้รู้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมค่ะ...เป็นพระคุณล่วงหน้าค่ะ..
บันทึกการเข้า
มุดฉานะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 พ.ย. 06, 20:36

เผอิญวันนี้พอมีเวลาได้นั่งอ่านกระทู้สมเด็จพระพันวัสสาฯของอาจารย์เทาชมพูเลยได้คำตอบเรื่องที่ตั้งไว้ค่ะ...แต่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระประวัติท่านหลังจากออกจากการเป็นนักโทษแล้วไม่ทราบว่าท่านทรงไปอยู่ต่างประเทศ หรือว่าอย่างไรแล้วหลังจากนั้นในปั้นปลายชีวิตและผู้สืบสกุลของท่านได้กลับมาอยู่เมืองไทยหรือไม่ ใช่ในสายของหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิตหรือไม่ค่ะ
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 11:57

 
[[156]]
หลังจากถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษการเมืองจนพ้นโทษแล้วท่านยังเสด็จประทับอยู่ในเมืองไทยนะคะ ทรงรับราชการจนได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ได้ทรงกรมเป็นสมเด็จกรมพระฯก่อน หลังสิ้นพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมพระยาค่ะ ในหนังสือไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ.118 ได้เล่าไว้อย่างละเอียด สนุกมากๆเลยค่ะ ท่านกับหม่อมรักกันมาก หม่อมอยู่กับท่านจนวาระสุดท้าย ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันตลอด อ่านแล้วประทับใจมาก หลังท่านสิ้นฯหม่อมไม่ประสงค์อยู่เมืองไทยต่อเพราะหม่อมเจ็บช้ำในเรื่องที่ท่านถูกจำคุกมาก จึงไปอยู่ต่างประเทศกับโอรส ธิดา
ดิฉันอ่านเรื่องท่านไปร้องไห้ไปเพราะเห็นใจในชะตาชีวิตท่านเหลือคณา จนพาลเกลียดผู้นำสมัยนั้นเลยค่ะ (อาจจะเลยไปถึงลูกหลานเลยด้วยมั้ง)  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ธ.ค. 06, 08:07 โดย นางมารน้อย » บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 22:56

 เมื่อ “เจ้านาย” ถูกตัดสินประหารชีวิต ในสมัยประชาธิปไตย
ตอนที่ 1

ปลายปีพุทธศักราช 2481 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็น “จุดด่างพร้อย” ในประวัติศาสตร์สมัยประชาธิปไตย ...

“...ปลายเดือนมกราคม ทุกๆ คนได้ฟังข่าวอย่างสะทกสะท้านหวาดหวั่นมาก มีคนสำคัญและผู้หลักผู้ใหญ่คนอื่นๆ อีกเป็นอันมากถูกตำรวจจับ โดยข้อหาว่าจะทำการกบฏ...” (เกิดวังปารุสก์ สมัยประชาธิปไตย : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)

เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบอบการปกครอง และสร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังได้ก่อให้เกิดความ“สะทกสะท้านหวาดหวั่น”ต่อเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เพราะหนึ่งใน“คนสำคัญ”ที่ถูกจับนั้น มี“เจ้านาย”พระองค์สำคัญรวมอยู่ด้วย

“คนสำคัญ” ที่พระองค์จุลฯ ทรงกล่าวถึงนั้นคือใคร !?! ทำไม ... จึงส่งผลต่อจิตใจของพวก “เจ้า”

“...เหตุเกิดในตอนเช้ามืดวันที่ 29 มกราคม 2481 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการกวดล้างจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 51 คน ฐานดำเนินการเพื่อคิดการกบฏและวางแผนประทุษร้ายชีวิตบุคคลในคณะรัฐบาล ในบรรดาผู้ถูกจับกุมครั้งนั้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รวมอยู่ด้วย โดยตำรวจสันติบาลได้เชิญเสด็จพระองค์จากลำปางเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2481 ซึ่งทำให้เจ้านายและประชาชนทั่วไปประหลาดใจมาก เพราะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ และไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด...” (เกิดวังปารุสก์ สมัยประชาธิปไตย : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)


“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร” เจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งพระราชวงศ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนรเนทร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว. เนื่อง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428ได้รับพระราชทานพระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์”

ครั้นเมื่อประสูติได้ 12 วัน เจ้าจอมมารดาถึงแก่อนิจกรรม รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เนื่องจากเจ้าจอม ม.ร.ว. เนื่อง นั้นอยู่ในสังกัดของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว ได้ทรงกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อพระอาการประชวรเกี่ยวกับโรคหืดกำเริบ จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เพราะทรงเกรงว่าจะมีผลกระทบต่องานราชการที่ทรงรับผิดชอบอยู่ และนับแต่นั้นมาก็ไม่เคยปรากฏว่าทรงมีบทบาททางการเมืองการปกครองตลอดสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 จนกระทั่งเมื่อต้นรัชกาลปัจจุบันจึงได้ทรงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2495


สำหรับเรื่องฐานะและบทบาทของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ในสมัยรัชกาลที่ 8 นั้น คุณสมภพ จันทรประภา ได้เขียนไว้ในหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ความว่า “...ข่าวนี้กระเทือนขวัญผู้คนมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ทรงมีพันธะสนิทกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เป็นส่วนพระองค์พิเศษต่างไปจากพระบรมวงศ์พระองค์อื่นด้วย และที่สำคัญไม่เคยมีใครรู้ ใครคิดว่า ทรงสนพระทัยการเมืองถึงกับทุ่มพระองค์ลงมาคลุกคลี...”

เหตุการณ์วันที่ “เสด็จในกรม” ทรงถูกจับ ...

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์วันนั้นไว้ว่า

“...ในครั้งนั้นเสด็จในกรมทรงว่างราชการ จึงทรงเสด็จประพาสตามต่างจังหวัดต่างๆ จังหวัดทางภาคเหนือเป็นที่โปรดปรานมาก เพราะเป็นที่สูงและมีอากาศแห้งถูกกับพระอาการที่ประชวรอยู่ด้วยโรคหืดเป็นประจำ ... คืนวันหนึ่ง ผู้เขียนนั่งฟังวิทยุจากกรุงเทพฯ อยู่ครู่หนึ่ง เสด็จในกรมก็มาประทับฟังด้วย คืนนั้นมีข่าวผู้ที่ถูกจับกุมทางปักษ์ใต้คนหนึ่ง หลบหนีเจ้าพนักงานแล้วถูกยิงตาย เสด็จในกรมทรงฟังข่าวต่างๆ โดยดุษฎี บางทีจะไม่ทรงทราบเลยเลยว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พระองค์เองจะกลายเป็นข่าวสำคัญ

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเป็นวันเสด็จกลับจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถด่วน มีรับสั่งให้ผู้เขียนไปบุ๊ครถนอนถวายไว้ล่วงหน้า วันนั้นรถด่วนขาล่องออกจากสถานีลำปาง เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จในกรมเสวยพระกระยาหารกลางวันราวๆ เที่ยง แล้วก็รับสั่งว่าจะบรรทมพักผ่อนสักครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเสด็จไปสถานี ในระหว่างที่บรรทมอยู่นั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจสันติบาลที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ก็ขอเฝ้าโดยด่วน เมื่อได้เฝ้าก็ทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ มีรับสั่งถามว่า “มีเรื่องอะไร” นายตำรวจผู้นั้นก็ทูลว่า “ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจะขอเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ” เสด็จในกรมรับสั่งถามต่อไปว่า “ใครเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล” นายตำรวจกราบทูลต่อไปว่า “ขุนศรีศรากร” ในกรมมีรับสั่งว่า “เอ ฉันไม่รู้จัก” เมื่อนายตำรวจทูลถามว่าทรงมีปืนหรือไม่ ก็รับสั่งตอบว่า “ไม่เคยมีเลยแม้แต่ปืนยิงนก” แล้วก็เสด็จออกจากพระที่แต่งพระองค์เสด็จไปสถานีรถไฟ มีนายตำรวจนั่งไปหน้ารถและมีผู้เขียนเรื่องนี้ตามไปส่งเสด็จด้วย ตั้งแต่เวลาที่ตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จ ตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนเข้าไปในห้อง มีเจ้าพนักงานยืนคุมหัวรถท้ายรถ เสด็จในกรมมิได้มีพระอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า “ขัตติยมานะ” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดบ่อยครั้ง และตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียน (มร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้เคยเห็นของจริงก็ในคราวนั้นครั้งเดียว...” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:05

 เมื่อ “เจ้านาย” ถูกตัดสินประหารชีวิต ในสมัยประชาธิปไตย (ตอนที่ 2)
เมื่อ “สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ทรงทราบ

“ทำไมรังแกฉันอย่างนี้ มันจะเอาชีวิตฉัน มาทำลูกชายฉัน เห็นได้เทียวว่า รังแกฉัน” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)

ข้อความดังกล่าวเป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทันทีที่หม่อมอลิซาเบท ในกรมขุนชัยนาทนเรนทร มากราบทูลเรื่อง “เสด็จในกรม” ทรงถูกจับที่ลำปางให้ทราบ ซึ่งทรงตกพระทัยและโทมนัสเป็นอันมาก เพราะทรงเป็นทั้ง “แม่เลี้ยง” ของกรมขุนชัยนาทฯ และ “พระกุลเชษฐ์” แห่งพระราชวงศ์

จากบันทึกของพระโอรส

หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเขียนถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น “เคราะห์กรรม” ของครอบครัวพระองค์ไว้ว่า

“...พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ ปีที่มี 9 เดือนเท่านั้น ใกล้เข้ามาแล้ว สองเดือนก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแบบเก่าครั้งสุดท้าย เสด็จพ่อถูกตำรวจของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม จับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ... โดยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจตั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ ทั้งอำนาจตั้งอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ (แต่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย) ศาลพิเศษนี้ผู้พิพากษาเป็นนายพลเพื่อนนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเดียวคือคดีที่เสด็จพ่อทรงติดร่างแหไปด้วย นักกฎหมายทุกคนเห็นว่าเป็นการผิดหลักนิติธรรมที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติไม่มีสงครามหรือการจลาจลได้ออกกฎหมายพิเศษให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้ที่มีอำนาจตั้งโจทก์ ตั้งผู้ว่าคดี และตั้งผู้พิพากษาเองทั้งหมด เป็นเรื่องซึ่งทำให้คนไทยผู้ไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่อาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการถูกประหารชีวิต 18 คน ถูกจับคุกหลายสิบคน รวมทั้งเสด็จพ่อด้วย ทีแรก “เชิญเสด็จ” ไปที่พระราชวัง(หมายถึงโรงพักพระราชวัง) แล้วลหุโทษ(เดี๋ยวนี้เรียกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือคลองเปรม) แล้วในที่สุด “บางขวาง” เมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 ปีที่พอ 1 มกราคม ก็เปลี่ยนเป็น 2483 ให้ตรงกับการขึ้นปีใหม่ฝรั่ง...” (เกิดวังไม้ : ม.จ. ปิยะรังสิต รังสิต)


ทำไม “กรมขุนชัยนาทฯ” ผู้ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจึงถูกจับ

“...เรื่องมันเห็นได้ตามภูมิปัญญาของข้าพเจ้าว่า การถูกกยิงที่ท้องสนามหลวง และลอบวางยาพิษ(ถ้าเกิดขึ้นจริง) ได้ทำให้หลวงพิบูลสงครามหวั่นหวาด “ภัยมืด” มากขึ้น จนสุดที่จะทนทานได้ จึงจำเป็นต้องจัดการลงไปที่ตะเป็นการประกันความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ... ความสงสัยได้รวมอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของพระยาทรงสุรเดช การคิดตั้งโรงเรียนรบที่เชียงใหม่นั้น ถูกสงสัยว่าเป็นแผนการของพระยาทรงฯ ที่จะยึดอำนาจการปกครอง พวกสหายและสานุศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช อาทิ พระสิทธิเรืองเดชพล หลวงชำนาญยุทธศิลป หลวงรณสิทธิพิชัย ขุนคลี่ ฯลฯ …

เหล่านี้ถูกสงสัยว่าพยายามที่รวบรวมพวกพ้อง และตลอดจนลอบฆ่าหลวงพิบูลฯ แต่พระยาทรงสุรเดชและพวกพ้องต้องได้เงินมาใช้เตรียมการจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ความสงสัยจึงฉวัดเฉวียนไปทางพระราชวงศ์ชั้นสูง อาทิ พระปกเกล้าฯ และกรมพระนครสวรรค์ แต่โดยที่ใครๆ ก็ทราบว่า ... พระยาทรงฯ ไม่เคยมีโอกาสได้เฝ้าเจ้านายชั้นสูงเช่นที่ออกพระนามแล้ว แต่มีเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่โปรดเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในสยามและต่างประเทศ นั่นคือกรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งมีโอกาสที่ใครจะพบได้ง่าย ทั้งปรากฏด้วยว่าพระองค์เสด็จประพาสเชียงใหม่ จึงน่าจะเป็นโอกาสให้พระยาทรงฯ ได้เข้าเฝ้า กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกสงสัยว่าได้ประทานอุปการะแก่การคิดกบฏของพระยาทรงฯ...” จากบันทึกของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ ที่เขียนไว้ในเรื่องชีวิตของการกบฏ และการตั้งศาลพิเศษ

แล้ว “กรมขุนชัยนาทฯ” เสด็จไปทำอะไรที่เชียงใหม่ จริงหรือ ? ที่ทรงสนับสนุนกบฏ เพราะอยากได้อำนาจคืน

หลวงอายุรกิจโกศล เขียนเล่าไว้ว่า “... ในปี ๒๔๘๑ ระหว่างเดือนสิงหาคม หรือกันยายน จำไม่ได้แน่ เสด็จในกรมได้เสด็จไปจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเสด็จได้มีลายพระหัตถ์ถึงข้าหลวงประจำจังหวัด แจ้งพระประสงค์ว่า เพื่อทรงศึกษาลู่ทาง ที่จะให้หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต พระโอรสพระองค์เล็กซึ่งทรงศึกษาวิชามนุษย์ไปสอบสวน และศึกษาเรื่องชาวละว้าซึ่งทางเหนือเรียกว่าลัวะเพื่อนำไปทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยซูริคในประเทศสวิสเซอร์แลนในสิ้นปีหน้า และส่งลายพระหัตถ์ฉบับเดียวกันถึงผู้เขียนด้วยข้อความเดียวกัน กับสั่งให้จองโรงแรมรถไฟให้ด้วยสองห้องสำหรับเป็นที่ประทับ

เมื่อเสด็จถึง ได้ทรงปรารภเรื่องนี้พร้อมกับข้าหลวงประจำจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ... รับสั่งว่า ... จะให้ท่านชายเล็กไปพบ ม.ร. ฮัทจิสัน เพื่อขอทราบเรื่องเหล่านี้บ้าง (เรื่องการศึกษาเผ่าละว้า - ผู้เขียน) รับสั่งว่าจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่เพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ท่านชายได้เดินทางไปบ่อหลวงเพื่อดูลาดเลาเสียครั้งหนึ่งก่อนสักสองสามวัน แล้วจึงกลับไปเตรียมตัวเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการนี้ให้พร้อมแล้ว จึงกลับมาทำการสอบสวนให้เต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง ... เมื่อได้ตกลงเรื่องของท่านชายเล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสด็จในกรมก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์และคณะเดินทางไปฮอด และบ้านบ่อหลวง บ้านบ่อสะหลี เป็นเวลาเกือบ ๒ อาทิตย์จึงกลับเชียงใหม่แล้วกลับกรุงเทพฯ...” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)

จากนั้นอีกประมาณ 2 อาทิตย์ ก็เสด็จกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต และเสด็จประพาสที่เชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง จึงได้เสด็จไปประทับกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ลำปาง ซึ่งก็ทรงไปประทับด้วยอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งถูกจับ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศในคืนวันนั้นว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ควบคุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่สถานีรถไฟลำปางเพื่อนำส่งกรุงเทพฯ”
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:05

 เมื่อ "เจ้านาย" ถูกตัดสิน ... ตอนที่ 3 สมเด็จพระพันวัสสาตรัสว่าจะยอมเป็นขอทาน
“ทำไมหนอรัฐบาลหลายรัฐบาลมาแล้วจึงไม่ยอมที่จะเข้าใจเลยว่า ฉันไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องอำนาจวาสนา ฉันต้องการอยู่ตามลำพังอย่างคนสามัญทั้งหลาย” พระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ

“ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหาย ฉันก็จะยอมเป็นขอทาน ...”

เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงทราบเรื่องแล้ว ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน 1 ใน 2 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อให้หาทางช่วยเหลือกรมขุนชัยนาทฯ เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ คนนี้เคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

“เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอช่วยไปบอกจอมพล*ทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯ เข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ 12 วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาทหนีหาย ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหาย ฉันก็จะยอมเป็นขอทาน” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)

* เข้าใจว่าพระราชดำรัสนี้น่าจะมาจากคำบอกเล่าที่ผู้เขียนได้ฟังมาภายหลัง จึงได้ผิดพลาด เพราะเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมียศเป็นเพียงพลตรี หลวงพิบูลสงคราม

การเจรจาที่ล้มเหลว

เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ กราบบังคมทูลลาไปปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลไม่ยินยอมให้ปล่อยตัว เพราะ “เกี่ยวกับเรื่องของบ้านเมือง” เมื่อกลับมาทูลสมเด็จฯ จึงทรงโทมนัสแล้วตรัสว่า



“เขาจะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจ เหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว”

แล้วตรัสสั่งว่า

“เธอจะไปทำอย่างไร ก็ขอให้ช่วยด้วย เห็นแก่ฉันเถอะ ฉันไม่พูดหรอกกับพระองค์อาทิตย์* เพราะเธอเป็นเด็กและเป็นญาติฉันด้วย” (* พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์อาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กล่าวกันว่าทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล)

เจ้าพระยาพิชเยนทร์ ได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้ กราบถวายบังคมลาออกไปทั้งน้ำตานอง

เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทร์ไปแล้ว สมเด็จก็ตรัสสั่งให้ ม.จ. สนิทประยูรศักดิ์ รังสิต พระโอรสองค์เล็ก ในสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ให้เสด็จต่างประเทศทันที โดยทรงเกรงว่าจะถูกรังแกไปด้วย ธนบัตรที่เป็นเงินปีและเก็บอยู่ในซองหลายต่อหลายซองถูกทรงฉีกนำออกมาพระราชทานเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยพระองค์เอง เมื่อท่านชายสนิทฯ เสด็จไปแล้วก็ทรงเบาพระทัย แต่ก็ยังไม่คลายทุกข์ ทรงถือว่ารัฐบาลแกล้งบีบคั้นพระองค์โดยเฉพาะ จึงตรัสสั่งห้ามเจ้านายฝ่ายหน้าทุกพระองค์ที่เป็นหลานและทรงทำราชการอยู่ไม่ให้เสด็จมาเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน เพราะทรงกลัวจะถูกแกล้งต่อไปอีก วังสระปทุมเวลานั้นมีสภาพเป็นวังร้าง (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)

และด้วยทรงเชื่อว่ารัฐบาลแกล้งบีบคั้นเฉพาะพระองค์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่ทรงให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ช่วยเหลือสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เพราะเกรงว่าพระองค์อาทิตย์ฯ จะโดน "...รังแก...” ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

เคราะห์ซ้ำราชสำนัก “ทูลกระหม่อมป้าของในหลวง” ประชวรหนัก

เมื่อสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงถูกจับเพียงไม่กี่วัน ก็มีผู้มากราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่าสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคพระวักกะพิการ และหมอไม่สามารถถวายการรักษาได้เพราะไม่เข้าใจสมมติฐานของโรค มีแต่เพียงแต่สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เท่านั้นที่ทรงอธิบายได้ จึงทรงเรียกเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ มาเข้าเฝ้าฯ และทรงขอให้ไปติดต่อรัฐบาลเพื่ออนุญาตนำตัวสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ออกมาชี้แจงสมมติฐานแก่หมอ แต่รัฐบาลก็ไม่ยินยอม

สมเด็จฯ จึงทรงให้ไปเจรจาอีกครั้งโดยขอให้หมอได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เพื่อฟังการชี้แจงสมมติฐาน รัฐบาลแจ้งว่าแล้วแต่กรมตำรวจ (ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าในเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เกรงใจหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจอยู่มาก) เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ไปอ้อนวอนกรมตำรวจ และขอให้สมเด็จฯ ทรงบริจาคเงินสองหมื่นบาทช่วยราชการทหารจนเป็นที่ตกลง แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไรสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481

ขออนุญาตนอกเรื่องสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องงานพระเมรุสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฯ ครับว่า “...แต่มาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดาซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า รัฐบาลแจ้งให้ทราบว่าไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระมรุตามพระราชอิสสริยยศถ้าต้องพระประสงค์ จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงิน(เอง)...” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา)

เป็นอันว่าเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน ไม่อาจสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพันวัสสาได้ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ถึงทรงถูกขังอยู่ต่อมาจนทรงถูกศาลพิเศษพิพากษาคดี
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:06

 เมื่อ "เจ้านาย" ถูกตัดสินประหารชีวิตในสมัยประชาธิปไตย ตอนที่ 4 "ประหารชีวิต"
" ฉันตายแล้ว ฉันจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงท่านได้อย่างไร ท่านอุ้มมาพระราชทานฉันกับพระหัตถ์เองทีเดียว เมื่อ 12 วัน แท้ๆ" พระราชดำรัสของสมเด็จพระพันวัสาอัยยิกาเจ้า


เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ท่านนี้ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าฟ้าทองอินทร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2478 ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ปลงพระชนม์พระองค์เอง ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์เคยกล่าวว่าท่านผู้นี้ได้รับความเคารพนับถือมากในหมู่คณะราษฎร


เมื่อการเจรจาระหว่างสมเด็จพระพันวัสสาฯ กับรัฐบาลเพื่อให้ปล่อยตัวพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ (พระยศในขณะนั้น) ไม่ประสบผลสำเร็จ พระองค์จึงต้องถูกพิจารณาโดยศาลพิเศษที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น และไม่ว่าจะเห็นชอบหรือถูกบังคับก็ตาม 2 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้เป็นผู้ลงนามในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ ซึ่งศาลนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้สำหรับพิจารณาคดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลโดยเฉพาะ โดยไม่อนุญาติให้จำเลยมีทนายแก้ต่างในศาล คณะกรรมการศาลพิเศษ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ประกอบไปด้วยเพื่อนและคนใกล้ชิดของพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เช่น พ.อ. หลวงพรหมโยธี พ.อ. พระประจัญปัจจนึก พ.อ. พระขจรเนติยุทธ เป็นต้น

ศาลพิเศษ เป็นสัญลักษณ์แห่งความด่างพร้อยของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างหลักฐานและพยานเท็จมากมาย เพื่อให้บุคคลที่รัฐบาลสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์ได้รับโทษ

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10 เดือน การพิจารณาคดีของศาลพิเศษจึงสิ้นสุดลง ในวันที่มีการพิพากษานั้น ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ 1 ในนักโทษการเมืองทั้ง 51 คน ได้กล่าวว่านักโทษเกือบทุกคนมั่นใจว่าตัวเองจะพ้นผิดจากข้อกล่าวหา ทุกคนเดินเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่มีใครคิดว่าตนเองจะถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตแต่งอย่างใด เพราะต่างก็มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง


พิพากษา

“…คดีเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยทั้งหมดในดีนี้นอกจาก … ได้สบคบกันกระทำการประทุษร้ายเพื่อทำลายรัฐบาล มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 101…

อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงต้องพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป จำเลยทำความดีมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงเหตุผลที่ว่าๆ ไปแล้ว ควรได้รับความปรานี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 และมาตรา 37 (1) คงให้จำเลยทั้ง 3 นี้ ไว้ตลอดชีวิต…”


การพิจารณาในครั้งนี้ได้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง 21 คน และมี 3 คนที่ได้รับการลดโทษ คือ พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร หลวงชำนาญยุทธศิลป เคยมีผู้สัมภาษณ์จอมพล ป. พิบูลสงครามว่าทำไมไม่ขออภัยโทษให้กับนักโทษที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต เมื่อท่านอยู่ในฐานะที่ทำได้ ซึ่งจอมพล ป. ได้อ้างว่าหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ไม่ยินยอม ท่านสามารถขอได้เพียง 3 คนเท่านั้น แต่ก็มีผู้เย้งว่าจอมพล ป. โยนความรับผิดชอบนี้ของตนให้เป็นความผิดคนอื่น

เมื่อถูกพิพากษาตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกเชิญเสด็จไปกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง และยิ่งนำความเสียพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพันวัสสามากยิ่งขึ้นเมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีพระราชโองการถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด โดยให้ออกนามใหม่ว่า “นักโทษชายรังสิต”
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:06

 เมื่อ "เจ้านาย" ถูกตัดสินประหารชีวิตในสมัยประชาธิปไตย ตอน 5 "ทรงพ้นโทษ"
หลังจากที่ "นักโทษชายรังสิต" ถูกกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง ในข้อหา "กบฏ" เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2482 ในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ตัดสินใจปล่อยท่านให้เป็นอิสระ


"...คุณหลวงอายุรกิจโกศลได้เขียนถึงเวลาหลังจากเสด็จพ่อทรงพ้นภัยการเมืองคือเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2486 ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าได้ทำผิดพลาดไปจึงเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ปล่อยพระองค์เสด็จกลับวัง ดังต่อไปนี้:-----"วันหนนึ่งข่าวที่ไม่มีใครคาดฝันจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศข่าวที่น่าตื่นเต้นว่า ทางราชการได้ปลดปล่อยเสด็จในกรมเป็นอิสระ ทั้งได้ถวายคืนฐานันดรศักดิ์ พระอิสริยยศทุกอย่างให้ทรงมีพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชวงศ์ตามเดิมทุกระการ และได้เสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักถนนวิทยุอย่างเดิมแล้ว ข่าวนี้ได้ทำใฝห้เกิดความปรีดาปราโมชย์แก่ผู้ที่ได้ฟังเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้น 3 วัน ผู้เขียนได้ไปเฝ้าเยี่ยม ... ในขณะที่เฝ้าอยู่นั้นผู้เขียนได้พิจารณาถึงพระวรกายและสุขภาพอนามัยของพระองค์ เห็นคงเป็นปกติอยู่ ไม่ทรงผ่ายผอมซูบซีดแต่ประการใด แต่อยากทูลถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่เกรงจะไม่พอพระทัยจึงกราบทูลขอประทานอนุญาติเสียก่อน ซึ่งรับสั่งว่า แกอยากถามอะไรก็ถามได้ จึงทูลถามว่า "ในฐานะที่ใต้ฝ่าพระบาทเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์แต่ได้ทรงรับเคราะห์ ได้รับทุกข์ทรมานเช่นนี้ จึงขอประทานทราบเกล้าฯ ว่าดำรงพระชนม์ชีพมาได้อย่างๆไร" เสด็จในกรมทรงพระสรวลแล้วรับสั่งว่า ถามดี และยังไม่มีใครทูลถามเรื่องนี้แล้วรับสั่งว่า "ฉันจะบอกให้แก่รู้ว่า ฉันมีชีวิตอยู่มาได้เพราะโพชฌงค์" ..." (วังไม้ : หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต)

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2486 นักโทษชายรังสิต จึงกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์" และคืนสู่พระอิสริยยศ "กรมขุนชัยนาทนเรนทร" นับแต่นั้นมา


ข่าวการปล่อยสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ในครั้งนั้น สำหรับขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป อาจเห็นเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นประหลาดใจ แต่ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ข่าวนี้เป็นข่าวที่ทราบกันมาก่อนแล้ว และการปล่อยตัวครั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้มีกรุณาปล่อยตัวลอยๆ โดยไม่มีหลักประกัน แต่เบื้องหลังความปรีดาปราโมชย์นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นที่แน่ใจแล้วว่าเสด็จในกรมขุนชัยนาทจะต้องทรงประพฤติพระองค์ให้ดีเมื่อออกจากคุก โดยพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทรงเป็นผุ้ให้หลักประกัน


ซึ่งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" ความว่า "...คืนหนึงหญิงแก้ว ( หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศรา เทวกุล ข้าหลวงในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า - รอยใบลาน ) เอาลายพระหัตถ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ มาส่งให้ข้าพเจ้าและบอกว่า เรื่องกรมขุนชัยนาทฯ ข้าพเจ้าจะถวายเสด็จพ่อคืนนี้หรือพรุ่งนี้ก็ตามใจ ข้าพเจ้าตอบว่าเอาไว้เช้าเถิด กลัวท่านไม่หลับคืนนี้ สักครู่เสด็จพ่อเสด็จผ่านจะไปห้องพระบรรทม ท่านหยุดถามข้าพเจ้าว่า "คุยอะไรกัน?" เรายิงฟันทูลตอบแต่ว่า "เปล่า" ท่านก็เลยไป รุ่งขึ้นเช้าท่านกำลังเสวย ข้าพเจ้าถือลายพระหัตถ์นั้นออกไปเฝ้า ท่าตรัสถามทันทีว่า "เมื่อคืนนี้มีอะไรกัน? พ่อเห็นหน้าเธอก็รู้ว่ามีเรื่อง" ข้าพเจ้าทูลว่า "เรื่องดี หม่อมฉันกลัวเสด็จพ่อจะ excite บรรทมไม่หลับจึงเก็บไว้เช้านี้ ทรงทำพระทัยเสียก่อนว่าเป็นเรื่องกรมขุนชัยนาทฯ" ท่านพระพักตร์แดงก่ำขึ้นทันทีแล้วตรัสว่า "ส่งมาเถอะได้" (เวลานั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระชรา และประชวรด้วยโรคพระหทัย - รอยใบลาน) พอทรงอ่านแล้วก็เรียกคนเขียนตอบในเดี๋ยวนั้น ลายพระหัตถ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ มีว่า บัดนี้พระองค์อาทิตย์ฯ (ประธานคระผุ้สำเร็จราชการแทนพระองค์ - รอยใบลาน) มาทูลว่านายกฯ และรัฐบาลให้กราบทูลว่าถ้าสมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระนริศฯ(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ - รอยใบลาน) และพระชนนีศรีสังวาลย์ ทรงรับเป็นประกันว่าจะให้กรมขุนชัยนาทฯ ประพฤติพระองค์ให้เรียบร้อยแล้ว รับบาลจะปล่อยออกจากคุกในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงนี้ (วันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 8 คือวันที่ 20 กันยายน - รอยใบลาน) เสด็จพ่อทรงตอบรับทันทีว่าขอเป็นประกันเต็มที่ตามต้องพระประสงค์ เสด้จพ่อทรงอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นหนามแทงอยู่ในหัวใจ พ่อคิดอยู่เสมอว่าถ้ารู้ตัวว่าจะตายจะขอพบนายกฯ เพื่อขอกรมชัยนาทฯ เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) ท่านทรงฝากลูกเมียไว้ ไม่รู้จะเอาหน้าไปพบกับท่านได้อย่างไรโดยมิได้คิดช่วยเหลือ..."


ความวุ่นวายในวันปล่อยตัวเสด็จในกรม

"...เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงจัดการให้ได้รับประกันมาครบถ้วนแล้วก้ทรงสั่งให้จัดตำหนักถวายกรมชัยนาทฯ ให้เสด็จออกมาอยู่วัง(วังสระปุทม - รอยใบลาน)เดียวกับพระองค์ท่าน แต่ครั้นถึงวันปล่อยจริงกรมชัยนาทฯ ไม่ได้เสด็จไปที่วังนั้นตามกำหนด ส่งรถไปสืบที่คุกก็ว่าออกไปแล้ว หญิงแก้วตกใจวิ่งเผ่นมาทูลเสด็จพ่อว่า ไม่รู้ว่าเขาเอาไปไว้ที่ไหน? เสด็จพ่อพระพักตร์เซียวไปในทันที ทรงนิ่วอยู่อย่างคิดไม่ออก ข้าพเจ้ารีบพูดกับหญิงแก้วว่า "เธอรีบกลับไปสืบให้ดีคงได้ความ" พอตกค่ำหญิงแก้วก็กลับมาทูลว่า "รู้แล้ว อยู่วังถนนวิทยุของท่านเอง ตำรวจเขาไม่ยอมให้มาอยู่วังสมเด็จฯ เพราะรู้ว่าจะมีคนเรียกเงินจากสมเด็จฯ เป็นส่วนตัว เขาจึงให้เสด็จอยู่ในอารักขาของตำรวจ ซึ่งไปเฝ้าวังไว้ตั้ง ๖ - ๗ คน และไม่ยอมให้ใครเข้าออกนอกจากคนใช้ประจำ คนของสมเด็จฯ เอาเครื่อง(อาหาร - รอยใบลาน)ไปส่งที่วังได้พบกับคนใช้ในวังกรมขุนชัยนาทฯ จึงได้รู้เรื่องมา..." (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ภาคจบ : หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล)
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:07

 เมื่อ "เจ้านาย" ถูกตัดสินประหารชีวิตในสมัยประชาธิไตย ตอนจบ
ณ เรือนจำกลางบางขวาง เช้าวันที่ 28 กันยายน 2486

เจ้าหน้าที่เรือนจำ นับแต่ชั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จนถึงชั้นผู้คุม และเจ้าหน้าที่ผู้ใหญฝ่ายตำรวจได้เข้ามาในแดนหก กราบทูลเชิญเสด็จในกรมฯ ให้พ้นจากการคุมขัง กลับเป็นอิสรภาพแต่บัดนั้น

เสด็จในกรมทรงฉลองพระองค์แบบสากล...สีครีมอ่อน ไทดำ รองพระบาทสีน้ำตาล พระองค์ได้เสด็จมาหน้าห้องพวกเราทุกคน รับสั่งอำลาและประทานพระหัตถ์ลอดช่องกรงมาให้พวกเราทุกคนจับ ดวงพระเนตรและพระพักตร์กอร์ปด้วยความอาลัย และมีพระทัยสงสารพวกเรามาก แก่พวเด้กๆ บางคน -- เสด็จในกรมฯรับสั่งเบาๆ "จงอดทนต่อไป...คงไม่ช้านัก..." และแก่ห้องนายโชติ คุ้มพันธ์ กับห้องม.ร.ว นิมิตรมงคล ซึ่งว่างอยู่โดยที่เจ้าของห้องทั้งสองถูกเนรเทศไปไว้เกาะ -- เสด็จในกรมฯได้ทอดพระเนตรมองอยู่ครู่หนึ่ง และโบกพระหัตถ์พร้อมด้วยอุทานว่า "ลาก่อน --นิมิตร ลาก่อนโชติ--" และพระองคืก็ลงจากตึกขังไป ทิ้งพวกเราไว้ในความโสมนัส และเศร้าวังเวงใจอย่างบอกไม่ถูก

ข้อความนี้ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต) 1 ในนักโทษการเมืองครังนั้น เขียนไว้ในหน้งสือเรื่อง "ทมิฬ"


หลังจากที่ทรงคืนสู่ฐานะ "พระบรมวงศ์" สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ได้ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

ปีพุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเถลิงราชย์สมบัติ ด้วยเหตุที่ทรงยังไม่บรรลุพระราชนิติภาวะ และต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใหพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ปีพุทธศักราช 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พระราชทานยศพลเอกนายทหารพิเศษประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหากเล็กรักษาพระองค์ และเลื่อนพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร" และยังคงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไปรักษาพระอาการประชวรยังต่างประเทศ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2494 กรมพระชัยนาทฯ ได้สิ้นพระชนม์โดยปัจจุบันที่วังถนนวิทยุ ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย ถือว่าเป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีพระชนม์ยืนที่สุด สิริพระชนมายุได้ 65 ปี 4 เดือน

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร"

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2495 พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
บันทึกการเข้า
คุณพี่
มัจฉานุ
**
ตอบ: 76



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ธ.ค. 06, 23:10

 .......บทความที่นำมาลงไว้นี้เป็นของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมต้องขออภัยที่จำชื่อท่านไม่ได้(ต้องขออนุญาตและขออภัยอย่างสูงครับ)บทความนี้เขียนไว้ค่อนข้างกระจ่างดีมากครับคงจะเป็นการดีที่ท่านได้อ่านครับ
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ธ.ค. 06, 08:15

 
[[181]]
เมื่อ "เจ้านาย" ถูกตัดสินประหารชีวิตในสมัยประชาธิปไตย

เคยอ่านเช่นกันค่ะกับบทความนี้ ส่วนเรื่องที่ว่าใช่สายของ ม.จ. วิภาวดี รังสิต ไหม คำตอบก็คือใช่ค่ะ แต่ว่าม.จ. วิภาดี นั้นท่านทรงเป็นพระสุนิสา (ลูกสะใภ้) ของเสด็จในกรมฯค่ะ จำราชสกุลเดิมของท่านหญิงไม่ได้ เสด็จในกรมทรงมีโอรส 2 ท่าน ธิดา 1 ท่าน เรื่องไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ.118 นั้นเสด็จในกรมทรงพระนิพนธ์ตอนถูกจำคุกอยู่ ทรงพระนิพนธ์เป็นการเล่าเรื่องให้ธิดาพระองค์เดียวฟัง อยากจะบอกว่าความจำของพระองค์ช่างแม่นยำเหลือเกิน ขนาดถูกจำคุกแต่ไม่มีหนังสืออ้างอิงใดๆเลยแต่ทรงเล่าเรื่องราวได้อย่างละเอียด ทั้งชื่อสถานที่ ชื่อบุคคล ได้อย่างเห็นภาพมากๆ  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ธ.ค. 06, 08:27 โดย นางมารน้อย » บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
มุดฉานะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 21


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 ธ.ค. 06, 16:15

 ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวค่ะ  เห็นภาพสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองชัดเจน  กว่าเราจะเป็น"ไทย" อย่างเช่นทุกวันนี้มันช่างยากเย็น แลกกับอิสระของคนหลายคน น้ำตาของประชาชนมากมายจริงๆน่ะค่ะ แล้ววันนี้เราคิดว่าเราทำดีที่สุดกันรึยัง...อ่านแล้วสงสารจับใจค่ะ  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง