เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 7461 ชอลิ่วเฮียงบนเรือนไทย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 15 ธ.ค. 00, 15:27

เห็นด้วยกับคุณนกข.ค่ะ เรื่องเตียวเหลียง
เตียวเหลียงเป็นเสนาธิการของเล่าปังหรือพระเจ้าฮั่นโกโจ   เก่งแบบขงเบ้ง
เพลงปี่ของเตียวเหลียงที่กล่อมทหารฝ่ายตรงข้ามให้ยอมจำนน  มีอยู่ใน ไซ่ฮั่น ที่กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขเป็นผู้อำนวยการแปล  สำนวนสูสีกับสามก๊ก  แบบรองอันดับหนึ่งสวยใกล้ๆกับนางสาวไทย
เพลงปี่ของเตียวเหลียงเป็นที่มาของเพลงปี่พระอภัยมณี ในตอนสำคัญที่สุดคือตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพ
ในไซ่ฮั่น บรรยายไว้กินใจมาก  ของสุนทรภู่ก็ไพเราะไม่แพ้กัน
จะไปหามาลงให้อ่านกันในกระทู้นะคะ  รอหน่อย มันยาวมากค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 15 ธ.ค. 00, 20:12

ท่านผู้รู้ภาษาจีนโปรดช่วยด้วย ใครทราบไหมครับว่า ฉู่ปาหวาง ที่ในฉบับไทยกลายเป็นฌ้อป้าอ๋องนี้ ตัวฉู่เขียนอย่างไร เหมือนแซ่ของชอลิ่วเฮียง (ฉู่หลิวเซียง) รึเปล่า ถ้าใช่ก็แปลว่าเผลอๆ ชอลิ่วเฮียงจะเป็นลูกหลานฌ้อป้าอ๋องเอาด้วยนา
ผมไม่แน่ใจเพราะเคยแต่ออ่านฉบับแปลครับ ไม่เคยเห็นตัวหนังสือจีนว่าอักษรเดียวกันหรือไม่ คำที่ออกเสียงว่า ฉู่ นี้ยังเป็นชื่อแคว้นๆ หนึ่งในจีนโบราณสมัยยังแตกแยกเป็นแคว้นต่างๆ ด้วย แต่ไม่ทราบว่าเป็นคำพ้องเสียงหรือคำเดียวกัน
จะรอคุณเทาชมพูคัดบทเพลงปี่เตียวเหลียงของจริงมาโพสต์ครับ  ระหว่างนี้ฟังเพลงปี่เตี่ยวเหลืองของผมจากความจำกระท่อนกระแท่นไปก่อนแล้วกัน
...เวลานี้ก็เป็นฤดูหนาว จะดูฟ้าก็สูงจะดูแผ่นดินก็กว้าง น้ำค้างตกเป็นเกล็ดน้ำแข็งเยือกเย็นไปทุกทิศ ป่านฉะนี้ เหล่าขนผู้มีครอบครัวอยู่กับบ้านก็คงจะล้อมวงอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข พรั่งพร้อมหน้ากันบุตรภรรยา
แล้วตัวข้าเล่า มาอยู่ใยเดียวดายคนเดียว ณ เมืองน้อยริมทะเลสาบเจนีวานี้ จะแลหาคู่ใจจะร่วมกันสร้างครอบครัวก็ยังไม่ปะ จะเดินทางกลับบ้านเกิดหรือก็ไกลแสนเข็ญ ที่พักชั่วคราวของข้าที่เมืองนี้ก็หามือนุ่มๆ อุ่นๆคอยอุ่นสุราและปากช่างเจรจาฉอเลาะร่วมดื่มสุราอุ่นนั้นมิได้ ...
อนาถหนอ อากาศว่าหนาวแล้ว แต่หัวใจข้าหนาวยิ่งกว่านัก...
บันทึกการเข้า
อักกา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 ธ.ค. 00, 23:45

รู้สึกว่าหงอกี๋จะชิงฆ่าตัวตายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระในการหนีของฌ้อปาอ๋อง แต่ฌ้อปาอ๋องแทนที่จะหนีได้สบายขึ้นก็หมดกำลังใจต่อสู้จึงยอมแพ้แก่ฮั่นโกโจ ผมจำมาจาก Farewell to My Concubine อาจจะผิดจากประวัติศาสตร์ก็ได้เพราะเป็นเรื่องงิ้วที่แสดงกันทั่วไป
เลสลี่ จางเล่นเป็นนักแสดงงิ้วที่รับบทหงอกี๋ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชิงจนผ่านช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ธ.ค. 00, 00:42

่ฌ้อปาอ๋อง ไม่ใช่ชื่อเเต่เป็นสมญานาม

ฌ้อ คือชื่อเมือง

ปาอ๋อง หมายถึง กษัตริย์ผู้พิชิต

เท่าที่ผมจําได้

หงอกี  ฆ่าตัวตายก่อน (เเล้วกลายเป็นต้นฝิ่น)

ฌ้อปาอ๋อง  หนีไปจนถึงริมฝั่งเเม่นํ้าแยงซีเกียงเเล้วจึงหันกลับมาสู้จนตัวตาย

(รู้สึกว่าสู่ไปสักพักเเล้วเห็นว่าไม่รอดจึงฆ่าตัวตาย



ตัวอักษรฌ้อปาอ๋อง เขียนอย่างนี้
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/reurnthai223x18.gif'>
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ธ.ค. 00, 18:48

พอดีหนังสืออยู่ใกล้มือ ประกอบกับเพิ่งอ่านจบไม่นาน เลยเปิดหาง่าย
๒๐๒ ปี ก่อนค.ศ. เดือนธันวาคม(ย้ำ เดือนธันวาคม ไม่ใช่เดือน ๑๒)
ซีฉู่ป้าหวาง(เซี่ยงอวี่) เหลือทหารไม่กี่หมื่นคน แต่เสบียงเกลี้ยง กำลังใจลดตกฮวบ ถูกทหารของหลิวปางที่นำโดยแม่ทัพซุน แม่ทัพเฟ่ยและหานซิ่นล้อมเอาไว้ สนมรักแซ่อวี๋ฆ่าตัวตายตอนนี้เอง(ไม่ทราบฆ่าตัวตายด้วยวิธีไหน)
รุ่งขึ้น ทัพฮั่น(หลิวปาง)พบว่าเซี่ยงอวี่แหวกวงล้อมหนีข้ามแม่น้ำหวยเหอ(อยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแยงซี)ไปได้ แต่ตอนข้ามแม่น้ำไปได้ รอบกายเซี่ยงอวี่เหลือทหารอยู่แค่ร้อยกว่า ทัพฮั่นส่งทหารห้าพันไล่ตามไป แพ้ชนะเห็นๆกันอยู่
เซี่ยงอวี่หลงทางถูกทหารฮั่นตามทัน กว่าจะหนีไปถึงเมืองตงเฉิงได้ ก็เหลือทหารอยู่ ๒๘ นาย(ทหารม้า) ทหารฮั่นยังมีอีกหลายพัน
หนีมาถึงริมแม่น้ำอูเจียง มีเรือเตรียมไว้พร้อม แต่เซี่ยงอวี่ไม่ยอมลงเรือ และปาดคอฆ่าตัวตายตรงนั้นเอง
จบ
แคว้นฉู่ คือ หนึ่งในเจ็ดแคว้นใหญ่ที่หลงเหลือมาจากยุคชุนชิว อันได้แก่ แคว้น ฉิน ฉู่ ฉี เว่ย เจ้า หาน เยียน(ยุคที่เหลือ ๗ แคว้นนี้ต่อจากยุคชุนชิว เรียกว่า ยุคจ้านกว๋อ) ซึ่งหกแคว้นที่เหลือได้ถูกแคว้นฉินผนวกได้สำเร็จในปี ๒๒๑ ก่อนค.ศ,
ปู่ของเซี่ยงอวี่เป็นแม่ทัพชื่อดังแห่งแคว้นฉู่ เซี่ยงอวี่เองก็เป็นชาวแคว้นฉู่ เขาถึงได้ตั้งตัวเองเป็น "ฉู่ป้าหวาง"
หวาง แปลว่า กษัตริย์
ป้าหวาง เป็นสมญานามของห้าเจ้าครองแคว้นที่ได้เป็นผู้นำของแคว้นอื่นทั้งหมดในยุคชุนชิว อันได้แก่ ฉีหวนกง จิ้นเหวินกง ฉินมู่กง ซ่งเซียงกง ฉู่จวงหวาง(ความจริงนอกจาก ๒ คนแรกแล้ว ๓ คนหลังมีการถกเถียงกันมากว่าใครควรจะได้เป็น) ซึ่งในยุคชุนชิวและจ้านกว๋อนั้น อ๋อง(หวาง)ผู้ครองแคว้นทุกคนต่างกระเหี้ยนกระหือรือจะครองตำแหน่ง "ป้าหวาง"  นี้กันทั้งนั้น(สุดท้ายแคว้นฉินชนะ ได้ตำแหน่งนี้ไป และเปลี่ยนมันเป็น "ฮ่องเต้") ความหมายโดยตรงของ "ป้าหวาง" คือ ใช้กำลังขึ้นเป็นใหญ่ เป็นคำที่ลัทธิขงจื่อใช้เรียกห้าอ๋องนั้นด้วยความไม่พอใจ เพราะพวกเขาต้องการให้พวกอ๋องเหล่านี้ "ว่าง"(ใช้คุณธรรมครองใต้หล้า คือ ใช้ความดีทำให้ทุกแคว้นยอมรับและยกแคว้นของคุณให้เป็นผู้นำทุกแคว้น) ไม่ใช่ "ป้า"(ใช้กำลังทำให้ทุกแคว้นยอมสยบ)
ที่เวลาเรียกเซี่ยงอวี่ ต้องเรียก "ซีฉู่ป้าหวาง" นั้นก็เพราะ มี "ฉู่เซียงหวาง" เป็น "ฉู่ป้าหวาง" คนแรกไปเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ธ.ค. 00, 19:39

ทำการบ้านมาให้แล้วค่ะ

ไซ่ฮั่น บรรยายตอนนี้ไว้ด้วยภาษาไพเราะว่า
 
  จนเวลาค่ำลงประมาณยามเศษ เงียบสงัดได้ยินแต่เสียงใบไม้หล่น   ลมรวยๆพอได้ยินเสียงเป่าปี่อยู่บนยอดเขานั้นเยือกเย็นเข้าไปในใจทหารทั้งปวง   ต่างคนต่างนิ่งฟังอยู่ทั้งสิ้น  จึงได้ยินเสียงเป่าเป็นเพลงว่า  เดือนยี่ฤดูหนาวน้ำค้างตกเย็นไปทั่วสี่ทิศ  จะดูฟ้าก็สูง  แม่น้ำก็กว้าง  ฤดูนี้คนทั้งปวงได้รับเวทนานักที่จากบ้านเมืองมาต้องกระทำศึกอยู่นั้น  บิดามารดาบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยื่นคอคอยอยู่แล้ว  ถึงมีเรือกสวนแลไร่น่าก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ  เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกัน  ก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข  น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น  ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บ ล้มตายเสียหาได้เห็นใจบิดามารดาไม่  แลตัวเล่าต้องมากระทำศึกอยู่ฉะนี้  ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว  บุตรภรรยาแลญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน  เป็นผีหาญาติมิได้  ถ้าแต่งตัวออกครั้งไร ก็มีแต่ฆ่าฟันกันกระดูกแลเนื้อถมแผ่นดินทุกครั้งดูสังเวชนัก   ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน  เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด  ท่านไม่รู้หรือ  ม้านั้นก็เป็นแต่ชาติสัตว์เดียรัจฉาน  ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงแลมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมาสู่ถิ่นของตัว  อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตายก็ย่อมให้ที่อยู่บ้านช่องของตัวพร้อมกับบิดามารดาแลญาติพี่น้องจึงจะดี  ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาแล้ว  แลมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่า จะมาพลอยตายเสียเปล่า  จึงใช้เรามาบอกให้รู้ ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย  แต่พระเจ้าฌ้อปาอ๋องยังไม่ตายฉะนี้    ถ้าช้าอยู่อีกหนึ่ง   วันหรือสองวัน  ฮั่นอ๋องก็จะจับตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้   ถ้าผู้ใดมีกำลังแลหมายจะสู้รบก็เห็นไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว   อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้  อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย  ถึงมาตรว่าหยกแลศิลาก็ไม่อาจทนทานอยู่ได้  อันฮั่นอ๋องนั้นก็เป็นคนมีบุญ  น้ำใจก็โอบอ้อมอารีนัก  ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกแลเข้าไปสวามิภักดิ์แล้ว  ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย  ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้   ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอด  รักษาชีวิตเอาความชอบดีกว่า  ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้  ท่านทั้งปวงตรึกตรองดูทุกคำเถิด

ส่วนตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพ  สุนทรภู่แต่งว่า
 
        วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น…………คนขยั้นยึนขึงตะลึงหลง
      ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง……………ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
     พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต……….ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
     ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง………….อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย  
     ถึงยามค่ำร่ำฆ้องจะร้องไห้…………………..ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
    โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย……..น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร    
     หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น…….ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
      แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน………จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
     วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่………………..พวกโยธีทิ้งทวนชะนวนเขนง
     ลงนั่งโยกโงกหงับทับกันเอง……………….เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
     จิ้งหรีดหริ่งสิงห์สัตว์สงัดเงียบ……………เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว
     น้ำค้างพรมลมสงัดไม่กวัดไกว…………..ทั้งเพลิงไฟโทรมซาบไม่วาบวู

   ภาษาใน ไซ่ฮั่น ตอนนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยออกความเห็นว่า  เจ้าพระยาพระคลัง(หน) น่าจะเคยข้ามจากสามก๊กไปช่วยเรียบเรียงไซ่ฮั่นบ้างบางตอน เพราะสำนวน "จะดูฟ้าก็สูง  แม่น้ำก็กว้าง"  น่าจะเป็นฝีมือเจ้าพระยาพระคลัง   ท่านบอกว่าใครเคยเห็นแม่น้ำเมืองจีนตอนหน้าหนาวจะซาบซึ้งคำนี้
เพลงปี่ของเตียวเหลียงในการเกลี้ยกล่อมเชิงจิตวิทยาถือว่ายอดเยี่ยมสมกับเป็นที่ปรึกษาใหญ่
ส่วนเพลงปี่ของท่านเตียวเหลืองในข้อ ๑๖   ต้องถือว่าไม่เบาเชียวละ  จำสำนวนสำคัญๆของท่านเตียวเหลียงได้แม่นมาก
และอาจจะได้เปรียบตรงอ้อนเก่งกว่าเล็กน้อยค่ะ
บันทึกการเข้า
เจ้าของกระทู้
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 ธ.ค. 00, 17:52

ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแบ่งปันความรู้ความคิดเห็น และข้อมูลครับ
บันทึกการเข้า
เจ้ายุทธจักร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ธ.ค. 00, 11:30

ผมชอบเรื่องเกี่ยวกับจีนๆแบบนี้มากครับ
แต่ไม่เห็นมีที่ไหนเป็นภาษาไทยเลยครับ
พูดคุยเรื่องสามก๊ก กำแพงเมืองจีน เที่ยวเมืองจีน
ถ้าใครเห็นที่ไหนนอกจากที่นี่ (ซึ่งผมอ่านหมดแล้ว) กรุณาบอกด้วย
จะเป็นพระคุณอย่างสูง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 ธ.ค. 00, 13:31

ก็ที่เขียนเล่าสู่กันฟังทั้งหมดนี่ไงคะเป็นภาษาไทย
ชอลิ้วเฮียง ก็เป็นฉบับภาษาไทย
สามก๊กไซ่ฮั่นที่คุยกันมาก็มาจากฉบับเแปลเป็นไทย
สิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของไทยไปแล้ว
มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางภาษา แตกต่างจากฉบับจีนของเดิม

ส่วนเรื่องเที่ยวเมืองจีนจัดเป็นเกร็ดแยกออกไปต่างหากค่ะ เพราะคนเฝ้าเรือนไทยไปเที่ยวมา
เลยถือโอกาสเล่าสู่กันฟังถึงเมืองจีนผ่านสายตาคนไทย
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 22 ธ.ค. 00, 20:16

ไว้รอข้าน้อยปิดเทอมก่อนค่อยว่ากันนะท่านเจ้ายุทธจักร
อีกประมาณไม่เกินหนึ่งเดือนนี้ล่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.123 วินาที กับ 19 คำสั่ง