เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 57826 ยศของข้าราชการสมัยก่อน
particle-in-a-box
อสุรผัด
*
ตอบ: 13

ยังเรียนอยู่ อนาคตครูฟิสิกส์


 เมื่อ 09 ต.ค. 06, 21:55

 เคยได้ยินชื่อตำแหน่งของข้าราชการสมัยก่อนบ่อยๆค่ะ เรียงลำดับมาตั้งแต่ (ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือเปล่านะคะ) หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา อยากทราบว่าตำแหน่งหรือยศที่ว่านี้ ต่างจาก กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ หรือ กรมพระยาอย่างไรคะ สงสัยจริงๆค่ะ ขอความช่วยเหลือจากท่านผู้รู้ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 10:18

 รอคุณ UP  คุณ V_Mee แวะเข้ามาดีกว่าค่ะ ท่านจะตอบได้ละเอียดดี
บันทึกการเข้า
เซียงยอด
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 12:10

 ที่คุณ particle-in-a-box นั้นเขาเรียกว่าบรรดาศักดิ์ครับ
สมัยก่อนจะใช้เป็นตัวกำหนดตำแหน่ง
และหน้าที่การงานของข้าราชการโบราณในระบบศักดินาครับ

ส่วนที่คุณถามเรื่องยศของข้าราชการสมัยก่อนนั้น
ผมเข้าใจว่าจะหมายถึงยศของข้าราชการพลเรือน
สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งยศที่ว่านี้ใช้ลักษณะ
การจัดลำดับอย่างยศทหาร ดังนี้

{ชั้นสัญญาบัตร}
1. มหาอำมาตย์นายก = จอมพล (ยศชั้นสูงสุด)
2. มหาอำมาตย์เอก = พลเอก
3. มหาอำมาตย์โท = พลโท
4. มหาอำมาตย์ตรี = พลตรี
5. อำมาตย์เอก = พันเอก
6. อำมาตย์โท = พันโท
7. อำมาตย์ตรี = พันตรี
8. รองอำมาตย์เอก = ร้อยเอก
9. รองอำมาตย์โท = ร้อยโท
10. รองอำมาตย์ตรี = ร้อยตรี

{ชั้นประทวน}
11. เสวกเอก = จ่าสิบเอก
12. เสวกโท = จ่าสิบโท
13. เสวกตรี = จ่าสิบตรี
14. รองเสวกเอก = สิบเอก
15. รองเสวกโท = สิบโท
16. รองเสวกตรี = สิบตรี

ยศเหล่านี้มีอักษรย่อใช้อยู่เหมือนกัน แต่จำไม่ได้แล้วว่าย่ออย่างไร

อนึ่ง มีคำนำหน้านามของข้าราชการอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ราชบุรุษ"
ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช้ยศข้าราชการหรือไม่
และถ้าหากใช้ ควรจัดอยู่ในระดับใด
อยากให้ทุกท่านช่วยตรวจสอบด้วยครับ

ปล. ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไล่จากความจำ
ข้อมูลบางอย่างอาจจะผิดไปจากที่ไล่มาก็ได้
ขอให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 13:09

 ดิฉันตีความคนละอย่างกับคุณเซียงยอดค่ะ
ดิฉันเข้าใจว่าคุณ Particle เจอคำว่า หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา ฯลฯ  แล้วก็เจอคำว่า กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง ฯลฯ
เลยสงสัยว่าสองประเภทนี้ต่างกันยังไง

คุณ V_Mee ซึ่งน่าจะอธิบายได้ละเอียดกว่ายังไม่เข้ามาสักที เช่นเดียวกับคุณ UP
งั้นดิฉันบอกสั้นๆก็แล้วกันว่า
ขุนนางสมัยก่อนพอเข้ารับราชการก็จะได้ใช้คำ ขุน หลวง พระ นี่แหละนำหน้า ต่อด้วยบรรดาศักดิ์ซึ่งระบุถึงหน้าที่การงาน
ส่วนพัน และหมื่น นั้นต่ำลงไปกว่าขุน  เทียบได้คล้ายชั้นประทวน กับสัญญาบัตร

ยกตัวอย่างจากเรื่อง สายโลหิต คุณคงนึกออกว่าพระเอกชื่อขุนไกร
แสดงว่าเพิ่งเข้ารับราชการใหม่ๆ   ก็ได้เป็นขุนไปก่อน
ต่อมาถ้าขุนไกรทำความดีความชอบ ก็จะได้เลื่อนเป็น หลวง  ส่วนหลวงอะไรนั้นแล้วแต่หน้าที่การงาน
จากหลวง ถ้าทำงานได้ดี  ก็เลื่อนเป็นพระ  แล้วก็พระยา  
ถ้าระดับเสนาบดีเป็นเจ้าพระยา หรือไม่ได้เป็นเสนาบดีแต่มีความดีความชอบกับแผ่นดิน   ไม่แพ้เสนาบดี  หรือเป็นที่โปรดปรานฯ ก็เป็นเจ้าพระยาได้เหมือนกัน
ถ้าชั้นสูงสุดคือสมเด็จเจ้าพระยา  ในรัตนโกสินทร์มีไม่กี่ท่าน  มีอยู่สกุลเดียวคือบุนนาค

ย้อนหลังไปสัก ๑๐๐ ปี พวก vteam เรียนจบมาเข้ารับราชการ  ทั้งคุณจ้อ คุณอ๊อฟ คุณเปี้ยว  สตาร์ทที่"หลวง"แน่ๆ ข้าม"ขุน"ไปได้เลย เพราะเรียนจบมาสูงมาก

ส่วนคำที่มี กรม นำหน้า  เป็นอย่างนี้ค่ะ
เจ้านายในสมัยอยุธยาตั้งแต่กลางจนปลาย และมาถึงสมัยธนบุรีกับรัตนโกสินทร์ อยู่ในระบบเดียวต่อเนื่องกันมา
เจ้านายผู้ชายเมื่อพ้นโสกันต์(คือโกนจุก)แล้ว   ก็ออกจากพระบรมมหาราชวังมามีวังของตัวเอง  มีข้าราชบริพารของตัวเอง  
องค์ที่เข้ารับราชการ รับผิดชอบงานด้านต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินอาจโปรดเกล้าให้ทรงกรม   มีหัวหน้าข้าราชบริพารเป็นขุนนางระดับต่างๆ  
เริ่มต้นด้วยขุน  เจ้านายก็เป็นกรมขุน    
ต่อมาทำความดีความชอบ เจ้านายท่านก็เลื่อนเป็นกรมหลวง  กรมพระ กรมพระยา ตามลำดับ
เจ้ากรมก็ระดับหลวง พระ พระยา
ส่วนเจ้านายฝ่ายใน หมายถึงสตรี ก็ทรงกรมได้เช่นกัน  แต่ยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้มีวังอยู่ข้างนอก

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เจ้านายทรงกรมก็ยังมีอยู่ แต่เป็นการเฉลิมพระนามว่าทรงกรมอย่างเฉยๆ ไม่ต้องมีขุนนางข้าราชบริพารอย่างเมื่อก่อน
เพราะเขาเลิกขุนนางกันไปตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕

ถ้าถามว่าเจ้านายไม่ทรงกรมมีไหม  มีทุกรัชกาลค่ะ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑
เพราะท่านอาจจะไม่เข้ารับราชการ   ประจำอยู่ในวังท่านเฉยๆ หรือไม่ก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนตั้งแต่ยังหนุ่ม  ไม่ทันได้ทรงกรม
บันทึกการเข้า
เซียงยอด
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ต.ค. 06, 10:40

 เห็นอาจารย์เทาชมพูมาตอบแล้วผมก็เกิดคำถามข้อหนึ่งขึ้นมาว่า
การตั้งให้เจ้านายทรงกรมนั้นหมายถึงว่า
ให้เจ้านายมีกรมสำหรับจัดการบริหารงานภายในวัง
ของเจ้านายพระองค์นั้นเองใช่ไหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ต.ค. 06, 10:53

 อ่านที่นี่ดีกว่าค่ะ
 http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1

ขอคัดบางตอนมาลง

เจ้าทรงกรม จะมีขุนนางเป็น เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี โดยบรรดาศักดิ์ของเจ้ากรม คือบรรดาศักดิ์สูงสุดของอิสริยยศนั้น เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มี เจ้ากรม บรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงราชานุภาพ ศักดินา 1,000 ไร่ ปลัดกรม คือ พระปราบบรพล ศักดินา 800 ไร่ สมุห์บัญชี คือ หลวงสกลคณารักษ์ ศักดินา 500 ไร่

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ "ทรงกรม" ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ต.ค. 06, 11:59

 ผมเข้าใจว่าเจ้านายทรงกรมจะเป็นผู้แต่งตั้งขุนนางในกรมของท่านเองด้วย

โดยมีข้อจำกัดอยู่ระดับหนึ่ง

เช่นกรมพระยา จะตั้งขุนนางในกรมได้ไม่เกินไปกว่า พระ

กรมพระ จะตั้งขุนนางในกรมได้ไม่เกินไปกว่า หลวง

ดังนี้เป็นต้น

ทั้งนี้เป็นโครงสร้างการจัดการอำนาจในระบอบราชาธิปไตย แต่ละกรมนั้นก็เป็นเหมือนอาณาจักรย่อยๆของตัวเองครับ

คุ้นๆว่าสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเคยมีคดีเจ้าสามกรมตั้งขุนนางเกินขอบเขตอำนาจ

โทษน่าจะน้องๆคิดการกบฏครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ต.ค. 06, 16:54

 คงต้องขอตอบแยกเป็น ๒ ประเด็นครับ คือ
บรรดาศักดิ์  ที่เรยกว่า  สมเด็จเจ้าพระยา, เจ้าพระยา, พระยา, พระ, หลวง, ขุน, หมื่น, พัน

แต่เดิมมานั้น ยศ บรรดาศักดิ์นั้นรวมอยู่ด้วยกัน  โดยมีศักดินาเป็นเครื่องวัดระดับสูงต่ำของแต่ละชั้นยศ  เช่น สมเด็จเจ้าพระยา ศักดินา ๓๐,๐๐๐
เจ้าพระยา  ศักดินาพิเศษ ๒๐,๐๐๐ เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค)  บรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และเจ้าพระยาพิเศษนี้  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาตั้ง จางวางทนาย  ปลัดทนาย  และสมุห์บัญชีทนาย  มียศเป็นหลวง  ขุน  หมื่น ตามลำดับ  ส่วนเจ้าพระยาพิเศษจาวางทนายมียศเป็น ขุน  ปลัดทนายมียศเป็น หมื่น  และสมุห์บัญชเป็น พัน  เช่นเดียวกับเดียวกับเจ้านายทรงกรม  ซึ่งแต่ละชั้นก็จะมีศักดินาลดหลั่นกันลงไป  และเจ้านายที่ได้รับพระราชทานให้เป็นต่างกรมนั้น  ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้ากรม  ปลัดกรม และสมุห์บัญชีทำหน้าที่ควบคุมไพร่พลที่สังกัดอยู่ในกรมนั้นๆ  ภายหลังปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ ๕ แล้วไม่มีไพร่พลให้ควบคุม  ก็เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นทำนองทนายหน้าหอ  คอยดูแลมหาดเล็กข้าในกรมและเบิกผู้มาขอเฝ้าเจ้านาย  จึงเรียกกันว่า กรมขอเฝ้า

ยศลำดับรองลงมาเป็นเสนาบดีจตุสดมภ์  มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  ภายหลังปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ ๕ แล้ว  เป็นบรรดาศักดิ์สำหรับเสนาบดีกระทรวงต่างๆ

เจ้าพระยาแบ่งเป็น ๓ ชั้น  คือ
เจ้าพระยาสุพรรณบัฏ  คือ เสนาบดีที่มีฐานันดรเดิมเป็นหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวง  เช่น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม  มาลากุล) หรือผู้ที่ทรงพระมหากรุณายกย่องเป็นพิเศษ เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) ซึ่งเดิมเป็นเจ้าพระยาเสนาบดีชั้นหิรัญบัตร  แล้วรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เลื่อนเป็นสุพรรณบัฏ  หรือราชินิกุล เช่น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม  สุจริตกุล)
เจ้าพระยาชั้นนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกราชทินนามลงในสุพรรณบัฏ หรือแผ่นทองคำ

เจ้าพระยาชั้นหิรัญบัฏ คือ เจ้าพระยาเสนาบดีที่มิได้มีฐานันดรเป็นหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวง  เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  หรือหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวงที่มีตำแหนางต่ำกว่าเสนาบดีแต่ทรงพระมหากรุณาเป็นพิเศษ เช่น เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (ม.ร.ว.มูล  ดารากร) อธิบดีกรมพระคลังข้างที่
เจ้าพระยาชั้นนี้  จารึกนามลงในหิรัญบัฏ หรือ แผ่นเงิน

เจ้าพระยาชั้นสัญญาบัตร คือ ผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าเสนาบดีแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องเป็นพิเศษ เช่น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย (พร  จารุจินดา) อุปราชมณฑลภาคพายัพ  
เจ้าพระยาชั้นนี้  จารึกนามลงในสัญญาบัตร คือ แผ่นกระดาษ

เจ้าพระยทั้งสามชั้นล้วนมีศักดินา ๑๐,๐๐๐ เหมือนกันทั้งหมด

บรรดาศักดิ์ถัดลงมาเป็น พระยา  
พระยาแบ่งเป็น  พระยา (พานทอง)  พระยา (โต๊ะทอง)  และพระยา (สามัญ)  
พานทอง และ โทอง เป็นเครื่องยศที่พระราชทานให้เป็นเกียรติยศ  ผู้ที่เป็นพระยาในชั้นต้นจะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรก่อน  เมื่อทำความชอบก็จะได้รับพระราชทาน โต๊ะทอง (คือ พานแบบปากแบน  ไม่ใช่โต๊ะอย่างที่เข้าใจกันนะครับ)  มีกาน้ำทองวางบนโต๊ะอีกที  ถ้ามีความชอบเพิ่มขึ้นก็จะได้รับพระราชทานพานหมากทองคำเป็นเครื่องยศเพิ่มขึ้น  วิธีดูว่า พระยาท่านใดได้รับพระราชทานพานทอง หรือ โต๊ะทอง ให้ดูว่า ท่านผู้นั้นได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้า  ก็จะได้รับพระราชทานพานทองเป็นเครื่องยศ  ผู้ที่ได้รับตติยจุลจอมเกล่าวิเศษ จะได้รับโต๊ะทองเป็นเครื่องยศ

พระยา ที่มีตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลนั้นได้รับพระราชทานศักดินาถึง ๑๐,๐๐๐  และลดหลั่นกันลงมาตามตำแหน่งหน้าที่  ต่ำสุดดูเหมือนจะ ๑,๐๐๐

บรรดาศักดิ์ลำดับต่อมา คือ พระ  หลวง  ขุน  หมื่น  และ พัน

บรรดาศักดิ์ชั้น พระ  เป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตร  ส่วนหลวง และขุน  มีทั้งที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร  และที่เสนาบดีเจ้ากระทรวงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกประทวนตราตั้ง  ส่วนหมื่นแลพันนั้นเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นประทวน

นอกจากนั้นยังมีบรรดาศักดิ์ที่มีชื่อพิเศษอีก เช่น บรรดาศักดิ์ในกรมมหาดเล็ก  เรียกว่า หัวหมื่นมหาดเล็ก  มีบบรดาศักดิ์เป็น  เจ้าหมื่น  เช่น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ  เจ้าหมื่นสรรเพฑภักดี  เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  เรียกกันเป็นสามัญว่า คุณพระนาย  บรรดาศักดิ์ชั้นนี้สูงกว่าพระ  แต่ต่ำกว่าพระยา  
รองลงมาเเป็นชั้นนายเวร  มีชื่อว่า หลวงศักดิ์ นายเวร   หลวงสิทธิ์ นายเวร  หลวงฤทธิ์ นายเวร  หลวงเดช นายเวร  มักจะเรียกกันว่า คุณหลวงนาย  เพราะสูงกว่าหลวง  แต่ต่ำกว่าพระ

บรรดาศักดิ์ชั้นต่อมา  เป็นชั้นจ่า  เช่น นายจ่ายง  นายจ่ายวด  นายจ่าเรศ  นายจ่ารง  บรรดาศักดิ์ชั้นนี้เทียบได้กับหลวง

ถัดลงมาเป็นหุ้มแพร  แบ่งเป็นหุ้มแพรต้นเชือก คือ นายกวด หุ้มแพร  นายขัน หุ้มแพร  นายฉัน หุ้มแพร  นายชิด หุ้มแพร  ถือศักดินา ๖๐๐  แล้วก็มีหุ้มแพรอื่นๆ อีก ๑๖ ตำแหน่ง  มีชื่อว่า นายนายเสนิท  นายเสน่ห์  นายเล่ห์อาวุธ  นายเสนองานประภาษ  นายสุจินดา  นายบำเรอบรมบาท  นายบำรุงราชบทมาลย์  นายพิจารณ์สรรพกิจ  นายพินิจราชการ ฯลฯ  พวกนี้ถือศักดินา ๕๐๐  เทียบได้กับขุน

ถัดลงไปเป็นรองหุ้มแพร  มีชื่อเหมือนหุ้มแพร  แต่เติมคำว่ารองเข้าไปข้างหน้า เช่น นายรองกวด  นายรองขัน  นายรองฉัน  นายรองชิด  นายรองพิจารณ์สรรพกิจ  นายรองพินิจราชการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบรรดาศักดิ์ทหารและพระตำรวจที่มีชื่อเรียกต่างกันไปอีก  เช่น จมื่นพัลลภพลาธิการ สำหรับทหาร   จ่าห้าวยุทธการ สำหรับพระตำรวจ  กรมวังก็มี จ่าช่วงประทีปวัง  จ่าดำริห์งานประจง  จ่าดำรงงานประจำ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 ต.ค. 06, 17:29

 ยศนั้นเริ่มมีใช้ในรัชกาลที่ ๕  แต่ก่อนก็เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น คอลอเนล คือ นายพันเอก  ลุตเตแนลคอลอเนล คือ นายพันโท  ซายันต์เมเยอรฺ คือ จ่านายสิบ

มาเริ่มบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยในราว พ.ศ. ๒๔๓๐  จัดเป็น
จอมพล
นายพลเอก  โท  ตรี
นายพันเอก  โท  ตรี
นายร้อยเอก  โท  ตรี
นายดาบ
จ่านายสิบ
นายสิบเอก  โท  ตรี
พลทหาร

ต่อมาได้ทรงกำหนดข้าราชการพลเรือนโดยเทียบกับยศทหารเป็น
ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพลเอก  โท  ตรี
ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพันเอก  โท  ตรี
ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เทียบ นายร้อยเอก  โท  ตรี

ในรัชกาลที่ ๖  ทรงเปลี่ยนชื่อยศข้าราชการพลเรือน เป็นดังนี้
ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เป็น มหาอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ม.ฮ.ฮ., ม.อ.ท., ม.อ.ต.
ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เป็น อำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ฮ.ฮ.,.อ.ท.,.อ.ต.
ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เป็น รองอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ร.ฮ.ฮ., ร.อ.ท., ร.อ.ต.
ในรัชกาลนี้ทรงเพิ่มยศ มหาอำมาตย์นายก  เทียบเท่า จอมพล  มีผู้ที่ได้รับพระราชทานยศชั้นนี้เพียง ๒ ท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  และเจ้าพระยายมราช  นอดจากนั้นยังได้ทรงเพิ่มยศ ว่าที่รองอำมาตย์ตรี เทียบเท่า ว่าที่นายร้อยตรี  และ ราชบุรุษ หรือ ร.บ. เทียบเท่านายดาบ

นอกจากนั้นยังทรงตั้งยศสำหรับข้าราชในพระราชสำนักเอีก ๓ เหล่า คือ
กระทรวงวัง  มียศเป็น เสวก  อ่านว่า เส-วก คือ
มหาเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี  ใช้อะกษรย่อ ม.ส.อ., ม.ส.ท., ม.ส.ต.
เสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพันเอก  โท  ตรี
ใชอักษรย่อ ส.อ., ส.ท., ส.ต.
รองเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายร้อยเอก  โท  ตรี   ใช้อักษรย่อว่า ร.ส.อ., ร.ส.ท., ร.ส.ต.
จ่าพันทนาย  เทียบเท่า จ่านายสิบ
พันทนายเอก โท ตรี  เทียบเท่านายสิบเอก โท ตรี
พันทนาย  เทียบเท่า พลทหาร

ยศมหาดเล็ก แบ่งเป็น
จางวางเอก โท ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี  
หัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันเอก
รองหัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันโท
จ่า  เทียบเท่า  นายพันตรี
หุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยเอก
รองหุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยโท
มหาดเล็กวิเศษ  เทียบเท่า  นายร้อยตรี
มหาดเล็กสำรอง  เทียบเท่า  ว่าที่นายร้อยตรี
พันจ่าเด็กชา  เทียบเท่า จ่านายสิบ
พันเด็กชาเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายสิบเอก โท ตรี
เด็กชา  เทียบเท่า พลทหาร

ยศพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ดังนี้
พระตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพลเอก  โท  ตรี
ขุนตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพันเอก  โท  ตรี
นายตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายร้อยเอก  โท  ตรี
จ่านายสิบตำรวจ
นายสิบตำรวจเอก  โท  ตรี
พลตำรวจ
บันทึกการเข้า
particle-in-a-box
อสุรผัด
*
ตอบ: 13

ยังเรียนอยู่ อนาคตครูฟิสิกส์


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ต.ค. 06, 00:02

 ขอบคุณทุกท่านนะคะที่ช่วยตอบ เพราะว่าตอนไปฝึกสอน ลูกศิษย์เคยยกมือถาม (ทั้งๆที่สอนฟิสิกส์นะคะ แต่ดันถามอะไรก็ไม่รู้ เลยต้องติดไว้ก่อน) ดูๆแล้วซับซ้อนมากกว่าที่คิดอีกค่ะ แต่เข้าใจแล้วอย่างแจ่มแจ้ง ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
บันทึกการเข้า
เซียงยอด
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 ต.ค. 06, 14:10

 แจ่มเลยครับคุณ V_Mee !
บันทึกการเข้า
เซียงยอด
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 ต.ค. 06, 15:40

 เอ แต่พอผมกลับมาดูอีกทีแล้ว สงสัยว่าอักษรย่อของยศข้าราชการพลเรือนน่าจะผิดครับ
ใน คห.8 คุณ V_Mee ให้คำย่อของมหาอำมาตย์เอก อำมาตย์เอก และรองอำมาตย์เอกว่า
ม.ฮ.ฮ., ฮ.ฮ., ร.ฮ.ฮ.,
แต่ผมว่ามันน่าจะเป็น ม.อ.อ., อ.อ., ร.อ.อ., มากกว่า
ไม่งั้นก็อ่านไม่ได้ใจความเลยว่ามันย่อมาจากอะไรครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง