เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 11950 ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์
ศิษย์มารบูรพา
อสุรผัด
*
ตอบ: 31



 เมื่อ 09 ต.ค. 06, 16:56

 ผมอยากทราบของท่านผู้หญิงฯ ท่านนี้อ่ะครับ รบกวนผู้รู้ช่วยตอบด้วยครับ ...... ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
motor
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 18:31

 ไม่ทราบว่าอยากทราบอะไรล่ะครับถ้าพอตอบได้จะตอบ เพราะท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เป็นคุณทวดของเพื่อนผม
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:14

 ครบ 96 ปี ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ น้อมเกล้าฯถวายบ้านทำพิพิธภัณฑ์-ห้องสมุด
   
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ศ.ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา อย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงเป็นประธานงาน “ร้อยใจเชิญพรชัย 8 รอบ ชนมายุวิวัฒน์” ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 96 ปี  ที่สโมสรทหารบก พร้อมเหล่านิสิตเก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพร้อมใจกันใส่ชุดสีเขียวสีประจำวันเกิด “วันพุธ” ร่วมอวยพรแก่ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ในฐานะคณบดีสตรีคนแรกของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานน้ำสังข์ จากนั้นท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินพร้อมน้อมเกล้าฯถวายที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 1166 ซอยสุขุมวิท 101/1 พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 22.2 ตารางวา เพื่อจัดเป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระปิตุจฉาส เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


     โอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวินิจฉัยทรงแนะถึงการจัดตั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์แก่คณะกรรมการ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานความคืบหน้าในการจัดทำโครงการดังกล่าวว่า “ให้เป็นการศึกษาในส่วนของพิพิธภัณฑ์บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ ไม่ต้องเริ่มที่ประวัติศาสตร์สมัยก่อน ให้เริ่มสมัยท่าน             ศ.ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ เลยเพราะทำอะไรไว้เยอะ ส่วนตึกห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บ้านจิรายุ–พูนทรัพย์ ที่จะสร้างให้ดูให้โดยเฉพาะเรื่องการสร้างให้มีบริเวณพื้นที่สนามและการสร้างไม่ให้บังบ้าน”


     หลังจากบรรดาศิษย์เก่าศิษย์ใหม่และแขกกิตติม ศักดิ์ แสดงรำอวยพร ร้องเพลง และนำเค้กวันเกิดร่วมอวยพรแล้ว ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวว่า มีความซาบซึ้งเป็นล้นพ้น โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงร่วมงาน และพระราชทานน้ำสังข์อันเป็นยอดสิริมงคลและยังทรงรับบ้านจิรายุ–    พูนทรัพย์ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิต ซึ้งใจกับนิสิตเก่าและขอบคุณในมุทิตาจิตของทุกคน ปีนี้เจริญอายุ 96 ปียังมีสุขภาพดี พอที่จะถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์


     ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์  กล่าวถึงการดำเนินชีวิตการมีสุขภาพดีว่า “จิตใจสบาย รู้สึกทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าตัวเอง อะไรที่ทำให้คนอื่นได้ก็ทำ รับประทานอาหารปกติธรรมดาทุกอย่างเรื่อย ๆ ไม่มาก ดื่มนมเปรี้ยวบ่อย มีอยู่ระยะหนึ่งไม่สบายรักษาตัว ลูกศิษย์ดิฉันชื่อพรรณธิภาพาไปรักษากับหมอเยอรมันซ่อมเซลล์ที่สึกหรอ ส่วนเรื่องความจำสนใจจริงก็จำได้ ไม่สนใจจะจำไม่ได้  ตอนนี้เวลารดน้ำงานแต่งงานดิฉันก็ไปอยู่นะคะ ยังคล้องพวงมาลัยได้ ขออย่างเดียวไม่ขึ้นบนสเตท ขาไม่ดี ไม่ชอบให้ใครหิ้วขึ้นสเตทไม่สวยงาม”


     ในส่วนการน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินและเพื่อจัด    เป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์บ้านจิรายุ–พูนทรัพย์ ท่านผู้หญิงเปิดเผยว่า มีปรัญชาอย่างหนึ่ง คือยิ่งอายุมากให้หาโอกาสทำประโยชน์ยิ่งน้อยลง ดังนั้นมีอะไรที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้านายก็ทำ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ สิ่งใดทำได้ต้องตอบแทน.
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:16

 รูปท่านผู้หญิงและน้องสาว
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:17

ท่านผู้หญิงและน้องสาว
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:19

ส่งรูป 3 หนแล้วนะ ทำไมถึงไม่ขึ้นล่ะ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:20

รูปและเรื่องเป็นของ นสพ เดลินิวส์
ไม่รู้จริงๆ หรืออยากตั้งกระทู้
บันทึกการเข้า
particle-in-a-box
อสุรผัด
*
ตอบ: 13

ยังเรียนอยู่ อนาคตครูฟิสิกส์


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 21:50

 ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ท่านเป็น คณบดีคนแรก และเป็นผู้แยกแผนกวิชาครุศาสตร์ ออกมาเป็นคณะครุศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
บันทึกการเข้า
ศิษย์มารบูรพา
อสุรผัด
*
ตอบ: 31



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 08:36

 ขอบคุณในคำตอบที่มีให้นะครับ เรียนคุณ Malagao  ในฐานะที่ผมเป็นเยาวชนรุ่นหลัง ตามที่คุณได้ตอบ ผมก้อทราบเท่านั้นนั่นแหละครับ ผมเป็นคนชื่นชอบผู้หญิงเก่ง ๆ ครับ หลังจากได้ชมข่าวในวันนั้นก้อเลยทำให้อยากทราบประวัติส่วนตัวของท่านครับ (ไม่รู้ว่าจำผิดหรือเปล่า เพราะเคยผ่าน ๆ สายตาว่าท่านเป็นผู้อยู่ราชสกุล แต่ราชสกุลใดไม่ทราบ)
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:02

 ประวัติ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการทรงได้รับ พระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาจารย์ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู"
1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาทรงพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแผนกครุศึกษารวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใช้ชื่อว่า "แผนกฝึกหัดครู" และเมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แยกจากกัน แผนกฝึกหัดครูเปลี่ยนชื่อเป็น "แผนกครุศาสตร์" สังกัดคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 มีแยกแผนกครุศาสตร์ ออกเป็นคณะครุศาสตร์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้นเป็นคณบดีคนแรก
10 มิถุนายน พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ ได้จัดตั้ง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติการวิจัยในการทดลองสอนของนิสิตคณะครุศาสตร์ ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:05

 โรงเรียนสาธิตจุฬาอยู่ในสังกัดของคณะครุศาสตร์ ซึ่งเดิมทีเคยเป็นแผนกหนึ่งของ คณะอักษรศาสตร์ ต่อมาแผนก ครุศาสตร์ได้แยกตัวเป็น คณะครุศาสตร์ ในขณะนั้นมี อ.พูนทรัพย์ นพวงศ์ ฯ เป็นคณบดีได้ ดำริจะจัดตั้ง ร.ร.ฝึกหัดครูขึ้น ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้ง ร.ร.นี้ขึ้นในฐานะร.ร.ทดลอง
อันเป็นสถานที่ฝึกสอนของนิสิตครุศาสตร์ ที่จะเป็นครูที่ดีต่อไป คณะอักษรศาสตร์
ต่อมาแผนกครุศาสตร์ได้แยกตัวเป็น คณะครุศาสตร์ในขณะนั้นมี อ.พูนทรัพย์ นพวงศ์ ฯ
เป็นคณบดีได้ดำริจะจัดตั้งร.ร.ฝึกหัดครูขึ้น ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้ง ร.ร.นี้ขึ้น
ในฐานะ ร.ร.ทดลองอันเป็นสถานที่ฝึกสอนของ นิสิตครุศาสตร์ ที่จะเป็นครูที่ดีต่อไป


อ.พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

(พ.ศ.2500) กรรมการชุดแรกของ ร.ร.มีดังนี้
1. อ. พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
2. อ. กมลกาญจน์ เกษไสว
3. อ.พวงเพชร เอี่ยมสกุล
4. อ.ประชุมสุข อาชวอำรุง
5. อ.สำเภา วรางกูร
6. อ. ดวงเดือน พิศาลบุตร
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:28

 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส หรือ พระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส พระนามเดิม พระองค์เจ้านพวงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระอินทรอำไพ(สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับ กรมหลวงบริจาภักดี ศรีสุดารักษ์) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕) พระองค์เจ้านพวงศ์ ทรงเป็นพระโอรสหนึ่งในสองพระองค์ที่ประสูติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (อีกพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส กำกับดูแลกรมล้อมพระราชวัง ต่อมาโปรดฯให้กำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เพิ่มอีกตำแหน่ง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๔๑๐) พระชันษา ๔๖ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล นพวงศ์
พระโอรส-ธิดา
1.   หม่อมเจ้าเดช นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๕๖) เษกสมรสกับ พระวรวงศ์ธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี
2.   หม่อมเจ้าหญิงจันทรประไพ นพวงส์ (พ.ศ. ๒๓๙๕-๒๔๗๔)
3.   พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิตราภรณ์ (พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๐๒)
4.   พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบงกช (พ.ศ. ๒๓๘๕-๒๔๕๖) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าจันทร์ สุประดิษฐ์
5.   หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๖๓)
6.   หม่อมเจ้าสำเนียง นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๔๑)
7.   หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๙๗-๒๔๕๖)
8.   หม่อมเจ้าศรีสังข์ นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๙๗-๒๔๕๖)
9.   หม่อมเจ้ากรรเจียก นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๔๕)
10.   หม่อมเจ้าหญิงปุก นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๐-?)
11.   หม่อมเจ้าขุนช้าง นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๓๑) เษกสมรสกับ นักองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ผิว แห่งกัมพูชา
12.   หม่อมเจ้าหญิงเกสร นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๕๔)
13.   หม่อมเจ้าหญิงสุหร่าย นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๒-๒๔๖๘)
14.   หม่อมเจ้าอร่าม นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๒๑)
15.   หม่อมเจ้าอบเชย นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๓๗) เษกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์สวัสดิสรวง ดวงจักร์
16.   หม่อมเจ้าหญิงพวงผกา นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๒)
17.   หม่อมเจ้าเล็ก นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๔๗)
18.   หม่อมเจ้าดำ นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๓๘)
19.   หม่อมเจ้าจำรัส นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๔๗)
20.   หม่อมเจ้าโสนา นพวงศ์ (พ.ศ. ?-๒๔๒๖)
21.   หม่อมเจ้าหญิงมณฑา นพวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๑๐-?)
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:31

 หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ เป็นนักภาษาศาสตร์ชาวไทยและองคมนตรี เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีและสันสกฤต
ประวัติการศึกษา
อักษรศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วุฒิบัตรภาษาบาลีและสันสกฤต จาก วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน
ปริญญาโท ทางภาษาบาลีและสันสกฤต คณะบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
ปริญญาโท ทางภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตองคมนตรี
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:41

 พระตำหนักวินเซอร์

เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๘๐ ปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำดวงตราไปรษณีย์ไว้ชุดหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกในการนี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือรูป “พระตำหนักวินเซอร์” ยังความสงสัยให้กับใครหลาย ๆ คนในการหาเหตุผลที่นำภาพพระตำหนักวินเซอร์มาเป็นสัญลักษณ์แทนการครบรอบ ๘๐ ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้แต่ชาวจุฬาฯ เองโดยเฉพาะนิสิตรุ่นหลัง ๆ
เพื่อแก้ไขข้อสงสัยจึงเข้าไปเรียนสัมภาษณ์ ฯพณฯ ศ.ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ท่านเป็นปูชนียบุคคลทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมารับราชการที่คณะอักษรศาสตร์ เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์พิเศษสอนที่ภาควิชาภาษาไทยและภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในด้านต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทยจากจุฬาฯ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์จุฬาฯ ดีเด่น ฯลฯ หลังจากนั้น ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี จนถึงปัจจุบัน
ท่านเล่าว่า ท่านเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และได้เข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ในสมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๗๓ หลักสูตรที่เรียนครั้งแรกเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมหลักสูตร ๓ ปี ๒ ปีแรกเรียนวิชาการทั่ว ๆ ไป เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เรียนที่ ตึกอักษรเก่า และตึกคณะวิทยาศาสตร์ (ตึกขาว) ห้อง ๒๐๐ พอขึ้นปีที่ ๓ จึงย้าย ไปเรียนที่ พระตำหนักวินเซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นสนามศุภชลาศัยหรือสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน วิชาเรียนชั้นปีที่ ๓ เป็นวิชาครูเมื่อจบปีที่ ๓ แล้วจะต้องออกฝึกสอน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) ๑ ปี โรงเรียนที่ทางมหาวิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนฝึกสอนคือ โรงเรียนหอวัง ซึ่งก็อยู่ในบริเวณพระตำหนักวินเซอร์นั่นเอง นอกจากโรงเรียนหอวังแล้วยังมีโรงเรียนอื่น ๆ ภายนอกด้วย ท่านเป็นนักเรียนทุนได้เงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท ได้อยู่หอพักฟรีซึ่งหอพักมี ๔ หลัง ตั้งอยู่หลังพระตำหนักวินเซอร์ เรียกว่า ก ข ค ง หอพักอาคาร ก และ ง เป็นอาคารเตี้ย อาคารหอพัก ข และ ค เป็นอาคารใต้ถุนสูง ชั้นล่างใช้เป็นที่รับประทานอาหารและทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย ท่านอาจารย์เล่าว่า รู้สึกประทับใจหอวังมาก มีอาคารหอพัก นิสิตอยู่สบายดี ห้องใหญ่ มีเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ชั้นหนังสือพร้อม แต่เวลานอน ต้องกางมุ้งเพราะยุงชุมมาก ปกติจะอ่านหนังสือนอกห้องพัก แต่พอใกล้สอบนิสิตหลายคนก็จะเอาโต๊ะทำงานเข้าไปตั้งในมุ้ง ท่องหนังสือ และทำงานในมุ้ง พอง่วงมาก ๆ ก็จะมุดลงไปนอนใต้โต๊ะนั้น ตอนนั้น พระยาภะรตราชา เป็นผู้ดูแลหอพัก ซึ่งก็มีตำแหน่งเป็นอนุสาสกเช่นกัน พระยาภะรตราชาท่านเป็นคนเข้มงวดมาก คอยกวดขันความประพฤติของนิสิต เช่น คอยเตือนไม่ให้นิสิตนั่งไขว่ห้างฟังคำบรรยาย เป็นต้น
สำหรับพระตำหนักวินเซอร์ เป็นอาคาร ๓ ชั้น มีบันไดขึ้นลงตรงกลาง พระตำหนักนี้เดิมเป็นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาจึงใช้เป็นอาคารเรียนของมหาวิทยาลัย อาคารชั้น ๒ มีห้องเรียนสำหรับเรียนวิชาครูนอกจากนี้ยังใช้เป็นอาคารของโรงเรียนหอวังด้วย ท่านจำได้ว่าอาจารย์ ๒ ท่าน ที่สอนเมื่อครั้งเรียนชั้นปีที่ ๓ ที่พระตำหนักวินเซอร์ คือ อาจารย์ เอส เอช โอนีล และ หลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาต นอกจากนั้นยังมีอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ส่วนด้านหลังของพระตำหนักวินเซอร์มีสนามเทนนิสอีก ๓-๔ สนามสำหรับนิสิต ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งกีฬาทั้งสองชนิดเป็นที่นิยมของนิสิตในสมัยนั้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้นเริ่มมีนิสิตหญิงเข้ามาเรียนแล้วที่ท่านจำได้ก็มี คุณหญิงอุบล หุวะนันท์ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา สมัยนั้นเรียกนิสิตหญิงว่า “นิสิตตา” สำหรับนิสิตชาย เรียกว่า”นิสิต” สำหรับรุ่นนี้มี ๒๐ คน กิจกรรมที่ขึ้นชื่อในครั้งนั้นคือการแสดงละครประจำปีของมหาวิทยาลัยจัดเป็นกิจกรรมรวมของนิสิตและนิสิตตาของทุกคณะแบ่งหน้าที่กันทำ บางกลุ่มรับผิดชอบทำเวที ทำฉาก บางกลุ่มรับผิดชอบเรื่องการเงิน ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ เคยเป็นเหรัญญิกของงานนี้ การออกร้านก็เป็นงานในความรับผิดชอบของนิสิต นิสิตตา ขายและบริการกันเอง ในฐานะเหรัญญิกของงาน ท่านเล่าว่ามีงบประมาณจัดแสดงละครประจำปีเพียง ๔,๐๐๐ บาท เท่านั้น ฟังดูน้อย แต่ก็นับว่ามากอยู่ในสมัยเมื่อ ๖๐ ปีก่อน
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) เป็นรุ่นที่ ๓ ก็ออกไปรับราชการสอนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรได้เงินเดือน ๆ ละ ๘๐ บาท รู้สึกสบายมาก เพราะเคยได้เดือนละ ๑๕ บาทเท่านั้น พอสอนหนังสือได้ ๑ ปี ทราบว่าทางจุฬาฯ เปิดหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์วิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตร ๔ ปี ซึ่งถ้าจะกลับมาเรียนก็เรียนเพิ่มอีก ๒ ปี เนื่องจากเรียนไปแล้ว ๒ ปี แต่จะกลับมาเรียนทันทีไม่ได้ เพราะรับทุนกระทรวงฯ ไว้ ต้องทำงานใช้หนี้ก่อน อย่างไรก็ตามได้พยายามกลับมาเรียนให้ได้ โดยไปขอให้เปิดสอนตอนบ่ายบ้าง ขออนุญาตทางกระทรวงฯ บ้าง ขณะนั้น พระตีรณสารวิศวกรรม เป็นปลัดกระทรวงฯ อยู่ ในที่สุดก็ได้กลับมาเรียนในหลักสูตรปริญญาบัณฑิต นิสิตที่กลับมาเรียนหลักสูตรนี้ก็จะมีนิสิตเก่าที่จบไปแล้ว รุ่นที่ ๑ และ ๒ รวมกับรุ่น ๓ ด้วย ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ สำเร็จอักษรศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นับเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๑
ท่านยังเล่าเสริมอีกว่า บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ในตอนนั้นเป็นป่าจามจุรี ร่มครึ้ม ส่วนบริเวณพระตำหนักวินเซอร์ เต็มไปด้วยป่าไม้ประดู่ลำต้นสูงใหญ่ ถ้าเดินผ่านตอนกลางคืนก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน
ต่อมาอาคารพระตำหนักวินเซอร์ก็รื้อไปเมื่อทางราชการจะเอาสถานที่นี้ไปสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้บรรดาผู้ที่เคยร่ำเรียนที่พระตำหนักวินเซอร์โกรธมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นต้นคิดถูกโกรธเป็นอันดับหนึ่ง
ก่อนจะจบการสนทนา ท่านได้กล่าวฝากถึงนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันไว้หลายประการคือ
“ขอให้ทุกคนมีความรักความผูกพันต่อกัน ต่อจุฬาฯ โดยให้ลองถามตัวเองว่าเราได้อะไรไปจากจุฬาฯ บ้าง เราทำอะไรให้แก่จุฬาฯ บ้างหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ทำ คิดหรือยังว่าจะทำอะไร นอกจากนี้ก็ขอให้ระวังเรื่องกิริยามารยาท เพราะกิริยามารยาทเป็นดัชนีชี้วงศ์สกุล (สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุล)”
“สำหรับนิสิตใหม่ก็ขอให้ตั้งใจเรียนหาความรู้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองและประเทศชาติ ขอให้ประพฤติตนเป็นคนดี คำนึงถึงคุณธรรม ความรู้ต้องคู่คุณธรรมเพราะสองสิ่งนี้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้ามีสิ่งใดเพียงสิ่งเดียว ก็จะไม่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ”
จาก นิตยสารจามจุรี
ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ตุลาคม 2540
ฯพณฯ ศ.ม.ล.จิรายุ นพวงศ์
องคมนตรี  
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 09:43

 ในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้หารือกันอยู่เสมอๆ ว่า ชาติไทยมีวันสำคัญประจำชาติมากมาย แต่ยังไม่มีวันภาษาไทยแห่งชาติ ทั้งๆที่ภาษาไทยเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งอันแสดงถึงความเป็นชาติไทย แสดงถึงสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่นและมีภาษาใช้ร่วมกัน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยซึ่งมีท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานพิจารณาเห็นว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นด้วยเจตนาจะให้ทำหน้าที่หลายประการ อันตีความได้ดังนี้คือ รณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย รณรงค์ให้ชาวไทยใช้ภาษาไทยได้อย่างดีไม่ว่าจะเป็นภาษากลางหรือภาษาถิ่น รณรงค์เพื่อให้ภาษาไทยยังคงยืนยาวอยู่ในสังคมเป็นต้น ด้วยเหตุเหล่านี้คณะกรรมการชุดนี้จึงน่าจะมีหน้าที่เช่นกันในการรณรงค์ให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติด้วย กล่าวคือ หาวิธีการและดำเนินการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติให้สำเร็จ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยจึงได้เริ่มดำเนินการเสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยเริ่มต้นจากหลักการและเหตุผลดังนี้

หลักการและเหตุผล

ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ จึงกล่าวได้ว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ซึ่งสมควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเน้นความสะดวกและความรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยที่ใช้ปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทยตลอดมา จึงได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเสนอรัฐบาลไทยให้จัดตั้ง “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ขึ้น เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และ “วันสื่อสารแห่งชาติ” เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ทั้งนี้ โดยเห็นควรกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

ส่วนเหตุผลที่กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” นั้นมีความเป็นมาดังนี้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสอบถามความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการภาษาไทยหลายท่านแล้ว ในที่สุดเห็นพ้องต้องกันว่า ควรกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ทั้งนี้เพราะวันดังกล่าว มีความสำคัญต่อวงการภาษาไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วยตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการภาษาไทย

การจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๒ ดังกล่าวถึงความเป็นมาในเบื้องต้นแล้วนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก ๕ ประการ คือ

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ขั้นตอนการดำเนินงาน

หลังจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาโครงการอย่างรอบคอบแล้ว ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณบดีและที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอความเห็นชอบตามลำดับ จากนั้นจึงเสนอโครงการผ่านทบวงมหาวิทยาลัยไปยังคณะรัฐมนตรีตามระเบียบและขั้นตอน

ระหว่างนั้นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยได้จัดกิจกรรมทางภาษาไทยให้เอิกเกริกเป็นพิเศษกว่าที่เคยจัดเป็นปรกติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ กล่าวคือได้จัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง พระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

ในวันภาษาไทยแห่งชาติครั้งแรก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญ ฯพณฯ องคมนตรี หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ กล่าวประกาศเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ นอกจากนั้น ยังจัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านภาษาไทย นับเป็นการเฉลิมฉลองวันภาษาไทยแห่งชาติครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้เชิญชวนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องใน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ในวันภาษาไทยแห่งชาติครั้งแรกและจัดเป็นประจำทุกปี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ในการเสนอขอจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติดังกล่าว คณะกรรมการฯ คาดว่าจะมีผลดีสืบเนื่องหลายประการ คือ

๑. การมี “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

๒. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

๓. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง