เซียงยอด
อสุรผัด

ตอบ: 13
|
ก่อนอื่นผมก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมจบมาจากโรงเรียนที่ตั้งเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่รัชกาลที่ 5 แห่งหนึ่งในแถบภาคอีสานครับ
ผมสงสัยมาตั้งแต่เรียนตอนชั้นมัธยมแล้วว่า ในเมืองไทยมีสถานศึกษากี่แห่งที่ก่อตั้งเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่รัชกาลที่ 5 กันแน่ เอาแค่โรงเรียนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เบญจม" ซึ่งสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 5 ก็มีอยู่หลายโรงเรียนแล้ว ไหนจะมีโรงเรียนที่ใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 5 อย่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหรือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอีก
เท่าที่ผมลองนึกทบทวนได้ สถานศึกษาที่เข้าข่ายดังกล่าวก็มี.... - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ถ้าจำไม่ผิดแล้ว ชื่อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในคราวย้ายโรงเรียนไปที่เขาชะโงกครับ) - โรงเรียนเบญจมราชูทิศ (มี 4 แห่งคือ ที่นครศรีธรรมราช, ราชบุรี, ปัตตานี และจันทบุรี) - โรงเรียนเบญจมราชาลัย (จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ที่ไหน) - โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี (คำว่า "เบ็ญจะมะ" ของที่นี่ต่างจากเพื่อนเพราะยึดถือเอาตามลายพระหัตถ์พระราชทานนามโรงเรียนของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่คนทั่วไปมักสับสนเขียนเป็น "เบญจม" เป็นประจำ) (ยังมีอีกมากแต่นึกไม่ออกแล้วครับ)
ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติการศึกษาไทยที่น่าสนใจทีเดียวก็เลยอยากขอร้องในทุกๆ ท่านที่พอจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาเหล่านี้บ้างมาช่วยๆ กันตอบหน่อยครับ จะได้เป็นเครื่องประดับสติปัญญาของผู้น้อยบ้างไม่มากก็น้อย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 02 ต.ค. 06, 20:33
|
|
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมาจาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรืออย่างย่อว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินที่เหลือจากการเรี่ยไรเพื่อจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้ากว่าล้านบาท (เงินที่เหลือ+ดอกเบี้ย) ให้เป็นทุนจัดสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมพระราชที่ดิน๑,๓๙๒ ไร่ ให้เก็บผลประโยชน์เลี้ยงตัว จนกลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยในใจกลางกรุงเทพฯ
โรงเรียนเบญจมราชาลัย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายวังที่ประทับให้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี ทรงอุทิศพระกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า "เบญจมราชาลัย"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี - ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการในเวลานั้น จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงกะให้สร้างตึกในโรงเรียนมัธยทวัดราชบุรณะไว้สามหลัง ได้เสด็จฯ ตรวจการก่อสร้างสร้างตึกด้านข้างที่สร้างเสร็จแล้ว ๒ หลังอยู่เนืองๆ แต่ตึกหลังกลางที่ทรงพระราชดำริให้เป็นประธานในหมู่ตึกนั้นยังมิได้ลงมือก่อสร้างก็ประจวบกีบเสด็จสวรรคตเสียก่อน เพื่อให้การเป็นไปดังพระราชประสงค์จึงจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการเรี่ยไรจัดสร้างตึกหลังกลางให้เสร็จดังพระราชประสงค์ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงธรรมการจัดการเรี่ยไรเงินจัดสร้างตึกหลังกลางซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนส่วนกุหลาบวิทยาลัยจนแล้วเสร็จ
การที่กระทรวงธรรมการได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดการเรี่ยไรเงินจัดสร้างโรงเรียนถวายเป็นพระราชกุศลดังกล่าว ต่อมามณฑลต่างๆ จึงได้จัดให้มีการเรี่ยไรเงินจัดสร้างโรงเรียนถวายเป็นพระราชกุศล และได้มีการจัดสร้างขึ้น ๖ แห่ง ใน ๖ มณฑล ได้รับพระราชทานนามว่า "เบญจมราชูทิศ" ทั้งหมด คือ มณฑลจันทบุรี ปัจจุบันคือ เบญจมราชูทิศ จันทบุรี มณฑลราชบุรี ปัจจุบันคือ เบญจมราชูทิศ ราชบุรี มณฑลนครศรีธรรมราช ปัจจุบันคือ เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราข มณฑลปัตตานี ปัจจุบันคือ เบญจมราชูทิศ ปัตตานี
อีก ๒ มณฑลคือ มณฑลนครสวรรค์นครสวรรค์ คือ เบญจมราชูทิศ อุทัยธานี ต่อมายุบรวมกับโรงเรียน .. (จำชื่อไม่ได้ครับ).. ปัจจุบันเป็น โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี มณฑลปราจิณบุรี คือ เบญจมราชูทิศ ฉะเชิงเทรา ต่อมายุบรวมกับโรงเรียนฉะเชิงเทราราษฎร์รังสฤษดิ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น เบญจมราชรังสฤษดิ์
นอกจากนั้นยังมีที่เชียงใหม่ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประทานคุ้มหลวงของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ซึ่งเป็นพระบิดาให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ทรงอุทิศพระกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมณฑลพายัพได้จัดการเรี่ยไรเงินจัดสร้างอาคารเรียนเป็นตึกแบบโคโลเนียล ในที่ดินที่ประทานมานั้น ร่วมโดยเสด็จพระกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง ต่อมาอาคารเรียนนั้นได้ชื่อว่า "ตึกยุพราช" ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้
ส่วนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านั้น เดิมคือโรงเรียนนายร้อยทหารบก สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นแยกเป็น โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและมัธยม ต่อมารวมกันเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระปรมาภิไธยมาเป็นชื่อโรงเรียน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศศิศ
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 02 ต.ค. 06, 21:44
|
|
แล้ว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ล่ะครับผม น่าจะเป็นอีกสถาบันหนึ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
- ศศิศ -
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 03 ต.ค. 06, 18:22
|
|
มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยนี้ ถ้าจำไม่ผิดเดิมคือ มหาธาตุวิทยาลัย เป็นโรงเรียนสำหรับสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เพราะก่อนหน้านั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาสชิรญาณวโรรส ได้ทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทยและบาลีแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และได้เป็นต้นแบบในการขยายการศึกษาออกไปตามหัวเมืองตามพระบรมราโชบายในรัชกาลที่ ๕ ในส่วนการสอนภาษาบาลีของมหามกุฏฯ นั้นมีการสอนแบบใหม่ และใช้วิธีสอบข้อเขียนแทนการสอบแบบปากเปล่าของเดิม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การสอบบาลีสนามหลวงจึงมี ๒ แบบ คือ แบบเดิมแปลด้วยปากเปล่า ตั้งแต่ประโยค ๑ - ๙ ถ้าแปลประโยค ๑ - ๒ ได้ แต่ตกแระโยค ๓ ก็ต้องไปเริ่มแปลประโยค ๑ ใหม่ แบบของมหามกุฏฯ นั้น เข้าสอบข้อเขียน สอบได้เป็นเปรียญตรี เทียบ ๔ ประโยค สอบต่อไปเป็นเปรียญโท เทียบ ๕ ประโยค แล้วเป็นเปรียญเอก เทียบ ๗ ประโยค เป็นอันสิ้นสุด ต่อมามหามกุฎราชวิทยาลัยเลิกสอนหนังสือไทยคงสอนแตภาษาบาลี แล้วได้พัฒนามาเป็นต้นแบบการสอนบาลีมาจนปัจจุบัน ส่วนมหาธาตุวิทยาลัยก็คงจะจัดการสอนตามแนวของมหามกุฏฯ แต่เป็นส่วนของมหานิกาย จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเมื่อไร ข้อนี้ไม่ทราบตรับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|