เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 19080 อันเพลงไทยใช่จะไร้ในคุณค่า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


 เมื่อ 13 ก.ย. 06, 22:33

 "อันเพลงไทยใช่จะไร้ในคุณค่า
หรือด้อยกว่าเขาอื่นนั้นหาไม่
เพลงของเราก็เสนาะเพราะจับใจ
ทั้งยังเป็นสมบัติไทยสืบเนื่องมา
เรามีชาติถ้าขาดวัฒนธรรม
สิ่งประจำสำหรับชาติเสียแล้วหนา
ใช่ว่าไทยจะอยู่ได้ในโลกา
อย่าลืมคิดพิจารณาดูให้ดี"(นายถนอม นาควัชระ แต่ง)
ขอกราบเรียนทุกท่านที่เคารพ ปฐมเหตุที่ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาก็เพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้เรื่องดนตรีไทยแก่ผู้ผ่านไปผ่านมา เพราะผมเชื่อว่าการดนตรีนั้นเป็นวิชาสำคัญที่ควรศึกษาโดยเฉพาะดนตรีไทย ดนตรีที่เป็นภาพสะท้อนรากฐานของบ้านเมือง แนวคิด ความเชื่อ ฯลฯ ของชาติไทยเรามา ดังนั้นเวอนี้เป็นเวปที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาการ และในห้องเรือนไทยนี้ผมก็คิดว่าน่าจะพูดถึงเรื่องแบบนี้บ้าง อย่างน้อยเพลงไทยก็จะได้ไม่หายไปจากสังคมไทย
ตามธรรมเนียมของการบรรเลงเพลงไทย เราก็ต้องเริ่มที่เพลงโหมโรงกันก่อน การบรรเลงเพลงโหมโรงนั้นมีนัยสำคัญหลายประการ คือ 1. เพื่อเป็นการแสดงความเคารพแก่เจ้าของสถานที่  2. เป็นสัญญานบอกผู้ที่อยู่ในงานว่า ขณะนี้ขั้นตอนในงานดำเนินไปดึงไหนแล้ว เช่น ในการทำบุญ ถ้าวงดนตรีทำเพลงเร็วก็แสดงว่าพระสงฆ์ได้มาถึงในงานแล้ว เป็นต้น 3. เป็นการปรับเสียงเครื่องดนตรีในวงให้เท่ากัน ดังนี้
เพลงแรกที่ผมจะนำเสนอ ก็คือเพลง โหมโรงไอยเรศ เพลงนี้เรียกได้ว่าเป็นเพลงโหมโรงภาคบังคับของนักดนตรีไทยทุกคนเลยก็ว่าได้ สมมุติว่า มีนักดนตรีจากหลายแห่งต้องมาบรรเลงด้วยกันโดยมิได้ซ้อม เพลงโหมโรงไอยเรศ ก็จะถูกเสนอชื่อขึ้นมาเป็นเพลงแรกๆ เลยทีเดียว เพลงโหมโรงไอยเรศ นี้เป็นเพลงโบราณ ไม่ทราบผู้แต่ง (นัยว่าแต่งราวรัชกาลที่ 2-3) โดยครูผู้แต่งนั้นนำเพลงโบราณที่ว่าด้วยเรื่องช้าง คือ เพลงไอยเรศชูงา เพลงไอยราชูงวง เพลงช้างประสานงา เพลงช้างต่อ เพลงช้างตั้ง โดยครูผู้แต่งนำเอาเพลงไอยเรศชูงา และเพลงไอยราชูงวง มาแต่งปรับให้เป็นเพลงโหมโรง แล้วใช้ชื่อว่าเพลงโหมโรงไอยเรศ
เพลงโหมโรงไอยเรศ เป็นเพลงที่มีสำนวนร้อยกรองของสำเนียงไทยแท้ๆ ไม่มีสำเนียงอื่นมาเจือปนเลย และต่อมาก็มีเริ่มมีผู้แต่งทางร้องของเพลงโหมโรงไอยเรศ เพื่อที่จะนำทำนองเพลงนี้มาบรรเลงร้องรับธรรมดา เรียกว่า เพลงไอยเรศ แต่ตั้งแต่ผมเล่นดนตรีมากก็นานพอควร ไม่เคยเห็นวงไหนเล่นเพลงไอยเรศแบบที่มีรับร้องเลย ซึ่งผมคิดว่าทางร้องของเพลงนี้คงไม่แพร่หลาย ด้วยเหตุหลายประการ แต่เหตุที่สำคัญที่สุด(ในความคิดของผม) น่าจะเป็นเพราะว่า เพลงไอยเรศที่ยบรรเลงเป็นเพลงโหมโรง มีความสมบูรณ์แบบอยู่แล้วทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นสำนวน กระสวนเพลง ท่วงทำนองที่ล้อเหลื่อมกันอย่างวิจิตร และที่สำคัญทำนองเพลงก็เปิดโอกาสให้ผู้บรรเลง สามารถประดิษฐ์ทางเพลงของตนเองได้อย่างหลากหลาย จนเรียกได้ว่า ถึงเพลงโหมโรงไอยเรศจะบรรเลงขึ้นครั้งใด อรรถรสอขงเพลงและความไพเพราะก็ไม่ได้จืดจางลงไปเลย
(ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องดนตรีไทยมาก่อนว่า ดนตรีไทยนั้นต่างกับดนตรีสากลมากพอสมควร เช่นการดนตรีไทยนั้นเราจะมีทำนองหลัก ที่บรรเลงโดยฆ้องวงใหญ่ แล้วนักดนตรีที่บรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ก็จะประดิษฐ์คิดเม็ดพรายในการบรรเลงทำนองเพลงให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีของตนเอง โดยอาศัยปฏิภาณไหวพริบและพรสวรรค์ของตนเองเป็นหลัก เรียกว่า ดนตรีไทยเปิดโอกาศให้นักดนตรีแสดงความสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่โดยต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด)
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ก.ย. 06, 21:30

 คลานเข่าเข้ามานั่งหน้าวง..สบัดพรมผืนน้อยพร้อมนั่งพับเพียบเรียบร้อยรอฟังเสียงมโหรีขับกล่อมค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
น้ำใส
อสุรผัด
*
ตอบ: 47


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ก.ย. 06, 10:44


....
มาช่วยตีกลองโหมโรงครับกระผม ตะ...ลุม...ตุม...ตุ๊ม...
อันนี้ฝรั่งสู้เราไม่ได้ ของเราเล่นไปตีลังกาไปได้ด้วย สุดยอดกว่า  
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ก.ย. 06, 09:38


เพลงที่สองที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็นเพลงสำคัญมากเพลงหนึ่งในดนตรีไทย นั้นคือ เพลง"สาธุการ" เพลงนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์
เพลงหน้าพาทย์ หมายถึง เพลงจำพวกหนึ่งซึ่งให้บรรเลงประกอบอากัปกิริยาของตัวละคร และเป็นเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมความเชื่อของทางพระพุทธศาสนาและลัทธิอื่นๆ
ประวัติความเป็นมาของเพลงสาธุการ ค่อนข้างจะออกแนวโลดโผนอิทธิปาฏิหาริย์ กล่าวคือ  ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเหล่าเทวดาทั่วทุกจักรวาลก็ลงมาฟังธรรมจนหมด พระอิศวรเสด็จลงยังเทวสภาก็ไม่พบเทวดาสักองค์เดียว พอรู้ว่าเหล่าเทวดาไปฟังธรรมกันหมดก็พาลพิโรธพระพุทธเจ้าไปด้วย จึงเสด็จลงมาที่ข้างๆโรงธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนา จากนั้นพระอิศวรและเทพบริวารก็จัดระบำรำฟ้อนอันอึกทึกหวังให้เกิดเสียงอึกทึกนั้นไปรบกวนจนพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนามิได้แต่เสียงใดๆก็มิอาจดังกว่าเสียงพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าได้ พระอิศวรเห็นดังนั้นก็ยิ่งพิโรธหนัก เข้าไปท้าทายให้พระพุทธเจ้าประลองฤทธิ์โดยการซ่อนหา(คล้ายๆกับเรื่องพกาพรหม)โดยพระอิศวรแปลงองค์เป็นธุลีปลิวไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าในเทวโลก พรหมโลก และ บาดาล พระพุทธเจ้าก็ทรงพบได้ทุกครั้ง เมื่อพระอิศวทรงแอบซ่อนองค์จากพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็เลยให้พระพุทธเจ้าไปซ่อนบ้าง พระพุทธเจ้าได้แปลงพระพุทธสรีระให้เป็นธุลีปลิวไปอยู่ในพระเมาฬีของพระอิศวร พระอิศวรให้อำนาจฌานของพระองค์หาพระพุทธเจ้าเท่าใดก็ไม่พบ จนตรัสยอมแพ้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระองค์ให้เห็นโดยการแผ่พระฉัพพรรณรังสีของมาจากพระเมาฬีของพระอิศวร แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมิทรงเสด็จลงจากพระเมาฬีของพระอิศวร ด้วยเห็นว่าพระอิศวรนั้นยังทรงมีมานะและทิฐิในองค์เองอยู่ จนในที่สุดพระอิศวรจึงให้เทพคนธรรพ์แต่งเพลงถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าลงมาจากพระมาฬีของพระองค์ เพลงที่เทพคนธรรพ์แต่งในครั้งนั้นก็คือเพลงสาธุการ
กลับมาพูดถึงเพลงสาธุการกันต่อหลังจากทราบถึงตำนานการเกิดของเพลงแล้ว(โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่แต่งเติมมาในภายหลัง) ก็จะพูดถึงการบรรเลงเพลงสาธุการ เพลงนี้จะบรรเลงมีความหมายเพื่อเป็นการสักการะบูชา โดยแต่โบราณในงานบุญต่างๆ ปี่พาทย์ก็จะทำเพลงโหมโรงเช้า ก่อนโดยเพลงชุดโหมโรงเข้านั้นกระกอบด้วยเพลงหน้าพาทย์หลายๆเพลงมาเรียงต่อกัน แต่เพลงแรกของชุดโหมโรงเช้าคือเพลงสาธุการ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนไตรและสิงศักดิสิทธิ์ทั้งมวล นอกจากนั้นเวลาที่ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องบูชา เพลงสาธุการก็จะถูกบรรเลงขึ้นอีกครั้ง
เคยมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยก่อน(น่าจะประมาณราวๆ ร.3-ร.4 )ได้มีการทำระฆังราวไว้(น่าจะมีลักษณะคล้ายกับระฆังราวที่ขุดพบในสุสานของจักรพรรดิ์จีนโบราณ) ในวัดหลวงที่สำคัญบางวัด เพื่อใช้ตีเพลงสาธุการในเวลาที่พระสงฆ์ลงพระอุโบสถทำวัตรเย็นเรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังงดไปเพราะหาผู้ตีไม่ได้(น่าเสียดายนิดหน่อย)
จะเล่าอะไรต่อดีละนึกไม่ออกแล้วครับผม สงสัยอะไรก็ถามแล้วกัน ตอบได้ก็จะตอบให้ แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องขออภัย
สาธุ สาธุ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ก.ย. 06, 10:18


พระบทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือได้ว่าเป็นยุดรุ่งเรืองของศิลปไทยสมัยหนึ่ง ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดดนตรีและวรรณกรรม จนถึงขนาดพระราชนิพนธ์เพลงไว้เป็นพระราชมรดกแก่แผ่นดิน 1 เพลง คือ เพลง"บุหลันลอยเลื่อน"(ห้ามเรียกว่านี้เพลง"บุหลัน" เฉยๆเพราะในเพลงไทยก็มีเพลงชื่อว่า บุหลัน อีกเพลงหนึ่งเหมือนกัน เดี๋ยวจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไป)
เพลงบุหลันลอยเลื่อน มีชื่อเรียกแตกต่างกันมากหลายนาม เช่น บุหลันลอยเลื่อน, บุหลันเลื่อนลอยฟ้า,สรรเสริญพระจันทร์, สรรเสริญพระบารมีไทย,ทรงพระสุบิน เป็นต้น และที่สำคัญเพลงบุหลันลอยเลื่อนนี้ก็ยังเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในยุคสมัยหนึ่งด้วย
ประวัติของเพลงนี้กล่าวว่า ในเวลาว่างพระราชกิจตอนกลางคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมักโปรดทรงซอสามสาย(ซอคู่พระหัตถ์ได้พระราชทานชื่อว่า สายฟ้าฟาด) ถ้าไม่ร่วมวง ก็มังทรงเดี่ยวแต่พระองค์เดียวจนดึก ถึงเสด็จเข้าบรรทม ในคืนหนึ่งได้พระสุบินว่า เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งสวยงามหาสถานที่ใดๆในโลกนี้เสมอเหมือนมิได้ จากนั้นดวงจันทร์ที่สาดแสงอันอำไพนั้นก็ค่อยๆลอยลงมาไกล้พระองค์พร้อมกับทรงสดับเสียงทิพย์ดนตรีอันไพเราะยิ่ง จึงประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพอันงดงามและทรงสดับทิพย์ดนตรีนั้นด้วยความเพลิดเพลินพระราชหฤทัย ครั้นต่อมาดวงจันทร์ก็ค่อยๆลอยเลื่อนไกลจากพระองค์ไป พร้อมกับเสียงทิพย์ดนตรีนั้นก็ค่อยๆแผ่วเบาลงจนสิ้นเสียง ก็ทรงตื่นบรรทม แต่ว่าแม้ทรงตื่นบรรทมแล้วท่วงทำนองของเพลงนั้นก็ยังคงก้องกังวานอยู่ในพระโสต จึงโปรดให้ตามเจ้าพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงนี้ไว้
ต่อในในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงนำทำนองเพลงนี้มาดัดแปลงถวายใช้บรรเลง เรียกว่า เพลง "สรรเสริญเสือป่า"
ส่วนบทร้องของเพลงนี้ เป็นบทละครในเรื่องอิเหนา ตอนสังคามาระตารับบัญชาจากอิเหนาให้ไปแต่งถ้ำเพื่อจะลักนางบุษบามาไว้เพื่อหนีจากการอภิเษกกับระตูจรกา
"กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันคอยเคร่าทุกเวลา"
(กิดาหยัน แปลว่า มหาดเล็ก, สะตาหมัน แปลว่า สวนหรืออุทยาน)
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.ย. 06, 13:15


.


"ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"(พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต )
แค่อ่านกลอนบทที่ผมขึ้นต้นมาให้ ก็คงทราบว่าผมจะพูดถึงเพลงแขกมอญบางขุนพรหม  

เพลงแขกมอญบางขุนพรหม นี้เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยทรงนำเอาเพลง มอญตัดแตง มาพระนิพนธ์ขยายและตัดจนครบเป็นเพลงเถา แล้วทรงประทานชื่อว่า "แขกมอญบางขุนพรหม" ตามตำบลซึ่งวังที่พระองค์ประทับอยู่ โดยเล่ากันว่า เมื่อราว ร.ศ.129  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เสด็จเพชรบุรี โดยมี พันตรีหลวงประสานดุริยางค์(สุทธ ศรีชยา) โดยเสด็จด้วย และเป็นคนเป่าแตรคาริเนตในเวลาทรงพระนิพนธ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

คำร้องของเพลงนี้ มี 3 บท คือ

1. บทของเก่า

"ครานั้น
พลายชุมพลได้ฟังก็ยั้งหยุด
จึงตอบว่าเราผู้เรืองฤทธิรุทธิ์
นามสมมุติว่าสมิงมัตรา
ถิ่นฐานบ้านเมืองเรานี้
อยู่ยังธานีหงสา
แมงตะยะและเม้ยแมงตะยา
เป็นบิดามารดาของเรา
พระอาจารย์เราหรือชื่อสุเมธ
เรืองพระเวทไม่มีใครดีเท่า
ตัวท่านที่ยกมาสู้เรา
คือเป็นลูกเต้าเหล่าใคร
อนึ่งพระเจ้าอยุธยา
ตั้งตำแหน่งยศฐาให้เพียงไหน
ชื่อเดิมของท่านนั้นชื่อไร
ท่านผู้ใดเป็นครูอาจารย์
ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

2.บทของวงพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
- ใช้บรรเลงกับวงของกรมมหรสพ

"ครานั้นขุนแผนแสนสนิท
นั่งคิดฟังเสียงสำเนียงหวาน
แจ่มแจ้วกระจ่างเป็นกังวาน
ตัวพี่คือทหารชาญณรงค์
พระผู้จอมจักรพาลประทานนาม
ชื่อขุนแผนแสนสงครามตามประสงค์
มาหาเจ้าวันทองต้องจำนง
ด้วยขุนช้างพาลงมาโลมเลี้ยง
อันขุนช้างกับตัวพี่นี้เป็นมิตร
มันผิดเมียเสียน้ำสบถเบี่ยง
พี่คิดว่าวันทองเผ้ามองเมียง
ต่อนั่งเคียงลงรู้ว่าผิดตัว
ไม่แผกผิดกันสักนิดเจียวนะน้อง
พี่คิดว่าวันทองจึงต้องทั่ว
ได้ลักลูบจูปไล้ไม่คิดกลัว
ผิดตัวเกินแล้วอย่าโกรธา
ขออภัยเถิดมิใช่เจ้าวันทอง
นิจจาน้องอย่าสะเทิ้นเมินหน้า
ที่เจ้าเป็นอะไรกันอย่าฉันทา
จึงมาอยู่เคหาของขุนช้าง
ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

3.บทของวงพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

"พลายงามความอาลัยใจละเหี่ย
ฟังเมียไม่กลั้นน้ำตาได้
พี่นี้เหลือที่จะห่วงใย
พี่จะไปบอกพ่อให้ขอน้อง
ถึงกระไรได้ขอพอได้หมั้น
ป้องกันมิให้ใครเกี่ยวข้อง
ถ้าหากว่าบิดาไม่ปรองดอง
ถึงจะต้องฟันคอไม่ขอไป
อย่าวิตกหมกไหม้เลยน้องแก้ว
ไปแล้วพี่หาลืมปลื้มจิตไม่
จงจำคำสัตย์ของพี่ไว้
เสร็จศึกเมื่อไรจะกลับมา
อย่าร้องไห้ไปนักเลยน้องพี่
พรุ่งนี้ใครเห็นจะผิดหน้า
ว่าพลางทางช่วยเช็ดน้ำตา
แล้วจูบซ้ายย้ายขวาจะลาจร
ศรีมาลาอาลัยใจจะขาด
นางมิอาจดูหน้าดังแต่ก่อน
ผละผัวตัวเจ้าเข้าที่นอน
ลงแอบหมอนซ่อนหน้าโศกาลัย
ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นดุริยางคศิลปินโดยแท้ ด้วยพระนิพนธ์บทเพลงไว้มากมายไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงไทยเดิมหรือแนวเพลงสากล แม้หลังจากที่เสด็จไปประทับ ณ ตำหนักประเสบัน ถนนเนลันด์ ตำบลจีประกัน เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย (ด้วยเหตุผลทางการปกครองสมัย พ.ศ. 2475) โดยกระทันหัน ยังความโทมนัสมาสู่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็ยังทรงพระนิพนธ์บทเพลงไว้ถึง 17 เพลง เช่น โหมโรงประเสบัน เพลงมหาโศก เพลงสุดถวิล เป็นต้น (เพลงสุดถวิลเป็นบทพระนิพนธ์ที่พระองค์โปรดมากที่สุด)

ขออธิบายนิดหนึ่งว่า ธรรมเนียมของดนตรีไทยนั้นชอบแต่งเพลงให้ออกสำเนียงชาติต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงความสามารถ และช่วยให้การฟังเพลงไม่น่าเบื่อโดยจะบอกชื่อสำเนียงไว้หน้าชื่อเพลง เช่น เพลงจีนลั่นถัน เพลงเขมรชมจันทร์ เพลงลาวดวงเดือน เป็นต้น แต่สำหรับเพลงที่ขึ้นต้นว่า แขกมอญนั้น ครูมนตรี ตราโมท ได้เคยอธิบายไว้ว่า ในสมัยโบราณนักดนตรีจะเรียกเพลงสองไม้และเพลงเร็วที่บรรเลงต่อจากเพลงช้าว่า "แขก" ทั้งสิ้น (ธรรมเนียมการบรรเลงดนตรีของโบราณจะบรรเลงขึ้นด้วยเพลงช้าและต่อด้วยเพลงเร็ว ปัจจุบันก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้ใว้ โดยเฉพาะในการบรรเลงประกอบนาฏศิลป์)เพราะใช้ตะโพนตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะ ซึ่งฟังแล้วรุกเร้าคล้ายกับการตีกลองแขกจริงๆ ดังนั้นจึงมีการเรียกคำนำหน้าชื่อเพลงเร็วนั้นๆว่าแขก เช่น เพลงเร็วชื่อพระรามเดินดง ก็จะเรียกว่า เพลงแขกพระรามเดินดง , เพลงเร็วชื่อมอญแปลง ก็จะเรียกว่า เพลงแขกมอญแปลง
ดังนั้นคำว่าแขกมอญก็คาดว่าจะมาจากเหตุนี้
(วันนี้กระผมไม่ค่อยสบายใจ สมองไม่ค่อยทำงาน แม้นผิดพลาดไปบ้างก็โปรดเมตตาให้อภัยแต่ดอกลำดวนน้อยๆ นี้เถิด)
รักน้อยๆ แต่โปรดรักนานๆ
บันทึกการเข้า
caeruleus
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.ย. 06, 17:24

 เอาเสื่อมาปูนั่งฟังการบรรยายจากคุณลำดวนฯด้วยคนค่ะ

ดิฉันเป็นพวกเล่นกับฟังอย่างเดียว ไม่ทราบประวัติแต่ละเพลงนัก
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ก.ย. 06, 13:25


.


“ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ
เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง”

บทร้องเพลงราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

การทรงดนตรีไทยของพระเจ้าแผ่นดินในประวัติศาสตร์นั้นที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนมีอยู่ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ (ทรงซอสามสาย) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ทรงซออู้)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชดำริที่จะทรงดนตรีไทย โปรดให้ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น  ดุริยชีวิน) และ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง)  ถวายการสอน (ต่อมาภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงซออู้ได้แล้ว ได้ทรงสอนทรงซอด้วง พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พระบรมราชินี ด้วยพระองค์เอง) โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงปรีชาในทางดนตรีเป็นอันมาก ถึงขั้นสามารถพระราชนิพนธ์เพลงไทยที่มีความไพเราะเป็นอมตะ ถึง ๓ เพลง โดยเพลงแรกที่พระราชนิพนธ์คือเพลง ราตรีประดับดาว

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ได้ตั้งวงดนตรีไทยส่วนพระองค์ ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยสมาชิกในวงดนตรีไทยนั้น ประกอบด้วยพระบรมวงศ์และข้าราชการที่ใกล้ชิดพระยุคลบาททั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน (วงดนตรีไทยต้องเป็นวงดนตรีไทยที่ใครได้ฟังคงต้องถือเป็นบุญโดยแท้ ด้วยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซออู้  มีสมเด็จพระบรมราชินีทรงซอด้วง)  ต่อมาในราวๆปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงสดับเพลง “แขกมอญบางขุนพรหม” ที่เป็นบทพระนิพนธ์ในทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งตอนท้ายของบทร้อง บรรยายว่า

“ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา  
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำริที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงบ้าง โดยทรงคัดเลือกเพลงสำเนียงมอญ เช่นเดียวกับที่ทูลกระหม่อมบริพัตรที่ทรงนำเพลงมอญตัดแตง มาพระนิพนธ์เป็นเพลงแขกมอญบางขุนพรหม

โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงเลือกเพลงมอญดูดาว มาพระราชนิพนธ์ ทั้งทำนองและบทขับร้อง ดังนี้

บทร้องเพลงราตรีประดับดาว บทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

....................................................

“วันนี้
แสนสุดยินดีพระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้าไปนั่งเล่น
ลมพัดเย็นเย็นหอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี
แม้ไม่สดสีหอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจแม่ไม่ขำคม
กิริยาน่าชมสมใจจริงเอย

ชมแต่ดวงเดือน
ที่ไหนจะเหมือนได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียวเปลี่ยวใจหม่นหมอง
เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชำมะนาด
กลิ่นไม่ฉูดฉาดแต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดีปราณีปราศรัย
ผูกจิตสนิทได้ให้รักจริงเอย

ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ
เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น
ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย

ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง
โอ้หนาวทรวงยอดวีวาไม่ปราณี
หอมมะลิกลีบซ้อน
อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย

จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา
แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา
ชิชะช่างหน้าเจ็บใจจริงเอย

หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี
แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี
นี่แหนะพรุ่งนี้จะกลับมาเอย”

........................................................

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชนิพนธ์เพลงนี้แล้วก็ทรงต่อเพลงนี้พระราชทานแก่ข้าราชการกรมมหรสพ โดยในเบื้องต้นเพลงนี้ยังไม่มีชื่อที่แน่นอน เจ้านายที่ทรงสามารถในเชิงดนตรี อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมหมื่นอนุพงศ์จักรวรรดิ ได้ทรงเสนอชื่อเพลงนี้ต่างๆกัน เช่น ดาวประดับฟ้า  ดารารามัญ เป็นต้น แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็ยังมิได้ทรงเลือกเอาชื่อไหน

ต่อมาวงมโหรีหลวงได้นำเพลงพระราชนิพนธ์นี้ออกกระจายเสียง โดยประกาศชื่อเพลงว่า “ราตรีประดับดาว” อันเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ทรงดำริขึ้นเอง จึงเป็นการตกลงใช้ชื่อนี้ตลอดมา
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.ย. 06, 13:31


พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก  ประสานศัพท์)

ขอแก้ไข จากกระทู้ที่ ๕ บทร้องของวงพระยาพระสานดุริยศัพท์ (แปลก  ประสานศัพท์) เปลี่ยนเป็นดังนี้

บทร้องของวงพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
- ใช้บรรเลงกับวงของกรมมหรสพ

"ครานั้นขุนแผนแสนสนิท
นั่งคิดฟังเสียงสำเนียงหวาน
แจ่มแจ้วกระจ่างเป็นกังวาน
ตัวพี่คือทหารชาญณรงค์
พระผู้จอมจักรพาลประทานนาม
ชื่อขุนแผนแสนสงครามตามประสงค์
มาหาเจ้าวันทองต้องจำนง
ด้วยขุนช้างพาลงมาโลมเลี้ยง
อันขุนช้างกับตัวพี่นี้เป็นมิตร
มันผิดเมียเสียน้ำสบถเบี่ยง
พี่คิดว่าวันทองเผ้ามองเมียง
ต่อนั่งเคียงลงรู้ว่าผิดตัว
ไม่แผกผิดกันสักนิดเจียวนะน้อง
พี่คิดว่าวันทองจึงต้องทั่ว
ได้ลักลูบจูปไล้ไม่คิดกลัว
ผิดตัวเกินแล้วอย่าโกรธา
ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ก.ย. 06, 13:37


พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม  สุนทรวาทิน)

แก้ไขเนื้อหากระทู้ที่ ๕
บทร้องของวงพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) แก้เป็นดังนี้

"พลายงามความอาลัยใจละเหี่ย
ฟังเมียไม่กลั้นน้ำตาได้
พี่นี้เหลือที่จะห่วงใย
พี่จะไปบอกพ่อให้ขอน้อง
ถึงกระไรได้ขอพอได้หมั้น
ป้องกันมิให้ใครเกี่ยวข้อง
ถ้าหากว่าบิดาไม่ปรองดอง
ถึงจะต้องฟันคอไม่ขอไป
อย่าวิตกหมกไหม้เลยน้องแก้ว
ไปแล้วพี่หาลืมปลื้มจิตไม่
จงจำคำสัตย์ของพี่ไว้
เสร็จศึกเมื่อไรจะกลับมา
อย่าร้องไห้ไปนักเลยน้องพี่
พรุ่งนี้ใครเห็นจะผิดหน้า
ว่าพลางทางช่วยเช็ดน้ำตา
แล้วจูบซ้ายย้ายขวาจะลาจร
ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

*** บทร้องนี้ปัจจุบันใช้มากที่สุด ***
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ก.ย. 06, 13:59

 หากเราศึกษาให้ลึกๆ จะพบว่าดนตรีไทยเป็นการบูรณาการศิลปวิทยาการต่างๆของไทย มารวมกันเข้าไว้หลายแขนง อาทิ งานช่างสิบหมู่ (การสร้างเครื่องดนตรี) ภาษา  วรรณคดี  ศาสนาความเชื่อของสังคมไทย ฯลฯ

การดนตรีไม่ใช่เรื่องเต้นกินรำกิน หรือ เป็นวิชาที่ข้าทาสใช้บำเรอความสุขแก่เจ้านาย  

หากแต่เป็นวิชาของผู้มีจิตใจอันละเอียดอ่อน และมีรสนิยมที่ดี
บันทึกการเข้า
ภูมิ
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 196


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ก.ย. 06, 00:30

 ผู้ขยายเพลงไอยเรศชูงาขึ้นเป็นสามชั้น ในหนังสือที่ผมมีเขียนว่า
คือ ครูช้อย สุนทรวาทิน

ส่วนผู้ที่ตัดลงมาเป็น สองชั้นและชั้นเดียวคือครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ก.ย. 06, 10:52

 ก่อนอื่นผมขอแยกประเด็น เรื่อง เพลงโหมโรงไอยเรศ กับเพลงไอยเรศชูงา เถา  ที่คุณภูมิ พูดถึง

1. เพลงโหมโรงไอยเรศ

เพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น มี 4 ท่อน ท่อน 1 และ 2 แต่งมาจากเพลง ไอยเรศชูงา ส่วนท่อน 3 และ 4 แต่งมาจากเพลงไอยราชูงวง

เพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น ครูเลื่อน  สุนทรวาทิน บุตรีคนกลางของ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม  สุนทรวาทิน) กล่าวว่า

"เพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น คุณปู่ของท่านคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นคนแต่ง"

แต่ผมไปอ่านบทความและหนังสือของครูมนตรี ตราโมท และของครูผู้ใหญ่อีกหลายๆท่านที่กล่าวถึงเพลงนี้ ก็ยังไม่เห็นมีไม่มีครูท่านใดใดยืนยันเป็นแน่นอนได้


2. เพลงไอยเรศชูงา เถา (ตามที่คุณภูมิเสนอไว้)

ผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย  

แต่ถ้าเป็น โหมโรงไอยราชูงวง สามชั้น ผมเคยได้ยินว่ามีผู้แต่งไว้ แต่มิค่อยแพร่หลาย ด้วยผมคิดว่า ในเมื่อมีเพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น ซึ่งความสมบูรณ์แบบในตัวเองอยู่แล้ว

การผู้ใดที่จะแต่งเพลงขึ้นมา โดยนำเพลงไอยเรศชูงา หรือ เพลงไอยราชูงวง มาแต่งเป็นเพลงเถา หรือเพลงโหมโรง ก็ย่อมมิอาจเสมอได้ด้วยเพลง โหมโรงไอยเรศ สามชั้น

..................................................................................

ขอเพิ่ม เนื้อร้องของเพลงไอยเรศ สามชั้น ที่ผมเคยกล่าวตั้งแต่กระทู้ ที่ 1 ว่า ต่อมาหลังจากวงการดนตรีไทยเล่นโหมโรงไอยเรศกันจนแพร่หลายแล้ว ก็เลยมีครูดนตรีไทย คือทางร้องขึ้นมา เพื่อใช้เป็นบทร้องส่ง แล้วเรียกว่า เพลง ไอยเรศ 3 ชั้น (ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นอันเดียวกับ เพลงไอยเรศชูงา สามชั้น ที่คุณภูมิ พูดถึง หรือเปล่านะ ?)

บทร้องเพลง ไอยเรศ 3 ชั้น
 
จากบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2

"เดินทางมาข้างเชิงเขา
เวลาบ่ายบังเงาเงื้อมผา
ชมสัตว์จตุบาทนานา
เกลื่อนกลาดดาษดาพนาลัย

อ้อยช้างเป็นรอยช้างหัก
กิ่งก้านรานหักลงใหม่ใหม่
หูกวางกวางกินระบัดใบ
แล้วเล่นโลดโดดไล่ลองเชิง

ชงโคโคเข้าอยู่เงาร่ม
ตามติดชิดชมเถิกเถลิง
ตาเสือเสือซุ่มเข้าซุ้มเชิง
ทหารยิงวิ่งเปิงเข้าป่าไป

ซุ้มหมูหมูหยุดยืนเบียด
ห็นตัวกลัวเกลียดไม่เข้าไกล้
พระเร่งพหลพลไกร
มาในพนมพนาวัน"

............................................
บันทึกการเข้า
ภูมิ
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 196


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ก.ย. 06, 17:44

 พิมพ์ตกครับ
ผู้ขยายเพลงไอยเรศชูงาขึ้นเป็นโหมโรงไอยเรศสามชั้น ในหนังสือที่ผมมีเขียนว่าคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน

ซึ่งก็น่าจะตรงกันกับข้อความนี้

"เพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น คุณปู่ของท่านคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นคนแต่ง"


ที่มา หนังสือประชุมผลงานหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
บันทึกการเข้า
OBORO
ชมพูพาน
***
ตอบ: 158

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมเจอร์ฟิสิกส์


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 ก.ย. 06, 20:10

 คุณลำดวนครับ ไม่ทราบว่าคุณลำดวนยังมีเพลงลาวม่านแก้วอยู่ไหมครับ ถ้ามีจะช่วยกรุณาส่งมาให้ผมได้ไหมครับ ถ้ายังมีอยู่จะส่งมาทางไหนดี ช่วยตอบทาง sms ก็ได้ครับ

ขอบพระคุณยิ่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 20 คำสั่ง