เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4188 อยากทราบประวัติและผลงานของกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยค่ะ
ศิษฏดา
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


 เมื่อ 11 ก.ย. 06, 21:09

 รบกวนท่านผู้รู้กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและผลงานของกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย   โดยเฉพาะรายละเอียดของการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริ่งหน่อยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ก.ย. 06, 21:18

 เข้าไปที่ http://www.google.co.th   พิมพ์คำว่า กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย   แล้วกด search
มีเว็บที่เกี่ยวกับท่านแยะทีเดียว  ต้องลองปะติดปะต่อเนื้อหาดู
อีกคำคือ สนธิสัญญาเบาริง ลองค้นดูแบบเดียวกัน

ถ้าติดขัดตรงไหน ย้อนกลับมาถาม ก็อาจจะมีผู้ช่วยเหลือ แต่ก่อนอื่นขอให้ช่วยตัวเองก่อนเถอะค่ะ
บันทึกการเข้า
ศิษฏดา
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ก.ย. 06, 18:03

 ขอบพระคุณค่ะที่ช่วยชี้แนะแนวทาง

นี่เป็นเนื้อหาเก่าที่เคยรวบรวมไว้นะคะ

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เป็นพระโอรสในกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เษกสมรสกับ หม่อมเพี้ยน บุนนาค
   พระองค์ทรงมีความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ทางการทูตและเคยเป็นอัครราชทูต อีกทั้งดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ นอกจากนี้ยังทรงอำนวยการรับผิดชอบการเจรจาสนธิสัญญาที่ทำไว้กับประเทศอื่นๆตั้งแต่  พ.ศ.  ๒๔๖๗  ถึง  พ.ศ.  ๒๔๖๙  

ส่วนในเรื่องของการแก้ไขสนธิสัญญา หาได้เพียงเท่านี้ค่ะ

ในการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้เสนอข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน โดยให้ฝ่ายไทยรับรองว่าจะให้ชาวอังกฤษเข้ามารับราชการในตำแหน่งต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ได้สงวนสิทธิบางประการไว้ คือให้ไทยเพิ่มอัตราภาษีในระดับปานกลาง และกำหนดอัตราภาษีสินค้าบางชนิดให้แน่นอนลงไป ซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นชอบตามข้อเสนอของอังกฤษ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงลงนามในสนธิสัญญาเสมอภาคเมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2468

หากท่านผู้รู้ท่านใดที่มีข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาช่วยแนะนำให้ด้วยนะคะ
ขอบพระคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 09:25

 คุณครูใหญ่ประจำเว็บบอกว่าเรื่องนี้ผมน่าจะรู้ แต่ถ้าจะเอากันให้ละเอียดจริงๆ ผมเองก็ต้องขอค้นอีกเหมือนกันครับ

ขอแจมอย่างไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวก่อนดังนี้

สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ (ต้นราชสกุล เทวกุล) พระบิดาของกรมหมื่นเทววงศ์ฯ ถ้าผมจำไม่ผิดทรงเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 5 และเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศคู่พระทัยในหลวงพระองค์นั้น ซึ่งเป็นยุคที่การต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นความตายของสยามมาก เพราะอยู่ในช่วงฝรั่งล่าอาณานิคม แม้ว่าจะมิได้ทรงเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศองค์แรก (*เสนาบดีว่าการต่างประเทศท่านแรก ตั้งขึ้นในต้น ร. 5 คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ท้วม บุนนาค ก่อนหน้านั้นการต่างประเทศของสยามรวมอยู่ในกรมท่า*) แต่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ก็ทรงคุมบังเหียนการต่างประเทศของสยามมายาวนาน แทบตลอดรัชกาลที่ 5 ก็ว่าได้ และได้ทรงมีคุณูปการเป็นอย่างยิ่ง ต่อกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งแรกตั้งใหม่ๆ (ราว 130 ปีเศษมาแล้ว)

กรมหมื่นเทววงศ์ฯ ก็ทรงงานเป็นนักการทูตเจริญรอยตามพระบิดา สมัยหลังต่อมายังมีลูกหลานท่านที่อยู่ในราชสกุล เทววงศ์ เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศอีกหลายท่าน

ที่วังสราญรมย์ ที่ตั้งกระทรวงฯ เก่าก่อนย้าย มีห้องประชุมเล็กห้องหนึ่งชื่อ ห้องไตรทศประพันธ์ เป็นห้องที่ตั้งชื่อถวายเป็นเกียรติแก่ท่าน

ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวง สมัยนี้เรียกว่า ปลัดกระทรวง หลังจากทรงเป็นปลัดทูลฉลองฯ แล้วก็ทรงขึ้นเป็นเสนาบดีต่างประเทศ เทียบสมัยนี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สืบจากพระบิดา นั่นอยู่ในราวรัชสมัย ร. 6

อัครราชทูต เป็นตำแหน่งทางการทูตตำแหน่งหนึ่งรองจากเอกอัครราชทูต เดี๋ยวนี้เทียบเท่าซี 9 หรือรองอธิบดี (เอกอัครราชทูตเป็นระดับซี 10) ภาษษอังกฤษเรียก Minister ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่ารัฐมนตรี ถ้าถามว่าทำไมท่านไม่ทรงเคยเป็นเอกอัครราชทูตหรือ Ambassador ก็อธิบายได้ว่า ในสมัยโน้น คือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นาน โลก (คือฝรั่ง) ยังตั้งข้อรังเกียจกีดกันว่า เฉพาะมหาประเทศเท่านั้นจึงจะสามารถตั้งผู้แทนทางการทูตระดับเอกอัครราชทูตได้ ประเทศเล็กๆ ไม่มีสิทธิตั้ง ตั้งได้แต่เพียงอัครราชทูต สถานทูตของประเทศเล็กๆ ที่มีอัครราชทูตเป็นหัวหน้าก็ไม่เรียกว่า Embassy หรือสถานเอกอัครราชทูต แต่เรียกว่า Legation สถานอัครราชทูต ไทยเราเพียงตั้งเอกอัครราชทูตครั้งแรกไปประจำญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วต่อมาหลังสงครามสงบ ถึงได้ตกลงกันยอมรับให้ทุกประเทศไม่ว่าใหญ่เล็กสามารถมีผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตได้เท่าเทียมกัน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 09:32

 เรื่องกระบวนการแก้สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมหรือสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามทำไว้กับประเทศในยุโรปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีรายละเอียดมากครับ (เริ่มลงมือเจรจาแก้กันในสมัย ร. 6 ถ้าจำไม่ผิด แต่กว่าจะแก้เสร็จเปลี่ยนสัญญาใหม่หมดให้เป็นธรรมต่อไทยได้ทุกประเทศ ก็ล่วงเข้า ร. 7 แล้ว เผลอๆ จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วด้วยซ้ำ) และมีตัวละครหลายท่านมีบทบาทในเรื่องนี้ ผมต้องขออภัยที่รู้ไม่หมด ต้องไปค้น

เท่าที่ทราบ มีกรมหมื่นเทววงศ์ฯ องค์หนึ่งแน่ละ มีพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซยร์ ที่ปรึกษาอเมริกันของรัฐบาลไทยตอนนั้น คนหนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่ามีคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือท่านปรีดีด้วยท่านหนึ่ง (แต่เป็นสมัยหลังแล้ว)

ถ้าค้นประวัติศาสตร์การทูตไทยสมัย ร. 6 - 7 อาจจะได้รายละเอียดเพิ่มครับ
บันทึกการเข้า
ศิษฏดา
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 19:10

 ขอบพระคุณ คุณนิลกังขามากนะคะ
ไว้จะหารายละเอียดเพิ่มค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากท่านผู้ใดมีข้อมูลเพิ่ม ก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ก.ย. 06, 21:26

 เท่าที่ทราบมานั้น  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง  โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายชนะสงครามนั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน  สิงหเสนี) ราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศ ออกไปเป็นอัครราชทูต ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์ นั้น  ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ในกรมฯ และพระยาบุรีฯ กับอีกท่านหนึ่งจำนามไม่ได้  เป็นผู้แทนไทยในการจัดตั้งสันนิบาตชาติ  นอกจากนั้นในกรมฯ และพระยาบุรีนวราษฐ ยังเป็นสองแรงแข็งขันที่ช่วยกันเจจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และภาษีร้อยชักสาม  จนเกือบจะสำเร็จ  รัฐบาลอังกฤษกำลังเตรียมการจะลงนามในสนธิสัญญาฉบัใหม่อยู่แล้ว  พอดีเกิดเรื่องทางกรุงเทพฯ  อธิบดีศาลฎีกาโบยลูกชาย  จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต  ทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ รายงานกลับไปอังกฤษ  รัฐบาลอังกฤษจึงไม่ยอมลงนามในสัญญา  ในหลวงรัชกาลที่ ๖ จึงต้องโปรดให้ พะยาบุรีนวราษฐย้ายไปเป็นทูตที่สหรัฐอเมริกา  ขณะเดียวกันในกรมฯ ก็ทรงถูกเรียกกลับกรุงเทพฯ มาเป็นเสนาบดีต่างประเทศแทนสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระบิดา) ที่สิ้นพระชนม์  
แม้กระนั้นในกรมฯ และพระยาบุรีฯ สองท่านนี้ก็ยังคงทำงานปิดทองหลังพระมาตลอด  จนสุดท้ายประเทศสยามสามารถแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๖ สวรรคตได้ไม่กี่เดือน  หลังจากสวรรคตแล้ว ๔ เดือน  พระยาบุรีนวราษฐ ก็ถึงแก่อนิจกรรมที่สหรัฐอเมริกา  ในขณะที่ผลงานการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ นั้น  กลายเป็นความชอบของพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) ไปคนเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง