เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8965 ตรุษไทย และ ศารทไทย
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


 เมื่อ 08 ก.ย. 06, 17:34

 เคยเปลกใจมากหลายครั้ง ว่าเวลาตรุษจีน ศารทจีน คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี ขนาดบางบ้านไม่มีเชื่อสายจีนก้ยังอุตส่าห์ตั้งเครื่องเซ่นไหว้แบบจีนกันอย่างเอิกเริก แต่ทำไมวันตรุษไทย ศารทไทย คนไทยกลับไม่รู้จัก และไม่ใส่ใจ ผมคิดว่า ถ้าลองไปถามคนไทยในสมัยนี้ ว่าวันตรุษ วันศารท คือวันไหนก็คงเดากันมั่วซั่วไปหมด ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่คนไทย กลับไม่รู้จักวันสำคัญของไทย ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีอะไรนัก ก็ขออธิบายไว้ว่า คำว่าตรุษนั้น หมายความถึง การขาด การสิ้นสุด ดังนั้นตรุษไทย คือ วันสิ้นปีเก่าตามแบบไทย คือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 (วันขึ้นปีใหม่ คือ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5) โดยแต่โบราณ ถ้ามีศพที่ญาติเก็บไว้รอวันเผา ก็จะเผากันให้หมดไปภายในเดือน 4 เรียกว่า สิ้นทุกข์สิ้นโศกไปพร้อมกับสิ้นปี จึงเกิดคำโบราณที่ว่า "เผาผีเดือน 4"
ส่วนวันศารทไทย นั้นผมเองไม่ค่อยทราบความเป็นมา ลองค้นๆดูในพจนานุกรม ก็พบว่า ศราท หรือ สารท หมายถึง ฤดุใบไม้ร่วง แต่พอไปเรียนถามญาติผู้ใหญ่ ก็ได้ความว่า วันศารทไทยก็ความหมายคล้ายศราทจีน คือเป็นวันที่จำต้องทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรษ ด้วยว่าหากบรรพบุรุษท่านใด มีกรรมหนักหนาต้องไปเกิดเป็นเปตรน่าเวทนาในอบายภูมิ วันศารทนี้แหละที่ประตูนรกจะเปิดให้เปรตเหล่านั้นสามารถขึ้นมาอนุโมธนารับเอากุศลที่ ญาติพี่น้องอุทิศไปให้ โดยอาหารที่นิยมทำถวายพระในงานศารทนี้ก็มีจำพวกข้าวมทุปายาท ข้าวยาคูุ ข้าวทิพย์ กระยาสารท เเละ กล้วยไข่ ซึ่งพอดีเป็นหน้ากล้วยไข่สุก ไปตักบาตรธารณะ เสร็จเเล้วก็จะเเจกจ่าย ให้ปันกระยาสารทที่เหลือเเก่เพื่อนบ้าน พิธีสารทเป็นระยะที่ต้นข้าวออกรวง เป็นน้ำนม จึงจัดทำพิธีขึ้นเพือเป็นการรับขวัญรวงข้าว เเละ เป็นฤกษสิริมงคล เเก่ต้นข้าวในนาอีกด้วย
ซึ่งประเพณีศราทนี้ ทางปักษ์ใต้ยังเห็นว่ามีการจัดเป็นงานใหญ่ประจำปี โดยเฉพาะที่วัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีฯ มีการแห่หรับ(สำรับ) อับประกอบด้วยอาหารและขนมต่างๆ ตามคตินิยม ไปถวายพระภิกษุ มีการตั้งเสาชิงเปตร มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนาน
ปีนี้ศารทไทย ตรงกับวันที่ 22 กันยายน ที่จึงถึงนี้ ชาวเรือนไทยก็อย่าลืมไปเข้าวัดรักษาศีลทำบุญอุทิศกุศลให้บรรพบุรษกันนะครับ   อยู่เรือนไทยนอกจากจะรู้จะคุยเรื่องประวัติศาสตร์ประเพณีไทยกันแล้ว ก็อย่าลืมกลับสู่วิถีชีวิตที่งดงามของไทย ด้วนนะครับ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ก.ย. 06, 19:57

 พึ่งนึกขึ้นมาได้ว่าเคยฟังพระเทศน์ที่วัดเมื่อคราวทำบุญศารทปีที่แล้ว จำได้ว่าช่วงศารทไทยนี้ อากาศจะไม่ค่อยดีเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ฝนก็ตก เรียกว่า คราบ 3 ฤดูในช่วงศารท ทำให้ผู้คนนั้นป่วยไข้ รวมถึงเหล่าพระสงฆ์ก็อาพาธ ชาวบ้านจึงนำเมล็ดธัญญาหาร ที่มีคุณค่าทางยามาปรุงเป็นกระยาสารท เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ กระยาสารท นี้ ประกอบด้วยถั่วงาข้างตอก ซึ้งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารกึ่งยาได้อย่างหนึ่ง และในช่วงศารทนี้ผลเผลิตทางการเกษตรก็จะเริ่มให้ผล ไม่ว่าข้าวกล้าในนาก็เริ่มตั้งท้อง ชาวบ้านจึงนำผลผลิตทางกรเกษตรของตนมาปรุงเป็นอาหารถวายพระสงฆ์เป็นปฐม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ก.ย. 06, 20:04

 เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ก.ย. 06, 21:58

 เดินตามหลังอาจารย์มาด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ก.ย. 06, 03:23

 ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยลืมเทศกาลสารทไทยครับ อาจเป็นเพราะตั้งแต่เด็กสมัยตอนประถม ผมได้อ่านหนังสือของเสฐียรโกเศศ ท่านเล่าว่าโบราณถือว่าถ้าถึงวันสารทแล้วลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศให้บรรพชนแล้ว ผีปู่ย่าตายายจะโกรธเคือง เลยเป็นความฝังใจจนทุกวันนี้ ถ้าไม่อยู่เมืองไทยก็จะโทรไปย้ำให้คนที่บ้านทำบุญตักบาตรในเทศกาลนี้เสมอ

อ่อ อีกอย่าง อาจเป็นเพราะผมชอบรับประทานกระยาสารทด้วยกระมัง เลยทำให้รู้จักเทศกาลนี้

อีกอย่างที่ชอบคือขนมที่เขาไว้ทำ "หมฺรับ" ในวันชิงเปรตทางเมืองนครฯ จำพวกขนมลา และขนมกง นั้นแหละครับ เพื่อนผมที่เป็นคนเมืองคอนจะทำหน้าแปลกๆ ทุกคนเวลาผมบอกว่าผมชอบรับประทานขนมพวกนี้

น่าสังเกตว่าเทศกาลที่บรรดาภูตผีจากปรโลกจะออกมาเพ่นพ่านในเมืองมนุษย์ได้ มักอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ไม่ว่าจะเป็น สารทจีน สารทไทย หรือฮาโลวีน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ก.ย. 06, 01:18

 อธิบายได้ครับคุณ UP

เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยว ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ คนกินอิ่มแล้วก็เลยนึกถึงผีปู่ย่าบรรพชน ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน หรือฝรั่ง ฝรั่งเดี๋ยวนี้แยกฮัลโลวีนจากแทงสกิฟวิงเสียแล้ว แต่ถ้าเราทำใจให้เป็นมนุษย์ถ้ำโบราณหน่อย ที่ว่าขอบคุณพระเจ้า พระเจ้าคือนั้นอะไรถ้ามิใช่ผีชนิดหนึ่งที่ใหญ่กว่าผีทั้งหลาย (ขออภัยพี่น้องศาสนิกอื่นด้วยครับ ที่ผมว่านี่ไม่ใช่เรื่องศาสนาครับ แต่พูดถึงความรู้สึกในใจของมนุษย์ตั้งแต่ยุคยังไม่เจริญ เป็นเรื่องทางมานุษยวิทยาครับ)
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ก.ย. 06, 01:21

 ที่จริงแล้วถ้าเอาปฏิทินจับ จะเจออะไรคล้ายๆ กันระหว่างชาติอีกหลายอย่าง เช่น ศีลอดของมุสลิม Lent ของคริสต์ เข้าพรรษาของพุทธ และกินเจของจีน เป็นการจำกัดตัวบำเพ็ญพรตชั่วระยะเวลาหนึ่งทั้งนั้น

เช้งเม้งกับชิงเปรตนั้นคล้ายกันเลย ฮัลโลวีนก็ใช่ คือการรำลึกถึงผู้ตายไปแล้ว
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ก.ย. 06, 09:57

 จริงๆแล้ว วันที่ระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วของทางฝรั่งก็มิใช่ฮัลโลวีนโดยตรงหรอกครับ

แต่จะมีสองวัน คล้ายๆกับ Ash day วันหนึ่ง เป็นวันที่ระลึกว่าคนเราเกิดมาจากดิน (เถ้า) ก็จะกลายเป็นดิน และก็มีการระลึกปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว

อีกวันหนึ่งก็คือ All saint day ก่อนวันฮัลโลวีน เป็นวันที่ให้ความสำคัญกับนักบุญ (saint) ทั้งหมดทั้งปวงที่ผ่านจากโลกนี้ไปแล้ว


เคยเห็นขนมที่คล้ายๆกระยาสารทไทยที่อินเดีย เขาเรียกว่า "ชิกกี้" ตอนแรกผมก็นึกว่าไก่ แต่ปรากฏว่าเป็นคล้ายๆถั่ว ธัญพืช อัดแท่งเหมือนของไทยเด๊ะ เพียงแต่มีรูปแบบหลากหลายกว่ามาก เป็นสิบๆชนิดทีเดียว
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 07:45

 ขอบคุณครับคุณนิลกังขา

ถ้าทางฝั่งอเมริกา วันที่ลูกหลานจะไปเยี่ยมหลุมศพอย่างวันเชงเม้งอย่างจีนในเดือนเมษายนนั้นคือ Memorial Day ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นวันอนุสรณ์ถึงผู้สละชีพเพื่อปกป้องประเทศ

ส่วน Ash day ที่คุณกุรุกุลากล่าวถึงนั้น ผมยังไม่เคยทราบมาก่อน ไว้จะไปหาดู ที่รู้จักก็มีแต่ Ash Wednesday หรือวันพุธรับเถ้าในฤดูใบไม้ผลิ ก่อนวันอีสเตอร์ ๔๖ วัน ซึ่งเป็นวันแรกของการ Lent อย่างคริสต์
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 08:56

 กำลังจะลงไปกินกระยาสารทกับกล้วยไข่ค่ะ
แถวบ้านมีเจ้าประจำทำอร่อยมาก..
เดี๋ยวนี้เพื่อนบ้านรุ่นคุณป้าคุณยายเสียชีวิตไปหมด ไม่ได้ฝากฝังกันให้สืบประเพณีส่งขนมเพื่อนบ้านกันทุกวันตรุษสารท เลยอดทั้งกระยาสารท ขนมจีน มะพร้าวแก้ว
ต้องซื้อเองค่ะ (ฮือฮือ..).
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 09:57

 ใช่ครับคุณ Up ก็คือวันพุธรับเถ้าครับ ผมพลาดเอง เป็นวันที่เริ่มต้นเข้าสู่การLent คล้ายๆกับวันเข้าพรรษาของไทย ระลึกถึงการที่พระเยซูคริสต์ ทรงจำศีลภาวนาในทะเลทรายเป็นเวลาสี่สิบวันครับ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 12:07

 เรื่องกระยาสารท ผมมีไม่ขาดอยู่แล้ว เวลาทำบุญวันสารทที ตระกูลผมก็ต้องกลับไปที่บ้านใหญ่ ไปช่วยกวนกระยาสารททั้งวัน เพื่อเอาไว้ทำบุญและแจกจ่ายกับญาติที่จะต้องมาเจอที่วัด และแต่ละตระกูลก็จะทำแบบนี้เหมือนๆกัน จนเหมือนกับเป็นการประกวดประขันกันว่า กระยาสาทบ้านไหนรสดีกว่ากัน เรียกว่า บางทีกระยาสารทที่รับแจกมา กินกันถึงช่วงออกพรรษาบางทียังไม่หมดเลย ต้องไปแจกคนแถวบ้านต่อ ไม่งั้น กินไม่ไหว    
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 ก.ย. 06, 14:31

 หูยยยย...อ่านแล้วอยากกินจัง
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 ก.ย. 06, 14:07

 ขออนุญาต เสนอบทความที่ลอกมาจาก เวปของกระทรวงวัฒนธรรม
 http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2549&MM=9&DD=1
....................................

๒๒ กันยายน วันสารทไทย : วันทำบุญกลางปี
เพื่อสิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษ


เมื่อเอ่ยถึง “ สารทไทย ” คนปัจจุบันอาจจะรู้สึกห่างเหิน ด้วยว่าคนสมัยนี้จะเคยชินกับเทศกาลของต่างประเทศอย่าง วันวาเลนไทน์ วันฮาโลวีน หรือวันสารทจีนมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้รู้จักวันสำคัญของไทยอีกวันหนึ่ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันนี้มาบอกต่อเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้

                   คำว่า “ สารทไทย ” หมายถึง เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบของไทย จะตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม โดยปีนี้ตรงกับ วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙

                   หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี ” พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย

                   พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น

                   ส่วน สารทเดือนสิบ อันหมายถึงการทำบุญเดือนสิบ หรือวันสารทไทยของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน ๙

                   ส่วนประเพณีสารทเดือนสิบ ที่รู้จักกันดี ก็คือที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีผู้มีบาปกรรมต้องได้รับโทษเป็นเปรตอยู่อบายภูมิ ปีหนึ่งๆยมบาลก็จะปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง ในวันบุญสารท คือแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ และเมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ต้องกลับไปรับโทษตามเดิม บรรดาผีเปรตเหล่านี้ หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้ ดังนั้น จึงเกิดมีการทำบุญสารทดังกล่าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในวันแรม ๑๔ ค่ำ จะมีการจัดหมฺรับ ( อ่านว่า หมับ หมายถึงสำรับ ) ในหมฺรับจะมีอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง พร้อมขนม ๕ อย่างที่ถือว่าจะขาดไม่ได้คือ ขนมพอง คือหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์ และ ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย สำรับดังกล่าวนี้ คนนครฯ มักตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆตามที่เห็นว่าสวยงาม แต่ต้องมียอดสูงแหลมไว้เสมอ การถวายหมฺรับหรือสำรับแด่พระสงฆ์ มักใช้วิธีจับสลากที่เรียกว่า “ สลากภัต ” นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีพิธียกหมฺรับตายาย คือ การนำอาหารไปไว้ตามใต้ต้นไม้หรือกำแพงวัดสำหรับผีไม่มีญาติ เมื่อพระสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จ เด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็จะวิ่งกรูไปแย่งชิงอาหารในหมฺรับที่วางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า “ ชิงเปรต ” ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน

                   อนึ่ง ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวมๆกันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ

                   ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด

                   ส่วน ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไป แก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

                   สำหรับ ข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆก็มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “ สุริยกานต์ ” เป็นต้น

                   จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่นๆเรียกอีกว่า เข้า ( ข้าว ) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า ( ข้าว ) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น ๑๓ - ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส

                   กล่าวโดยสรุป วันสารทไทย ก็คือ ประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือ กระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส นั่นเอง

.........................................................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

..........................................................................
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 ต.ค. 18, 10:37

สุขสันต์วันสารทไทย ๒๕๖๑


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 20 คำสั่ง