เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 39272 เครื่องสักการะที่ถูกลืม...
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 02:21


รูปนี้คือพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๔ ครับ

ผมหาภาพพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๔ มาดูเทียบกับความเห็นที่ ๑๓ แล้วเป็นอันว่าไม่เหมือนกันครับคุณพิพัฒน์ ยังงงๆ ต่อไป แต่จากสายตาวิเศษมัวซัวของผมแล้ว เกิดปิ๊งขึ้นมาในสมองว่า พระองค์นี้คล้ายๆ พระพุทธรูปเล็กๆ สามองค์ องค์หนึ่งองค์ใดในซุ้มบุษบกพระพุทธสิงหังปฏิมากร ในพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แต่ก็ยังไม่ปักใจ ต้องสืบค้นต่อไปครับ แต่ชักจะสนใจขึ้นมาครามครันครับ

ส่วนยอดแหลมในความเห็นที่ ๑๔ ผมว่าไม่น่าจะใช่พุ่มเทียนครับ อาจจะเป็นยอดของฉัตรปรุ หรือเทียนสลัก อะไรทำนองนั้นมากกว่า ปกติพุ่มเทียนที่ถวายพระพุทธรูปจะเป็นคู่เสมอ และไม่วางในที่สูงขนาดนั้น เป็นอันว่ายังไม่แน่ใจอยู่ดีครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 03:53

 ยังไม่ออกจากพระอุโบสถวัดพระแก้วครับ ขอเล่าเรื่องการถวายพุ่มเทียนของหลวงต่อครับ

การถวายพุ่มเทียนนั้น จัดเป็นพระราชพิธีสำคัญประจำปีพระราชพิธีหนึ่งซึ่งแต่เดิมการพระราชกุศลจะเริ่มด้วยการจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มในหอพระในพระมหามณเฑียรแล้วค่อยเสด็จออก ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงจุดเทียนพรรษาแล้ว ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแด่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรคู่หนึ่ง

และเครื่องสักการะมีพุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ เทียนแพ ธูปแพ และดอกไม้พานรองทองสองชั้นสองสำรับ สำหรับพระสัมพุทธพรรณี (ดูภาพในความเห็นที่ ๘ ของคุณพิพัฒน์ครับ พระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ที่มีฉัตรกั้น นั่นแหละครับพระสัมพุทธพรรณี) ย่อมลงมาสำรับหนึ่ง

แล้วถวายต้นไม้เงินทองและพุ่มต้นไม้ขนาดกลาง พานทองสองชั้นรองธูปเทียนดอกไม้ที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกสองแห่ง

แล้วจึงได้ถวายพุ่มพระราชาคณะต่อไป พุ่มนั้นจัดลงในตะแกรงเรียกว่าตะแกรงตากรวยซึ่งในรัชกาลปัจจุบันได้ใช้ถาดไม้หรือถาดโลหะขนาดย่อมแทน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงตะแกรงตากรวยและสิ่งของที่บรรจุลงไว้ความว่า

“...ตะแกรงตากรวย กำหนดให้กว้างศอกหนึ่ง สูงสี่นิ้ว เกณฑ์กรมต่างๆ ให้สาน กำหนด ๙๐๐ ใบ ในหมายบังคับว่าให้ตรวจตราอย่าให้เม็ดพริกไทยลอดได้  แต่ที่แลเห็นอยู่นั้นบางใบเม็ดกันภัยลอดได้ บางใบลูกพุทราทั้งลูกเห็นจะลอดได้ หมายขึงกันไปตามบุญตามกรรมเช่นนั้น แล้วส่งให้ทหารปิดกระดาษเขียนลายป้ายๆ ตามบุญตามกรรม เป็นเครื่องสำหรับบรรจุของถวายพระ คือพุ่มสีผึ้งพุ่มหนึ่ง”

ในเรื่องจำนวนพุ่มที่ถวายนั้น เท่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา หากเป็นการถวายแด่พระพุทธปฏิมาและเจดียสถานก็จะใช้พุ่มหนึ่งคู่ หากถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ก็นิยมจัดถวายพุ่มเดี่ยวเพียงพุ่มเดียว ส่วนขนาดนั้นก็สุดแต่อัธยาศัยของผู้ถวาย

หากเป็นกรณีอย่างของหลวงในปัจจุบันนี้ พุ่มใหญ่มักจัดถวายแด่พระพุทธรูปสำคัญยิ่ง เช่น พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธสิหิงค์ และพระประธานในพระอุโบสถพระอารามสำคัญ เช่น พระพุทธเทวปฎิมากรในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น

สำหรับพุ่มขนาดย่อมมักจัดให้ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระพุทธรูปในหอพระต่างๆ เช่น ในหอพระคันธารราษฎร์ หอราชพงศานุสร หอราชกรมานุสร วิหารยอด และปูชนียวัตถุในพระวิหารหรือพระเจดีย์ต่างๆ เช่น พระไสยา พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ พระพุทธมนุษยนาค ฯลฯ ในวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอาทิ ส่วนพุ่มขนาดเล็ก จัดไว้สำหรับทรงประเคนแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ในงานพระราชกุศลเข้าพรรษา
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 03:56

 นอกจากการถวายพุ่มเป็นพุทธบูชาแล้ว โบราณท่านยังนับการถวายพุ่มเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่ศิษย์ผู้ได้บวชเรียนแล้วพึงปฏิบัติต่ออาจารย์อันได้แก่ อุปัชฌาย์ กรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์  ตลอดจนพระภิกษุที่ตนรู้จัก เคารพนับถือ  

ในเรื่องนี้ พระมหากษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์ทรงถือเป็นราชประเพณีเคร่งครัด ดังจะค้นคว้าได้จากเรื่อง “การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม” ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

บางทีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปถวายพุ่มแทนพระองค์ ดังตัวอย่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเอ่ยถึงไว้ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันของวันจันทร์ที่ ๑๖ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๒๖ ความว่า

“ตอนเย็นลุงจักษ์ให้มาตามเราไปวัดบวรนิเวศ ถวายพุ่มแทนทูลหม่อม เราขึ้นรถไปกับลุงจักษ์ ถึงวัดไปในโบสถ์บูชาพระพุทธชินศรีแล้วไปที่พระเจดีย์ไปวิหารพระศาสดา แล้วไปถวายพุ่มที่กุฏิเสด็จอาวรวรรณ...”
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 04:46


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนพุ่มเทียน แด่สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร)
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 10:49

 ในรัชกาลปัจจุบัน การถวายพุ่มนั้นจัดขึ้นในพระราชกุศลอาสาฬหบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยหลังจากที่ทรงจุดเทียนพรรษาแล้ว ถวายพุ่มบูชาพระพุทธปฏิมากรในพระอุโบสถ

จากนั้น ทรงประเคนถาดเครื่องสักการะซึ่งประกอบด้วย พุ่มเทียน ถ้วยใส่ดอกไม้ ธูป ๑ กล่อง เทียน ๕๐ เล่มแด่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระฐานานุกรมเปรียญ พระภิกษุนาคหลวง จำนวน ๓๐ รูป

แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงประเคนพุ่มเทียนอีก ๓๐ สำรับ ส่วนพุ่มเทียนที่เหลือก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี รัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ ประเคนถวายจนหมดจำนวนพระสงฆ์ประมาณ ๓๐๐ รูป

จากนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ เสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มสำหรับปูชนียวัตถุอื่นๆ ในพระบรมมหาราชวัง และสำหรับพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ แทนพระองค์

วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงถวายพุ่มเทียนบูชาปูชนียวัตถุสถานในวัดรวมทั้งบูชาพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์

ส่วนพระพุทธนรสีห์และพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยในพระที่นั่งอัมพรสถาน และปูชนียวัตถุในวัดเบญจมบพิตรฯ และวัดพระเชตุพนฯ จักทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์

อนึ่ง มีธรรมเนียมนิยมว่าพุ่มเทียนนั้นจะตั้งอยู่หน้าที่บูชาจนตลอดถ้วนสามเดือนแห่งเข้าปุริมพรรษา และจะถูกนำออกไปเมื่อถึงเวลาออกพรรษาในราวเดือนตุลาคม
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 ส.ค. 06, 07:56


ทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึงพุ่มเทียน หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคือพนมธูปเทียนอย่างที่ใช้จัดพานไหว้ครูหรือที่ใช้เป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์

บ้างก็เรียกเพี้ยนโดยแถมธูปเข้าไปเป็นพุ่มธูปเทียน จริงๆ แล้วต้องอ่านโดยเว้นวรรค คือ พุ่ม...ธูปเทียน.. เพราะในพระราชกุศลเข้าพรรษานั้น มีการถวายทั้ง "พุ่มเทียน (เรียกย่อๆ ว่า พุ่ม) ๑ คู่" และ "ธูปเทียนแพ ๑ สำรับ" แด่พระพุทธรูปสำคัญ พออ่านว่า พุ่มธูปเทียน คนก็พลอยนึกว่าเป็นของชิ้นเดียวกัน

นับเป็นคำผิดยอดนิยมของสถานีโทรทัศน์หลายช่องเวลาอ่านข่าวในพระราชสำนักเกี่ยวกับพระราชกุศลเข้าพรรษา

ในภาพนี้คือ "พนมธูปเทียน" ซึ่งหลายท่านเข้าใจผิดเรียกเป็นพุ่มธูปเทียนหรือพุ่มเทียนก็มี
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 20 ส.ค. 06, 07:57

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชปรารภเชิง “บ่น” เรื่องเครื่องสักการะเข้าพรรษาไว้ว่า

“...การถวายเครื่องสักการะเข้าพรรษานั้นก็ยิ่งเป็นการเล่นมากขึ้น พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับต้องการแต่เทียนร้อยมัดเดียว พุ่มและต้นไม้กระถางกระนั้นแล

แต่กระจาดกับกระทงเมี่ยงแล้วกลับเป็นอาการอันหนัก เมื่อจะสังเกตดูก็ได้ วันถวายพุ่มที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะแลเห็นกระทงเมี่ยงทิ้งเกลื่อนไปตามพระระเบียงมากกว่าอย่างอื่น รองลงไปก็กระจาดมีทิ้งอยู่บ้าง

พุ่มกับต้นไม้หักๆ โค่นๆ เกลื่อนกลาดอยู่ก็มี”
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 ส.ค. 06, 08:06


ยิ่งนานวันเข้า พุ่มเทียนก็กลับกลายเป็นของถูกลืมไปเสียเกือบสิ้น หากไม่มีของหลวงให้เห็น ก็แทบจะกล่าวได้ว่าใกล้ถึงกาลอวสานของเครื่องสักการะชนิดนี้เข้าไปทุกที  

...แล้วเข้าพรรษาปีนี้ มีท่านใดที่ได้ถวายพุ่มเทียนบ้างแล้วครับ

ปีต่อๆ ไป ถ้ามีโอกาสไปทำบุญเข้าพรรษา อย่าลืมหาพุ่มเทียนไปถวายพระด้วยนะครับ ผมจะอนุโมทนาด้วยเป็นอันมาก

ถือว่าช่วยกันสืบอายุเครื่องบูชาที่มีมาแต่โบร่ำโบราณชนิดนี้ไม่ให้เสื่อมสูญไปในชั่วอายุของพวกเราเถิดนะครับ
บันทึกการเข้า
ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว
ชมพูพาน
***
ตอบ: 175

ความสุขที่แท้อยู่ที่ใจ


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 20 ส.ค. 06, 21:04

 ที่วัดอุทัยธาราม (ตรงข้าม รร.อมารี เอเทรียม) ผมเห็นก็ยังมีพุ่มเทียนขายกันเอิกเริก ชาวบ้านแถวนั้นเข้ามีธรรมเนียมต้องหาพุ่มเทียนกับเครื่องไทยธรรมไปถวายพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ที่เคารพเป็นเฉพาะ และก็ต้องซื้อมา ถวายพระพุทธที่บ้าน และก็เปลี่ยนทุกปี แต่ว่า พุ่มเทียน เนี่ยโครงทำจากกระดาษ ต้องดูแลดีๆ ไม่งั้นบุบบี้ไม่มีดีเลย
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ส.ค. 06, 02:35

 ขอบคุณคุณลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่กรุณาเล่าเรื่องประเพณีแถววัดอุทัยธารามให้ผมใจชื้นขึ้นมาสักหน่อยนะครับ ปีหน้าผมจะลองไปสำรวจดูแถวนั้น

ขอเรียนถามเพิ่มเติมสักหน่อยว่ารูปแบบของพุ่มเทียนที่ขายแถววัดอุทัยฯ นั้น หลากหลายมากน้อยแค่ไหนครับ อยากทราบว่านอกจากร้านเพกา ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ที่ทำส่งทั่วไปเป็นพุ่มเหลืองล้วน ขาวล้วน หรือสลับสี (ชมพู เขียว ขาว) แล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ขายเจ้าอื่นประดิษฐ์พุ่มเทียนที่มีสีสันหรือลวดลายอื่นๆ อีกหรือไม่

ผมเคยเห็นรูปเก่า สักประมาณ ๒๕๒๐ กว่าๆ มานี้เอง แทบทุกพระอุโบสถของพระอารามในกรุงเทพฯ มีพุ่มเทียนหลากหลายแบบตั้งบูชาอยู่หน้าพระประธาน เคยเห็นเป็นสีฟ้าบ้าง น้ำเงินบ้าง ที่แปลกกว่านั้น บางพุ่มใช้ขี้ผึ้งสีติดเป็นชื่อหน่วยงาน หรือบุคคลผู้ถวาย แทรกลงไปบนตัวพุ่มบ้างก็มี บางแห่ง ที่พานดินรองพุ่มก็เขียนลวดลวยบัวคว่ำบัวหงายลงไปด้วย

ยังมีร้านไหนทำพุ่มรูปแบบต่างๆ ไปจากพุ่มในภาพที่ผมนำมาให้ชมกันบ้างหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
โพธิ์ประทับช้าง
องคต
*****
ตอบ: 399


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 29 ส.ค. 06, 14:10

 ขอบคุณ คุณ Up และทุกท่านมากครับที่นำเรื่องที่ดี
มีประโยชน์มาเล่าสู่กันฟัง จะตามมาอ่านบ่อยๆ ครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 03 ก.ย. 06, 23:09


.
ขอเพิ่มข้อมูลนิดหน่อยครับ
วันก่อนมีโอกาสเข้าชมพระตำหนักวาสุกรี ที่วัดพระเชตุพน
เบญจาประดิษฐานพระบรมอัฐิกรมสมเด็จพระปรมาฯ
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าสร้างถวาย
เป็นงานจำหลักไม้ลักษณะเดียวกัน

จึงขอแก้ไขว่า ซุ้มพระไชยฯองค์นี้
เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4
และน่าจะเป็นงานไม้ครับ  
บันทึกการเข้า
nanthesingle
อสุรผัด
*
ตอบ: 1



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 07 พ.ค. 12, 14:52

สุดยอดมากคะ
บันทึกการเข้า

bkkk
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 07 พ.ค. 12, 19:40

บันทึกการเข้า
ละอองทอง
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 19:38

ต้องขอบคุณ คุณUP มากเลยนะคะดิฉันได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง