เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 39304 เครื่องสักการะที่ถูกลืม...
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


 เมื่อ 16 ส.ค. 06, 02:01

ขอประทานโทษบรรดาปิยมิตรทั้งหลายในเรือนไทยนะครับที่ผมหายหน้าหายตาไปนาน ด้วยเหตุยุ่งเหยิงในกิจธุระหลายประการครับ ตอนนี้ผมกลับคืนสู่ภาวะที่จะสามารถสนทนาวิสาสะกับทุกท่านได้ทางอินเทอร์เนตเหมือนเคยแล้วครับ

ระหว่างนี้ยังอยู่ในระยะเข้าพรรษา ขออนุญาตเปิดกระทู้คุยกันเรื่องเครื่องสักการะชนิดหนึ่งในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งไม่ค่อยจะมีคนรู้จักกันแล้วดีกว่า

เครื่องสักการะที่ถูกลืมนั้นคืออะไร...

เฉลย..

"พุ่มเทียน" ครับ

ท่านผู้เจริญด้วยวัยวุฒิในที่นี้หลายท่านอาจคุ้นเคยกับการถวายพุ่มเทียนอยู่บ้างในสมัยก่อน แต่ลองถามเด็กๆ สมัยนี้สิครับว่าพุ่มเทียนคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ผมว่าไม่มีใครตอบได้ เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่ด้วยกันเองยังไม่รู้จักกันเลย

เกริ่นมานาน เข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ

คนช่างสังเกตทั้งหลายที่มีโอกาสเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปสำคัญในพระบรมมหาราชวัง เช่น ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมไปถึงในพระอารามหลวงหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและนอกพระมหานครอาจเกิดข้อกังขาขึ้นในใจเมื่อแลเห็นพุ่มยอดสีเหลืองๆ ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทอดถวายเป็นพุทธบูชาอยู่หน้าปูชนียวัตถุสถานสำคัญในพระอารามนั้นๆ  คำถามที่เกิดขึ้นคงเป็นว่าพุ่มที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุแปลกตานั้น เรียกว่าอะไร คืออะไร และมีไว้เพื่ออะไร

นั่นแหละครับคือ “พุ่มเทียน”  เป็นเครื่องสักการะสำหรับเทศกาลเข้าพรรษาที่หาผู้รู้จักได้น้อยคนนักในปัจจุบัน แต่หากว่าท่านได้อ่านจดหมายเหตุหรือหมายรับสั่งของหลวง นับตั้งแต่อดีตสมัยกระทั่งปัจจุบัน จะพบว่า “พุ่มเทียน” หรือที่มักเรียกโดยย่อว่า “พุ่ม” นั้น เป็นเครื่องสักการะสำคัญที่ถูกเอ่ยถึงอยู่เสมอๆ

พุ่มเทียนมีลักษณะเป็นอย่างไร ดูตามภาพไปพลางนะครับ เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังต่อ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 02:27

 เรื่องการถวายเครื่องสักการะในเทศกาลเข้าพรรษานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

“...ต่อนี้ไปแสดงต้นเหตุซึ่งเกิดเครื่องบูชาของแห้งในการเข้าพรรษามีพุ่มเป็นต้น ซึ่งนางนพมาศเคลมว่าตัวเป็นต้นคิด เหมือนอย่างพานพระขันหมาก ดอกบัวลอยพระประทีปว่า

‘อันว่าพิธีอาษาฒมาสบูชาใหญ่ ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมปทุมทองอันวิจิตรด้วยวาดเขียนนำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงบูชาพระรัตนตรัยบ้าง พระเทวรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงพอพระอัชฌาสัย จึงดำรัสชมว่าข้าน้อยเป็นคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการะรางวัลเป็นอันมาก แต่ชั้นมามหาชนหญิงชายทั่วทั้งพระนครก็ถือเอาเป็นอย่าง แต่ทำพนมดอกไม้และกอปทุมชาติ มีพรรณต่างๆ บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาสมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานรางวัลตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเป็นอันมาก

จึงพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดิน มีพระราชบริหารสาปสรรว่าเบื้องหน้าแต่นี้ไป ชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตประเทศสยามภาษา บรรดาเป็นสัมมาทิฐิ ให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาส ให้เรียกนามพนมดอกไม้ พนมพรรษา จงอย่ารู้สาบสูญตราบเท่ากัลปาวสาน...’

เรื่องกอบัวเข้าพรรษานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก รับสั่งว่าต้องตำราของเก่า ถ้าปีใดไม่มีผู้ถวายกอบัวก็รับสั่งบ่นไปจนผู้ที่เคยถวายต้องทำมาถวาย จะเป็นพวกเจ้านายในพระราชวังหลัง หรือกรมขุนอิศรานุรักษ์พวกใดพวกหนึ่งเคยถวายอยู่ แต่เดี๋ยวนี้หายไปไม่เห็นมี”
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 03:10

 คิดถึงคุณพิพัฒน์ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านรูปที่ถ่ายในแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ ไม่ทราบว่าท่านจะมีภาพ "กอบัวเข้าพรรษา" ของโปรดของพระจอมเกล้าฯ บ้างหรือไม่
บันทึกการเข้า
AllSTORY
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 12:37

 คุณ UP เอาเรื่องดีๆมาเล่าให้ฟังอีกแล้ว
ขออนุญาตมารอฟังต่อนะครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 12:51

 ต่อครับ

ยังมี “เครื่องบูชาของแห้ง” อีกอย่างหนึ่งคือ “กระถางบัว” ดังพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ที่ว่า

“...กระถางบัวหมากพนมซึ่งเป็นของโปรดในรัชกาลที่ ๔ นั้น เห็นเป็นอันยูสิเบอล (unusable) กันเสียไม่มีใครทำ รูปร่างกระถางบัวนั้นๆ ก็คงเคยเห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก แต่บางทีจะนึกไม่ออก ถือมีกระถางดินปิดกระดาษทอง มีลายดอกไม้เขียนด้วยน้ำยาในกระถาง มีไม้ดูกอันหนึ่งเสียบดอกบัวกระดาษแดงซ้อนกันสามชั้นยอดและเกสรเป็นทองอังกฤษ ขอบปากกระถางมีดอกและใบเล็กๆ รายรอบ กระถางบัวอย่างนี้รับสั่งว่า เป็นอย่างโบราณแท้”

ผมไม่แน่ใจว่า พุ่มดอกบัวปูนปั้น ที่อยู่รอบๆ พระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้นั้น จะมีลักษณะเหมือนอย่างกระถางบัวในพระราชนิพนธ์นี้หรือไม่

ใครทราบก็กรุณาเสริมเป็นวิทยาทานด้วยเถิดครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 12:57

 พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงถือว่าการถวายเครื่องสักการะและพุ่มในเทศกาลเข้าพรรษานั้นเป็นธรรมเนียมสำคัญที่มีพระราชปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกเหนือจากพุ่มเทียนแล้ว ยังมีพระราชนิยมในเครื่องสักการะอย่างหนึ่งซึ่งทำด้วยขี้ผึ้งเป็นของคล้ายพุ่มเทียนแต่ตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพรรณนาไว้  ว่า

“...ที่เป็นของเก่ารองลงมาอีกนั้นหมากพนม คือเป็นพานแว่นฟ้าปั้นด้วยดินสองชั้น ทาสีเขียนน้ำกาว ที่ปากพานมีกระดาษเจิมเหมือนใบตอง แล้วมีกรวยกระดาษทาสีขาวๆ ตั้งที่ตรงกลาง รองล่างมีดินปั้นก้อนกลมๆ รูปร่างเหมือนประทัดลมต่างว่าหมาก ทาสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ แล้วมีน้ำยาสีอื่นขีดเป็นสาแหรกห้าสาแหรก เห็นจะต่างว่ารอยผ่าเป็นคำคำ มีทองอังกฤษติดที่สาแหรก

ต่อนั้นขึ้นไปมีรูปภาพสีผึ้ง เป็นหงส์ เป็นเทพนม หรือเป็นใบไม้ติดไม้เสียบกับกรวยเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มเป็นทองอังกฤษ ตัวสีผึ้งนั้นติดห่างๆ โปร่งแลเห็นกรวยที่เป็นแกนข้างใน ถ้ายก ขี้หกล้มอย่างเอก เพราะเชิงพานชั้นบนเล็ก นี่เป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกันเพราะเป็นของมีมาช้านาน”

พนมหมากนี้ไม่ต้องสืบหาดูที่ไหนไกลครับ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ทำเป็นพนมหมากปูนปั้น ประดับอยู่บนฐานไพที หน้าปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครับ

เรื่องพนมหมากนี้ผมไปโม้ไว้แล้วในกระทู้ "วัฒนธรรมหมาก" ของคุณเทาชมพูครับ แต่จะต่างกันสักหน่อย เพราะพนมหมากที่ผมพูดไว้ในกระทู้นั้นเป็นของสด แต่ในพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๕ ที่ผมเชิญมาเป็นเครื่องบูชาของแห้งครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 13:13

 ขอบพระคุณสำหรับเรื่องดีๆ มีสาระ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 15:01

 การประดิษฐ์พุ่มเทียนนั้นนับเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่ข้าราชสำนักฝ่ายในมักประดิษฐ์มาประกวดประขันกันด้วยฝีมือประณีต มีลวดลายหลายหลากตามแต่จะคิดออกแบบ

แม้ในวังเจ้านายหลายวังก็มีการทำพุ่มเทียน เพราะเจ้านายเจ้าของวังแต่ละวังย่อมต้องทรงใช้ในการทรงบำเพ็ญพระกุศลเข้าพรรษาของส่วนพระองค์ตามกาลนิยม

สำหรับราษฎรนั้น ในเทศกาลเข้าพรรษาแต่ไหนแต่ไรมา การถวายพุ่มเทียนก็เป็นที่นิยมอยู่มิใช่น้อย ถึงเวลาใกล้เข้าพรรษาในสมัยก่อน ร้านค้าในพระนครก็เอาพุ่มเทียนออกวางขายกันดาษดื่น  นอกจากนี้ ตามหัวเมืองบางเมืองก็มีการประดิษฐ์ทำขายกันอย่างประณีต มีเมืองเพชรบุรีและเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอาทิ

พุ่มเทียนของราษฎร์ที่เรายังพอจะได้เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น มีขนาดต่างๆ กันไป ตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งฟุตครึ่งจนถึงขนาดเล็กจิ๋วที่สุดคือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง ผมเคยซื้อมาจากร้านสังฆภัณฑ์แห่งหนึ่งย่านปากคลองตลาด น่ารักมาก นำมาตั้งบูชาหน้าพระพุทธรูปเฉพาะองค์ได้เลยครับ

พุ่มเทียนนั้นทำจากขี้ผึ้งกดพิมพ์ เป็นรูปกลีบบัวเล็กๆ บ้าง เป็นรูปกลมๆ เรียงแถวกันคล้ายเมล็ดข้าวโพดบ้าง ติดบนแกนกระดาษปั้นเป็นทรงพุ่ม มีน้ำหนักเบาเพราะข้างในกลวง ยอดพุ่มทำจากขี้ผึ้งกดพิมพ์เป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ต่อยอดสูงประกับไว้บนไม้รวกเหลายาวๆ ประดับประดาด้วยขี้ผึ้งกดเป็นรูปดอกไม้ประดับโดยรอบ แทรกด้วยกระดาษอังกฤษสีทองจักฝอยให้ดูระยิบระยับอยู่บนยอด ส่วนฐานพุ่มเป็นดินปั้นรูปพาน แต่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนครกดินเสียมากกว่า โดยทำจากดินเหนียวปั้นทาสีเหมือนอย่างในพระบรมราชาธิบายเรื่องพานหมากพนมข้างต้นและออกจะเปราะบางแตกหักง่ายเพราะวัสดุก็เป็นเพียงดินเหนียวที่ยังไม่ได้เผา
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 16:17


.
เครื่องบูชาพระแก้วมรกต เมื่อสัก 2410
เชิญคุณอั๊บตาวิเศษเมียงมองดูว่าจะได้สิ่งของต้องประสงค์หรือไม่
ขุดกรุมาได้แค่นี้ละครับ  
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 16:33


.
รูปนี้ที่วัดบวร ระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ดูเหมือนจะไม่มีนะครับ  
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 04:16

 ขอบพระคุณมากครับคุณพิพัฒน์

ว้า..ไม่พบพุ่มเทียน กระถางบัว หรือพนมหมากเลยครับ แต่ผมกลับเห็นว่าภาพเหล่านี้น่าสนใจเหลือเกิน เป็นภาพในช่วงสมัยไหนครับคุณพิพัฒน์

..ทำให้เห็นว่าหน้าพระพุทธชินสีห์แต่เดิมนั้นตั้งเครื่องบูชาอย่างจีนแท้ๆ เทียว แล้วหน้าชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ก็เคยมีบุษบกทรงแปลกๆ จะแขกก็ไม่ใช่ ฝรั่งก็ไม่เชิงประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ ดูแล้วสงสัยเหลือเกินว่าพระอะไร คงจะสำคัญ ถึงประดิษฐานอยู่ตรงนั้น ..อาจจะเป็นพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ (หากมีตาลิปัตร) หรือพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ ๔ (หากว่ามีลักษณะอย่างพระพุทธสิหิงค์) ก็เป็นได้ เพราะว่าขนาดกำลังเหมาะ แถมมีฉัตรกั้นอยู่เหนือพระเศียรด้วย หรือจะเป็นพระอะไรกันหนอ...รัชกาลที่ ๔ ท่านก็ทรงสร้างพระเอาไว้มากมายเสียด้วย

ขอเรียนถาม ว่าภาพจริงชัดกว่านี้มั้ยครับคุณพิพัฒน์ เผื่อจะได้ขออนุญาตไปเพ่งพินิจภาพต้นฉบับด้วยตาตนเอง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 04:22

 เมื่อกล่าวถึงสีสันของพุ่มเทียน

จะเห็นได้ว่าพุ่มเทียนของราษฎร์ออกจะดูมีสีสันมากกว่าของหลวง เพราะของหลวงนิยมใช้แต่เพียงขี้ผึ้งสีเหลืองล้วนเท่านั้น ต่างจากของราษฎร์ที่เล่นลวดลายและสีสันสดใส เช่น ขาว ชมพู เขียว น้ำเงิน ฯลฯ จนบางทีอาจจะแลดูออกไปในแนว “ลูกทุ่ง” เสียก็มีอยู่ไม่น้อยครับ

มาบัดนี้ พุ่มเทียนกลายเป็นของหาซื้อยากยิ่ง แต่ยังจะพอหาได้ก็ตามร้านสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้าและจักรวรรดิ หากลองเข้าไปถามหาซื้อพุ่มเทียนในร้านสังฆภัณฑ์บางร้าน ท่านอาจจะต้องอธิบายกันยืดยาว และในที่สุดก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ไม่มี...ไม่รู้จัก” เป็นอย่างนี้เสียส่วนมาก

หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้รับคำตอบว่า “หมดแล้ว คนทำเหลืออยู่คนเดียว แก่มากแล้วด้วย แกทำส่งเข้าถวายในวังตามที่สำนักพระราชวังสั่งซื้อก็แทบจะทำไม่ทันอยู่แล้ว”  

ผมยังสืบหาไม่ได้ว่าคุณยายแก่ๆ ที่ทำพุ่มเทียนท่านนั้นคือใครและอยู่ที่ไหน เพราะร้านสังฆภัณฑ์ทั้งหลายทำท่าอิดเอื้อนไม่ยอมบอก คงกลัวเราจะไปซื้อจากคุณยายโดยตรงกระมัง

ใครทราบ วานบอกทีครับ

มีพ่อค้าแม่ค้าร้านสังฆภัณฑ์เก่าแก่บางร้านเล่าให้ฟังว่าเมื่อสักยี่สิบปีก่อนแถวเสาชิงช้ายังมีพุ่มเทียนขายนับพันๆ พุ่มให้เลือกหลายลายหลายแบบ และคนทำก็มีหลายเจ้า แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่เหลือ

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตที่ยังทำส่งตามร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆ ก็เหลือเพียงร้านเดียวคือร้านเพกา ย่านพรานนก พ่อค้าแม่ค้าย่านเสาชิงช้าบ่นว่าพุ่มเทียนเป็นของที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันแล้ว ทำให้บางปีสั่งมาก็ขายไม่ออก เก็บค้างปีไว้ก็ไม่ได้เพราะเป็นของบอบบาง พอร้อนหน่อยขี้ผึ้งก็อ่อนตัว ละลายผิดรูปไปหมด
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 04:25


ร้านเพกาที่ว่านี้อยู่ตรงไหนก็ไม่ทราบ ท่านใดอยู่ย่านพรานนก พอจะมีข้อมูลมั้ยครับ

ส่วนภาพนี้เป็นพุ่มเทียนชนิดที่ย้อมสีขี้ผึ้งเป็นสีสันต่างๆ ครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 07:10

 ถ่ายประมาณ 2409-2410 ปีท้ายๆของรัชกาลครับ
รูปในเน็ตจะเห็นชัดกว่ามาก รูปจริงออกดำคล้ำ
เพราะต้องรักษาน้ำหนักทั้งรูปให้พอเหมาะ
เอาลงเน็ตสามารถเจาะมุมที่ต้องการ
แล้วแต่งให้เหมาะสมเฉพาะจุด

ซุ้มแบบนี้เป็นพระราชนิยมรัชกาลที่ 4
น่าจะสั่งทำเข้ามาจากแถวอินเดียกระมัง
คิดว่าจะเป็นโลหะหล่อ
พระในซุ้มคงเป็นพระชัยวัฒน์ที่เชิญตาละปัตรออก
มีฉัตรกั้นเบื้องบน
ตาดีๆ รบกวนเพ่งหน่อย
ผมตาถั่ว ใช้เดาลูกเดียวครับ  
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 07:16

 .




รูปนี้
ปลายยอดคล้ายกับพุ่มเทียนมาก
เสียดายถูกบังหมด  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง