เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5409 มรดกโลก (The World Heritage)
กระต่ายปังตอ
อสุรผัด
*
ตอบ: 9

เรียนอยู่ที่ อาชีวะศึกษาลำปาง


 เมื่อ 15 ส.ค. 06, 17:53

 อะไร สิ่งใด จะเป็นมรดกโลกได้นั้น ประเทศเจ้าของมรดกจะต้องเสนอเรื่องไปที่องค์การยูเนสโก(Unesco = United Nations Educational Scientific and Cultural Organization = องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม สหประชาชาติ) เพื่อพิจารณา  
            องค์การยูเนสโกจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวนี้องค์การยูเนสโกจะแต่งตั้งขึ้นมาจำนวน 21 คน โดยคัดจากตัวแทนของประเทศต่างๆที่เข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งขณะนี้ประเทศภาคีสมาชิกมีมากกว่า 100 ประเทศ  คณะกรรมการจะพิจารณาว่า อะไร สิ่งใดที่ประเทศผู้เป็นเจ้าของเสนอมา  เข้าหลักเกณฑ์เป็นมรดกโลกบ้าง และในทางใด   ถ้าเข้ากฏเกณฑ์ในทางใดก็เสนอให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การประกาศขึ้นทะเบียนให้  
สำหรับแหล่งที่จะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้นั้น ต้องเป็นของแท้แต่ดั้งเดิม และมีรูปแบบพิเศษทางสถาปัตยกรรม หรือมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับแนวความคิด หรือมีความเชื่อที่มีความสำคัญเป็นสากล  หรืออาจเป็นตัวอย่างที่เด่นของวิถีชีวิตตามโบราณประเพณีที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมนั้น
ส่วนแหล่งมรดกทางธรรมชาติต้องเป็นตัวอย่างพิเศษของขั้นตอนการวิวัฒนาการของโลก หรือเป็นตัวแทนการวิวัฒนาการของชีวภาพ  หรือเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ใกล้ศูนย์พันธุ์ หรือเป็นแหล่งทัศนียภาพอันงดงามตระการตาเป็นเลิศ หรือเป็นเขตป่าสงวนสำหรับพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิด
         สำหรับอะไร สิ่งใด ที่จะเป็นมรดกความทรงจำของโลก(Memory of the World Project) นั้น  ต้องมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และต้องมีการเก็บรักษาในความทรงจำระดับชาติ และระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ และเผยแพร่มรดกที่เป็นเอกสาร วัสดุ หรือข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เช่น กระดาษ สื่อทัศนูปกรณ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
         เมื่ออะไร สิ่งใด ที่ได้รับการพิจารณาตัดสินให้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ประเทศนั้นจะต้องมีพันธะที่จะต้องให้ความคุ้มครอง รักษา สงวน ส่งเสริมให้คงอยู่ตลอดไป รวมทั้งต้องจัดส่งบัญชีรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติในประเทศของตนไปให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณา โดยต้องแนบเอกสารแสดงที่ตั้ง และแสดงความสำคัญไปด้วย หากประเทศใดไม่ดำเนินการตามพันธะที่มีอยู่ ก็จะถูกถอนแหล่งมรดกโลกนั้นได้
         สาเหตุที่มีการตั้งคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นมา ก็เพราะว่า เมื่อปี พ.ศ. 2515 ทางองค์การยูเนสโกได้เสนอให้มีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก ปรากฏว่าประเทศภาคีสมาชิกเห็นชอบด้วย แต่ยังไม่มีคณะกรรมการที่จะไปดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญา  
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2525 จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นมาเพื่อให้ดูแลการปฎิบัติตามอนุสัญญว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และมีหน้าที่กำหนดลักษณะ ประเภทของมรดกที่ปรากฏอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกว่า จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรม หรือทางธรรมชาติ ตลอดจนทางความทรงจำของโลก แล้วทำทะเบียนรายชื่อแหล่งโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าสมควรจะกำหนดให้เป็นมรดกโลก และพิจารณาตัดสิน รวมทั้งพิจรณาการใช้จ่ายเงินกองทุนมรดกโลกให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศภาคีสมาชิกให้มากที่สุดด้วย
         สำหรับเงินกองทุนมรดกโลกนั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการบริจาคของบรรดาประเทศต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเทศภาคีสมาชิก เงินกองทุนนี้จะใช้เป็นงบประมาณในการสงวน, รักษา แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้แล้ว เงินนี้จะจัดสรรไปช่วยเหลือในลักษณะต่างๆ เช่นทางวิชาการ อบรมผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่อให้รู้แนวทาง และวิธีที่จะอนุรักษ์มรดกโลก และการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ไปให้ เป็นต้น
         ประเทศไทยมีสถานที่ หรือแหล่งที่ได้รับการจดทะเบียนมรดกโลกไว้แล้วจำนวนหนึ่ง  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
         เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ณ กรุงคาร์เทจ  ประเทศตูนิเซีย  คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก จดทะเบียนระดับโลกแหล่งมรดกในประเทศไทย 3 แห่ง คือ
         1. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร  (ทางด้านวัฒนธรรม)
         2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  (ทางด้านวัฒนธรรม)
         3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร  (ทางด้านธรรมชาติ)
         ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ณ เมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการมรดกโลกก็ได้มีมติให้ จดทะเบียนระดับโลกแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยอีก 1 แห่ง คือ
      แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี (ทางด้านวัฒนธรรม) นับเป็นแหล่งที่ 4
         และต่อมาเมื่อช่วงวันที่ 28 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองกแตนซค์ ประเทศโปแลนด์ คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้จดทะเบียนระดับโลกภายใต้โครงการความทรงจำของโลก 1 อย่าง คือ จารึกพ่อขุนรามฯ นับเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศในด้านการเป็นมรดกความทรงจำของโลก
         เรามาดูคำแถลงข่าวของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเรื่อง จารึกพ่อขุนรามฯ กันดีกว่า เพื่อจะได้มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
   
เรื่อง  คณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติของยูเนสโกมีมติให้ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกจด                          
        ทะเบียนระดับโลกศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ภายใต้โครงการมรดกความทรงจำ                        
        ของโลก
         นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า เมื่อเดือนมกราคม 2546 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยยูเนสโก ได้ส่งแบบฟอร์มใบสมัครของประเทศไทย ไปยังผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ขอให้พิจารณาจดทะเบียนระดับโลก(World Register) ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ภายใต้โครงการมรดกความทรงจำของโลก(Memory of the World Project) ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยแผนงานความทรงจำของโลก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งขึ้น มี ศาสตราจารย์ คุณหญิง แม้นมาส ชวลิต เป็นประธาน
         เหตุผลในการเสนอของกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 นี้ ถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญ ทางด้านประวัติศาสตร์  การปกครอง  การค้า และวัฒนธรรม ของอาณาจักรสุโขทัย ที่มีความสำคัญกับนานาชาติ
         บัดนี้  คณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ ของยูเนสโก ซึ่งผู้อำนวยการยูเนสโกได้แต่งตั้งขึ้นตามโครงการนี้ ได้ประชุมเมื่อ 28 – 30  สิงหาคม ศกนี้ ที่เมืองกแตนซค์ ประเทศโปแลนด์ และได้พิจารณาใบสมัครจำนวน 43 รายการของ 27 ประเทศทั่วโลก โดยได้เปิดให้ผู้แทนจากประเทศที่เสนอเข้าไปชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมการด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยได้ส่ง ศ. ดร. อดุล วิเชียรเจริญ กรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยยูเนสโก ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการนานาชาติ ว่าด้วยมรดกโลกของยูเนสโกอยู่ด้วย เป็นหัวหน้าคณะ  มี ศาสตราจารย์ คุณหญิง แม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแผนงานคณะกรรมการมรดกความทรงจำของไทย และ นางสาวิตรี  สุวรรณสถิตย์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปร่วมประชุมด้วย
         ผลการประชุมปรากฏว่า ศิลาจารึกหลักที่1 ของพ่อขุนรามคำแหง  ได้รับมติสนับสนุนเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุม โดยไม่มีคณะกรรมการท่านใดทักท้วงเลย สำหรับข้อเสนอจากประเทศอื่นๆได้รับมติให้ขึ้นทะเบียนระดับโลกอีก 22 รายการ  รวมทั้งของประเทศไทยด้วยเป็น 23 รายการ จาก 20 ประเทศ ส่วนอีก 20 รายการ ไม่ได้รับมติสนับสนุน ดังรายการที่แนบ
         โครงการมรดกความทรงจำของโลกนี้ เป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ และเผยแพร่มรดกความทรงจำที่เป็นเอกสาร วัสดุ หรือข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เช่น  กระดาษ สื่อทัศนูปกรณ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทั้งนี้จะต้องมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และจะต้องมีการเก็บรักษาในความทรงจำในระดับชาติ และระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อยูเนสโกได้ประกาศจดทะเบียนไปแล้ว ประเทศเจ้าของมรดกก็มีพันธกรณีทางปัญญา และทางศีลธรรม ที่จะต้องอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพที่ดี และเผยแพร่ให้ความรู้แก่มหาชน อนุชนรุ่นหลังทั่วโลก ให้กว้างขวาง เพื่อให้มรดกดังกล่าวอยู่ในความทรงจำของโลกตลอดไป
         สำหรับหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแผนงานจะร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษา และสื่อสารมวลชน ตลอดจนกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสมโภชศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ได้รับการจดทะเบียนระดับโลกในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งจะตรงกับงานครบรอบ 720 ปีศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้วย ทั้งนี้จะเน้นเรื่องการพิมพ์เผยแพร่ การจัดแปลเป็นภาษาต่างประเทศ การจัดนิทรรศการ ประชุมสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมประกวดเรียงความ และตอบคำถามสำหรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านการเมือง การปกครอง การค้า และวัฒนธรรม ทุกด้านของไทยที่สืบทอดจากสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
                        
ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ประเทศของเรามีทั้งแหล่งที่เป็น มรดกโลก และสิ่งที่เป็นมรดกความทรงจำของโลก ซึ่งน่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก และในอนาคตอาจจะมีสถานที่อื่นๆในประเทศของเราเป็นมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ ตอนนี้ก็ช่วยกันรักษาสิ่งที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกไว้แล้ว ให้คงอยู่ตลอดไปก็แล้วกัน   แต่ก็มีข่าวว่า เบื้องหลังการรับรองของยูเนสโกครั้งนี้ คืออีกความพยายามหนึ่งที่จะทำให้ การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องของศิลาจารึกหลักนี้หมดไป เพราะปัจจุบันยังมีนักวิชาการบางส่วนพยายามพิสูจน์ว่า เนื้อหาต่างๆที่กล่าวถึงในศิลาจารึกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริง ส่วนรายละเอียดของเรื่องจะเป็นอย่างไร ขอให้ผู้อ่านอดใจอย่าเพิ่งใจร้อน พยายามทำใจเย็นๆอ่านต่อไปเรื่อยๆตามลำดับ เดี๋ยวเจอเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง