เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9072 บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


 เมื่อ 12 ส.ค. 06, 12:57


บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ในบทความของผมเรื่อง "ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาลหรือเพราะปรีดีสนับสนุน?" (ฉบับพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒, เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๙ และฉบับ weblog ที่  http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/byproduct-royalists.html   เชิงอรรถที่ ๔๑  http://somsakfootnotes.blogspot.com/2006/06/blog-post_115069195230771862.html ) ผมได้อธิบายกระบวนการที่ผมพยายาม "ตามล่า" หา "พระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖" ซึ่งเคยมีการตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ในปี ๒๕๒๘ อย่างไม่ครบสมบูรณ์ และทั้งผู้ตีพิมพ์คือ คุณบุญยก ตามไท และ ศิลปวัฒนธรรมเอง ไม่สามารถนึกได้ว่าได้ต้นฉบับมาจากที่ใดแล้วในขณะนี้ ผมจึงได้ประกาศหาเอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ "วิชาการดอทคอม" ซึ่งมีผู้สนใจเรื่องเจ้า (ในระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "อนุวัฒนธรรม" sub-culture) เป็นสมาชิกประจำอยู่หลายคน ในที่สุด คุณV_Meeได้กรุณานำข้อความในพระราชพินัยกรรมฉบับเต็มมาโพสต์  http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=130&Pid=50477   โดยคุณV_Meeกล่าวว่า “วานพรรคพวกไปค้น....เลยคัดมาฝากกัน สำหรับข้อ ๔ ขออนุญาตละพระนามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม เพราะหลานๆ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณเทพมนตรี ลิมปพยอม ผู้มีชื่อเสียง ได้แวะมาหาผมที่ที่ทำงานท่าพระจันทร์ เมื่อเจอหน้ากัน คุณเทพมนตรีก็ยื่นเอกสารถ่ายสำเนา (ซีร็อกซ์) ชุดหนึ่งให้ แล้วกล่าวว่า "ได้ข่าวว่าอาจารย์กำลังมองหาพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖" ผมรับเอกสารดังกล่าวมาเปิดๆดู ด้วยความตื่นเต้นดีใจ เห็นเป็นสำเนาของ "พระราชพินัยกรรม รัชกาลที่ ๖" จริงๆ คุณเทพมนตรีบอกผมว่า ที่นำมาให้นี้เป็น "ฉบับสมบูรณ์" (คุณเทพมนตรีอธิบายการได้มาเหมือนกัน แต่ผมขอไม่เล่าต่อในที่นี้) ผมต้องขอขอบคุณคุณเทพมนตรีอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

จากการพิจารณาเอกสารที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ (ดูภาพประกอบข้างบน หรือที่  http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=old_midnight&topic=6 ) ทำให้ผมได้ข้อสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระราชพินัยกรรม รัชกาลที่ ๖ ดังนี้


(๑) "พระราชพินัยกรรม" ฉบับที่ ศิลปวัฒนธรรม ตีพิมพ์ อันที่จริง เป็น "สำเนา" ของ "พระราชพินัยกรรม" ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงคัดลอกไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวัน (ไดอารี่ diary) ของพระองค์ ไม่ใช่พระราชพินัยกรรมฉบับ "จริง" เสียทีเดียว กล่าวคือ หลังจากที่รัชกาลที่ ๖ ทรงให้เขียนพินัยกรรมฉบับจริงแล้ว - ให้เจ้าหน้าที่เขียนตามที่ทรงบอก ไม่ใช่ลายพระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง (ดูข้างล่าง) - ก็ทรงคัดลอกข้อความของพินัยกรรมนั้นลงในไดอารี่ ด้วยพระราชหัตถเลขาของพระองค์เองอีกต่อหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรม ได้ภาพถ่ายสำเนาไดอารี่ ส่วนที่ทรงคัดลอกพินัยกรรมไว้นี้ แต่ได้มาไม่ครบ คือ ได้เพียง ๒ หน้า "พระราชพินัยกรรม" ที่ทรงคัดลอกไว้ในไดอารี่นี้ มีความยาว ๓ หน้าของไดอารี่ (นับเฉพาะตัวบทพินัยกรรมจริงๆ) ศิลปวัฒนธรรม ได้มาขาดไป ๑ หน้า เอกสารซีร็อกซ์ที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ผม คือ สำเนาพินัยกรรมที่ทรงบันทึกไว้ในไดอารี่ทั้ง ๓ หน้า แต่มีบันทึกข้อความในไดอารี่ที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับพินัยกรรมบวกเข้ามาด้วยอีก ๔ หน้า รวมกับหน้าแรกสุด ที่เป็นซีร็อกซ์ "ปก" ของไดอารี่ที่มีสำเนาพระราชพินัยกรรมนี้แล้ว เอกสารที่คุณเทพมนตรีนำมาให้ผม จึงมีทั้งสิ้น ๘ หน้า (ดูภาพประกอบข้างบน หรือที่  http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=old_midnight&topic=6 )

(๒) ข้อความในพระราชพินัยกรรมที่คุณV_Mee คัดลอกมาโพสต์ อาจจะมาจาก (สำเนา) พระราชพินัยกรรมฉบับจริง (คือฉบับที่ทรงให้เจ้าหน้าที่เขียน) ไม่ใช่จากสำเนาที่เป็นพระราชหัตถเลขาที่อยู่ในไดอารี่ก็เป็นได้ เพราะคุณV_Meeได้คัดลอกมาว่า พระราชพินัยกรรมขึ้นต้นด้วย "พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ" ซึ่งในไดอารี่ไม่มี (ในบทความที่ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ผมไม่ได้เอ่ยถึงการมีเครื่องหมาย "พระราชลัญจกร" ในตอนต้นของข้อความที่คุณV_Meeโพสต์ เพราะมองข้ามเรื่องพินัยกรรมมีทั้งฉบับที่คัดลอกลงในไดอารี่ กับฉบับจริงทางราชกาาร) ถ้าเป็นไดอารี่ จะขึ้นต้นด้วย "หนังสือสั่งเสนาบดีวัง เรื่องสืบสันตติวงศ์และตั้งพระอัษฐิ [ดูรายวันน่า๑๖๑]" (ดังที่ศิลปวัฒนธรรม นำมาพิมพ์ และผมนำมาอ้างต่อ)

(๔) ในไดอารี่ พระราชพินัยกรรมที่ทรงคัดลอกไว้ เริ่มต้นที่หน้า ๓๙๔ และจบที่หน้า ๓๙๖ (คือ ๓ หน้าไดอารี่ดังกล่าวข้างต้น) คุณเทพมนตรีได้นำซีร็อกซ์ข้อความในไดอารี่มาให้อีก ๔ หน้า คือหน้า ๓๙๗ ถึง ๓๙๙ และอีก ๑ หน้า ซึ่งเลขหน้าอ่านไม่ได้ และไม่แน่ใจว่า จะเป็นหน้าที่ต่อจากหน้า ๓๙๙ เลย (คือหน้า ๔๐๐) หรือไม่ ข้อความของไดอารี่ในหน้าต่างๆ เป็นดังนี้ (ส่วนที่ทำเครื่องหมาย ..... คือข้อความที่ผมยัง "แกะ" ลายพระราชหัตถเลขาไม่ได้ ส่วนที่มีเครื่องหมาย [?] คือข้อความที่ผมไม่แน่ใจว่า "แกะ" ถูกหรือไม่)


[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๗]

บำเหน็จผู้พยาบาล ฯลฯ
[ต่อจากรายวันที่ ๘ ตุลาคม]
อนึ่งในการที่เราได้ป่วยลง ได้มีผู้ที่มีความในทางพยาบาลและช่วยความสดวกต่างๆหลายคน, จึ่งได้สั่งให้จัดให้หาของบำเหน็จให้เป็น ๒ ชั้น; ชั้นที่ ๑ เป็นซองบุหรี่ (หรือหีบ) ทอง, มีตราลงยาเป็นอักษรย่อ ร.ร.๖ กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบติดที่ซอง และมีอักษรจารึกนามผู้รับและความชอบ; ชั้นที่ ๒ เป็นซองบุหรี่เงิน, มีตราและจารึก. ซองบำเหน็จนี้ได้แจกเมื่อคืนนี้และวันนี้ มีรายนามผู้ได้รับดังต่อไปนี้:

ชั้นพิเศษ
(ซองทองลงยา มีตราอักษรย่อ ร.ร.๖ ประดับเพ็ชร์ ของอื่นๆลงยา, มีจารึกที่หลังซอง, มีสายสร้อยทองแบบซองผู้หญิง)
เจ้าจอมสุวัทนา (พยาบาลทุกอย่าง)

ซองทอง (.............)
(ซองมีสายสร้อยประกอบ)
๑. เกตุมดี. (รับใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ)
๒. อรุณวดี [?] (อยู่งานพัดวี [?] ถูกใจ)
๓. ท้าวศรีสุนทรนาฎ (........)



[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๘]

ชั้นที่ ๑
๑. เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ), รับใช้ดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการในกิจการต่างๆ, ติดต่อทั้งในและนอกพระราชสำนัก.
๒. พระยาอนิรุทธ์เทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ), อำนวยการพยาบาล .........
๓. พระยาแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช), และ
๔. พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์), นายแพทย์ผู้ทำการบำบัดโรค.
๕. พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตนานนท์), หัวน่าดูแลกำกับผู้ชายที่ทำการพยาบาล.
๖. เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี (สัน สันติเสวี), พยาบาล.
๗. หลวงฤทธิ์นายเวร (เฉลิม เศวตนันทน์), อ่านหนังสือและอยู่งานพัด
๘. นายจ่า.... (เลื้อน .......), พยาบาล.
๙. นายจ่ายวด (สืบ คงคะรัตน์), พยาบาล.
๑๐. นายพลพ่าห์ (เวียง สุนทรวายุ), พยาบาล.
๑๑. นายพินัยราชกิจ (ผล ศิวเสน), พยาบาล.
๑๒. นายสมิธ (เฉลิม [?] บุณยรัตนพันธุ์), พยาบาล.



[สมุดจดหมายเหตุรายวัน หน้า ๓๙๙]

ชั้นที่ ๒
๑. พระยาราชอักษร (ใช้ อัศวรักษ์), รับคำสั่งเขียนหนังสือต่างๆ
๒. พระยาสุรินทรเสวี (เถา วัลยเสวี), สมทบช่วยพยาบาล.
๓. หลวงศักดิ์นายเวร (เนื่อง สาคริก), อยู่งานพัด.
๔. .......... พลรบ (บุญมา นิรณัยมาน), สมทบช่วยพยาบาล.
๕. พระราชเสวก (สมบุญ จารุตามร
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ส.ค. 06, 13:14

 รับทราบครับ
ขอบคุณครับ
จะค่อยๆ ทยอยอ่านครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ส.ค. 06, 20:44

 เรียนคุณสมศักดิ์
ดิฉันส่ง sms ไปให้คุณ กรุณาดูในหน้า
 http://www.vcharkarn.com/my/
ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ส.ค. 06, 21:41

 มาลงชื่อด้วยคนค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ส.ค. 06, 12:08

 ขอแก้ไขและเพิ่มเติมครับ

ที่ว่า ๒. อรุณวดี [?] (อยู่งานพัดวี [?] ถูกใจ)
น่าจะเป็น "อรุณธดี"  ผมจำนามสกุลเดิมท่านไม่ได้  ภายหลังสมรสกับ นพ.สุประเกต  จารุดุล  น้องชายของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
๓. ท้าวศรีสุนทรนาฎ (........)  นามเดิม แก้ว  พนมวัน  เดิมเป็นยายของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

นายจ่ายวด (สืบ คงคะรัตน์),  ในรัชกาลที่ ๗ ถูกดุลยภาพ  เปลี่ยนราชทินนามเป็นหลวงภูมินาถสนิธ

หลวงศักดิ์นายเวร (เนื่อง สาคริก), ในรัชกาลที่ ๗ ได้เป็น ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกาตรสมุห เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  กรมพระตำรวจหลวงรักาพระองค์  ถูกปลดออกจากราชการภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะยุบเลิกกรมพระตำรวจหลวงฯ

๔. .......... พลรบ (บุญมา นิรณัยมาน), ที่ถูกต้องคือ พระทรงพลราบ  
.
๕. พระราชเสวก (สมบุญ จารุตามรง  นามสกุลที่ถูกต้องคือ จารุตามระ,
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ส.ค. 06, 12:10

 ขอประทานโทษครับ  ยังแก้ไม่หมด

๔. .......... พลรบ (บุญมา นิรณัยมาน), ที่ถูกต้องคือ พระทรงพลราบ (บุญมา  หิรัณยมาน)
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 19:22

 คุณสมศักดิ์กรุณาหยิบยกพระราชพินัยกรรมขึ้นมากล่าวอีกครั้ง  ผมก็มีบันทึกของพระยาประดิพัทธภูบาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกไปรอรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในคณะที่มีพระยาวิสูตรสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล - เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) เป็นข้าหลวงพิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕

พระยาประดิพัทธภูบาล (คอ ยู่ เหล  ณ ระนอง)  ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ ประเทศญี่ปุ่นไว้ว่า
“...วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า  โดยรับสั่งของเอ็มเปอเรอ  พระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามองค์แก่สมเด็จพระบรมราชโอรส  พระธิดาสาวทั้งสามนี้มิใช่ธิดาของเอมเปรส  แต่เรียกเอมเปรสเป็นพระมารดา  ส่วนเอมเปรสไม่มีพระธิดา  พระธิดาทั้งสามจะเสด็จประพาสสวน  ให้เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย  แต่ให้คนตามเสด็จได้คนเดียวเท่านั้นคือตัวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้ไปชมด้วย  แต่สมเด็จพระบรมโอรสสั่งว่า “ไม่ได้  กลับไปบอกเขาเถอะว่า  เรายังเด็กนักที่จะมีภรรยา”  
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ทำไมไม่เสด็จเพราะเป็นโอกาสดี”  ทรงตอบว่า “ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน  ถ้าเราเอาลูกสาวเขามา  เดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน  เขาบอกให้พ่อเอาเรือรบมาเมืองเราสัก ๒ ลำ  เราก็แย่เท่านั้น...”

จากบันทึกนี้คงจะขยายความเรื่องที่ทรงให้ยกผู้ที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวออกจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้เป็นอย่างดีนะครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 03:43


คุณอรุณธดี มีสกุลเดิมว่า วิเศษกุล

ต่อมาได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ และเฝ้าติดตามถวายงานจนตลอดชีวิต

ในพระรูปที่เชิญมานี้ คุณอรุณธดี กำลังเชิญเสด็จ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ขณะยังทรงพระเยาว์ มี ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) อยู่ทางขวาของภาพครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง