เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 16199 สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 08:01

 ขอบพระคุณคุณ Up ครับที่กรุณามาขยายความให้กระจ่างขึ้น

เรื่องการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  เท่าที่ทราบมา ท่านผู้บริหารจุฬาฯ ในช่วงหลังมานี้ก็ได้เริ่มรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณมากขึ้น  หลายๆ ท่านมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาก  ก็น่าชื่นใจครับที่พยายามผลักดันมาเกือบยี่สิบปีแล้วได้ผลขนาดนี้  และทำให้มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ทรงฉลองพระองค์ครุย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ส่วนเรื่องวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนนั้น  อยากจะขอฝากให้ช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันมากกว่านี้ครับ  และหากจุฬาจะกำหนดให้เป็นวันสำคัญในปฏิทินก็จะอนุโมทนาด้วยครับ

ในประเด็นชื่อมหาวิทยาลัยนั้น  ผมเคยได้ยินมานานแล้ว  แต่ไม่ทราบใครเป็นผู้คิด  เรื่อองนี้ก็พยายามพูดที่หอประวัติมาหลายครั้งแล้ว  แต่ผมไม่มีบุญได้เข้าไปเป็นนิสิตจุฬาฯ  จึงอาจจะเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่ไม่มีน้ำหนักอะไร

สำหรับนักเรียนวชิราวุธ ๓ คนที่เป็นศิษย์คุณ Up นั้น รบกวนช่วยขัดเกลาแทนครูบาอาจารย์ของวชิราวุธวิทยาลัยด้วยครับ  ถึงวันนี้ผมก็ค่อนข้างล้ากับคลื่นโลกาภิวัฒน์ในวชิราวุธวิทยาลัย  ที่ขาดความต่อเนื่องระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่  จนวัฒนธรรมและขนบประเพณีต่างๆ ค่อยๆ เลือนหายไปเยอะแล้ว  ผมยังเคยคาดหวังไว้ว่า เมื่อจะรับครูเข้ามาสอนในวชิราวุธ  ผมจะส่งหนังสือ "พระบรมราโชวาท" ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖, ๗ และปัจจุบัน ให้อ่านก่อน  อ่านแล้วค่อยมาคุยกันว่า  ได้อะไรจากพระบรมราโชวาทนั้นบ้าง  ถ้าสามารถเข้าใจแนวพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้  แม้ผลการเรียนจะไม่ดีเด่น  ผมก็จะยินดีรับเข้าเป็นครูที่จะช่วยอบรมกุลบุตรให้สมดังพระบรมราชปณิธานมากกว่าผู้ที่เป็นเลิศทางวิชาการ  แต่ความคิดนี้อาจจะไม่เป็นที่สบอัทธยาศัยท่านผู้ใหญ่บางท่าน  ก็เลนมีเหตุให้ผมต้องไปสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่อื่น  ซึ่งก็ได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณมากกว่าที่วชิราวุธวิทยาลัย
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 08:25

 ขอน้อมรับข้อปรารภของคุณ V_Mee ไว้ด้วยความยินดีครับ

ส่วนเรื่องนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ในบัดนี้ สามสี่คนนั้น ไม่ต้องห่วงเลยครับ เป็นเด็กที่ใช้การได้ดีมากทั้งสี่คน ผมเองก็โชคดีที่ได้น้องๆ เหล่านั้นมาติดสอยห้อยตามช่วยเหลืองานการต่างๆ อยู่เสมอ อย่างเมื่องานเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในโอกาสที่วันประสูติครบ ๑๐๐ ปี ที่ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และงานฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ผ่านมา ก็ได้นักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ในปัจจุบัน ๓-๔ คนนี้แหละครับ ช่วยเหลืออย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

นอกจากนี้ยังมีนิสิตอีกจำนวนไม่น้อยทั้งหญิงทั้งชายทุกชั้นปี ได้มาช่วยกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั้งรัชกาลที่ ๖ และพระราชธิดา

หากจะพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเห็นว่าขอเพียงแค่มีผู้คอยจุดประกาย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเท่านั้นแหละครับ ผมเชื่อว่านิสิตจุฬาฯ ทั้งหลายไม่รีรอที่จะร่วมกันฉลองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเต็มกำลัง
บันทึกการเข้า
Scopian Kung
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 11:56

 ขอขอบคุณ คุณ UP มากครับ ผมทราบข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และขอรับข้อพึงระวังของคุณ UP ไว้พิจารณาตัวเองด้วยครับผม และขอบพระคุณล่วงหน้า เรื่องการจะสืบหาความจริงเรื่องชื่อมหวิทยาลัยด้วยครับ

เรื่องวันที่ 11 พ.ย. ที่เวปหอประวัติก็มีเขียนไว้เช่นกันครับ ว่ามีความสำคัญยังไง

ผมมีเรื่องจะถามต่อ แต่ออาจจะดูนอกเหนือประเด็นของจุฬาฯ ไม่รู้ว่าจะผิดกฎหรือเปล่า ผมอยากทราบว่า "ใครคือผู้สถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล" ครับ เพราะผมเด็กมหิดลที่ผมรู้จัก เกือบทั้งหมด ตอบ ว่า พระบรมมราชชนก เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ผม ก็ งง ๆ เพราะ พระบรมมราชชนก สวรรคต ไปก่อนตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เสียอีก มีใครพอจะทราบเรื่องราวมหาวิทยาลัยมหิดลไหมครับผม
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 16:59

 ผมมีโอกาสได้เรียนถามผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ ท่านก่อน ว่าคำว่า University of Prince Chulalongkorn นั้น มาจากไหน ท่านตอบว่าไม่ทราบเลย และไม่เคยได้ยินมาก่อน

ท่านกล่าวเสริมด้วยว่า

นาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้น จริงอยู่ แม้พระนาม "จุฬาลงกรณ์" จะเป็นพระนามทั้งสมัยเมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็น Prince Chulalongkorn และทั้งเมื่อเป็น King Chulalongkorn แต่การที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงไม่ได้เป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แต่เพียงเท่านั้นเป็นแน่

ดูแค่นาม โรงเรียนข้าราชการพลเรือน "ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยนั้น ก็น่าจะกระจ่างอยู่แล้ว ว่าชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นควรจะเป็น "ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" กันแน่

เช่นเดียวกันศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ย่อมเป็นนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คงไม่มีใครนึกแปลกๆ ว่าเป็นนามที่เป็นเกียรติยศแด่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ฉันใดก็ฉันนั้น

นี้คืออรรถาธิบายของผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ ท่านก่อนครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 17:18

 ผมลองค้นหาที่มาของนาม University of Prince Chulalongkorn และการตีความหมายว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นมหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ดูแล้ว พบว่าปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ของ สวัสดิ์ จงกล แห่งหอประวัติจุฬาฯ ความว่า

“ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของมหาวิทยาลัยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันหมายความว่ามหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ชื่อภาษาอังกฤษจึงเป็น Chulalongkorn University หรือ University of Prince Chulalongkorn”

ดูตามลิ้งก์ http://www.memocent.chula.ac.th/knowledge/kn05_02.html

ผมไม่ทราบว่าอาจารย์สวัสดิ์ จงกล ท่านมีหลักฐานอ้างอิงจากที่ใดหรือไม่ ถ้าเป็นการตีความโดยส่วนตัวท่านเอง ผมก็ออกจะอึดอัดใจอยู่

หากว่าคุณ V_Mee มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับท่าน ก็ฝากเรียนถามที่มาและขอคำอธิบายเป็นวิทยาทานด้วยเถิดครับ ถ้าเป็นไปได้ โปรดอธิบายตรรกะและเหตุผลตามความเข้าใจของพวกเรา ที่เห็นว่า Chulalongkorn University ควรหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ ให้ท่านทราบด้วย เผื่อท่านจะรับแนวคิดของพวกเราไว้พิจารณา
บันทึกการเข้า
Scopian Kung
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 22:33

 ขอบคุณคุณ UP มากครับ ที่อุตส่าห์หาข้อมูลมาให้

ผมพยายามหาข้ออธิบายอยู่มานานมากเหมือนกัน ว่าทำไมในเวปหอประวัติถึงปรากฏชื่อ University of Prince Chulalongkorn  พยายามอยู่หลายครั้งที่จะนึกว่า เหตุใดผู้แต่งจึงใช้คำว่า Prince ตอนแรกพยายามยัดเยียดความคิดตนเองว่า อาจเป็นเพราะ รัชกาลที่ 5 ตรงตั้งพระทัยให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนขั้นอุดมศึกษาตั้งแต่ดำรงพระยศเป็น "เจ้าฟ้า" แต่นึกยังไงมันก็ไม่ใช่อยู่ดี จนหมดปัญญาที่จะนึกออกว่า Prince Chulalongkorn นั้นมาจากไหน ผมว่าต้องถาม อาจารย์สวัสดิ์ จงกล เท่านั้นแหละครับ ถึงจะรู้ว่าเหตุใดจึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า  University of Prince Chulalongkorn  

ที่จริงในเวปหอประวัติกับเวปจุฬาฯก็ยังมีอีกเรื่องที่งง เลยขอถามรวบยอดมาด้วยเลย คือ ชุดครุยของจุฬาฯ นั้น ตกลง รัชกาลที่ 6 หรือ รัชกาลที่ 7 เป็นผู้พระราชทานครับ

คือ ตามที่เข้าใจ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเกิดเมื่อรัชกาลที่ 7 ดังนั้น ครุยก็น่าจะมาจากการพระราชทานของรัชกาลที่ 7(ตามที่หอประวัติได้เขียนไว้) แต่มาอ่านที่เวปชุกครุยของจุฬาฯ กลับกล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้เสื้อครุยได้ " (http://www.chula.ac.th/chula/th/about/gown_th.html)
ก็เลยคิดว่า ครุยจุฬานั้นตกลงรัชกาลที่เท่าไหร่พระราชทานมาครับ

หรือรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานครุยของอาจารย์ แต่รัชกาลที่ 7 พระราชทานครุยบัณฑิต หรือครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 22:23

 เรื่องเสื้อครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้  เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๕  ในระเบียบนั้นบอกไว้ว่า  เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการสอนถึงชั้นปริญญาแล้ว  ก็จะให้มีเสื้อครุยเป็นเครื่องแสดงวิทยฐานะเหมือนนานาอารยประเทศ

แต่เมื่อเสด็จฯ วางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เมื่อวันที่  ๓  มกราคม  ๒๔๕๘ (เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา) ก็ได้มีการถวายเข็มบัณฑิตแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ คุรุบัณฑิต  เนติบัณฑิต และรัฏฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต  

เนื่องจากในเวลานั้นหลักสูตรของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ยังไม่ถึงขั้นปริญญา  นักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรส่วนใหญ่จะจบแค่ประโยค ๒ ชั้น ๓ (เทียบเท่ามัธยมปลาย)  แล้วเข้าเรียนตามโรงเรียนต่างๆ คือ โรงเรียนฝึกหัดิจารย์  โรงเรียนกฎหมาย  หรือโรงเรียนปกครอง (โรงเรียนมหาดเล็กเดิม)  จบหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนแล้ว  ไปทำงานไม่น้อยกว่า ๓ ปี  และมีคำรับรองจากผู้บังคับบัญชาแล้ว  กลับมาลงทะเบียนรับเข็มบัณฑิต  เพื่อเป็นหลักฐานว่าสำเร็จเป็นบัณฑิตโดยสมบูรณ์แล้ว  เข็มนี้เป็นรูปพระเกี้ยวโลหะสีเงิน  ตอนล่างใต้หมอนรองพระเกี้ยวเป็นแถบเงิน  สลักอักษรย่อ ค = คุรุบัณฑิต  น. = เนติบัณฑิต  ร. = รัฏฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต  ใช้ประดีบที่อกเสื้อเบื้องซ้าย  

ในวันที่วางศิลาพระฤกษ์นั้นได้พระราชทานเข็มบัณฑิตแก่นักเรียนเก่าโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหลายท่าน เช่น คุรุบัณฑิต - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร  สุทัศน์)  เนติบัณฑิต - พระยาพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย  วณิคกุล)  รัฏฐประศาสศาสตร์บัณฑิต - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

แต่ก่อนหน้านั้น  ราว พ.ศ. ๒๔๕๕  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเสื้อครุยให้แก่ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิตไว้ใช้สวมเวลาขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า ขอคิดดูก่อน  

ต่อมาวันที่  ๒๗  ธันวาคม  ๒๔๕๖ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์อาจารย์  เป็นเสื้อครุยผ้าโปร่งสีขาว  มีสำรดพื้นกำมะหยี่สีน้ำเงินแก่ (กรมท่า) ติดที่ต้นแขน  ปลายแขน  และข้างลำตัวต่อจากต้นแขนด้านในลงจรดขอบสำรดที่ชายเสื้อด้านล่าง  บนสำรดติดแถบเงิน  จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้ออาจารย์แก่ กรรมการและอาจารย์ (ครูที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ)  และเสื้อครู แก่ครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เสื้ออาจารย์และเสื้อครูจะมีสำรดเหมือนฉลองพระองค์อาจารย์  แต่ไม่มีแถบที่ข้างลำตัว  และแถบเงินบนเสื้ออาจารย์กับเสื้อครูก็มีลักษณะต่างกัน  ต่อมาได้พระราชทานเสื้ออาจารย์และเสื้อครูแก่ กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ  อาจารย์และครูโรงเรียนราชวิทยาลัย  มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวงด้วย  ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานเสื้ออาจารย์และครูนี้แก่ กรรมการ และครูวชิราวุธวิทยาลัยที่สนองพระเดชพระคุณมาครบตามกำหนดเวลา

การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสื้ออาจารย์และครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น  เข้าใจว่า เป็นการทรงทดลองเพื่อจะทรงมีพระราชวินิจฉัยแบบเสื้อครุยเนติบัณฑิตต่อไป  เพราะเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นเสื้อครุยชนิดเดียวที่ไม่มีพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใดๆ รองรับ  และผู้ที่มีสิทธิใช้เสื้อครุยนี้ต้องได้รับพระราชทานสถานเดียว  

มีเรื่องแปลกแต่จริงครั้งหนึ่ง  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  ในวันนั้นได้พระราชทานเสื้อครุยแก่กรรมการและอาจารย์ของโรงเรียน  เผอิญวันนั้นผมได้เฝ้ารับเสด็จอยู่ด้วย  เห็นแล้วให้ขัดตามากๆ  เลยต้องวิ่งประสานให้โรงเรียนทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์อาจารย์ให้ทรง แล้วก็ได้ชมพระบารมีขณะทรงครุยทุกคราวที่เสด็จมาโรงเรียน  เป็นบุญตาจริงๆ

ฉลองพระองค์อาจารย์ที่วชิราวุธวิทยาลัยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ต่อมาได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันในคราวแรกที่เสด็จฯ เหยียบวชิราวุธวิทยาลัย  เป็นเครื่องหมายว่า ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย  แต่ที่ถวายพระบรมวงศ์พระองค์อื่นเป็นแบบเดียวกับที่พระราชทานกรรมการและอาจารย์
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 22:42

 ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว  รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๕๗  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสื้อครุยเนติบัณฑิต  เป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว  รูปแบบเหมือนเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนสำรดเป็นพื้นขาว (สีประจำกระทรวงยุติธรรม)  ติดแถบทอง (เพราะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ  ต่างจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักที่เครื่องเงินแทนเครื่องทอง) และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเสื้อครุย พ.ศ. ๒๔๕๗ ขึ้น  มีสาระสำคัญให้ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิตสวมเสื้อครุยนี้เวลาขึ้นนั่งบัลังก์  ทั้งยังอนุญาตให้สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตนี้แทนเสื้อครุยเสนามาตย์ (เสื้อครุยเครื่องยศที่ปักดิ้น) ในเวลาแต่งเต็มยศในพระราชพิธีได้ด้วย

เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตเป็นองค์ปฐมเมื่อวันที่  ๕  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๕๗  ในคราวเสด็จฯ เหยียบศาลสนามสถิตยุติธรรม  ฉลองพระองค์ครุยนั้นมีลักษณะเหมือนฉลองพระองค์อาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนสำรดเป็นแพรขาว  และประดับดิ้นทองถักแทนแถบทอง (ท่านที่สนใจสามารถไปดูองค์จำลองที่เหมือนของจริงที่หอวชิราวุธานุสรณ์)  และในเวลาเดียวกันนั้นได้โปรดพระราชทานเสื้อครุยเนติบัณฑิตแก่ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต  รวมทั้งเนติบัณกิตติมศักดิ์ตลอดมาจนสิ้นรัชกาล (การพระราชทานในโอกาสต่อมา  ผู้รับพระราชทานรับจากพานที่หน้าพระบรมรูป)  เสื้อครุยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  

ต่อมาในรัชกาลที่ ๗  เมื่อเสด็จฯ เหยียบศาลสถิตยุติธรรมครั้งแรกและทรงรับเชิญเป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์  เนติบัณฑิตสภาฯ ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์เนติบัณฑิตที่เหมือนกับเนติบัณฑิตทั่วไปให้ทรง  (ที่เนติบัณฑิตสภาฯ ไม่ได้ถวายฉลองพระองค์เนติบัณฑิตเหมือนของรัชกาลที่ ๖  อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบพระราชดำริเดิม  หรือไม่ได้ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกเนติบัณฑิตสภาฯ หรือเปล่า  ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ)  

เสื้อครุยเนติบัณฑิตนี้คงใช้มาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง  รัฐบาลภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านว่า  เสื้อครุยติดแถบทองแบบนี้ราคาแพง  ทั้งเป็นผ้าโปร่งที่ขาดง่าย  เวลาขาดแล้วดูไม่งาม ไม่สมเกียรติผู้พิพากษา  จึงได้เปลี่ยนไปใช้ครุยดำแบบฝรั่งเศส  โดยย่อสำรดของเดิมมาเป็นแถบพาดบ่า  และได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้

ว่ากันถึงเรื่องเสื้อครุยแล้ว  ขออนุญาตออกนอกเรื่องสักนิด  คือว่า  เมื่อครั้งที่เนติบัณฑิตยสภาฯ กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ในครั้งนั้นเนติบัณฑิตยสภาฯ ได้ถวายย่ามลายแถลเสื้อครุยเนติบัณฑิตให้ทรงแทนเสื้อครุย  ย่ามนี้เป็นอย่างไรผมพยายามสืบหามานานแล้ว  ยังไม่พบเลยครับ

สมัยนี้มหาวิทยาลัยทั้งหลายชอบถวายปริญญาพระภิกษุแล้วก็เอาเสื้อครุยไปถวายท่าน  ในความเห็นผมที่พยายามเสนอผ่านทางจุฬาฯ มาหลายปีแล้ว  น่าจะถวายเป็นย่ามลายแถบสำรดเสื้อครุยหรือพัดปริญญา  สุดแท้แต่จะออกแบบกันนะครับ  จะเป็นเกียรติยศและเป็นประโยชน์สำหรับพระภิกษุที่ได้รับปริญญานั้นๆ มากกว่า
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 23:13

 เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบัณฑิตรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ในสมัยนั้น มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) เป็นผู้บัญชาการ (สมัยนี้เรียกว่า อธิการบดี)  

เนื่องจากท่านเจ้าคุณผู้บัญชาการฯ เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  และเป็นหนึ่งในชุดแรกที่ได้รับพระราชทานเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖  

เมื่จุฬาฯ จะสร้างเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตขึ้น  จึงได้มีการออกแบบเสื้อครุยจุฬาฯ ขึ้น  โดยอาศัยพื้นฐานจากเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนพื้นสำรดสีน้ำเงินแก่ (สีประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖) มาเป็นสีเขียว ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗  และเปลี่ยนแถบเงินที่เป็นเครื่องหมายของมหาดเล็ก  มาเป็นแถบทองตามสังกัดของจุฬาฯ ซึ่งใช้เครื่องทองมาแต่รัชกาลที่ ๖

เมื่อจุฬาฯ ส่งแบบเสื้อครุยที่ทำขึ้นหลายแบบ  แต่อยู่บนพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นขึ้นไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้ส่งแบบเสื้อครุยนี้ไปให้อภิรัฐมนตรีสภาพิจารณา  หลังจากที่อภิรัฐมนตรีพิจารณาแล้วได้แก้ไขรูปแบบของสำรดเป็นอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน  และได้กำหนดชั้นของเสื้อครุยไว้ ๔ ชั้น คือ
๑) บัณฑิตพิเศษ  พื้นสำรดสีเหลือง  ติดแถบทองขนาดใหญ่ตรงกลาง  และมีแถบทองที่ริมขอบทั้งสองข้าง  
๒) ดุษฎีบัณฑิต  พื้นสำรดสีแดง  ติดแถบทองเหมือนของเนติบัณฑิต  และมีแถบหมายสีคณะที่จบปริญญาพาดกลาง
๓) มหาบัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ  แถบทองเหมือนดุษฎีบัณฑิต  แต่แถบสีหมายคณะย่อมกว่า
๔) บัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ  แถบทองเหมือนดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต  แต่แถบสีหมายคณะย่อมกว่า

เนื่องจากต้องรออภิรัฐมนตรีสภาพิจารณาเรื่องเสื้อครุย  เวชชบัณฑิตรุ่นแรกจึงต้องรอมารับปริญญาพร้อมกับรุ่นสองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓  

ในการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชชศาสตร์บัณฑิตครั้งแรกนั้น  จุฬาฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแทนการถวายเข็มบัณฑิตพิเศษที่เคยถวายรัชกาลที่ ๖  เป็นสัญญาณว่า ทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในวันนั้นได้พระราชทานปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตแก่ ดร.เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์เป็นคนแรก  และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต แก่ พระยาภะรตราชา เป็นคนที่สอง  แล้วจึงพระราชทานปริญญาแก่บัณฑิต

วันหนึ่งเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว  ผมแวะไปที่หอประวัติจุฬาฯ  ก็นั่งคุยกันถึงเรื่องเสื้อครุย  ได้ตุยกันถึงเรื่องที่วชิราวุธวิทยาลัยถวายฉลองพระองค์อาจารย์แด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  แต่จุฬาฯ ยังไม่ได้ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเลย  เท่าที่จำได้วันนั้นได้มีการคุยกันถึงการที่จุฬาฯ มักจะอ้างอยู่เสมอว่า เป็นมหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์เพียงแห่งเดียว  แต่ก็ยังไม่เคยถวายพระเกียรติยศในฐานะองค์พระบรมราชูปถัมภก  หลังจากที่คุยกันวันนั้นแล้ว  ต่อมาในการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาในปีถัดมา  จุฬาฯ ก็ได้ถวายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภก  และธรรมศาสตร์ก็ได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพิเศษเหมือนกันแต่ผมจำไม่ได้ว่า ชื่ออะไร

ในวันที่คุยกันถึงเรื่องเสื้อครุยนั้น  ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องสีของสำรดขึ้นมาคุยกันด้วย  ซึ่งหลังจากที่วิพากษ์กันอยู่นานก็ได้ข้อสรุปว่า

บัณฑิตพิเศษ  พื้นเหลืองนั้นหมายถึง พระบรมราชจักรีวงศ์หรือองค์พระบรมราชูปถัมภก  เพราะสีเหลืองทองนั้นเป็นสีของสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์  และธงมหาราช

ดุษฎีบัณฑิต  พื้นแดง  หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  เพราะทรงใช้สีแดง  สีบานเย็น และสีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ตามแต่กรณี  แต่ปกติมักจะทรงใช้สีแดง  ดังเช่นสีเสื้อนายทหารกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร. ที่ทรงเป็นผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง  หรือแพรแถบรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ใช้สีแดง-ขาว  หรือแม้แต่ธงจุฑาธุชธิปไตยที่พระราชทานให้เป็นธงประจำกองทัพบกก็โปรดให้ใช้พื้นแดง

มหาบัณฑิตและบัณฑิต  พื้นดำ  หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์  จึงทรงใช้สีดำและน้ำเงินแก่ (ม่วงคราม หรือ ขาบ) เป็นสีประจำพระองค์  ไม่โปรดสีม่วงเพราะเป็นสีแห่งความเศร้าตามคติฝรั่ง

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องเสื้อครุยจุฬาฯ ที่ทราบมาครับ
บันทึกการเข้า
Scopian Kung
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ส.ค. 06, 23:45

 ขอบคุณมาก ๆ ครับ  ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะเลย

แต่ในปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ เป็นมหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยถูกไหมครับ
บันทึกการเข้า
[-Constantine-]
อสุรผัด
*
ตอบ: 25


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 22 ส.ค. 06, 23:36

 ได้ความรู้มากๆกับกระทู้นี้
บันทึกการเข้า
baezae
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 11 ต.ค. 07, 00:49

อ่านแล้วได้ความรู้มาประดับอีกเยอะเลยครับ แล้วทำให้รู้ว่า คุณ V Mee น่าจะเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันครับ (แต่ผมคงอ่อนประสบการณ์กว่าหลายปีนัก)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง