เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 25929 วัฒนธรรมหมาก
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 04:40

 หมดคนรุ่นเราๆ แล้ว ก็คงไม่มีใครรับประทานหมากพลูกันเป็นแล้วนะครับ คิดแล้วก็เศร้าใจ ดีที่คนรุ่นปัจจุบันยังได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่เคี้ยวหมากกันอยู่บ้าง แต่วันข้างหน้าก็คงต้องศึกษาเอาจากตำราหรือภาพถ่ายที่คนรุ่นนี้ทำไว้ เพราะคนขายหมากพลูก็คงหมดไป ในเมื่อไม่มีอุปสงค์

นำภาพ "พานพระขันหมาก" คือพานพระศรี (หมาก) สำรับที่เป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ และ "พระสุพรรณศรี" คือ กระโถนเล็ก สำหรับทรงบ้วนพระโอษฐ์ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มาให้ชมกันครับ

แม้พระมหากษัตริย์จะเลิกเสวยพระศรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา แต่ก็ยังเป็นราชประเพณีที่จะทอดพานพระขันหมาก หรือพานพระศรี ไว้ข้างพระราชอาสน์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ ตราบจนปัจจุบันครับ

ในซองพระศรียังมีพลูจีบ และในมังสี ก็ยังมีหมากสดฝานบรรจุอยู่ครบถ้วน หากโปรดจะเสวยขึ้นมาจริงๆ ก็มีเครื่องพระศรีพร้อมสรรพอยู่ในพานพระขันหมากนี้แหละครับ

หากจำไม่ผิด พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเคยลองเสวยพระศรีมาแล้ว และเมื่อทรงพระนิพนธ์เรื่องสั้น ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า "พานพระศรี"
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 04:47

 ขอเล่าความเปิ่นของตัวผมเองให้ฟังสักนิด เรื่องมีอยู่ว่าสมัยเด็กๆ เวลาไปเยี่ยมคุณยายทีไรก็จะเห็นคนเฒ่าคนแก่แถวนั้นกินหมากกันปากแดง แต่หลังๆ มาเมื่อสักยี่สิบปีให้หลัง ตอนคุณยายอายุราวๆ ๗๐ ปี ก็เลิกกินหมาก ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ว่าแล้วก็ต้องไปถาม..

ที่เปิ่นตามประสาเด็กก็คือผมเห็นหมากฝาน สีส้มสวยงามอยู่ในเชี่ยนหมาก ก็ร้องอยากกิน เพราะผมเห็นว่าเป็น "ไข่เค็ม"

จนเดี๋ยวนี้ผมเห็นหมากฝานทีไร ก็ยังนึกถึงไข่เค็มทุกที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 09:00

 ครั้งแรกที่เคยเดินเข้าไปในตลาดขายส่งของตจว.   เจออะไรคล้ายๆไข่เค็มวางขายอยู่เยอะแยะท่ามกลางลูกไม้เป็นพวงสีเขียวแก่
ยังนึกว่าทำไมเขาเอาไข่เค็มมาขายปนกับลูกไม้  อ้าว มองไปไม่ยักใช่   หมากผ่าซีกน่ะเอง
พอคุณ UP มาเล่าเลยนึกถึงความหลังครั้งนี้ขึ้นมาอีกค่ะ

ที่บ้านมีกระโถนบ้วนน้ำหมากของคุณทวดเหลือไว้เป็นอนุสรณ์  ทำด้วยกระเบื้องขาวเขียนลายมังกร ใบเล็กน่ารัก  คุณทวดคงไม่นึกว่าร้อยปีต่อมา กระโถนบ้วนน้ำหมากจะได้ใส่ตู้โชว์
อีก 100 ปีข้างหน้า ขวดน้ำปลา หรือถ้วยพลาสติคที่เราใช้กันประจำทุกวันนี้ จะกลายเป็นของหายากต้องใส่ตู้โชว์บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้

ย้อนกลับมาถึงสมัยรัฐนิยม
รัฐบาลไทยทำศึกกับหมากแบบตีกระหน่ำไม่ให้ได้ผุดได้เกิด  สื่อของราชการโหมประโคมไม่หยุดยั้ง  เป็นศึกระดับชาติ โปรเจ็คใหญ่เอาการ
นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงนายไพโรจน์  ชัยนาม  เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๖ ว่า

"ทางราชการได้มีคำสั่งให้เลิกกินหมาก    ช่วยติดต่อกับนายแพทย์  ช่วยชี้แจงโทษของการกินหมากอย่างจริงจังบ่อยๆ
และให้ทางสภาวัฒนธรรมช่วยจัดการโฆษณาโทษการกินหมากนี้เป็นการครึกโครมด้วย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 09:11

 กรมสาธารณสุขก็ให้ความร่วมมือครึกโครมสมนโยบายของท่านนายกฯ
ประสานงานกับกรมโฆษณาการ  มีคำแถลงออกมายาวเหยียดถึงโทษของการกินหมาก

มันยาวเหลือเกิน พิมพ์ไม่ไหว  ขอสรุปเป็นข้อๆนะคะ
- ฟันดำไม่สวย  กินหมากแล้วหน้าแก่
- อารยประเทศเขาไม่กินหมากกัน  
- สถานที่ต่างๆและเครื่องแต่งกาย จะสกปรกจากคราบน้ำหมาก
- ปากสกปรก เพาะเชื้อโรค
- ปูนกัดปากเป็นแผลได้ง่าย
- ทำให้ปลายประสาทที่ลิ้นชา   กินอาหารไม่เป็นรส  ต้องกินรสจัดให้เป็นโรคกระเพาะได้
- มัวกินหมาก ทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา   ต้องหาของกินจุบกินจิบแทน   เป็นผลให้ไฟธาตุหย่อน
- เป็นต้นเหตุของมะเร็งกรามช้าง

หมากถูกปราบราบคาบไปจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒    ญี่ปุ่นยอมแพ้ฝ่ายพันธมิตร   ต้องถอนกำลังออกจากประเทศไทย
จอมพลป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต่อจากนั้นประชาชนไทยก็ได้ถอดหมวก ถอดรองเท้า นุ่งโจงกระเบนได้ตามปกติ
ใครกินหมากก็ไม่มีใครห้าม    
แต่หมากพ่ายแพ้ในสงครามปราบปรามหมากที่เริ่มจาก ปี ๒๔๘๒ -มาจนถึง ปี ๒๔๘๘ เสียแล้ว   ถึงหมากกลับมาอีกครั้งก็มาอย่างคนชราหมดเรี่ยวหมดแรง  ไม่เป็นที่นิยมในสังคม
มีแต่คนแก่เท่านั้นที่กินหมาก  ส่วนคนไทยรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  โดยเฉพาะคนในเมืองหลวง ไม่นิยมกินหมากกันอีก  เหลือมีอยู่ในต่างจังหวัดไกลๆ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 09:56

 กระโถนที่บ้านคุณเทาชมพูคงเป็นของควรเข้าตู้โชว์แน่นอนล่ะครับ ผมเข้าใจว่าเครื่องกระเบื้องจำนวนไม่น้อยของคนรุ่นคุณทวดในสกุลของใครต่อใครหลายคนในที่นี้ ล้วนเป็นของล้ำค่าควรเข้าพิพิธภัณฑ์

พูดถึงกระโถน..

ยิ่งบ้านไหนนิยมสะสมเครื่องลายคราม หรือเครื่องเบญจรงค์ มาแต่เก่าก่อน แล้วสมบัติเหล่านั้นสามารถตกทอดมายังลูกหลานได้ไม่กระจัดกระจายหายสูญ ยิ่งนับเป็นโชคเหลือเกินของทายาทนะครับ

เคยไปบ้านผู้ใหญ่เคารพนับถือท่านหนึ่ง แล้วผมก็ต้องตาโต เพราะท่านมี "กระโถนวังหน้า" มูลค่ามหาศาลตั้งอยู่ใบหนึ่ง เห็นแล้วอยากจะปิดทอง

ผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านว่าต้องไม่บอกคุณแม่ของท่านว่าของชิ้นนี้มีมูลค่าขนาดไหน ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณแม่ท่านจะนำไปซุกซ่อนในที่ลึกลับเพราะกลัวใครจะมายักย้ายขโมยไป น่าแปลกที่ผู้สูงอายุจะมีวิธีและมีสถานที่ซุกซ่อนข้าวของต่างๆ ได้อย่างลี้ลับมหัศจรรย์ ของนั้นๆ ในที่สุดก็จะไม่มีใครหาเจอ กลายเป็น Holy Grail

เรื่อง "ขวดน้ำปลา" ก็อย่าประมาทไปเชียวนะครับ ขวดน้ำปลารุ่นเราอาจเข้าตู้โชว์ได้ในวันหน้า ไม่น่าแปลกเลย เพราะบัดนี้ ขวดน้ำปลารุ่นคุณปู่คุณย่าได้เข้าตู้โชว์ไปแล้ว

นึกขวดน้ำปลาสมัยก่อนที่เป็นขวดแก้วเจียระไนหยาบๆ มีจุกเป็นแก้วหล่อเป็นรูปทรงกลมบ้าง แหลมๆ บ้าง ออกมั้ยครับ ผมเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีขายตามร้านขายของเก่า เป็นของควรสะสมแล้วครับ
บันทึกการเข้า
ทามะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 23

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 10:54

 ได้เข้ามาอ่านหมากทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆเวลาไปเที่ยวบ้านเกิดแม่ที่สุพรรณอ่านแล้วคิดถึงยายเพราะไปทีไรจะต้องไปตำหมากให้ท่านกินประจำสมัยนั้นจะแย่งกันตำหมากกะพวกพี่ๆน้องๆที่ใส่หมากตำของยายจะเหมือนกลวยปากใส่หมากกว้างกว่าปากขวดน้ำหน่อยหนึ่งและที่ตำจะยาวมีจุกจับกลมๆเวลาตำถ้าไม่ระวังที่ตำจะตำออกมาโดนมือประจำจะเจ็บตลอดแต่ก็ชอบรู้สึกมีความสึกดีแต่พอโตขึ้นมาก็เคยลองกินหมากเหมือนกันรู้สึกกวาดๆปากดีเพราะปัจจุบันเวลาไปทำบุญให้แม่ผู้ใหญ่เจอกันก็ยังมีกินหมากกันอยู่แต่ปัจจุบันไม่ตำแล้วเคี้ยวกันเลยมองดูรู้สึกว่าพวกท่านมีความสุขคุยไปเคี้ยวหมากไปค่ะ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 11:32

 เขาเรียกกันว่า "ตะบัน" หมากครับ คุณทามะ
ก็มีอยู่อันหนึ่ง  แต่เป็นสมบัติของแม่นะครับ  เดิมเป็นของเมียคุณตาร่างแคระที่จะถูกยิงเป้าช่วงข้าราชการผู้รักชาติไปค้นหาต้นหมากพลูใน คหพต.๓๓  นั้นแหละครับ



เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ  นักร้องลูกทุ่งแห่งเมืองสุพรรณ  บ้านเดิมก็ไม่ห่างจากบ้านผมนัก  ร้องไว้ตอนหนึ่งยังติดหูเลยว่า

....... คนแก่ติดหมากลากตะบันออกมาโขลก
เขกหัวล้านดังโป๊ก  ว่าอย่าเอ็ดไปยายจะฟัง .....
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 26 ส.ค. 06, 17:06

 อ้าว พูดเล่นแท้ๆเรื่องขวดน้ำปลา  กลายเป็นเรื่องจริงไปแล้วหรือคะ
ขวดน้ำปลาที่คุณ UP เอ่ยถึง ดิฉันคิดว่าเคยเห็น   เดี๋ยว..ต้องไปค้นในห้องเก็บของก่อน เผื่อหลงเหลือ  จะได้ซุกซ่อนเป็น Holy Grail ประจำบ้านต่อไป

ตะบันหมาก มีตำนานสัมพันธ์กับลิเกดังๆในอดีต    คนรุ่นปู่รุ่นทวดท่าน"อิน" กับลิเกเหมือนเราอินกับละครทีวี
ตัวโกงลิเกฝีมือเก่งๆ เล่นบทโกงได้ร้ายกาจ แกล้งพระเอก ข่มเหงนางเอก จนคนดูเกลียดชังกันทั้งโรง  
ว่ากันว่า อาวุธยอดนิยมที่มักพุ่งจากมือคุณย่าคุณยาย เปรี้ยงลงกลางเวที  ก็คือตะบันหมากนี่ละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 27 ส.ค. 06, 09:44

 มองในอีกแง่หนึ่ง  ถ้าหากว่าหมากไม่มีอะไรดีเสียเลย   คนไทยก็คงไม่เคี้ยวหมากยืนยาวมาตั้งเจ็ดแปดร้อยปีเป็นอย่างน้อย

ความดีข้อหนึ่งของหมาก เป็นยังไง   มีหลักฐานจากบันทึกของหลวงวิจิตรวาทการ ว่า

" เมื่อข้าพเจ้าได้ออกไปจากพระราชอาณาจักรสยามเป็นครั้งแรก   พอถึงสิงคโปร์ก็รู้สึกประหลาดใจ  ที่เห็นป้ายหมอฟันทันตแพทย์ดื่นดาษ
พอไปถึงเมืองฝรั่งก็แปลกใจเช่นเดียวกัน   เพราะในเวลานั้นเมืองเรายังไม่มีหมอฟันมากมาย
ภายหลังไปได้ความคิดว่าที่ต่างประเทศมีหมอฟันมาก  คงเป็นเพราะเหตุอย่างเดียว  คือเขาไม่รับประทานหมาก
ข้าพเจ้าอยู่ในยุโรปได้หน่อยหนึ่งเกิดปวดฟัน  ไปหาหมอฟัน เขาเอายาใส่   ยาอันนั้นไม่ใช่อื่นไกล  กลิ่นเป็นปูนแท้ๆ
เลยทำให้นึกแน่ว่า   ถ้าข้าพเจ้ายังรับประทานหมากอยู่จะไม่เจ็บฟัน  
คราวนี้พอข้าพเจ้ากลับเข้ามากรุงเทพฯ  ก็แปลกใจอีกครั้งหนึ่งคือ เห็นมีหมอฟันขึ้นมากมายในเมืองไทย
ภายหลังก็ทราบได้ว่าทำไมหมอฟันจึงมีมาก   คือคนไทยเราเลิกรับประทานหมากเสียโดยมากนั่นเอง"

ถ้ากระทู้นี้มีทันตแพทย์ หรือผู้รู้เรื่องฟันแวะเข้ามาตอบข้อนี้ได้จะขอบคุณมาก  ว่าการกินหมากรักษาฟันได้จริงหรือคะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 27 ส.ค. 06, 12:08

 ขอขอบพระคุณทุก ๆ ความเห็นครับ
ข้อที่ว่า กินหมากแล้วทำให้ปลายประสาทที่ลิ้นชา นี้ เท่าที่ผมทราบ น่าจะเป็นอาการของลิวโคพลาเคีย ที่พบในคนที่กินของร้อนบ่อย ๆ หรือกินหมากจัด ๆ ทำให้ลิ้นเป็นฝ้าขาวครับ

ที่เหลือ ขอเรียนเชิญสมาชิกมาแบ่งปันความรู้ตามอัธยาศัยครับ
ป.ล. ยีนเด่น = เสริมความเด่นดัง    
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 28 ส.ค. 06, 10:04

 คงมีบางท่านที่อ่านกระทู้นี้แล้งเกิดคำถามกับตัวเองว่า ถ้ารัฐบาลไม่ปราบปรามหมากเสียราบคาบในยุครัฐนิยม    จนทุกวันนี้หนุ่มสาวชาวไทยจะยังกินหมากกันอยู่ เหมือนพม่าหรือไต้หวันไหม

ถ้าถามดิฉัน  ดิฉันเห็นว่าก็อาจมีบ้าง  แต่ถึงยังไง ส่วนใหญ่คงไม่กิน   เพราะอิทธิพลแฟชั่นที่หนุ่มสาวไทยรับมาจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น  ล้วนเป็นสังคมไร้หมาก
นิยมฟันขาว  ผิวขาว  ปากทาลิปสติค  หรือลิปกลอสสีธรรมชาติ
ซึ่งไปกันไม่ได้เลยกับฟันดำและคราบหมาก  ต่อให้มีขี้ผึ้งสีปากทำนองเดียวกับลิปกลอสก็เถอะ
ยิ่งหนุ่มสาวไทยนิยมหน้าตาแบบญี่ปุ่นทั้งชายและหญิง     หมากก็ย่อมไม่มีที่ยืนอีกแล้วในแฟชั่นความงาม
ส่วนเรื่องรักษาฟัน    เราก็มีทันตแพทย์ โภชนาการ และวิธีดูแลฟันอีกสารพัดวิธีโดยไม่ต้องพึ่งพาหมาก
นับเป็นจุดจบของหมากไทยอย่างแท้จริง
**********************
หนังสืออ้างอิง

-ศิลาจารึกหลักที่ ๑
-พระราชนิพนธ์ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด
-พระราชนิพนธ์ อิเหนา
-ชานพระศรี   ของ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
- หนึ่งในร้อย ของ ดอกไม้สด
-ประมวลหลักฐานการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สมัยประชาธิปไตย ของ ส. พลายน้อย
บันทึกการเข้า
ทามะ
อสุรผัด
*
ตอบ: 23

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 28 ส.ค. 06, 13:33

 เห็นด้วยกะท่านอาจารย์เทาชมพูคับผม
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 28 ส.ค. 06, 20:28

 ตัวอย่างหนุ่มสาวฟันสีนิล ผู้กินหมาก  

.
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 19 คำสั่ง