เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 25940 วัฒนธรรมหมาก
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 02:49


ขอร่วมวงสนทนาด้วยคนนะครับ

พูดถึงหมาก แล้วทำให้ผมคิดถึง "หมากพนม" หรือ "พนมหมาก" ซึ่งเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเป็นอย่างยิ่ง

พนมหมากนี้ยังพอจะเห็นทำกันอยู่ในสมัยปัจจุบัน เคยเห็นเวลายกขันหมาก บางทีก็เห็นฝ่ายเจ้าบ่าวถือพนมหมากที่ประดิษฐ์มาอย่างประณีตก็มี

พนมหมากคือการนำพลูจีบยาวมารวบเข้าด้วยกันเป็นทรงกรวย รัดด้วยมาลัยซีกเป็นระยะๆ ให้สวยงาม บรรจุอยู่บนพาน รอบๆ พลูจีบ มีแผงใบตองเย็บแบบบนแผงนั้นไม่ได้ร้อยกรองด้วยดอกไม้ แต่ใช้ผลหมากฝานเป็นคำๆ ผนึกไว้แทนครับ

โอกาสที่เห็นพนมหมากบ่อยที่สุดคือเทศกาลลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัยครับ ที่นั่นเขามีการประกวดกระทงลอย พนมหมาก พนมดอกไม้ เพื่อนำไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีขบวนแห่แหนกันเอิกเกริก

ทั้งกระทงลอย ทั้งพนมหมาก และพนมดอกไม้ ล้วนแต่เป็นของที่นางนพมาศ อ้างว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ทั้งสิ้นครับ

ใครอยากเห็นพนมหมากว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ลองไปดูที่หน้า ปราสาทพระเทพบิดร นะครับ พุ่มปูนปั้นทรงกรวยแหลมทาสี เขียวๆ ที่มุมฐานไพทีนั่นแหละครับ คือ พนมหมาก หรือ หมากพนม เป็นของจำลองซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 13:58

 เดินตามหมากไปเมืองสุพรรณ  เลยไปถึงพม่า แล้วกลับมาเชียงใหม่
ก่อนจะเดินเข้าวัดพระแก้ว ไปถึงหน้าปราสาทพระเทพบิดร
แทบจะกลับมาหาสียะตราไม่ถูก
ตอนนั้นสียะตราอายุไม่กี่ขวบ ยังเล็กขนาดอิเหนาอุ้มได้   แต่เด็กเล็กขนาดนี้ก็กินหมากแล้ว
เพราะมีบทว่าไปหนุนตักพี่สาว อ้อนขอชานหมาก

ครั้นถึงนอนลงเหนือเพลา..............คลึงเคล้าเย้าหยอกเกษมศานต์
แล้วบังคมทูลขอชาน...................จงประทานให้น้องบัดนี้

บุษบาไม่รู้อุบาย ก็คายให้   สียะตราก็ยังเล่นแง่ต่อไปว่า
....
ว่าชานเก่าจืดไม่ชอบใจ................พี่นาจงได้เมตตา
เคี้ยวประทานชานอื่นเหมือนน้องใหม่........เอาเครื่องหอมใส่ให้หนักหนา
ว่าพลางทางหยิบหมากมา............ป้อนระเด่นบุษบาฉับพลัน

พอป้อนเสร็จหลอกให้พี่สาวเคี้ยว คายออกใส่มือ ก็ฉวยวิ่งไปให้อิเหนา
อิเหนาก็ดีใจ  เคี้ยวหมากต่อจากบุษบา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 14:10

แฟชั่นเคี้ยวชานหมากระหว่างหนุ่มกับสาวคงจะหมดไปตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น
พอล่วงมาถีงรัชกาลที่ 5 กลายเป็นต่างคนต่างเคี้ยว  แต่หมากก็ยังนำใช้แสดงความในใจกันอยู่

ใน"สี่แผ่นดิน" หนุ่มสาวสมัยปลายรัชกาลที่ 5 จีบกันกระมิดกระเมี้ยนละเมียดละไม    พี่เนื่อง แฟนคนแรกของแม่พลอย   เมื่อเกิดต้องตาต้องใจแม่พลอย  ก็ฝากน้องสาว ส่งเพลงยาวพร้อมน้ำอบมาให้สาวเจ้า  ตัวเองเข้าไม่ถึง ได้แต่ชะเง้ออยู่หน้าประตูวัง
แม่พลอยไม่กล้าตอบเพลงยาว  แม้แต่เขียนตอบผู้ชายก็ถือว่าไม่สมควร  จะบอกด้วยปากยิ่งกระดากใหญ่ พูดไม่ได้เป็นอันขาด  
วิธีแสดงว่ารับไมตรี ก็ไม่พ้นหมากเข้ามาเป็นสื่อแสดงความในใจ

" พลอยเย็บซองใส่หมากพลูอย่างประณีตบรรจง   จะแทบจะสิ้นสุดฝีมือ    เจียนหมากชนิดเปลือกเป็นฝอย  จีบพลูยาว ใช้ปูนใส่ใบเนียม  อบหอมกรุ่น และยาฝอยอบแล้วเช่นเดียวกัน
รุ่งเช้าก็เอาหมากพลู และยาฝอยที่เตรียมไว้ใส่ซอง    เอาผ้าเช็ดปากใหม่ที่อบควันเทียนและดอกไม้ไว้ เหน็บซองพร้อมกับดอกจำปาอีกสามดอก  แล้วก็แอบเอาส่งให้ช้อยในตอนเช้า โดยไม่ยอมพูดจาว่ากระไร
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 16:19

 ตำนานการกินหมากของชาวเวียดนามครับ

ในแผ่นดินพระเจ้า Hung-voung (ราว 2000 BC - CH) ครอบครัว Cao มีลูกชายฝาแฝดคู่หนึ่งซึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากจนไม่มีใครสามารถแยกออกได้

อาจารย์ Luu ผู้เฉียบแหลมเรียกคนรับใช้ให้นำข้าวสวยหนึ่งชามกับตะเกียบหนึ่งคู่มา และเชื้อเชิญให้ชายหนุ่มทั้งคู่มาที่โต๊ะ

Lang ยกอาหารมื้อนี้ให้ Tan ดังนั้นอาจารย์ Luu จึงรู้ว่า Tan เป็นพี่ชาย และยกลูกสาวให้แต่งงานกับ Tan ทั้งคู่ครองรักกันอย่างมีความสุข

หลังการแต่งงาน Tan ก็ไม่มีคลุกคลีสนิทสนมกับ Lang อย่างที่เคย  Lang รู้สึกเศร้าใจกับความเหินห่างที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันเช่นนี้ เขาจึงออกร่อนเร่เดินทางไปทั่ว

วันหนึ่งเมื่อเขาไปถึงแม่น้ำ เขาหยุดรอเรือข้ามฟากอยู่ที่นั่น เขารอแล้วรอเล่าเรือก็ไม่มาสักที ในที่สุดเขาก็ตาย และกลายเป็นต้นหมากอยู่ ณ ที่นั้น

วันหนึ่ง Tan เพิ่งจะรู้ว่าน้องชายของเขาได้จากบ้านไป เขาจึงออกตามหา Lang เขาตามไปถึงริมฝั่งแม่น้ำ เขารู้สึกเศร้าใจมากกับความตายของน้องชาย เขาจึงเอาหัวโขกต้นหมากจนตาย แล้วกลายเป็นก้อนหินปูนอยู่ ณ ที่นั้น

ภรรยาของ Tan รู้สึกเป็นห่วงมาก เธอจึงออกตามหาสามี และที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นเองเธอจึงรู้ว่าสามีและน้องสามีได้ตายลงแล้ว เธอกอดก้อนหินปูนร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้นจนตาย และกลายเป็นต้นพลูเกาะติดอยู่กับหินปูนก้อนนั้น

หลายปีต่อมา พระเจ้า Hung-voung เสด็จผ่านมาที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องราวของสองพี่น้องและภรรยาของเขา พระองค์จึงทรงเคี้ยวใบพลูพร้อมกับหมากและพบว่ารสชาติเข้ากันได้ดีทีเดียว เมื่อพระองค์ทรงถ่มพระเขฬะลงบนก้อนหินปูนและพบว่าหินปูนกลายเป็นสีแดงเข้ม พระองค์จึงดำริว่าความรักของพี่น้องคู่นี้และภรรยาของเขาทำให้เกิดสีแดงนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้ผู้คนสร้างศาลให้กับพวกเขา

ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนจึงรู้จักการกินหมากกับใบพลูเพื่อให้ปากแดง ในพิธีแต่งงาน มีธรรมเนียมว่าจะต้องให้หมากพลูเป็นของขวัญแก่ครอบครัวของคู่บ่าวสาว นอกจากนี้หมากพลูยังเป็นของรับแขกอีกด้วย ดังคำกล่าวของคนเวียดนามที่ว่า "ใบพลูเป็นสิ่งที่นำไปสู่การสนทนา"

แปลจาก http://kicon.com/stories/traucau/e_index.html  
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 16:59

 ตำนานการกินหมากของเวียดนามสนุกและน่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

การกินหมากของพม่า และ หมากพนม ก็ไม่แพ้กัน
คุยไปคุยมาเดี๋ยวจะแตกย่อยซอยแยกไปมาก
เดี๋ยวกว่าจะวกกลับมาหา “ วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย ” ตามหัวข้อกระทู้ก็เล่นเอาเหนื่อยแน่

ถ้างั้นหมากชายแดนพม่า กับ หมากล้านนา ขอถอนตัวก่อนชั่วคราวครับ แฮ่ะๆ
 

ตอนนี้ขอนั่งรออ่าน “ วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย ” ด้วยใจจดจ่อต่อไปครับ


" ใบพลู "
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 17:05

 อ้าว อย่าเพิ่งหอบหมากหอบพลูหนีไปง่ายๆสิคะ
เข้ามาเล่าให้ฟังหน่อย คุณหมูน้อย
หมากในไทยชักไม่ค่อยเหลือแล้วค่ะ  ขอหมากอิมพอร์ตมาเสริมให้แน่นตะกร้าด้วย

ว่าแล้วก็ขอตัวไปเที่ยวสามชุกก่อนนะคะ  
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 17:18

 ขอแจมอีกนิดนะครับ

สงสัยว่าใบชะพลู เขากินกับหมากได้ด้วยรึครับ เห็นคุณศรีฯเล่าทิ้งไว้ใน คหพต.ที่ 9 ปกติเห็นเขากินกับใบพลูเท่านั้นไม่ใช่รึครับ ??  


ปล.อาจารย์ครับตรงนี้มุกหรือว่ามันมีจริงๆครับ
ผมอ่านแล้วก็ขำทุกครั้ง

" ..หมากในโบราณสถานโดยคุณกุรุกุลา หรือหมากในลายผ้า(ถ้ามี) ของคุณติบอ ฯลฯ.."

หมากในลายผ้า ? ? ! !    
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 18:08

 ต้องขอกราบขออภัยนะครับ
ที่ผมเข้าใจผิดคิดว่า ใบชะพลู
กับ ใบพลู เป็นชนิดเดียวกันครับ

ส่วนในรูป นั่นคือวง พรู
ผมจิ๊กมาจาก
 http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3170456/A3170456.html
ครับ ไม่เกี่ยวกับหมากพลูแต่อย่างใด

พอดีผมพบลิงค์นี้ ก็เลยนำมาฝากครับ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=26909  
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 10:18

 เคยเขียนบทความเกี่ยวกับหมากเอาไว้ ชื่อ ชานพระศรี ดูเหมือนว่าเว็บวิชาการยังไม่ได้เอามาจัดใหม่  หรือจัดแล้วแต่หาไม่เจอ
ไปค้นมาได้จากกูเกิ้ล
เลยลอกมาให้อ่านกัน  ถ้ายังไม่ได้ทำ  ก็ขอฝากคุณบัวอื่นทำบทความใหม่ด้วยค่ะ

ชานพระศรี

เทาชมพู

    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่องคาวี มักประทับอยู่ที่ช่องตรงระเบียงอัฒจันทร์พระมหามนเทียร โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเข้าเฝ้าเป็นประจำ ทรงอ่านพระราชนิพนธ์ให้ฟังพร้อมทรงถามความคิดเห็น

    เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสวยพระศรี(หมาก) ก็มักจะหยิบพิมเสนในเครื่องพระศรีมาเติมให้ แล้วพระราชทานชานพระศรีนั้นให้พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นเคล็ดว่าจะได้ถ่ายทอด พระปรีชาชาญให้ติดไปด้วย

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎผนวชตลอดรัชกาล ก็ได้พระราชทานชานพระศรี ให้นายเพ็ง ข้าหลวงเดิมที่ทรงพระเมตตาดุจบุตรบุญธรรม ทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นความรู้แก่ข้าหลวงเดิมผู้นี้ ทั้งประวัติศาสตร์และคติสอนใจหลายต่อหลายเรื่อง

    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเพ็งก็ได้เลื่อนยศตำแหน่งในราชการเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุด บั้นปลายชีวิตได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

    เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเล่าพระราชทาน เจ้าพระยามหินทรฯ จดจำไว้นำมาแต่งเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ "ชานพระศรี" มีทั้งคติสอนใจเรื่อง "ความสามัคคี" ลิลิตคำโคลงเรื่องพงศาวดารฝรั่งเศส บทความเรื่อง "ติณชาติและรุกขชาติ" และนิทานเรื่อง "ขรัวเต๊ะ" ซึ่งสนุกมากค่ะ จึงขอเก็บความมาเล่าให้ฟัง สลับบทกลอนที่เป็นฝีปาก เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านเอง

จะกล่าวถึงขรัวเต๊ะคนเกะกะ
สาธุสะแสนอุบาทว์ใจอาจหาญ
อยู่วัดสองพี่น้องบ้านคลองตาล
เป็นสมภารนอกบรรทัดอาลัชชี
ต่อหน้าคนทนทำสมถะ
วางจังหวะว่าเป็นกูไม่สูสี
เรียนโกหกยกตนเป็นคนดี
ไม่รู้ทีก็นับถือว่าซื่อตรง

    อลัชชีขรัวเต๊ะพระมีลูกวัดอยู่อีก ๑๗คน เสเพลกินเหล้าเมายาพอกัน รวมหัวกันหลอกลวง ชาวบ้านมานาน ๑๕-๑๖ ปี ไม่มีใครจับได้ จนมาวันหนึ่งลูกน้องอยากตั้งวงโจ้เหล้าเต็มแก่ แต่ขาดของแกล้ม ก็มากราบกรานขอสมภารให้ช่วยไปหามาให้ สมภารก็บอกว่าได้ ว่าแล้วก็ออกจากวัดตรงไปหาชาวบ้าน ออกอุบายปั้นเรื่องขึ้นมาว่า เมื่อคืนเทวดามาเตือนว่า จะเกิดฟ้าผ่าเกิดไฟไหม้ชาวบ้านตายกันเรียบ แต่ตัวแกมีวิชาจะช่วยให้รอด ต้องล้มหมูหาไก่เป็ดพร้อมเหล้ามาเป็นเครื่องบัตรพลี ชาวบ้านฟังก็ขวัญบิน เชื่อถือสมภารรีบจัดหามาให้ ขรัวเต๊ะก็หลอกอีกว่า คืนนี้จะวงสายสิญจน์รอบวัด ๓ ชั้น เพื่อทำพิธี แต่สายสิญจน์นี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครเผลอล้ำเส้นเข้ามาจะกลายเป็นคนบ้าคลั่ง คุ้มดีคุ้มร้าย จึงขอให้ชาวบ้านทุกคนระวังตัวเก็บตัวอยู่ในบ้านอย่าเฉียดเข้ามาใกล้วัด เป็นอันขาด

    มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนายสอน มัวแต่ไปนอนเฝ้าห้างในไร่มาหลายวันไม่รู้เรื่องนี้ คืนนั้นกลับบ้านผ่านมาทางวัดได้ยินเสียงขี้เมาเอะอะเฮฮากันก็สงสัยว่าใครมาทำอะไรในวัด จึงย่องเข้าประตูวัดไปแอบดู ก็เห็นสมภารและลูกวัดทั้งหลายกินเหล้าเมาหยำเปกันครึกครื้น

หยิบกับแกล้มแถมเหล้าเมาออกเซอะ
พูดเลอะเทอะทั้งประทัดตุหรัดตุเหร่
บ้างรำฟ้อนอ่อนคอเสียงอ้อเอ
หัวเราะเฮฮาลั่นสนั่นไป

   นายสอนตาลีตาเหลือกกลับบ้านไปบอกเมียพ่อตาแม่ยาย พวกนั้นฟังแล้วก็นึกถึงคำสั่ง ของขรัวเต๊ะได้ ก็แน่ใจว่าลูกเขยล้ำเส้นสายสิญจน์เข้าไป ถึงเสียสติมองเห็นภาพหลอน จึงห้ามปรามไม่ให้คิดมาก เกิดทะเลาะกันใหญ่จนนายสอนเบรกแตก อาละวาดว่าไม่มีใครเชื่อ ชาวบ้านอื่นๆก็ยิ่งเห็นจริงว่าบ้าแน่ ก็เลยช่วยกันจับนายสอนมัดไว้ พาไปหาสมภาร ขอให้ช่วยรดน้ำมนตร์รักษาอาการ สมภารได้ท่าบอกชาวบ้านว่าให้ทิ้งคนไข้ไว้ที่วัดจะรักษาให้ พอชาวบ้านกลับไปหมดแล้วทั้งสมภารทั้งลูกน้องก็จับนายสอนเฆี่ยนตีจนสาแก่ใจ

    นายสอนตัวคนเดียวสู้ไม่ไหว ทั้งที่แค้นแสนแค้นก็จำต้องปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล ลงกราบสมภารบอกว่าหายบ้าแล้ว รู้แล้วว่าพระทั้งหลายไม่ได้เมา ขอให้ปล่อยตัวกลับบ้าน ไปตามเดิม แต่ใจก็ไม่วายสวดพระเรื่อยไปถึงชาวบ้านรอบตัวที่ไม่รู้เท่าทัน

เป็นเหตุเพราะสัปปุรุษนี้สุดเซอะ
อ้ายพระเคอะทำแค้นแสนสาหัส
ชั่งอัปรีย์ขี้ถังทั้งประทัด  
จับเรามัดไปให้พระนอกประเด็น
ไฉนหนอพ่อแม่แกชั่วโฉด
มาส่งโจทก์ให้จำเลยไม่เคยเห็น
ต้องบิดสรรพกลับร้อนผ่อนให้เย็น
การที่เห็นจะต้องหายคลายเป็นดี
สัจจังจริงกิงฤาอย่าถือเลย
ด้วยของเคยถือกันต้องหันหนี
เห็นสิ่งไรไปเมื่อหน้าอย่าพาที
เราทนดีเขาไม่ได้ไม่ชนะ
บูราณว่าฝนตกขี้หมูไหล
คนจัญไรร้อยบ้านมาพาลปะ
พระตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วไปตามพระ
ต้องจำจำทำแพ้แน่แล้วเรา

    ฝีปากของเจ้าพระยามหินทรฯนับว่าคมคายไม่น้อย เพราะทิ้งท้ายเรื่องนี้ไว้เป็นแบบ ประชดประชันตั้งชื่อว่า "สุภาษิตบิดบดคดในข้อ" แทนที่จะสอนอย่างตรงไปตรงมา อย่างสุภาษิตเรื่องอื่นๆทั่วไป

แม้นผู้ใดใจตรงประสงค์ซื่อ
จนกลับถือสุภาษิตที่บิดสรรพ
ผู้ใดถือซื่อใส่เสียให้ยับ
เอาแบบฉบับนี้แลแลดีนัก
คดีธรรม์นั้นไปขว้างเสียกลางน้ำ
ช่วยกันทำแต่ที่จะอัปลักษณ์
อย่าเป็นผู้รู้คุณการุญรัก
เป็นคนอกตัญญูจะดูดี
ใครโอนอ่อนผ่อนผันอย่าหันหา
ช่วยอิจฉาฉ้อฉลให้ป่นปี้
เขาเกลียดฤาถือว่ากลัวแลตัวดี
ความอัปรีย์เมื่อไรเอาไหนมา
แอบทำชั่วเล่นลับๆจับใครได้
ลูกเมียใครเร่งรักให้หนักหนา
น้ำท่วมเกลือเหลือล้ำอย่านำพา
ใครนินทาวุ่นวายอายไปเอง
.....................................................

อย่าหลงถือซื่อสัตย์มักขัดสน
จงคิดกลให้ได้ดังหนึ่งกังหัน
ลมพัดกล้ามาทางไหนไปทางนั้น
หมุนให้มันรอบตัวกลัวทำไม
แม้นมีมิตรแล้วจงคิดทำลายล้าง
ตัดหนทางโกงเจ้าเอาแต่ได้
สละซื่อถือดังนี้ดีสุดใจ
อย่าเลือกหน้าว่าผู้ใดใส่ให้พอ

.....................................................

คนโน้นจิตคิดเห็นเป็นเช่นนั้น
คนนี้ผันผิดอย่างต่างกระแส
ร้อยคนร้อยอย่างล้วนคิดปรวนแปร
ไม่เที่ยงแท้หูมนุษย์สุดแต่ใจ
ที่คนดีก็ไม่มีระวังหวาด
มีแผลบาดบ้างก็แคลงระแวงไหว
เหมือนไก่ปล่อยร้อยพันสนั่นไป
ตัวไหนไข่ก็กระต๊ากหากจะเป็น
ซึ่งวิสัยธรรมดาสุภาษิต  
ก็ต้องคิดแคะไค้ออกให้เห็น
สิ่งดีชั่วกลั้วกันไปมิได้เว้น
ต้องชี้เช่นสาธกยกออกมา

************************************
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 17:50

ขออนุญาตลงกาพย์เห่เรือว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ครับ
๏หวนเห็นหีบหมากเจ้า    จัดเจียน มาแม่
พลูจีบต่อยอดเนียน            น่าเคี้ยว
กลี่กล่องกระวานเขียน         มือญี่ ปุ่นเฮย
บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว                ลอบให้เหลือหาญ ๚
     ๏หมากเจียนเจ้างามปลอด   พลูต่อยอดน่าเอ็นดู
กระวานอีกกานพลู                  บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ
      ๏เช็ดหน้าชุบน้ำอบ           หอมตรลบดอกดวงมาลย์
บังอรซ่อนใส่พาน                    ส่งมาให้ไม่เว้นวัน
       ๏เดือนสามสำเภามา                 มีใบชาชาติจุหลัน
ถ้ำคู่อยู่เคียงกัน                       กับให้เห็นเป็นปริศนา
       ๏เดือนห้าหน้าร้อนจัด        เจ้าให้พัดด้ามจิ้วมา
เรื่องร้อนผ่อนเพทนา                เพื่อพนิดาไม่ละเลย
       ๏คำนึงถึงเดือนหก            ทั่วทายกตามโคมเคย
งามนุชสุดพี่เอย                      ได้เห็นกันวันบูชา
       ๏เดือนแปดวันเพ็ญเจ้า      ย่อมไปเข้าพระพรรษา
รับศีลอย่างสีกา                       ด้วยเจตนาจำนงใจ
        ๏เห็นนวลครวญครุ่นคิด    กำเริบจิตวาบหวั่นไหว
ไปได้ก็จะไป                           โอบเอวอุ้มพุ่มพวงพยุง
        ๏ยามฝนดลเดือนสิบ        เริ่มข้าวทิพย์เจ้าจะหุง
หาของต้องการปรุง                   มุ่งใจจิตประดิษฐ์ประดอย
        ๏เดือนสิบเอ็ดเด็ดแดดิ้น    ยามกฐินทุกวันคอย
เห็นเรือไล่ถี่ซอย                       กลอยกลับเห็นเช่นแรกสม
        ๏คิดรูปน่ารักเหลือ            คิดนุ่มเนื้อน่าชมเชย
คิดเนตรขำค้อนคม                     ผมหอมชื่นรื่นรสคนธ์
         ๏ฤดูเดือนสิบสอง             หญิงชายซ้องแซ่อึงอล
ขึ้นล่องท่องเที่ยวชล                   ยลผ้าป่าราตรีกาล
         ๏เซ็งแซ่เสียงเภรี             ปานเรียมตีทรวงประหาร
พาทย์ฆ้องก้องกังวาน                 สารดุจน้องร้องเรียกเรียม
          ๏ทุกลำลอบเล็งลักษณ์    ไม่พบพักตร์เจ้างามเสงี่ยม
ดูไหนไม่เทียบเทียม                   ร่วมรักเรียมรูปร่างรัด
           ๏เดือนยี่พิธีพญา            โยนชิงช้าชนแออัด
สาวหนุ่มกำหนดนัด                     ทัศนาแห่แลหากัน
           ๏เรียมเตร่ตรวจทุกช่อง    ไม่เห็นน้องเนื้อนวลจันทร์
ว้าวิ่นดิ้นแดดัน                            หันเห็นท่าชิงช้าโยน
           ๏เชี่ยวชาญกระดานต้น     โยกเยกยลคนหกโหน
ถือท้ายกายอ่อนโอน                    โดนคิดได้ดั่งใจถวิล
           ๏แรมค่ำร่ำไห้หวน            แห่อิศวรย่ำยามยิน
เคยเห็นเป็นอาจิณ                        ช้าหงส์เห่เล่ห์ลมพราหมณ์
           ๏โอมอวดสวดสำเนียง       ไม่เหมือนเสียงนางนงราม
ล้ำเลิศเฉิดโฉมงาม                        ยามเย็นเช้าเจ้าอ่านฉันท์
           ๏อ่อนหวานสารเสนาะ        เพราะอักษรกลอนพาดพัน
แจ้วเจื้อยใจจาบัลย์                        ทุกวันหวังฟังเสียงสมร
           ๏ห้าค่ำย่ำยามปลาย           แห่นารายณ์เร่งอาวรณ์
อยู่ใกล้จะใคร่จร                           ไปรับเจ้าเคล้าคลอมา
           ๏เดือนแรมเหมือนเรียมค้าง  เรื่องรักร้างแรมขนิษฐา
แรมรสแรมพจนา                           แรมเห็นหน้านิ่งนอนแรม ๚๛
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 ส.ค. 06, 09:15

พระราชนิพนธ์ที่คุณศรีปิงเวียงยกมา   หวานมากค่ะ
*****************
มนต์ขลังของวัฒนธรรมหมาก เริ่มเสื่อมลงเพราะวัฒนธรรมไร้หมากของตะวันตก รุกคืบคลานเข้ามาแทน
ที่จริงก็เริ่มมาหลายอย่างแล้ว เมื่อสยามตัดสินใจว่าจะต้องไม่ทำให้ฝรั่งเห็นว่าป่าเถื่อน      
ขุนนางไทยในรัชกาลที่ ๓ นุ่งแต่ผ้า  ไม่สวมเสื้อเข้าเฝ้า  ยกเว้นหน้าหนาวที่หนาวจนขนลุก  ทนถอดเสื้อนั่งท่อนบนเปล่าๆไม่ไหว     แต่ในยุคต่อมาก็ต้องสวม
ที่เคยหมอบเฝ้า  ก็ต้องเปลี่ยนเป็นยืน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรป    นอกจากแต่งพระองค์อย่างฝรั่งแล้ว   อย่างหนึ่งคือต้องขัดพระทนต์ให้ขาว และงดเสวยหมาก
เพื่อจะกลมกลืนไปกับประมุขนานามหาอำนาจได้

เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ที่บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับมาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าไม่เสวยหมาก    คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็เริ่มไม่กินหมาก    ตั้งแต่เจ้านายลงไปถึงสามัญชน
เพราะหมากไม่เข้ากับความงามตามแบบตะวันตก   ฟันขาวถึงกลายมาเป็นค่านิยมใหม่แทนฟันดำอย่างเมื่อก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 19 ส.ค. 06, 09:24

 สมัยที่กินหมาก   กวีชมริมฝีปากของนางงามว่า  โอษฐ์เอี่ยมเทียมสีลิ้นจี่จิ้ม
ก็คือสีแดงแก่
แต่มาถึงรัชกาลที่ ๖  ในพระราชนิพนธ์  ศกุนตลา ทรงชมว่า
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน

ใบไม้อ่อนในที่นี้ไม่ใช่สีเขียว  แต่ใบไม้บางชนิดอย่างใบมะม่วงอ่อน เป็นสีชมพูเรื่อๆ ก่อนจะกลายเป็นสีเขียว
แสดงว่าค่านิยมในตอนนั้น   สาวๆที่ไม่ได้ทาปากและไม่ได้กินหมาก  ปากเป็นสีชมพูธรรมชาติแล้ว

ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ โจงกระเบนเริ่มหายไปจากแฟชั่นหญิงสาวนำสมัย    กลายเป็นผ้าซิ่น ตามพระราชนิยม     ผมบ๊อบแบบฝรั่งเข้ามาแทนที่ผมเสยด้วยขี้ผึ้ง
ในตอนปลายรัชกาลที่ ๖ นี้เองที่แม่พลอย ผู้เป็นคุณหญิงบทมาลย์บำรุงไปแล้ว   ต้องปล่อยผมให้ยาวเพื่อเกล้ามวย   เปลี่ยนจากโจงกระเบนเป็นนุ่งผ้าซิ่น    และที่สำคัญคือขัดฟันให้ขาว
ถึงยังกินหมากอยู่ก็จะต้องไม่ปล่อยให้ฟันดำเหมือนเมื่อก่อน  ต้องหมั่นขัดหมั่นแปรง
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 22 ส.ค. 06, 20:54

วันก่อนไปวัด พอดีเห็นป้าเข็นรถหมากมาขายเลย นำมาฝากอาจารย์ค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 22 ส.ค. 06, 20:58

ป้าคนขายถามว่าจะเอารูปไปทำอะไร พอบอกว่าจะนำไปลงเวปให้เพื่อนๆดู   ป้าแกใจดี ผ่าลูกหมากให้แถมยังบอกอีกว่า งั้นต้องเอาแบบผ่าให้เห็นเนื้อด้วยเลยได้รูปนี้มาค่ะ((แถมป้าแกยังจัดแจงวางลูกหมากให้เสร็จบอกว่าต้องถ่ายเทียบกันอย่างนี้))....ขอบพระคุณค่ะ คุณป้า..

.
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 22 ส.ค. 06, 21:00

อันนี้ก็ไอเดีย สุดเจ๋ง ของคุณป้าผู้อารีอีกเช่นกัน

.
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง