เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 25938 วัฒนธรรมหมาก
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 ส.ค. 06, 18:54

 ที่จริงควรตั้งชื่อว่า “วัฒนธรรมการกินหมากในประเทศไทย” แต่ยาวเยิ่นเย้อและฟังเป็นตำราเกินไป  ดิฉันก็เลยตัดทอนให้สั้นลงว่า “วัฒนธรรมหมาก”

คนไทยกินหมากกันมาตั้งแต่ครั้งไหน และทำไมถึงกิน ไม่ทราบ
ที่มา       อาจจะได้อิทธิพลจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่บทของเอเชียอาคเนย์ก็เป็นได้  
หรือจะริเริ่มกินด้วยตัวเองจากการค้นพบของใครสักคน บนแหลมทอง  ที่รู้ว่าต้นหมากมีลูกที่ผ่าแล้วเอาข้างในมาเคี้ยวกินได้กับพลู
กินแล้วติดใจ   ก็เลยแพร่หลายออกไปในวงกว้าง ก็เป็นไปได้

รู้แต่ว่าสมัยสุโขทัย  ชาวสุโขทัยกินหมากกันเป็นล่ำเป็นสันแล้ว  
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑  จึงกล่าวถึงการทำสวนหมากไว้  
แต่สมัยนั้น เขาไม่เรียกว่า สวนว่าสวน  เขาเรียกสวนว่า “ป่า”  

เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขทัยนี้  มีพีหาร  มีปู่ครู
มีทะเลหลวง  มีป่าหมาก ป่าพลู  


เดาว่าเมื่อปลูกกันมากๆ    ก็คงไม่ได้มีเอาไว้กินกันเองในเมืองสุโขทัยอย่างเดียว น่าจะเป็นธุรกิจการเกษตรส่งออกด้วย  
การทำมาค้าขายสมัยพ่อขุนรามนั้นออกจะเป็นการค้าเสรี    ใครใคร่ค้าม้าค้า  ค้าช้างค้า ค้าวัวค้าควายค้า
เพราะฉะนั้นก็อนุโลมว่าค้าหมากค้าพลู ค้าได้เช่นกัน
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ส.ค. 06, 19:54

 เคยเห็นยายกินหมาก ดูน่าอร่อย อยากจะลองกินดู แต่ไม่กล้า เพราะมันมีปูนขาว(เรียกปูนขาวรึเปล่าครับ)อยู่ด้วย เลยไม่กล้าลอง
บางทีก็เห็นเป็นปูนสีแดงออกชมพูๆ


ด้วยความสนใจ จึงขอมาจองที่นั่งเป็นคนแรกครับ
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ส.ค. 06, 21:19


ลากเก้าอี้..ลงนั่งข้างๆ คุณหมูน้อย

ตอนเป็นเด็ก ตูก้า โตมาข้างเชี่ยนหมาก เหมือนกันค่ะ ทั้งตา ยาย  เคี้ยวหมากทั้งคู่ เคยลองเคี้ยวดู ไม่ไหวค่ะ เผ็ดฉุนๆ เหมือนปากชาๆ ไม่เห็นอร่อยเลยพอโต ขึ้นมาหน่อยก็มีหน้าที่ ผ่าลูกหมากสด เตรียมไว้ให้ท่านผู้ใหญ่  หากมีแขกมาถึงเรือน คุณตา คุณยาย ก็จะเลื่อนเชี่ยนหมากให้แขก เพราะส่วนใหญ่ สมัยนั้นรุ่นท่านผู้ใหญ่จะเคี้ยวหมากทุกคนเลย  ปากแดง ฟันดำ กันหมด ...อิอิ

ปล. คุณหมูน้อย  ไม่เคยเห็นปูนที่กินหมากสีขาวเลยค่ะ เจอแต่สีแดง ..เอ
หรือว่ามีสีขาวด้วยคะ อาจารย์

.
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
ชายองค์
อสุรผัด
*
ตอบ: 24

เป็นความลับ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ส.ค. 06, 00:10

 หมากเคยกินทีหนึ่ง...เมา
เข็ดแล้วเจ้าข้า...

ผมไปที่ไหนเห็นแต่คนกินหมาก จนเรียกได้ว่า ทั้งแหลมทอง หรือ เอเชียอาคเนย์กินหมาก หมด ไม่ว่าเขมร ไทย ลาว พม่า...

ผมจำได้ว่าในจารึก เขารัง มี หมาก เป็นหนึ่งในพืชที่ปลูกในศาสนสถานด้วยนะครับ...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ส.ค. 06, 22:54

 เมาหมาก เรียกว่ายันหมาก ค่ะ  ส่วนปูนที่กินกับหมาก  เป็นปูนแดง  ไม่เคยเห็นปูนขาว

บทบาทของหมาก กระจายไปในหลายสาขาความรู้    ถ้าจะเล่าหมดก็คงเตลิดเปิดเปิงแยกไปหลายซอย   จึงขอเก็บความเท่าที่นึกออกจากด้านวรรณคดี
ขอเชิญสมาชิกช่วยแจม เช่นหมากในเมืองสุพรรณโดยคุณนิคกี้นิก หรือหมากในโบราณสถานโดยคุณกุรุกุลา หรือหมากในลายผ้า(ถ้ามี) ของคุณติบอ ฯลฯ

วัฒนธรรมการกินหมากของไทย มีบทบาทในวรรณคดีไทยหลายอย่างที่วรรณคดีฝรั่งไม่มี  หรือแขกเองดิฉันก็ไม่คิดว่ามี ถึงแม้ว่าเขากินหมากก็ตาม
เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมหมาก  ก็สูญไปเหมือนวัฒนธรรมหลายๆอย่างในอดีต

หมากเป็นของกินจนติดเข้าไปกระแสเลือดก็ว่าได้  คนไทยสมัยก่อนรักหมากยิ่งกว่าข้าวปลาอาหาร
อดข้าวครึ่งวันหนึ่งวันได้ แต่อดหมากไม่ได้ หิวหมากจะตายเอา

วัฒนธรรมของหมากจึงมีบทบาทในความหมายหลายอย่าง หมายถึง เกียรติยศ เล่ห์กล รัก  พ่อแง่แม่งอน ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ส.ค. 06, 22:58

หมากเป็นของสำคัญ  แม่ทัพจะไปศึก  พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานชานพระสลาให้   รับมาเคี้ยวใส่ปากเป็นสิริมงคล ถือว่ารับของพระราชทานชั้นยอด   ถ้าไม่ใช่แม่ทัพ เป็นแค่นายกอง ไม่มีสิทธิ์

พระเพื่อนพระแพงทำเสน่ห์พระลอให้มาหา  ปู่เจ้าสมิงพรายต้องเสกสลาเหิน(หรือหมากบิน) ข้ามเมืองไปตกในเชี่ยนหมากของพระลอ  
เพราะยังไงพระลอต้องกินหมาก  
ผลมันจะฉมังกว่าเสกฟักแฟงแตงกวา  เพราะอาจจะเลือกไม่เสวยก็ได้

หมากมีฤทธิ์เป็นยาเสพติดอ่อนๆ   เคี้ยวเข้าไปแล้วสบายใจ อารมณ์รื่น

ในขุนช้างขุนแผน  พลายแก้วกำลังเคี้ยวหมาก เรียกว่าอยู่ในภาวะเพลิดเพลิน แฮปปี้ยิ่งกว่ากินของคาวหวานเอมโอชใดๆ   แต่เมื่อนางพิม สาวคนรักมาอ้อนว่าอยากกินหมากบ้าง
ด้วยความรักนางยิ่งกว่าตัวเอง ก็คายหมากให้อีกฝ่ายกิน ยอมสละความสุขลงกลางคัน ให้อีกฝ่าย
ในเมื่อแค้นกัน  ก็ต้องลำเลิกความหลังขั้นคายหมากให้กันขึ้นมาตัดพ้อ    ว่ารักกันขนาดนี้  เธอยังลืมฉันได้ลงคอ
มีความหมายกว่าพวกไฮโซทวงแหวนเพชรหรือรถโรลสรอยซ์คืนเสียอีก

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ.........เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย.......แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ส.ค. 06, 10:10

แม้แต่เรื่องหมาก ก็สามารถเป็นเรื่องราว และประเด็นการพูดคุยที่น่าสนใจได้ไม่น้อย
นี่เรือนไทยของเรายังมีดีซ่อนไว้อีกเยอะ   ใครชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย ความรู้รอบตัว  ภาษา วัฒนธรรมไทย มานั่งพักที่เรือนนี้

รับรองไม่ผิดหวังเลย



มานึกอีกที ก็จำไม่ผิดที่ว่าปูนที่กินกะหมากนั้นแถวบ้านผมมีสีขาว และแฉะๆ
จำได้เพราะเคยเกือบจะวางยายายตัวเอง โดยการนำปูนขาวที่ใช้โรยดิน โรยบ่อปลา ไปให้ยายกินกะหมาก

ปัด..โถ่ .. ยายแทบเอาตระกร้าหมากขว้างหัว หลบแทบไม่ทัน
นึกแล้วก็ขำดี เด็กๆอย่างตอนนั้นก็จะไปรู้อะไร

ผมเข้าใจว่า ที่เขาใส่สีแดงลงไปอาจเพราะ ป้องกันมิให้เด็กซื้อ(บื้อ)อย่างผม เข้าใจผิดว่าอันไหนกินได้กินไม่ได้ก็ได้

ปากและฟันของพ่ออุ้ย แม่อุ้ยในหมู้บ้านก็จะดำ....ขอบปากและน้ำหมากก็จะเป็นสีเลือดช้ำดำๆ ไม่มีแดงๆสดหมือคุณตาคุณยาย ในภาคกลางแฮะ
(ตอนนี้ไม่ได้กลับไปนาน ไม่รู้วัฒนธรรมการกินหมากของที่นั่นจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน )

แปลกอยู่อย่าง คือผมเคยเห็นลูกหมากของที่โน่น ไม่มีลูกหมากสดเลย มีลูกหมากแบบผ่าซีกตากแห้ง และถูกนำมาร้อยเป็นพวงยาวๆโดยใช้ตอก(ไม้ไผ่ผ่าซีกๆ จักบางๆที่เขามีไว้จักสาน)
เวลากินก็จะดึงออกมาจากตอก แล้วใส่ลงไปในใบพลู เวลายายเคี้ยว ก็จะเคี้ยวช้าๆ ย้ำๆ ผมสงสัยเหมือเกินว่าไหงเคี้ยวได้ ไม่เจ็บปาก (อาจเป็นไปได้ว่าที่นั้นไม่ปลูกหมากเลยหาหมากสดกินยาก..?)

อ๋อ..ทุกวันนี้ยายผมฟันแข็งแรงมากครับ ไม่มีร่วงสักซี่เหมือนคนเฒ่าคนแก่คนอื่นๆเลย ทั้งที่ยายอายุ80แล้ว


ที่เคยเห็น มีวิธีกินเฉพาะของยายของผม และยายข้างๆบ้านเป็นอย่างนี้ครับ
อย่างแรกนำ ก้อนอะไรสักอย่างสีดำแข็งๆ ลักษณะเหมือนครั่งที่นำมาลนไฟแล้วปล่อยให้แข็งตัว แต่กินได้ ที่รู้ว่ากินได้เพราะยายนำมาตำๆ แล้วก็ใส่ลงใปในม้วนใบพลูสดที่ป้ายปูนไว้แล้ว ยายผมชอบใบพลูแก่ๆ ก้อนที่ว่านี้แถวนั้นเรียก ก้อนสีเสียด (?) หรืออย่างไรนี่แหละครับ ถ้าคุณศรีฯ และคุณ ศศิศ เข้ามาอ่านก็อาจช่วยได้มาก

แล้วก็มีหมากซีกตากแห้งแข็งๆ ใส่ลงไป  ม้วนๆแล้วก็เข้าปาก เวลายายกินหมากผมมักย้ายไปนั้นด้านหลังแก เพราะหากยายแกหัวเราะขึ้นเมื่อไหร่ ใครที่อยู่ข้างหน้า ก็หลบน้ำหมาก กันให้ดี  เวลาวันไหนแกเผลอหัวเราะใส่หน้าผม แกก็จะบอกว่า

ไม่เป็นไรดอก ไม่เป็นไรดอก น้ำมนต์ทั้งนั้น!!
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ส.ค. 06, 11:17

 จำได้ว่าหลายปีที่แล้วผมเคยสนใจเรื่องวัฒนธรรมกินหมากถึงขนาดที่ว่ารวบรวมข้อมูลไว้มากมายก่ายกอง

ไปค้นกะทู้เก่าๆก็เจอเข้าให้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ แน่ะครับ

 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=5163

จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนอะไรออกมา

ข้อมูลก็หายไปหมดแล้ว

เฮ้อ...
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ส.ค. 06, 11:34

 สวัสดีครับคุณCrazyHOrse

นึกได้อีกอย่าง ชาวไทยภูเขา ที่นั่น(แถวบ้านผม) กินหมากกันแทบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะ ชาวเผ่าอาข่า(อีก้อ) เดินมานี่ปากเป็นคราบกันทุกคนเลย

ไม่เพียงแต่ไทย(ทั้งพื้นราบและภูเขา)ที่กินหมาก ชาวหม่อง(พม่า) ที่อยู่ชายแดนติดกันยิ่งแล้วไปใหญ่เลยครับ กินหมากกันเป็นล่ำเป็นสัน

กินกันแทบทุกคน(ที่เคยเจอ)ยิ่งกว่าคนไทยอีก ตอนนี้คนไทยยังกินหมากน้อยลง แต่พม่ายังกินกันอยู่เป็นปกติ
เด็กอายุ17-18ก็กินกันแล้ว ทุกวันนี้ยังเห็นอยู่เลยครับ

สาวน้อยพม่าจะหน้าเหลือง(ทาขมิ้น) หนุ่มน้อยพม่าจะปากดำ (กินหมาก) เจ้าหมูน้อยฯจะปากแดง (โดนตบปากแตก..พูดมาก!!)
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ส.ค. 06, 12:27


เรียน ทุก ๆ ท่าน ที่เคารพครับ
นี่เป็นรูปของ บุคคลท่านหนึ่ง  ที่ชอบเคี้ยวหมาก
ขณะนี้ท่านอยู่ที่เนปยีดอว์ครับ

ถึงคุณหมูน้อยครับ
เรื่องหมากนี้ ผมไม่สันทัดครับ เพราะไม่เคยเห็นเขาเคี้ยวเขาตำครับ
เห็นแต่เขาเอาใส่ ควัก คู่กับยาเส้น ใบชะพลูและไม้ขีดไฟครับ
แล้วเอาไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิ อะไรอย่างนั้นครับ

แต่ที่ผมจำได้แม่น คือ คุณครูท่านหนึ่งเคยบอกว่า ตัวการที่ทำให้ฟันดำ คือ สีเสียด ซึ่งช่วยให้แมงไม่กิน แต่ฟันดำขลับ ว่ากันว่าใครฟันดำถือว่าฟันสวยครับ (ดูจะกลับกับคนสมัยนี้แฮะ)
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ส.ค. 06, 15:56

 คุณอาชาผยอง ยังจำเรื่องหมากได้ไหมล่ะคะ  ข้อมูลไม่อยู่ แต่ความจำยังมีนี่นา
ลองเปิดลิ้นชักความจำ   มาขยายสู่กันฟังบ้าง

ต่อค่ะ
สมัยนี้ถ้าคุณชายกลางคายหมากฝรั่งให้พจมานกิน  พจมานคงวิ่งไปอาเจียน
แต่สมัยโน้น  ถ้าไม่รักกันจริง ไม่คายชานหมากให้กัน

พระเอกนางเอกเขางอนกัน เวลาง้อก็ใช้หมากเป็นสื่อ ให้อารมณ์ดี   อย่างนางรจนาง้อเจ้าเงาะหลังทะเลาะกัน ป้อนหมากให้เคี้ยวแล้วขอชานมากินบ้าง

แล้วหยิบหมากมาป้อนวอนขอชาน
ขอประทานสักคำทำปะเหลาะ
ยียวนชวนผัวให้หัวเราะ
แสร้งออเซาะสรวลสันต์จำนรรจา

เห็นเขาว่าผู้ใหญ่หัดให้เด็กกินหมากก็เริ่มด้วยวิธีนี้  คือเคี้ยวเสียก่อน แล้วค่อยคายชานให้เด็กหัดกิน
เขาว่าจะทำให้ไม่เผ็ด และไม่เกิดอาการยันหมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 10:42

 คราบหมากที่จับฟันและริมฝีปาก อย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะกินหมากกันทั้งวัน  กลายเป็นค่านิยมความงามของหนุ่มสาวรุ่นก่อน
นางงามสมัยอยุธยา ธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์จึงมีฟันดำมันขลับ  เพราะเอา "ชี่" ซึ่งเป็นยาสีฟันโบราณ สีฟันอีกทีให้ดำมัน
ถึงขั้นชมกันว่า

เจ้างามทนต์กลนิลเจียระไน

ส่วนฟันขาวสะอาด งามเหมือนไข่มุกนั้นเพิ่งจะมาชมกันเมื่อคนไทยเลิกกินหมากกันแล้วไม่กี่สิบปีมานี้เอง

นางงามในวรรณคดีไม่ว่าจะเป็นนางสีดาหรือว่านางบุษบาล้วนแล้วแต่ฟันดำกันทั้งนั้น  
อย่างบุษบา ขนาดได้ชื่อว่า นวลละอองผ่องพักตร์โสภา ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน   เธอก็ฟันดำเพราะกินหมาก
เมื่ออิเหนาเกิดปิ๊งบุษบาตั้งแต่แรกเห็น    จะแสดงความในใจให้สาวรู้   เป็นสมัยนี้  อิเหนาก็คงขอเบอร์มือถือ   แต่สมัยโน้น ที่เก๋ที่สุดคือขอหมากที่บุษบาเคี้ยวแล้ว มากิน
เข้าถึงตัวไปขอเอาดื้อๆไม่ได้ก็วานน้องชายบุษบาที่เป็นเด็กเล็กชื่อสียะตราไปขอมาให้
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 11:49

 จะมาแจมเรื่องหมากสุพรรณ  ก็เหมือนกันกับที่อื่นๆ  เกิดทันคุณย่า  แต่ไม่ทันโตจำความได้  เพราะท่านใจน้อยด่วนลาไปก่อนเราโต  หากอยู่ป่านนี้  ก็เกือบ ๑๑๐ ปีเข้าไปแล้ว  ท่านก็เคี้ยวหมาก  นุ่งโจงกระเบน

ทันแต่คุณยาย  ก็เป็นสาวชาวบ้านนุ่งโจงกระเบนเช่นกัน  ไม่รู้เป็นไง  ท่านกินหมากแล้วก็ต้องมียาเสพย์ตาม  ไม่งั้นไม่ครบสูตร  จะไม่มีกำลัง  สมัยก่อนก็ยาทัมใจ - เอเอ็นที - หรือไม่ก็ประสระนอแรด  ทีละอย่างนะครับ  ไม่ใช่พร้อมกันหมด  ยี่ห้อไหนถูกสั่งปิดโรงงาน  ท่านก็ต้องเสาะแสวงหายี่ห้อใหม่ๆ มาจนได้  แต่ก็ไม่เคยกระเพาะรั่วตกเลือดเลย  หรือว่าเพราะหมากช่วยเคลือบกระเพาะได้
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 12:09

 เห็นคุยกันเรื่องการกินหมากในพม่า  ขอแจมหน่อยครับ  เรื่องถนัด  ที่นั่นเขากินกันเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่พูดกันไว้  กินกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่  ผมเคยไปเที่ยวใจกลางประเทศนั้นมาปรุเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน  เรียกได้ว่าเคี้ยวกันทั้งบ้านทั้งเมือง  ก็แปลกใจครับ  ปกติบ้านเราเห็นแต่ผู้หญิงสูงอายุเคี้ยวกัน  แต่ที่นั่นผู้ชายด้วย  แล้วก็เด็ก ๑๓-๑๔ ก็เคี้ยวกันแล้ว  แต่สัดส่วนที่ต่างกันขึ้นกับท้องถิ่นและความเจริญด้วยครับ

พม่าเขาเรียกหมากว่า "กวานยา"  มีขายตามร้านค้าข้างทางทั่วไป  มวนกันเสร็จเรียบร้อย  จะซื้อแพ็คเล็กแพ็คใหญ่ก็ว่ากันไป  อ้อ เท่าที่เห็นเขาขายชุดหมากเคี้ยวมวนเสร็จแล้วก็มีที่ไต้หวันอีกที่หนึ่ง  ไม่แน่ใจว่ารสชาติจะเหมือนกันรึเปล่า

ซื้อแล้วก็นำมาเคี้ยวกินเคี้ยวอมตามเรื่องตามราว  พอเคี้ยวแล้วก็ต้องบ้วนด้วย  ไม่ใช่ว่าจะเก่งจนกลืนกันได้ทั้งหมด  การหาที่บ้วนนี่ซีลำบาก  เราว่าลำบากแต่เขาคงไม่ลำบากกับเรา  เพราะเห็นเขาบ้วนกันได้ทุกที่เลย  บางที่เขาก็เขียนป้ายห้ามไว้บ้างว่า  ห้ามบ้วนน้ำหมาก  ดูตลกดี  แต่ก็จำเป็น  เช่นที่สนามบินเมงกะลาโดน  เพราะผนังตึกสนามบินจะมีทั้งรอยบ้วนน้ำหมาก  รอยจิตรกรรมฝาผนังสีแดงๆ ด่างๆ เต็มไปหมด  คุณกุรุกุลาไปชมแล้วคงจะได้ไอเดียว่าเป็นจิตรกรรมแปลกๆ UNSEEN เลยก็ว่าได้  แต่เขาคงห้ามไม่ให้เคี้ยวตรงนั้นกันได้จริงจังดอก

เหมือนกับเป็นแฟชั่นของบ้านเขานะครับ  ผู้ชายทันสมัยต้องเคี้ยวหมาก  ผู้หญิงสวยต้องทาแป้งทานาคา  ไม่เฉพาะแต่บ้านนอกเท่านั้น  แต่เป็นทั่วทั้งประเทศที่เห็นแฟชั่นแบบนี้  ทั้งในตลาด  สนามบิน  สถานที่ราชการ  ซึ่งในเมืองไทยปัจจุบันต้องสืบค้นหาคนกินหมากในชนบทถึงจะพบ

เรื่องแฟชั่นทาแป้งทานาคาของสาวพม่า (รวมทั้งเด็กและผู้ชายบางคนด้วย)  เธอจะทาหน้าเป็นรูปแบบต่างๆ  บางคนประแป้งตามใบหน้าธรรมดาๆ   บางคนทาเป็นลวดลายก้นหอยเฉพาะบริเวณแก้ม  ดั้งจมูก  หน้าผาก  ส่วนที่อื่นก็เว้นไว้  บางคนทาเป็นรูปแมวข่วนที่สองพวงแก้มในแนวนอนหรือแนวตั้ง  บางคนทาเป็นแนวโค้งหรืออีกหลายรูปแบบที่พอจะสรรคิดขึ้นมาได้  บรรยายไม่หวาดไม่ไหว  อ้าววว  ลืมไปครับ  นี่เป็นกระทู้กินหมากนี่นา  ขอโทษครับ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 17:49

 เอชา เอชา ชา ๆ ๆๆ หน่อยแม่
สวัสดิ์เอ๋ยสวัสดีครับพี่น้อง หากจะขัดข้องต้องขออภัย
หนุ่มน้อยแวะมากระทู้นี้ ยังมิมีโอกาสจะปราศรัย
มาทักทายกันหน่อยเสียเป็นไร เรื่องหมากนั้นไซร้แปลกดี

แต่ฉันไม่เคยเคี้ยวแลเลี้ยวลิ้มลด เพราะไม่มีแท่งบดหมากนั่นไง
ที่ตำหมากเขาเรียกว่าตะบัน เอาสิ่งละอันใส่กันไป
แต่ตัวฉันไม่รู้ว่านอกจากใบพลูหมาก สีเสียดปูนกินกับหมากจะใส่หรือไม่
พอดูดี  ๆ ที่คุณหมูน้อยโพสต์ออกไป ฉันก็รู้แล้วไงว่ามันไม่เหมือนกัน
แม่อุ๊ยท่านเคี้ยวหมากแห้งกับใบพลู แต่หนูไม่รู้ว่ามันเคี้ยวยังไง
เห็นแต่เขาเคี้ยวเมี่ยงดูอร่อยนักหนา แต่ฉันไม่กินนะสิหวาเลยเสีย...ดาย

เกรงว่ากระทู้นี้จะออกไปไกลสุดกู่ ฉันเลยต้องหยุดอยู่ที่เมี่ยงหวานไว้
ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะขอแวะมาที่นี่ ชมผู้รู้มากมีตอบกระทู้กันไป
ดูเขาช่างเจรจาแลพาที (เรื่องทานาคานี้ก็น่าสนใจ
เพราะที่บ้านเราจับมันมาป่นในเครื่องสำอาง )
หมดมุกพอดี สวัสดีกันไป.    
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง