เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 35795 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ : ศูนย์รวม ๓ วัฒนธรรม
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 09:24

 ระหว่างรอเด็กๆ สอบกลางเทอมเสร็จก่อน  จะได้มีสมาธิมีแก่จิตแก่ใจเข้ามาร่วมเสนอแนะและพูดคุย  ตอนนี้ข้าพเจ้าขอบรรเลงไปพลางๆ   เพราะไม่ค่อยมีห่วงเท่าใด  สอบมิดเทอมเสร็จแล้วเหมือนกัน  แต่เสร็จตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว  หากพูดหลักวิชาการเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทองไปคนเดียว  แล้วมีอะไรผิดเพี้ยนไปเขาคงจะไม่อยากเตือน  เพราะถ้าเรื่องมันเนิ่นนานผ่านหลาย คหพต. เสียแล้ว  เด็กๆ คงนึกว่าปล่อยๆ เขามั่วไปบ้างก็ไม่น่าจะมีอะไร  ให้เขามีความสุขในบั้นปลายของชีวิตซะมั่ง  ถือว่าได้บุญเหมือนกัน

จะรอแล้วรอเล่า  เฝ้าแต่รอ  แล้วไม่มีอะไรคืบหน้า  คนเปิดอ่านจะเสียประโยชน์  แค่โหลดก็ใช้เวลานานโข  อ้อ  เพื่อนๆ ในเมกา  บ่นว่าโหลดซะเครื่องแฮ้งก์เลย  ไม่รู้ว่าเวปไซด์นี้มีของดีอะไร  บอกมั่งดิ  คุณอ๊อฟ

ตอนนี้เลยเอาเรื่องในวรรณคดี  หรือพวกบทประพันธ์ต่างๆ ในอดีตที่เกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณมากล่าวถึงบ้าง  นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการเสด็จประพาสสุพรรณของกรมดำรง  หรือการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหรอกนะครับ  ค้นไปค้นมา  หายากเหลือเกิน  เจอแค่สำนวนเดียวเท่านั้น  เป็นนิราศสุพรรณของเสมียนมีครั้งรัชกาลที่ ๓

สำหรับของสุนทรภู่ที่แจวเรือทวนน้ำขึ้นมาหาแร่แปรธาตุในเขตเมืองสุพรรณ  และทำให้เกิดโคลงนิราศสุพรรณ  มาก่อนเสมียนมีไม่นาน  แต่ไม่ได้กล่าวถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้เลย  แต่เพื่อให้เข้าใจอดีตของเมืองสุพรรณรวมไปด้วย  ก็จะอิงจาก ๒ แหล่งนี้แหละครับ  เอามาคุยขัดตาทัพกันก่อน  แต่กว่าจะพ้นทัพนี้ได้  คงใช้เวลาสักสองวัน  เร่งๆ หน่อยพี่
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 10:32

 โคลงนิราศสุพรรณ  แต่งเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๘๔  คุณเทพ สุนทรศารทูล  ท่านบอกไว้เช่นนั้น  แล้วก็ขอลอกความมาเป็นฉากๆ เลยครับ

ท่านเดินทางทางเรือแจวถึงเมืองสุพรรณตอนเย็น  หลังจากออกจากกรุงมาได้ ๑ วันครึ่ง  ถึงเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๓๘๔ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู

"ตะวันเย็นเห็นหาดหน้า   ท่ามี
เมืองสุพรรณบุรี                 รกร้าง
ศาลตั้งฝั่งนที                    ที่หาด  ลาดแฮ
โรงเล่าเขาต้มค้าง              ขอบคุ้งหุงสุรา"


โคลงบทนี้กินใจคนสุพรรณมาก จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้เลยครับ

คืนนั้นท่านและคณะก็
"นอนค้างข้างคุ้งถัด วัดตะไกร"
ตรงวัดประตูสารในปัจจุบัน  ตามที่ผมเขียนไว้ในแผนที่แล้วครับ

แล้วตอนเช้าท่านก็เดินตัดป่าตัดทุ่งตรงไปยังวัดป่าเลไลยก์ครับ

".... ครั้นรุ่งมุ่งเดินไพร  พรั่งพร้อม
ไหว้พระป่าเลไลย์            ร่มรื่น ชื่นเอย
ริมรอบขอบเขื่อนล้อม       สะล่างไม้ไพรพนม"



ขากลับจากวัด  บท ๑๕๑

"เย็นรอนอ่อนเกศก้ม  กราบลา
จากวัดตัดตรงมา            แม่น้ำ
ค้างคืนตื่นเช้าคลา          คลาดเคลื่อน เรือเอย
ติดแก่งแข็งข้อค้ำ          ขัดข้องต้องเข็น"


ท่านสุนทรภู่  ท่านเคยจำพรรษาที่วัดในอำเภอสองพี่น้องด้วย  ตามหนังสือสาส์นสมเด็จ  ส่วนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้  ท่านคงคุ้นเคยกับเมืองสุพรรณพอสมควรครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 12:30

 ภาควิเคราะห์
สุนทรภู่   ท่านไปนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์  ขณะนั้นยังเป็นวัดร้างนามว่า "วัดลานมะขวิด" อยู่  แต่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อ   ท่านเดินเท้าเข้าป่าพร้อมด้วยคณะของท่านทั้งหมด

ตอนนั้นคลองป่าเลไลยก์ก็คงจะยังไม่มี  เพราะคลองนี้ขุดปลายสมัยรัชกาลที่ ๓  หรือต้น ๔  เพื่อเป็นทางลำเลียงท่อนซุงมาซ่อมแซมพระและวิหารพระป่าเลไลยก์  ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึงว่ามีคณะของเจ้าพระยานิกรบดินทร์มากระทำภารกิจใดๆ เลย

ถึงตอนนี้  ก็รู้แล้วว่าท่านไม่ได้เดินทางผ่านเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ เพราะตำแหน่งอยู่เหนือเส้นทางเดินผ่านราวสัก ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เป็นป่ารกยังงั้น  บางทีแค่ ๕๐ เมตรก็มองไม่เห็นแล้ว
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 14:44

 อีกสำนวนหนึ่ง   คือนิราศสุพรรณ ของเสมียนมี  หรือหมื่นพรหมสมพัตสร (มี)
คุณเทพ  สุนทรศารทูล  ท่านได้สืบค้นว่านามสกุล มีระเสน
เสมียนมีต้องเดินทางไปเก็บอากรที่เมืองสุพรรณ  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗  คือหลังสุนทรภู่เพียง ๓ ปี
เป็นโอกาสให้ท่านแต่งนิราศสุพรรณขึ้นครั้งนั้น

ท่านผู้นี้ก็เป็นลูกศิษย์สุนทรภู่เช่นกัน

จะขอคัดลอกตอนที่ท่านมาถึงสุพรรณ  แล้วก็ไปไหว้ศาลเจ้าพ่อฯ เลยครับ


ครั้นเย็นค่ำย่ำแสงพระสุริยา    ทัศนานั่งดูเมืองสุพรรณ

ดูโรยร่วงแรมร้างน่าสังเวช            ดังประเทศแถวป่าพนาสัณฑ์
พฤกษาชาติแทรกแซมขึ้นแกมกัน  อเนกนันต์เล็กใหญ่ไม้นานา

คืนวันนั้นจันทร์เพ็งเปล่งประเทือง   ดาราเรืองเรียงรายพรายเวหา
ไปไหว้เจ้าหลักเมืองเรืองศักดา      ตั้งบูชาบัตรพลีพลีกรรม

น้อมคำนับอภิวาทประกาศว่า   ขอเทวาช่วยชุบอุปถัมภ์
อย่าให้ขาดทุนรอนอากรนำ     ทั้งทางน้ำทางบกอย่าปกบัง

ใครบังไร่ไว้ไหนช่วยไปจับ    เอาค่าปรับให้สมอารมณ์หวัง
ขอให้เรือลูกค้ามาประดัง      จะเก็บทั้งค่าตลาดอย่าขาดทุน

ครั้นไหว้แล้วกลับมานิทราหลับ      จนเดือนลับลำเนาภูเขาขุน
เจ้าหลักเมืองเรืองศักดาช่วยการุณ  มาค้ำจุนจิตนั้นให้ฝันไป

ว่าย่านางนาวานั้นมาบอก  กำไรออกมั่นคงอย่าสงสัย
บอกว่าเรือที่ขี่นั้นมีชัย     ได้กำไรค้าขายมาหลายคราว

ให้แลเห็นรูปร่างของนางไม้       งามวิไลแลละมุนพึ่งรุ่นสาว
อร่ามเรืองเครื่องประดับดูวับวาว  พอฟ้าขาวหายวับไปกับตา

ประจักษ์จำความฝันไว้มั่นแม่น  ให้สุดแสนสมมาดปรารถนา
สังเกตดูฤกษ์ยามตามเวลา       ต้องตำราความฝันขยันดี
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 16:00

 คำอธิบาย

"เสมียนมี"  ท่านไปไหว้ศาลหลักเมืองเย็นแล้ว  กลับก็มืด  อธิษฐานบนบานศาลกล่าวไปตามเรื่อง  ท่านเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีอากร  ก็ต้องขอให้เก็บเงินได้ครบถ้วน  แล้วก็ต้องเยอะๆ ด้วย

ไอ้เรายังวัยรุ่น  หากจะไปอธิษฐาน  ก็ขอให้เป็นหนุ่มรูปงาม  จะได้มีคนมารักมาชอบเยอะๆ

มืดค่ำท่านก็กลับมานอน   คงจะนอนในเรือ  หรือว่าบ้านพักของใครก็ไม่รู้  น่าจะนอนหลับสบาย  เพราะท่านฝันดีตลอดคืน  เป็นเรื่องเป็นกลอนไปโม๊ด  ใครฝันได้เรื่องได้ราวอย่างงี้  เล่าให้ฟังมั่งก็ได้นะครับ

ท่านมาไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อวันมาถึงสุพรรณวันแรก  แล้วท่านก็ทำหน้าที่ของท่านไปเรื่อยๆ  จนขึ้นไปเก็บภาษีอากรทางอำเภอข้างเหนือจนเสร็จ  ล่องกลับมาเมืองสุพรรณอีกทีถึงได้แวะไปนมัสการวัดป่าเลไลยก์  ถึงได้มีกลอนบรรยายขากลับเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อโตและสภาพวัดป่าได้อย่างจับจิตจับใจคนสุพรรณ (อีกครั้ง) จนถึงทุกวันนี้  ท่านคงจะหาอ่านกันได้ครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 10:04

 เอ  หัวเรื่องบอกว่ามีตอบ ๙๗  ไหงตรงนี้เหลือ ๙๔ ได้ เพราะไยเล่า  ใครโดนเซ็นเซอร์ก็ม่ายรู้  ม่ายอยากคิดมาก  ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมพูดคุยทั้ง ๓ คหพต.ที่หายไป  อย่างกับบทกวีใบไม้ที่หายไปของคุณจิรนันท์  พิตรปรีชาเลยนะครับ

เรื่องโคลงกลอนหรือพวกวรรณคดีก็จบลงแล้วอย่างรวดเร็ว  ไม่อยากพูดมาก เพราะไม่เก่ง  ตอนต่อไปนี้จะขอเอาเรื่องเกี่ยวกับองค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณมากล่าว  ก็ไม่เก่งเหมือนกัน  แต่อยากเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้อ่านเองด้วยภายหลัง  เลยต้องทนเหนื่อยหน่อย

จะกล่าวว่ารูปทรงรูปร่างเป็นอย่างไร  มีคติความเชื่อใดๆ บ้าง  มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นยังไง

คุณกุรุกุลา  เตรียมข้อมูลไว้นะครับ  จะร้องขอ  อ้อ  ว่างๆ เอารูปศิลปะคล้ายๆ กันกับองค์พระนารายณ์สี่กรของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณนี้มาแบ่งกันชมบ้างนะครับ  เขาว่ามีทรงแบบนี้อีกหลายที่  ผมไม่มีแหล่งข้อมูลขณะนี้เลย

ขอเวลาเตรียมข้อมูลอีกนิ้ดดดด
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 11:28

 แอ่นแอ๊น  เริ่มเลยครับ  เกี่ยวกับ องค์ เทพารักษ์หลักเมือง

...... ต้องขี่ม้าราว ๘ ชั่วโมงจึงจะถึงเมืองสุพรรณ   วันรุ่งขึ้นหม่อมฉันไปทำพลีกรรมที่ศาลเจ้าหลักเมือง  ตัวศาลรูปร่างอย่างไทยทำด้วยไม้มุงกระเบื้อง  สร้างไว้บนโคกอันหนึ่ง  ในศาลมีเทวรูปศิลา ๒ องค์  เป็นรูปพระวิษณุแบบเก่ามาก  คืออย่างที่เหมือนใส่หมวกเติ๊กตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ ก็มี   แต่รูปพระวิษณุที่ศาลหลักสุพรรณจำหลักเป็นอย่าง Pas relief ติดอยู่กับแผ่นศิลาข้างหลังสูงสักราว ๓ ศอก  

(สาส์นสมเด็จ  กรมดำรงฯ ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๑๑ มี.ค. ๗๙)

แล้วเราก็ทราบว่า  ผู้ที่เรียกว่าหมวกเติ๊ก  หรือหมวกเตอร์ก  เป็นท่านแรกคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 11:32

 สมเด็จกรมนริศก็ได้ตอบกลับมาว่า

........... เรื่องศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณบุรีก็ดีอีก   เทวรูปที่ตรัสเล่าประทานนั้นเข้าใจดี  เป็นเทวรูปฝีมืออินเดียเก่า  ทำแขนขางามไม่เป็นไม้กระบอกและฉลักที่เป็นรูปนูน ๒-๓ หลังติดพื้นแผ่นศิลานั้น  เขาทำสำหรับประดิษฐานบรรจุในช่องคูหา   เราจะทำศาลาถวายควรต้องทำผนังหลังต้นรุ้งเป็นคูหาบรรจุเทวรูปเข้าไว้   ให้ต้องตามเจตนาเดิมของผู้ทำเทวรูป......  

(สาส์นสมเด็จ  กรมนริศฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๒๐ มี.ค. ๗๙)
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 14:03

 ทั้งสองพระองค์ก็ได้ตรัสถามตอบเกี่ยวกับเรื่ององค์เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี  กันอีกหลายครั้ง  จะขอคัดลอกมาให้อ่านกันเรื่อยๆ นะครับ

"....... เทวรูปที่หลักเมืองสุพรรณนั้น  เหมือนกับที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานเพียงทำทรง "หมวกเติ๊ก"  แทนชฎา  แต่มิใช่เป็น Fine Art  อย่างที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน  ดูฝีมืออยู่ข้างจะหยาบด้วยซ้ำไป   ที่หม่อมฉันทูลขนาดสูงสัก ๓ ศอกนั้นก็เห็นจะเกินไป  จะสูงเพียงสัก ๒ ศอก  ถ้ามีเศษก็ไม่มากนัก  รูปพระวิษณุเช่นนั้นมีที่เมืองสุพรรณถึง ๓ องค์  อยู่ที่ศาลหลักเมืองสุพรรณ ๒ องค์  อีกองค์หนึ่งอยู่ที่  "ท่าพระยาจักร"  อันเป็นท่าเรือของเมืองอู่ทอง   ครั้งแรก  เห็นเทวรูปวางหงายอยู่กับแผ่นดิน  แต่คนในท้องถิ่นก็บูชาอยู่แล้ว  หม่อมฉันแนะนำให้เขาทำศาลและยกเทวรูปขึ้นตั้งเข้าใจว่ายังเป็นศาลอยู่จนทุกวันนี้  ข้อที่มีเทวรูปอย่างเดียวกันอยู่ที่ศาลหลักเมือง ๒ องค์   ทิ้งอยู่ที่ท่าน้ำเมืองอู่ทององค์ ๑  ชวนให้เห็นว่าเทวรูปที่ศาลหลักเมืองจะย้ายเอามาจากที่อื่น   จึงมี "ซ้อนขึ้น"  เป็น ๒ องค์   องค์ที่เมืองอู่ทองก็คงคิดจะย้ายเอามาเมืองสุพรรณ  แต่เมื่อเอาลงมาถึงท่า  จะมีเหตุขัดข้องอย่างใดเกิดขึ้นเลยงด  เทวรูปจึงวางค้างอยู่ที่ท่าดังหม่อมฉันไปเห็นเมื่อครั้งแรก   ที่จะทำศาลาหลักเมืองสุพรรณใหม่นั้น   หม่อมฉันคิดเกรงอยู่อย่างเดียวแต่เงินทุนจะไม่พอทำให้ดีได้ดังพระดำริ .......

(สาส์นสมเด็จ  กรมดำรงฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว.๒๕ มี.ค.๗๙)

.......................

ที่กล่าวมานี้บางส่วนก็เป็นข้อสันนิษฐานของพระองค์ท่าน  ในขณะที่ประทับลี้ภัยอยู่ ณ บ้านซินนามอน  ปีนัง  ซึ่งพระองค์คงจะใช้แต่ความทรงจำเขียนไว้

ปัจจุบัน  คงมีการศึกษากันมากขึ้น  และหาข้อมูลกันได้ง่ายกว่าเดิมมาก  หากใครทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็ช่วยนำมาลงไว้ได้นะครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 14:12

 เกี่ยวกับเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก  หรือหมวกเติ๊ก  ดังสมเด็จกรมดำรงท่านทรงอธิบายไว้นั้น  ในสุพรรณพบ ๓ องค์  อยู่ที่ศาลหลักเมือง ๒ องค์  อีกองค์หนึ่งอยู่ที่ท่าพระยาจักร  ก็คือตัวอำเภออู่ทองในปัจจุบันครับ  สมเด็จฯ ท่านได้เคยเขียนเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีของพระองค์อีกที่หนึ่งด้วยว่า

นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ  ตอนเรื่องเมืองอู่ทอง
........ ใช่แต่เท่านั้น  แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา  ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎ อยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง  ซึ่งคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์  ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ..........
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 14:24

 ...........  เทวรูปสามองค์ซึ่งตรัสเล่าถึง   จะอย่างไรก็เชื่อว่าคงเป็นของทำมาจากอินเดีย   เริ่มแรกคงจะเอาประดิษฐานไว้ในที่สามแห่ง  แต่แล้วจะโยกย้ายไปที่ไหนบ้างกี่ครั้งกี่คราวไม่มีทางจะสันนิษฐานได้ .....


(สมเด็จกรมนริศฯ  ล.๑๑, ๒๕๐๔  ลว. ๓ เม.ย. ๘๐  จากหัวหิน)
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 16:16

 ก่อนกลับบ้านวันนี้  ขอยกเอาข้อความจากเอกสารฉบับหนึ่งมาอ้าง  เกี่ยวกับพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก  หรือหมวกแขก  ว่าเป็นอย่างไร  มีเจอที่ไหนบ้าง  เผื่อคุณกุรุกุลาผ่านมาเยี่ยม  จะได้ร่วมด้วยช่วยกันอธิบายให้ฟัง


........ เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เป็นเทวรูปสลักด้วยหินศิลาสีเขียวติดกับผนัง  มี ๒ องค์  ในรูปพระวิษณุ  หรือพระนารายณ์สี่กร  สวมหมวกทรงกระบอก

สำหรับประติมากรรมพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก  รุ่นแรกพบที่เมืองตะกั่วป่า  พังงา  และเมืองศรีเทพ  เพชรบูรณ์  แต่อยู่ในรูปลอยตัว  ต่างกับเทวรูปหินของอินเดียที่มักเป็นรูปนูนจากผนัง  ประติมากรรมสวมหมวกทรงกระบอกเก่าแก่ที่สุด  เป็นรูปนูนจากผนังของกษัตริย์ปัลละวงศ์  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒  ที่เมืองมัลลปุรัมในอินเดียตอนใต้  ซึ่งราชวงศ์นี้ครองอยู่ราว พ.ศ.๗๐๐-๑๔๐๐   ไมเคิล ไรท์  กล่าวว่า  คำว่า "ปัลลวะ"  มาจาก Pahlai  ในภาษาอิหร่านมีนิทานว่าบรรพบุรุษของปัลลวะ  คือชาวอิหร่านที่เข้ามาครั้งมหาภารตยุทธ์  ได้นางนาคเป็นภรรยา  ต่อมาได้ครองอินเดียใต้  กษัตริย์ราชวงศ์นี้จึงนิยมสวมมุงกุฎทรงกระบอกแบบชาวอิหร่าน   ไทยอู่ทองติดต่อกับปัลลวะมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี  ใช้ตัวหนังสือของปัลลวะในรูปของภาษาเขียน (บาลี สันสกฤต และมอญโบราณ)  ประติมากรรมพระนารายณ์คงเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒  โดยเป็นรูปเทวเคารพของชาวอินเดียที่เข้าติดต่อค้าขาย   ไทยอู่ทองที่นับถือศาสนาพราหมณ์ก็คงจะรับเป็นรูปเคารพไปด้วย

ต่อมาถึง พ.ศ.๑๓๐๐  มงกุฎทรงกระบอกก็หายไป  กลายเป็นทรงมงกุฎอย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย   ในสมัยหลังๆ เช่น รูปสลักหินนูนต่ำพระนารายณ์ทรงเครื่อง  ทรงมงกุฎพบที่เมืองกาญจิปุรัมในอินเดียใต้   ซึ่งไมเคิล ไรท์ ลงความเห็นว่า  เทวรูปทวาราวดีในประเทศไทย  ควรจะเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.๘๐๐-๑๐๐  ไม่ใช่ ๑๑๐๐-๑๒๐๐ ดังที่กำหนด   เพราะเท่าที่พบก็แลดูสวยงามเหมือนผ่านพัฒนาการมาช้านาน

(จาก "สุพรรณบุรีเมืองโบราณฯ"  โดย นวลพรรณ ยิ้มยวน, ๒๕๔๓)

....................

อ้อ ลืมไป  ไม่ใช่คุณกุรุกุลาคนเดียวนะครับ  คุณโพธิ์ประทับใจของผมด้วย  มีรูปอะไรดีๆ เชิญมาแบ่งกันดูมั่ง  ขอบพระคุณอย่างสูง
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 18 ส.ค. 06, 16:46

 ได้พยายามค้นหาด้วยความลำบาก  เพราะไม่ได้อยู่ใกล้ข้อมูลที่จะหยิบยืมใครได้เลย  ร้องเรียกหลายรอบแล้วก็ไม่มีผู้เมตตา  แต่ก็ไปเจอหนังสือที่มี แล้วก็เก็บไว้แต่เดิมด้วย  ค้นซ้ำค้นซาก  ก็เจอ  อิอิ  โชคดีครับ

จะค้นอะไรเหรอ  ก็เกี่ยวกับองค์เทวรูปที่กล่าวถึงนี่แหละครับ  มีกล่าวไว้หลายแห่งว่าในสุพรรณมีอยู่ ๓ องค์พี่น้องกัน  เจอในหนังสือ  สรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี  ประจำปี ๒๕๔๕

ตรงนี้กล่าวถึง เจ้าพ่อพระยาจักร ก่อนว่า  เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองอู่ทอง  เป็นเทวรูปที่ถือจักรอยู่ในมือ  ทำด้วยหินสี่เหลี่ยม  กว้างประมาณ ๑ เมตร  สูง ๑.๕ เมตร หนา ๓๐ ซม.  เป็นรูปสลักนูนนารายณ์สี่กร  อยู่ในท่ายืน  สวมหมวกคล้ายฤาษี  หัตถ์ขวาบนทรงจักร  หัตถ์ซ้ายบนทรงกริช  หัตถ์ขวาล่างอยู่ในท่าท้าวสะเอว  เทวรูปนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ  ไม่มีผู้ใดทราบประวัติแน่นอน  เมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อน  อยู่ในตลาดท่าพระยาจักร  และย้ายจากที่เดิมมาทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐ เมตรในปัจจุบัน  ประดิษฐานอยู่ที่ศาล  ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำจระเข้สามพัน

อีกองค์หนึ่งคือ  เจ้าพ่อจักรนารายณ์  ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญดาราม (วัดเขาพระ) ใกล้ที่ว่าการอำเภออู่ทองปัจจุบัน

ความศักดิ์สิทธิ์
๑. เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสด็จมาตรวจราชการผ่านเมืองอู่ทอง  และแวะพักแรมที่ดอนพลับพลา  อำเภออู่ทอง  พระองค์มิได้ไปแสดงความคารวะ  ม้าที่นั่งจึงพยศ  ต่อมาพระองค์เสด็จคารวะจึงหายอาการ
๒. เมื่อคราวไฟไหม้ที่ตลาดเก่า  พอวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าที่ท่อนแขนของเจ้าพ่อมีรอยไหม้

...........................

แต่อ่านจากที่สมเด็จกรมดำรงฯ ท่านนิพนธ์ไว้ทั้งในนิทานโบราณคดี  และสาส์นสมเด็จ  ก็ไม่มีปรากฎเรื่องม้าพยศ  หรือว่ายังอ่านไม่เจอ  ใครรู้จริงบอกบ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 19 ส.ค. 06, 09:31

 สวัสดีครับคุณนิก อยากเห็นภาพเจ้าพ่อพระยาจักรกับเจ้าพ่อจักรนารายณ์ พอจะมีรูปอนุเคราะห์ไหมครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 19 ส.ค. 06, 09:52

 คัดลอกจากที่เดียวกันอีกนั่นแหละ  บอกเพิ่มเติมอีกดังนี้

เทวรูปชุดนี้มี ๓ องค์พี่น้อง  รูปร่างลักษณะเหมือนกันคือ
๑. องค์ใหญ่  เจ้าพ่อหลักเมือง  อยู่ที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
๒. องค์กลาง  เจ้าพ่อพระยาจักร  อยู่ที่ตลาดท่าพระ  อำเภออู่ทอง
๓. องค์เล็ก  เจ้าพ่อจักรนารายณ์  อยู่ที่วัดเขาพระ อำเภออู่ทอง

คหพต.๑๐๒  บอกว่ามี ๓ องค์พี่น้อง  แต่สององค์อยู่ที่เมืองสุพรรณ  อีกองค์อยู่ที่อู่ทอง  แต่ข้อมูลใหม่บอกดังข้างบนนี้  ผมก็ต้องเชื่อของใหม่แหละ  เพียงแต่ว่า  องค์ใหญ่ท่านเป็นคู่แฝดครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง