กระต่ายปังตอ
อสุรผัด

ตอบ: 9
เรียนอยู่ที่ อาชีวะศึกษาลำปาง
|
ขึ้นชื่อว่าของมงคล ใครๆก็สนใจอยากจะได้ไว้เป็นเจ้าของ ยิ่งเป็นวัตถุมงคลที่มีเกจิอาจารย์หลายๆท่านมาทำพิธีปลุกเสกด้วยแล้ว ก็จะเป็นที่ต้องการเสาะแสวงหากันมาไว้ครอบครอง แต่ของมงคลใช่ว่าจะต้องเป็นวัตถุมงคลแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งของอื่นๆก็เป็นมงคลได้ เช่น ด้ายมงคล , งานมงคล, สถานที่อันเป็นมงคล, สัตว์อันเป็นมงคล, ทิศอันเป็นมงคล, ไม้อันเป็นมงคล, เดือน วัน เวลาอันเป็นมงคล, โอกาสอันเป็นมงคล, พิธีการอันเป็นมงคล, วาจาอันเป็นมงคล, ชื่ออันเป็นมงคล, ธรรมอันเป็นมงคล ฯลฯ สุดแต่ว่าจะนับเนื่องเป็นประเพณีกันมาอย่างไร สำหรับเรื่องที่จะเอามาคุยกันในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องของไม้มงคล ที่ไม่ใช่เอาไม้ไปปลุกเสก แล้วไม้นั้นกลายเป็นไม้มงคล แต่เป็นการนำเอาชื่อของไม้มาแปรความให้เป็นไปในทางที่เป็นสิริมงคล มารู้จักไม้มงคลที่เขาใช้วางศิลาฤกษ์กันก่อนว่า เขาใช้ไม้อะไรกันบ้าง ไม้ที่นิยมนำมาใช้กันในการวางศิลาฤกษ์มีอยู่ 9 ชนิด คือ 1. ไม้ชัยพฤกษ์ มีความหมาย จะได้เกิดโชคชัย มีชัยชนะ 2. ไม้ราชพฤกษ์ มีความหมาย จะได้เป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนา มีคนนับหน้าถีอตา 3. ไม้ทองหลาง มีความหมาย จะมีเงินมีทองอุดมสมบูรณ์ 4. ไม้ไผ่สีสุก มีความหมาย จะมีความสุขกายสบายใจตลอดเวลา 5. ไม้กันเกรา มีความหมาย จะช่วยป้องกันภัย อันตรายต่างๆไม่ให้มากล้ำกราย 6. ไม้ทรงบาดาล มีความหมาย จะมีอานุภาพบันดาลให้เกิดสิ่งที่ปรารถนา 7. ไม้สัก มีความหมาย จะเกิดความมีศักดิ์ศรี เกียรติยศชื่อเสียง 8. ไม้พะยูง มีความหมาย จะช่วยพยุงฐานะให้ดีขึ้น 9. ไม้ขนุน มีความหมาย จะมีผู้ให้การเกื้อหนุนในทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อไปก็มารู้จักไม้มงคลกันอีกงานหนึ่ง งานนี้ก็คืองานในการฝังรากอาคาร(ตึก)ที่จะก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัย ไม้ในงานนี้ใช้อยู่ 11 ชนิด ดังนี้ 1. ไม้ชัยพฤกษ์ 2. ไม้ราชพฤกษ์ 3. ไม้ทองหลาง 4. ไม้ไผ่สีสุก 5. ไม้กันเกรา 6. ไม้สัก 7. ไม้พะยูง 8. ไม้ขนุน 9. ไม้รัก 10. ไม้นาค 11. ไม้กัญชา จะเห็นว่าไม้ที่ใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ชนิดเดียวกันกับไม้ที่ใช้วางศิลาฤกษ์ โดยใช้ถึง 8 ชนิด ที่ไม่ใช้ก็คือ ไม้ทรงบาดาล แต่จะมีอีก 3 ไม้มาทดแทน นั่นคือ 1. ไม้รัก มีความหมาย มีคนรักใคร่นับถือ 2. ไม้นาค มีความหมาย มีความประเสริฐ ดีเลิศ 3. ไม้กัญชา หาความหมายไม่เจอ ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นไม้ต้องห้าม เพราะเป็นไม้ที่ใช้เอาไปทำยาเสพติดชนิดหนึ่ง คือเอาใบไปสูบแล้วทำให้เกิดความมึนเมา ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ทำไมคนโบราณจึงถือเอาไม้กัญชามาเป็นไม้มงคล จะเอาคำว่า "กัญชา" มาแปรความให้มันเป็นมงคลในแง่ไหน จะว่าเป็นการ "กัน" ภัย ก็คงจะไม่ใช่ เพราะการช่วยป้องกันภัยอันตรายต่างๆก็ใช้ "ไม้กันเกรา" ในความหมายนี้อยู่แล้ว ผู้เขียนก็เลยงง ผู้อ่านก็คงจะงงตามไปด้วย เอาเป็นว่าใครรู้ช่วยบอกผู้เขียนด้วยก็แล้วกัน นอกจากจะฝังไม้มงคลลงไปในอาคารบ้านเรือนแล้ว คนโบราณยังจะเอาไม้มงคลมาปลูกในบริเวณบ้านด้วย หากว่ามีที่ดินกว้างขวางพอที่จะปลูกเพื่อให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม เป็นสง่าราศรีแก่ตัวบ้าน แต่ก็ใช่ว่าคิดจะปลูกไม้อะไรลงตรงไหน ก็ปลูกๆกันไป คนโบราณจะต้องดูทิศทางกันก่อนว่า ไม้อะไรจะปลูกกันทิศไหน ปลูกวันอะไร และไม้อะไรที่ห้ามไม่ให้ปลูก ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับเรื่องทิศของคนโบราณกันก่อน เพราะคนโบราณมีคำเรียกทิศที่ไม่เหมือนกับที่เราใช้เรียกกันในปัจจุบัน เวลาไปอ่านเจอที่อื่นจะได้ไม่งงว่า เอ๊ะมันทิศอะไรของมันวะ ตูละไม่รู้เรื่องเลย คนโบราณเรียกทิศทั้ง 8 ทิศ ดังนี้ 1. ทิศเหนือ เรียกว่า ทิศอุดร 2. ทิศใต้ เรียกว่า ทิศทักษิณ 3. ทิศตะวันออก เรียกว่า ทิศบูรพา 4. ทิศตะวันตก เรียกว่า ทิศประจิม 5. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ทิศอีสาน 6. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ทิศอาคเนย์ 7. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เรียกว่า ทิศพายัพ 8. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า ทิศหรดี พอรู้จักทิศของคนโบราณดีแล้ว ทีนี้มาดูกันว่าเขาเอาต้นไม้อะไรไปปลูกลงทิศไหน ถึงจะเป็นมงคล ดังนี้ 1. ทิศอุดร(เหนือ) ปลูก พุทรา, หัวว่านต่างๆ 2. ทิศทักษิณ(ใต้) ปลูก มะม่วง, มะพลับ 3. ทิศบูรพา(ตะวันออก) ปลูก มะพร้าว, กุ่ม, ไผ่ 4. ทิศประจิม(ตะวันตก) ปลูก มะขาม, มะยม 5. ทิศอีสาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปลูก ทุเรียน 6. ทิศอาคเนย์(ตะวันออกเฉียงใต้) ปลูก ยอ, สารภี 7. ทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ) ปลูก มะกรูด 8. ทิศหรดี(ตะวันตกเฉียงใต้) ปลูก ชัยพฤกษ์, สะเดา, ขนุน, พิกุล ส่วนต้นไม้ที่ห้ามไม่ให้เอามาปลูกในบริเวณบ้าน ก็มีดังนี้ 1. ต้นโพธิ์ 2. ต้นไทร 3. ต้นตาล 4. ต้นมะกอก 5. ต้นระกำ 6. ต้นมะงั่ว 7. ต้นสำโรง 8. ต้นหวาย 9. ต้นสลัดได เมื่อรู้ว่าต้นไม้อะไรควรปลูกทิศไหนถึงจะเป็นมงคลไปแล้ว ก็มารู้กันต่อไปว่า คนโบราณนั้นยังถือเคล็ดในเรื่องของ วัน ที่จะเอาพืชลงปลูกอีกด้วย ถ้าเอาไปปลูกผิดวันจะไม่งอกงาม ดังนี้ วันอาทิตย์ ให้ปลูก ขิง, ข่า, เผือก, มัน วันจันทร์ ให้ปลูก อ้อย วันอังคาร ให้ปลูก แมงลัก, ผักชี, ตะไคร้, พลู วันพุธ ให้ปลูก บัว, มะลิ, กระดังงา วันพฤหัสบดี ให้ปลูก บัว, มะลิ, กระดังงา (เหมือนกับวันพุธ) วันศุกร์ ให้ปลูก ข้าว, ฟัก, แฟง, แตง, ถั่ว, งา, ไม้มีผลต่างๆ วันเสาร์ ให้ปลูก แมงลัก, ผักชี, ตะไคร้, พลู (เหมือนกับวันอังคาร) คนโบราณยังถือต่อไปอีกว่า คนเรานั้นเมื่อเกิดมาในปีใด ก็สมควรที่จะมีไม้มงคลไว้ประจำปีเกิดของตนเองด้วย ดังต่อไปนี้ 1. ปีชวด ต้นไม้ประจำปี คือ มะพร้าว, กล้วย 2. ปีฉลู ต้นไม้ประจำปี คือ ตาล 3. ปีขาล ต้นไม้ประจำปี คือ ขนุนสำมะลอ, รัง 4. ปีเถาะ ต้นไม้ประจำปี คือ มะพร้าว, งิ้ว 5. ปีมะโรง ต้นไม้ประจำปี คือ งิ้ว, กอไผ่ 6. ปีมะเส็ง ต้นไม้ประจำปี คือ กอไผ่, รัง 7. ปีมะเมีย ต้นไม้ประจำปี คือ กล้วย 8. ปีมะแม ต้นไม้ประจำปี คือ ปาริชาติ, ไผ่ป่า 9. ปีวอก ต้นไม้ประจำปี คือ ขนุน 10. ปีระกา ต้นไม้ประจำปี คือ ยาง, ฝ้ายเทศ 11. ปีจอ ต้นไม้ประจำปี คือ สำโรง, บัวหลวง 12. ปีกุน ต้นไม้ประจำปี คือ บัวหลวง ในปัจจุบันจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร (ซึ่งไม่ใช่จังหวัด) ต่างก็มีการกำหนดให้หาต้นไม้มาเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดและประจำกรุงเทพมหานคร นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หน่วยงานของตน ดังนี้ 1. กระบี่ ได้แก่ ทุ้งฟ้า 26. บุรีรัมย์ ได้แก่ กาฬพฤกษ์ 51. ลำปาง ได้แก่ ขจาว 2. กาญจนบุรี ได้แก่ ขานาง 27. ปทุมธานี ได้แก่ ทองหลางลาย 52. ลำพูน ได้แก่ จามจุรี 3. กาฬสินธุ์ ได้แก่ มะหาด 28. ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ เกด 53. เลย ได้แก่ สนสามใบ 4. กำแพงเพชร ได้แก่ สีเสียดแก่น 29. ปราจีนบุรี ได้แก่ โพศรีมหาโพธิ 54. ศรีสะเกษ ได้แก่ ลำดวน 5. ขอนแก่น ได้แก่ กัลปพฤกษ์ 30. ปัตตานี ได้แก่ ตะเคียนทอง 55. สกลนคร ได้แก่ อินทนิลน้ำ 6. จันทบุรี ได้แก่ จัน 31. พะเยา ได้แก่ สารภีไทย 56. สงขลา ได้แก่ สะเดาเทียม 7. ฉะเชิงเทรา ได้แก่ นนทรีป่า 32. พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ หมัน 57. สตูล ได้แก่ กระซิก 8. ชลบุรี ได้แก่ ประดู่ป่า 33. พังงา ได้แก่ เทพทาโร 58. สมุทรปราการ ได้แก่ โพธิ์ทะเล 9. ชัยนาท ได้แก่ มะตูม 34. พัทลุง ได้แก่ พะยอม 59. สมุทรสาคร ได้แก่ สัตบรรณ 10. ชัยภูมิ ได้แก่ ขี้เหล็กบ้าน 35. พิจิตร ได้แก่ บุนนาค 60. สมุทรสงคราม ได้แก่ จิกทะเล 11. ชุมพร ได้แก่ มะเดื่ออุทุมพร 36. พิษณุโลก ได้แก่ ปีบ 61. สระบุรี ได้แก่ ตะแบก 12. เชียงราย ได้แก่ กาซะลองคำ 37. เพชรบุรี ได้แก่ หว้า 62. สระแก้ว ได้แก่ มะขามป้อม 13. เชียงใหม่ ได้แก่ ทองกวาว 38. เพชรบูรณ์ ได้แก่ มะขาม 63. สิงห์บุรี ได้แก่ มะกล่ำต้น 14. ตรัง ได้แก่ ศรีตรัง 39. แพร่ ได้แก่ ยมหิน 64. สุโขทัย ได้แก่ มะค่าโมง 15. ตราด ได้แก่ หูกวาง 40. ภูเก็ต ได้แก่ ประดู่หิน 65. สุพรรณบุรี ได้แก่ มะเกลือ 16. ตาก ได้แก่ แดง 41. มหาสารคาม ได้แก่ พฤกษ์,มะรุมป่า 66. สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เคี่ยม 17. นครนายก ได้แก่ สุพรรณิการ์(ฝ้ายคำ) 42. มุกดาหาร ได้แก่ ช้างน้าว 67. สุรินทร์ ได้แก่ มะค่าแต้ 18. นครปฐม ได้แก่ จันทน์หอม 43. แม่ฮ่องสอน ได้แก่ กระพี้จั่น 68. หนองคาย ได้แก่ ชิงชัน 19, นครพนม ได้แก่ กันเกรา 44. ยโสธร ได้แก่ กระบาก 69. หนองบัวลำภู ได้แก่ พะยูง 20. นครราชสีมา ได้แก่ สาธร 45. ยะลา ได้แก่ โศกเหลือง(ศรียะลา) 70.อ่างทอง ได้แก่ มะพลับ 21. นครศรีธรรมราช ได้แก่ แซะ 46. ร้อยเอ็ด ได้แก่ กระบก 71. อุดรธานี ได้แก่ ยางนา 22. นครสวรรค์ ได้แก่ เสลา 47. ระนอง ได้แก่ อบเชย 72. อุตรดิตถ์ ได้แก่ สัก 23. นนทบุรี ได้แก่ นนทรีบ้าน 48. ระยอง ได้แก่ สารภีทะเล หรือ กระทิง73. อุทัยธานี ได้แก่ สะเดา 24. นราธิวาส ได้แก่ ตะเคียนซันตาแมว 49. ราชบุรี ได้แก่ โมกมัน 74. อุบลราชธานี ได้แก่ ยางนา 25. น่าน ได้แก่ กำลังเสือโคร่ง 50. ลพบุรี ได้แก่ พิกุล 75. อำนาจเจริญ ได้แก่ ตะเคียนหิน สำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่จังหวัดนั้น ต้นไม้ประจำหน่วย ได้แก่ ไทรย้อย เรื่องของต้นไม้นั้นผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่า บางชนิดไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้ยินแต่เพียงชื่อ และบางชนิดเพิ่งจะได้ยินชื่อเป็นครั้งแรก ยังไงท่านผู้อ่านก็ลองสอบถามทางกรมป่าไม้กันเอาเองก็แล้วกันว่า อย่างไหนลักษณะรูปร่างหน้าตามันเป็นยังไง ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกๆท่านโชคดี เจอแต่ไม้ที่เป็นมงคล อย่าเจอไม้เรียว, ไม้ตะพด, ไม้คมแฝก, ไม้หน้าสาม, ไม้ตีพริก จากใครๆเลย ส่วนไม้ใกล้ฝั่งหนีไม่พ้นต้องเจอกันทุกคน สวัสดี.
------------------------------------------
|