เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3948 มาทำปฏิทิน (รู้อดีตรู้อนาคต)กันดีกว่าค่ะ
กระต่ายปังตอ
อสุรผัด
*
ตอบ: 9

เรียนอยู่ที่ อาชีวะศึกษาลำปาง


 เมื่อ 23 ก.ค. 06, 13:01

 --------------------------
   ในบางครั้งเราอยากจะรู้ว่า วันที่, เดือน, ปี ในอดีตที่ผ่านมามันเป็นวันอะไรของสัปดาห์กันแน่ เช่น วันเดือนปีเกิดของเรา หรือของคนใกล้ๆตัวเรา มันจะใช่วันอาทิตย์ไหม หรือมันจะเป็นวันจันทร์ หรือวันอะไรกันแน่ เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา ครั้นจะไปค้นหาในหนังสือปฏิทิน 100 ปีเพื่อให้เกิดความแน่ใจก็หาหนังสือที่ว่านั้นไม่พบเสียอีก หรือบางทีก็ไม่มี ครั้นจะไปพึ่งค้นหาตามร้านขายหนังสือใหญ่ๆก็ไม่สะดวก บางทีเขาก็เอาพลาสติกหุ้มเล่มเอาไว้ เปิดดูไม่ได้  หรือในบางครั้งเราอยากจะรู้วัน และวันที่ล่วงหน้าไปในอนาคตหลายๆปี เพื่อจะตกลงใจกำหนดเอาวันนั้น วันนี้เป็นวันฤกษ์งามยามดีที่จะทำพิธีอะไรสักอย่าง ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาปฏิทินล่วงหน้าหลายๆปีได้ที่ไหน

ผู้เขึยนจึงมาชวนท่านผู้อ่านทำปฏิทินย้อนอดีตและปฏิทินก้าวสู่อนาคตเพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นกันดีกว่า เพราะการทำก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เราทำให้รูปแบบเป็นสากลมันก็จะทำง่ายขึ้น และเข้าใจง่ายขึ้น นั่นคือปีที่เราจะใช้ทำ ก็กำหนดให้เป็นปี ค.ศ.(คริสต์ศักราช) ส่วนเดือน และวัน ก็ใช้เป็นคำภาษาอังกฤษ โดยใช้เป็นคำย่อ เพราะถ้าจะใช้เป็นคำเต็มมันจะใหญ่ ดูแล้วไม่กระทัดรัดสวยงาม สำหรับตัวเลขก็ใช้เลขอารบิค ทีแรกผู้เขียนคิดทำเป็นภาษาไทย คือใช้ ปี พ.ศ. เดือน, วัน และตัวเลข ใช้เป็นภาษาไทยและเลขไทย  ปรากฏว่าไม่เข้าท่าดูมั่วไปหมด  ก็เลยต้องทำเป็นระบบสากลเพราะดูแล้วเข้าใจง่ายดี
   เรามาเริ่มต้นกันเลย ดังนี้  ให้ท่านผู้อ่านหากระดาษว่างๆ ขนาด A 4 (จะขนาดเล็กหรือใหญ่กว่านี้ก็ได้) มา 15 แผ่น เพื่อใช้ทำปฏิทิน 14 แผ่น ส่วนอีก 1 แผ่น ใช้ทำผังรายการการใช้ปฏิทินว่า ปี ค.ศ.ไหน จะใช้ปฏิทินหมายเลขใด
   กระดาษแผ่นที่ 1 ให้เขียนตัวเลข 1  และคำว่า "ปีธรรมดา" ตัวโตๆเอาไว้ที่หัวกระดาษ (ดูตัวอย่าง) ผู้เขียนขออธิบายคำว่าปีธรรมดาเอาไว้เสียก่อนว่า หมายถึงปีที่เดือน กุมภาพันธ์ ของปีนั้น มีจำนวนวันอยู่ 28 วัน ซึ่งกระดาษแผ่นที่ 1-7 นั้น นอกจากท่านผู้อ่านจะเขียนตัวเลขของแต่ละแผ่นลงไปแล้ว จะต้องเขียนคำว่า "ปีธรรมดา"ลงไปด้วย และตั้งแต่แผ่นที่ 8 - 14 ท่านผู้อ่านจะต้องเขียนคำว่า "ปีอธิกสุรทิน" ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "Leap Year" ลงไปด้วย ซึ่งปีอธิกสุรทินนี้ หมายถึงปีที่เดือน กุมภาพันธ์ ของปีนั้นมีจำนวนวันอยู่ 29 วัน
   เมื่อเขียนตัวเลข 1 และคำว่า ปีธรรมดา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ท่านผู้อ่านเขียนเดือนทั้ง 12 เดือน คือ มกราคม - ธันวาคมลงไปให้ปรากฏวันที่ และวันของแต่ละเดือนให้ถูกต้อง จะใช้ชื่อเดือน และชื่อวันเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะชอบ(ดูตัวอย่าง ในตัวอย่างผู้เขียนใช้ภาษาอังกฤษ) ข้อสำคัญของแผ่นที่ 1 นี้ คือ วันที่ 1 มกราคม จะต้องเขียนใส่ลงไปให้ตรงกับวันอาทิตย์ และวันต่อๆไปจนสิ้นสุดปี
   กระดาษแผ่นที่ 2 ให้เขียนตัวเลข 2 และคำว่า "ปีธรรมดา" ตัวโตๆเอาไว้ที่หัวกระดาษ แล้วทำปฏิทินทำนองเดียวกับกระดาษแผ่นที่ 1 ข้อสำคัญของแผ่นนี้อยู่ที่ว่า วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันจันทร์ และวันต่อๆไปจนสิ้นสุดปี
   กระดาษแผ่นที่ 3 ให้เขียนตัวเลข 3 และคำว่า "ปีธรรมดา" ตัวโตๆเอาไว้ที่หัวกระดาษ แล้วทำปฏิทินทำนองเดียวกับกระดาษแผ่นที่ 1 ข้อสำคัญของแผ่นนี้อยู่ที่ว่า วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันอังคาร และวันต่อๆไปจนสิ้นสุดปี
   และเพื่อไม่ให้ ยืดยาว เกินไป ผู้เขียนก็ขอให้ท่านผู้อ่านทำแผ่นที่ 4 -7 ในทำนองเดียวกันกับแผ่นที่ผ่านมา แต่ขอเน้นในเรื่องความสำคัญของแผ่น ดังนี้
   กระดาษแผ่นที่ 4 วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันพุธ
   กระดาษแผ่นที่ 5 วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันพฤหัสบดี
   กระดาษแผ่นที่ 6 วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันศุกร์
   กระดาษแผ่นที่ 7 วันที่ 1 มกราคม จะต้องเป็นวันเสาร์
   เมื่อท่านผู้อ่านทำมาถึงตรงนี้ ก็คงจะมองเห็นแนวทางในการทำว่า จะทำปฏิทินแผ่นที่ 1 -7 ให้เล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็ได้ ซึ่งก็รวมไปถึงแผ่นที่ 8 -14 ที่จะทำต่อไปอีกด้วย
               สำหรับแผ่นที่ 8 -14 ที่ท่านผู้อ่านจะทำต่อไปนั้น ก็ทำในทำนองเดียวกันกับแผ่นที่ 1 -7 จะแตกต่างกันก็คือ แผ่นที่ 1 - 7 เขียนคำว่า "ปีธรรมดา" ต่อท้าย แต่แผ่นที่ 8 - 14 ให้เขียนคำว่า "ปีอธิกสุรทิน"(Leap Year) ต่อท้าย (ดูตัวอย่าง)  และเดือนกุมภาพันธ์ ของปีอธิกสุรทิน อย่าลืมใส่จำนวนวันให้ครบ 29 วัน  ด้วยนะครับ  ส่วนวันที่ 1 มกราคม ของแผ่นที่ 8 - 14 ก็จะเหมือนกันกับวันในแผ่นที่ 1 - 7 ตามลำดับ
   เมื่อท่านผู้อ่านทำปฏิทินครบทั้ง 14 แผ่นแล้ว  คราวนี้ก็จะมาทำแผ่นสุดท้ายนั่นก็คือ ทำผังรายการการใช้ปฏิทินว่า ปี ค.ศ.ใดจะใช้ปฏิทินหมายเลขไหนใน 14 หมายเลขที่ได้ทำเอาไว้
   สำหรับผังรายการการใช้ปฏิทินนี้ จะทำย้อนหลังไปกี่ปี และจะล่วงหน้าไปกี่ปีก็อยู่ที่เราจะกำหนด คือตามใจชอบของเรา ข้อสำคัญจะต้องเอาปฏิทินของปีใดปีหนึ่งมาเป็นปฏิทินหลัก เพื่อจะได้ตั้งต้นได้ถูกต้อง ไม่ผิดปี ค.ศ. ไม่ผิดวัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าใช้ปฏิทินปีปัจจุบันเหมาะที่สุดเพราะมีกันอยู่ทุกบ้าน หยิบเอามาเป็นตัวตั้งต้นในการทำผังรายการได้ทันที                                        
    เรามาเริ่มกันเลย โดย เอาปฏิทิน ปี ค.ศ. 2004 เป็นตัวตั้งต้น  เมื่อได้ปฏิทินมาแล้วก็ให้ตรวจดูว่า วันที่ 1 มกราคม ตรงกับวันอะไร จะเห็นว่าตรงกับ วันพฤหัสบดี ทีนี้เราก็ไปตรวจดูปฏิทินที่เราทำไว้ทั้ง 14 หมายเลข ปรากฏว่า วันที่ 1 มกราคม ที่ตรงกับวันพฤหัสบดี มีอยู่ 2 ปฏิทิน คือ ปฏิทินหมายเลข 5 "ปีธรรมดา" และปฏิทินหมายเลข 12 "ปีอธิกสุรทิน"
   เราต้องดูต่อไปว่า ปี ค.ศ. 2004 เป็น "ปีธรรมดา" หรือ "ปีอธิกสุรทิน" เพราะถ้าเป็น "ปีธรรมดา" เราก็จะใช้ปฏิทินที่เราทำไว้หมายเลข 5 แต่ถ้าปี ค.ศ. 2004 เป็น "ปีอธิกสุรทิน" เราก็จะใช้ปฏิทินที่เราทำไว้หมายเลข 12
   ทีนี้การที่จะรู้ว่า ปี ค.ศ. ใดเป็น "ปีธรรมดา" หรือ เป็น "ปีอธิกสุรทิน" นั้น เขามีวิธีการอยู่ คือ เอาเลขปี ค.ศ.นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย 4 ถ้าหารลงตัวไม่เหลือเศษ ปี ค.ศ.นั้นก็จะเป็น "ปีอธิกสุรทิน"  แต่ถ้าหารไม่ลงตัวเหลือเศษ ปี ค.ศ.นั้นก็จะเป็น "ปีธรรมดา" เรามาดูปี ค.ศ. 2004 เมื่อเอา 4 หาร จะลงตัวพอดี  ดังนั้น ปี ค.ศ. 2004 เป็น "ปีอธิกสุรทิน" อย่างแน่นอน  จึงต้องเอาปฏิทินที่เราทำไว้หมายเลข 12  ปีอธิกสุรทิน(Leap Year)มาใช้กับปี ค.ศ.2004  ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยถามว่าทำไมจะต้องเอา 4 มาหาร  ตอบว่าเหตุที่ต้องเอา 4 มาหาร เพราะว่า ปีอธิกสุรทินนั้น  4 ปีจึงจะเกิดขึ้นมาหนหนึ่ง   ดังนั้นเมื่อปี ค.ศ. 2004 เป็นปีอธิกสุรทินแล้ว  ปีอธิกสุรทินครั้งต่อไปก็ คือ ปี ค.ศ 2008  ในทำนองกลับกันปีอธิกสุรทินที่ผ่านมาก็คือปี ค.ศ.2000
   เมื่อเรารู้แล้วว่าปี ค.ศ.2004 จะต้องใช้ปฏิทินที่เราทำไว้หมายเลข 12 "ปีอธิกสุรทิน"(Leap Year) เราก็เขียนลงไปในกระดาษแผ่นที่ใช้ทำผังรายการ ดังนี้  " 2004  12 " (ตัวเลข 2004 คือเลขปี ค.ศ.  ส่วนเลข 12 ที่เว้นวรรคต่อท้ายนั้นคือหมายเลขของปฏิทินที่ใช้กับปี ค.ศ.นั้น) จากนั้นเราก็ทำปี ค.ศ. 2005 เป็นรายการลงไปในผังต่อไป ซึ่งเราก็รู้แล้วว่าปี ค.ศ.2005 เป็นปีธรรมดาแน่ๆ เพราะเอา 4 หารแล้วไม่ลงตัว ดังนั้นจะต้องใช้ปฏิทินที่เราทำไว้ในระหว่างหมายเลข 1 -7 แต่จะเป็นหมายเลขใดแน่ เราจะต้องตรวจดูวันสิ้นปีของปี ค.ศ. 2004 คือวันที่ 31 ธันวาคม นั้นตรงกับวันอะไร  เมื่อเราตรวจดูแล้วจะเห็นว่าตรงกับ วันศุกร์ (ขอให้ท่านผู้อ่านตรวจดูในปฏิทินที่ท่านได้ทำไว้ หมายเลข 12 ว่า ตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงถือว่าท่านทำไว้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ตรง ท่านจะต้องตรวจเช็คให้ละเอียด เพราะท่านจะต้องทำผิดแน่ๆ) เมื่อวันสิ้นปี ค.ศ.2004 ตรงกับวันศุกร์  ดังนั้นวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ.2005 จะต้องเป็น วันเสาร์   เมื่อเป็นวันเสาร์ ปฏิทินที่จะต้องใช้ก็คือปฏิทิน หมายเลข 7 เราก็เขียนลงในผังรายการเป็น " 2005   7 "  เมื่อจะทำของปี ค.ศ.2006 ก็ดูว่าวันสิ้นปีของปี ค.ศ.2005 ตรงกับวันอะไร โดยดูจากปฏิทินหมายเลข 7 ที่เราทำไว้  จะเห็นว่าตรงกับ วันเสาร์  ดังนั้นวันต้นปีของปี ค.ศ.2006 ก็จะต้องเป็น วันอาทิตย์  ซึ่งตรงกับปฏิทินที่เราทำไว้คือปฏิทินหมายเลข 1  เราก็เขียนลงผังรายการเป็น " 2006   1 "   ปี ค.ศ.2007 เป็น " 2007   2 "  ปี ค.ศ.2008 จะต้องไม่ลืมว่าเป็นปี อธิกสุรทิน เพราะเอา 4 หารแล้วลงตัว ดังนั้นปฏิทินที่เราทำไว้ต้องใช้ระหว่างหมายเลข 8 - 14  แต่จะใช้หมายเลขไหนก็ต้องตรวจดูว่า วันสิ้นปีของปี ค.ศ.2007 นั้นตรงกับวันอะไร    ปรากฏว่าตรงกับวันจันทร์  ดังนั้นวันต้นปีของปี ค.ศ.2008จะต้องเป็นวันอังคาร เมื่อเป็นวันอังคารก็ต้องใช้ปฏิทินหมายเลข 10 เราก็เขียนลงผังรายการเป็น " 2008   10 "(ดูตัวอย่าง)
   ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการทำล่วงหน้าไปในอนาคต แต่ถ้าจะทำย้อนอดีตลงไปบ้างก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ท่านผู้อ่านสามารถที่จะทำในทำนองเดียวกับการทำไปในอนาคตนั่นแหละ ยิ่งถ้าท่านผู้อ่านดูจากตัวอย่างที่ผู้เขียนทำมาให้ดูด้วยแล้วรับรองว่าทะลุปรุโปร่งแน่นอน
   ในเรื่องของปฏิทิน "ปีธรรมดา" คือ ปฏิทินหมายเลข 1 - 7 นั้น มีหลักในการจำวันสิ้นปีของแต่ละปฏิทินได้ง่ายๆ คือ เมื่อวันต้นปีตรงกับวันอะไร วันสิ้นปีก็จะตรงกับวันนั้นด้วย ดังนี้
   ปฏิทินหมายเลข 1   วันต้นปีเป็น  วันอาทิตย์    วันสิ้นปีก็จะเป็น  วันอาทิตย์ ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 2   วันต้นปีเป็น  วันจันทร์      วันสิ้นปีก็จะเป็น  วันจันทร์ ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 3   วันต้นปีเป็น  วันอังคาร     วันสิ้นปีก็จะเป็น  วันอังคาร ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 4   วันต้นปีเป็น  วันพุธ          วันสิ้นปีก็จะเป็น  วันพุธ ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 5   วันต้นปีเป็น  วันพฤหัสบดี วันสิ้นปีก็จะเป็น   วันพฤหัสบดี ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 6   วันต้นปีเป็น  วันศุกร์        วันสิ้นปีก็จะเป็น   วันศุกร์ ด้วย
   ปฏิทินหมายเลข 7   วันต้นปีเป็น  วันเสาร์        วันสิ้นปีก็จะเป็น   วันเสาร์ ด้วย
   ส่วนปฏิทินหมายเลข 8 - 14 เมื่อวันต้นปีเป็นวันอะไร  วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป ดังนี้
   ปฏิทินหมายเลข 8   วันต้นปีเป็น  วันอาทิตย์     วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันจันทร์
   ปฏิทินหมายเลข 9   วันต้นปีเป็น  วันจันทร์       วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันอังคาร
   ปฏิทินหมายเลข10  วันต้นปีเป็น  วันอังคาร      วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันพุธ
      ปฏิทินหมายเลข11  วันต้นปีเป็น  วันพุธ           วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันพฤหัสบดี
                 ปฏิทินหมายเลข12  วันต้นปีเป็น  วันพฤหัสบดี   วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันศุกร์
   ปฏิทินหมายเลข13  วันต้นปีเป็น  วันศุกร์          วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันเสาร์
   ปฏิทินหมายเลข14  วันต้นปีเป็น   วันเสาร์          วันสิ้นปีจะเป็นวันถัดไป คือ วันอาทิตย์
   มีข้อสังเกตว่า หมายเลขของปฏิทินที่ใช้กับปี ค.ศ.นั้น  เมื่อใช้ไป 28 ปีแล้วจะเริ่มต้นซ้ำกับที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านสามารถตรวจสอบดูได้ ถ้าตรวจดูแล้วไม่ซ้ำ จะต้องมีการทำผิด หรือเขียนผิด ณ ที่ใดที่หนึ่งอย่างแน่นอน หาไปเดี๋ยวเจอเอง แต่ถ้าตรวจดูแล้วซ้ำอย่างที่ผู้เขียนว่ามา แสดงว่าผังรายการนั้นถูกต้อง เอาไปใช้ตรวจสอบได้อย่างมั่นใจ
   ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะรู้ละเอียดไปถึงว่า วันนั้นมันข้างขึ้น หรือข้างแรม เป็นวันพระหรือเปล่า ผู้เขียนก็ขอแนะว่า ไปซื้อหนังสือปฏิทิน 100 ปี หรือ 200 ปีที่เขาพิมพ์ขายเอามาตรวจสอบดูก็แล้วกัน และถ้าต้องการจะก้าวไกลไปสู่อนาคตของการเป็นโหร ผู้เขียนก็ขอแนะให้ไปร่ำเรียนกับโหรซึ่งมีชื่อเสียงซึ่งมีอยู่หลายท่านเอาเองจะดีกว่า เพราะเรื่องอย่างนี้ผู้เขียนช่วยท่านไม่ได้จริงๆ เนื่องจากผู้เขียนไม่เป็นเรื่องเลย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.035 วินาที กับ 19 คำสั่ง