เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 17173 ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 12:30

 พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

...... ลุจุลศักราช ๑๑๔๔  ปีชาล จัตวาศก (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๒๕- NickyNick) ....... พระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก)  เห็นจะสู้มิได้  ไม่ทันจะตระเตรียมตัว  ก็พาพระท้าวสองนางซึ่งเป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ราชาลงเรือ  กวาดต้อนครอบครัวเขมรเข้ารีดมาด้วยประมาณ ๕๐๐ คน  หนีเข้ามาขึ้นที่เมืองพระตะบองเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร  ในปีขาลจัตวาศกนั้น   ชนมายุนักพระองค์เองได้ ๑๐ ปี  แต่นักองเมนป่วยถึงแก่พิราลัยเสีย  ยังอยู่แต่พระเรียมสององค์ คือ .......

....................

สืบได้ว่าปีที่เขมรเข้ารีตมาอยู่ ณ กรุงเทพฯ น่าจะตรงกับปี พ.ศ.๒๓๒๕ ครับ
พระยายมราช (แบน)  ภายหลังในปีถัดไป  ก็ได้รับโปรดเกล้าเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ไปรั้งเมืองเขมร  ท่านอยู่ในสกุล "อภัยวงศ์" ครับ
แล้วเดี๋ยวว่างๆ จะค้นเกี่ยวกับชื่อสถานที่ตรงนั้นที่มีหลายชื่อต่างๆ กันไป คือ วัดคอนเซ็ปชัญ  บ้านเขมร  หรือบ้านญวน  รอสักหน่อยนะครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 12:48

 ขอโทษด้วย  บวกลบผิด  มึนไปเอง  ไม่ค่อยสบายอยู่ด้วยครับ  เปื่อยอยู่
จ.ศ.๑๑๔๔  ตรงกับปี พ.ศ.๒๓๒๕ ครับ

...............

ขอออกตัวไว้ก่อนครับ  ผมไม่มีความรู้เรื่องชื่อสถานที่ต่างๆ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เลยแม้แต่น้อย  เพียงแต่ว่าขยันพิมพ์มาเผยแพร่กันแค่นั้นเอง

ต่อกันเลยนะครับ  ตรงบริเวณวัดคอนเซปชัญ  คัดจากหนังสือของกรมศิลปากร ชื่อ "นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ"

....................

......... และเมื่อคราวที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าก็ได้มีชาวโปรตุเกสจากอยุธยาส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านโปรตุเกส สามเสนแห่งนี้ด้วย

ส่วนชาวเขมรนั้นในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑ ได้บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเขมรเข้ารีต ๕๐๐ คน  ที่พระยายมราชพามาจากเมืองเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย  หรือวัดราชาธิวาส  ซึ่งก็คืออาณาบริเวณที่เป็นวัดคอนเซ็ปชัญในปัจจุบันนั่นเอง  สาเหตุที่โปรดเกล้าฯ เช่นนั้นก็เพราะทรงเห็นว่าภายในหมู่บ้านแห่งนี้มีชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคาทอลิกอาศัยอยู่ร่วมกันได้โดยง่าย   นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านก็ยังมีศาสนสถานที่จะให้พวกเขมรเข้ารีตเหล่านี้สามารถประกอบศาสนกิจได้โดยสะดวก   และต่อมาก็ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   พระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขยายอาณาเขตของหมู่บ้านออกไปอีก   จนเป็นเหตุให้ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า  "บ้านเขมร"

สำหรับชาวญวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้นั้น   เป็นชาวญวนเข้ารีตที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ถัดบ้านเขมรไปทางเหนือ   และส่งผลให้มีผู้นิยมเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า   "บ้านญวน"   ด้วยอีกชื่อหนึ่ง ...............
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 13:59

 ตอนนี้ขอเร่งหน่อยครับ  กลัวท่านกุรุกุลาจะหนีไปเสียก่อน  ข้อความต่อไปนี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน  หากรวบรวมไว้ที่เดียวกันตรงนี้จะมีประโยชน์   แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องครับ  แต่ยังไม่รู้ใจ จขกท. จึงขอเก็บไว้ก่อน  เดี๋ยวจะเป็นการอ๊อฟไซด์   จะถูกกรรมการให้ใบเหลือง  คงไม่ถึงกับใบแดงหรอกนะครับ

................................

เฮลเดอร์ เดอ เมนดอนซา เอ กุนญา (Helder de Mendonca e Cunha) (ชื่อเป็นอักษรโรมันเพี้ยนนิดหน่อยครับ เพราะตัวอักษรบางอย่างไม่มีในแป้นพิมพ์) เขียนต่อจาก คหพต.๑๗ ไว้ว่า ....

.......... ในช่วงเวลาที่ย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกที่ดินซึ่งมีความสำคัญและมีค่ายิ่งอีกแห่งหนึ่งให้แก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสในปี ค.ศ.๑๗๘๖ (พ.ศ.๒๓๒๙ – NickyNick)  ที่ดินนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน  ถิ่นฐานของโปรตุเกสแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า  "โรซารี" (The Rosary)  ซึ่งได้มอบให้แก่โปรตุเกส  "เนื่องจากชาวโปรตุเกสได้ให้ความช่วยเหลือในการสู้รบกับกษัตริย์พม่า"

เฟร ฟรานซิสโก ดาส ชากัส (Frei Francisco das Chagas)  ซึ่งถูกส่งตัวมาจากเมืองกัวเพื่อให้มาดูแลชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์ขึ้นที่นั่น  สมาชิกในชุมชนแห่งใหม่ได้สร้างบ้านเรือนและประกอบการค้า  พวกเขายังต่อเรืออีกด้วย  เรือหลายลำในจำนวนนั้น เช่น  เรือ "คอนคอร์เดีย" (Concordia)  ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ที่สถานกงสุลโปรตุเกสในกรุงเทพฯ ......
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 14:30

 เอาแค่กระทู้เดียวนี่แหละ  ให้ครบร้อย  งก  จะได้พาหนะคู่กายเป็น Spiderman หยั่งกับท่านกุรุกุลาน้อยซะที
ต่อกันเลยนะเพื่อน  จากหนังสือเล่มเดียวกันกับข้างบน

................

........ ในหนังสือการพระราชทานที่ดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มีข้อความระบุไว้ว่า  "พระเจ้าแผ่นดิน (สยาม)  ทรงรู้สึกสำนึกในบุญคุณของสมเด็จพระราชินี ดี มาเรีย ที่ ๑   ที่ทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณาอันเป็นเครื่องหมายของไมตรีจิตที่มิอาจลืมเลือนได้ชั่วนิรันดร์ ..... ในอนาคตพระเจ้าแผ่นดินสยามจะไม่ทรงก่อให้เกิดความไม่สะดวกขึ้นในการส่งกองทหารและกระสุน   แต่ทรงขอร้องให้โปรตุเกสมีคำสั่งไปยังรัฐบาลที่เมืองกัวให้ส่งปืนคาบศิลาจำนวน ๓,๐๐๐ กระบอกในระหว่างปี ค.ศ.๑๗๘๗  หากข้าแผ่นดินของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปรารถนาจะจัดตั้งโรงสินค้า   พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงเต็มพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานที่ดินให้เพื่อการนี้   ซึ่งอาจจะมีการสร้างโบสถ์บนที่ดินนั้น...."

เรื่องที่พระเจ้าแผ่นทรงยินดีจะพระราชทานที่ดินเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างโรงสินค้าซึ่งเป็นที่ทราบในขณะนี้ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานในด้านการค้าขึ้นที่กรุงเทพฯ นั้นได้มีการปฏิบัติให้เป็นผลในเวลาต่อมา ...........
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 14:35

 อ้อ  ข้อความตาม คหพต.๓๒ กับ ๓๓  เขาบอกว่าอ้างอิงมาจาก
"the Letter of Concession"  ส่งถึงผู้รับที่เมืองกัวในวันที่  ๒๘ ธันวาคม  ค.ศ.๑๗๘๖ ครับ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 20:45


ลองเปลี่ยนมาชมบรรยากาศในโบสถ์บ้างครับ รูปอาจมัวไปบ้าง ขออภัยครับ แล้ววันหลังจะถ่ายภาพโบสถ์หลังก่อนหน้านี้มาให้ชม หลังปัจจุบันนี้สร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ 6 ครับ  
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 20:50


กระจกสีนี้เป็นของใหม่ เนื่องจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวโบสถ์ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการทิ้งระเบิด ภาพนี้ตั้งใจจะถ่ายให้ติดช่อฟ้าวัดกัลยาณมิตร แต่ไม่ชัด  
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 21:01


กระจกสีเล่าเรื่อง การปรากฎของพระนางมาเรีย พระมารดาของพระเยซู ต่อยวง ดิอาโก ชาวเอซแทก ที่กวาเดอลูป เม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ. 1531  
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 ก.ค. 06, 14:56

 เมื่อผมเข้าไปชมโบสถ์คาทอลิกของแต่ละที่  โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีผู้นับถือกันมาก  ที่นั่นจะสร้างโบสถ์กันที่เรียกว่ายิ่งใหญ่  สวยงาม  บางแห่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุมานานมาก แล้วก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แต่ละแห่งจะมีความประณีตบรรจงทั้งรูปภายนอก  และสิ่งประดับภายใน  บรรยากาศก็มีความขรึม  จึงเกิดความขลังตามมาในความรู้สึกของเรา

กระจกสีที่ประดับบนขอบหน้าต่างหรือที่อื่นๆ  เป็นสิ่งที่ผมชอบมองดูมาก  เป็นศิลปะที่มีความงามยิ่ง  บางแห่งมีหลายภาพต่อเนื่องกันบนกระจก  สามารถเล่าเรื่องให้เรารู้ได้แม้ไม่มีตัวหนังสือ

นี่เป็นความรู้สึกของเราแค่เฉียดๆ เท่านั้นครับ  ยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดและการศึกษาเรื่องราวข้างใน
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 29 ก.ค. 06, 17:07

 อ่า... แล้วกางเขนศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงไหนเหรอครับ
ผมหาไม่เจออ่ะครับ คุณกุรุกุลา



ปล. อ่านไปอ่านมานึกว่ากระทู้คุณNickyNick ซะอีก แหะๆ คุณกุรุกุลาหลบฉากไปซะแล้วเหรอครับเนี่ยะ อิอิ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 31 ก.ค. 06, 20:35

 ตอนนี้ยังไม่ค่อยว่างครับ ขอโทษด้วย แล้วก็อย่างที่คุณติบอว่า ผมยังไม่ได้เริ่มพูดถึงกางเขนศักดิ์สิทธิ์เลย รอให้สอบเสร็จก่อนละกันครับแล้วจะมาขยายถ้อย
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 02 ส.ค. 06, 11:10

 ระหว่างว่างๆ รอดูใจคุณกุรุกุลาน้อย  ก็ขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยจาก คหพต.๒ ท่านคงจะคัดลอกมาผิด หรือตำราเก่าเขียนเพี้ยนไปก็ไม่รู้  ตรงคำอ้อยไทย  น่าจะเป็น "บางคูวัด" มากกว่า  เพราะตรงกับชื่อสถานที่ที่มีอยู่จริง   ผมนำมาจากหนังสือเล่มเดิมของกาญจนาคพันธุ์ เรื่อง "เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๒" ครับ

"ว่าโดยเฉพาะที่กุฎีจีน  ชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องทำขนมที่เรียกว่า "ขนมฝรั่ง"  หรือ "ขนมฝรั่งกุฎีจีน"  ดังที่เขาร้องขายกันในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กว่า

อ้อยจีนบางใหญ่  อ้อยไทยบางคูวัด  ข้าวหลามตัดวัดระฆัง  ขนมฝรั่งกะดีจีน

ขนมฝรั่งนี้ต้องเป็นพวกฝรั่งโปรตุเกสทำขึ้นก่อนที่กุฎีจีน  แปลกไปจากขนมต่างๆ ของไทย  ข้าพเจ้าเคยซื้อกินเมื่อเป็นเด็กบ่อยๆ  รูปร่างโตขนาดจานรองถ้วยน้ำชากาแฟ   กลมๆ แบนๆ หนาราวองคุลี   ข้างบนนูนโค้งขึ้นนิดหน่อย  สีเป็นสีน้ำตาลอ่อน  เนื้อพูดให้เข้าใจง่ายก็คล้ายขนมเค้กนี้แหละ  แต่ไม่มีอะไรปรุงแต่งเลย  รสหวานน้อยๆ ถ้าจะว่าไปก็เป็นขนมอย่างเดียวที่แปลกไปจากขนมไทยทุกอย่างในสมัยนั้น   ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นขนมฝรั่งกุฎีจีนอย่างที่เคยกินเมื่อเป็นเด็กมานานหนักหนาจนปัจจุบันนี้  จะมีพอคล้ายกันก็ที่เป็นขนมเค้กเกลี้ยงๆ ไม่มีหน้ารูปย่อมๆ ที่ขายกันทั่วไปในเวลานี้   ปัจจุบันขนมฝรั่งกุฎีจีนอย่างที่ข้าพเจ้าเคยกิน   จะยังคงทำกันอยู่หรือไม่ไม่ทราบ   สมัยโน้นราคาอันละฬสหรืออันละอัฐก็ลืม..."
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 02 ส.ค. 06, 11:29

 ว่าแล้วก็ต่ออีกตามถนัด  ครั้งเดียวไม่เคยพอ  อย่าว่ากันเลยนะ  ต่อเนื่องติดพันจากคำ "บางคูวัด"  ต้องโทษท่านเอง  ที่คัดมาเพี้ยนทำให้ผมนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้

คัดจากหนังสือ "นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ" กรมศิลปากร

".....ส่วนวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบทอดต่อๆ กันมาในเขตชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ที่ปรากฏเด่นชัดเห็นจะได้แก่การทำขนมฝรั่งด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสได้เรียนรู้สืบต่อกันมา  เช่น  ฟืนที่ใช้อบขนมฝรั่งจะต้องเป็นฟืนไม้แสม   ส่วนการตีแป้งก็จะต้องใช้มือตีแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่มีการใช้เครื่องทุ่นแรงใดๆ ทั้งสิ้น  ในปัจจุบันนี้มีผู้สืบทอดการทำขนมฝรั่งแบบกุฎีจีนเหลืออยู่เพียง ๒-๓ รายเท่านั้น   กรรมวิธีในการทำก็อาจจะมีการพัฒนาไปจากเดิมบ้าง  เป็นต้นว่ามีการแต่งเติมหน้าขนมด้วยพลับแห้ง   น้ำตาลทรายและฟักเชื่อมจนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของขนมฝรั่งกุฎีจีนยุคใหม่ไปในที่สุด

...............

ท่านขุนวิจิตรมาตรา หรือท่าน "กาญจนาคพันธุ์" ไม่มีโอกาสลิ้มรสขนมฝรั่งกุฎีจีนแบบเก่า  แต่พวกเรายังหากินของแบบใหม่หรือแบบประยุกต์ที่ถูกลิ้นคนสมัยปัจจุบันได้มากขึ้น  

หิวซะแล้ว  ท่านติบอ ท่านกุรุกุลา  พาพี่ไปหม่ำหน่อยซี
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 04 ส.ค. 06, 13:18


กลัวไม่เชื่อ  เลยเอาแผนที่มาให้ดู  ขอก็อปมาจากกรมแผนที่ทหาร  ราคาเท่าไรไม่บอกกันหรอก  เสียเงินไปกับเรื่องเหล่านี้หลายพันหลายหมื่น  ลูกเมียอดน้อยใจเล็กๆ ไม่ได้  บอกแล้วไง  ทนเอา  เลือกเองนี่  ไม่มีใครบังคับ  อยู่กันจนตายไปคนใดคนหนึ่ง

ถ่ายเมื่อ 13 JAN 53  แปลเป็นไทยก็วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ ครับ

ดูให้ดี  ตอนนั้นยังไม่มีถนนมาลัยแมน  ตรงนี้สำคัญมาก  จะชี้แล้วก็จะอธิบายอะไรให้ดูอีกทีหลัง

กรอบสีส้มๆ แดงๆ คร่อมสองฟากแม่น้ำสุพรรณ  คือ กำแพงเมืองคูเมืองสมัยสุพรรณภูมิครับ
หมายเลข
1 คือคลองน้ำเชี่ยว
2 คือคลองเพนียดคล้องช้าง  คนสุพรรณสมัยก่อนเรียกว่า "คลองตลาด"  ที่เรียกอย่างนี้เพราะคนตลาดข้ามฟากแล้วก็มาสักการะศาลเจ้าพ่อตามคลองนี้แหละ  มาจากคำว่า  คลองของคนตลาดรึเปล่าไม่รู้
3 คือคลองวัดป่าเลไลยก์  ขุดสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ช่วงที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) มาบูรณะวิหารและองค์หลวงพ่อโตวัดป่าไงครับ  ขุดคลองเพื่อจะนำท่อนซุงมาจากแม่น้ำเข้ามายังวัดได้ ต่อมาก็เป็นคลองที่คนพายเรือกันเข้ามาชมงานประจำปี  ตอนนี้คลองเหลือตี๊ดเดียวครับ  ที่ดินมีค่า  ใครๆ ก็อยากได้  แม้จะเป็นของหลวงก็เหอะ
4 คือวัดป่าเลไลยก์ครับ  เขียนใหญ่  ก็เพราะเป็นวัดใหญ่  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีครับ  เรียกเต็มๆ ว่าวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
5 คือถนนป่าเลไลยก์ครับ  เชื่อมระหว่างวัดประตูสารกับวัดป่าฯ  คนจากตลาดข้ามฟากก็ใช้ถนนนี้ด้วย  ไปสักการะหลวงพ่อโตตอนหน้าแล้ง  แต่ปัจจุบันถนนนี้สั้นเหลือตี๊ดเดียวเหมือนกัน  เหลือแค่จากวัดประตูสารถึงแนวปากทางศาลเจ้าพ่อฯ แค่นั้น  ให้พอเป็นตำนานอันรุ่งเรืองครั้งอดีต  เพราะมีถนนของนายปุย มาลัยแมนมาทับทีหลัง  เลยจากศาลเจ้าพ่อไปถึงวัดป่าเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนมาลัยแมนไปด้วย
5 ริมแม่น้ำสุพรรณเหนือสุดของภาพ  เพี้ยนใหญ่แล้ว พิมพ์ซ้ำ ขี้เกียจแก้แล้ว  เป็นวัดหน่อพุทธางกูรครับ  มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓  หากอยากฟังผมเล่าเรื่องนี้อีก  ผมสืบค้นสายตระกูลคนวาดได้หมดจนถึงปัจจุบันเลยครับ  ตรงนี้อยู่ตำบลพิหารแดง  ชนเขตแดนกับตำบลรั้วใหญ่  คนสุพรรณเก่าๆ เรียกวัดขามหน่อ หรือวัดมะขามหน่อ
6 คือวัดพระลอยครับ  เริ่มต้นเขตตำบลรั้วใหญ่  เพราะกำแพงเมืองใหญ่ครับ เลยตั้งชื่อว่ารั้วใหญ่  สมัยก่อนมีชื่อเยอะแยะ  เช่นค่ายเก่า  วัดนี้มีอุทยานมัจฉา  เช่นเดียวกับวัดพระนอนที่อยู่เหนือวัดหน่อฯ ขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง
7 คือวัดสารภีครับ  มีรูปปั้นช้างเอราวัณสามเศียรแข่งกับที่ปากน้ำ สมุทรปราการด้วยแหละ  เลยไปทางตะวันตกของวัด  เป็นวัดร้างชื่อวัดพระอินทร์ (แล้วก็วัดน้อยอีก ติดกันเลย)  ตำนานว่าเป็นวัดเดียวกัน  เพียงแต่แม่น้ำงอกออกไปทางตะวันออก  วัดร้างแถวนี้เลยห่างแม่น้ำไปไกลๆ ทั้งนั้น  วัดใหม่ๆ มาอยู่ริมน้ำแทน  บอกแล้วไง  ทุกอย่างมีที่มาที่ไป  มีเหตุมีผลของตัวมันเอง
8 คือวัดแค  ที่ผมเล่าไว้ในกระทู้หลวงตากัน ทองมี ในเวปหนึ่งไงครับ
9 คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  มีพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอกอันเลื่องชื่อ
10 คือวัดประตูสารทางเหนือ  กับวัดตะไกรทางใต้
คั่นกลางแยกเหนือใต้ด้วยคลองวัดป่า
11 คือวัดพระรูป  มีกรุพระขุนแผนอันเลื่องชื่อ  แข่งกับวัดบ้านกร่างศรีประจันต์
12 คือโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย  ตั้งอยู่บนวัดร้าง ๒ วัด คือวัดพริกด้านเหนือ  วัดชุมนุมสงฆ์ ด้านใต้  อ้อ ตรงวัดป่าที่ติดๆ กันนั้นเดิมชื่อวัดลานมะขวิด  แล้วก็มีวัดโคกกระต่ายอยู่ประจันหน้ากับวัดชุมนุมสงฆ์ด้วย

หากจะเล่าเรื่องวัดร้างแถบนี้  เฉพาะรอบๆ กำแพงเมืองรัศมีไม่เกิน ๑ กิโลเมตร  มีเป็นร้อยๆ วัดเลยครับ  แต่ละวัดก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป

กุรุกุลาน้อย  มึนไหมครับ  เห็นว่าชอบ  เลยเล่าให้ฟังเป็นกระสายยยยย  หากอยากรู้วัดไหนแถวนี้  บอกมา  จะคุยเป็นฉากๆ เลย
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 04 ส.ค. 06, 13:35

 อุอุ  ขอโทษที  พิมพ์ไปส่งเรื่องไป
ดันใส่ช่องกระทู้ผิด

คหพต.๔๓  อยู่ในกระทู้ของผมเองครับ
กระทู้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ไม่ได้หวังจะเพิ่มเรทติ้งขี่ Spiderman ไวๆ ดอก
มิมีเจตนาอื่นใดแอบแฝงเลย
เป็นเพราะ ก่งก๊ง  อย่างเดียวเท่านั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง