เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 17174 ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


 เมื่อ 20 ก.ค. 06, 20:11

 เมื่อผมสมัครสมาชิกในเรือนไทยแรกๆ กระทู้ยอดนิยมขณะนั้นเป็นเรื่องของภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถ่ายโดย หลวงอัคนีนฤมิตร หรือ ฟรานซิส จิตร (นายจิตร จิตราคนี) มีภาพมากมายทีเดียวที่น่าสนใจ แล้วก็มาสะกิดใจเมื่อทราบว่า ฟรานซิส จิตร คนนี้เป็นชาวกุฎีจีน ตั้งร้านอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดกุฎีจีนหรือวัดซางตาครู้ส ตรงกันข้ามกับปากคลองตลาด พอผมมีเวลาพอก็หมายใจว่าจะไปค้นหาและไหว้หลุมศพท่านเสียหน่อยที่บ้านกุฎีจีน จนเมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีโอกาสได้ไปจริงๆเข้า ก็ปรากฏว่าเขาย้ายสุสานหลุมฝังศพไปนครปฐมเสียนานแล้ว เพราะไม่ถูกสุขลักษณะและเกิดน้ำท่วมบ่อย ประกอบกับชุมชนขยายตัวเร็วมาก ที่เหลืออยู่ก็เพียงหลุมฝังศพเจ้าอาวาสที่สำคัญๆเท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับโบสถ์ซางตาครู้สมาฝากสมาชิกทุกๆท่านในเรือนไทยแทนครับ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ก.ค. 06, 20:14


โบสถ์ซางตาครู้สในสมัยปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ก.ค. 06, 20:16

 เมื่อเอ่ยถึงกุฎีจีน ใครๆก็คงนึกถึงขนมฝรั่งเป็นอันดับแรก เรื่องขนมผมไม่เชี่ยวชาญคงต้องรอผู้ชำนาญด้านการนี้อย่างคุณติบอมาเล่าให้ฟัง แต่ขนมฝรั่งกุฎีจีนนั้นก็เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไปแล้วถึงกับมีคำร้องขายขนมของแม่ค้าสมัยก่อนว่า

“ซื้ออ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโคกวัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน แม่เอ๊ย”

   เผื่อมีคนถามว่ากุฎีจีนคืออะไร ถ้าเราลองเดินเลียบทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดกัลยาฯไปเรื่อยๆ จะพบศาลเจ้าจีนเก่าแก่ อันวิจิตรด้วยไม้สลักแห่งหนึ่ง (เสียดายว่าเขาห้ามถ่ายภาพ มิฉะนั้นจะนำมาให้ชมกัน) มีชื่อว่า ศาลเจ้า เกียนอันเก๋ง ซึ่งศาลเจ้านี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยตรัสเล่าในสาส์นสมเด็จว่า

   “ที่เรียกกุฎีจีนนั้น มีตัวกุฎีจริง และเป็นของสำคัญในทางโบราณคดี ด้วยหม่อมฉันก็เผอิญไปรู้เห็นโดยมิได้คาดคิด ครั้งหนึ่งหม่อมฉันรับเชิญไปช่วยงานหล่อระฆังใหญ่ที่วัดกัลยาณมิตร กระบวนงานออกจะยุ่ง ต้องคอยอยู่นานกว่าชั่วโมง หม่อมฉันจึงไปเที่ยวเดินดูวัดกัลยาณมิตร ไปถึงเขตวัดทางด้านใต้ริมคลองกุฎีจีน แลดูข้ามฟากคลองไปสักสองเส้นยังบริบูรณ์ดี ดูเหมือนจะยังมีผู้คนนับถือ หม่อมฉันถามคนที่ไปด้วยว่านั่นศาลอะไร เขาเรียกว่า ศาลเจ้ากุฎีจีน ได้คิดก็ “หูผึ่ง” ด้วยรู้ว่าศาลเจ้านั้น พวกจีนคงสร้างแต่เมื่อที่ตรงนั้นเป็นแหลมแม่น้ำเลี้ยว เหมือนชอบสร้างในที่อื่นๆเช่นเดียวกัน คือ สร้างเมื่อสายแม่น้ำเจ้าพระยายังไปทางคลองบางกอกใหญ่ เวลาที่ตรงวัดกัลยาณมิตรยังเป็นแม่น้ำในสมัยแรกหรือก่อนขุดคลองลัดบางกอกครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช คลองกุฎีจีนเป็นแนวฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้น แต่ตรงที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเห็นจะตื้นเขินจนเกิดคลองกุฎีจีนมาแต่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งเมืองธนฯเป็นราชธานี รวบรวมผู้คนที่แตกฉานกระจัดกระจายให้มาอยู่ที่กรุงธนฯจึงโปรดให้พวกจีนชาวพระนครศรีอยุธยา มาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือข้างคลองกุฎีจีนตรงที่วัดกัลยาณมมิตร เจ้าสัวมันบิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มาอยู่ที่นั่นและเจ้าพระยานิกรบดินทร์เกิดที่นั่นจึงเป็นเหตุที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเมื่อรัชกาลที่ 3 ท่านก๋งของเราก็มาอยู่ที่นั่นแต่อยู่แพจอดตรงที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างหอไตรวัดกัลยาณมิตร ส่วนฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่เคยอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยาก็ให้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำใต้กุฎีจีนต่อลงไป จึงเรียกว่า ฝรั่งกุฎีจีน”
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ก.ค. 06, 21:31

 ในฐานะของโบสถ์เก่าแก่ อายุเกินกว่ากรุงรัตนโกสินทร์เสียอีก ประวัติเรื่องราวต่างๆก็สืบเนื่องไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลัง พ.ศ. 2310 ชาวโปรตุเกสบางส่วนที่ไม่ได้อพยพหนีภัยสงคราม และเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสู้รบกับพม่า จากจดหมายเหตุของสังฆราชเลอ บ็อง ได้กล่าวว่า

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวางพระทัยพวกเข้ารีตมาก ถ้าเสด็จทัพครั้งใดก็ต้องมีพวกเข้ารีตติดตามไปด้วยทุกครั้ง พวกเข้ารีตเป็นพวกที่กล้าหาญของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากก็ทรงจัดให้พวกเข้ารีตเป็นทหารรักษาพระองค์

เมื่อปี พ.ศ. 2312 บาทหลวงคอร์ Corre ซึ่งอพยพลี้ภัยสงครามไปยังประเทศเขมรได้นำชาวคริสต์ 4 คนกลับเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้รับการต้อนรับอย่างดี พระองค์ได้พระราชทานเงิน 20 เหรียญ และเรือลำหนึ่งแก่ท่าน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ได้พระราชทานที่ดินสร้างโบสถ์แก่ บาทหลวง Corre ซึ่งได้ตั้งชื่อโบสถ์ว่า “ซางตาครู้ส” (Santa Cruz) เป็นภาษาโปรตุเกส เนื่องจากตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน

นับเป็นผืนแผ่นดินแห่งที่สองที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้แก่ชาวโปรตุเกส (แห่งแรกคือโบสถ์คอนเซ็ปชัญสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ก.ค. 06, 21:38

 แต่ต่อมาเหตุการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง คือทุกๆปีจะมีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ซึ่งในศาสนาคริสต์ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของศาสนา สังฆราชจึงห้ามชาวคริสต์เข้าร่วม

ในเดือนมีนาคม 2316  สังฆราชเลอ บ็อง ได้ถวายฎีกาทูลขอพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการชาวคริสต์ทำพิธีสาบานตนตามจารีตศาสนาแทนพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงตอบ

อีกไม่กี่เดือนก็ทรงเรียกประชุม พระภิกษุ ชาวมุสลิม และมิชชันนารีคนหนึ่งเพื่อถกปัญหาเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามที่พุทธศาสนาสอน พระภิกษุอภิปรายว่าการห้ามนั้นถูกต้อง แต่ชาวมุสลิมและชาวคริสต์มีความเห็นที่ต่างออกไป จึงทำให้พระเจ้าตากสินไม่พอพระทัยมาก
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 ก.ค. 06, 20:09

 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2317 พระองค์ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ห้ามคนไทย และคนมอญนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม ว่า


“ ถ้าพระสังฆราชมิชชันนารี หรือคริสตัง หรือมุสลิมคนใดทำคนไทยหรือคนมอญ แม้แต่คนเดียวไปเข้ารีตเป็นมุสลิม หรือคริสตัง ก็ให้จับกุมสังฆราชหรือมิชชันนารีหรือคริสตัง หรือชาวมุสลิมคนนั้น และให้ถือว่าสมควรจะต้องตาย ”


ในเดือนกันยายน 2318 มีพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีก นายทหารชาวคริสต์สามคนได้เข้าไปในโบสถ์ซางตาครู้ส และคุกเข่าลงหน้าแท่นบูชาต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก และได้กล่าวสาบานโดยอ้างพระคัมภีร์เป็นพยานต่อหน้าสังฆราช แล้วทำหนังสือสำคัญว่าเขาได้ทำพิธีสาบานแล้ว

พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเป็นการลบหลู่พระเกียรติ และเป็นการคิดร้ายต่อพระราชอำนาจโดยตรง จึงทรงบัญชาให้จับนายทหารนั้นจำคุกในวันที่ 22 และ25 กันยายน และยังทรงให้จับพระสังฆราชเลอบ็อง กับบาทหลวงกูเด บาทหลวงกาโนไปเข้าคุกด้วย ทั้งหมดถูกจำคุกอยู่ 7 เดือนจนได้รับอิสรภาพ โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องข้อบังคับในอดีตอีก
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ก.ค. 06, 12:20

 ไม่เคยไปเลยค่ะ ขอบคุณที่นำมาให้ชม
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ก.ค. 06, 15:22

 ผมเพิ่งว่างพอจะได้เข้ามาอ่านครับ คุณกุรุกุลา
อ่านแล้วนึกถึงเมื่อหลายวันก่อน ไปเดินเล่นแถวที่คุณเล่าให้ฟังพอดี
จำได้ว่าศาลเจ้าที่คุณเล่าถึง พี่ที่ไปด้วยกันก็ถ่ายรูปไว้หลายภาพนะครับ
เพราะงานไม้แกะสลัก และงานพับกระดาษตกแต่งที่นั่นสวยมากครับ
(ผู้ดูแลศาลเขาจำกัดเฉพาะด้านในน่ะครับ ด้านนอกถ่ายได้)



เสียดายพี่คนที่ผมพูดถึงแกสมัครวิชาการดอทคอมพ์แล้วข้อมูลมีปัญหา เลยเข้าบอร์ดมาไม่ได้
ผมติดต่อไปทาง VTeam ไปเมื่อหลายวันแล้ว แต่ทีมงานยังไม่ได้ตอบจดหมายผมกลับมา
หวังว่าพี่เขาจะได้เข้าบอร์ดมาเร็ว คุณกุรุกุลาคงจะได้มีภาพสวยๆประดับกระทู้น่ะครับ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ก.ค. 06, 09:13

 ตามหาจนเจอ
คนบอกว่ามีกระทู้เกี่ยวกับชุมชนต่างชาติที่เกี่ยวเนื่องจากอยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ  คงจะที่นี่แหละ

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับคริสต์  หรือโปรตุเกส  เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเป็นโบสถ์ของชาวคริสต์เชื้อสายโปรตุเกส

พอเริ่มอ่านต้นเหตุของการสร้างโบสถ์หลังนี้  เห็นมีเกี่ยวข้องกับนาม "เขมร" ด้วย จึงเกิดคำถามเล็กๆ ขึ้นมาว่าชาวคริสต์ ๔ คนที่อพยพกลับจากเขมรมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินพร้อมกับบาทหลวงคอร์ Corre เป็นชาวโปรตุเกสอย่างเดียว  หรือว่า  มีชาวเขมรปนด้วยครับ

เป็นความสงสัยในรายละเอียดเล็กน้อย  ที่อาจต่างจากคนอื่น

แล้วก็  ผมจะขออนุญาตพล่ามไปเรื่อยๆ หากมีโอกาส : Are you OK?
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ก.ค. 06, 09:27

 ผมมีโอกาสได้อ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง ชื่อ "ตากสินมหาราชชาตินักรบ"  เขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส  คนแปลแปลได้ชุ่มชื่นหัวใจมาก  อ่านแล้วให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง "ฟ้าใหม่" ของคุณศุภร บุนนาค

ซึ่งเรื่องฟ้าใหม่มีตัวละครหลักคือ คุณใหญ่-คุณกลาง-คุณเล็ก  แล้วก็ดำเนินเรื่องโดย "พ่อแสน" ลูกหลานชาวแขก

แต่ในเรื่องนี้ดำเนินเรื่องอย่างน้อย ๒ คนคือ "ชวง ฟอลคอน"  เหลนของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ที่มีชีวิตอยู่เมืองไทยขณะนั้น  แล้วอีกคนคือ "มาธิว"  นายทหารลี้ภัยรักจากฝรั่งเศส

ซึ่งทั้ง ๒ ท่านเป็นชาวคาทอลิก  ในเรื่องมีความสนิทสนมกับ "สิน" แต่ต้น  แล้วก็ตรงกับ คหพต.๓ ที่กล่าวไว้ว่า ".....สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวางพระทัยพวกเข้ารีตมาก ถ้าเสด็จทัพครั้งใดก็ต้องมีพวกเข้ารีตติดตามไปด้วยทุกครั้ง พวกเข้ารีตเป็นพวกที่กล้าหาญของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากก็ทรงจัดให้พวกเข้ารีตเป็นทหารรักษาพระองค์"

ผมอ่านนวนิยายแล้วมักจะ "อิน" และจะสืบตามต่อว่าตัวละครในเรื่อง คือใครในประวัติศาสตร์  หรือเหตุการณ์สมมุติเป็นของจริงแค่ไหน  แล้วก็  จะปวดหัวหนักกับเรื่องไม่เป็นเรื่องเหล่านี้

ผมจะรอเวอร์ชั่นต่อไปของพระเจ้าตากสิน  ที่อยู่ในทัศนะของคนชาติอื่นๆ ในโอกาสต่อไปด้วยครับ
บันทึกการเข้า
-AnToiNetty-
อสุรผัด
*
ตอบ: 10

เรียนอยู่สายการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ ชั้นมัยธมศึกษาปีที่4 ห้อง 665 โรงเรี


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ก.ค. 06, 20:48

 ขอบคุณ ที่ช่วยแบ่งปันกระสบการณ์ ครับ ..
เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ ของพระศาสนจักร ในประเทศไทย
ของสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ไม่ค่อยเป็นที่เผยแพร่เท่าไหร่
ขอขอบคุณ คุณกุรุกุลา มาก ๆ นะครับ ..
วัดซางตาครู๊ส
เปนวัด ที่สวยมาก ๆ วัดหนึ่งในประเทศไทย ..
ส่วนสำหรับหลุมศพ ของ ฟรานซิส จิตร ที่คุณ กุลุกุรา กล่าวถึง
คาดว่า ตอนนี้ น่าจะตั้งอยู่ที่ สุสาน ศานติคาม จ.นครปฐม นะฮะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ก.ค. 06, 21:30

 นิยายก็คือนิยายละค่ะคุณ Nickynick อย่าไปคิดว่าเป็นของจริง แม้แต่จะอิงข้อมูลจริงบางอย่างก็เถอะ
ถ้าทำใจได้ว่าเป็นจินตนาการ  อ่านเอาสนุก   แนะนำนิยายของคุณปองพล อดิเรกสาร เรื่อง "รัตนโกสินทร์"   แต่เป็นยุคธนบุรีค่ะ  ทำไมท่านไม่ตั้งชื่อว่า " ธนบุรี" ก็ไม่ทราบ
เรื่องนี้พระเจ้าตากไม่ได้ถูกประหารเสียด้วยซี
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ก.ค. 06, 10:06

 ขอบคุณคุณเทาชมพูมากครับ
บางทีนิสัยคนเราก็แก้ไม่ค่อยหาย  โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย  ผมมักจะซาบซึ้งเกินเหตุ
สำหรับหนังสือรัตนโกสินทร์ของคุณปองพล  ชื่อเรื่องคล้ายๆ กับละครเรื่องหนึ่งที่เคยเผยแพร่ทางโทรทัศน์เมื่อก่อนเลยนะครับ  ไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในโทรทัศน์   เรื่องนั้นเป็นสมัยรัตนโกสินทร์จริงๆ

หนังสือเล่มนั้นกับอีกหลายเล่มของคุณปองพล  เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์
ผมเปิดพลิกๆ ดูหลายครั้งแล้วตัดสินใจไม่ซื้อ  เพราะขณะนั้นหาที่เก็บหนังสือไม่ค่อยได้  ยังร่อนเร่พเนจรอยู่  พอถึงตอนนี้กะจะใช้วิธีลัด  หยิบยืมของพรรคพวกมาอ่านก่อนครับ

เรื่องอินหรือไม่อิน  ที่เกี่ยวข้องกับกระทู้นี้ของผมยังมีอีกเยอะ  จะค่อยๆ ทยอยเปิดเผยออกมาครับ  อย่างการตั้งกระทู้ต่างๆ ขึ้นมาของแต่ละท่าน  มักจะมีความหลังกับเรื่องเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย  เพราะใครที่จะสืบรู้ลึกกันถึงขนาดนี้  ก็ต้องมีใจรักจริงหรือผูกพันกับเรื่องนี้พอสมควร

อย่างในกระทู้นี้  ผมอยากจินตนาการไปถึงว่า  อาจมีใครในนี้มีความหลังกับท้องถิ่นกุฎีจีน  หรืออาจเป็นที่สามเสนอันเป็นรกรากแต่เดิม  หรือเป็นรกรากเดิมของคนรักเก่าที่ท่านเคยลุ่มหลง (อย่างกับที่ผมเคยเป็นมาก่อน)   หรือว่าชาวโปรตุเกส หรือเขมร หรือญวนคริสตังในพงศาวดารท้องถิ่น  อาจกลายมาเป็นกุรุกุลาน้อยภายหลังก็เป็นได้

เพราะนาม "กุรุกุลา"  ดูช่างรุ่มรวยความหมายเสียจริงๆ

ท่านอย่าพาลคิดมากจนปวดหัวแบบผมไปด้วยก็แล้วกันครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ก.ค. 06, 10:47

 นวนิยายชื่อ "รัตนโกสินทร์" มี ๒ เรื่องค่ะ เรื่องหนึ่งของคุณปองพล  อีกเรื่องทำละครอย่างที่คุณ Nickynick จำได้

พูดถึงความสนใจต่อสถานที่

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ดิฉันเคยเดินท่อมๆกลางแดด อยู่แถววัดอนงคาราม  เพื่อสืบค้นความเป็นไปของบ้านหลังหนึ่ง ที่เคยตั้งอยู่ในละแวกนั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เจ้าของบ้านชื่อเจ้าพระยารัตนบดินทร์     เป็นบุตรของเจ้าพระยานิกรบดินทร์
ถ้าคุณนิคสนใจประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๓ คงจำได้ถึงนายโต ที่ทำหน้าที่ผู้จัดการด้านค้าสำเภาให้พระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ทำงานถวายด้วยความเรียบร้อยมาโดยตลอด  มีกำไรมั่งมี นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  
เงินที่นำขึ้นถวายจากการค้าสำเภา ต่อมาก็คือ "เงินถุงแดง" ที่ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง ในสมัยฝรั่งเศสวางอำนาจกับสยาม
ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯเลื่อนท่านเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์

นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ ก็บอกบ่งถึงความสำคัญของท่านในสมัยรัชกาลที่ ๓  
ส่วนจะเป็นนามสกุลอะไร ขอเชิญคุณนิคค้นหาเอง  เพื่อจะได้อ่านแล้วไม่ง่วง

ในบ้านของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ผู้เป็นบุตรชายของท่าน   เล่าสืบกันมาในหมู่เครือญาติ  ว่ามีกุลบุตรผู้หนึ่งอาศัยอยู่
มีชื่อว่า "ชุ่ม"
ท่านชุ่มมีบุตรหลายคน   หนึ่งในนั้น ประวัติศาสตร์รู้จักกันในนามว่า "ท่านชู" เป็นช่างทอง  มีภรรยาชื่อท่าน"คำ"
มีธิดาคนเดียว  ต่อมาได้ทุนหลวงไปศึกษาวิชาพยาบาล ณ สหรัฐอเมริกา

ถึงตอนนี้ก็คงเดาได้แล้วว่า คือสมเด็จพระศรีนครินทราฯ หรือ" สมเด็จย่า" ผู้เป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยนั่นเอง

ขอเล่าแค่นี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ก.ค. 06, 10:48

 บอกตามตรงครับ พอเห็นกระทู้นี้ ดีใจเหมือนลิงได้แก้ว  ไม่ได้เชี่ยวชาญ  แต่เป็นเรื่องที่อยากรู้มานาน  แล้วก็ไม่ได้มีความหลังอะไรในเรื่องเหล่านี้ด้วยครับ  เป็นความรักความชอบที่มีมาแต่เล็ก  เหมือนกับที่ชอบกระทู้ตามรอยท่านอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ  และก็เพียงหวังแต่ว่า  ที่นี่  คงจะดำเนินเรื่องไม่เชื่องช้าเท่า  เดี๋ยวจะหายเห่อ

จะบอกว่าไม่มีความหลัง  เดี๋ยวท่านจะหาว่าโม้  เอาเป็นว่าประทับใจโปรตุเกสนัดที่ยิงลูกโทษชนะอังกฤษรอบก่อนรองไงครับ  โดยเฉพาะผู้รักษาประตู  นิ่งจริงๆ  แต่ว่าปีนี้เป็นปีที่อัปยศที่สุดของผมสำหรับฟุตบอลโลกเลยครับ  ไม่มีโอกาสติดตามดูเท่าที่ควร  ช่วงนั้นหัวสมองตึ้บไปหมด

กลับมาใหม่  เข้าใจว่า จขกท. คงไม่เพียงแต่เล่าเฉพาะโบสถ์ซางตาครู้สเท่านั้น  แต่อาจจะสืบเนื่องไปถึงความสัมพันธ์กับโปรตุเกสย้อนไปถึงปี ค.ศ.๑๕๑๑ (พ.ศ.๒๐๕๔)  รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชนชาตินี้ด้วยครับ   ไม่รู้ว่าผมจะเว่อร์หรือหวังมากเกินไปรึเปล่า
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง