เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 62939 ขนมไทย
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 22 ก.ค. 06, 00:24

 ขอบพระคุณสำหรับกระทู้ครับอาจารย์ ต้องขอประทานโทษด้วยครับที่ผมเข้ามาตอบช้าไปหลายวัน
สองสามวันที่ผ่านมานี้ไม่ทราบเหมือนกันครับ ว่าอินเตอร์เนตที่บ้านเป็นอะไร ช้าได้ช้าดีทั้งเช้าและเย็นเลยครับ


ขอออกตัวก่อนนะครับ ว่าเรื่องขนมไทย เป็นเรื่องที่ผมถนัดบ้าง ไม่ถนัดบ้างนะครับ
บางอย่างเคยเห็นผู้ย่าทำ มีคุณยายคุณป้าอีกหลายๆท่านเป็นผู้ช่วย แต่ก็หลายปีมาแล้วล่ะครับ
ทุกวันนี้แต่ละท่านที่ทำก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ว่าแล้วก็อดคิดถึงคนทำขนมไม่ได้



ปล. สมาชิกท่านไหนไหว้ครูโขน ละคร ดนตรีไทยบ่อยๆ มาเล่าเรื่องขนมโมทกะให้ฟังหน่อยสิครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 25 ก.ค. 06, 21:42

 ในหนังสือ คำให้การของขุนหลวงหาวัด  อีกเหมือนกัน ที่พูดถึงขนมอีกสองชนิด คือขนมครกและขนมเบื้อง   แต่ว่าไม่ได้พูดถึงลักษณะขนมโดยตรง  ไปพูดถึงเตา

" บ้านหม้อ  ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก  และกระทะ เตาขนมครก ขนมเบื้อง"

ขนมครกกับขนมเบื้องคงเป็นที่ชอบกินกันมาก  อาจจะถึงขั้นทำขายด้วย  ไม่ใช่ว่าทำกันกินในบ้านเท่านั้น เพราะขนาดมีอุตสาหกรรมทำเตาขาย    แสดงว่าแพร่หลายมาก

วัฒนธรรมของอยุธยาตอนปลายเชื่อมต่อกับรัตนโกสินทร์    คนในวัยทำงานที่มาตั้งกรุงใหม่ ล้วนเกิดทันก่อนเสียกรุง   เพราะธนบุรีมีอายุแค่ 15 ปี
ก็พอจะอนุมานได้ว่า ขนมอะไรที่ชาวกรุงเก่าเคยกินเคยชอบ ชาวกรุงใหม่ก็ทำกินจากสูตรเดิมนั่นแหละ  ผู้ใหญ่ที่เคยทำมาแต่เดิมยังรอดตายมาทำให้ลูกหลานชาวกรุงเทพกินได้ทัน

หลักฐานขนมในรัชกาลที่ 1 มีค่ะ ขอตัวมาต่อพรุ่งนี้นะคะ
บันทึกการเข้า
ชายองค์
อสุรผัด
*
ตอบ: 24

เป็นความลับ


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 ก.ค. 06, 13:00

 อ.เทาครับ
ผมสงสัยว่า มะพร้าวเป็นพืชพื้นถิ่นที่นี่ หรือพืชที่มาจากที่อื่นครับ ?
คนไทย ใช้มะพร้าวเมื่อไหร่ ?
เท่าที่สังเกต ทางล้านนา ขนมมักจะไม่ใช้มะพร้าวเลย ใช้ในพิธีกรรมมากกว่า...
แกงทั้งหลายก็มักไม่มีกะทิ
แกงที่มีกะทิ ก็มีแต่ภาคกลางกับใต้เสียเท่านั้น

พอพูดถึงแกง ก็ทำให้นึกถึงคำว่า แกงจืด ซึ่งได้สูญไปจากสมองเด็กสมัยใหม่ไปเสียแล้ว กลายเป็น ต้มจืด แทน...

พูดถึง ขนม ผมว่าที่พบทุกภาค และเป็นขนมในพิธีกรรมก็เป็น ขนมต้มแดง-ขาว (ไม่ทราบจะเกี่ยวกับอินเดีย หรือไม่ เพราะทำให้นึกถึงพระคเณศ) รวมถึงพวกข้าวต้มต่างๆที่ ห่อด้วยใบพ้อบ้าง ห่อด้วยใบตองแล้วเอาไปต้มบ้าง ต่างก็คล้ายกันทั้งสิ้น...

นอกเรื่องไปเยอะ พอดีผมชอบกินน่ะครับ
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 26 ก.ค. 06, 13:17

 ขนมหม้อแกงเมืองเพชรที่ปัจจุบันมีขายโดยทั่วไปตามตลาดหรือร้านขนมหวานสองข้างทางในจังหวัดเพชรบุรีนั้น หากเปรียบเทียบกับรสชาดที่ตูก้าเคยลิ้มชิมรส(ข้างๆเตาอบ) เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ขอบอกเลยนะคะ ว่าคนละเรื่องกันทีเดียว  
  เมื่อสมัยยังเป็นเด็กน้อย เวลามีงานบุญที่บ้าน จะเป็นเวลาที่พวกเราเด็กๆมีความสุขมาก เพราะงานครัวนั้นเป็นงานใหญ่มาก แม่ครัวใหญ่จะเป็นรุ่นยาย ย่า โดยเฉพาะงานของหวาน เป็นงานสนุกของเราเด็กๆ เพราะจะได้มีหน้าที่ตอกไข่เป็ดใส่กะละมังใบเขื่อง(นึกภาพกะละมังที่สามารถบรรจุไข่เป็ดนับพันใบเถอะค่ะ ว่าใหญ่ขนาดไหน)  เแล้วพี่ๆที่โตหน่อยก็อาจได้รับอนุญาตให้ทำการแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว  ไข่แดงจะเอาไว้ทำขนมทองหยอด  ขนมฝอยทอง ส่วนไข่ขาวนี่แหละค่ะที่เอาไปทำขนมหม้อแกง  ส่วนผสมอีกอย่าง ของขนมหม้อแกงที่ตูก้าชอบมากคือเผือก เมื่อท่านผู้ใหญ่ต้มเผือกเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะนำมาบี้ให้แหลก ขั้นตอนนี้ตูก้าก็จะไปเอาถ้วยเล็กๆใส่น้ำตาลปึกมาตั้งข้างๆ หยิบเผือกที่เนื้อร่วนๆใส่ปากแล้วกัดน้ำตาลปึกเคี้ยวตาม หยู..อร่อย อย่าบอกใครเชียวค่ะ(ใครเคยเห็นวิธีการทำน้ำตาลโตนดบ้างคะ..ไว้จะมาเล่าให้ฟังคราวหน้านะคะเพราะตูก้าเคยเกาะขอบกระทะขูดตังเมกินเล่นมาแล้ว..แหะ  แหะ.. )
   เมื่อส่วนผสมเสร็จแล้ว ท่านแม่ครัวใหญ่ก็จะนำกระทะทองเหลืองใบมหึมา(ในสายตาตูก้าสมัยนั้น)  ขึ้นตั้งไฟพร้อมตั้งน้ำเชื่อม พอเดือดจะเห็นบรรดายายๆ  หยิบแป้งทองหยอดใส่น้ำเชื่อมที่เดือดๆ ใช้คำว่าหยิบจริงๆนะคะ แต่ไม่รู้ท่านมีวิธีหยิบอย่างไร เม็ดทองหยอดที่ได้จึงกลมสวยเป็นรูปหยดน้ำเท่ากันทุกลูก พอท่านเผลอ เราเด็กๆ ก็จะลองหยิบบ้างแต่แทนที่จะเป็นลูกรูปหยดน้ำ กลับได้ลูกทองหยอดรูปยาวๆเหมือนลอดช่องทุกทีเลยค่ะ (  )  
  ส่วนขนมหม้อแกงนั้น ก็จะอบด้วยเตาอบ สมัยนั้นไม่มีหรอกนะคะเตาอบไฟฟ้าน่ะ เป็นเตาอบที่ใช้ถ่านคะ โดยเตาอบสี่เหลี่ยมยาวๆที่ด้านล่างจะเป็นที่ใส่ถ่านที่เผาไฟไว้ก่อนจนแดงแล้ว ตรงกลางจะเป็นตะแกรงสำหรับวางถาดขนม(ขนาดของถาดขนมประมาณ 60 * 60 ซม.) ซึ่งวางได้หลายถาด ส่วนด้านบนจะวางกาบมะพร้าวเผาไฟค่ะ ที่นี้พอขนมสุกทั่วทั้งงานก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นขนม  พวกเราบรรดาเด็กๆซึ่งก็เป็นลูกหลานของแม่ครัวเอก ก็จะได้รับขนมหวานที่สุกใหม่ๆเป็นของรางวัลที่ช่วยงานผู้ใหญ่ อร่อยเหลือเกินค่ะ(โดยเฉพาะทองหยอดเส้นลอดช่องฝีมือของเราเอง อิอิ)...เฮ้อบรรยากาศ แบบนั้นสมัยนี้คงหาไม่ได้แล้วนะคะ...
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 ก.ค. 06, 18:32

มาเล่าต่อค่ะ

ในรัชกาลที่ 1 ชาวกรุงเทพเขานิยมกินขนมอะไรบ้าง   ถ้าทายแบบมีแหล่งอ้างอิง ก็ต้องดูจากงานใหญ่ๆประจำปี  ว่าเขาทำอาหารการกินอะไรกันบ้าง
อย่างในงานพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกต และฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารา ในพ.ศ. 2352    เราอาศัยอ่านได้จากจดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี
อาหารในงาน   เลี้ยงกันใหญ่โตมโหฬาร   ในเมื่อเป็นอาหารสำหรับพระสงฆ์ ก็แน่นอนว่าต้องสรรหากันมาแต่ของดี ของมีหน้ามีตา   ชาววังประกวดประขันฝีมือกันทำส่งออกมา

ของคาวที่ระบุไว้ว่าทำถวายพระสงฆ์วันละ 2000 รูป  คือไส้กรอก  ไข่เป็ดต้ม  ไก่พะแนง  หมูผัดกับกุ้ง  มะเขือชุบไข่ทอด ไข่เจียว  ลูกชิ้น กุ้งต้ม  หน่อไม้ผัด  ผักน้ำพริก ปลาแห้งแตงโม และข้าว

ส่วนของหวานที่ระบุไว้ก็คือ ขนมไส้ไก่  ขนมฝอย  ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง  กล้วยฉาบ หน้าเตียง หรุ่ม  สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 28 ก.ค. 06, 09:04

 หรุ่ม กับ หน้าเตียง หรือบางแห่งเรียกว่า ล่าเตียง   มีส่วนผสมแบบของคาวมากกว่าของหวาน คนไทยนำมาเป็นของว่าง
ไม่มีน้ำตาล แป้ง กะทิ อย่างขนมไทยดั้งเดิม  แม้ว่ามีไข่แต่ก็ไม่ได้ผสมลงไปเป็นส่วนหนึ่งของขนมอย่างทองหยิบหรือฝอยทอง แต่ว่าแยกออกเป็นไข่หุ้มไส้ที่เป็นเนื้อสัตว์ปนผัก
สองอย่างนี้เกือบจะเหมือนกัน แตกต่างกันนิดหน่อยที่ไส้  ว่าจะทำด้วยหมู  กุ้ง หรือไก่

ต้นตระกูลไม่ใช่ขนมไทย   ฟังชื่อก็รู้ อย่างหรุ่ม สำเนียงออกไปทางอาหรับ  หน้าเตียงหรือล่าเตียงคงจะเพี้ยนมาจากภาษาเดียวกัน  คนไทยจับมาแปลงเป็นคำไทยเสียสนิท  ทั้งที่ลักษณะขนมไม่มีอะไรเกี่ยวกับเตียงเลย

ทั้งสองอย่างนี้คงจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา   เป็นที่นิยมกันจนถึงรัตนโกสินทร์  
ถ้าหากถามว่าเข้ามามีหน้ามีตาอยู่ในงานพระราชพิธีได้อย่างไร   ก็เดาว่าคนสำคัญในสมัยนั้นที่สืบเชื้อสายมาจากอาหรับหรือเปอร์เชีย  
มีทั้งขุนนาง และนางใน  คงจะนิยมทำกันจนเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย

หรุ่มhttp://www.sarakadee.com/feature/2001/04/klong_bang-luang.htm

ล่าเตียง
 http://www.gourmetthai.com/Recipes/Content.asp?ID=232  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 28 ก.ค. 06, 09:09

 แกะรอยต่อไปว่าชาวบ้านสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เขากินขนมหรือของหวานอะไรกัน   เอากันแบบพื้นบ้านไม่ประดิดประดอยอย่างชาววัง
ไปเจอหลักฐานจากประวัติของสุนทรภู่    กล่าวกันว่าสมัยท่านบวชเป็นพระ   ไปรับนิมนต์ชาวบ้าน  
ชาวบ้านกล่าวถวายภัตตาหารไม่เป็น  ท่านเองก็คงจะไม่เป็นเหมือนกัน  หรือว่าเป็นแต่อาจนึกสนุก ก็เลยสอนว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง  อิมังปลาร้า  กุ้งแห้งแตงกวา  อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอก ดอกมะปราง  เนื้อย่าง ยำมะดัน
ข้าวสุกค่อนขัน  น้ำมันขวดหนึ่ง  น้ำผึ้งครึ่งโถ
ส้มโอแช่อิ่มทับทิมสองผล   เป็นยอดกุศล
สังฆัสสะเทมิ"
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 28 ก.ค. 06, 10:35

 เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาชิมขนมไทยในนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 ครับอาจารย์
อ่านแล้วหิวขึ้นมาจับใจตั้งแต่หลังมื้อเช้า อยากรับประทานขนมอีกแล้วครับ



เดี๋ยวเย็นนี้ค่ำๆ กลับบ้าน ผมว่าจะลองหาเรื่องเครื่องบวงสรวงพระแก้วมาแบ่งกันอ่านครับผม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 30 ก.ค. 06, 11:03

 ล่วงมาถึงรัชกาลที่  2 ยุคนี้เรียกได้ว่าขนมไทยได้รับการเชิดชูขึ้นมาถึงระดับชาติ  
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือ  แหวกจากแนวเดิมที่เป็นชมเรือ ชมนก ชมไม้ ดังที่เห็นได้จากพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เมื่อสมัยปลายอยุธยา
มาเป็นชมเครื่องคาวหวาน     ซึ่งอ่านแล้วก็คือเครื่องเสวยนั่นเอง กล่าวกันว่าผู้มีฝีมือปรุงได้เยี่ยมยอดคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสี
และอีกท่านหนึ่งคือพระสนมเอก เจ้าจอมมารดาเรียมหรือสมเด็จพระศรีสุลาไลย  พระชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

กาพย์เห่เครื่องคาวหวานนี้ดูเผินๆ มี "ของคาว"(ถ้าเป็นของเสวยเรียกว่าเครื่องต้นคาว) และ "ของหวาน" (หรือเครื่องต้นหวาน)
แต่ถ้าจะแบ่งละเอียด ลงไปอีก   ก็จำแนกได้เป็น ข้าว  เครื่องต้นคาว  เครื่องเคียงแกง  เครื่องเคียงแขก   เคียงเครื่องจิ้ม เคียงเกาเหลา  เครื่องหวาน  และเคียงหวาน
ฟังแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว  
ไปที่ขนมดีกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 ก.ค. 06, 15:19

 ขนมไทยในกาพย์เห่เครื่องคาวหวาน มีอะไรบ้าง  ลองนับดูนะคะ

ข้าวเหนียวสังขยา
สังขยาหน้าตั้งไข่.......................ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยให้เคลือบแคลง...............แจ้งว่าเจ้าโศกเศร้าเหลือ

ซ่าหริ่ม
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ.................... แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ...................... ได้เสพย์หริ่มพิมเสนโรย

ขนมลำเจียก
ลำเจียกชื่อขนม.........................นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย.....................โหยไห้หาบุหงางาม

ขนมมัสกอด
มัสกอดกอดอย่างไร....................น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ.................ขนมนามนี้ยังแคลง

ลุตตี่
ลุดตี่ นี่น่าชม............................. แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง........................ แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย

ขนมจีบ
ขนมจีบเจ้าจีบห่อ........................ งามสมส่อประพิมประพาย
นึกน้องนุ่งจีบถวาย....................... ชายพกจีบกลีบแนบเนียน

ขนมจีบที่ว่านี่คนละอย่างกับขนมจีบซาละเปา   เป็นขนมจีบไทย
รูปทรงคล้ายถุง มีไส้ของคาวอยู่ข้างใน
วิธีปั้นขนมจีบไทย ที่ชาววังทำกัน  คือใช้ก้อนแป้งวางบนฝ่ามือ  กดด้วยนิ้วโป้งแล้วหมุนเร็วๆจนแป้งกลายเป็นแผ่นบางแล้วจะห่อตัวเป็นรูปหม้อ   เหมือนช่างปั้นหม้อ  
ใส่ไส้ข้างใน  
ตรงปากขนมที่ห่อเป็นหม้อนั้นต้องจีบเรียงในทางเดียวกันเหมือนกลีบพลีต     คนที่ทำได้เก่ง จีบจะออกมาเรียบสวย

ฝีมือจีบขนมจีบเป็นหนึ่งในสี่วิชาที่สาวชาววังต้องเรียน คือปั้นขนมจีบ  ริ้วมะปราง   จีบพลูยาว และละเลงขนมเบื้อง

ขนมเทียน
รสรักยักลำนำ..................... ประดิษฐ์ทำขนมเทียน  
คำนึงนิ้วนางเจียน................. เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม

ทองหยิบ
ทองหยิบทิพย์เทียมทัด........... สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม................... ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ

ขนมผิง
ขนมผิงผิงผ่าวร้อน................... เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล.................... เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง

รังไร
รังไรโรยด้วยแป้ง....................... เหมือนนกแกล้งทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง......................... ยังยินดีด้วยมีรัง

ทองหยอด
ทองหยอดทอดสนิท.................... ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง........................... แต่ลำพังสองต่อสอง

ขนมจ่ามงกุฎ
งามจริงจ่ามงกุฎ........................... ใส่ชื่อดุจมงกุฎทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง......................... สะอิ้งน้องนั้นเคยแล

ขนมบัวลอย
บัวลอยเล่ห์บัวงาม........................ คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล........................ สถนนุชดุจประทุม

ขนมช่อม่วง
ช่อม่วงเหมาะมีรส........................... หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไบคลุม................................ หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน

ฝอยทอง
ฝอยทองเป็นยองใย..................... เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์.................  เย็บชุนใช้ไหมทองจีน

ว่ากันว่ากาพย์เห่ มีหลายบทที่เป็นความหลังระหว่างสมเด็จพระพุทธเลิศหล้ากับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ (เจ้าฟ้าบุญรอด)เมื่อครั้งทรงรักกันในรัชกาลที่ ๑  ต้องปกปิดเป็นความลับไม่ให้ใครรู้
โดยเฉพาะตอนที่ว่า

ทองหยอดทอดสนิท.................... ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง........................... แต่ลำพังสองต่อสอง
บันทึกการเข้า
-AnToiNetty-
อสุรผัด
*
ตอบ: 10

เรียนอยู่สายการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ ชั้นมัยธมศึกษาปีที่4 ห้อง 665 โรงเรี


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 30 ก.ค. 06, 19:44

 เอ่อ ..
ขนุมกุมภามาศ
คือ ขนมหม้อแกง
รึป่าวครับ ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 31 ก.ค. 06, 14:36

ความสำคัญของขนมไทยมีมากแค่ไหนก็ลองคิดดู  ว่ามันมีบทบาทในวรรณคดี
ขนาดที่ว่าถ้า"ขุนช้างขุนแผน"ไม่มีตอนเอ่ยกันขึ้นมาถึงขนมไทยละก็     ฉบับหอพระสมุดอาจจะขาดเนื้อเรื่องในตอนท้ายๆไปประมาณ ๑ ใน ๔ หรือ ๕ ของเรื่องทั้งหมดก็ว่าได้
ต้องแต่งกันใหม่หรือหาสำนวนอื่นมาต่อกันให้วุ่นวายทีเดียว

ขนมไทยที่เป็นหัวข้อพิพาทสำคัญ คือขนมเบื้อง หนึ่งในสี่ที่ชาววังต้องเรียนรู้นั่นละค่ะ

ผู้หญิงที่เป็นต้นเหตุ มี ๒ คน คือศรีมาลากับสร้อยฟ้า
ศรีมาลาเป็นลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตร   แม้ว่าไม่ได้เข้าไปเป็นชาววังอย่างแม่พลอย  แต่ก็มีฝีมือการเหย้าการเรือนไม่น้อยกว่านางใน
คงเป็นเพราะเป็นลูกผู้ดี   แม่คงอบรมถ่ายทอดวิชาให้  
เมื่อสามีสั่งให้ทำขนมเบื้องเพื่อพลายชุมพลน้องชาย    ศรีมาลาก็กระวีกระวาดทำโชว์ฝีมือ
ส่วนนางสร้อยฟ้า แม้ว่าเป็นชาววังเต็มตัว แต่เธอเป็นชาววังลานนาซึ่งคงไม่ทำขนมเบื้อง    หรือถ้าทำก็ระดับนางข้าหลวงทำ มากกว่าเจ้าหญิงลงมาทำเอง

ผลก็เลยกลายเป็นแบบนี้

สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ.............ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี...................แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป
ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง..................แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ...................ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี
พลายชุมพลว่าพี่สร้อยฟ้า....................ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี....................ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย...............แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ....................พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป

สร้อยฟ้าโกรธที่ถูกว่าเรื่องทำขนมเบื้องไม่เป็น    นางก็เลยต่อยแป้งหกคว่ำกระทะ เดินหนีเข้าเรือน
เรื่องยังไม่จบง่ายๆ กลายเป็นศึกในเรือนที่กินแดนไปถึงตบตีกันชุลมุนระหว่างเมียทั้งสอง  
พลายชุมพลเข้าห้ามก็ถูกสร้อยฟ้าพลั้งมือผลักตกล่องลงไปขาครูดกับล่อง  เลือดไหลพรู
คุณย่าทองประศรีเห็นหลานรักบาดเจ็บก็ออกมาโวยวาย   เรื่องลุกลามไปกันใหญ่โต   พระไวยเห็นสร้อยฟ้าฤทธิ์มากนักก็สั่งสอนด้วยไม้เรียวตีเนื้อตัวเป็นริ้วรอย

สร้อยฟ้าแค้นคนในบ้าน  จึงคิดทำเสน่ห์ให้พระไวยหลงรัก  อาศัยอาคมของเถรขวาด พระทุศีลที่ติดตามมาจากเชียงใหม่
เรื่องราวยาวยืดไปจากนั้นอีกมาก   กลายเป็นศึกระหว่างขุนแผนกับพระไวย   พลายชุมพลหนี     ขุนแผนจับเถรขวาดได้ ไปจนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด
นับเล่มได้หลายสมุดไทย
ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อนดีกว่าค่ะ   เพื่อจะบอกว่าเรื่องราวใหญ่โตกินเนื้อที่มากมายในขุนช้างขุนแผน เกิดขึ้นมาก็เพราะขนมเบื้องเป็นเหตุนั่นเอง
น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุใหญ่มาเสียนักต่อนักแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 06 ส.ค. 06, 08:28

 คำว่า "ขนม" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้แปลว่า "ขนม" ซึ่งเป็นของหวาน เท่านั้น  "ขนม" หมายถึงของว่างซึ่งเป็นของคาวด้วย
อย่างขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่  ขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์  
(อ่านลิ้งค์ประกอบด้วยค่ะ)  
ขนมเบื้องที่ศรีมาลาทำ ก็จะเห็นว่ามีไส้กุ้งด้วย
เป็นขนมที่เป็นของคาวทั้งสามอย่าง

ขนมไส้หมูของเจ้าครอกวัดโพธิ์ ในรัชกาลที่ ๑ มาเปลี่ยนชื่อเป็นขนมจีบ ในรัชกาลที่ ๒  
เดี๋ยวนี้ขนมจีบไทย หลีกทางให้ขนมจีบ ติ๋มซำ ของจีนไปเสียแล้ว

มีเกร็ดเล่ามาว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ทรงมีฝีมือในการทำเครื่องเสวยมาก จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุให้ทรงแยกทางจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพราะเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นเหตุ
เลยเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับที่พระราชวังเดิมกับพระราชโอรสองค์เล็ก เจ้าฟ้าจุฑามณี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ทรงงอนง้อ  ด้วยการส่งคนไปทูลขอให้ทำเครื่องเสวยส่งกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง
เพราะเสวยของคนอื่นแล้วไม่ถูกพระโอษฐ์  เสวยไม่ได้
แต่สมเด็จฯก็พระทัยเด็ด   นอกจากไม่เสด็จกลับมา  เครื่องเสวยที่ถวายกลับมาให้ก็กล่าวกันว่ารสชาติทำอย่างเสียไม่ได้   มากไปบ้างน้อยไปบ้าง  จนเสวยไม่ลง
จึงเป็นอันว่ามิได้ทรงพบกันอีกจนสิ้นรัชกาล

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  มีเกร็ดมาอีกว่า โปรดขนม หรือของหวานที่สมเด็จพระบรมราชชนนีปรุง  เรียกว่าข้าวเหนียวหนาว
เสียใจที่หาไม่เจอว่าหน้าตาเป็นยังไง
กล่าวกันว่าเมื่อทรงพระเยาว์  โปรดเสวยนักหนา  ถ้าไม่ได้เสวยทันพระทัยก็จะเอ็ดอึงว่า
"ของของแม่ข้าทำ  ทำไมไม่ให้ข้ากิน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 06 ส.ค. 06, 09:02

 มีขนมเบื้องอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าขนมเบื้องอ้าปาก    จัดเป็นขนมมีชาติมีตระกูลทำนองเดียวกับขนมเบื้องที่ศรีมาลาทำ  คือเป็นขนมชาววัง
ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงเล่าไว้ว่า

"ขนมเบื้องสวรรค์หรือขนมเบื้องอ้าปากนี้  เป็นของว่างที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว
รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวถึงในบทเห่เรือที่ทรงพระราชนิพนธ์  งานใหญ่ๆในวังหลวงที่มีการเลี้ยงเครื่องว่างตอนดึก  
ให้มาตามคนเฒ่าคนแก่ไปนั่งทำ
ขนมเบื้องสวรรค์นี้ ม.จ.หญิงศุขศรีสมร  ได้เคยทำไปขายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
ตามตำรับที่ตกทอดมาทางสกุล พนมวัน ณ อยุธยา
ได้ทราบว่าขนมเบื้องนี้ทำกันแต่วังวัดโพธิ์"


ขนมเบื้องอ้าปาก ก็คือขนมเบื้องญวน  แต่เวลาทำ ใส่ไส้ทีหลัง
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 06 ส.ค. 06, 20:40

 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีโอกาสกลับไปเพชรบุรี ตอนเช้าจึงรีบกระวีกระวาดไปตลาดเช้า หลังธนาคารกรุงเทพ สาขาเพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ขายขนมเมืองเพชรแบบชาวบ้านๆ เพื่อจะหาขนมต้มมาฝาก อาจารย์เทาชมพูค่ะ
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง