เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7655 ความสัมพันธ์จีน-ไทย มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 06 ธ.ค. 00, 10:00

เริ่มต้นจิบชา แล้วเล่าความหลัง เรื่องจีน-ไทย มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ดีกว่า เป็นการอุ่นเครื่อง

จีนกับไทยเริ่มต้นติดต่อกันแต่ครั้งไหน ไม่ทราบ  แต่ทราบว่าเมื่อมีอาณาจักรสุโขทัย เราก็มีการติดต่อกับจีนแล้ว  หลักฐานจากการทำถ้วยชามที่เรียกว่า "สังคโลก" ไงล่ะคะ   เป็นสินค้าออกขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของไทย   นัยว่าได้กรรมวิธีมาจากจีน
เคยมีความเชื่อว่าพ่อขุนรามฯเคยเสด็จไปเมืองจีนด้วย  แต่หลังๆก็ไม่เชื่อกัน แต่ไม่ว่าเสด็จไปเองหรือส่งใครไปจีนก็ตาม   ก็แสดงว่าจีนกับ "เซียมก๊ก" รู้จักกันมานานอย่างน้อยก็ ๗๐๐ ปีแล้ว
ไม่พูดเรื่องความเชื่อว่าไทยเดิมอพยพมาจากจีนนะคะ   เดี๋ยวจะกลายเป็นต้องถกเถียงอีกเรื่อง   ไม่ใช่เรื่องสัมพันธ์จีน-ไทย
จีนเคยส่งทูตมาถึงขอม สมัยยังเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนแหลมทอง  มีบันทึกเอาไว้   คนในคณะทูตเจ้าของบันทึก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ออกเสียงว่า "เจียวต้าก๋วน" แต่ทางจีนออกเสียงอย่างไร  ใครทราบช่วยบอกด้วย

ตลอดสมัยอยุธยา   จีนก็ยังติดต่อกับไทยมาตลอดด้านการค้าขาย    คนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรศรีอยุธยา กลมกลืนเข้ากับไทยได้ดี จนคนไทยไม่ถือว่าเป็นคนต่างด้าว  เห็นได้จากกฎหมายสมัยกรุงศรีฯระบุไว้ชัดเจนห้ามหญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างประเทศ คือ"“ ฝรั่ง อังกฤษ วิสันตา ชวา มลายู อันต่างศาสนาและเป็นมิจฉาทิฐินอกศาสนา...” แต่ไม่มีคนจีนรวมอยู่ด้วย  หญิงไทยแต่งงานกับคนจีนได้เหมือนแต่งกับคนไทยด้วยกันเอง
ลูกจีนที่ถือกำเนิดในไทย กลายมาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย คือพระเจ้าตากสินมหาราช  พระชนกมาจากตำบลไหฮอง ทางตอนใต้ของจีน    ว่ากันว่าแซ่แต้   พระมารดาคือท่านนกเอี้ยง   คนจีนเรียกมหาราชพระองค์นี้ว่า "แต้อ๋อง"

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  ไทยกับจีนก็ยัง "เจริญสัมพันธไมตรี" กันด้วยดี ต่อเนื่องจากสมัยอยุธยา    ไทยส่งคณะทูตไปจีนเกือบจะทุกปี   เป็นพวกขุนนางสังกัดกรมท่าซ้าย  ตำแหน่งขุนนางบางตำแหน่งคนจีนผูกขาด อย่าง "ขุนท่องสื่อ" คนอื่นไม่มีสิทธิ์เป็น เพราะท่องสื่อคือล่าม  ขุนท่องสื่อก็คือล่ามจีนที่เข้ารับราชการไทย
เจ้ากรมท่าซ้าย สมัยนี้คงจะเรียกว่าอธิบดี  มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี   คือใครมารับตำแหน่งนี้ก็ได้เป็นพระยาโชฎึกฯกันทุกคน     เป็นหัวหน้าคนจีนในไทย    มีหน้าที่ดูแลด้านการค้าขาย การทูตกับจีนและควบคุมดูแลคนจีนในไทยด้วย   พระยาโชฎึกฯบางคนก็เก่งเรื่องหนังสือ  มาช่วยแปลเรื่อง "สามก๊ก"
เชื้อสายที่สืบมาจากพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เท่าที่พบหลักฐาน  มีอย่างน้อย ๒ สกุลที่ได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ ๖ คือ "โชติกเสถียร" สืบมาจากพระยาโชฎึกฯ(เล่าเถียน) และ โชติกะพุกกะนะ  สืบมาจากพระยาโชฎึกฯ (พุก)ค่ะ

ย้อนกลับมาเรื่องไมตรีไทย-จีน  มีข้อเข้าใจที่กลับตาลปัตรกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ไทยเราคิดว่า เราส่งคณะทูตไป "เจริญสัมพันธไมตรี"  แต่ทางจีนเข้าใจว่า อาณาจักรเราส่งทูตไป "อ่อนน้อม" เป็นเมืองขึ้น  เรียกว่า "จิ้มก้อง"   ในเมื่อสื่อสารกันตามความเข้าใจของตัวเอง     ต่างคนต่างก็ติดต่อกันมาด้วยดีไม่มีใครรังเกียจรังงอนจนสิ้นรัชกาลที่ ๔
เคยถามอาจารย์ประวัติศาสตร์ว่า เรามีความจำเป็นอะไรจะต้องไป "เจริญสัมพันธไมตรี"บ่อยนัก ในเมื่อค้าขายก็ทำกันได้คล่องๆมาตั้งแต่อยุธยา    อาจารย์บอกว่าเป็นธรรมเนียมจีนที่ว่า เมื่อบ้านเมืองไหนมาอ่อนน้อมถวายบรรณาการ  โดยมารยาทฮ่องเต้จะต้องตอบแทนน้ำใจด้วยบรรณาการที่สูงค่ามากกว่าที่ให้มา  และสิ่งที่ทางฝ่ายไทยนับเป็นของดีจากจีน คือแพรไหมที่จีนทำได้สวยงามมาก    เราเอามาตัดเป็นเสื้อขุนนางไทยใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ
ด้วยความที่เราไป "เจริญสัมพันธไมตรี" กับจีนได้ผลดีแบบนี้    ไทยจึงขยันส่งทูตไปจีนแทบจะทุกปีจนจีนต้องบอกว่าน้อยๆหน่อยไม่ต้องมาถวายบรรณาการบ่อยนักก็ได้
ความมาแตกเอาตอนต้นรัชกาลที่ ๕  เมื่อจีนทราบว่าไทยผลัดแผ่นดิน  ก็มีพระราชสาส์นมาว่าให้ "อ๋อง" องค์ใหม่ไปจิ้มก้องตามธรรมเนียม   คราวนี้ล่ามจีนฝ่ายไทยแปลได้ถูกต้อง    ไทยเลยรู้ว่าเข้าใจกันคนละทางมาตลอด  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงงด "การเจริญสัมพันธไมตรี" กับจีน    แต่การค้าขายยังทำกันด้วยดีเหมือนเดิม  ก็ไม่เห็นฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงว่าอะไรนะคะที่ไทยไม่ได้ไปแบบทางการอีก
เรามารื้อฟื้นสัมพันธไมตรีเป็นทางการอีกครั้งก็ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ค่ะ
บันทึกการเข้า
ย่อหน้าใหม่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 พ.ย. 00, 21:39

ว่ากันว่า ความเชื่อเรื่อง
"สังคโลก"  เป็นสมัยสุโขทัยนั้นผิด
.....
เพราะการแปล เอกสาร คลาดเคลื่อนของ
พระเจนจีนอักษร มือขวาด้านภาษาจีนของกรมดำรงฯ
.......
องค์ที่ไปเมืองจีนนั้น คือ พระนครอินทร์ กษัตริย์อยุธยา สายสุพรรณ พรรคชาติไทย
.....
ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากกว่าสายอโยธยา
......
การไปเมืองจีนนั้น โดยนัยคือ เท่ากับเป็นการรับรองทางการเมืองจากประเทศที่ยิ่งใหญ่
.....
พระนครอินทร์ เป็นนักเรียนนอก ไปเมืองจีนก่อนจะกลับมา "ปราบ"  กษัตริย์สายอโยธยาได้สำเร็จภายหลัง
......
ทีนี้สายการผลิต ทำไมต้องไปอยู่สุโขทัย?
.....
ภูมิศาสตร์เหมาะสม ดินดี กับความสัมพันธ์ทางเครือญาติ คือตั้งแต่ ขุนหลวงพ่องั่ว ที่ไปได้เมียเป็นชาวสุโชทัยนั่นเอง
......
บันทึกการเข้า
ขวัญ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 07:35

ฝ่ายปกครองไทยก็ใช้คนจีนมาช่วยราชการมานานแล้ว  เคยอ่านหนังสืออาจารย์นิธิมาว่า  ในสมัยอยุธยา(หรือจะก่อนนั้นก็ไม่แน่ใจ)  
กษัตริย์ไทยก็อาศัยชาวจีนมาทำหน้าที่เก็บภาษี  คิดเลขคิดบัญชี  สืบต่อกันมาถึงสมัยราชวงศ์จักรี

ที่ไม่แน่ใจก็ที่ว่า  ความรู้สึกในทางไม่ดีต่อคนจีนตั้งต้นมาแต่สมัยไหน  จนมาถึงสมัย ร๖ ที่ทรงนิพนธ์เรื่อง "ยิวแห่งบูรพาทิศ"  จนมาสมัยรัฐนิยม  
ความขัดแย้งที่ระอุขึ้นเรื่อยๆจนถึงเกิดจลาจลที่สำเพ็ง  จากเหตุผลทางเศรษฐกิจจนมาถึงเหตุผลทางการเมืองสมัยต่อต้านคอมมิวนิสต์  
ก็มีการต่อต้านทางวัฒนธรรมจีนด้วย  เช่นคนจีนจะถูกหว่านล้อมแกมบังคับไม่ใช้ใช้ชื่อสกุลจีนของเดิม  ให้หันมาใช้นามสกุลไทย  
แต่เมื่อไปขอนามสกุลไทยก็มักจะถูกบีบคั้นกลายๆให้ใช้ชื่อสกุลยาวๆ  เพื่อให้แยกออกได้ว่าไม่ใช่คนไทยแท้  
หรือการห้ามสอนภาษาจีนเกินชั้นประถมสี่  ฯลฯ  ลูกหลานชั้นต่อมาก็ไม่ทราบวัฒนธรรมไทย  
แต่ก็ไม่ได้ผสมผสานเข้ากับกระแสหลักของสังคมอย่างกลมกลืนนัก  

ลูกหลานคนจีนคือส่วนประกอบสำคัญของคนชั้นกลางในสังคมไทย  อันคล้ายกับในทุกสังคมที่พัฒนามาถึงขั้นนี้ว่า  
เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นสูง  แต่เมื่อชนชั้นกลางเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่  
ความขัดแย้งก็ออกจะสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก  แต่ก็ค่อยๆถูกลบออกไปเมื่อลูกหลานคนจีนถูกกลืนเข้ากระแสหลักของวัฒนธรรมไป  
เพราะลืมเลือนหรือไม่รู้ที่มาว่าเป็นอย่างไรไปกันหมดแล้ว
บันทึกการเข้า
ขวัญ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 07:44

และคนจีนเองก็มีความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมของตนเอง  ไปที่ไหน(โดยเฉพาะในเอเซีย)ก็จะคงความรู้สึกที่ว่าตัวเหนือกว่าอยู่  
และจะเกาะกลุ่มด้วยกันอย่างเหนียวแน่น  แต่ตั้งแต่สมัยรัฐนิยมมา  การห้ามไม่ให้สอนหนังสือจีนเกินชั้น ป ๔
ก็ได้ผลในการกลืนชาติของคนจีนในเมืองไทยไป  ไม่ว่าพ่อแม่จะมีความผูกพันกับวัฒนธรรมจีนอย่างเหนียวแน่นอย่างไร  
ความผูกพันก็ค่อยๆคลายตัวลงไปในรุ่นต่อๆมา  เพราะเศรษฐกิจสมัยใหม่ต้องกระจายตัวออกไปในกระแสหลักจึงจะอยู่รอดได้  
ลูกหลานจีนรุ่นใหม่ๆจึงรู้สึกว่าเป็น คนไทย มากกว่า  และมีความผูกพันกับแผ่นดินไทยมากกว่า

ที่มาร่วมแจมก็เพียงอยากจะเสนอในแง่ที่่ว่า  การเอาคนต่างวัฒนธรรมมาหลอมรวมกัน  อย่างไรก็มีความขัดแย้งและการคลายตัวจนถึงจุดๆหนึ่ง  
ที่เกิดความสมดุลย์ระหว่างความต้องการที่จะรักษาสายสัมพันธ์ดั้งเดิมกับวัฒนธรรมเก่า(ของคนจีน)  กับการเริ่มประสานตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่  
ต่างเกิดมาจากความจำเป็นในการเอาตัวรอด  ในการทำมาหากิน  จากการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  
มากกว่าที่จะเริ่มมาจากใจรักใจผูกพันอย่างแท้จริงแต่ต้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 09:04

อ่านของคุณขวัญแล้ว  ดิฉันมองว่าอย่างนี้
เราต้องแยกแยะก่อนว่าคนจีนที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายตั้งแต่อยุธยาจนรัตนโกสินทร์  ไม่ได้เข้ามาด้วยเหตุผลเดียว
กระแสใหญ่คือเข้ามาค้าขาย  แบบไปกลับ  และรองลงมาคือมาตั้งถิ่นฐาน
ทั้งสองแบบนี้ค่อนข้างราบรื่น  ทำตัวเข้ากับคนไทยได้  แบบหลังเข้ารับราชการก็มาก   เป็นช่างจีนก็มี  ฝากฝีมือไว้ในศิลปวัฒนธรรมไทย หาดูได้ตามวัดวาอารามและวรรณกรรรมจีนที่แปลเป็นไทย
ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นจากเหตุในเมืองจีนก่อน  คือเมื่อราชวงศ์ชิงเข้าครองอำนาจ   ประสบการต่อต้านจากผู้ที่ภักดีต่อราชวงศ์หมิง   แต่การต่อต้านไม่สำเร็จ   คนจีนเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็หนีออกนอกประเทศ    มาซ่องสุมปะปนเข้ากับพวกนักเลง  กลายเป็น "จีนตั้วเหี่ย" หรือ "อั้งยี่"
พวกนี้เคยลุกฮือขึ้นแบบผู้ก่อการร้าย  ฆ่าเจ้าเมืองของไทย  รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้ปราบปรามเป็นเรื่องใหญ่  ก็สงบไป  แต่ก็ยังไม่หมดอยู่ดี เพียงแต่ไม่ลุกลามขึ้นมาอีก
คนจีนอีกส่วนหนึ่งที่ทำมาหากินอย่างสงบ  และที่โชคดีกว่านั้นได้เข้ารับราชการ  ก็กลายเป็นคนไทย อยู่แบบไทย  กลายเป็นผู้ดีไทยไปก็มาก
ภาพสะท้อนของลูกหลานจีนแบบนี้  ไม่ใช่ใครอื่นคือคุณเปรม  พระเอกเรื่อง "สี่แผ่นดิน"    ในเรื่องระบุไว้เลยว่า " เป็นลูกหลานพระยาโชฎึกฯ" แต่คนไหนเจ้าของเรื่องไม่ได้บอก เพราะเป็นตัวละคร   ไม่ใช่คนจริงๆคนใดคนหนึ่ง
คุณเปรมมีก๋งมาจากเมีองจีน เป็นจีนไว้หางเปียมีรูปอยู่บนตึก  แต่คุณเปรมก็คิดแบบไทยทำตามธรรมเนียมไทย   จนได้เป็นพระยาในราชสำนัก
ส่วนเรื่อง "ยิวแห่งบูรพทิศ " พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงรับการศึกษาจากอังกฤษ  มองเห็นภัยของประเทศจากบุคคลที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ (ไม่ใช่กุมอำนาจทางการปกครอง)อย่างพวกยิว  ว่าพวกนี้จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
แต่เดิมมา คนไทยเราถือว่าผู้กุมอำนาจทางการปกครองคือผู้มีอำนาจสูงสุด   ส่วนคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ คือผู้ถูกปกครองโดยอำนาจแรกอีกที    มีส่วนช่วยให้ประเทศร่ำรวยเฟื่องฟู     แต่ไม่ได้มาปกครองเสียเอง
รัชกาลที่ ๖  ทรงเป็นผู้ที่เล็งเห็นอำนาจจากคนกลุ่มหลังนี้   จึงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา   แต่ก็ไม่เห็นมีผลอย่างไร   ก็มิได้ทรงกีดกันกดขี่คนจีน  คนจีนก็ยังหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในประเทศ
ส่วนเรื่องการจลาจลที่สำเพ็ง  ถ้าหมายถึงการลอบสังหารพ่อค้าสำคัญเชื้อสายจีนในช่วงก่อนสงครามโลกเล็กน้อย  อย่าง เหียกวงเอี่ยม  เป็นการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสามเส้า คือญี่ปุ่น(ยุคขยายอำนาจ) จีน และไทย มากกว่าจะเป็นเรื่องของไทยกับจีนโดยตรง
ดิฉันมีบทความของดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช  และหนังสือประวัติของเหียกวงเอี่ยม  เป็นบทบาทน่าสนใจของผู้นำจีนในไทยยุค ๒๔๘๒   ถ้าใครอยากทราบช่วยบอกด้วย  จะไป "ย่อย" มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ส่วนประเด็นใหญ่ที่คุณขวัญเปิดขึ้นมา คือวัฒนธรรม  ดิฉันเชื่อว่า คนจีนไม่ว่าจะอพยพโยกย้ายถิ่นไปอยู่ประเทศไหน  จะประสบปัญหาความขัดแย้งว่าจะอยู่อย่างไรในสองวัฒนธรรม  ลูกจีนในอเมริกาก็มีปัญหานี้  ใครดูหนังหรืออ่าน Joyluck Club คงนึกออก
เป็นธรรมดาอยู่เอง   ที่ผู้บริหารประเทศจะอยากให้คนในประเทศรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อความมั่นคงของส่วนรวม   ประเทศที่ประชากรแบ่งแยกเชื้อชาติกันชัดเจน จนไม่อาจผสมกลมกลืนกันได้  จะนำมาซึ่งสงครามกลางเมือง หรืออย่างน้อยๆก็มีความรังเกียจระหว่างกัน    เกิดปัญหาขึ้นมาก็กลายเป็นระเบิดถล่มสังคมกันยับเยิน   ไม่นานมานี้เราคงจำปัญหาในอินโดนีเซียได้
ไทยใช้วิธี "ละลาย" จีนเข้ามาเป็นไทยอย่างละมุนละม่อม เช่นอนุญาตให้สมรสกับคนไทย   ใช้ชื่อไทย  มีการศึกษาแบบไทย   แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ก้าวก่ายเข้าไปยกเลิกวัฒนธรรมแบบจีน  จะไหว้เจ้า สร้างฮวงซุ้ย  ฯลฯ ก็ได้
ส่วนเรื่องการห้ามเรียนภาษาจีนเกินป. ๔ เข้าใจว่าเป็นนโยบายสมัยชาตินิยม   ตอนนี้เรียนได้ตามสบาย  วิชาเอกภาษาจีนเปิดในมหาวิทยาลัย  จบปริญญากันมาเยอะแยะแล้ว
การใช้นามสกุลยาวๆ จุดมุ่งหมายหนึ่งคือไม่ให้ซ้ำกับนามสกุลที่เคยมีมาอยู่แล้ว  เพราะยิ่งตั้งให้สั้น โอกาสจะซ้ำก็ง่าย   ตามกฎหมายของเรา นามสกุลของใครก็ของลูกหลานตระกูลนั้น   คนนอกจะใช้ได้ต่อเมื่อเจ้าของหรือผู้อาวุโสที่สุดในนามสกุลนั้นอนุญาต หรือรับเป็นบุตรบุญธรรม  ไม่เหมือนอเมริกันซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลให้ตัวเองซ้ำกับนามสกุลไหนก็ได้    คนนามสกุล Smith มีไม่รู้กี่ล้าน  ผิวขาวก็มี ผิวสีก็มี ไม่ได้เป็นญาติกันเลย

มีความเห็นส่วนตัวว่า  ไทยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคนหลายเชื้อชาติในประเทศ  แต่ความขัดแย้งไม่รุนแรงเท่ากับกับอีกหลายประเทศค่ะ
ส่วนตอนท้ายที่ว่า การผสมกลมกลืนนั้นเกิดจากความจำเป็นเรื่องผลประโยชน์ แต่ไม่ใช่ใจรักใจผูกพันอย่างแท้จริง   มันอาจจะเป็นตอนอพยพเข้ามาใหม่ๆ  แต่พอถึงลูกหลานที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ก็มีอยู่มากที่เขาเกิดความรักความผูกพันกับประเทศในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
พวกเราในนี้ ก็คงมีหลายคนที่บรรพบุรุษมาจากจีน   ดิฉันก็มี  แต่ก็พูดได้เต็มปากว่าดิฉันเป็นคนไทย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 19:53

ผมยังเห็นว่า นโยบายต่อคนจีนในไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง (ช่วงที่สยามกำลังจะกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ไม่ใช่อาณาจักร)  แยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่ง เดินตามรอยพระราชนิยมใน ร. 6 ที่ทรงเห็นว่าคนจีนนั้นเปรียบเสมือน "ยิวแห่งบุรพทิศ"  ซึ่งผมเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งทรงรับความคิดรวมทั้งอคติของฝรั่งมา (ร.6 ทรงศึกษาเมืองนอกมาเกือบตลอดช่วงที่ทรงพระเยาว์) อีกส่วน คือทรงเห็นว่าคนจีนในไทยคงจะไปกันไม่ค่อยได้นักกับแนวทางความคิดชาตินิยมสมัยใหม่ที่กำลังทรงปลูกฝังในสยาม
(ร.6 ทรงเป็นทั้งนักชาตินิยมไทย และนิยมฝรั่งในขณะเดียวกัน ซึ่งก็ดูคล้ายๆ จะขัดแย้งกันเอง ดูเหมือนอาจารย์แถมสุขจะเคยมีงานเขียนศึกษาพระราโชบาย พระนิสัย ต่างๆ ที่มีลักษณะ 2 ด้านนี้มาแล้ว)
อีกแนวคิดหนึ่ง คือ ของครูเทพ ละมั้งครับ ซึ่งเดินแนวทางประสานประสมกลมกลืน เช่น เรียกคนจีนหรือลูกจีนว่า คนไทย "พันธุ์เจริญ" เป็นต้น คือเป็นผู้ได้มีส่วนและจะได้รับการยอมรับให้มีส่วนต่อไป ในการสร้างความเจริญให้ประเทศสยามโดยรวม
ดูๆ เหมือนแนวคิดของรัฐบาลไทยจะไม่ชัด หรือชัดเป็นช่วงๆ แกว่งจากข้างหนึ่งไปอีกข้างเหมือนลูกตุ้ม แนวความคิดชาตินิยม ของ ร. 6 ได้รับการสานต่อสมัยจอมพล ป. คุณหลวงวิจิตรวาทการ แต่หลังสงครามก็กลับมาดีกับคนจีนในไทยอีก สิ่งที่ประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามได้ดีกว่าการกระทำไหนๆ ของรัฐบาลก็คือ การที่ในหลวง ร.8 เสด็จสำเพ็ง แต่แล้วต่อมายุคสงครามเย็น ก็มีเรื่องความกลัวคอมมิวนิสต์เข้ามาอีก เพิ่งจะหายกลัวคอมมิวนิสต์กันก็เมื่อสักยี่สิบปี่มานี่เอง
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 19:55

ขออภัยครับตกไป ยี่สิบสามสิบปีมานี่เอง ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนแผ่นดินใหญ่ จวนจะครบทศวรรษที่สามแล้วครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 พ.ย. 00, 20:25

"ร.6 ทรงเป็นทั้งนักชาตินิยมไทย และนิยมฝรั่งในขณะเดียวกัน ซึ่งก็ดูคล้ายๆ จะขัดแย้งกันเอง ดูเหมือนอาจารย์แถมสุขจะเคยมีงานเขียนศึกษาพระราโชบาย พระนิสัย ต่างๆ ที่มีลักษณะ 2 ด้านนี้มาแล้ว"

น่าสนใจ  จะไปหามาอ่านค่ะ

ที่ไทยเรากลัวระบบคอมมิวนิสม์อย่างหนัก คงเริ่มจากนโยบายสังกัดค่ายโลกเสรีที่อเมริกาเป็นผู้นำหรือเปล่าคะ
จำได้ว่านักเขียนนักนสพ.ไทยหลายคนเจอข้อหาเป็นคอมฯ ต้องเข้าตะรางกันไป
แต่พอไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนสมัยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นนายกไปพบประธานเหมา  ก็ดูยิ้มแย้มกันดีทั้งสองฝ่าย

ดิฉันว่าไทยมีนโยบายแกว่งไปแกว่งมาอยู่หลายเรื่องเหมือนกันนะคะ  ตั้งแต่เรื่องเข้ากับญี่ปุ่นตอนสงครามโลกแล้วก็กลับมาเป็นฝ่ายพันธมิตรก็เรื่องหนึ่งละ
เรียกว่ายืดหยุ่นได้ถูกจังหวะ  ไม่ซีเรียสกับอะไรจนเปลี่ยนไม่ได้  
แต่เสียอย่างเดียว  อะไรที่ต้องทำต่อเนื่องนานๆสม่ำเสมอ  ห้ามแกว่ง   เราเลยไม่ค่อยจะทำกัน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 พ.ย. 00, 11:27

เคยได้อ่านความเห็นในแนวคุณย่อหน้าใหม่มาเหมือนกัน ว่าพระนครินทราธิราช(เจ้านครอินทร์) เป็นผู้ติดต่อค้าขายกับเมืองจีน และการขึ้นครองราชสมบัติก็อาศัยอำนาจของกองทัพเรือของจีนที่มาปิดปากน้ำเจ้าพระยา นำโดยแม่ทัพขันทีชื่อก้อง ซานเป่ากง หรือซำปอกงในสำเนียงแต่จิ๋วนั่นเอง จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าอ่านมาจากไหน แต่ผู้เขียนอ้างว่าเรียบเรียงจากพงศาวดารจีน ซึ่งบันทึกไว้ละเอียด
บันทึกการเข้า
ศิษย์โง่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 06 ธ.ค. 00, 18:34

ผู้ที่บันทึกเรื่องเจินละ หรือ ขอมไว้ ชื่อ โจวต้ากวนครับ ส่วนขันทีที่ออกเดินเรือ นั้นนามว่า เจิ้งเหอ ครับ เรื่องเจ้านครอินทร์นั้น ในบันทึกของจีน ออกเสียงว่าไท่จื้อ
จ้าวหลกควนอิ๋น ซึ่งก็ดูจะตรงกับ เจ้านครอินทร นี่แหละกระมังครับ

ครับ ตอนนี้ไทยออกจะเลิกกลัวคอมมิวนิสต์กันแล้วอย่างที่คุณ นกขว่า มิหนำยังไปเยือนจีนกันโครมๆ ดูโฆษณาท่องเที่ยวในหน้านสพ.สิครับ โปรแกรม ปักกิ่งห้าวันเอย จิ่วไจ้โกวเอย เฉินตู-เล่อซ่าน เอย คุนหมิง ลี่เจียง ฮาร์บิ้น เฮยหลง
จิปาถะ ปีหน้าผมว่าจะไปกวาดให้หมด ก่อนที่สังขารจะไม่อำนวย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 ธ.ค. 00, 18:42

น่าไปค่ะ  ทั้งหมดที่พูดมา
ไปแล้วรู้สึกเป็นกันเองยังไงไม่รู้  ทั้งที่หลายส่วนของปักกิ่งก็เหมือนเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว
คงเป็นเพราะรู้สึกว่าคนที่เดินๆหน้าตาเหมือนเรามั้งคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 ธ.ค. 00, 22:18

จีนเขาตั้งสมญานามเรียกประเทศเขาเองชื่อหนึ่งว่า เสินโจว แปลว่าแผ่นดินมหัศจรรย์ (ไม่ทราบว่าใครเลียนแบบใค รระหว่าง อเมซิ่ง ไทยแลนด์ กับเสินโจว) มีอะไรให้ค้นหามากมายเหลือเกินครับ
ผมไปทำงานอยู่ปักกิ่ง 4 ปี ได้ออกไปตามเมืองต่างๆ บ้างเหมือนกันแต่ก็ยังไม่ทั่ว เพราะเมืองจีนกว้างใหญ่ไพศาล ผมยังอยากไปเส้นทางสายไหม อยากไปสิบสองปันนา (ไปเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน คือ คุนหมิง ตั้งหลายรอบ แต่ไปไม่ถึงเชียงรุ้งสักที) ฯลฯ
เคยพูดเล่นกับเพื่อนกระทรวงการต่างประเทศจีนว่า ที่ผมยังไม่อาจจะแต่งงานได้เสียทีนี่ เป็นความผิดของเมืองจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลด้วยส่วนหนึ่ง เพราะได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะมาฮันนี่มูนดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่เมืองจีน แต่ประเทศคุณกว้างใหญ่เหลือเกินนี่ จะเที่ยวยังไงหมด คิดสะระตะแล้ว ผมต้องแต่งงานแล้วมาฮันนี่มูนเมืองจีนอย่างน้อย 10 หน ถึงจะดูได้ทั่ว... เลยยังไม่แต่งดีกว่า...
เพื่อนจีนก็หัวเราะ - แล้วบอกว่า ก็แต่งไปสิ 10 หนก็ได้ เขายินดีช่วยหาเจ้าสาวให้ด้วยเอ้า แต่ข้อเสียของการแต่งงาน 10 ครั้ง ก็คือ คุณจะต้องมีแม่ยาย 10 คนเชียวนะเออ...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง