เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 17
  พิมพ์  
อ่าน: 45859 สามแผ่นดิน
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 17:25


ภาพเจ้าชายร้อยเอ็ดหัวเมือง ทรงชฏาเหมือนภาคกลาง แต่วาดหน้าตาเป็นล้านนา

เคยโดนมือดีเอาคัตเตอร์กรีดไปรอบหนึ่ง ตอนที่ไปก็นึกว่ารอยเก่ามันเป็นมานาน

เห็นแล้วสงสารเจ้าชายครับ อยู่ในวัดในวาพึ่งพระแล้วแท้ๆ คนบาปยังตามไปรังควาญ

ตอนนี้เขาซ่อมแล้วครับ เป็นเจ้าชายหน้าใสเหมือนเดิม
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 17:32


ภาพนี้ได้ใจดีครับ

ท้าวสามลทรงพระโกรธนางรจนา เงื้อง่าไม้ตะพด พระมเหสีเธอยังสงสารลูกอยู่ วิ่งเข้ามาชักเย่อธารพระกรกับพ่อตา

แค่นี้พอนะครับ เดี๋ยวต้องลาแล้วแม่ปิงกลับลุ่มเจ้าพระยาตามเดิม มาไกลเกินไปแล้ว
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 19:27

เขียนที่วัดพระสิงห์เป็นงานของยอดฝีมือ
เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ละเอียดอ่อน
มีจุดหนึ่ง เป็นสาวงามเยี่ยมหน้าต่าง ท่านกุรุกุลาได้บันจงถ่ายมัวๆมาให้ยลบ้างไหมหนอ

ไม่น่าเชื่อว่า กระทู้นี้มาถึง 200 แล้ว ยังไม่ได้เริ่มแผ่นดินที่ 1 เลย มัวแต่และเล็มข้างทางเพลิดเพลินจำเริญใจ
แต่ก็ยินดีนัก ที่ได้มิตรสหายมาหลายท่าน ล้วนแต่มีน้ำใจและไมตรีจิต

คราวนี้ เรามาลุยสวนขวากันเลย
แต่เดินเก็บตัวหน่อยนะครับ เผื่อจอมกวีโรแมนติคจะทรงสำราญพระราชหฤทัยกลางสระ จะทรงสะดุดอารมณ์ทำนางรจนาต้องอดทนต่อไปอีกหลายเพลา
-------------
ในเมื่อเราไม่มีความรู้แน่ชัดถึงสำนักศึกษาของราชสำนักรัชกาลที่ 1 เราก็คงต้องอาศัยแนวเทียบจากประวัติเจ้านายพระองค์อื่น ซึ่งทำให้เห็นชัดถึงความสำคัญของวัดพระเชตุพน มากกว่าความหมายทางสถาปัตยกรรม เพราะที่นั่น เป็นที่รวมของเหล่านักปราชญ์ของยุคสมัย
บันทึกการเข้า
ดอกแก้ว การะบุหนิง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 20:14

 การศึกษาภูมิหลังของเจ้านายในยุคต้นๆของรัตนโกสินทร์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะไม่เคยเห็นงานเขียนที่วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน และจะทำให้เราเชื่อมต่อแนวความคิดขอแต่ละพระองคืได้
ขอให้หมดฝนโดยเร็วนะคะ จะได้ฟังอย่างต่อเนื่องไม่ขาดหายไป
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 00:55

 ขอบคุณที่เห็นความสำคัญครับ จะบรรยายไปตามกำลัง
ทั้งกำลังผมและกำลังสายโทรศัพท์
ผมก็บ่นเรื่อยเปื่อยงี่เง่า พี่น้องทั้งภาคกลางลำบากกว่าผมเป็นร้อยเป็นพันเท่า ดังนั้น ต่อไปนี้จะหุบปาก ทำงานที่ตนเองทำเป็น ต่อไป
--------------
จะกล่าวถึงระบบการศึกษาของรัชกาลที่ 1-2 แล้ว ไม่พรรณาพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ 1 ก็เห็นจะบกพร่องมากๆ
อันที่จริง เมื่อครั้งบ้านเมืองยังเป็นของเจ้าแผ่นดิน องค์ราชันย์นั้นเอง คือศูนย์รวมของระบบสติปัญญา
ในแง่นี้ พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ต้องนับเป็นอัจฉริยะบุคคลที่หาได้ยาก เพราะเป็นคนไทยคนแรก ที่กล้าประกาศว่า "ประเวณีนี้ผิด" (คำปรารภตอนต้นกฏหมายตราสามดวง) และพระอนุชาของท่านก็ห้าวสุดๆ ที่ด่าคนรุ่นก่อนว่า "ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา"
แล้วสองพระองค์พี่น้องก็ทรงปฏิรูปประเทศใหม่ ไม่ใช่ทำแค่ซ่อมแซมปะผุ หรือโป๊วสีนะครับ
แต่เป็นการเปลี่ยนระบบเลยทีเดียว ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะต้องบอกว่ารีเอ็นจิเนียริ่ง แต่ผมว่า มากกว่าการรุ่งริ่งอย่างนั้นเป็นหลายกอง
คือ
ชำระกฏหมาย แล้วชุบขึ้น 3 ชุด อันนี้ตีเป็นการบริหารก็คงเทียบได้กับเจฟเฟ่อร์สันสองโหล รับเหมาเขียนรัฐธรรมนูญให้ทุกประเทศในยุโรปกระมัง กฏหมายตราสามดวงนั้น เป็นแหล่งรวมระบบความรู้ทั้งหมดที่สังคมของเราสะสมเอาไว้ เป็นรองก็แต่พระไตรปิฎก
ซึ่งท่านก็จัดการชำระเสียด้วยกัน
ลองคิดดูเถิดครับ ว่าสองงานนี้ ต้องใช้คนเท่าไร ล้วนเป็นคนที่ต้องมีปัญญาล้ำเลิศ ละเอียดลึกซึ้งและต้องรับประทานอาหาร 3 เวลาด้วย แปลว่าต้องใช้เงินมหาศาลทีเดียว
ยังครับ ท่านยังส่งเสริมอักษรศาสตร์ต่อไปอีก
แต่ละสิ่ง เป็นงานช้างทั้งสิ้น อย่างแปลมหาวงศ์งี้ แต่งสังคีติยวงศ์งี้ แปลสามก๊กงี้ อะไรอีกล่ะ ผมก็ไม่รู้เรื่องหนังสือหนังหา อ้อ พระราชนิพนธ์รามเกีรติ์อีก ดาหลังด้วย....โอ้ย
ทำไมในตำราวรรณคดีเขาพูดถึงรัชกาลที่ 1 ไว้นิดเดียวนะครับ ใครรู้ตอบด้วย

เอาเป็นว่า สังคมไทยตอนรัชกาลที่ 1 นี่ น่าจะรุ่งเรืองทางปัญญามากกว่า 50 ปีก่อนหน้าอย่างไม่เห็นฝุ่น
เอาละ มาถึงประเด็นสุดท้าย
จำนวนครู

สมัยนั้นก็ไม่ได้จดทะเบียนเอาไว้เสียด้วย แต่ขอประเมินอย่างนี้นะครับ
สมัยเจ้าตาก ท่านไปเมืองใหน งานหลักประการหนึ่งก็คือไล่หนังสือพระภิกษุ เพื่อกำจัดพวกปลอมปน เห็นว่าฆ่าทิ้งเสียมากต่อมาก เพราะศัตรูศาสนา ก็คือศัตรูบ้านเมือง
ดังนั้น คงไม่มีพระเก๊เหลือในประเทศแล้วกระมัง แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีพระเหลือนะครับ หามิได้ เหลือเพียบ เพราะท่านทำนุบำรุงให้บวชเรียน
คิดง่ายๆนะครับ ทำบุญทีหนึ่ง ท่านต้องใช้คนเท่าไร อย่างฉลองวัดพระแก้วครั้งแรก ท่านให้สวดมนต์รอบพระนคร จำนวนพระภิกษุเห็นจะเป็นพัน และน่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าที่เราจะนึกได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น อาจจะสรุปเป็นแนวให้ค้นต่อได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 นั้น ทรงเติบโตมาในท่ามกลางนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้ทรงศีล นับจากพระราชบิดาลงมา
แต่จะลงมาถึงคนเฝ้าประตูวังแบบตำนานศรีปราชญ์หรือไม่ ผมไม่รู้ได้
ฝากคนที่มีกำลังช่วยค้นต่อด้วยเทื๊ดดดด
แล้วผมจะรับมาคุ้ยต่อว่า สติปัญญาเหล่านั้น พ้น 200 ปีแล้วมันเหลวไหลไปลงท่อระบายน้ำแถวใหนเสียหมด

คิดแล้วแสนเสียดาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 11:39

 ขอประกาศชวนทีมอาสาสมัครร่วมงานกับ "คปค. ณ รท."(คณะปฏิรูปกระทู้ค้าง ณ เรือนไทย)
ตอนนี้มีผู้ก่อการอยู่  ๑ คน คือ ดิฉันเอง
คุณ UP หลวมตัวยอมยกมือแล้ว ๑ ราย แต่ตอนนี้ ชีพจรลงเท้าเลยหายหน้า  เดี๋ยวก็จะกลับมาเอง
คุณติบอ คุณกุรุกุลา คุณกุ้งแห้ง คุณดอกแก้ว คุณอาชาฯ คุณหมูน้อยฯ    ดิฉันยืนแจกใบสมัครฟรี อยู่ตรงนี้นะคะ มารับไปได้เลย
***************************
ขอปักหลักต่อที่วัดอรุณ

ริมฝั่งเจ้าพระยานั้นเป็นดินอ่อน ตามแบบดินสองฟากฝั่งแม่น้ำ ที่ถูกกระแสน้ำพัดพาตะกอนมาทับถมกันนานนับร้อยปี
ตัววัดอรุณเอง ตั้งอยู่บนท้องคุ้ง  มีกระแสน้ำพัดเซาะอยู่ชั่วนาตาปี  
น่าเสียวไส้ว่าจากตลิ่งวัดเข้าไปถึงศูนย์กลางองค์พระปรางค์ เป็นระยะแค่ ๙๐.๕๐ เมตร
องค์พระปรางค์หรือก็สูงใหญ่  ก่อสร้างปริมาตรทึบ  กินน้ำหนักมาก

แต่ก็น่าชมฝีมือสถาปนิกเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน ว่าทำยังไงไม่ทราบ  พระปรางค์วัดอรุณยืนหยัดมั่นคงแข็งแรงมาจนทุกวันนี้
ยังไม่ได้ข่าวว่ามีการเอนเอียง ทรุดหรือร้าว  
เดาว่าการก่อสร้างคงเหมือนสร้างภูเขาทอง ที่ท่านเอาโอ่งใหญ่ๆฝังลงไปเป็นฐาน    ไม่ต้องตอกเสาเข็มอย่างสร้างตึกสมัยนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 12:01

วัดอรุณเป็นหีบสมบัติขนาดมหึมา   บรรจุเพชรพลอยเอาไว้ทุกซอกทุกมุม  
หยิบขึ้นมาเอาแว่นขยายส่องเหลี่ยมเพชรกันไม่หวัดไม่ไหว

ไหนจะเรื่องย่อไม้สิบสอง   ไหนจะการแบ่งฐานไพที  การตกแต่งกระเบื้องเบญจรงค์แบบสามมิติ  กว้างยาวและนูน    พระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์ ฯลฯ

เพราะงั้นดิฉันก็ขอหยุด เชิญท่านอื่นมาปั่นเรตติ้งต่อ

ส่วนเรื่องสวนขวา   ขอยกโคลงฝีมือศ. น.อ. สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม  มาลงไว้ ให้ติดตามจินตนาการของท่าน

ทรงนำภูมิสถาปัตย์แจ้ง............ปางบรรพ์
"เจษฎาบดินทร์"ฝัน................สรรค์สร้าง
"สวนขวา" แหล่งสวนขวัญ........ทรงเริ่ม ไว้เอย
สวนใหญ่ยิ่งสุดสล้าง...............สลักไว้ในวัง

"สวนขวา" ยังชักน้ำ................เจ้าพระยา
น้ำหลั่งสู่วังวนา......................ชุ่มน้ำ
ลมพัดกิ่งพฤกษา...................ไกวแกว่ง ก้านเกย
ภูมิภาพสุนทรีย์ล้ำ..................เลิศแล้ว "สวนขวา"

" สวนขวา" คลองลัดเลี้ยว........ไปมา
เรือล่องร้องสักวา...................ไล่เกี้ยว
นางใน"เล่นซ่อนหา"...............ตามพุ่ม ไม้นอ
คืนมืดจันทร์แรมเสี้ยว..............แมกไม้เหมาะเหม็ง

ต่อไปนี้ ก็คงต้องรอคุณพิพัฒน์เช็ดสายโทรศัพท์ให้แห้ง  ไปพลางๆก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
ดอกแก้ว การะบุหนิง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 12:25

 น่าสนใจทั้งประวัติการศึกษาของพระเจ้าอยู่หัวในตอนต้นรัตนโกสินทร์ เป็นข้อมูลที่ยังรอการวิเคราะห์ และเผยแพร่ที่น่าสนใจยิ่ง

เรื่องพระปรางค์ ที่คุณเทาชมพู บอกว่าไม่เอน ไม่เอียงทั้งที่ตั้งอยู่บนพื้นดินอ่อน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศ ได้เห็นรายการสารคดีทางทีวี เมื่อเร็วๆนี้ เหมือนที่สันนิษฐานนะคะ

ส่วนเรื่องสวนขวา เห็นเรื่องสี่แผ่นดินที่นำกลับมาฉายใหม่ตอนบ่ายๆ ก็เอ่ยถึง

ตามอ่านทุกหัวข้อค่ะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 00:23


.
ขอเสริมเรื่องพระปรางค์วัดอรุณพอสังเขปครับ
สถาปัตยกรรมแห่งนี้ เป็นงานสร้างใหม่หมดจดของอภิสถาปนิกบางกอกทีเดียว
เพราะสร้างเมื่อประมาณ 2370 จะบวกลบก็นิดหน่อย
ปีนั้นกรุงแตกมาแล้ว 50 กว่าปี หากว่ามีนายช่างเหลือรอดมากำกับการก่อสร้าง ท่านก็ต้องอายุร้อยกว่า
เห็นจะต้องหามใส่แคร่มาคุมงาน
แล้วหลังจากกรุงแตกแล้ว คนไทยก็ไม่ได้สร้างอะไรที่ใหญ่เกินพระมหาเจดีย์สรรเพชดาญาน
ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหญ่โตอะไรนัก หากไปเทียบกับที่กรุงเก่า
แต่.....
ดินที่เกาะเมืองกับที่บางกอก ไม่เหมือนกันนะครับท่าน ที่บางกอกน่ะ เมื่อพันห้าร้อยปีที่แล้ว ยังเป็นอ่าวอยู่เลยครับ
แต่ที่เกาะเมือง พ.ศ. 1867 ท่านก็สร้างพระเจ้าพนัญเชิงองค์มหึมาไว้แล้ว
สถาปนิกที่สร้างพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งบางกอก จึงใจใหญ่ยิ่งกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และใจถึงยิ่งกว่าคนใจถึงทุกคนในประวัติศาสตร์
กล้าสร้างอาคารขนาดสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร ก็สูงเท่าตึก 24 ชั้นโดยประมาณ โดยไม่เคยมีงานนำร่องมาก่อน
ไม่รู้น้ำจิตน้ำใจของท่าน ประกอบด้วยอะไร

แล้วก็อย่ามาตู่ว่า ครูช่างครั้งกรุงเก่าท่านถ่ายทอดวิชาให้นะครับ พระมหาปรางค์องค์นี้ ช่างอยุธยาสร้างไม่เป็นครับ
1 ช่างอยุธยาไม่รู้วิธีจัดการดินที่ลุ่ม แต่รัชกาลที่ 1 ท่านรู้ครับ ไปอ่านจารึกการสร้างวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 1 จะเห็นว่า
ทรงเกณฑ์คนมาเป็นหมื่นๆ ถมที่ทิ้งไว้ 2 ปี จนดินทรุดตัวเท่ากันหมด จึงเริ่มการก่อสร้าง
เทคนิคนี้ ต้องเป็นชาวสวนจึงจะนึกออก
2 พระปรางค์นี้ "ตัน" ทั้งองค์ ช่างอยุธยานั้น ชำนาญงานกลวง จึงลดน้ำหนักไปตั้ง ครึ่งๆ
3 ช่างที่สร้างวัดอรุณฯ สร้างรูปทรงที่ถ่ายน้ำหนักอย่างเหมาะสม และไม่ขัดขวางกับรูปแบบอาคารตามประเพณีนิยม
กลับส่งเสริมกัน จนกลายเป็นพระปรางค์ที่งามที่สุด นับแต่มีการก่อสร้างมา
ปรางค์อยุธยาจะมีทรงชะลูดเป็นฝักข้าวโพด โอ่อ่า แต่ไม่อ่อนหวานอย่างนี้
รูปเงาทาบของพระปรางวัดอรุณนี่กินขาดปรางค์ไทยทุกแห่งทีเดียว (ยกเว้นที่เชลียง)
-------------
รูปถ่ายฝีมือวิลเลียม ฮันท์ นักบินลาดตระเวณอังกฤษ
ถ่ายไว้เมื่อเลิกสงครามใหม่ๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 10:54

 กระทู้นี้ ชื่อ สามแผ่นดิน  เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๒ ๓ และ ๔
บัดนี้ย้อนมาถึงรัชกาลที่ ๑  และทำท่าจะย้อนไปถึงสมัยธนบุรี
ซึ่งย่อมจะย้อนกลับไปถึงพระเจ้าเอกทัศได้
เข้าไป ๖ แผ่นดินแล้ว
******************************
ต่อไปนี้เป็นวิชาเดา โปรดอย่านำไปอ้างอิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือเมื่อครั้งยังทรงเป็น "คุณชายฉิม" มีพระราชสมภพในพ.ศ. ๒๓๑๐
หมายความว่าทรงเติบโตขึ้นมาในสมัยธนบุรี   มาเป็นหนุ่มในสมัยแผ่นดินที่ ๑
ระบบการศึกษาที่ทรงได้รับ แน่นอนว่าเป็นระบบการศึกษาของธนบุรี  ซึ่งต่อเนื่องจากปลายอยุธยา
เพราะคนเก่งและคนรู้ที่มาชุมนุมกันในธนบุรีก็รอดตายมาจากอยุธยาได้นั่นเอง

คณาจารย์สมัยนั้นมาจากวัดกันเกือบร้อยละร้อย  ถ้าถามว่าพระที่เชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรมมีไหม
แน่นอนว่ามี   ดูได้จากพระเจ้าตากสินทรงนั่งกรรมฐาน สำคัญว่าทรงบรรลุแล้ว   โปรดให้ประชุมพระสงฆ์ใหญ่น้อยแล้วทรงถามว่า พระภิกษุไหว้คฤหัสน์ที่บรรลุธรรมแล้วได้ไหม
ก็ตีความได้ว่าพระสงฆ์สมัยนั้นย่อมทรงภูมิรู้ในพระไตรปิฏกอยู่มากมายหลายรูป  ไม่งั้นคงไม่ทรงถามให้เสียเวลา
ก็คงมีรูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปนี่แหละเป็นครูของบุตรชายเจ้าพระยาจักรี   เพราะลูกชายขุนนางใหญ่ระดับนี้   ย่อมได้เรียนหนังสือจากครูระดับท็อปเท็นของอาณาจักรแน่นอน

ถ้าถามว่าครูที่ไม่ใช่พระสงฆ์มีไหม     ก็เชื่อว่ามี

เจ้าพระยาจักรีท่านมีขุนนางหนุ่มคนหนึ่ง เก่งกาจแตกฉานเรื่องกาพย์กลอน   เป็นคนสนิท  เข้านอกออกในบ้านท่านเป็นประจำ
ชื่อคุณหลวงสรวิชิต
ตอนเป็นหลวง อายุอานามเห็นจะแก่กว่าคุณหมูน้อยไม่กี่ปี    สมัยนั้นหลวงเขาได้เป็นกันตั้งแต่หนุ่มๆ
คุณหลวงสรวิชิตย่อมจะคุ้นเคยกับคุณชายฉิมเป็นอย่างดี   คนที่ใจรักการกวีด้วยกันก็ย่อมเข้ากลุ่มกันได้สนิท
ถ้าไม่เป็นครูสอนหนังสือกันโดยตรง  ก็น่าจะเคยฝึกซ้อมกลอนกันมาบ้างไม่มากก็น้อย  

คุณหลวงสรวิชิตฝากฝีมือไว้ในงานชิ้นแรกๆ  อย่างอิเหนาคำฉันท์, ลิลิตเพชรมงกุฏ, บทมโหรีเรื่องกากี  แต่ละเรื่องล้วนจัดเป็นระดับเพชรเม็ดเล็ก แต่ของแท้
พอเปลี่ยนแผ่นดินมาถึงรัชกาลที่ ๑ คุณหลวงก็รุ่งเรืองขึ้นเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ดูแลเรื่องคลัง  แสดงว่าท่านเก่งเรื่องเงินๆทองๆ ไม่น้อยไปกว่าฝีมือกวี
งานกวีของท่านในรัชกาลที่ ๑ เป็นเพชรเม็ดใหญ่เบ้อเริ่มหาเพชรประเภทเดียวกันเทียบไม่ติด  คือ สามก๊ก  
เมื่อท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

ผลงานอื่นๆในสมัยนี้ก็มี ราชาธิราช, ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง, ลิลิตศรีวิชัยชาดก
ส่วน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรีที่บางแห่งบอกว่าเป็นผลงานท่าน ดิฉันยังไม่แน่ใจ เลยไม่กล้าฟันธงลงไป

แต่อย่างน้อยก็ปะติดปะต่อภาพได้ว่า เจ้าพระยาท่านหนึ่ง เป็นนักรบ แต่ใจรักทางศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี  
คนที่ห้อมล้อมท่านก็ย่อมจะมีคนเก่งทางการกวีรวมอยู่ด้วย   พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง  
ลูกชายคนโตของท่านก็ย่อมจะได้รับการปลูกฝังอย่างดีที่สุด มีหัวทางด้านนี้ ก็ไปทางด้านนี้ได้ตั้งแต่เด็ก
ยามศึกนั่งซ้อนท้ายหลังม้าไปกับพ่อตั้งแต่เล็ก   ยามว่างเว้นศึกก็กลับมานั่งซ้อมกลอนกับคุณหลวงสรวิชิตบ้าง
ก็พอเป็นไปได้ไม่ใช่หรือคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 12:25

 มีเกร็ดเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนจะน.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเล่าไว้ถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ว่าทรงเก่งเรื่องกวีโวหารมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
พูดจาอะไรก็เป็นคำคล้องจองกันไปหมด

ครั้งหนึ่งในสมัยธนบุรี มีจีนคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับเจ้าพระยาจักรี นำของมาให้
คุณแว่น หรือหม่อมแว่น อนุภรรยาของเจ้าพระยาจักรีออกมาต้อนรับแขก อยากจะถามชื่อ แต่จะถามตรงๆก็เกรงเสียมารยาท
เลยอ้อมค้อมไปมา
"คุณชายฉิม" วิ่งเล่นอยู่บนนอกชาน เห็นดังนั้นก็บอกคุณแว่นว่า

" พี่แว่นพูดมากถลากไถล ไปเรียนเจ้าคุณ เถิดว่าจีนกุนเขาเอามาให้"

จีนกุนในเรื่องนี้ ต่อมาคือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน)
บันทึกการเข้า
ดอกแก้ว การะบุหนิง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 13:46

ยิ่งอ่านยิ่งเพลิน ขอบคุณมากค่ะ

นึกถึงสมัยเรียนประวัติวรรณคดี สมัยมัธยม แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า เวลาเขาเขียนถึงประวัติกวีแต่ละท่านทำไมมันแห้งแล้งยังงั้น
ไม่มีภาพที่น่าประทับใจเลย เด็กก็เลยไม่สนใจได้แต่หลับหูหลับตาท่อง เอาคะแนนอย่างเดียว

ข้อมูลมันสั้น ห้วน แล้วก็ต่อกันเป็นท่อน ไม่เร้าความสนใจเลย..
อ่านในนี้สนุกกว่าเยอะ..
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 15:13

 อาจารย์เทาฯ เดาได้ถูกใจกระผมเป็นยิ่งนัก
เสียดายสายช่างฝีมือไม่มีรายละเอียดอย่างนี้ให้ศึกษา ทั้งรัชกาล เอ่ยนามพระอาจารย์นาคได้ท่านเดียว
แถมฝีมือท่านก็ยังเกือบจะไม่มีเหลือ แต่แค่ที่เหลือในหอไตรฯวัดระฆัง ไม่กี่ตารางเมตร
ก็พาให้ลูกหลานเหลนโหลนลื้อลี้....ระย่นระย่อ
หากล้าต่อกรด้วยไม่
---------------
แวะเข้าแผ่นดินต้นหน่อยเดียว ท่านก็แซวเสียแล้ว
ยังปักหลักสามแผ่นดินดังเดิมครับ แต่ปูพื้นเรื่อง ทำให้แน่นหนาหน่อย
เพราะกระผมสงกะสัยมานานหลายขวบปีแล้วว่า
อยุธยากับรัตนโกสินทร์ มาแยกทางกันชัดเจนเมื่อไร และสติปัญญาระดับใหน
จึงแยกรากออกากต้นทางวัฒนธรรมได้ ไม่กลายพันธ์ไปเสียก่อนเติบโต

อยากจะเปรียบว่า อยุธยาปลายนั้น คงเป็นดั่งผลไม้สุกงอม ไม่เด็ดก็คงร่วง
ดูเหมือนว่าแม้พม่าไม่มาจัดการ ในราชสำนักเองก็คงต้องเกิดศึกกลางเมืองแน่ๆ
เพราะสามสี่รัชกาลหลังนี่ ท่านฆ่ายกครัวกันมาไม่รู้เท่าไหร่
ดังนั้น คนเก่งคนดี(อย่างท่านยกกระบัตรราชบุรี เป็นอาทิ) ก็ล้วนจำใจหลีกลี้ออกจากศูนย์กลางความขัดแย้ง
แล้วพาเอาของสำคัญติดไปด้วยมากกว่ามาก อย่างที่เมืองนคร และที่เพชรบุรี เก็บตำหรับตำราไว้
รอแผ่นดินใหม่มาเรียกใช้ ผู้คนที่มีสติก็คงรู้ว่า อยู่อยุธยานั้นช่างปวดท้องข้องใจจนถึงอาจจะหัวขาดได้ไม่รู้ตัว

อันนี้ก็มั่วอีกแหละครับ
ไม่งั้น ผมก็ไม่รู้จะไปหานักปราชญ์จากใหน
มาสอนสั่งอนาคตนักปราชญ์ที่จะมาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในวันข้างหน้า....แหะ แหะ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 15:44

 สิ่งที่ชี้ชัดถึงข้อแตกต่างก็เห็นจะเป็นการสถาปนาพระปรางค์ริมน้ำองค์นี้แหละครับ
ตรงนี้ จะต้องแวะไปสาธยายคติมหึมาที่สั่งสมในดินแดนนี้นานนมเสียหย่อยหนึ่ง
คือคติพระธาตุ
โดยรวบรัดเอาเลยว่า เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยา อันมีนามแรกเริ่มว่าศรีอโยธยารามเทพนคร
(อยุธ...นี่มาตั้งใหม่แก้เคล็ด นี่ว่าตามความเห็นของอาจารย์ประเสริฐ ณนคร)
ท่านหมายเอาพระธาตุเป็นหลักเมือง (ไม่ใช่เสาหลักเมืองนะขอรับ) แต่ปราชญอยุธยาท่านสถาปนาให้เริ่ดขึ้นอีก เป็น
"พระศรีรัตนมหาธาตุ"
เพื่อให้เหนือกว่า ธาต พระธาตุ พระบรมธาตุ พระมหาธาตุ ที่เมืองน่อยแสนสามัญกุ๊กกิ๊ก แถวๆลุ่มน้ำยมแม่น้ำน่าน...ฯลฯ ชอบสถาปนากัน
และมีรูปแบบที่เด่นชัดว่า ประธานเป็นมหาสถูปรูปปรางค์
(ตรงนี้ใช้ศัพท์แยะหน่อย อย่าเพิ่งใส่ใจก่อน)
คงสังเกตุเห็น เช่นที่เมืองราชบุรี เป็นปรางค์องค์เดียว มีระเบียงคตล้อม ด้านหน้าเป็นอาคารยาวใหญ่เรียกว่าวิหารหลวง
ที่พิษณุโลกก็แบบเดียวกัน ที่สุพรรณบุรี ที่เชลียง....ล้วนเป็นปรางค์เดี่ยว
แต่สำนักรามเทพนครท่านพัฒนารูปแบบออกไปยิ่งใหญ่ยิ่งนัก
คือสร้างเป็นหมู่พระปรางค์
เริ่มต้นที่ลพบุรี เป็นหมู่ 3  พอมาที่เกาะเมือง ท่านก็สร้างพระมหาธาตุหมู่ 3 มาอีกหลายองค์ กว่าจะมาสำเร็จเป็น
"พระศรีรัตนมหาธาตุ" แห่งอโยธยา
เห็นจะราวๆสมัยขุนหลวงพะงั่ว อันนี้พงศาวดารท่านก็จดไว้สับสนดีจัง
ผมก็อาศัยศักราชสร้างซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1918 และเทียบว่าพระเจ้าอู่ทองท่านก็ทรงสร้างวัดพระรามไว้แล้วเมื่อปลายรัชกาล
คงไม่มีตังค์เหลือสร้างอีกองค์หรอกนะครับ

พระศรีรัตนมหาธาตุองค์นี้ ชนะขาดทุกองค์ในแผ่นดินที่มีมาก่อน (และที่จะมีต่อไปอีกตลอดกาล)
เมื่อตั้งกรุงเทพจนมั่นคงแล้ว บรรพบุรุษของเราก็ต้องสร้างสิ่งที่ทัดเทียมกัน เพื่อประกาศต่อจักรวาล (และพระศาสดา) ว่า
กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ย้ายไปใหนอีกแล้ว
(ยังไม่จบ โปรดรอตอนต่อไป)
------------

ส่วนคณะชำระกระทู้ที่กระทำการยึดสัมปทานของผมไปนั้น
ผมกำลังรวบรวมพลังจิต อ้อนวอนให้ช่างโทรศัพท์
ต่อสายที่ขาดๆวิ่นๆ แล้วไม่ยอมเปลี่ยนใหม่ กรุณาต่อให้มันแน่นๆ หน่อย เขารับปากว่าจะพกกระไดมาด้วยคราวหน้า
เมื่อสำเร็จเรียบร้อย จะมาชำระความสมณาคุณนะครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 11 ต.ค. 06, 15:54

พระปรางค์องค์ใหม่นี้ มีสิ่งใหม่หลายอย่าง
แหม...ก็มันของใหม่นี่ท่าน
ไม่ใช่ใหม่แบบนั้น นั่นมันใหม่นอกปรากฏแต่ที่เปลือก ปรางค์นี้ ท่านใหม่มาแต่โครงกระดูกข้างในเลยเชียวแหละ

แต่ในเมื่อท่านไม่ชำนาญอะนาโตมี่ ผมจะยังไม่ขุดเครื่องในมาตีแผ่ แต่จะชวนท่านชมอย่างแรกก่อนเลย
พระอินทร์ครับท่าน

ท่านสังเกตุใหมว่าปรางค์องค์นี้ เลิกคบกับครุฑ ครือว่าท่านวาสุกรีนี่ตกงานครับ ท่านเคยปรากฏโอ่อ่าอลังการณ์ที่อยุธยา (วัดราชบูรณะ)
มาที่พระนครใหม่ ไม่มีตำแหน่งให้เสียแล้ว
อันนี้ต้องไปโทษสมบัติอมรินทร์คำกลอนของท่านหนทีเดียวเจียวครับ

ต้นเหตุของครุฑตกงานครั้งนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.349 วินาที กับ 19 คำสั่ง