เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 73659 คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
หมีใหญ่
แขกเรือน
มัจฉานุ
**
ตอบ: 86

ดูแลกิจการของทางครอบครัวเกี่ยวกับการปลูกป่ายูคา และอื่นๆ


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 11 ส.ค. 06, 21:32

 ผมได้ดูจากรายการคุณพระช่วย อาจารย์มืด ท่านบอกว่า เจ้าชู้ยักษ์นี่มาจากทศกัณฐ์ แน่ครับ
เรื่องหน้าทอง ผมก็เห็นจากโขนเช่นกัน จะเป็นหน้าเดียวที่ทำสีทองทั้งหมด จะใช้ในบทจีบนางสีดาครับ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 06 ต.ค. 06, 14:21

 เมื่อกลางเดือน สิงหาคม 2549 นี้ ไปดูงานเทศกาลวัดอรุณ มีมหรสพหลายอย่างชอบมาก มีโขนชักรอกด้วย ทั้ง 3 คืน ( 11-13 ) ถ่ายรูปมาด้วยมากมาย แต่ความจุของรูปสูงมาก ส่งให้เวบนี้ไม่ได้
แต่ที่อยากจะกล่าวถึงอย่างหนึ่งก็คือ การแสดง แสง เสียง ถึงความเป็นมาของวัดอรุณ มีตอนหนึ่ง มีผู้แสดงเป็นพญายักษ์ 2 ตน ที่มีรูปปั้นอยู่ที่วัด คือ ทศกัณฐ์ (สีเขียว)และ สหัสเดชะ(สีขาว) การแสดงนั้นพูดอะไรบ้างจำไม่ได้ แต่จำได้แม่นยำว่า ทศกัณฐ์พูดกับสหัสเดชะแบบเพื่อน มีตบหลังตบไหล่ แสดงความสนิทสนมกัน เห็นแล้วกลุ้มใจ ในความมักง่ายของผู้จัดการแสดง ทศกัณฐ์นั้นเป็นเพื่อนกับน้องชายสหัสเดชะ ไม่ใช่เพื่อนสหัสเดชะ ทศกัณฐ์ เวลาเรียก สหัสเดชะ จะเรียกว่า " พระเชษฐาธิบดี" เวลามีการเล่นโขนตอนที่ ทศกัณฐ์ ไปเฝ้าสหัสเดชะ ทศกัณฐ์จะรำด้วยเพลงหน้าพาทย์สาธุการ อันเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุด แต่ยักษ์ 2 ตัวที่เล่น แสง สีเสียง นั้น กิริยามรรยาทและการพูดจา เหมือน รปภ.มากกว่า ที่จะเป็นพญายักษ์ ผู้ทรงศักดิ์
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 07 ต.ค. 06, 00:01

 สวัสดีค่ะ คุณ Malagao  ตูก้าอยากดูภาพด้วยค่ะ ใช้ โปรแกรม photoshop ได้มั้ยค่ะ ถ้าจะกรุณา
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 13:38

 มีคนที่มีรูปพวกนี้เป้นพันรูป เพราะตอนหลังนี้ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล จึงไม่อั้นในปริมาณการถ่ายรูป ลองเมล์ติดต่อไปที่ ancientism@yahoo.com เพื่อติดต่อขอรูปเหล่านี้ หรือจะจะเอารูปขึ้นทีเวบนี้ได้อย่างไร โดคยที่ไม่ต้องลดขนาดรูป เพราะไม่มีเวลามานั่งทำ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 13:40

 "ตลกหลวง" ศิลปะที่ยังไร้ผู้สืบทอด
โดย ผู้จัดการรายวัน 27 กันยายน 2549 18:13 น.
เสียงหัวเราะครื้นเครงจากผู้ชมตั้งแต่เด็กตัวเล็กตัวน้อย ไปยันคุณยายเคี้ยวหมากฟันดำ ด้วยต่อมขำทำงานอย่างเต็มที่ เสมือนหนึ่งเป็นพวงมาลัยน้ำใจที่คล้องให้กับผู้แสดงหน้าม่าน ซึ่งงัดเอาลีลาลูกเล่นมาประเคนใส่คนดูจนปล่อยเสียงฮากันทั่วหน้า แม้ว่าองค์ประกอบบนเวทีจะถูกรายล้อมไว้ด้วยเครื่องทรงองค์พระ ยักษ์ ลิง แพรวพราว วางท่าสง่างามตามรูปแบบการจัดระเบียบร่างกายของศิลปะการแสดง "โขน" ...หากแต่ท่วงท่าและทำนองการเรียกเสียงฮาของบรรดาตัวตลก กลับมิได้โลดโผนโจนกระโดดออกจากศิลปะชั้นสูงของชาติ หรือแม้แต่จะส่งผลให้คนดูรู้สึกขัดเคืองว่าผู้แสดงกระทำผิดเรื่อง ผิดที่ก็หาไม่
     
      แม้เบื้องหน้าของเวทีพวกเขาจะออกท่าทะเล้น เต้น ฟ้อน เป็นตัวตลกเรียกเสียงฮาให้เด็กเล็กได้ล้อเลียน แต่หากย้อนความเป็นไปในอดีต พวกเขาสืบทอดและเติบโตจาก "ตลกหลวง" ที่ทำหน้าที่ถวายความสำราญแก่ราชวงศ์ในพระราชสำนัก
     
      ** "พ่อเส"พ่อครูแห่งตลกกรมศิลป์
     
      ปัจจุบันศิลปินแห่งกรมศิลปากรที่ทำหน้าที่ป้อนเสียงฮาให้กับประชาชนจนขึ้นชื่อ และคุ้นหน้ามีอยู่ไม่กี่คน "พ่อเส" เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ถือเป็น "พ่อครู" แห่งวงการตลกกรมศิลป์ รุ่นหลังที่เติบโตตามมาแต่อายุอานามใกล้เคียงกันคือ "อาหนอม" ถนอม นวลอนันต์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักการสังคีต ในวัย 67 ปี "ครูมืด" ประสาท ทองอร่าม กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการแสดง สำนักการสังคีต และตลกกรมศิลป์ที่อาวุโสน้อยสุดในกลุ่ม จรัญ พูลลาภ ครูชำนาญการ วิทยาลัยนาฏศิลป์
     
      ครูมืด ได้ขยายความถึงคำว่า "ตลกหลวง" ว่า สืบทอดมาจากการแสดงในราชสำนักโดยข้าราชบริพารเป็นผู้ทำการแสดงตลกถวายพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงเรียกว่าตลกหลวง ซึ่งกรมศิลปากรก็เติบโตมาจากราชสำนักเช่นกัน
     
      ในวงการตลกกรมศิลป์ทุกคนต่างยกให้ พ่อเส เป็นต้นตำรับของการสร้างตลกประกอบโขนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพ่อเสได้บอกว่า การเล่นตลกประกอบโขนนั้น มีมาแต่โบราณมิใช่ตัวเองเป็นผู้คิดค้นขึ้นใหม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาการเล่นตลกประกอบโขนจะเล่นกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่มากนัก
     
      "ถึงอย่างไรโขนก็เป็นพระเอก แต่เมื่อคนดูดูโขนนานๆ ก็อาจจะรู้สึกเบื่อ เราก็คิดว่าต้องหาอะไรเข้ามาเป็นตัวประกอบก็เลยคิดไอ้โน่น ไอ้นี่ใส่เข้าไป เพื่อเพิ่มอรรถรสให้โขนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่การเล่นตลกเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ทำให้เนื้อเรื่อง หรือความโดดเด่นสง่างามของโขนต้องเสียไป เราต้องรู้ว่าบทไหน ตอนไหนจะเล่นได้ และที่สำคัญต้องรู้ว่าจะเล่นอย่างไร"
     
      **"ครูมืด-อาหนอม-จรัญ รับประกันความฮา
     
      ปัจจุบัน 3 ศิลปิน ที่เกาะกลุ่มทำการแสดงตลกประกอบโขนจนเข้าขากันเป็นอย่างดีคือ ครูมืด อาหนอม และ จรัญ ซึ่งครูมืด เปิดเผยว่า เส้นทางการแสดงของครูมืดนั้น เริ่มต้นจากการฝึกหัดเล่นโขน ผ่านการคัดตัวเป็นพระ ยักษ์ ลิง ไม่แตกต่างจากนักเรียนโขนคนอื่นๆ แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นก็ได้ติดตามพ่อเสไปทำการแสดง เมื่อผู้ใหญ่เห็นแววก็ถูกดึงมาเล่นตลกประกอบโขน
     
      "คนจะเล่นตลกประกอบโขนนั้น ต้องเรียนการแสดงโขนฝึกรำ ฝึกฟ้อนเหมือนนักแสดงในกรมศิลป์คนอื่นๆ มาก่อน และต้องรู้เนื้อเรื่องของโขนลึกซึ้งเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ตลกโขนจะต้องมีแตกต่างจากคนอื่นคือ ปฏิภาณไหวพริบ กล้าแสดงออก โดดเด่นในการแสดง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องศึกษาค้นคิดและเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ"
     
      หากจะมีตลกในกรมศิลป์ที่ไม่ได้เริ่มก้าวจากการร่ำเรียนวิชาโขนในขณะนี้มีเพียง อาหนอม ที่เติบโตมาจากการแสดงลิเก แต่ถูกชักชวนให้มาร่วมขบวนเรียกเสียงฮาโดยอาจารย์เสรีและยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุแล้วก็ตาม
     
      "ผมเริ่มเล่นลิเกมาก่อน แต่ก่อนเป็นพระเอกลิเก เล่นหนัง แสดงละคร แล้วได้รับเชิญมาแสดงในรายการศรีสุขนาฏกรรมของกรมศิลป์ อาจารย์เสรีก็เลยชักชวนมาเล่นตลก ตอนแรกเราเข้ามาก็เหมือนไก่ตาบอดเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เล่นอย่างไร เราไม่รู้เรื่องโขน ก็สอบถามจากพ่อเสบ้าง จากครูมืดบ้าง ว่าแบบนี้เล่นได้ไหม สอดแทรกเข้าไปได้ไหม เราต้องเชื่อเขาเพราะเขารู้เรื่องโขนละเอียด ช่วงแรกๆ ครูมืดก็จะบอกอย่างนี้ได้นะอา อย่างนี้อย่าเล่นนะเดี๋ยวมันเสียอรรถรส พอช่วงหลังๆ เล่นร่วมกันบ่อยขึ้นก็เข้าใจ และเข้าขากัน"
     
      ส่วนน้องสุดท้องจรัญนั้น เติบโตจากการเล่นเป็นตัวยักษ์ตั้งแต่สมัยเรียนนาฏศิลป์ แต่ด้วยความสนใจอยากเล่นตลกประกอบโขนจึงไปขอร่ำเรียนวิชาเรียกเสียงฮาจากพ่อเสและครูมืดซึ่งขณะนั้นเป็นศิลปินมีชื่อเสียงแล้ว จึงถือเป็นศิลปินตลกของกรมศิลป์ที่มีอายุน้อยที่สุด
     
      สำหรับพ่อเสนั้น บอกว่า การเลือกตัวตลกนั้นส่วนใหญ่หยิบจากจากตัวพระ ยักษ์ ลิง เมื่อดูแล้วว่ามีความสามารถก็เอาออกมาเล่นตลก ซึ่งจะมีกรอบอยู่
     
      "จะเปิ๊บป๊าบไม่ได้ ที่พ่อพยายามทำขึ้นมา คือตอนไหนจะเล่นตลก เล่นอย่างไร เพื่อให้เล่นแล้วเราสนุก คนดูสนุก แล้วเราก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก"
     
      **กระตุ้นต่อมขำทำไม่ง่าย
     
      ตลกกรมศิลป์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การแสดงตลกประกอบโขนแม้จะเป็นงานเรียกเสียงหัวเราะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลกโขนต่างจากการแสดงตลกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง จะเล่นสนุกเถิดเทิงเกินขอบเขตก็จะกลายเป็นรุ่มร่ามเกินงาม เพราะต้องแสดงควบคู่กับศิลปะของชาติ
     
      "ตลกโขนเล่นยาก เพราะจะเล่นหยาบคายก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในประเพณีปฏิบัติที่ถูกต้องของการแสดงโขน ต้องอิงเรื่องราวโขน ต้องมีปี่พาทย์ การแสดงจึงไม่เหมือนตลกโดยทั่วไป ตลกรุ่นหลังอย่างพวกเราก็จะอิงเอาการแสดงจากพ่อเสเป็นหลัก ซึ่งพ่อเสจะมีหลักมีเกณฑ์ว่าจะเล่นแค่ไหน และจะคอยบอกเสมอว่าเวลาแสดงต้องรับส่งกัน ต้องมีช่องไฟ และต้องไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่จะแสดงร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ"ครูมืดกล่าว
     
      ขณะที่อาหนอมบอกว่า ตลกประกอบโขนต้องระวังเรื่องหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ หรือโลดโผนเกินไปต้องไม่ทำ แต่สิ่งที่อาหนอมพยายามทำมาโดยตลอดคือนำเอาเรื่องราวของไทยแต่ดั้งเดิม หรือสุภาษิตคำพังเพย เข้ามาเรียงร้อยเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ทันยุคทันสมัย
     
      "ผมจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร หรือหนังฝรั่งก็ดู ดารา นักร้อง เด็กๆ กำลังสนใจเรื่องอะไรกัน เราเอามาใส่เป็นมุกสอดแทรกผสมกับเรื่องราวของไทยๆ เรา เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาสนุก และไม่รู้สึกล้าสมัย เพราะหากมาแล้วเขามานั่งหลับมันก็ไม่มีประโยชน์ และหากเราเล่นย่ำอยู่กับที่ไม่มีมุกใหม่ๆ ไม่รู้จักประยุกต์ดัดแปลงคนดูเขาก็เบื่อหนีไปเสียหมด"
     
      มุกตลกคาเฟ่อาจจะถูกหยิบยืมมาใช้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินไป ซึ่งจรัญบอกว่า ศิลปินตลกคาเฟ่นั้นต่างให้ความเคารพนับถือศิลปินตลกในกรมศิลป์และให้เกียรติเป็นอย่างมาก อะไรที่ตลกกรมศิลป์นำมาแสดงคณะตลกเหล่านี้จะไม่นำไปแสดงบนเวทีคาเฟ่
     
      "โขนจะไม่มีตลกมาประกอบก็ได้ แต่พอมีตลกมาประกอบก็ทำให้โขนดูสนุกขึ้น คนก็นิยมมากขึ้น เพราะคนดูเขาต้องการทั้งความสวยงามและตลกขบขัน มาชมละคร มาชมโขน เขาก็ต้องการพักผ่อน คลายเครียดและได้รับความบันเทิงกลับไป
     
      **ควานหาคนสืบทอดมรดกขยับเหงือก
     
      แม้จะได้ทำหน้าที่เป็นเพียงจำอวดประดับฉาก แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ภาคภูมิใจ" เพราะใช่ว่าคนทุกคนจะมาแสดงเป็นตลกได้ หากขาดองค์ประกอบที่เกื้อหนุนอื่นๆ
     
      "ตลกในราชสำนักนั้น น้อยคนนักจะรู้จัก และน้อยคนนักที่จะเข้าใจและเล่นได้ ต้องรู้เรื่องวรรณคดีอย่างดี คลุกคลีกับศิลปะไทย และผมไม่เคยรู้สึกน้อยใจเลยที่ไม่ได้เล่นเป็นตัวเอก เพราะเราถือว่าคนอื่นทำไม่ได้ แต่เรามาช่วยกันยึดเอาไว้สืบทอดต่อ การเป็นตัวเอกนั้นฝึกซ้อม ฝึกรำกันจริงๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่หากเป็นตลกไม่มีความสามารถ ไม่มีพรสวรรค์ รำไม่เป็น และไม่มีความเข้าใจก็เป็นไม่ได้"
     
      ส่วนพระเอกลิเกเก่าอย่างอาหนอมนั้น บอกอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่ได้เป็นพระเอกนั้น ไม่มานั่งคิดแล้ว
     
      "สมัยหนึ่งสังขารเรายังดีเราก็เล่นเป็นพระเอกได้ แต่วันนี้สังขารไม่ได้แข็งแรง ไม่สวยงามเหมือนเก่า เราจะอยู่จีรังยั่งยืนไม่ได้ และเราไม่ได้นั่งเฉยๆ เป็นพระเอกเขาคิดคำร้องทำนอง เราเป็นตลก เราก็ต้องคิดมุก"
     
      แม้ว่านักเรียนนาฏศิลป์จะมีสมัครเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่บุคลากรขยับเหงือกในกรมศิลป์กลับหยุดนิ่งหาคนมาสานต่อได้ยากเย็น แม้จะพยายามหา พยายามเฟ้น แต่คนที่ "เล่นเป็น" นั้นยังไม่เจอ ครูมืดถึงกับออกปากว่า
     
      "นักเรียนนาฏศิลป์ 100 คนจะหาตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง เราอาจจะคัดได้ถึง 80% แต่จะหาคนมาแสดงตลกประกอบโขนสักคนนั้นหายากจริงๆ เพราะมันฝึกมันสอนกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีพรสวรรค์ติดตัวมาด้วย บางคนเป็นคนสนุกแต่แสดงไม่สนุกก็ใช้ไม่ได้ คนดูก็เบื่อ แม้มั่นใจว่าจะต้องมีคนสืบทอดแต่ตอนนี้ยังหาคนใหม่ๆ ไม่ค่อยเจอ"
     
      สอดคล้องกับที่ จรัญ บอกว่า ขณะนี้พยายามมองหานักเรียนนาฏศิลป์ หรือเด็กใหม่ๆ ที่พอมีแววในแวดวงกรมศิลป์ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ บางคนหน่วยก้านเข้าท่าเข้าทาง แต่พอแสดงจริงกลับเล่นไม่ได้อย่างที่คิด
     
      ส่วนอาหนอม พูดถึงเรื่องนี้ว่า บอกไปศอกเล่นแค่คืบ บอกไปคืบเล่นแค่ 2 นิ้ว ศิลปะตลกมันก็สั้นลงไปเรื่อยๆ ต้องหาคนที่จะมาสืบทอด มารับช่วงต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีแน่ เพียงแต่ตอนนี้ยังหาไม่เจอแค่นั้น
     
      "อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเคยเรียกผมเข้าไปคุย บอกว่าถนอมช่วยเขียนเป็นหลักสูตรพื้นฐานได้ไหม ผมก็บอกว่ามันเขียนไม่ได้ เล่นตลกมันต้องเรียนรู้เอง ต้องสั่งสมประสบการณ์ และมันเป็นธรรมชาติของแต่ละคน มันสอนยากไม่เหมือนสอนให้รำท่ายักษ์ ท่าลิง"
     
      อาหนอม บอกด้วยว่า อยากให้เด็กๆ ได้จดจำว่า สิ่งที่เหล่าศิลปินในกรมศิลปากรแสดงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในวงการทำมาด้วยความลำบากยากแค้น หากจะมีการแยกแยะออกไปทำเป็นอย่างอื่น ก็อย่าให้เกินเลยออกไปมาก และให้ช่วยกันธำรงรักษาศิลปะของไทยเอาไว้ และศิลปินทุกคนล้วนเปิดกว้างสำหรับการให้ความรู้เรื่องศิลปะที่พวกเขาชำนาญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลกหลวงในราชสำนักทุกคนต่างพูดตรงกัน
     
      สุดท้ายพ่อเส ตลกหลวงชั้นครู กล่าวถึงการแสดงโขนซึ่งเป็นมรดกทางศิลปะของไทยไว้สั้นๆ
     
      "เด็กวัยรุ่นเขาก็สนุกของเขาไป ตอนนี้วัยเขากำลังเฮฮาเราก็ปล่อยไป แต่เดี๋ยวเขาต้องกลับมาหารากเหง้าของเขาเอง เขาจะหวนหาสิ่งที่เป็นของเขา พ่อเห็นมาตลอด ปัญหาคือเราต้องช่วยกันรักษาของของเราเอาไว้ให้ดี โขนของเราก็เป็นของทันสมัยจะผ่านไป 10-20 ปี ก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ หนุมานต้องสีขาว สุครีพต้องสีแดง พระรามต้องสีเขียว ใครจะแต่งตัวแตกต่างจากนี้ไม่ใช่โขน เพียงแต่เราต้องช่วยกันรักษาของดีของเราเอาไว้ให้ได้เท่านั้นเอง"
     
      *********************
     
      เรื่อง - คีตฌาณ์ ลอยเลิศ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 13:56


แผนภูมิราชวงศ์ลงกา
ของใครทำก็ไม่รู้จำไม่ได้
เซฟไว้ในเครื่องแล้วลืม
ขออภัยไว้ณที่นี้ด้วย
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 13:57


แผนภูมิราชวงศ์อโยธยา
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 13:58


แผนภูมิราชวงศ์เมืองขีดขิน
(มีแค่ 3 ราชวงศ์นี้นะคะ หมดแล้ว)
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 14:02


เครื่องแต่งตัวพระ
ของคนอื่นเขาเช่นกัน
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 14:03


เครื่องแต่งตัวนาง
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 14:04


เคื่องแต่งตัวยักษ์
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 14:04


เครื่องแต่งตัวลิง
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 15:34


ทศกรรฐสิบภักตรชั้น   เศียรตรี
ทรงมกุฏไชยเขียวสี   อาตมไท้
กรยี่สิบพรศุลี      ประสาศฤทธิ   ยิ่งนา
ถอดจิตรจากตนได้      ปิ่นด้าวลงกา
   พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
                                                           ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 15:46


กระบินทรบุตรมารุตนี้   นามหณุมานเนอ
ผิวเผือกตรีเทพอุ      กฤษฐแกล้ว
แสดงเดชสี่ภักตรดุ      แปดหัดถหาญแฮ
โลมเพชรอิกเขี้ยวแก้ว   กับทั้งกุณฑล ฯ
                          หลวงบรรหารอัดถคดี
                          ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 15:52


๑๘ มงกฏ คือ เทวดาแปลง แผลงฤทธิ์มาช่วยพระราม
มิ.ย. ๔๘
ปัจจุบันพอเอ่ยคำว่า “ ๑๘ มงกุฏ” คนมักจะคิดว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ นักต้มตุ๋นมนุษย์หรือพวกหลอกลวงคน ทั้งที่จริงแล้ว “๑๘มงกุฏ” เป็นคำที่เรียก เสนาวานร ๑๘ ตน หนึ่งในกลุ่มทหารเอกของพระราม ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายธรรมะ และก็มิใช่เป็นวานรหรือลิงธรรมดา แต่ล้วนเป็นเทวดาอาสาแบ่งภาคมาช่วยพระรามหรือพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบยักษ์
คือ ทศกัณฐ์ทั้งสิ้น ซึ่งเทวดาแปลงเป็นลิง ๑๘ มงกุฏนี้มีใครบ้าง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป
ตามปกติ เราจะคุ้นเรื่อง “รามเกียรติ์” จากการแสดงโขน อันเป็นการแสดงที่ผู้แสดงจะต้องสวม “หัวโขน” ซึ่งว่ากันว่าเดิมทีเดียว คงจะยังไม่มีหัวโขนสวมเช่นปัจจุบัน แต่ใช้การแต่งหน้าระบายสีลงบนหน้าตัวแสดงตามลักษณะที่ปรากฏในเรื่อง ครั้นต่อมาเมื่อตัวละครมีมากเข้า ไม่สะดวกในการแต่งหน้าตัวละครเช่นเดิม จึงได้มีการคิดทำเป็นหน้ากากจำลองเป็นรูปใบหน้าต่างๆ สวมครอบศีรษะและหน้าซึ่งยังสวมเทริด (อ่านว่า เซิด หมายถึง เครื่องประดับศีรษะ) อยู่ แล้วต่อมาจึงได้พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
จนกลายมาเป็น “หัวโขน” ดังที่เห็นทุกวันนี้
ในการแสดงโขนเรื่อง “รามเกียรติ์” นี้ แม้จะมีตัวละครอยู่มากมาย แต่ทางนาฏศิลป์จะมีคำเรียกเพื่อแบ่งคู่สงครามออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ ฝ่ายพลับพลา หมายถึงฝ่ายธรรมะ ได้แก่ พระราม พระลักษณ์และบรรดาวานรที่เป็นพันธมิตรกับพระราม ส่วนทศกัณฐ์กับบรรดาอสูรและพวกประยูรญาติเรียกว่า “ฝ่ายกรุงลงกา” ถือว่าเป็นฝ่ายอธรรมะ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะสวมหัวโขนที่มีลักษณะหน้า เครื่องประดับ และสีที่แตกต่างกันตามฐานะเพื่อให้จำแนกออก เช่น หัวโขนหน้าวานร ๑๘ มงกุฏที่จะกล่าวถึงต่อไป แม้จะทำเป็นหน้าลิงหัวโล้น สวมมาลัยรักร้อยเหมือนกัน แต่ก็จะมีสีที่หน้าต่างกัน รวมถึงปากที่บางตัวก็อ้าปาก บางตัวก็หุบปากด้วย ส่วนหน้ายักษ์มักจะทำตาให้ต่างกัน เช่น ทศกัณฐ์ อินทรชิต จะทำตาเบิกโพลง ถ้าตาหลบต่ำที่เรียกว่าตาจระเข้ จะเป็น ตรีเศียร พิราพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถแยกออกว่าตัวไหนเป็นใคร ตำแหน่งอะไร
สำหรับวานร ๑๘ มงกุฏ ที่เป็นฝ่ายพันธมิตรกับพระรามหรือที่เรียกว่า ฝ่ายพลับพลา นั้นเป็นวานรที่มาจากสองเมือง
คือ เมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพู ซึ่งแต่เดิมก็คือเทวดา ๑๘ องค์ที่อาสามาช่วยพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม
นั่นเอง ดังบทละครรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงตอนนี้ว่า “ เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ ต่างทูลอาสาพระภูวไนย จะขอไปเป็นพล
พระอวตาร มาล้างเหล่าอสูรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน” เทวดาเหล่านี้ประกอบด้วย พระวิรุฬหก เป็น เกยูร พระวิรูปักษ์ เป็น มายูร พระหิมพานต์เป็น โกมุท พระวิศาลเทวบุตร เป็น ไชยามพวาน พระพิรุณ เป็น ไวยบุตร
พระมหาชัย เป็น สุรกานต์ พระพินาย เป็น นิลเอก พระพิเนกเป็น นิลขัน พระเกตุ เป็น กุมิตัน พระสมุทร เป็น นิลราช พระจันทร์ เป็น สัตพลี พระอังคารเป็น วิสันตราวี พระพุธ เป็นสุรเสน พระราหู อวตารเป็น นิลปานัน พระพฤหัส เป็น มาลุนทเกสร พระศุกร์เป็นนิลปาสัน พระเสาร์เป็น นิลพานร และพระไพรศรพณ์(อ่านว่า พะ-ไพ-สบ) เป็น เกสรทมาลา
1.   เกยูร คือ ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศใต้ ได้แบ่งภาคมาเป็นเกยูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงแก่ มักปรากฏชื่อในกองทัพตอนรบกับเหล่าอสูร
2.   มายูร คือท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาค เป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก แบ่งภาคมาเป็นมายูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงอ่อน ได้รับการกล่าวถึงในกระบวนทัพเช่นเดียวกับเกยูร
3.   โกมุทหรือโคมุท คือพระหิมพานต์ ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก รบชนะพวกยักษ์เสมอ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีดอกบัวโรย (บ้างก็ว่าหุบปาก) อยู่ในกองทัพที่รบกับอสูรเช่นกัน และเมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน
4.   ไชยามพวาน คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน
5.   ไวยบุตร คือ พระพิรุณ เทพแห่งฝน แบ่งภาคเป็นวานรเมืองขีดขินมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีเมฆคครึ้มฝน หรือสีมอครามแก่
6.   สุรกานต์ คือ พระมหาชัยแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน คุมกำลัง ๓๐ สมุทรมาช่วยรบ เมื่อเสร็จศึกได้ครองเมืองโรมคัลซึ่งเป็นเมืองของยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเหลืองจำปา
7.   นิลเอก คือ พระพินายแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีทองแดงแก่ (บางแห่งก็ว่าหุบปาก) มีบทบาทในการรบไม่น้อย เช่น ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต
8.   นิลขัน คือ พระพิเนกหรือพระพิฆเนศแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ช่วยพระรามรบกับพวกยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีหงดินแก่ หรือสีอิฐแก่ (หงคือสีแดงเจือขาว)
9.   กุมิตัน คือ พระเกตุ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ มาแบ่งภาคมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด บ้างก็ว่าอยู่เมืองชมพู ปรากฏในคราวกระบวนทัพครั้งพระมงกุฎพระลบรบกับท้าวคนธรรพ์นุราช หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ (บางทีก็ว่าปากอ้า) สีทอง หรือ สีเหลืองรง (รง คือ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มียางสีเหลือง)
10.   นิลราช คือ พระสมุทร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู นอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤาษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า(บ้างก็ว่าปากหุบ) สีน้ำไหลหรือสีฟ้าอ่อนเจือเขียว
11.   สัตพลี คือ พระจันทร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน นอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ สีขาวผ่อง
12.   วิสันตราวี คือ พระอังคาร เทพแห่งสงคราม หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในตอนพระพระพรตพระสัตรุดทำศึกกับท้าวทศพิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแดงลิ้นจี่
13.   สุรเสน คือ พระพุธ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแสด หรือสีเขียว
14.   นิลปานัน คือ พระราหู เทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพูมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีสำริด
15.   มาลุนทเกสร คือ พระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในคราวพระรามรบกับมังกร
กัณฐ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีเมฆ หรือสีม่วงครามอ่อน
16.   นิลปาสัน คือ พระศุกร์ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในการรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเลื่อมเหลือง หรือสีหมากสุก
17.   นิลพานร หรือ วิมล คือ พระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ที่แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในการรบตอนหกรถรบหกวานร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบสีดำหมึก
18.   เกสรทมาลา คือ พระไพศรพณ์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน (บางแห่งว่าไม่ปรากฏเป็นฝ่ายใด) ปรากฏในตอนรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรอ้าปากสีเหลืองอ่อน หรือเลื่อมเหลือง
ทั้งหมดคือที่มาของ ๑๘ มงกุฏ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นเทวดาที่มีความเก่งกล้าสามารถและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยปราบยักษ์หรือเหล่าอธรรมะให้สิ้นไป จึงได้อาสาแบ่งภาคมาจุติเป็นเสนาวานร ทหารเอกของพระรามเพื่อการนี้ ไม่ได้มีนัยการใช้ความเก่งกล้าไปในทางร้ายกาจหรือเจ้าเล่ห์แสนกลดังที่เราใช้ในความหมายปัจจุบันเลย ดังนั้น ถ้าจะใช้คำว่า “๑๘ มงกุฏ” คราวต่อไป เราคงต้องเปลี่ยนความหมายใหม่ว่าหมายถึง “ผู้ปราบมารหรือเหล่าร้าย” น่าจะถูกต้องกว่า
..............................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง