เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
อ่าน: 73753 คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 15:57


รามเกียรติ์ตอน “พาลีสอนน้อง” บอก ๑๐ วิธีทำงานให้เจ้านายรัก
พ.ค. ๔๘
ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” นอกเหนือไปจาก “หนุมาน” พญาลิงเผือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
ยังลิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ และเป็นลิงที่สมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็นระดับ “บิ๊กลิง” ตัวหนึ่ง นั่นคือ “พาลี” ผู้ครองนครขีดขิน หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “พาลีสอนน้อง” อันเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่พาลีสอนน้อง น้องคือใคร พาลีมาจากไหน คำสอนว่าอย่างไร เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงยังไม่ทราบ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้
อันว่า “พาลี” นี้ เป็นลูกของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา เดิมมีกำเนิดเป็นคน แต่เพราะถูกฤาษีโคดม สามีของแม่จับได้ว่าเป็นลูกชู้เลยถูกสาปให้เป็นลิง เช่นเดียวกับ “สุครีพ” ที่เป็นลูกของพระอาทิตย์ (ชู้อีกคนของแม่) ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เพราะเป็นน้องชายของ นางสวาหะ แม่หนุมานที่เป็นพี่สาวร่วมแม่ แต่ต่างพ่อกัน โดยนางสวาหะเป็นลูกสาวแท้ๆของฤาษีโคดมและเป็นลูกคนแรกของนางกาลอัจนา ลักษณะของพาลี เป็นลิงที่มีกายสีเขียว ส่วนสุครีพมีกายสีแดง ทั้งสองเมื่อถูกสาปก็ซัดเซพเนจรอยู่ในป่า พระอินทร์พระอาทิตย์ผู้พ่อ เกิดความสงสารลูกตัวจึงได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “ขีดขิน” ให้ลูกไปอยู่ โดยพาลีมีชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ว่า “พระยากากาศ” เป็นเจ้าเมือง ส่วนสุครีพน้องชายให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช
ตามเนื้อเรื่อง พาลีนับว่าเป็นลิงที่ทั้งเจ้าชู้และเจ้าอารมณ์ไม่น้อย เพราะเมื่อทศกัณฑ์พานางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีก็ไปแย่งชิงมาเป็นเมีย ต่อมาสุครีพได้ทำความดีความชอบโดยช่วยยกเขาพระสุเมรุที่ทรุดเอียงให้ตั้งตรงใหม่ได้ พระอิศวรก็เลยปูนบำเหน็จฝากผะอบแก้ว (ที่มีนางฟ้าดาราอยู่ข้างใน) ให้พาลีเอาไปให้สุครีพซึ่งไม่ได้มาด้วย ส่วนพาลีในฐานะพี่และเจ้านายก็ได้ชื่อใหม่ว่า “พาลีธิราช” พร้อมทั้งได้ตรีเพชรเป็นอาวุธ และพรที่ว่าหากสู้กับใคร ก็จะได้พลังของฝ่ายนั้นมาอีกครึ่งหนึ่ง แต่กระนั้น เมื่อพาลีเปิดผะอบ เห็นนางดาราก็เกิดอาการ “ปิ๊ง” ยึดนางเป็นเมียทันที สุครีพก็พูดไม่ออก ครั้นต่อมาทรพี ควายจอมซ่าส์ ฆ่าทรพาผู้พ่อได้ ก็เกิดอาการฮึกเหิมท้ารบไปทั่ว จนมาเจอกับพาลี ก็ไปสู้กันในถ้ำ ปรากฏว่าพาลีชนะ แต่บังเอิญฝนตกทำให้เลือดทรพีที่ไหลออกมาเจือจางเป็นสีใส สุครีพเข้าใจผิดคิดว่าพี่ตาย ก็ทำตามคำสั่งคือให้ปิดถ้ำ พอพาลีออกจากถ้ำได้ก็โกรธ คิดว่าน้องทรยศ จึงขับไล่ออกจากเมืองไป ครั้นต่อมาเมื่อหนุมานได้ไปรับใช้พระราม ก็มาชักชวน
สุครีพน้าชายให้มารับราชการกับพระรามด้วย สุครีพก็เลยแนะว่า หากต้องการกำลังพลไปสู้กับทศกัณฑ์ต้องไปฆ่าพาลีเพื่อยึดเอาเมืองขีดขินมา พระรามก็ต่อว่าสุครีพว่าเป็นน้องชายคิดฆ่าพี่ชายได้อย่างไร สุครีพก็เลยท้าวความว่าที่ฆ่าได้เพราะพาลีผิดคำสาบานที่เอานางดารามาเป็นเมีย แทนที่จะนำมาให้ตน ดังนั้น จึงต้องตายด้วยศรของพระรามตามคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระนารายณ์ตอนรับผะอบมา พาลีเมื่อต้องศรพระรามก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่
ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสอยู่ช่วยพระรามปราบยักษ์ ส่วนพระรามเองก็เสียดายความสามารถของพาลี จึงแนะว่าให้เอาเลือดพาลีสักครึ่งหยดๆลงไปบนศรพรหมาสตร์ก็จะพ้นคำสาบานไม่ต้องตาย เพียงแต่จะมีแผลเป็นขนาดเส้นผมผ่าเจ็ดที พาลีคิดแล้วเห็นว่าแม้แผลจะเล็กน้อย แต่ก็ดูเสียศักดิ์ศรี เสียสัตย์สาบาน น่าอับอาย เลยยอมตายดีกว่า ว่าแล้วก็เรียกสุครีพ และองคตลูกชายมาสั่งลา พร้อมกับแนะนำสุครีพถึงการปฏิบัติตนในการรับใช้พระราม และคำสอนในตอนนี้เอง จึงเป็นที่มาของ “พาลีสอนน้อง” ที่เราพูดถึงสำหรับ “พาลีสอนน้อง” นี้มีผู้แต่งหลายท่าน แต่ที่นำมาเสนอในที่นี้ เป็นตอนหนึ่งใน บทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเนื้อหาถ้าจะพูดแบบสมัยนี้ก็คือ “แนะวิธีทำงานให้เจ้านายรัก” ว่าต้องทำอย่างไรนั่นเอง สิ่งที่พาลีสอน พอตีความสรุปได้ว่า

๑. หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล อย่าเกียจคร้านแต่ตามอำเภอใจ คือ เป็นลูกน้องต้องหมั่นไปหาเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจตามใจตัวเอง อยากก็ไป ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ไป แบบนี้ไม่รุ่งแน่
ไม่ว่าจะทำงานเอกชนหรือราชการ การไปพบเจ้านายบ่อยๆพูดคุยปรึกษาหารือ จะทำให้จำเราได้ และยังเป็นโอกาสเรียนรู้งานจากนายด้วย
๒. สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม อย่าเบาความพิดทูลแต่โดยได้ นั่นคือ หากผู้ใหญ่หรือเจ้านาย
จะพูดคุยซักถามอะไรก็ตอบให้ตรงประเด็น อย่าพูดมาก หรือเลือกพูดเอาแต่ได้(ประโยชน์เฉพาะตัว) เพราะผู้ใหญ่จะรู้เลยว่าเราเป็นคนเช่นไร และหากเพื่อนร่วมงานอื่นๆรู้ เขาก็จะรังเกียจไม่อยากทำงานด้วย
๓. อย่าแต่งตัวโอ่อวดพระทรงชัย ที่ในพระโรงรัตนา หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา หมายถึง เวลาพบผู้ใหญ่ ต้องแต่งกายให้เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยถูกกาละเทศะ อย่าเว่อร์เกินงาม ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักสำรวมกิริยา ไม่ลุกรี้ลุกรน ล่อกแล่ก ทำให้ดูบุคลิกภาพไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือ
๔. พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์ แปลตรงตัวก็ว่าที่นั่งของเจ้านาย อย่าขึ้นไปนั่ง นั่นคือ สอนว่าอย่าตีตนเสมอผู้ใหญ่ เพราะเป็นการขาดสัมมาคารวะ และอาจเป็นเหตุให้ท่านหมั่นไส้และไม่เมตตาต่อเรา
๕. อันฝูงพระสนมนางใน อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง ความนัยข้อนี้คือ อย่าไปยุ่งกับของรักของหวงของนาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือของ เพราะนายจะคิดว่าเรากำเริบเสิบสาน และโอกาสก้าวหน้าอาจจะดับ
๖. จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา เป็นสอนให้เรารู้จักจงรักภักดี ให้ความ
เลื่อมใสเคารพนับถือต่อผู้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ ไม่โอ้อวดถือดี ตีเสมอ แม้ท่านจะมีเมตตาต่อเรา และอย่านำความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อเรา ไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ถือว่าเป็นการไม่ภักดีต่อนายเช่นกัน
๗. แขกเมืองอย่าบอกความลับ อย่าสนิทคำนับคบหา หมายถึง อย่าเอาความลับของหน่วยงานไปบอกแก่ผู้อื่น หรือไปทำสนิทสนมกับฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆคือ อย่าไปสาวไส้ให้กากิน เพราะนอกจากทำให้เราดูไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงานแล้ว ยังทำให้ดูไม่น่าคบ เหมือนคนสองหน้า
๘. อันรางวัลให้ปันเสนา อย่ามีใจฉันทาทัดทาน เมื่อทำงานดีได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ก็ควรจัดสรรปันส่วนให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานด้วย เขาก็จะรักในน้ำใจ หากเห็นแก่ตัว งกไว้คนเดียวนานไป คนก็จะถอยห่าง นอกจากนี้หากนายจะให้รางวัลคนอื่นๆบ้างก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่คัดค้านขัดขวางความเจริญของเพื่อนฝูง เพราะหากเขารู้เข้าก็จะโกรธหรือผูกใจเจ็บเป็นการก่อศัตรูโดยใช่เหตุ
๙. แม้นกริ้วโกรธลงโทษผู้ใด อย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ หมายถึง เมื่อเจ้านายเกิดโมโหลงโทษหรือดุว่าใครก็อย่าได้ร่วมวงทับถมเพื่อน หรือยุยงให้ลงโทษให้หนักขึ้น หากเขาผิดจริง ก็ควรวางเฉยให้นายพิจารณาเอง แต่ถ้าเขาไม่ผิด และเรารู้ ถ้าสามารถพูดจาช่วยเหลือได้ ก็ควรทำ เพราะนอกจากจะช่วยให้นายไม่ลงโทษคนผิด ทำให้นายดูดีขึ้นแล้ว ในอนาคต คนที่เราช่วยเหลืออาจเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของเราก็ได้
๑๐. อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤคาร พระบรรหารสิ่งใดจงจำความ เป็นการสอนว่าอย่าโลภมาก อย่าริอ่านขโมยหรือยักย้ายถ่ายเทสมบัติของนายหรือของหลวงมาเป็นของตัว เพราะเป็นเรื่องผิดทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย อีกทั้งหากนายสั่งงานสิ่งใด ก็ต้องจดจำเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถูก หรือท่านสอนเราอย่างไร ก็จงจำไว้ประพฤติปฏิบัติ เพราะนั่นคือสิ่งที่นายต้องการจากเรา หรือคือสิ่งที่นายได้เรียนรู้มาก่อน แล้วนำมาสอนเราอีกต่อหนึ่ง
คำสอนของพาลีทั้งสิบข้อนี้ แม้จะเป็นเรื่องโบราณ แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้
เช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะอย่าลืมว่า พาลีนั้นเป็นถึงเจ้าเมืองๆหนึ่ง ในฐานะเจ้านายที่ต้องปกครองคนมากมายย่อมต้องรู้ และมีประสบการณ์ว่าสิ่งใดจะเป็นที่พึงพอใจของผู้บังคับบัญชา จึงได้ประมวลวิธีผูกใจนายมาสอน
น้องก่อนตายได้ ข้อสำคัญ คนที่สามารถขึ้นมาเป็น “เจ้านาย” ได้ไม่ว่าระดับไหน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ย่อมแสดงว่า เขาผู้นั้นย่อมมี “ความสามารถที่ดี ในทางใดทางหนึ่ง” เป็นแน่ มิฉะนั้นคงมิได้รับเลือก และหากความสามารถในทางนั้นๆของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเรา ก็โปรดระลึกไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้เป็น “เจ้านาย” ก็อย่าเป็นแบบที่เราไม่ชอบนั้นๆด้วย อย่าเข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
............................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรม
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 16:02

 พาลีพานเรศเจ้า      ขีดขิน        นครเฮย
เอารสองค์อมรินทร์   ฤทธิกล้า
ทรงชฎาลอออิน      ทรีย์สด        เขียวแฮ
ใครบสบแรงล้า      กึ่งเปลี้ยเสียสูญฯ
                                               กรมหมื่นเทววงษวโรปการ
                                                ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 16:06

 ต้นเรื่องรามเกียรติ์
ณ ยอดเขาจักรวาลมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ หิรันตยักษ์ ได้บำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวรให้มีฤทธิ์มากขึ้น เมื่อได้พรแล้วจึงคิดกำเริบว่าไม่มีใครสามารถสู้ได้ จึงม้วนแผ่นดินแล้วเหาะนำไปไว้ที่เมืองบาดาล เหล่าเทวดาจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรให้พระนารายณ์ไปปราบ แล้วจึงนำแผ่นดินมาคลี่ไว้ที่เดิม จากนั้นจึงกลับยังเกษียณ
สมุทร พบดอกบัวบานมีกุมารน้อยอยู่ในนั้น จึงนำไปถวายพระอิศวร พระอิศวรให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองให้ที่ป่าทวาราวดี แล้วตั้งชื่อกุมารว่า อโนมาตัน และมอบอาวุธคือ ตรีเพชร คทา และธำมรงค์ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ส่วนพระอินทร์ได้มอบนางมณีเกสร เป็นพระมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อ อัชบาล และต่อมาท้าวอัชบาลกับนางเทพอัปสรมีโอรสชื่อ ทศรถ
      ฝ่ายพระพรหมองค์หนึ่งชื่อสหบดี ซึ่งเคยให้สหมลิวัน ไปปกครองทวีปลังกาแต่ได้หนีพระนารายณ์ ไปอยู่เมืองบาดาล ทวีปลังกาจึงกลายเป็นเมืองร้าง สหบดีเห็นว่าควรมีการสืบวงศ์พรหมต่อไป จึงสั่งให้พระวิษณุพรหม ไปดูทำเลสร้างเมืองใหม่ พระวิษณุพบเกาะกลางทวีปมีภูเขาสูงชื่อ นิลกาฬ สีดำสนิทตั้งอยู่กลางเกาะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะจะสร้างเมืองที่มีความมั่นคง ป้องกันการรุกรานของข้าศึกได้ จึงสร้างเมืองขึ้นตรงเกาะนั้น
    " อันคูเขื่อนปราการล้อมรอบ                                   เป็นคันรอบมั่นคงแน่นหนา
หอรบช่องปืนใบเสมา                                         ทวาราป้อมค่ายรายไป "

   แล้วตั้งชื่อว่าพิชัยลังกา ท้าวสหบดีได้ให้ญาติชื่อท้าวจตุรพักร ไปครอง มอบอาวุธคือ ตรีศูล คทา ฉัตรแก้ว พร้อมพระเวทกำกับฉัตร หากเมื่อข้าศึกมาประชิดเมือง ให้ยกฉัตรขึ้นบังแสงอาทิตย์ ข้าศึกจะมองไม่เห็นเมือง ทั้งยังประทาน นางมลิกา ไปเป็นมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อท้าวลัสเตียน ซึ่งมีมเหสี 5 องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระนางรัชดาเทวี ซึ่งเป็นแม่ของทศกรรฐ์
            มียักษ์ชื่ออสุรพรหม อยู่เชิงเขาจักรวาล ต้องการมีฤทธิ์มากขึ้น เพียรทูลขอกระบองที่ไม่มีใครสู้ได้จากพระอิศวร จนพระอิศวรประทานกระบองเพชรให้ มาลีวัคคพรหม จึงทูลทักท้วงว่า การที่ทรงประทานกระบองเพชรให้นั้น จะทำให้โลกเดือดร้อนได้ เพราะอสุรพรหมเป็นยักษ์ที่หยาบช้า ควรจะประทานอาวุธแก่ท้าวอัชบาล เพื่อใช้ปราบอสุรพรหม พระอิศวรจึงประทานพระขรรค์และพรแก่ท้าวอัชบาล ซึ่งภายหลังได้ฆ่าอสุรพรหมตาย ด้วยเหตุนี้มาลีวัคคพรหม จึงเป็นเพื่อนกับท้าวอัชบาลในเวลาต่อมา
ต่อมา มาลีวัคคพรหมเสด็จไปเฝ้าพระอิศวรทูลลาไปอยู่ ณ เขายอดฟ้า พระอิศวรเห็นว่าเป็นพรหมที่มีความซื่อสัตย์ จึงประทานพรให้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าท้าวมาลีวราช ปกครองเหล่าคนธรรพ์และยักษ์
        มียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ ตรีบุรัม   ครองเมืองโสพัส ต้องการมีฤทธิ์เอาชนะพระนารายณ์ได้ จึงบำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวร จนพระอิศวรต้องเสด็จลงมาให้พรตามที่ขอว่า พระนารายณ์ไม่สามารถฆ่าตรีบุรัมได้    เมื่อได้พรแล้วจึงกำเริบไปข่มเหงเหล่าเทวดาและนางฟ้าจนถึงสวรรค์ชั้นที่หกเดือดร้อนไปทั่ว จึงพากันมาฟ้องพระอิศวร เนื่องจากศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ด้วยตรีบุรัมได้พรจากพระอิศวร ทั้งพระพรหมและพระนารายณ์ไม่อาจปราบได้ พระอิศวรจึงต้องยกทัพไปปราบเอง ในกระบวนทัพของพระอิศวร ให้พระขันธกุมารเป็นทัพหน้า พระราหูถือธง พระพิเนตรเป็นปีกซ้าย พระพินายะเป็นปีกขวา พระกาฬเป็นเกียกกาย ท้าวเวสสุวรรณเป็นยกกระบัตร และพระเพลิงเป็นกองหลัง ส่วนพระอิศวรนั่งบนหลังพระโคอุสุภราช เอากำลังพระพรหมผสมกับพระเดชเป็นเกราะเพชร เขาพระสุเมรุเป็นคันธนูชื่อ มหาโลหะโมลี เอาอนันตนาคราชเป็นสายธนู พระนารายณ์เป็นลูกศร แต่ไม่สามารถยิงได้เพราะพรจากพระอิศวรดังกล่าว พระอิศวรจึงลืมตาที่สามขึ้นเป็นเพลิงกรดไหม้ตรีบุรัมตาย จากนั้นจึงมอบธนูโลหะโมลีไว้ที่เมืองมิถิลาและฝากเกราะเพชร ไว้ที่พระฤาษีอัคถะดาบส เพื่อเก็บไว้ถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาปราบเหล่ายักษ์
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 16:16

 อาขยาน – หอกโมกขศักดิ์

8 ธันวาคม 2547 12:39 น.


อาขยาน – หอกโมกขศักดิ์
คำถาม

ผมซื้อ “รามเกียรติ์ – ฉบับการ์ตูน” ซึ่งมีอยู่ 2 สำนวน มาอ่านให้ลูกฟัง ลูกติดใจสำนวนของคุณจันทนีย์ พงษ์ประยูร วันก่อนไปเดินงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เห็นคุณจันทนีย์ฯไปยืนแจกลายเซ็นที่บู้ธสำนักพิมพ์ซีเอ็ดฯ (ใกล้ ๆ บู้ธกลุ่ม “ผู้จัดการ”) เลยซื้อมาเก็บไว้อีกเล่ม พร้อมทั้งการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ของเธอ.... สังข์ทอง, สามก๊ก, ทรอย, เทพเจ้ากรีก ....แล้วยังมี “ซีดีรามเกียรติ์” ด้วย เธออ่านเอง มีซาวน์เอฟเฟคและผู้อ่านผู้พากย์คนอื่น ๆ เด็ก ๆ ชอบกันมากครับ

ตอนพระลักษณ์โดนหอกโมกขศักดิ์ เธออ่านบทกลอนออกมาตอนหนึ่ง “บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี.... ฯลฯ” เธอบอกว่าท่องจำสมัยเรียนหนังสือ ผมก็จำได้คลับคล้ายคลับคลา คุณพายัพฯมีฉบับเต็มไหมครับ รบกวนด้วย ผมขี้เกียจไปซื้อฉบับคำกลอนมาเปิดหา

เรื่องรามเกียรติจริง ๆ ยาวมาก คำกลอนพระราชนิพนธ์มีไม่หมด จะอ่านเรื่องย่อได้ที่ไหน
สุดใจ ทรงพล 1 ธ.ค. 47
คำตอบ

ดีครับ จะเป็นสำนวนใดก็ตามการที่เด็กมีโอกาสได้สนใจ “รามเกียรติ์” จะทำให้เขาเป็นคนมีราก ในอนาคตเขาอาจจะหาฉบับเต็มมาอ่านเองได้
“รามเกียรติ์” นั้นมีที่มาจากมหากาพย์ “รามยณะ” ที่ฤาษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษมาแล้ว แพร่กระจายจากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง โดยมีการเพิ่มเติมรายละเอียด ผิดแผกแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม
“รามยณะ” เป็นปางหนึ่งใน 10 ปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์
“รามเกียรติ์” ของบ้านเรามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จะสังเกตได้ว่าชื่อ “กรุงศรีอยุธยา” นี่ก็มาจากชื่อเมืองของพระรามในมหากาพย์เรื่องนี้
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมดที่มีมาแต่เดิม ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ที่เป็นบทอาขยาน (ท่องจำ) ของนักเรียนชั้นประถม 4 สมัยก่อน เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เดี๋ยวนี้จะมีการท่องจำกันหรือเปล่า – ผมไม่แน่ใจ !
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ สำนวนกลอนไพเราะมาก
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้ในการเล่น “โขน” มีเพียงบางตอนเท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น
“รามเกียรติ” จึงมีอีกฐานภาพหนึ่ง – เป็นวรรณคดีสำคัญของประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอนมีทั้งความไพเราะ คติสอนใจ และแง่คิดในด้านต่าง ๆ สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง
เป็นการบูรณาการหลักนิยมทางปรัชญาของอินเดียในเนื้อเรื่อง กับหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน
อย่าลืมหาเวลาพาลูกไปเที่ยววัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
บอกเขาว่าจะพาไปดูจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ – ลูกไม่ปฏิเสธแน่ !
ที่รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รวมทั้งสิ้น 178 ห้อง (หรือ 178 ภาพ) โดยจิตรกรยอดฝีมือของแผ่นดินในแต่ละยุค เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง
มีการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อปี 2375, ปี 2425, ปี 2475 และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2525 เนื่องในวาระกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี
และนอกจาก “รามเกียรติ์” แท้ ๆ จากห้องที่ 1 ถึงห้องที่ 178 แล้วยังมีเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ในปางก่อน ๆ อันเป็นที่มาของเรื่องอีกหลายปาง คือ นรสิงหาวตาร – ปางที่ 4, วราหาวตาร - ปางที่ก่อให้เกิดวงศ์พระนารายณ์ขึ้นที่โลกมนุษย์ คือ “ท้าวอโนมาตัน” โอรสพระนารายณ์ที่เกิดจากองค์พระนารายณ์เอง
สำหรับบทอาขยานที่คุณขอมานั้น มีดังนี้....

บัดนั้น......
พระยาพิเภกยักษี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี
อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์
ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์
อันโมกขศักดิ์อสุรา
พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้
ทรงอานุภาพฤทธิรุทร
ต้องใครจะฉุดนั้นไม่ไหว
แต่มียาคู่หอกชัย
ให้ไว้สำหรับแก้กัน
แม้นละไว้จนรุ่งราตรี
ต้องแสงพระระวีจะอาสัญ
ขอให้ลูกพระพายเทวัญ
ไปห้ามพระสุริยันในชั้นฟ้า
อย่าเพ่อรีบรถบทจร
ข้ามยุคนธรภูผา
แล้วให้ไปเก็บตรีชวา
ทั้งยาชื่อสังขรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต
ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที
สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง
องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน
หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา

อ้อ – คุณจันทนีย์ พงษ์ประยูร ในอดีตก็คือ คุณจันทนีย์ อูนากูล เจ้าของเพลงฮิต “สายชล” เมื่อสัก 20 ปีก่อน


พายัพ วนาสุวรรณ 1 ธ.ค. 47
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 16:25


พิเภกน้องแทตย์ท้าว   ทศกรรฐ   
คือแว่นเวศสุญาณสรร   สืบสร้าง
เพทางค์สารทขยัน   ยลยวด   ยิ่งเฮย
ทรงมกุฏน้ำเต้าอ้าง   อาตม์พื้นขจีพรรณ ฯ
                                   นายทัดกุเรเตอร์
                           ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 08 ต.ค. 06, 16:31

 คุณ Malagao ไปเอามาจากเว็บผู้จัดการค่ะ  
ทำลิ้งค์ให้สำหรับผู้สนใจ
 http://www.manager.co.th/politics/PoliticsQAQuestion.asp?QAID=3939  
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 10:25


กระทู้เรื่องนางลอยปิดไปแล้ว กะจะเล่าด้วยภาพสักหน่อย เพราะมีเยอะ แต่ไม่มีเวลามานั่งลดขนาดภาพ ต้องค่อยๆทำไปทีละนิด ทีลัหน่อย
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 13:03

เอาใหม่
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 15:39

กุมภกรรณ อุปราชกรุงลงกา
สีเขียว 1 หน้า 2 มือ
หัวโล้น หัวโขนทำเป็น 4 หน้า หน้าใหญ่ 1 หน้า หน้าเล้กอยู่ข้างหลัง 3 หน้า โอรสองค์ที่ 2 ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 16:02

อินทรชิต (รณพักตร์) ยุพราชกรุงลงกา
สีเขียว 1 หน้า 2 มือ ชฎามนุษย์ หรือชฎายอดกาบไผ่เดินหน
จอนหูมนุษย์ โอรสองค์ที่ 1 ของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 16:23

วิรุญจำบัง
กษัตริย์เมืองจารึกองค์ที่ 2
สีมอหมึก 1 หน้า 2 มือ
มงกุฏหางไก่ โอรสพญาทูต น้องชายทศกัณฐ์
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 16:48

แสงอาทิตย์
อนุชามังกรกัณฐ์
สีแดงชาด 1 หน้า 2 มือ
มงกุฏกระหนก
โอรสพญาขรน้องชายทศกัณฐ์ กับนางรัชฎาสูร
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 21:51

 นางมณโฑ สาวงามสี่ผัว แต่ไม่มั่วรัก
เมื่อเอ่ยถึง “นางมณโฑ” ในเรื่อง “รามเกียรติ์”  เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อนี้ไม่น้อยไปกว่านามของนางสีดา  นางเบญกาย  หรือนางสุพรรณมัจฉา  แต่ประวัตินางมณโฑเป็นมาอย่างไร  คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ . . .
ทั้งๆ ที่เรื่องราวของนางก็น่าสนใจไม่น้อย  ข้อสำคัญ แม้เธอจะมิใช่สาวแรงสูงผู้ไขว่คว้าหาความรัก  แต่เชื่อไหมว่าในเรื่องเธอต้องมี “สามี” ถึงสี่คน และมิใช่ “กิ๊ก” อย่างที่สาวๆ สมัยนี้นิยมกัน  นางมณโฑเป็นใคร มาจากไหน กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม  ขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อความรู้และความเพลิดเพลิน ดังนี้
        เล่ากันว่าที่เชิงเขาหิมพานต์ มีฤาษีสี่ตน บำเพ็ญพรตอยู่เป็นเวลาช้านาน  และมีตบะแก่กล้ามาก  ทุกๆ เช้า จะมีนางโค ๕๐๐ ตัว มาที่อาศรมของฤาษี   และต่างก็จะหยดนมของตัวลงในอ่างแก้วเพื่อให้ฤาษีได้ฉันเป็นอาหารเช้า  ซึ่งฤาษีก็จะแบ่งนมส่วนหนึ่งให้แก่นางกบตัวเมียตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นประจำทุกวันเช่นกัน  อยู่มาวันหนึ่งฤาษีทั้งสี่ออกไปป่า  พบนางนาคตนหนึ่งกำลังเสพสังวาสกับงูดิน  ฤาษีเห็นว่านางนาคเป็นสัตว์ตระกูลสูงกว่า ไม่น่าจะมาสมสู่กับงูดิน  จึงได้เอาไม้เท้าเคาะไปที่ขนดหางนางนาคเบาๆ  นางนาคกำลังร่านด้วยแรงราคะก็ยังไม่รู้ตัว  ฤาษีจึงเคาะซ้ำไปที่กลางลำตัว  นางนาคตกใจคลายขนด (ขะ-หฺนด หมายถึงตัวงูที่ขด หรือโคนหางงู) ออกมาเห็นฤาษี  ก็รู้สึกอับอายขายหน้า จึงหนีกลับไปเมืองบาดาล   กลับไปแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งคิดแค้นใจพระฤาษีที่ทำให้ตนได้รับความอับอาย  และคิดว่าหากพระยากาฬนาคพ่อตนรู้เข้า นอกจากตนจะเสื่อมเสียแล้ว ก็อาจมีโทษถึงตาย  เมื่อคิดได้ดังนั้น  นางนาคจึงกลับไปอาศรมฤาษี  แล้วคายพิษลงในอ่างน้ำนมที่ฤาษีทั้งสี่ต้องฉันทุกเช้า  ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้น  ก็ตกใจ และด้วยความกตัญญูสำนึกในพระคุณของฤาษีที่เลี้ยงตนมา  จึงตัดสินใจตายแทน ด้วยการกระโดดลงไปในอ่างนม และขาดใจตายเพราะพิษนางนาคนั้น
        ครั้นฤาษีทั้งสี่กลับมาจะฉันน้ำนม  เห็นนางกบนอนตายในนั้น  ก็รู้สึกไม่พอใจคิดว่านางกบตะกละ  แต่ก็ยังมีใจเมตตาอยู่  จึงชุบชีวิตนางกบขึ้นมาใหม่  แล้วสอบถามดูว่าทำไมประพฤติตัวโลภมากอย่างนี้  ให้กินทุกวันยังไม่พอใจอีกหรือ  นางกบก็เล่าความจริงให้ฟังถึงเรื่องนางนาคมาคายพิษไว้  ฤาษีฟังแล้ว เห็นในคุณความดีของนางกบ  จึงได้ทำพิธีก่ออัคคีแล้วร่ายมนตร์วิเศษ พร้อมโยนนางกบลงในไฟ ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่กลายเป็นสาวที่มีรูปโฉมโนมพรรณงามกว่าหญิงใดในสวรรค์ทั้งหก  ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑  ที่ว่า

        เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์  
พระวิษณุรักษ์รังสรรค์
เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์
งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา
งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช
งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา
งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐ์งามกรรณงามปราง
ยิ่งนางในนิมาราศี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี
อันมีในชั้นนิรมิต
ทั้งหกห้องฟ้าหาไม่ได้
ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร
ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ
ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน
        จากพระราชนิพนธ์ข้างต้น  จะเห็นได้ว่าหน้าตาของนางมณโฑเลิศล้ำสวยงามเพียงใด และจากที่นางมีกำเนิดมาจากกบ  พระฤาษีจึงตั้งชื่อให้ว่า “นางมณโฑ” ที่แปลว่า “กบ”  อันเป็นสถานภาพเดิมของนาง  และเนื่องจากพระฤาษีเห็นว่านางเป็นหญิงสาวไม่เหมาะจะอยู่ด้วย  เกรงเป็นที่ติฉินนินทาได้  จึงพร้อมใจกันพานางไปถวายพระอิศวร (พระศิวะ) พระอิศวรก็รับนางไว้ และให้ไปอยู่กับพระแม่อุมา  พระชายาของพระองค์   นับตั้งแต่ไปอยู่กับพระอุมา  นางมณโฑก็ตั้งใจปรนนิบัติรับใช้พระแม่เป็นอย่างดี  จนเป็นที่เมตตาและพระแม่อุมาก็ได้บอกพระเวทย์ต่างๆ ให้
        ต่อมาเขาไกรลาสเอียงทรุด  เพราะยักษ์วิรุฬหกจากเมืองบาดาลโกรธสารภูตุ๊กแกที่ล้อเลียนตน  จึงขว้างสังวาลนาคใส่ และเลยไปถูกเขาไกรลาสจนเอียง  พระอิศวรจึงประกาศแก่เหล่าเทวดาทั้งหลายที่มาเฝ้าว่า  หากใครยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงได้  จะมีรางวัลให้อย่างงาม  ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยกได้  พระอิศวรจึงต้องให้เทวดาไปตามทศกัณฐ์มายกให้จึงสำเร็จ  ทศกัณฐ์ก็ทูลขอพระแม่อุมาเป็นรางวัล  พระอิศวรแม้ไม่พอใจที่ทศกัณฐ์เหิมเกริม แต่เนื่องจากออกโอษฐ์ไปแล้ว  ก็จำยอมประทานให้ตามขอ  เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย ทศกัณฐ์ก็ต้องนำมาคืนแน่นอน  ฝ่ายทศกัณฐ์พอได้รับประทานพระอุมา  ก็ตรงเข้าไปอุ้มพระแม่อุมา แต่ครั้นถูกองค์พระแม่  ก็รู้สึกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้  จึงจำต้องช้อนพระบาทพระอุมาทูนไว้บนหัว เหาะกลับเมืองลงกา  เหาะต่อมาไม่นาน ก็รู้สึกร้อนจนทนไม่ได้  จึงต้องวางพระแม่อุมาลง และพาเดินต่อไป  ส่วนเหล่าเทวดานางฟ้าเห็นทศกัณฐ์พาพระอุมาไปเช่นนั้นก็ตกใจ  จึงพากันไปเฝ้าพระนารายณ์ให้ช่วยแก้ไข  พระนารายณ์จึงออกอุบายแปลงเป็นยักษ์แก่ ปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน รากชี้ฟ้า  ทศกัณฐ์พาพระอุมาเดินผ่านก็สงสัยและแปลกใจ  ถามว่าทำไมโง่ปลูกต้นไม้แบบนี้  ยักษ์แปลงก็ว่าทศกัณฐ์แหละโง่  ไปพาหญิงร้ายที่จะมาทำลายเหล่ายักษ์มาทำไม  ไม่รู้จักขอของดีมา  ทศกัณฐ์ได้ฟังก็ชักเห็นตาม เพราะตนเองพาพระอุมามาก็ร้อนเข้าใกล้ไม่ได้  จึงถามยักษ์แก่ดู  ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปขอนางมณโฑ  ทศกัณฐ์จึงพาพระอุมาทูนหัวเหาะกลับไปคืนพระอิศวร  และขอนางมณโฑมาแทน
        ระหว่างพานางมณโฑเหาะกลับเมืองนั้น  ถึงคราวเคราะห์ของทศกัณฐ์ที่เหาะผ่านเมืองขีดขินของพาลี  พญาลิงที่กำลังว่าราชการอยู่  ทำให้พาลีไม่พอใจฉวยพระขรรค์เหาะไปขวางหน้าทศกัณฐ์  ครั้นเห็นนางมณโฑงามดั่งนางฟ้าก็นึกรัก  จึงพาลหาเรื่องต่อสู้กับทศกัณฐ์ๆ พ่ายแพ้  พาลีจึงแย่งนางมณโฑมาได้  แล้วพากลับเมืองได้นางเป็นเมีย  นางมณโฑนั้นแต่แรกก็ไม่ยินยอม  แต่ก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ กอปรกับพาลีใช้ทั้งวาทศิลป์และเล่ห์ชายจนนางต้องยินยอมในที่สุด  นับว่าพาลีเป็นสามีลิงคนแรกของนาง  
        ส่วนทศกัณฐ์นั้นเมื่อกลับกรุงลงกา ก็เสียใจที่แพ้และยังถูกแย่งนางมณโฑไป จึงคลุ้มคลั่งพาลทำร้ายนางสนมกำนัลในไปหมด  ใครเอาใจอย่างไรก็ไม่ถูกใจ  และไม่ว่าราชการนานถึงเจ็ดเดือน  กุมภกรรณและพิเภกน้องชายจึงช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไข  ด้วยการไปเชิญพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์มา  เมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว  พระโคบุตรจึงไปหาพระอังคต อาจารย์ของพาลี เพื่อให้ว่ากล่าวพาลีให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์  พระอังคตจึงเดินทางไปหาพาลีกล่อมให้คืนนางมณโฑ และว่าพาลีทำไม่ถูกที่ไปแย่งเมียคนอื่นเขามา  ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง  พาลีไม่อยากคืน ก็อ้างว่านางท้องได้หกเดือนแล้ว  ไม่อยากให้ลูกตนไปอยู่กับยักษ์  พระอังคตจึงว่าเรื่องนี้ไม่ยาก  ท่านจะแหวะท้องนาง เอาลูกมาใส่ในท้องแพะไว้ก่อนจนกว่าจะคลอด  พาลีบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผล  แม้จะไม่เต็มใจ ก็จำต้องยอมคืนนางแก่ทศกัณฐ์   ครั้นนางมณโฑทราบเรื่องก็เสียใจ ร้องไห้จนสลบไป  พระอังคตเห็นเป็นโอกาสดี จึงผ่าท้องเอาลูกนางไปใส่ในท้องแพะ และร่ายมนตร์วิเศษปิดท้องให้อย่างเดิม  เมื่อนางฟื้นก็พาตัวไปคืนทศกัณฐ์  ส่วนลูกนางกับพาลีที่ฝากไว้กับท้องแพะ เมื่อถึงกำหนดสิบเดือน  พระอังคตก็ทำพิธีผ่าออกมาจากท้องแพะ แล้วให้ชื่อว่า “องคต” เลียนชื่อท่านเองเพื่อเป็นมงคลนาม (นี่จะเห็นว่า การอุ้มบุญ มีมาแต่โบราณกาล  แถมวิทยาการยังทันสมัยกว่าอีก เพราะให้สัตว์อุ้มท้องแทนก็ได้)
        ส่วนทศกัณฐ์ได้นางมณโฑคืนมา ก็ดีใจพาเหาะกลับกรุงลงกา แล้วเกี้ยวพาราสีต้องเนื้อต้องตัวนาง  จนในที่สุดก็ได้นางเป็นเมียสมใจ  ถือเป็นสามีคนที่สอง  นางมณโฑนั้น เมื่อเป็นเมียพาลีก็คงรักพาลี  เพราะเป็นชายคนแรกของนาง  ครั้นต้องมาเป็นเมียทศกัณฐ์  นางก็รักและจงรักภักดีต่อทศกัณฐ์เช่นกัน  ดังจะเห็นได้ว่า  เมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดามา  และต้องทำสงครามต่อสู้กับพระราม พระลักษณ์และหนุมานยืดเยื้อเป็นเวลานาน  จนต่างฝ่ายต่างต้องเสียไพร่พลไปมากมายนั้น   ทศกัณฐ์ก็ได้สอบถามนางมณโฑว่า  ตอนที่นางอยู่กับพระแม่อุมา  ได้เรียนมนตร์วิเศษอะไรบ้าง  นางก็ว่าเคยเรียนมนตร์ที่เรียกว่า “สัญชีพ” ไว้  ซึ่งมนตร์นี้ถ้าทำสำเร็จจะได้น้ำทิพย์อันวิเศษ  ผู้ใดตายไปแล้ว  หากพรมด้วยน้ำทิพย์นี้  ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช้ให้ทำอะไรก็ได้  และยังสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย   แต่มีข้อแม้ว่าผู้ทำพิธีห้ามพูด และห้ามร่วมเสน่หาระหว่างกระทำพิธี   ทศกัณฐ์ได้ทราบก็ดีใจนัก  รีบตั้งโรงพิธีให้นางมณโฑทันที  ครั้นทำพิธีครบเจ็ดวัน  ก็บังเกิดน้ำทิพย์ขึ้นในหม้อทองคำ   นางมณโฑก็ให้รีบนำไปให้ทศกัณฐ์ที่สนามรบ  ทศกัณฐ์จึงใช้น้ำทิพย์ประพรมไพร่พลยักษ์ที่ตายไป  ทำให้เหล่ายักษ์ปีศาจฟื้นขึ้นมาช่วยต่อสู้ใหม่  และเข้าโจมตีไพร่พลวานรของพระรามจนแตกกระเจิงไป  พระรามเห็นดังนั้น  ก็สอบถามพิเภกดู    เมื่อทราบความจริง  จึงได้ส่งหนุมาน พร้อมด้วยวานรอีกจำนวนหนึ่งไปทำลายพิธี   หนุมานจึงได้แปลงตนเป็นทศกัณฐ์  และให้พลพรรควานรที่ไปด้วยแปลงเป็นพวกทศกัณฐ์เดินทัพกลับเข้ากรุงลงกา  ทำทีว่าชนะศึกกลับมาแล้ว  จากนั้นหนุมานก็ตรงไปโรงพิธี  ใช้เล่ห์กลหลอกนางมณโฑให้เข้าใจว่าตนเป็นทศกัณฐ์กลับมาขอบคุณนางที่ทำให้รบชนะ  แล้วก็พานางกลับปราสาทโอ้โลมปฏิโลมจนได้ร่วมพิศวาสกับนาง  ส่วนพลพรรควานรที่อยู่ข้างนอกก็ทำลายโรงพิธีจนหมดสิ้น  
        เมื่อหลอก “นอน”กับนางมณโฑ เป็นการทำลายพิธีได้สำเร็จแล้ว  หนุมานแปลงก็ลานาง ทำทีว่าจะไปจับพิเภกที่หนีไปได้  จากนั้นก็กลับไปทูลพระรามว่าสามารถล้มพิธีได้แล้ว  พระรามจึงสั่งให้สุครีพนำพลเข้าโจมตีพวกยักษ์  ฝ่ายทศกัณฐ์เมื่อต่อสู้ไปๆ  น้ำทิพย์ที่จะพรมยักษ์ตาย ให้ฟื้นก็หมด  ไม่เห็นมีใครมาส่งเพิ่ม  แล้วยังถูกพวกลิงเยาะเย้ย ก็เอะใจ  ขอพักรบ  แล้วกลับเมือง ไปถึงเห็นโรงพิธีพินาศ  จึงไปสอบถามและต่อว่านางมณโฑที่อยู่ในปราสาท และยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อยู่  นางมณโฑก็เล่าเรื่องราวให้ทราบ  ทศกัณฐ์ก็รู้ว่าเสียท่าหนุมานแล้ว  ก็บอกเมีย  นางมณโฑทั้งอับอายขายหน้า ทั้งเสียใจที่เสียตัวและเสียรู้หนุมาน จึงร้องไห้จนสลบไป  ทศกัณฐ์ก็แก้ไขจนฟื้น  แต่นางยังรู้สึกเสียใจร้องไห้รำพึงรำพันขอให้ทศกัณฐ์ฆ่านางเสีย  เพราะนางทำให้เสียเกียรติสามี  แต่ทศกัณฐ์นั้นทั้งรักและสงสารเมีย จึงปลอบโยนนางมณโฑ และว่าตนไม่ถือโทษโกรธนาง  ถือเสียว่าเป็นกรรมเป็นเวรไปก็แล้วกัน  ส่วนการต่อสู้  ตนก็จะหาวิธีอื่นต่อไป  นางจึงค่อยคลายทุกข์ไป   ดังนั้น  หนุมานจึงเป็นสามีคนที่สาม  แต่เป็นสามีลิงคนที่สองของนาง (พาลีเป็นคนแรก)  แต่อย่างกรณีของหนุมาน  จะนับว่าเป็นสามีจริงๆ จังๆ อย่างพาลี และทศกัณฐ์คงไม่ได้  เพราะเป็นการได้นางเป็นเมียแบบใช้เล่ห์กล  และถ้านางรู้ก็คงไม่ยอมเป็นแน่
        ต่อมาภายหลัง เมื่อหนุมานสามารถล่อลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาจากพระโคบุตร  อาจารย์ของทศกัณฐ์  จนทำให้พระรามฆ่าทศกัณฐ์ตายได้ในที่สุดนั้น  ก่อนตายทศกัณฐ์ก็ได้ฝากฝังนางมณโฑไว้กับพิเภกน้องชาย  ครั้นชนะศึกแล้ว  พระรามก็ได้จัดพิธีราชาภิเษกให้พิเภก ได้ครองกรุงลงกาต่อมา  โดยให้ชื่อใหม่ว่า “ท้าวทศคิริวงศ์”  และประทานนางมณโฑให้  พิเภกจึงเป็นสามีคนที่สี่  และเป็นสามียักษ์คนที่สองของนางมณโฑ  ต่อมานางมณโฑได้คลอดลูกชายชื่อ “ไพนาสุริย์วงศ์” ซึ่งเป็นลูกทศกัณฐ์ที่ติดท้องนางมณโฑมา ก่อนที่ทศกัณฐ์จะตาย  แต่พิเภกไม่รู้ และเข้าใจว่าเป็นลูกตน  จึงรักและชื่นชมเลี้ยงดูลูกนางเป็นอย่างดี  ต่อมาไพนาสุริย์วงศ์รู้จากพี่เลี้ยงว่าทศกัณฐ์ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ตายไปแล้ว  ส่วนพิเภกเป็นเพียงพ่อเลี้ยง  จึงไปถามนางมณโฑดูจนรู้ความจริง  จึงอุบายขอลาไปเรียนวิชา   เมื่อเรียนจบก็แอบไปหาท้าวจักรวรรดิเพื่อนทศกัณฐ์ให้มาช่วยแก้แค้นพิเภก  จับพิเภกขังคุก และท้าวจักรวรรดิ์ก็ได้ตั้งไพนาสุริย์วงศ์ลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑครองกรุงลงกาแทน  โดยตั้งนามใหม่ให้ว่า “ทศพิน”  ต่อมาทศพินก็ต้องตายไปเพราะมีการสู้รบแก้แค้นไปมา  ส่วนนางมณโฑแม้จะได้ห้ามลูกไว้แต่แรกแล้ว  แต่ทศพินหรือไพนาสุริย์วงศ์ก็ไม่ฟัง  จึงต้องตายไปในที่สุด  นางมณโฑเองก็เกือบต้องโทษในฐานะเป็นแม่ด้วย  แต่พอดี “องคต” ลูกชายอีกคนที่เกิดกับพาลี  มีความดีความชอบ  จึงรอดพ้นโทษมาได้  ซึ่งเนื้อหารามเกียรติ์ตอนต่อไปยังมีอีกมาก  แต่มิได้กล่าวถึงนางมณโฑอีก  
        จะเห็นได้ว่าชีวิตของ  “นางมณโฑ”  นางกบที่พระฤาษีอุตส่าห์ชุบชีวิตให้เป็นสาวงาม  แม้ว่าจะต้องมีผัวถึงสี่คน  แต่ถ้าอ่านตามเนื้อเรื่องแล้ว  จะเห็นได้ว่านางมิใช่หญิงร่าน  หรือจงใจใช้ความงามหว่านเสน่ห์เพื่อหาสามีเลย  ตรงกันข้าม  การมีสามีแต่ละครั้งแต่ละหน  ล้วนอยู่ในภาวะจำยอมทั้งสิ้น  นั่นคือ ไม่ถูกยกให้  ก็ถูกแย่ง หรือถูกหลอก   โดยเมื่อแรกอยู่กับพระแม่อุมาดีๆ ก็ถูกยกให้ทศกัณฐ์  ยังไม่ทันอยู่กินกับทศกัณฐ์ก็ถูกแย่งไปเป็นเมียของพาลี  แล้วถูกพากลับมาเป็นเมียทศกัณฐ์อีก  ครั้นแล้วก็ต้องตกเป็นเมียหนุมานโดยไม่รู้ว่าถูกหลอกขณะทำพิธีช่วยทศกัณฐ์สามี    และท้ายสุดก็ถูกยกให้เป็นเมียน้องสามีคือพิเภกอีก  นางมณโฑจึงนับเป็นสาวงามผู้อาภัพยิ่งนัก  แม้นางจะมากผัว เป็นผัวลิงบ้าง ผัวยักษ์บ้าง  แต่ก็กล่าวได้ว่า  นางมิใช่ผู้หญิงประเภทมั่วรัก  กลับเป็นหญิงที่ดีงามคนหนึ่ง  เพราะนางจงรักภักดีต่อสามีทุกคน (ยกเว้นหนุมานเพราะได้ด้วยเล่ห์กล) มิฉะนั้นแล้ว  เราอาจจะมี วลีเสียดสีผู้หญิงที่มีสามีหลายคนเพิ่มจากนางวันทอง โมรา กากี  โดยต่อท้ายว่า นางมณโฑมากผัวก็ได้
กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 09 ต.ค. 06, 22:07


โขนไทยไปแวร์ซายส์

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนานกว่า ๓๒๐ ปี รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัก เปิดโรงละครพระราชวังแวร์ซายส์ ให้กระทรวงวัฒนธรรม นำโขนไทยจากกรมศิลปากรทำการแสดงรามเกียรติ์ ตอน นางลอย-ยกรบ ในพิธีเปิดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส” กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ วันที่ ๑๘ กันยายน นี้    
จากการเปิดเผยของคุณหญิงทิพาวดี  เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า ตามความตกลงในแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส” ขึ้น ที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน-๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ เป็นประธานพิธีเปิดงานและทอดพระเนตรการแสดงโขนจากกรมศิลปากรที่จะทำการแสดงรามเกียรติ์ ตอน นางลอย-ยกรบ ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงละครพระราชวังแวร์ซายส์ ที่บรรจุผู้ชมได้ ๗๐๐ ที่นั่ง โดยกรมศิลปากร ได้พัฒนารูปแบบการแสดงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความประทับใจในการแสดงศิลปะชั้นสูงของไทยแก่ผู้ชมชาวฝรั่งเศส โดยจะทำการแสดงทั้งหมด ๕ รอบ ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ๑ รอบ ที่ Opera National de Brest ๒ รอบ และที่ Opera de Massy ๒ รอบ ซึ่งในการพัฒนารูปแบบการแสดงโขนในครั้งนี้มี ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ นายกสยามสมาคม เป็นที่ปรึกษาการดำเนินงาน
ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาการจัดการแสดงโขนเพื่อร่วมงานเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ได้พัฒนารูปแบบการแสดงโขนให้กระชับเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ชมชาวต่างประเทศที่ไม่รู้จักโขนเลยให้มากที่สุดแต่ยังคงการแสดงแบบโบราณดั้งเดิมเอาไว้เพราะผู้ชมไม่รู้ว่ายักษ์ตัวไหน ลิงตัวไหน โดยในฉากแรกและช่วงพักครึ่งเวลา จะนำเสนอในลักษณะ “ละครใบ้และการเต้นโขน” (Masked Mime & Drama Dance) พร้อมคำอธิบายเบื้องหลังการแสดงโขน เช่น ประเพณีการไหว้ครูก่อนทำการแสดง การแต่งกายที่ต้องเย็บเครื่องแต่งกายเข้ากับนักแสดงจริง เป็นต้น จากนั้นจะเริ่มทำการแสดงตอนนางลอยซึ่งเป็นตอนที่เป็นไทยแท้คือประเทศอื่นไม่เล่นเลยเพราะเราคิดขึ้นมาเองและเป็นตอนที่เล่นในเวลาไม่ยาวนัก และเล่นตอนยกรบต่อไปเพื่อให้ติดตาผู้ชมทั้งหมดใช้เวลา ๑ ชั่วโมง และหวังว่าเมื่อการแสดงจบลงผู้ชมจะประทับใจและอยากชมการแสดงโขนจากประเทศไทยอีก ม.ร.ว.จักรรถ กล่าวในตอนท้าย
           ทั้งนี้คณะนักแสดงโขนมีจำนวน ๔๐ คน พระราม รับบทโดย นายธีรเดช กลิ่นจันทร์ นักแสดงรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง นางสีดา รับบทโดย นางสาวมณีรัตน์ บุญชู ทศกัณฑ์ รับบทโดย นายวัชรวัน ธนพัฒน์ และหนุมาน รับบทโดย นายกิตติ จาตุประยูร  ซึ่งคณะนักแสดงโขนชุดนี้ได้เคยแสดงถวายสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศสเปนมาแล้ว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งกับผู้แสดงหนุมานว่าแข็งแรงดี สร้างความปลาบปลื้มประทับใจแก่คณะนักแสดงเป็นอย่างยิ่ง และการแสดงโขนชุดนี้ จะทำการแสดงเพื่อซ้อมใหญ่เหมือนจริงครั้งสุดท้าย ก่อนเดินทางไปฝรั่งเศสในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ โรงละครแห่งชาติ เปิดให้ผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้  
โกวิท  ผกามาศ ข่าว
บันทึกการเข้า
Malagao
มัจฉานุ
**
ตอบ: 85


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 10 ต.ค. 06, 08:55

ทำให้ใหม่
ถ้าไบ่เบื่อ จะทำให้อีกเรื่อยๆ เมื่อว่าง
แต่ถ้าไม่มีใครโพสต์กลับมาก็อาจจะไม่ทำ
เพราะไม่มีใครสนใจ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง