เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 24684 ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 มิ.ย. 06, 22:34

 สรุปว่าถึงวัดสุวรรณดารารามแล้วนะครับ ผมให้พี่ภูมิเป็นคนเล่าดีกว่า

เขียนพระนเรศวรทรงบุญญา
ชิงชัยไอยราในสงคราม
คาบพระแสงแต่งองค์ณรงค์ศึก
ห้าวฮึกบุกประจันไม่ครั่นขาม
พระเดชายรรยงดังองค์ราม
อวตารปราบปรามดัสกร
โบสถ์เขียนเทพชุมนุมประชุมนั่ง
สกัดหลังเขียนไตรภูมิเป็นคำสอน
สกัดหน้ามารามาราญรอน
ผจญองค์บวรศาสดา
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 21 มิ.ย. 06, 18:55

 เที่ยวอยุธยาเป็นร้อยครั้ง
กินนอนก็นับครั้งไม่ถ้วน
แต่ไม่เคยเข้าไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเลยสักครั้งเดียว
เพราะมักเป็นสถานที่ท้ายๆ ที่ไป
แล้วก็ "มึน" ตรงครัวป้อมเพชรเสียก่อนทุกครา

แวะมาปูเสื่อฟังเช่นคนอื่นซักคน
ที่นี่ร่มเย็นน่าพักผ่อนเสียเหลือเกิน
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 21 มิ.ย. 06, 22:07

 ยินดีต้อนรับครับ คุณ NickyNick ไปอยุธยาบ่อยอย่างนี้คงต้องให้มาช่วยแนะนำแบ่งปันประสบการณ์บ้างแล้ว วัดสุวรรณดารารามเองผมเคยไปแค่สองครั้ง ครั้งนี้ก็ไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดเพราะติดงานบวช จะเข้าไปยุ่งย่ามนักก็ไม่งาม

อยากให้คุณติบอตอบเร็วๆจังเลยครับ ผมจะได้ตามอ่านบ้าง เห็นว่ากำลังมีงานยุ่ง
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 21 มิ.ย. 06, 22:18

 เชิญครับ คุณNickyNick จะรับเครื่องดื่มอะไร  หรือว่าขนมชนิดไหนถ้าผมหาให้ได้จะหามาต้อนรับครับ
ยกเว้นแต่เครื่องดื่มที่มี "ปริญญา" นี่ผมไม่ทราบจะหาให้จากที่ไหน จนใจจริงๆนะครับ อิอิ

ขอบคุณคุณกุรุกุลา สำหรับกลอนที่แต่งเข้ามาเตือนว่าต้องเล่าเรื่องวัดสุวรรณดารารามต่อ
ขอผมส่งรายงานฉบับวันพรุ่งนี้เสร็จก่อนแล้วกันนะครับ อาจจะหาเวลาว่างแวะมาแปะให้อ่านอีกซักสองสามตอนได้


วันนี้ขอตัวทำงานก่อนล่ะครับ เมื่อคืนนอนเอาเกือบสว่าง คืนนี้อยากนอนเต็มแก่แล้วครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 00:44

 ไม่รู้ว่า "โรคแอบนอย" จะระบาดมาถึงกระทู้นี้มั้ยนะครับ แต่คนไปเที่ยวด้วยกันมาก็บ่นกระปอดกระแปดอยู่ว่าผมไม่มาเล่าต่อซะที
แหม่ ใครจะไม่อยากเล่าล่ะครับ แต่สมุดบันทึกกับหนังสืออ้างอิงมันอยู่กันคนละที่นี่นา กลัวเขียนผิดเขียนถูกอ่ะ
แล้วคนเล่าก็ไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ คนคอยก็ต้องรอคนเล่าหาเวลาว่างกลับไปเอาสมุดบันทึกมามั่งสิครับ แหะๆ

วันนี้มาเล่าเรื่องต่อแล้วกันครับ





***************

ตอนที่ 4: วัดสุวรรดาราราม


กระเหรี่ยงกรุง 2 คนเดินตากแดดเวลาสายไปตามถนนจนเหงือซึมไปหมด ในใจผมเริ่มเห็นด้วยมาตะหงิดๆกับคำพูดของมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์คนนี้ ที่ยืนยันมาทางโทรศัพท์ว่า "แล้วจะรู้สึก" ตอนผมปฏิเสธเจ้าตัวเรื่องเอาครีมกันแดดมาด้วย

เราสองคนเดินเลี้ยวเข้าไปตามป้ายบอกทาง "วัดสุวรรณดารารม" จนถึงหน้าวัดที่มีรถหลากสีหลายคันจอดเรียงรายกันอยู่ มองดูเห็นมีคนมากหน้าหลายตาเกินกว่าปรกติแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร จนจะเข้าไปชมด้านในพระอุโบสถน่ะแหละครับถึงได้เห็นว่าเขาทำพิธีบวชนาคกันอยู่ กระเหรี่ยงกรุง 2 คนก็เลยได้แค่เข้าชมพระวิหารและถ่ายภาพรอบๆมา


วัดนี้ ของที่ต้องมา "ถ่ายรูป" สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วๆไปคงหนีไม่พ้น ภาพพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีซึ่งเขียนโดยพระยาอนุศาสนจิตรกร ด้วยสีน้ำมัน กับ ทวยไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย

ส่วนนักท่องเที่ยวท่านไหนมีตำราเรื่อง "วัดสุวรรณดาราราม" ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มาเป็นคู่มือ ถ้าเปิดไปที่หน้า 13 หรือหน้า 19 ก็อาจจะเจอคำแนะนำสำหรับจิตรกรรมชิ้นอื่นๆด้วย
เพราะท่านแนะนำไว้ว่ามีภาพที่ "แจ่ม" ที่สุดอยู่ 5 ชิ้นได้แก่ ภาพกระบวนพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรฯ, ภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ยกทัพเข้ากรุงหงสาวดี, ภาพสมเด็จพระนเรศวรทรงพระสุบินฯ, ภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชา, และภาพที่ทรงเล็งปืนไปยังเรือของพระยาจีนจันตุ

แต่สำหรับภาพทั้งหมดที่ได้กล่าวถึง รวมถึงคันทวยของวัดนั้น ผมต้องขอโทษผู้ที่เข้ามาอ่านกระทู้ด้วย ที่ไม่ได้หาภาพประกอบมาลงไว้ในกระทู้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นภาพที่กล่าวถึง เรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันที่น่าสนใจที่สุดชุดหนึ่งในประเทศ เจ้าของกระทู้จึงอยากขอความกรุณาจากผู้อ่านแต่ละท่าน ให้ท่านเดินทางไปชมความงามของจิตรกรรมดังกล่าวด้วยสายตาของท่านเองเถิด เพราะนักถ่ายภาพปลายแถวอย่างผู้เขียนกระทู้นี้นั้นหาได้เหมาะสมแก่การบันทึก "ภาพครู" ของจิตรกรรมชุดนี้ไม่




นอกจากจิตรกรรมที่สวยงามและทวยที่อ่อนช้อยแล้วนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ถูกอกถูกใจกระเหรี่ยงกรุง 2 รายมากพอสมควรคือสิ่งปลูกสร้างร้างด้านหลังกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถออกไปทางด้านริมน้ำ ส่วนจะเป็นกุฏิเก่าหรืออะไรนักสำรวจมือใหม่อย่างผมที่ออกสำรวจเป็นครั้งแรกก็หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ทราบแต่ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในสภาพชำรุดมากแล้ว
มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้นขึ้น 2 ชั้น ด้านล่างเป็นห้องใต้ถุนมีผนังกั้นตรงกลาง ด้านข้างประตูบานแคบเจาะช่องให้เดินเข้าไปได้อยู่ทั้งสองฝั่ง ลักษณะชวนให้นึกถึงสิ่งปลูกสร้างสมัยอยุธยาตอนปลายหลายหลัง ที่มีบันไดจากภายนอกอาคารทอดขึ้นสู่ด้านบนและใช้ด้านล่างเป็นห้องใต้ถุน เช่น "ตำหนัก" ที่วัดเจ้าย่า แต่ที่นี่ดูเหมือนจะมีวิวัฒนาการมากกว่าเนื่องจากพื้นอาคารทางด้านบนเป็นปูน และมีร่องรอยเคยถูก "เดินสายไฟ" แล้ว ไม่ทราบเหมือนกันครับ ว่าจะเก่าซักแค่ไหน





ลองเอาภาพมาขอความรู้ครับ


.
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 01:22



  ตอนที่ 5: ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา







หลังจากเดินลุยหญ้าสำรวจเจ้าตึกในภาพความเห็นเพิ่มเติมที่ 20 แล้ว ผมกับไอ้ฏั้วแวะกันมานั่งจดบันทึกเรื่องวัดต่างๆใต้ร่มไม้ใหญ่ของวัดซักพักแล้วจึงตัดสินใจเดินทางกันต่อไป



ตามแผนแล้ว เรา 2 คนต้องไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งให้ครบในวันแรกและวันที่ 2 ของการเดินทาง เนื่องจากเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะพิพิธภัณฑ์ไทยจะปิดในวันจันทร์และอังคาร ดังนั้นสถานที่ต่อไปที่ควรจะแวะชมก็หนีไม่พ้น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา" หรือ "พิพิธภัณฑ์ลูกเมียหลวง" ที่เราแอบเรียกกันในการเดินทางครั้งนี้ เพราะถือได้ว่า ศิลปะวัตถุที่จัดแสดงที่นี่ และความสนใจจากผู้คนภายนอกนั้น มีมากกว่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทร์เกษมอยู่มาก (ขนาดผมมาทัศนศึกษากับอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ท่านยังไม่แวะที่จันทร์เกษมเลยครับ เหอๆ)



แต่แล้ว เมื่อเดินมาถึงกลางทางสิ่งก่อสร้างสีขาวขนาดใหญ่ที่มีบางส่วนหักพังไปแล้วก็ดึงดูดตาให้ผมหันไปมอง



"ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เหรอวะไอ้ฎั้ว" ผมหันไปถามไกด์กิติมศักดิ์ประจำตัว

"อืม นี่แหละพี่" มันตอบกลับมาท่าทางเนือยๆว่า "แวะมะ"

แน่นอนครับ ผมแวะอยู่แล้วล่ะ ก็ศูนย์ที่นี่สู้ลงทุนเอาป้ายไปแปะไว้ทั่วเมืองนี่นา ว่า อยากศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาให้มาเริ่มต้นที่นี่

เรา 2 คนก็เลยได้เดินข้ามสระน้ำด้านหน้าลงไปซื้อบัตรเข้าชมศูนย์ที่ว่าเพื่อจะขึ้นไป "เริ่มต้น" กับอยุธยาที่นั่น





หลังจากที่เข้าชมด้านในแล้ว ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่นี่ก็ไม่ต่างจากศูนย์ศึกษาอะไรต่อมิอะไรของรัฐบาลไทยเสียเท่าไหร่ ที่จัดเตรียมทุกอย่างเอาไว้ "เปิดศูนย์" สำหรับคนตัดริบบิ้น

ส่วนคนเข้าชมจะพบเห็นอะไร รัฐบาลไทยไม่สนใจอยู่แล้วเพราะถือว่า "ไม่ได้หน้า" เช่น ซุ้มต้อนรับทางด้านหน้าของศูนย์ที่นี่ก็หักเสียแล้ว



สิ่งต่างๆภายในศูนย์ยิ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสนับสนุนความรู้สึกของผมยิ่งกว่าด้านนอกเสียอีก ของที่จัดแสดงและยังพอจะอยู่ในสภาพดีอยู่ส่วนมากมักเป็น "ถาวรวัตถุ" ซึ่ง มีความคงทนสูง เช่นกระจกแกะสลักบานโตลายการแสดง 'ชักนาคดึกดำบรรพ์' หรือไม่ก็ต้องเป็นของที่เก็บรักษาในตู้กระจก แต่เนื่องจากตู้กระจกที่นี่มีลักษณะเปิดเป็นร่องจึงทำให้ของต่างๆที่จัดแสดงด้านในมีฝุ่นเกาะจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดของของได้ครบถ้วนนัก ไม่เว้นแม้แต่เครื่องเบญจรงค์ราคาเรือนหมื่นหลายชิ้น



ส่วนปุ่มกดชมมอนิเตอร์ หรือฟังเสียงทางด้านในก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ของพวกนี้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศไทยร้อยละร้อยมักตกที่นั่ง "นิทรรศการหมุนเวียน" ไปโดยปริยาย คือใช้จัดแสดงได้ในช่วงแรก และเสียเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน แต่จะ "หมุนเวีน" กลับมาชมได้หลังจากการซ่อมบำรุงสามปีครั้ง

แต่จะว่าคนไทยเลยก็อาจจะไม่ได้ เพราะผมเคยพบกับตัวเองว่า ปุ่มกดต่างๆในศูนย์วิทยาศาสตร์ที่สิงคโปร์ก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันกับเมืองไทยเลย โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี่ที่เด็กไทยไปเที่ยวกันมากขึ้น !!





ในที่สุดผมกับไอ้ฎั้วก็เลยตัดสินใจเดินออกจากศูนย์ฯ เพื่อไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาต่อไป สำหรับไอ้ฎั้ว เขาจะมีความรู้สึกอย่างไรกับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่นี่ผมก็ไม่ทราบได้ แต่สำหรับผมนั้น เสียดายเวลา และกำลังขาที่เดินขึ้นไปชมเอาการ (ส่วนเงิน 10 บาทนั้นไม่ต้องพูดถึง ถือว่าบริจาคให้เขาไปซ่อมปุ่มกดซักปุ่มก็แล้วกัน)









ไม่มีภาพถ่ายภายในศูนย์ฯ มาให้ชมนะครับ ผมเลยเอาภาพพระอุโบสถวัดสุวรรณดารารามมาฝากกันแทน (ภาพนี้ท่านผู้อ่านกระทู้กรุณาอย่าถือสานะครับ คนถ่ายสายตาเอียงครับ หุหุ)





.

บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 09:19

 กว่าจะครบ 51 วัด คนเล่าคงไกล้เกษียณเต็มที ส่วนคนอ่านกลุ่มหนึ่งขอลาไปเกิดใหม่อีกรอบ.....55555

ศูนย์อะไรที่คุณจ่าย 10 บาทนั่น เขามีชื่อจริงว่า "ศูนย์ญี่ปุ่น(อยาก) ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา"
ทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินเยน คนออกแบบก็เป็นเยน ผู้รับเหมาก็เป็นเยน ยังดีเขาไม่เก็นค่าชมเป็นเยน
นักวิชาการไทยที่รับใช้ญี่ปุ่นอย่างซื่อสัตย์ จะถูกเกณฑ์มาแสดงฝีมือที่นี่ คนละหนุบคนละหนับ ตอนเปิดใหม่ๆ เป็นที่ฮือฮามาก

ในนั้นมีอะไรน่าชมอยู่หลายสิ่ง ทำไมไม่เล่าให้ฟังกันบ้าง
อย่างเรือนไทยจำลองที่เขาทำให้ชมน่ะ
ฉีกตำราเรือนไทยทุกเล่มทิ้งได้เลย
พวกเราสร้างผิดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองละกระมัง ยังดีที่เขามาทำให้ดู พอหายโง่
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 09:43


คุ้มค่ากับที่รอคอยครับ

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ว่านี่คือในรูปนี้หรือเปล่าครับ
เพราะตามเส้นทางเดินแล้วคงจะเป็นจุดนี้  เพราะอยู่ไม่ไกลกับพิพิธภัณฑ์ลูกเมียหลวง กับวัดสุวรรณดารารามเท่าใด

เคยฟังตามเกร็ดที่เขาเล่ากันมา  บอกว่าญี่ปุ่นให้เงินมาสร้าง แต่ต้องการให้สร้างตรง "บ้านญี่ปุ่น" ฝั่งตรงข้ามเจ้าพระยากับ "บ้านโปรตุเกส"

ไม่รู้ว่าทำไมรัฐบาลสมัยนั้นถึงได้โยกเงินมาสร้างตรงนี้ได้  ผิดวัตถุประสงค์ของเขา  หากมองด้วยใจเป็นธรรม  ก็น่าเห็นใจญี่ปุ่นเหมือนกัน  แต่ไทยเราก็ยังดี  เห็นว่าทำเป็นศูนย์ศึกษาฯ หน่วยย่อยให้ที่บ้านญี่ปุ่นเพิ่มอีกนิ้ดดดดดด ไม่ให้คนออกเงินเขาน้อยใจ

......................

เป็นสมาชิกใหม่ครับ
ลองพยายามส่งรูปดู  น่าจะขึ้นนะ
รูปนี้รีบถ่าย เพราะนั่งรถรางล้อยางที่เขาจัดให้ท่องเที่ยวชมโบราณสถาน  ราคาผู้ใหญ่นั่งคนละ ๒๐ เด็ก ๑๐ บาท
เริ่มนั่งจากปางช้าง  วนไปเรื่อยๆ ใกล้ตลาดเจ้าพรหม - ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ฯ แล้วก็กลับมาที่เดิม  วันนั้นพาเด็ก (จริงๆ) ไปด้วยหลายคน  ลองนั่งเปลี่ยนบรรยากาศดู  เย็นดี
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 11:44

 คุณ NickyNick ถ่ายรูปได้มุมเหมาะเจาะ

งานออกแบบสมัยใหม่นี่เข้าใจยาก คือเขาไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ มากกว่าสิ่งที่ต้องทำ เสียดายปูน ดูแล้วนึกว่าวิทยาเขตธรรมศาสตร์ ไม่เป็นสถาปัตยกรรม ดังนั้นจึงไม่เป็นไทย
"สูญ" บ้าๆ แห่งนี้ ทำตัวเหมือนกล่องชาเขียวปัจจุบันนี้ คือมีแต่คำประกาศสรรพคุณเต็มสองตา ฉูดฉาดหวือหวา ทำตัวเป็นของมีค่า หัวสูง แต่เนื้อในไม่มีอะไร
ผมยังเสียดายที่ดิน เสียดายทางเดิน เสียดายบ่อน้ำ ....เสียดายหลายอย่าง มันควรจะทำได้ดีกว่านี้พันเท่า ถ้ารู้จักคิดเสียหน่อย

ตอนแรกเขาก็อยากสร้างที่หมู่บ้านญี่ปุ่นครับ แต่ที่ดินมีเจ้าของ รัฐบาลไม่อยากเวรคืน (เวรนะครับ ไม่ใช่เวณ คือจะได้กรรมเวรกลับคืน ถ้าไปเวณคืนมาทำสูญสัปปะรังเคแบบนี้) ที่ตรงนี้ดูเหมือนเป็นของสถาบันแห่งหนึ่ง เลยริบมาง่ายหน่อย

ให้ผมเดานะ ผมว่าพี่ยุ่นคงอยากสร้างอนุสาวรีย์ยามาดะ มากกว่า
ตั้งชื่อว่า A man who would be king
เท่ ระเบิด
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 12:25

 โถ่ คุณpipat ครับ ผมน่ะ งานหลวงเป็นนิสิต งานราษฎร์เป็นช่าง(สาระพัดช่าง) งานอดิเรกเป็นสมาชิกเวบวิชาการ
แล้วจะให้ผมทำงานอดิเรกจนเกินหน้างานหลวง งานราษฎร์ ที่ผู้ใหญ่ท่านสอนสั่งกันว่า "ไม่ให้ขาดไม่ให้เกิน" ตอนช่วงเปิดเทอมน่ะ เห็นทีจะยากนะครับ

แค่นี้ผมก็เรียนตกๆหล่นๆมากพอดูแล้ว คุณpipat ก็ไม่รับเป็นศิษย์ มีหรือจะกล้าละงานหลวงงานราษฎร์มาทำงานอดิเรกได้



ปล. เห็นคุณpipat เข้ามากระทู้นี้แล้วแอบดีใจ ว่าเรามีที่พึ่งขอความอนุเคราะห์เรื่องพระยาอนุศาสนจิตรกรได้แล้ว
รบกวนคุณpipat เล่าคร่าวๆให้เด็กน้อยในกะลา(ที่แย่งคุณหมูฯมา) ฟังได้มั้ยครับ (นะครับ นะ)
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 12:50

 หลานพระยาอนุศาสนฯ ทำผมไม่อยากเอ่ยถึงท่าน

เอาง่ายๆ อย่างนี้ละกัน
ในทางช่างภาพ ท่านเป็นรองก็เพียงฟะรันซิศจิต
ในทางจิตรกรรม ท่านก็เป็นรองเพียงขรัวอินโข่ง
ในทางวาดเส้น มีเพียงสมเด็จฯ นริศ ที่เหนือกว่า

ท่านรับพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 7 รับเขียนที่วัดสุวรรณดาราราม ลองบวกลบดูว่าตอนนั้น ท่านอายุเท่าไร
ลอยเรือกินอยู่หลับนอนบนเรือหน้าวัด จนงานสำเร็จ
มีชีวิตรอดกลับเข้ากรุงได้ (อันนี้คุณชำนาญ อินทุโศภณ เล่าให้ฟังที่ระเบียงบ้านท่าน ตรงซอยสวนพลู)

นานนนนน มากกกกกแล้ว ไม่เคยบอกใคร
บันทึกการเข้า
tuka007
พาลี
****
ตอบ: 291


คนจับจอบจับเสียม


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 13:27

 ง่า... นั่งอ้าปากค้าง  ...คนสมัยก่อนมีอายุยืนยาวดีจริง..อาหารการกินคงดีมีประโยชน์ ไม่มีขนมกรุบกรอบราคา 5 บาท ที่หาประโยชน์ใดๆไม่ได้เลยนอกจากมีแพคเกจ ที่ดูสวยน่าซื้อ อย่างสมัยนี้    
บันทึกการเข้า

จงยิ้มให้โลก...แล้วโลกจะยิ้มให้เรา
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 13:37

 ฟังคุณ pipat เล่า
แล้วนั่งอ้าปากค้างงงงงงงงงงง เหมือนกันเยย
นานมากกกกกกกกก ขนาดนั้นเลยเหรอ
โชคดีที่ผมได้รับรู้พร้อมกับท่านอื่น ในนี้
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 14:12

 คุณชำนาณ เสียชีวิตเมื่อ 2534 กระมัง
ผมไปพบท่านที่บ้าน อยากรู้เรื่องหนังสือพิมพ์ไทยเขษม
ก่อนท่านตายสิบกว่าปี หลายคนในนี้ยังไม่เกิดกระมัง

ลองไปหา "นักวาดในดวงใจ" ของเอนก นาวิกมูล มาอ่านดู
มีทั้งพระยาอนุศาสนจิตรกร และคุณชำนาณฯ
รวมทั้งคนอื่นๆ อีกเพียบ
ถ้าใจร้อน อ่านนี่ก่อน

 http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0606010348&srcday=2005/03/01&search=no  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 14:43

 ลิ้งค์ของคุณพิพัฒน์ ดิฉันเข้าไม่ได้ ไปขอน้องกู๊กช่วยหาให้ถึงเจอ
เลยเอามาลงให้อ่านกันเต็มๆ เผื่อบางคนเข้าไม่ได้เหมือนกัน

ศิลปวัฒนธรรม - วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 05

ภาษา-หนังสือ

หลง ใส่ลายสือ

จันทร์ จิตรกร ศิลปินคู่พระทัยรัชกาลที่ ๖

คนที่นิยมชมชอบหนังสือเก่า น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า หนังสือ "ปกสวย" คือหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ มีเอกลักษณ์เป็นลายไทย ลายเถา พิมพ์ทองบนหน้าปก มีความประณีตงดงาม ยากที่หนังสือรุ่นอื่นๆ จะเทียบได้

ส่วนหนึ่งของหนังสือ "ปกสวย" นั้น เป็นฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้ที่รับสนองพระราชกระแสรับสั่งเขียนภาพต่างๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ เช่น ลิลิตนารายน์สิบปาง เป็นต้น มีภาพประกอบเทวดา นางฟ้า ยักษ์ ลิง อย่างงดงาม ตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำ ในหนังสือลิลิตนารายน์สิบปาง ฉบับพิมพ์ปี ๒๔๖๖ ว่า "ส่วนภาพที่เขียนขึ้นใหม่สำหรับหนังสือเรื่องนี้เปนฝีมือจางวางตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จัน จิตรกร), และข้าพเจ้าขอขอบใจฃ้าราชการผู้นี้ที่ได้ช่วยประดับหนังสือนี้ด้วยฝีมือ."

ท่านผู้นี้จึงถือได้ว่าเป็น "ศิลปินคู่มือ" คนสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ สมควรที่จะบันทึกประวัติและผลงานให้คนไทยได้รู้จัก พระยาอนุศาสน์จิตรกร ซึ่งเป็นทั้งคนเขียนภาพประกอบ จิตรกร และช่างภาพ คนสำคัญของไทยไว้พอสังเขป

น่าเสียดายที่ขณะนี้ยังไม่พบหนังสืองานศพของท่าน พบแต่หนังสืองานศพของบุตรสาวท่าน คือคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน สุนทรเวช) ซึ่งได้รวบรวมประวัติชีวิตและผลงานของ "พ่อ" ไว้ส่วนหนึ่ง

หนังสือพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน สุนทรเวช) มีขนาด ๘ หน้ายก ปกสีฟ้า หนา ๑๒๘ หน้า พิมพ์ขึ้นในปี ๒๕๒๔ แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนประวัติและอนุสรณ์คุณหญิงบำรุงราชบริพาร ส่วนที่สองเป็น "ฝีมือพ่อ" คือประวัติและผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ส่วนสุดท้ายเป็น "ฝีปากลูก" เป็นคำอภิปรายในวาระต่างๆ ของนายสมัคร สุนทรเวช

คุณหญิงบำรุงราชบริพาร นามเดิมคือ อำพัน จิตรกร สมรสกับพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) มีบุตรธิดา ๙ คน หนึ่งในนี้เป็นที่รู้จักกันดีคือนายสมัคร สุนทรเวช

ประวัติโดยย่อของพระยาอนุศาสน์จิตรกรตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คือท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๑๔ ตำบลวัดราชบูรณะ อำเภอพระนคร เข้าศึกษาวิชาการชั้นต้นที่วัดสังเวชวิศยาราม สำนักพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์สังข์ และวิชาการอื่นๆ จากครูพุด ยุวะพุกกะ

ต่อมาในปี ๒๔๓๖ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ด้วยทรงเห็นว่า "มีฝีมือทางช่าง" จึงทรงนำเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งช่างเขียนในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นในปี ๒๔๔๘ ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นที่หลวงบุรีนวราษฎร์

ปี ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศชั้นหัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นจางวางกรมช่างมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุศาสน์จิตรกร ต่อมาในปี ๒๔๕๙ ได้ตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างมหาดเล็ก และในปี ๒๔๖๒ เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ปี ๒๔๖๙ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี

ผลงานทางช่างของพระยาอนุศาสน์จิตรกร นอกจากหนังสือ "ปกสวย" แล้ว ยังมีงานด้านจิตรกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ อีกมาก เช่น ภาพชาดกในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม ภาพตัดขวางแสดงพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในพระที่นั่งบรมพิมาน และระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเขียนสีน้ำมันบนกุฏิสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น

ด้วยความสามารถทางการเขียนภาพนี่เอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "จิตรกร"

นอกจากความสามารถทางด้านจิตรกรรมแล้ว พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังเป็นผู้สร้างฉาก และออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับบทละครเรื่องต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดง รวมถึงความสามารถในการถ่ายภาพจนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ ซึ่งเป็นร้านถ่ายภาพหลวง พระยาอนุศาสน์จิตรกรจึงเป็นช่างภาพประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ

แต่ผลงานชิ้นเอกที่ทำให้คนไทยรู้จักมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพพงศาวดาร การกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวร ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากท่านลงนาม "พระยาอนุศาสนจิตรกร" ไว้ใต้ภาพทุกภาพ ต่างจากงานเขียนภาพประกอบในหนังสือที่จะมีตรา "จ" อยู่ในวงกลมเล็กๆ ลักษณะคล้ายลายประจำยามที่มุมภาพ

วัดสุวรรณดารารามที่พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้เขียนภาพไว้นั้น เป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรี เนื่องด้วยเป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้สร้างไว้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังไม่แตก เดิมวัดนี้ชื่อวัดทอง และมีการปฏิสังขรณ์ในฐานะวัดสำคัญประจำราชวงศ์เรื่อยมา

จนในสมัยรัชกาลที่ ๗ ระหว่างปี ๒๔๗๓-๒๔๗๔ มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรไปเขียนภาพพระราชพงศาวดาร ประวัติสมเด็จพระนเรศวร เกี่ยวกับการกอบกู้เอกราช ตามประวัติการเขียนภาพนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ค้นคว้าและจินตนาการด้วยตนเอง โดยเมื่อร่างแบบขึ้นมาแล้วก็จะนำขึ้นถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อทรงพิจารณาก่อนจะนำไปเขียนจริงทุกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดประวัติการเขียนภาพของพระยาอนุศาสน์จิตรกรบันทึกไว้ในหนังสืองานศพคุณหญิงบำรุงราชบริพาร ดังนี้

"สำหรับภาพเขียนที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้เวลาวาดภาพเกือบ ๒ ปีเต็ม โดยรับพระราชทานให้นำแพไปจอดที่หน้าวัด ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาแพเกิดจมลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้พระราชทานเรือ "ปิคนิค" ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้แทนแพ จนกระทั่งวาดภาพเสร็จสมบูรณ์

ในตอนที่ไปวาดรูปพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรเคยเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า เมื่อเขียนถึงพระเนตรของสมเด็จพระนเรศวรเป็นครั้งแรก ตัวเองเป็นลมตกลงมาจากนั่งร้านถึง ๓ หน จึงต้องมีพิธีบวงสรวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงสามารถเขียนได้สำเร็จ"

อย่างไรก็ดีแม้ภาพชุดนี้จะเป็นชุดที่โด่งดังที่สุดของ "จันทร์ จิตรกร" แต่สัดส่วนของคนนั้น ยังไม่งดงามเท่ากับเมื่อเขียนภาพประกอบหนังสือ อาจจะเป็นเพราะขณะเขียนภาพชุดพระราชประวัตินี้ ท่านมีอายุถึง ๖๐ ปีแล้ว สุขภาพไม่ดีถึงขั้นเป็นลมอยู่บ่อยๆ ไม่ "สด" เหมือนเมื่อเขียนภาพประกอบถวาย หรืออาจจะเป็นเพราะต้องเขียนงานขนาดใหญ่กว่างานเขียนภาพประกอบหลายเท่า หรืออาจจะเป็นเพราะงานเขียนภาพประกอบของท่านที่งดงามนั้นเป็น "ทางไทย" ส่วนภาพชุดพระราชประวัติที่วัดสุวรรณดารารามนี้เป็นการเขียนอย่าง "ฝรั่ง" จึงทำให้สัดส่วนผิดไปหลายแห่ง

พระยาอนุศาสน์จิตรกร เสียชีวิตในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๒ เมื่อมีอายุได้ ๗๘ ปี งานชิ้นสุดท้ายไม่ใช่งานจิตรกรรม แต่เป็นงานประดับมุกพานแว่นฟ้า ที่มีลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังมีทายาทที่ได้ "เลือดพ่อ" อีก ๑ คน คือนางดรุณาทร (ผิว กัลยาณมิตร) ที่มีฝีมือทางการวาดเขียนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถนัดทางสีน้ำมากกว่า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 20 คำสั่ง