เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 17974 เจ้าจอมเพิ่ม กวีหญิงแห่งราชสำนัก
Japonica
ชมพูพาน
***
ตอบ: 109

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 มิ.ย. 06, 22:46

 ความเห็นที่ 28

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะเสด็จทอดพระเนตรการคล้องช้างกลางแปลง ในแหล่งข้อมูล
ไม่ได้บอก พ.ศ. ไว้ เลยไม่ทราบว่าครั้งไหน



ตามบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ ซึ่งทรงเป็นราชเลขาธิการให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
กล่าวว่าพระองค์เสด็จทอดพระเนตรการคล้องช้างกลางแปลง ในปี 2426 ที่ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองอยุธยา
โดยคณะลงเรือพระที่นั่งมาเทียบท่าที่ท่าน้ำวัดกุฎีสูง ซึ่งเป็นวัดร้างในปัจจุบัน แล้วนั่งรถอีกทอดไปยังพลับพลา
เพนียด ทั้งนี้ฝ่ายในที่ตามเสด็จมี สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และเจ้าคุณจอมเพิ่ม

ในบันทึกเล่าว่า การคล้องช้างมี 3 ประเภท
1) ต้อนจับในเพนียด แล้วเอา "โยนตาม" หรือเชือกหนังที่ทำเป็นบ่วงโยนใส่คอช้าง จากนั้นจึงกระตุกแล้วจูง
ช้างไปผูกจนกว่าจะเชื่อง

2) จับเข้าซอง คือปล่อยช้างออกจากเพนียด แต่บังคับตัวที่หมายตาไว้ให้เข้าไปในซอง

3) จับช้างกลางแปลง คือ ต้อนโขลงลงน้ำ แล้วเอาโยนตามจัดการ

แต่ในวันนั้นไม่ทรงได้ทันทอดเนตรประเภทหลัง ก็ทรงกลับเสียก่อน รับสั่งให้แสดงในวันรุ่งขึ้น
วัดเสนาฯ อยู่ติดกับวังจันทร์เกษมนั่นเองครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 23 มิ.ย. 06, 09:17

 ขอบคุณที่มาช่วยขยายความเพิ่มเติมค่ะ

ครั้งต่อมาที่คุณจอมเพิ่มได้ตามเสด็จ  คือประพาสกาญจนบุรี   ในการนี้ มีโคลงพระราชนิพนธ์ระบุชื่อเจ้าจอมที่ตามเสด็จรวม ๘ ท่าน
คือ
ทับทิมมรกตทั้ง...................จันทร์สาย
เนื่องทิพเกสรหมาย..............ชื่อชี้
ตลับเพิ่มรวมทั้งหลาย...........เป็นแปด คนนา
ตามเสด็จครั้งนี้....................สู่ด้าวกาญจนบุรี

ช่วยกันนับหน่อยว่ามีใครบ้าง ดีไหมคะ

เจ้าจอมเพิ่มแต่งโคลงเอาไว้ว่า

ยินนามตามเสด็จไท้...............ปรีดา
ปลื้มจิตคิดใครพา...................เที่ยวได้
เพราะทรงพระเมตตา..............อย่างยิ่ง
ควรยกพระคุณไว้...................นอบน้อมตลอดกาล

คุณจอมได้บันทึกเอาไว้ด้วยค่ะ น่าอ่านมาก ก็เลยยกมาลงไว้ทั้งหมด  ไม่ย่อให้เสียรส
ดูท่านเป็นผู้หญิงชอบเรื่องกระจุ๋มกระจิ๋ม  แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างผักและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยน่าเอ็นดู  ท่านก็ยังบันทึกเอาไว้

"ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารค    ได้ลงเรือพระประเทียบตามเสด็จ  
วันนั้นประทับแรมที่จังหวัดราชบุรี   ในบริเวณพลับพลาที่ประทับ มีต้นผักชีขึ้นเป็นดง  ลำต้นสูงใหญ่ไม่เคยเห็น กำลังผลิดอกออกผลดูงามยิ่งนัก
พอยามค่ำ แสงจันทร์ฉายสว่าง  เห็นกระต่ายวิ่งออกชมจันทร์ทั้งๆฝูง  น่าดูเป็นอย่างยิ่ง  
รุ่งขึ้นตามเสด็จทูลกระหม่อมแก้ว  ได้พากันไปเที่ยวตลาดที่บ้านโพธาราม


ขอแรงชาวเรือนไทยช่วยขยายความพระนาม"ทูลกระหม่อมแก้ว" ให้ชาวเรือนไทยฟังด้วยได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
Japonica
ชมพูพาน
***
ตอบ: 109

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 24 มิ.ย. 06, 00:50

 เจ้าจอมที่ตามเสด็จรวม ๘ ท่าน คือ


1) เจ้าจอมมารดาทับทิม (มารดากรมหลวงนครไชยศรีฯ)  
2) เจ้าจอมมารดามรกต (มารดากรมหมื่นพิไชยฯ)
3) เจ้าจอมมารดาจันทร์ (มารดาพระองค์เจ้าหญิงทักษิณาชาฯ)
4) พระวิมาดาเธอ (ม.จ. สาย เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง-
   มารดากรมหลวงลพบุรีฯ)
5) เจ้าจอมมารดาเนื่อง (มารดากรมพระชัยนาทฯ)
6) เจ้าจอมมารดาทิพเกสร (มารดากรมหมื่นสรรวิไสยฯ)
7) เจ้าจอมมารดาตลับ  (มารดากรมหลวงราชบุรีฯ)
เจ๋ง เจ้าจอมเพิ่ม

‘ทูลกระหม่อมแก้ว’ คือ พระองค์เจ้าลม่อม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ทรงตรัสเรียกว่า ‘เสด็จยาย’  ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ (พระขนิษฐา
ของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ และเป็นอาของ ม.จ. รำเพย ศิริพงศ์) ต่อมาทรงเลื่อน
เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ในรัชกาลที่ ๕
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 09:23

 ขอบคุณที่เข้ามาตอบ  มีผิดอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีเวลาแก้ให้ค่ะ
**********************
บันทึกของเจ้าจอมเพิ่มน่าอ่านมาก  มองเห็นภาพขบวนเสด็จเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนได้ชัดเจน  
ว่าท่านเสด็จกันอย่างไร นอกเหนือจากเสด็จประพาสต้นที่เราคงเคยได้อ่านกันมาแล้ว

ประทับแรมอยู่ที่จังหวัดราชบุรี  จนถึงวันกำหนดที่จะเสด็จดำเนินไพร
การออกเดินทางตอนนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงม้าพระที่นั่ง  ทูลกระหม่อมแก้วทรงรถ
ฝ่ายในไปรถบ้าง  ไปช้างผูกกูบและสัปคับบ้าง ถึงที่ประทับร้อน  เสด็จประทับเสวยเครื่องว่าง
แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปถึงที่ประทับแรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงที่ประทับแรมยังไม่ค่ำ   แล้วขบวนรถจึงถึง  ขบวนช้างถึงตอนสุดท้าย

ค่ำวันนั้นพระราชทานโคลงบทใหม่ให้เจ้าจอมเพิ่ม

จากมามาลับแล้ว...............จักหลง ลืมฤๅ
ฤๅว่าหล่อนจักพะวง............อยู่บ้าง
มิตรจิตว่าจริงตรง................ดังกล่าว ฉะนั้นฤๅ
ฤๅว่าลับพักตร์ร้าง...............เลิศแล้วลืมคำ


พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นกวีเอก   เห็นได้จากพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง ไม่ว่า "เงาะป่า " หรือ "นิทราชาคริต"  
โคลงบทนี้อ่านแล้วก็รู้สึกถึงคารมคมคายของชาย ที่ผลัดกันตัดพ้อพ่อแง่แม่งอนกับฝ่ายหญิงบ้าง
เจ้าชีวิตทรงพ้ออย่างนี้   คุณจอมก็คงปลื้ม
**************
ยังสงสัยรายละเอียดของพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง   คุณจอมเล่าว่าฝ่ายใน "นั่งรถ"  ยังนึกไม่ออกว่ารถที่ว่าคืออะไร
เพราะเส้นทางบก แถวโพธารามไปราชบุรี  สมัยนั้นยังไม่มีถนน   อย่างดีก็ทางเกวียน
รถที่ว่านี้คือเกวียน หรือรถม้า ก็ไม่ทราบ  แต่ไม่ใช่รถยนต์แน่นอน
ใครพอนึกออกบ้างคะ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 10:39

 เรียน อ. เทาชมพู ที่เคารพ
"การออกเดินทางตอนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงม้าพระที่นั่ง ทูลกระหม่อมแก้วทรงรถ
ฝ่ายในไปรถบ้าง ไปช้างผูกกูบและสัปคับบ้าง "

ผมเห็นว่า ทรงรถ น่าจะเป็นเทียมเกวียนครับ
เพราะคงไม่มีใครเอารถม้าไปใช้เดินทางแบบนี้ได้ครับ

แต่ที่น่าแปลก คือ ร.๕ ทรงม้าพระที่นั่ง
เรื่องนี้ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 11:44

 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ น่าจะทรงม้าเก่งนะคะ    คงเป็นที่รู้กันดีในราชสำนัก
ไม่งั้น คงไม่เกิดพระบรมรูปทรงม้าขึ้นมาในภายหลัง
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 25 มิ.ย. 06, 11:55


ขอบพระคุณความเห็นของ อ. เทาชมพูครับ
ผมลืมคิดเรื่อง พระบรมรูปทรงม้า ไปครับ

ภาพนี้ได้มาจาก
 http://www.aksorn.com/event/event_detail.asp?id=32  
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 26 มิ.ย. 06, 07:47

 เจ้าจอมเพิ่มแต่งโคลงถวายกลับไปว่า

ข้าบาทคลาดจากเจ้า...............จอมกษัตริย์
มาแต่กายใจตัด......................ติดไว้
ซึ่งทรงพระดำรัส.....................รับสั่ง สอนแฮ
บ่มิลืมคำไท้...........................จวบสิ้นวิญญาณ

ท่านบันทึกเอาไว้อีกว่า

ที่ที่ประทับแรมเวลาค่ำ มีกองเพลิงรายรอบพลับพลา  และตีเกราะเคาะไม้ยันรุ่ง

เข้าใจว่าที่เป็นอย่างนี้ ก็เพื่อความปลอดภัย   แสงไฟนอกจากให้ความสว่างแล้ว ยังช่วยป้องกันสัตว์ร้ายที่จะเข้ามากล้ำกราย   ถึงเข้ามาจริงก็มองเห็นได้ง่าย    
ส่วนตีเกราะเคาะไม้ก็เพื่อเรื่องเดียวกัน  นอกจากเป็นสัญญาณให้รู้ในเรื่องเวรยามแล้ว ยังเป็นการส่งเสียงไม่ให้สัตว์ร้ายใหญ่น้อยเข้ามาด้วย

บรรยากาศในที่ประทับพักแรมสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ต่างจากนิราศนรินทร์ที่แต่งประมาณรัชกาลที่ ๑ หรืออย่างช้าก็รัชกาลที่ ๒
รู้ได้จากบทนี้ค่ะ

ราตรีตรวจค่ายฆ้อง.................  ขามขาม ใจเอย
เกราะกระพือเพลิงยาม............  รุ่งเร้า
กระเวนกระวนกาม....................  กวนอก พี่นา
รันระดมแดเข้า......................... คู่ฆ้องกระแตตี

แสดงว่า ๑๐๐ ปี  ภูมิประเทศของไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรเลย   พ้นจากตัวเมืองก็เป็นทุ่งนาป่าเขา  เวลาเดินทาง พักแรมกันทีก็ต้องระวังเจ้าป่าประเภทเสือช้างและสัตว์ร้ายอื่นๆ    ต้องป้องกันกันแข็งแรง
ตอนที่คุณพนมเทียนเขียน เพชรพระอุมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐  เอาประสบการณ์ก่อนหน้านี้มาเล่า   ป่าแถวเมืองกาญจน์ก็ยังเป็นป่า
แต่เวลา ๕๐-๖๐ ปี มาจนถึงเดี๋ยวนี้  ป่าเกือบไม่เหลือแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 26 มิ.ย. 06, 07:55

 "รุ่งขึ้นเวลาเช้า   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงม้าพระที่นั่งเสด็จสู่แนวพนัส    ขบวนรถก็ออกเดินๆไปจนไกลแล้ว
ขบวนช้างจึงออกเดินถึงทุ่งนาคราชซึ่งเป็นที่ประทับร้อน  พื้นที่ดินแถบนี้เป็นที่ดินแดง  มีเขามอและแร่เกลื่อนกลาด
แร่นั้นเรียกว่ามูลพระยานาค
และออกไปโพ้นมีกอไม้รวกตลอดสุดสายตา
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับร้อนบนพลับพลา    เสวยเครื่องว่างและเลี้ยงขบวนเสด็จจนทั่วแล้ว   จึงเสด็จพระราชดำเนินต่อไปดังวันก่อน
พลับพลาที่ประทับร้อนแห่งนี้   เสาพลับพลาไม้ไผ่ทะลุปล้องใส่น้ำทุกเสา
และเจาะเสาสำหรับเปิดน้ำใช้ได้


อยากจะฝากชาวเรือนไทยไปถามนักธรณีวิทยาว่า แร่มูลพระยานาคนั้นคืออะไรคะ  หาดูแล้ว  น้องกู๊กส่ายหน้า  ตอบว่าไม่มี
ส่วนเสาไม้ไผ่ใส่น้ำ  อ่านดูแล้ว ออกแบบเก๋มาก    คงเหมือนท่อน้ำก๊อก  เอาไว้ล้างหน้าล้างมือและดื่มกินได้มั้ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 26 มิ.ย. 06, 08:00

 ค่ำนั้นพอถึงที่ประทับแรม  คุณจอมท่านก็ส่งโคลงไปถวาย เป็นการชวนคุย    

วันนี้ข้าบาทได้.....................ไปเห็น
ลิงเล็กเมื่อยามเย็น................มากแท้
คะนึงถึงพระองค์เป็น..............อันมาก
แม้เสด็จด้วยแล้.....................จักได้ทรงยล

ก็ทรงตอบกลับมา ด้วยชั้นเชิงกวี   อ่านดูนะคะ

ขอบใจวานเรศสิ้น..................ทั้งผอง
แม้มนุษย์จักสนอง..................ทรัพย์ให้
แทนคุณที่เตือนสอง...............นัยน์เนตร แม่นา
แม้บ่เห็นมันไซร้.....................อย่าเล้ยเมินเสีย
บันทึกการเข้า
Japonica
ชมพูพาน
***
ตอบ: 109

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 26 มิ.ย. 06, 21:04

 ตอบ ความเห็น 38

พื้นที่ดินแถบนี้เป็นที่ดินแดง มีเขามอและแร่เกลื่อนกลาด แร่นั้นเรียกว่ามูลพระยานาค

ดินแดง ลูกรัง หรือ ศิลาแลง มีความเหมือนกันคือมีธาตุเหล็ก (Fe) เป็นองค์ประกอบ ทำให้เห็นเป็นสีสนิมเหล็ก
เหลืองๆ ส้มๆ นั่นเอง

ในศิลาแลง เม็ดกลมๆ เล็กๆ ที่เราเห็น หลายๆเม็ดจะประสานหรือเชื่อมกันด้วยดินเหนียว (binding)
กลายเป็นศิลาแลง ที่อาจตัดแซะให้เป็นก้อน นำมาก่อสร้างปราสาทเขมร หรือก่อกำแพงก็ได้

"ศิลาแลง ก่อกำแพง แข็งแรงดี" เพราะว่าไม่พองตัวหรือยุ่ยเมื่อโดนน้ำ

เม็ดกลมๆ เล็กๆ อาจเป็นซิลิกา (ทราย) หรือ แคลเซี่ยมคาร์บอเนต (หิน) ก็ได้
ในสภาพที่ปราศจากตัวประสาน เราจะเห็น เม็ดกลมๆ สีดำๆ เงาๆ (บ่งบอกถึงความมีโลหะเจือปน)
อยู่แบบอิสระ ไม่ติดกัน อะไรก็ตามทีมีสัณฐานกลมๆ คนมักจะเรียกเป็น 2 อย่าง คือ ถ้าไม่เป็นไข่
ก็เป็นขี้ เช่น มูลไส้เดือน

ในวิชาธรณีวิทยา มีศัพท์คำหนึ่ง เรียกว่า "Oolite" ถ้าเห็นตัวโอ 2 ตัว กลมๆ อยู่ติดกัน ตามตำราผีบอก
บอกว่าให้เดาว่า แปลว่าไข่ไว้ก่อน คำๆนี้มีรากศัพท์ ที่มาจากภาษากรีก "oon" แปลว่า "ไข่"

มูลพญานาค ที่กล่าวถึง น่าจะหมายถึง เม็ดหินกลมๆ ที่พบในศิลาแลง (Oolithic Laterite) ศัพท์ตัวหลังคือ
ดินหรือหิน ที่มีธาตุเหล็กเปอร์เซ็นต์ต่ำเป็นองค์ประกอบ ธาตุอีก 2 ธาตุที่พบในศิลาแลง คือ SiO2(Silicon Dioxide)
 และ อลูมิเนียมออกไซค์ (Al2O3) ที่มีชื่อเล่นว่า อลูมิน่า ชื่อเล่นอื่นๆคือ เกาลิน ที่ไว้ปั้นไชน่าแวร์ ที่สังคโลก นั่นเอง
บันทึกการเข้า
Japonica
ชมพูพาน
***
ตอบ: 109

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 26 มิ.ย. 06, 21:37

 ความเห็นที่ 32

ถ้ามีผิดบ้าง ที่ถูกอาจเป็นเจ้าจอมมารดาสาย (น้องสาวเจ้าจอมจันทร์)  ไม่ใช่พระวิมาดาเธอ
ที่ทรงพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าสาย มังครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 27 มิ.ย. 06, 09:15

มาต่อเรื่องบันทึกของเจ้าจอมเพิ่มค่ะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงที่ประทับแรม  เย็นบ้างค่ำบ้าง และเช้าก็ออกเดินขบวนดังนี้ตลอดมา
จนวันหนึ่งเสด็จถึงที่ประทับร้อนใกล้หมู่บ้านกะเหรี่ยง  ได้พากันเก็บมะขามป้อมผลใหญ่   แล้วจึงออกเดินขบวนต่อไป
ถึงที่ประทับแรมเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ  มีกะเหรี่ยงชายหญิงมาเฝ้า แต่งกายสะอาดสะอ้านดี
สวมเสื้อทั้งชายหญิง    หญิงมีแพรสีทับทิมคล้องคอ   เครื่องประดับลูกปัด  แล้วเต้นรำตามเพศถวายให้ทอดพระเนตร
ชายเต้นกับไม้ไผ่เป็นกระบอกยาว  มีคนผู้ชายถือไม้กระบอกนั้น ๒ คน ๆละข้าง   หญิงเต้นกับไม้สักกลมเล็กๆ  
มีผู้หญิงถือไม้นั้น ๓ คนเต้นตามแบบเขา


นึกท่าเต้นไม่ออกว่าเป็นยังไง  ใครเคยดูการเต้นรำพื้นเมืองของพวกกะเหรี่ยงบ้างคะ

เช้าขึ้นเสด็จออกเดินขบวนต่อไป   ระยะทางตอนนี้ประทับร้อนกลางป่า  แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปดั่งเคย

วันหนึ่ง หยุดม้าพระที่นั่ง  เสด็จขึ้นทอดพระเนตรเขาทะลุ  ได้เห็นเมื่อลงจากช้าง  เป็นเขาใหญ่มีทางขึ้นไป  ดูทะลุเห็นฟ้ากว้างยาว

ขอให้สังเกตว่าในตอนแรก   เจ้าจอมเพิ่มนั่ง"รถ" ซึ่งคุณศรีปิงเวียงสันนิษฐานว่าเป็นเกวียน  ดิฉันก็เห็นด้วย
แต่ตอนนี้  ท่านไม่ได้นั่งรถแล้ว แต่นั่งช้าง  คงเป็นเพราะถึงทางลาดชันขึ้นภูเขา  เกวียนขึ้นไปไม่ได้  ต้องใช้ช้างเดินทางแทน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 29 มิ.ย. 06, 21:44

 " การเดินทางตอนนี้บางวันเห็นแต่เขากับต้นไม้ใหญ่ๆ  ตามกิ่งมีชายผ้านางสีดา(กล้วยไม้ชนิดหนึ่ง)ห้อย  
มีต้นยางที่มีเพลิงเผาเป็นโพรง   กล่าวว่าโพรงนั้นเขาเจาะเผาเอาน้ำมันยาง
วันหนึ่งข้ามห้วยแลไป  รู้สึกว่าแผ่นดินสูงขึ้น   ถึงที่ประทับแรม   บางวันที่เดือนหงายแจ่มสว่าง ก็ทรงสุนัขไล่ห่าน   บางวันก็ประทับห้องทรงพระอักษร"


"สุนัขไล่ห่าน" เป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง   จำไม่ได้แล้วว่าเป็นอย่างไรแน่ค่ะ

"เมื่อจวนจะถึงจังหวัดกาญจนบุรี เกิดอุปสรรคขึ้น    กล่าวกันว่าลูกช้างตกใจเสียงเกวียนบรรทุกน้ำ   วิ่งร้องขึ้นมาถึงขบวน
ช้างตื่นแตกวิ่งเข้าป่า   ช้างพระประเทียบและช้างพนักงานแตกตื่นอลหม่าน พนักงานตกจากกูบหลังช้าง
พวกหมอช้างพระประเทียบต้องกดขอให้ช้างยืนนิ่ง   คอยอยู่จนช้างที่วิ่งแตกหนีเข้าป่ากลับออกมาถึงแล้ว  จึงได้ออกเดินทางต่อไป"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 01 ก.ค. 06, 09:37

 สุนัขไล่ห่าน คลับคล้ายคลับคลาว่าทำนองเดียวกับไล่จับ   แต่หลายๆคนช่วยกันจับคนคนเดียว
ถ้าหาเจอจะกลับมาบอกทีหลังนะคะ
*************************
ถึงที่ประทับแรมเวลาจวนค่ำ   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้จดรายนามผู้ที่จะโปรดเกล้าฯมิให้ไปขบวนช้าง ให้ไปขบวนรถ
แต่ในขบวนรถมีคันหนึ่งที่เทียมด้วยโค   แต่ข้าพเจ้าได้ไปรถที่เทียมด้วยม้า  
จดรายนามผู้ที่จะไปขบวนช้าง  ขบวนรถ  เสร็จแล้วทูลเกล้าฯถวาย  จึงเสด็จออกข้างหน้า

รุ่งขึ้นเวลาเช้าได้ออกเดินขบวนต่อไป   และหยุดประทับร้อนตามระยะทางดังกล่าวมา
ระยะทางตอนในป่าท่าตระคร้อ  แผ่นดินสูงกว่าทางไปกาญจนบุรีมาก
รถเลี้ยวลงที่ต่ำต้องใช้คนเหนี่ยวท้ายรถจนถึงท่า
ลงเรือไปที่ประทับแรมกาญจนบุรี  เมื่อเสด็จถึงที่ประทับแรมแล้ว  ได้ทูลเกล้าถวายโคลงครึ่งบท
และได้มีพระราชนิพนธ์ต่อ ดังนี้


โคลงที่เจ้าจอมเพิ่ม ถวาย

เห็นรักสล้างต้น................แตกกอ
ดุจจิตจริงเจียวนอ............แตกน้อง

พระราชนิพนธ์ต่อสองบาทท้าย กลับมา  ว่า

จักต่อที่ถูกคอ..................เต็มยาก
ด้วยว่าหลับตาต้อง..........ต่อเพ้อตามแกน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง