เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 75224 ประวัติศาสตร์มีชีวิต : ขรัวอินโข่ง ข้อเสนอใหม่
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 08 มิ.ย. 06, 10:22


.
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 08 มิ.ย. 06, 10:58

 จะไปตอบเรื่องภูมิสถานวังหน้าที่ห้องมดอยากรู้นะครับ
ขรัวฯ กับธรรมศาสตร์ ดูเหมือนจะเชื่อมเรื่องราวลำบากหน่อย แหะ แหะ

ตอนนี้กลับเข้าเนื้อหาเดิมสักหน่อยก่อน ลืมซะแล่ว ว่าซอยแยกอยู่ตรงใหน  

นู่น............ความเห็น 47 เรื่องเทคนิคถ่ายรูป ที่จะเป็นข้อยืนยันว่า เมื่อปลายรัชกาลที่ 4 ขรัวอิน ยังเพิ่งจะให้ลูกน้องผูกโครงนั่งร้านที่ผนัง เตรียมการเขียนผนัง หมายความว่าเราต้องย้ายผลงานของท่านร่นถอยหลังลงมาอีกราวๆ 30 ปี

แต่ แม้ปีจะเปลี่ยน คุณค่าในเชิงสุนทรีย์ศาสตร์ก็ไม่กระทบกระเทือนเลย
อันที่จริงนะครับ ......
พูดกันแบบเปิดอก แม้สมมติว่างานของท่าน เพิ่งเขียนเสร็จวันสองวันนี้เองก็ตามที คุณค่าก็ยังเต็มร้อย ไม่ลดถอยแม้สัก 1 ขีด
นี่แหละที่เราเรียกกันว่าเอกะศิลปะ master piece มันส่งราคาข้ามยุคสมัย ยิ่งเราก้าวหน้าทางความรู้มากเท่าไร เราก็ยิ่งซาบซึ้งในสิ่งอมตะมากขึ้นเท่านั้น
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 08 มิ.ย. 06, 11:45

ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ถูกบดบังมานานว่าเป็นการเลียนแบบตะวันตก นักศึกษาทั่วไปมักจะมองข้าม แม้แต่ในบทเรียนของสำนักต่างๆ ก็มักจะศึกษาผ่านๆ พอให้ครบสมัยศิลปะไทย
หาได้เคยพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและเที่ยงธรรมไม่

อันที่จริง ในยุคนี้ ศิลปินที่มีบทบาทอย่างยิ่งใหญ่ และเรารู้จักประวัตินั้นมีอยู่มาก แต่ด้วยความเชื่อที่หมักหมมกันมา ศิลปินเอกทั้งหลาย ถูกยกไปเป็นของรัชกาลที่ 3 เสียหมด
1 ครูมีแขก ครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ ยังอยู่มาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 คราวประชุมครูดนตรีทำเพลงสรรเสริญพระบารมี 2415

"ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์
ระนาดฆ้องฤาดีปี่ไฉน
ครูแก้ว ครูพัก เป็นหลักชัย
ครูทองอินนั้นแลใครไม่เทียมทัน
มือตีตอดหนอดโหน่งขยักขย่อน
ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน
ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน
เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ
"

2 สุนทรภู่ อยู่มาจนทันเห็นถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร
"มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน
ทั้งผู้คนคึกคักกันนักหนา
มีโรงรถคชไกรไอยรา
สนามหน้าจักรวรรดิ์ที่หัดพล
ที่ท้ายวังตั้งล้วนแต่ตึกกว้าน
บ้างนั่งร้านสองแถวแนวถนน
นายด่านพา ผ่าตลาดต้องหลีกคน
ประชาชนซื้อหาพูดจากัน
"

มิหนำซำยังเอาการนุ่งฝรั่งของพระเจ้าอยู่หัว มาเขียนเสียเอร็ดอร่อย คนดูละคอนที่ปรินส์เธียเตอร์ คงติดงอมแงมยิ่งกว่าแม่ค้าทุกวันนี้ติดละคอนหลังข่าว
(วินิจฉัยเรื่องสุนทรภู่ จะทำต่อไปข้างหน้า)
3 พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เจ้านายศิลปินผู้รอบรู้เจนจบทุกศาสตร์แห่งศิลปกรรม
4 ฟรันซิศ จิต อัจฉริยะช่างชักรูป ที่มีผลงานเผยแพร่ทั่วโลกมานานนับร้อยปี  อนิจจา...ในนามคนอื่น
5 ขรัวอินโข่ง ช่างเขียนคู่พระทัย

ฯลฯ ยังมีอีกมาก
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 08 มิ.ย. 06, 14:53


.
ขอบคุณอาจารย์ ที่จัดประโยคให้เป็นระเบียบ ผมร้อยต่อกันเพราะคิดว่าจะให้อ่านแบบแม่ยกดูละคอนสมัย 2409 ฮิฮิ
จะให้ประหยัดหน้ากระดาษครับ

รูปที่แนบมา ตรงกับ

มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน  ทั้งผู้คนคึกคักกันนักหนา
มีโรงรถคชไกรไอยรา  สนามหน้าจักรวรรดิ์ที่หัดพล

ประเพณีหัดแถวทหารนี่ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ ผมไม่เคยเจอก่อนรัชกาลที่ 4 และไม่เคยเจอว่าสนามหน้าจักรวรรดิ์ ซึ่งก็คือสนามไชย อย่างในรูปนี้ เคยเอามาใช้เป็นที่ฝึกทหาร นอกจากในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

ตรงมุมซ้ายบน ก็คือบ้านช่องสองแถวแนวถนน
ตรงกลางคอร์ทในเขตรั้วล้อมก็ โรงรถคชไกรไอยรา  
ที่นี่ต่อมากลายเป็นราบ 4 ทหารรักษาพระองค์ที่รับผิดชอบพระราชฐานโดยตรง น ณ ปากน้ำ เคยบอกว่าเป็นโรงม้าแซง ก็ดูเข้าเค้ากันดี

ผมเคยได้ยินเจ้านาย ทรงบ่นว่า
แต่ก่อนทหารรักษาวัง มาจากราบ 4 เท่านั้น คุ้นเคยกันดี
เดี๋ยวนี้เปลี่ยนหมู่เปลี่ยนกรม จนจำอะไรไม่ได้
ท่านที่รับผิดชอบ กรูณารับทราบด้วยครับ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 09 มิ.ย. 06, 13:59

 ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ถูกบดบังมานานว่าเป็นการเลียนแบบตะวันตก นักศึกษาทั่วไปมักจะมองข้าม แม้แต่ในบทเรียนของสำนักต่างๆ ก็มักจะศึกษาผ่านๆ พอให้ครบสมัยศิลปะไทย
หาได้เคยพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและเที่ยงธรรมไม่

อยากให้คุณ Pipat ช่วยจำกัดหรือให้ความหมายของศิลปะสมัยรัชกาลที่ 4 นอกเหนือจากการรับรู้ทั่วๆไป อย่างการได้รับแรงบันดาลใจจากตะวันตกหรือ แนวคิดใหม่ของธรรมยุตินิกายหน่อยเถิดครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 09 มิ.ย. 06, 20:24

 จะเปรียบง่ายๆอย่างนี้นะครับ ว่า ร. 4 ทรงแต่งกายแบบฝรั่งแล้วท่านเป็นฝรั่งหรือเปล่า ตรัสภาษาอังกฤษ เขียนภาษาอังกฤษ แล้วท่านเป็นอังกฤษหรือเปล่า

เทียบกับคุณถวัลย์ ดัชนี เขียนรูปแต่ละทีขยับมือแต่ละครั้ง ว่าอภิธรรมได้เป็นเข่ง แต่งานของแก เอาทฤษฎีความงามที่รองรับการสร้างพระพุทธชินราชมาจับ จะไม่ได้อะไรเลย ต้องไปใช้พวกประมาณว่าดาวินจิ โคตร นั่นแหละ พอเข้าใจ

งานแบบขรัวอินโข่ง หรือสุนทรภู่ ล้ำยุคแค่ใหน ก็เป็นไทยร้อยเปอร์เซนต์ อาจจะห่างไกลรูปแบบจากจิตรกรรมวัดราชบูรณะหรือทวาทศมาศ แต่ก็ยังเห็นเชื้อลาย เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว

ส่วนเรื่องธรรมยุตินิกายในศิลปะนี่เป็นทฤษฎีของดอกเตอร์สติแตกคนหนึ่ง คุณต้องไปถามเขาเอง ผมตอบแทนให้ไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
กุรุกุลา
พาลี
****
ตอบ: 235


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 09 มิ.ย. 06, 21:43

 ขอบคุณมากครับ คุณ Pipat ถ้าผมจะเข้าใจว่า ศิลปะในรัชกาลที่ 4ได้รับแรงบันดาลใจจากตะวันตก (ขอไม่ใช้คำว่าอิทธิพล) แต่ยังคงสุนทรียภาพแบบไทยไว้
อย่างนี้ถือว่าเข้าเค้าบ้างไหมครับ แต่เท่าที่ผมสังเกต ศิลปะสมัยนี้เหมือนกำลังค้นหาแนวทางใหม่สำหรับตัวเอง มีทั้งจีน ไทย ฝรั่ง ผสมกัน จนออกมาอย่างที่เห็น ผมเชื่อว่า
ในส่วนของศิลปะ พระองค์ท่านคงมองกว้างกว่าการลอกเลียนแบบตะวันตกเป็๋นแน่

อีกอย่างที่อยากถามครับ วัดราชบูรณะที่กล่าวถึงนี่หมายถึงที่เชิงสะพานพุทธใช่หรือไม่ครับ หรือหมายถึงที่อยุธยา เพราะทั้งสองที่ต่างก็มีจิตรกรรมเป็นเลิศ เพียงแต่ที่กรุงเทพ
กลายเป็นอดีตไปแล้ว
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 09 มิ.ย. 06, 22:20

 ศิลปะที่เกิดขึ้นในสมัยที่ขนบธรรมเนียมประเพณียังมีคุณค่าสูงอยู่ จะไม่รู้จักกับคำดาษๆอย่างแรงบันดาลใจ เพราะศิลปินและผู้สร้าง มีภาระทางใจที่ใหญ่กว่าตนเองครับ แม้เพียงสมัยสมเด็จฯ นริศ ที่ทรงออกแบบวัดเบญจมบพิตร อย่างถวายชีวิต ก็ต้องการเพียงให้จารึกว่า ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ยังมีคนทำสิ่งที่เป็นเลิศตามแบบแผนโบราณได้ ปรากฏอยู่ มันเป็นศรีแก่พระนคร และท่านก็มิได้ป่าวประกาศความสำเร็จนะครับ

ยกท่านมาเป็นคำอธิบายก็ได้ว่า ท่านเขียนแบบ เพราะมันเป็นวิธีเดียว ที่จะสื่อสารให้ฝรั่งรับจ้างทำตามคำสั่งของเราได้ ท่านลงพระนามในแบบต่างๆ มิใช่เพื่อแสดงตัวตนของศิลปิน แต่จำต้องลงพระนาม เพราะมีคนลอกท่านมากเหลือเกิน ท่านเลยต้องแปะป้าย ว่านี้คือ น. เทียนสิน ยี่ห้อของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ผู้เป็นนายช่างของแท้และแน่นอน อย่างนี้คงจะเห็นนะครับ ว่าทำเหมือนฝรั่ง แต่ไม่ได้คิดเหมือนฝรั่ง
กลับกันกับของเฮียหวัน ต่อให้เขียนเสร็จต่อหน้าต่อตา แต่ถ้าไม่ลงชื่อไว้ ก็ไม่มีค่า เพราะเป็นยุคสมัยเห่อแบรนด์เนม จะชื่นชมแก่นสารอะไรก็หาไม่

อยากให้คุณลองอ่านนิยายของดอกไม้สด เอาเรื่องท้ายๆ ที่ท่านอิ่มตัว จิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องที่เขียนแล้วเป็นดีที่สุด นั่นเป็นวรรณกรรมที่ผมเห็นว่า ไม่เป็นสากลเลยสักนิดเดียว คุณไปเอาเครื่องมือวิเคราะห์ยี่ห้ออะไรรุ่นใหนมาจับ ก็จับได้แต่เปลือกขอรับ จะจับแก่นของดอกไม้สด คุณต้องเป็นคนไทยธรรมดา ที่มีชีวิต ใช้ชีวิต และดำรงชีวิต ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครองลงมา รู้จักสังคมเมียมาก สังคมผู้ชายเป็นจ้าว รู้จักความขัดแย้งระหว่างศรัทธากับเหตุผล รู้จักบาปบุญคุณโทษ สารพัด....พรรณาไม่หมดครับ ล้วนเป็นเงื่อนไขที่สากลไม่รู้จัก มันก็เหมือนที่เราไม่รู้จักปมบ้าปมบอของคนติดยาที่ชื่อฟลอยด์นั่นแหละครับ
ถ้าไม่รู้ ก็จะดูหนังและอ่านนิยายจำพวกหนึ่งไม่เข้าไคล

แต่สั้นๆ คือ นี่เป็นนิยายไทย เหมือนงานของสุนทรภู่ ก็เป็นนิยายไทย ขรัว ก็เป็นจิตรกรรมไทย พระองค์เจ้าประดิษฐ์ และสมเด็จฯ นริศ ก็เป็นสมบัติไทย

ผมไม่เสียเวลาศึกษาศิลปะสากลเพื่อมาอธิบายศิลปะไทยดอกครับ ผมเห็นว่านั่นเป็นการเอาหัวเดินต่างคีน
ผมก็แค่ดูงานอยุธยาตอนต้น (วัดราชบูรณะก็หนึ่งในนั้น) เข้าใจพระไตรปิฎกให้มากหน่อย สนใจศุภอักษรสาส์นในแต่ละรัชกาล อ่านวรรณคดีให้หมด ดูของจริงเท่าที่จะไปดูได้ เปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ทำอย่างนี้มาจนถึงขรัวอินโข่ง

ก็พอจะเข้าใจศิลปะของไทยได้

ส่วนศิลปะสากลนั้น ตราบใด ไม่มีเงินบินไปดูของจริงได้ทุกครั้งที่อยากรู้ ก็ถือว่าเราเป็นแค่มือสมัครเล่นครับ เล่นไปรังแต่ขาดทุน

เอ ไม่รู้ตอบอะไรไปมั่งหรือเปล่า

ถ้ายังไงก็ถามดุๆ มาใหม่นะครับ แหะๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 08:47

 ได้ยินคุณพิพัฒน์เอ่ยถึงวรรณกรรม   ดิฉันเหมือนลิเกเก่าได้ยินเสียงปี่พาทย์ลาดตระโพนลอยลมมาจากนอกชานเรือนไทย
เดี๋ยวจะต้องสวมเครื่องทรงและถุงน่องรองเท้าออกไปร้องราดนิเกริงเสียหน่อย
" ดอกไม้สด" เป็นนักเขียนคนโปรดเสียด้วย  แวดวงหนังสือเขาเพิ่งจะครบรอบ ๑๐๐ ปี ไปหยกๆนี่เอง

คุณพิพัฒน์คะ    ดิฉันขอขันอาสาตีความคำถามของคุณกุรุฯ ว่า "แรงบันดาลใจ" ไม่ใช่คำดาษๆต่ำต้อย  
แต่เป็นคำที่ผู้สนใจศิลปะ ๔ อย่างที่รวมอยู่ในวิจิตรศิลป์ คือ จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ดนตรี เขาใช้กันประจำ  
ถึงงานที่ศิลปินมองเห็นงานอีกชิ้นหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความคิดจะสร้างงานของตัวเองขึ้นมา
แต่งานที่สร้างขึ้นก็หาใช่ว่าก๊อปออกมาเหมือนสินค้าเลียนแบบ   เป็นงานที่มี"ความคิดสร้างสรรค์"และ"ความเป็นตัวของตัวเอง"อยู่พร้อม
(สองคำนี้เป็นคำดาษดื่นอีกหรือเปล่านะเนี่ย)

อย่างภาพของขรัวอินโข่งที่เอามาลงข้างบนนี้    แน่นอนว่าไม่ใช่ภาพสยามประเทศ  
ขรัวอินโข่งท่านต้องได้แบบที่มาจากของอะไรสักอย่างของฝรั่งเช่นภาพวาด   ปกหนังสือ ภาพประกอบหนังสือ ลายบนเครื่องกระเบื้องฝรั่ง ฯลฯ  แล้วทำให้ท่านเกิดไอเดียสร้างภาพนี้ขึ้นมา ในลักษณะฝีมือของท่านเอง
อย่างนี้เรียกว่า"แรงบันดาลใจ"  เมื่อก่อนใช้คำว่า "อิทธิพล" ต่อมาคงจะรู้สึกตะขิดตะขวงว่า เหมือนเราถูกครอบงำ ก็เลยเปลี่ยนเป็นคำแรก

เคยอ่านพบว่า งานเหล่านี้เป็นภาพปริศนาธรรม     คนตีความคือ น.ณ ปากน้ำหรือใครสักคนไม่แน่ใจ      
คุณพิพัฒน์จะตีความให้ฟังได้ไหมคะ  ตามความเข้าใจศิลปะไทยตามแบบของคุณเอง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 10:10

 ยินดีครับอาจารย์
แรงบันดาลใจ ในความเห็นของผม(คนเดียว) เป็นคำหรูที่ใช้กันจนกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เหมาะกับงานศิลปะระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่หยั่งรากลึกลงสู่กำพืดของตัวเอง นี่เปรียบศิลปินเป็นไม้ใหญ่นะครับ ระดับพญาไม้นี่ ท่านมีรากของตัวเอง ท่านดูดดื่มดินที่ตัวเองถือกำเนิด แล้วนำมาบำรุงลำต้นคือตัวเอง เพื่อแผ่ปกปักป่าใหญ่ที่ตนเองเป็นสมาชิก
ไม้ระดับนี้ ไม่เคยด้อมๆมองๆ หาแรงบันดาลใจหรอกครับ แต่ตัวเองอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นนั่นละใช่

ศิลปินคนใด ที่ผมติดตามงาน แล้วผมยังได้กลิ่นแรงบันดาลใจจากท่านผู้นั้น ผมก็เลิกติดตามเท่านั้นเอง อย่างนี้ลดภาระในการศึกษาลงได้มาก
(อันนี้ ไม่แนะนำให้ทำตาม หากท่านอื่นๆ ต้องเรียนต้องสอนนะครับ สายนั้นเขามีกรรม งานห่วยยังไง ถ้าบังเอิญมีเหตุให้ต้องศึกษา ก็ต้องศึกษา ปฎิเสธไม่ได้ เพราะอยากได้วุฒิ)

คำว่าแรงบันดาลใจ ในความเห็นของผม ก็คือการเอาอย่าง เลียนแบบ ก็อบปี้ ลอกเขา ขโมย ปล้น....หนักเบา สุดแท้แต่ร่องรอยที่เราจะหาเจอ ผมจึงเลือกสนใจแต่สิ่งที่ผมมองไม่เห็นแรงบันดาลใจ ซึ่งก็คือศิลปะของไทยเรานี่เอง เพราะไม่มีความรู้ในภาษาอื่น อันที่จริงภาษาเดิมเขาก็ชัดนะครับ อินสะไปร จะแปลออกในทางดีนี่คงจะลำบากครับ

ผมขอบคำให้การของไฮน์ริค เบอล นักเรื่องสั้นเยอระมัน (ดัดจริตไปหน่อยนะครับ พอดีนักเขียนไทยที่ผมปลื้ม อย่างดอกไม้สดนี่ ท่านไม่เขียนคำให้การเสียด้วย) ที่เขาแปลมา เบอลบอกว่า มีคนถามว่า ทำไมจึงมาเขียนหนังสือ เขาบอกว่า "ผมไม่มีทางเลือก" นี่เป็นคนละอย่างกับคำว่าแรงบันดาลใจ หรือที่หลู่ซิ่น เห็นหนังข่าวที่ญี่ปุ่น (แกเรียนแพทย์อยู่ที่นั่น) ช่วงสงครามญี่ปุ่น-จีน เป็นข่าวทหารญี่ปุ่นประหารชีวิตคนจีนกลางเมือง มีคนมุงเต็ม แกสุดสะเทือนใจที่ในกลุ่มจีนมุงเหล่านั้น มีคนจีนยืนดูอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส แกจึงสำนึกว่า อาชีพแพทย์หมอที่แกกำลังร่ำเรียนอยู่นั้น เยียวยาสังคมจีนมิได้ จึงจับปากกาเขียนเรื่อง เหมือนเบอล ที่เก็บประสบการณ์สงครามไว้เต็มสมอง ไม่มีทางเลือก นอกจากกลั่นมันออกมา

ตัวอย่างพวกนี้ เป็นพญาไม้ในป่าใหญ่ ซึ่งผมคิดว่า มีค่าควรแก่การชื่นชม เลยไม่มีเวลาให้กับสกุลแรงบันดาลใจครับ

ดีใจที่อาจารย์ชอบดอกไม้สด
ประสบการณ์สุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิต ก็คือได้หอบสมุดปกแข็งหนาสามสี่ร้อยหน้ากลับบ้าน หาเวลาเหมาะๆ มุมเหมาะๆ แสงสว่างเหมาะๆ นั่งอ่านลายมือเขียนจากดินสอดำงดงาม ตัวสม่ำเสมอ เส้นเรียบคมชัดเจน เรื่องชัยชนะของหลวงนฤบาล
เพื่อนคนหนึ่งเอื้อเฟื้อให้มาอ่าน
เพื่อนเล่าว่า ท่านย่าบุบฝา จะเหลาดินสอครั้งละสองโหลใส่กระบอก แล้วเขียนจนทุกด้ามหมดแหลม จึงเลิก

เขียนของขรัวอินโข่ง มีสองแบบ คือแบบเดิมกับแบบปริศนาธรรม แบบเดิมก็เช่นที่วันมหาสมณาราม เชิงเขาวัง และที่เป็นรูปแผ่นเล็ก 6 ชิ้นในพิพิธภัณฑ์
แบบปริศนาธรรมอยู่ที่วัดบรมนิวาสน์ และวัดบวรนิเวศน์ พระเจ้าอยู่หัวทรงผูกเรื่อง ขรัวอินโข่งเป็นคนเขียนเรื่อง ในหนังสือตำนานวัดบวรฯ มีพิมพ์อธิบายไว้ครับ ถ้าไม่รู้เรื่องที่เป็นตัวปริศนาแล้ว ดูให้ตายก็ไม่ได้รสครับ คงเหมือนสวดมนตร์โดยไม่รู้ความหมาย หรือดูโอเปร่าโดยฟังภาษาไม่ออก

สำหรับ "ความคิดสร้างสรรค์" นั้นผมขอประทานโทษที่จะให้ราคาลงต่ำกว่าคำว่า "แรงบันดาลใจ" เสียอีก เห็นมีตำราเป็นตู้เลย เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ นึกไม่ถึงว่าคนเราจะสร้างผลิตภัณฑ์จากคำนี้ได้มากถึงเพียงนี้ เผลอๆ จะมากกว่าหนังสือศิลปะเสียอีก
ผมว่า คำว่า"ความคิด" หรือศัพท์ไทยธรรมดาว่า "หัวคิด" นี่ก็สูงพอแล้วครับ งานศิลปะที่ไม่มีความคิดฝังอยู่ ย่อมไม่เป็นศิลปะ ซึ่งโชคร้ายที่มีเกลื่อนตลาด มองไปทางใหนก็เจอ
ส่วนการสร้างสรรค์นั้น เป็นภาระกิจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ไปแอบเอาของท่านมาใช้ น่าจะบาปมังครับ ฮิฮิ

ปิดท้ายด้วยคำว่า "ความเป็นตัวของตัวเอง" อันนี้ผมเห็นว่าเป็นศัพท์ขำขันครับ มีด้วยหรือ คนที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถ้ามี ก็คงทำอะไรไม่ได้แม้สักอย่าง ผมว่า คำนี้ พวกครูศิลปะ เขาเอาไว้ด่าลูกศิษย์ที่ไปลอกงานคนอื่นมาทั้งกะปี จนน่ารำคาญ กับอีกพวกหนึ่งเวลาทำงาน พอมีคนทัก ก็เปลี่ยนสิ่งที่กำลังทำ เอาแต่เปลี่ยนไปตามคำคนนอก พวกนี้ ปลาทองยังน่านับถือกว่าเลย ว่ายน้ำไม่ซำแบบใครสักคน

การตามอย่างนี่ ผมไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหายเลยครับ ถ้าเราทำสุดฝีมือ กวีไทย ท่านก็ประกาศออกโจ่งแจ้ง ว่าตามอย่างครู พวกนิราศนี่เป็นต้น บางทีก็ยืมคำ สำนวนคนอื่นมา เราอ่านแล้วมีแต่ระรื่นอารมณ์ ร้องว่า เอาอีก เอาอีก

เรื่องที่พูดมาทั้งหมด น่ากลัวต้องขีดเส้นแบ่งด้วยมังครับ ว่าผมเน้นงานศิลปะแบบไทยตั้งแต่ขรัวอินโข่งย้อนกลับเข้าไป และเป็นความฟุ้งซ่านส่วนตัว อ่านเล่นๆ อย่าคล้อยตามเป็นดีที่สุด
5 5 5 5
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 12:10

 คราวนี้จะมายกตัวอย่างงานบางชิ้นที่ผมเห็นว่าน่าเรียนรู้ในประเด็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ที่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งหาให้ตายก็ไม่เจอ ฮิฮิ

สมุทรโฆษฯ นี่ มีแบบอย่าที่ใหนเคยทำกันใหมครับ คนที่หนึ่งแต่ง คนที่สองต่อ อีกร้อยกว่าปี คนที่สามมาแต่งให้จบ ประเพณีไทยนี่แปลก อนุญาตให้คนอื่นมาแทรกแซงงานของตน ยกเว้นท่านสุนทรคนเดียว แกบอก ฉันทำของฉันเอง คนอื่นอย่ามายุ่ง แล้วประเพณีไทยอีกแหละครับ ที่ให้คนไม่อ่านพระอภัยมณีมาชำระพระอภัยมณี สมเด็จฯ นริศ ท่านออกตัวกับพระพินิจวรรณการไว้ล่วงหน้าเลย ว่า "ฉันโง่พระอภัย" แต่ท่านก็ฉลองพระเดชพระคุณชำระต้นฉบับให้จนสำเร็จ เป็นฉบับหอพระสมุด เพราะนิยายนี้ จะพิมพ์ในนามบ้านเมืองที่ท่านรับราชการอยู่

ทีนี้ ลองดูตัวอย่างฝรั่งบ้าง โชสกาโกวิชมีโอกาสร่วมในการเฉลิมฉลองบั๊ค นักแต่งเพลงเอก ในปี 1950 ไปเห็นต้นฉบับงานคีย์บอร์ด (เครื่องดนตรีนะครับ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์) เกิดแรงกระตุ้นอย่างรุนแรง แต่ง 24 Preludes and Fugues เพื่อแสดงความคารวะ และเป็นการล้อ 24 Preludes and Fugues ของฝ่ายแรก
มันเป็นงานคียบอร์ดที่สำคัญที่สุดในรอบร้อยปีทีเดียว โดยไม่เป็น Bach แต่เป็น Shostkovich ของแท้ตั้งแต่โน๊ตตัวแรกยันตัวสุดท้าย แต่ทุกๆคนก็รู้ว่า มันเริ่มต้นมาจากบั๊คแหงเยอรมัน

อย่างนี้เห็นจะเกินทฤษฎีแรงบันดาลใจดาษๆ ที่ผมไม่อยากให้เผลอไปใช้กัน มันน่าจะเหมือน ซาโตริ แบบเซ็นมากกว่า คือการจุดประกาย หรือเรียกอีกอย่างว่าเขื่อนแตก ไหลทะลักออกมาเป็นศิลปะชิ้นเอก
มีแต่ศิลปะชั้นรองครับ ที่ผมเห็นว่าต้องท่องคาถา แรงบันดาลใจสร้างสรรค์อย่างเป็นตัวของตัวเอง ศิลปินแท้ ไม่มีเวลามาทำเรื่องไร้สาระอย่างนี้หรอกครับ อาจารย์ไพฑูรย์ที่รักของกระผม ก่อนตาย แกบ่นว่า เมื่อก่อนคิดงานไม่ออก เดี๋ยวนี้ทำสิ่งที่คิดไม่ทัน เห็นอะไรก็เป็นงานได้หมด

โรคนี้ นักเขียนก็ต้องเป็นกระมัง พอเริ่มเขียนแล้ว งานมันครอบงำจนลืมคำดาษๆ พวกนั้นไปหมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 13:28

 คุณพิพัฒน์ไม่น่าปรารภว่าคุณ Tiwa เขียนอะไรอ่านไม่รู้เรื่อง   ข้อเขียนข้างบนนี่อ่านยากกว่าหลายเท่า

ดิฉันไม่ชอบแบ่งชั้นวรรณะถ้อยคำนามธรรม   แต่ถ้าแบ่งชั้นวรรณะเชิงรูปธรรม  อย่างที่เคยตอบคุณสมศักดิ์ไป   อันนั้นยืนยันการแบ่ง มันเห็นเจตนาชัดกว่ากัน

แต่มาแบ่งชั้นวรรณะ เหยียดหยามคำว่าแรงบันดาลใจ  ความเป็นตัวของตัวเอง  แต่พอถึงคำว่า"เอาอย่าง"   คุณไม่เห็นว่าเสียหายอะไรถ้าทำสุดฝีมือ    ดิฉันยังกลืนการจำแนกของคุณพิพัฒน์ไม่ลงคอจริงๆค่ะ
เอาเป็นว่ายินดีอ่านเล่นๆแต่ไม่คล้อยตาม ตามคำแนะนำ ละกันนะคะ  

คุณพูดถูกว่าคนที่เป็นครู มีหน้าที่สอน  ก็หลีกเลี่ยงคำพวกนี้ไม่พ้น  
ดิฉันไม่ได้มาแก้แทนหรือปกป้องครูพวกนั้นหรอก    จะขอพูดอีกแง่หนึ่งว่าคนที่คิดแบบคุณพิพัฒน์ ทำให้คนอย่างดิฉันเกร็งไปหมดเวลาใช้ถ้อยคำ  
คนพูดมองอย่าง คนฟังมองไปอีกอย่าง  มันจะสื่อกันไม่ได้  

เพราะงั้น ดิฉันขอใช้คำว่าความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ  ความเป็นตัวของตัวเอง  ต่อไปอย่างเดิมนะคะ
มีป.ล.ในใจว่าในความหมายตามแบบดิฉัน   ไม่ใช่ความหมายแบบคุณพิพัฒน์

อยากฟังเรื่องงานของขรัวอินโข่งต่อไปอีกค่ะ   ข้อเสนอใหม่ที่คุณว่า   มีอะไรอีกบ้าง
กระหายจะฟัง  ยังไม่อิ่ม
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 17:24

เสียใจที่อาจารย์อ่านไม่รู้เรื่อง บางทีผมก็อ่านของตัวเองไม่รู้เรื่องเหมือนกัลลล์ แหะ แหะ

ปัญหาคงอยู่ตรงที่เราทำเรื่องที่ควรจะรู้เรื่องง่ายๆ อย่างงานศิลปะ
ให้มัน "สูงส่ง" จนพ้นจากชีวิตประจำวันกระมังครับ
งานในแนวทางประเพณีนิยม ความจริงเป็นเรื่องตรงไปตรงมาอย่างที่สุดนะครับ เว้นแต่ที่เป็นเรื่องสูง ระดับต้องถอดรหัส อย่างทวาทศมาศ นั่นก็เป็นไปตามเจตนาของการสร้างงาน และคงจะใช้กันในหมู่คนจำนวนจำกัดเหมือนโคลงแช่งน้ำ และคาถาในการพระราชพิธี
แต่เมื่อมาพิจารณาที่ศิลปะในสาธารณะสถาน อย่างศาสนสถาน หรืออัครสถานประจำเมืองทั้งหลายแหล่ ที่ตั้งตระหง่านเป็นศรีสง่าแกประเทศชาติมานานนับพันปี แต่คนปัจจุบันดูไม่รู้เรื่อง แถมบางทียังกระทำการที่น่ากระอักกระอ่วน อย่างเช่นนักออกแบบหญ่ายตนหนึ่ง เชิญชิ้นส่วนของดาวเพดานมาใช้เป็นโต๊ะกลางของชุดรับแขก บ้างก็เชิญเชิญช่อฟ้าโบราณมาอยู่ตามล็อบบี้โรงแรม หนักที่สุดก็มีพิธีสักยันตร์ให้แม่สาวดาราในหนังนักขุดกรุ เอิกเกริกไปทั่วโลก.........สารพัดจะทำบัดสีโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

ผมเคยไปเที่ยวเมืองพม่ามาครั้งหนึ่ง เมื่อสักยี่สิบปีก่อนกระมัง ถามคนนำทางเรื่องพื้นๆ เช่นว่า ทำไมคุณจึงวาดดอกบัวไว้บนเพดานโบสถ์ ดอกมหึมา บานสะพรั่ง เธอก็ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า เพราะดอกบัว เป็นดอกไม้แรกแห่งจักรวาลน่ะซี
ทำผมอึ้งไปเลย เพราะไม่เคยมีตำราใหนสอน(เท่าที่ผมเคยอ่านเจอ) แล้วก็พลันนึกถึงเรื่องดอกบัวนิมิตรก่อนตั้งกัล์ป ที่กลิ่นดินหอมขึ้นไปถึงชั้นพรหม จนต้องลงมาดู ถ้าบัวบานกี่ดอก ก็หมายถึงกัล์ปนั้นมีพระเจ้ามาตรัสกี่พระองค์.....

แล้วก็เลยเข้าใจหน้าที่ของดาวเพดานที่คุ้นตาในศิลปะอยูธยา แล้วลามไปเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า พระปฐมสมโพธิ์นั้น สำคัญอย่างไรแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่นั้นก็หวนมาสนใจเรื่องพระจุฬามณีเจดีย์ ในฐานะเป็นเจดีย์แรกของพระพุทธศาสนา จนมาจบที่มหาปรินิพพานสูตร อันว่าด้วยการกระจายไปของพระบรมธาตุ

ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องใช้ศัพท์นามธรรมที่มีชั้นวรรณะอย่างที่อาจารย์ตั้งข้อรังเกียจเลยครับ เป็นความรู้หญ้าปากคอกของมหาและเปรียญทั้งนั้น คนโบราณที่ท่านสร้างงานไว้ให้เราดู ท่านอ่านท่านเชื่อของพวกนี้ แล้วก็ทำแต่ของพวกนี้ ตามที่ท่านเชื่อท่านเคารพ เราจะทำความเข้าใจ ก็ต้องตามรอยท่าน

จะนอกรีตนอกรอยไปอ่านพวก ตำราสร้างสรรค์ ทฤษฎีปัจเจกนิยม ทฤษฎีเรื่องความเป็นอื่น สัญญานวิธีในโลกแห่งสัญลักษณ์ ...ว่าด้วยความผิดแปลกสภาวะ.....ตายครับ ตายเสียก่อน คงต้องไปอีกไกลแสนไกล กว่าจะวกมาเจอท่านขรัวของผม

เสียดายที่ผมไม่มีรูปมากพอจะใช้ประกอบข้อเสนอ ที่ว่าด้วยการ "เอาอย่าง" ในศิลปะประเพณีนิยม (คำนี้ก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกันครับ แค่คำว่าศิลปะของไทย ก็น่าจะพอ) ว่า มิได้ต้อยต่ำเลย อยากให้อาจารย์นึกถึงรูปพระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งสาละ แล้วพระกุมารเสด็จออกจากสีข้าง นั่นเป็นท่าโบราณ ที่มีมาก่อนสร้างพุทธศิลปะที่มัธยประเทศ แล้วก็เอาอย่างกันลงมาร่วมสองพันปี กว่าจะเลิกรู้จัก ศิลปินทั้งหลาย ไม่เคยตะขิดตะขวงใจที่จะคัดลอกตามๆกันลงมา
แต่ทีสองผัวเมียยืนหน้าตึงในจิตรกรรมชิ้นที่เรียกว่าอะเมริกันโกธิค ที่เคยพาไปแสดงในเรื่องสับสยองของอาจารย์ มันกลับกลายเป็นท่าทางที่สงวนลิขสิทธิ์ ใครจำไปใช้เป็นต้องถูกข้อหา "เอาอย่าง" ประเด็นนี้ ผมก็ยังงงอยู่

กลับมาที่ขรัวอินโข่ง
เมื่อท่าน "เอาอย่าง" รูปภาพของตะวันตก มาสร้างปริศนาธรรมไทย ขืนผมไปดูถูกกระบวนการนี้ ก็ไม่ต้องทำการทำงานต่อซีครับ แต่มิใช่ว่า ผมไม่รู้ ว่ามีการเอาอย่างที่น่ารังเกียจปรากฏอยู่ในโลกเน่าๆ ใบนี้ ตัวผมเองก็ได้สัมผัสมา เผลอๆ บางทีก็อาจทำมันเสียเอง แต่มันมีข้อแตกต่างระหว่างการเอาอย่างของขรัว กับการเอาอย่างของพวกมิจฉาอาชีวะในปัจจุบัน เอาเป็นว่าพวกเราคงซาบซึ้งกับอย่างหลังนี้ดีพอ จนไม่ต้องสาธยาย

ผมจะจำกัดวงที่โคตรสกุลช่างของผมเป็นพอ ว่าท่านเอาอย่างด้วยปัจจัยแวดล้อมอย่างไร
แล้วจะมาบรรยายต่อนะครับ ตอนนี้ต้องไปหาอะไรมาให้อาจารย์เทาชมพูกลืนลงคอคล่องๆ ในสิ่งที่ผมเสนอ......หาไม่ เจอก้านมะยม จะเจ็บจนคอมพิวเตอร์ป่วยน่าซี  5555
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 22:16

 คำว่า "เอาอย่าง" ก็เรียกง่ายพิมพ์ง่ายดีค่ะ   กินเนื้อที่น้อยกว่า "แรงบันดาลใจ"

คำว่า "เอาอย่าง" ถ้าศิลปินบางคนได้ยินเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ  หนอย!  มาหาว่าผมเอาอย่างได้ไง    หา! ผมแค่ได้แรงบันดาลใจ   พูดซะให้ถูกนะ อย่ามาหมิ่นประมาทกัน
ศิลปินนี่เดาใจยาก

นึกออกแล้ว  จะคุยเรื่องพระอภัยมณี    ว่าศึกเก้าทัพในเรื่อง ที่เจ้าเมืองต่างๆแห่กันมาช่วยนางละเวงรบกับพระอภัย  ที่เมื่อก่อนว่ากันว่าสุนทรภู่...เอ้อ..เอาอย่างมาจากศึกเก้าทัพสมัยพระเจ้าปะดุง

ทีนี้  คุณนิลกังขาเจ้าเก่าของเรือนไทย แปลหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ตำนานพระเจ้าชาลมาญ  โธมัส บุลฟินช์ผู้แต่งรวบรวมเรียบเรียงจากวรรณคดีโบราณของยุโรป  ตัวผู้แต่งเป็นชาวอเมริกัน แกมีชีวิตอยู่เมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙ ที่บอสตัน

เนื้อเรื่องตอนต้นยังกะเอาอย่างพระอภัยมณีตอนนี้แน่ะค่ะ   มีนางงามที่เข้ามาทำเอาอัศวินพระเจ้าชาลมาญปั่นป่วนกันไม่เป็นส่ำ  ใครชนะได้แต่งงานกับนาง  เหมือนสัญญาของนางละเวงต่อเจ้าเมืองทั้งหลาย
เจ้าละมาน ชื่อเสียงก็คล้ายๆชาลมาญ

ในตำนานพระเจ้าชาลมาญ  มีอัศวินหญิงอยู่คนหนึ่งเก่งมาก  รบชนะผู้ชาย
ในพระอภัยมณี  นางฝรั่งลังกาทั้งหลายก็รบเก่งเป็นไฟ   ส่วนนางไทยที่ชื่อเสาวคนธ์ก็ไม่ใช่ย่อย  รบเก่งกว่านางฝรั่งเสียอีก

ในตำนานพระเจ้าชาลมาญ มีenchantress หรือนางมายานีสาวแสนงาม  ทำเสน่ห์อัศวินทั้งหลายจนโงหัวไม่ขึ้น  อยู่ในเงื้อมมือนาง   เหมือนพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาครติดข่ายเสน่ห์นางฝรั่งกันหมด

ดิฉันก็เลยคิดเล่นๆว่า  เรื่องนี้จะมาจากอเมริกาผ่านทางหมอสอนศาสนาที่มีศูนย์กลางอยู่บอสตันได้ไหม   ตามประสากวี สุนทรภู่ไม่ได้เดินทางเก่งอย่างเดียว  คงคุยเก่งและเก็บข้อมูลเก่งด้วย  ไม่ว่ากับใครท่านก็คงไปคุยกับเขาได้
บอกแล้วนะคะว่าคิดเล่นๆ  คุณพิพัฒน์มีหนังสือเล่มนี้อยู่แล้วลองหาอ่านดู
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 10 มิ.ย. 06, 22:53

 กาญจนาคพันธุ์ เป็นนักจับแกะชนแพะ หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่าเอาขนมผสมน้ำยาได้เด็ดดวงที่สุด ชนิดที่ว่าทุกคนที่ค้นเรื่องพระอภัยมณีต้องเรียกพี่ใหญ่ ดังที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศศิลปินแห่งชาติลอกความเห็นมาเป็นคำนำในหนังสือเล่มหนึ่ง แก(หมายถึงทั้งสองท่านเลยนะครับ) เห็นว่าพระอภัยมณีเป็นนิยายแห่งเอเซีย กินอาณาบริเวณจากเปอร์เชีย มาอินเดีย มาลังกา มามาดาร์กัสการ์ ไล่มาจนไปถึงใหนก็ไม่รู้ เพราะมัวแต่ไปดูซินแบดเสียก่อน ในอีกเล่มหนึ่ง สิ่งที่ได้พบเห็นในเรื่องคาวี โยงเรื่องสัมพันธ์ระหว่างสุวรรณภูมิกับฟาโรห์ไปเลย รู้แล้วรู้รอด แต่หลายประเด็นก็น่าคิดต่อครับ

นิทานสิบสองเหลี่ยมนั้นมีมาแต่อยุธยา ส่วนเค้าโครงเรื่องของปัญญาสชาดกก็แพร่ไปผสมปนเปจนทั่วเอเซียเหมือนกัน เรื่องชาลมาญจะเข้ามาอีกเรื่องก็ไม่แปลก ถ้าจำไม่ผิด ก็ น.ม.ส. และครับ ที่ทรงชี้ความเหมือนในเรื่องนี้

แต่เค้าโครงเรื่องมาจากใหนบ้างนี่เป็นการค้นที่สนุกสุดเหวี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ที่จำเป็นยิ่งกว่า คือท่านสุนทรภู่แกนั่งแต่งพระอภัยมณีวันใหน ถ้ารู้ได้ การคุ้ยคงสนุกเพิ่มอีกมาก

ผมยังเจอพิรุธเกี่ยวกับกวีเอกท่านนี้อีกหลายเรื่อง อาจจะรวมเข้าในกระทู้นี้ โดยถือว่าท่านกับขรัวของผมเป็นเกลอร่วมสมัยกัน ได้ข้อมูลอะไรมาก็ช่วยให้เข้าใจอดีตชัดขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างที่ 1 ในนิราศพระบาท ที่ว่าสุนทรภู่เห็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เลยหลบขบวนจนแทบตกเขา ผมตรวจข้อมูลแล้วก็งง ในตัวบทมีกล่าวถึงเณรน้อยน่ารัก ตอนนั้นเณรน้อยท่าน 18 แล้วครับ กวีน้อยคน จะเรียกหนุ่ม 18 ว่าน่ารัก แล้วที่ประหลาดสุดก็คือ ถ้าเชื่อว่าสุนทรภู่เกิดปีนั้นจริง ทั้งสองท่านก็อายุเกือบเท่ากัน
คงไม่มีกวี 18 เรียกเณร 18 ว่าเณรน้อยน่ารัก กระมังครับ

อาจารย์ และคุณนิลกังขา (ซึ่งน่าจะกำลังเหนื่อยกับแขกเมือง)เห็นว่าไงครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง