เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9084 วังบ้านหม้อ มรดกสุดท้ายของแผ่นดินต้น
เจ้าสัวบ่อนไก่
อสุรผัด
*
ตอบ: 33

เรียน


 เมื่อ 25 พ.ค. 06, 06:06

 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทรเมื่อแรกสร้างจนถึงแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นคงไม่มีใครเกิดทันได้เห็นความศิวิไลของบ้านเมืองในยุคนั้นและก็ดูเหมือนว่าห้วงเวลานี้จะมีช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่หายไป หนึ่งในนั้นก็คือศิลปะในเชิงสถาปัตยกรรม เนื่องจากภาพถ่ายที่ถ่ายขึ้นเป็นครั้งแรกของสยามนั้นบังเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 ในภาพถ่ายเหล่านั้นมีการถ่ายภาพเวียงวังอยู่หลายภาพซึ่งเป็นภาพย่านเก่าแก่ในอดีต บางส่วนก็ยังคงอยู่แต่ที่สูญหายไปก็มีไม่น้อย ที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้นอกจากวังหลวงที่สร้างขึ้นเมื่อแรกสร้างกรุงที่เหลือก็แทบจะกลายสภาพหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือเส้นทางต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เวียงวังทั้งหลายที่เคยตั้งเด่นเป็นสง่าก็เช่นกันล้วนแต่สูญหายไป เห็นจะมีแต่ " วังบ้านหม้อ " เท่านั้นที่เป็นมรดกของยุคต้นและอยู่ยังมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ผมคิดว่าหลายท่านคงทราบกันดีถึงชื่อ วังบ้านหม้อ หรือวังท้ายหับเผย ปัจจุบันอยู่บริเวณท้ายวัดโพธิ์ ซึ่งเจ้าของวังคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทศร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาศิลา สำหรับเสด็จในกรมพิทักษ์ฯ นั้นพระองค์ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้องอีก 4 พระองค์  โดยทรงมีพระเชษฐา 1 และพระอนุชาอีก 1 พระองค์ ที่เหลือ 2 พระองค์ทรงเป็นพระองค์หญิง พระเชษฐานั้นคือ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ส่วนพระอนุชาคือ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทั้ง 3 พระองค์พี่น้องได้ทรงรับราชการแผ่นดินในเวลาต่อมา

เสด็จในกรมทั้ง 3 พระองค์นี้นับว่าทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกๆ ของรัชกาลที่ 2 และทั้ง 5 พระองค์พี่น้องก็ล้วนประสูติในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฉะนั้นจึงทรงเป็นที่รักของพระเจ้าปู่และพระราชชนกได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับใช้ใกล้เบื้องพระยุคลบาทอยู่เสมอ ครั้นถึงเวลาที่เสด็จในกรมทั้ง 3 เจริญพระชนมายุสมควรออกเรือนได้แล้ว พระราชชนกจึงพระราชทานวังให้แก่ เสด็จในกรมพิพิธฯ พระเชษฐาเป็นพระองค์แรก ซึ่งวังของพระองค์อยู่บริเวณริมคลองหลอดตรงข้ามกับวังบ้านหม้อในปัจจุบัน สำหรับวังของพระองค์นั้นนับเป็นวังที่ 1 ในกลุ่มวังหับเผย

แม้จะทรงเป็นน้องเล็กแต่ในเวลาต่อมา เสด็จในกรมภูวเนตรฯ ก็ทรงออกวังก่อน เสด็จในกรมพิทักษ์ฯ พระเชษฐาองค์รอง และนับเป็นวังที่ 2 ของกลุ่มวังหับเผย

วังสุดท้ายในกลุ่มวังหับเผยนี้คือ วังท้ายหับเผย ซึ่งอยู่ท้ายสุดของกลุ่มวังนี้ รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ พระราชทานวังนี้แก่ เสด็จในกรมพิทักษ์ฯ สำหรับวังท้ายหับเผย เป็นวังที่ 3 และนับเป็นวังสุดท้ายของกลุ่มวังหับเผย

ทั้ง 3 วังนี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 2 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว

หลังจากเจ้านายพี่น้องทั้ง 3 พระองค์นี้ออกวังกันหมดแล้ว แต่ละพระองค์ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญโดย เสด็จในกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้ทรงกำกับกรมพระนครบาลและกรมพระคชบาล  ส่วน เสด็จในกรมพระพิทักษ์เทศร์ ได้ทรงกำกับกรมม้า  สำหรับ เสด็จในกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ได้ทรงกำกับกรมพระนครบาล นับว่าทั้ง 3 พระองค์นี้ได้กำกับราชการสำคัญอยู่มาก เพราะในสมัยนั้น กรมม้า กรมคชบาล เป็นกรมใหญ่กรมหนึ่งเพราะมีหน้าที่ดูแลม้าและช้างในทำศึกสงคราม เจ้าพี่เจ้าน้องได้ทรงราชการร่วมกันมาจนกระทั่ง เสด็จพี่พระองค์ใหญ่ ประชวรและสิ้นพระชนม์ไปในรัชกาลที่ 4

เสด็จพี่พระองค์ใหญ่นี้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโคภูเบนทร์ หรือ พระองค์เจ้าพนมวัน ประสูติเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2337 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2399 พระชันษา 62 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา

ภายหลังการเสียพระเชษฐาไปเพียง 8 เดือน เสด็จในกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ อนุชาองค์เล็กก้อสิ้นพระชนม์ล่วงไปหลังจากที่ทรงว่าการกรมพระนครบาลอยู่ 4 ปี เสด็จในกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทินกร ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2344 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2399 พระชันษา 56 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา

ทั้งนี้พระภคินีหรือพี่สาวองค์โตของพระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์ ก็ได้สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

บัดนี้เจ้าของวังหับเผย 2 องค์แรกสิ้นพระชนม์ลงแล้ว คงเหลือแต่พระทายาทของพระองค์ที่*อาจ*จะได้ประทับอยู่วังหับเผย 1 และ 2 ต่อมา แต่ไม่ปรากฎว่า พระทายาทกับวังหับเผยที่เป็นพระมรดกนี้ตกทอดแก่หม่อมเจ้าพระองค์ใดและประทับอยู่นานถึงรุ่นไหนและวังหับเผยทั้ง 2 นี้สิ้นสภาพการเป็นวังครั้งใดไม่ปรากฎหลักฐานอีกเลย ทราบเพียงว่าวังหับเผย 1 และ 2 เหลือเพียงนามแต่ตำหนักนี้หายสาบสูญไปจากแผ่นดินสยามไปนานแล้วเท่านั้น

เสด็จในกรมพระพิทักษ์เทศร์นั้นพระองค์ได้ทรงกำกับกรมม้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 พอเสด็จในกรมพระพิพิธฯ เจ้าพี่ของท่านสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้ทรงกำกับกรมพระคชบาลต่อมาจากเจ้าพี่ท่านอีกกรมหนึ่งด้วย ระหว่างที่ท่านยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นคงประทับอยู่ วังท้ายหับเผย นี้

แต่วังหับเผยก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกับวังเจ้าพี่เมื่อในเวลาต่อมาวังท้ายหับเผยก้อถึงกาลอวสาน

กลุ่มวังท้ายหับเผยทั้ง 3 องค์จึงดับสูญไปจากแผ่นดินสยามชั่วกาลนิรันด์

แล้วเสด็จในกรมพิทักษ์ฯ ท่านย้ายหรือท่านประทับที่วังไหนต่อมา นี่เป็นคำถามที่หลายคนไม่ทราบและก็เข้าใจผิดว่า วังท้ายหับเผยคือวังบ้านหม้อ ความจริงแล้วมันไม่ใช่

ใน พ.ศ. 2374 เกิดโศกนาถกรรมกับเจ้านายพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2 กรมหมื่นสุนทรธิบดี หรือ พระองค์เจ้ากล้วยไม้ พระเชษฐาต่างพระมารดาของเสด็จในกรมพระพิทักษ์ เพลิงได้ผลาญองค์ตำหนักและผลาญพระชนม์ชีพของเสด็จในกรมหมื่นสุนทรพร้อมพระกุมารตลอดจนบริวารในวังเสียเกือบทั้งหมด โศกนาถกรรมนี้ทำให้เจ้าของวังรวมทั้งวังของพระองค์วอดวายหมด วังที่ถูกเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้เจ้านายสิ้นพระชนม์ในไฟนี้คือ " วังสนามชัย " หรือ วังเหนือ ( คู่กับวังใต้ของกรมหมื่นเสพสุนทร )

เมื่อวังสนามชัยแหลกเป็นจุลเพราะไฟไหม้ผมคิดว่าเจ้านายที่รอดพระชนม์จากไฟพากันเสด็จไปประทับที่อื่นกันหมด ทำให้พื้นที่วังกลายเป็นที่ว่างไปในบันดล เสด็จในกรมพิทักษ์ฯ ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงมีพระดำริจะสร้างวังแทนที่วังสนามชัยที่ไฟไหม้พังทั้งองค์ จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างวังใหม่ของพระองค์ขึ้นในพื้นที่เดิมของวังสนามชัย เมื่อทรงได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วเสด็จในกรมพิทักษ์จึงทรงสร้างวังใหม่นี้ขึ้น วังที่สร้างใหม่นี้ปรากฎนามในภายหลังว่า " วังบ้านหม้อ " ภายหลังการสร้างวังบ้านหม้อเสร็จลุล่วงแล้วเสด็จในกรมพิทักษ์ฯโปรดเสด็จย้ายมาประทับวังนี้ตราบจนสิ้นพระชนม์

เสด็จในกรมพิทักษ์ฯ นั้น ท่านมีเชษฐา ๑ อนุชา ๑ เรียงกันสามองค์พี่น้องดังที่กล่าวมาแล้วเป็นพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกันคือ เจ้าจอมมารดาศิลา ผู้เป็นธิดาของขรัวยายฟักทอง
(เรียกว่า ‘ขรัวยาย’ เพราะท่านได้เป็นยายของพระองค์เจ้าลูกเธอและลูกยาเธอ)
เจ้าจอมมารดาศิลาเป็นเชื้อสายราชินิกุลบางช้างสายสาขาอย่างเต็มตัวคือ ทั้งบิดา มารดา และปู่ย่า ตายาย จึงนับว่าเป็นพระญาติสนิท
ท่านนับว่าเป็นคนโปรดอยู่ไม่น้อย ถวายตัวตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ยังดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็น ‘หม่อม’ รุ่นแรกๆ หลังเจ้าจอมมารดาศรี เจ้าจอมมารดาสวน และเจ้าจอมมารดาเรียม (สมเด็จพระศรีสุลาลัย) เพียง ๒-๓ ปี เจ้าจอมมารดาศิลา มีพระองค์เจ้าหญิงเป็นองค์แรก ลำดับที่ ๑๐ ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามตามที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาพระญาติพระวงศ์ ว่า ‘พระองค์เจ้าหญิงวงศ์’
จากนั้นก็มีพระองค์เจ้าชาย2 ๓ พระองค์ดังกล่าวแล้ว พระองค์ที่ ๕ สุดท้าย เป็น พระองค์หญิงพระนามว่า ‘พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล’ ซึ่งเป็นเจ้าน้องที่สิ้นพระชนม์เป็นองค์สุดท้ายใน พ.ศ. 2415


เสด็จในกรมพิทักษ์ฯ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ากุญชร ประสูติเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2341 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16เมษายน พ.ศ. 2406 พระชันษา 65 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา
เสด็จในกรมพระพิทักษ์ฯ ทรงมีหม่อมหลายคนแต่มีหม่อมเอก ชื่อ หม่อมแสง หม่อมแสงนี้ท่านเป็นนัดดา (หลานปู่) ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หากนับเป็นขัตติยะ ท่านก็เป็นหม่อมเจ้า
หม่อมแสง หรือ เรียกกันมาแต่เดิมว่า คุณหญิงแสง เป็นธิดาของคุณชายวัน (พระองค์เจ้าอัมพวัน) พระโอรสที่ ๓ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


เสด็จในกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ท่านมีพระโอรสธิดาประสูติแต่หม่อมแสง หรือ คุณหญิงแสง ๒ องค์ คือ
๑. หม่อมเจ้าลมุน
๒. หม่อมเจ้าสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯสถาปนา เป็น พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงฤทธิ์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงฤทธิ์) ได้ทรงบัญชาการ กรมพระอัศวราช และกรมมหรศพ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ทรงมีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ ม.ร.ว.หลาน กุญชร รับราชการต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ ท่านเจ้าคุณมีบทบาทสำคัญในวงราชการในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือ ท่านได้ว่าการเจ้ากรมมหรสพ เจ้ากรมหุ่นหลวง เจ้ากรมโขน เจ้ากรมรำโคม และเจ้ากรมปี่พาทย์ สืบมาจากพระบิดาและพระอัยกา

เมื่อเสด็จในกรมพิทักษ์ฯ สิ้นพระชนม์ลงแล้ว วังบ้านหม้อเป็นพระมรดกตกทอดมายังพระองค์ชายสิงหนาทฯ ซึ่งพระองค์โปรดประทับอยู่ตลอดพระชนม์ชีพเช่นกันและภายหลังที่พระองค์ชายสิงหนาทสิ้นพระชนม์ล่วงไปอีกชั้นหนึ่ง วังบ้านหม้อก็ตกเป็นมรดกแก่เจ้าคุณเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ สืบมา

ทว่าฝ่ายญาติลูกพี่ลูกน้องของราชสกุลพนมวันและทินกรนั้นกลับไม่มีท่านผู้ใดได้รับราชการสำคัญต่อมาอีกเลย

กลุ่มวังหับเผยทั้ง 3 องค์ล้วนที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 2 ล้วนแต่สาบสูญไปพร้อมพระชนม์ชีพขององค์เจ้าของ ไม่เหลือร่องรอยความสง่างามแบบไทยแท้ยุคต้นรัตนโกสินทรให้คนรุ่นหลังได้เห็น เป็นแต่ตึกแถวอาคารพาณิชย์ในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมมากไม่เหลือร่องรอยใดๆให้เห็นว่าครั้งหนึ่งบริเวณนี้ทั้งหมดเคยเป็นวังเจ้านายยุคเก่า

เนื่องจากวังบ้านหม้อซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 ( น่าจะสร้างในราว พ.ศ. 2374 - 2377 * ผมอนุมานเอาเอง ) นั้นเป็นพระมรดกตกทอดแก่พระทายาทเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ วังบ้านหม้อยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทราชสกุล กุญชร อยู่โดยมิได้ตกเป็นของเอกชนกรือกลายสภาพมาเป็นสถานที่ราชการเหมือนวังอื่นๆ และสถาปัตยกรรมของวังบ้านหม้อนั้นเป็นศิลปของไทยแท้ๆ ซึ่งสร้างในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร

เท่าที่ปรากฎมาจนถึงปัจจุบันนี้นับว่า วังบ้านหม้อ เป็นวังๆ เดียวที่คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด และเป็นวังยุคแรกๆ วังเดียวที่ตกทอดมาแก่ทายาทโดยแท้จริง นอกจากนี้วังบ้านหม้อยังเป็นวังของเอกชน ( ทายาท ) ที่มีสภาพความเป็นวังมาแต่ครั้งอดีตตราบเท่าวันนี้


** ในภาพคือท้องพระโรงของวังบ้านหม้อ เดี๋ยวนี้ก้อยังคงสภาพเดิมอยู่ครับ ทางทายาทราชสกุล กุญชร ท่านอนุรักษไว้ **  
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ค. 06, 07:58

 กระทู้นี้กว่าผมจะอ่านจบ 1 วัน 1 คืน กับอีก 1 เช้าเลยนะครับเนี่ยะ คุณเจ้าสัวฯ

ลองแบ่งเนื้อหาเป็นความเห็นเพิ่มเติมย่อยๆ แล้วแทรกภาพเข้ามาให้คนที่ตามเรื่องอ่านไปด้วยได้ชมจะอ่านง่ายกว่ามั้ยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง