เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 52930 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:24


กระทู้นี้ตามคำขอของคุณ paganini ซึ่งผลุบๆโผล่ๆ ให้เห็นบ้างไม่ให้เห็นบ้างในระยะนี้ เลยไม่รู้ว่าคุณ paganini จะเห็นกระทู้นี้หรือยัง ถ้าเห็นแล้วช่วยเข้ามาถามถึงตอนที่อยากรู้ด้วยนะคะ

ประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาฯ นำมาจากเว็บนี้
 http://www.watbuppa.com/somdej/somdej.doc
เป็นการปูพื้นให้เข้าใจชีวิตและบทบาทของท่าน สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้ยเคยกับประวัติของท่านนัก
***************************
เอกสารประกอบนิทรรศการ “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา”
ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
วันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒
............................

ความเป็นมาของตระกูล “บุนนาค”

ตระกูล “บุนนาค” เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ต้นตระกูลเป็นพ่อค้าชาวอาหรับชื่อ เฉกอะหมัด เข้ามาในประเทศสยาม เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เฉกอะหมัดได้รับราชการในกรมพระคลัง โดยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานของกรมท่า เฉกอะหมัดได้ทำความดีความชอบในหน้าที่ราชการเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

ปรากฎว่าผู้สืบตระกูลของเฉกอะหมัดได้รับราชการในกรมพระคลังสืบต่อกันเรื่อยมา วงศ์เฉกอะหมัดบางท่านได้เป็นถึงสมุนายก และในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชยแห่งตระกูลบุนนาคได้เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาอิสลามมาเป็นศาสนาพุทธ

วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อกันเรื่อยมาถึงชั้นที่ ๖ มีบุคคลสำคัญคือนายบุนนาค ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดตระกูลบุนนาคในสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลที่ ๑ นายบุนนาคได้เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุทพระกลาโหม บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนากับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) (น้องสาวของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ ๑) เป็นผู้สืบตระกูลบุนนาคโดยตรง

คนสำคัญคือ นายดิศ และนายทัต บุนนาค ท่านทั้งสองเข้ารับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ที่มีบทบาทในการปกครองประเทศสยามมาก
ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ท่านทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุด เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการพระนครตามลำดับ

ผู้สืบตระกูลโดยตรงต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์คือ นายช่วง บุนนาค ซึ่งรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ท่านผู้นี้ได้รับพระราชท่านบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใน พ.ศ. ๒๔๑๖

เทาชมพู  [IP: hidden] วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:01:47
(คุณ เทาชมพู ช่วยร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ผ่านวิชาการ.คอมแล้ว รวมทั้งสิ้น 4084 ครั้ง)
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:26

ประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีวงศ์มีนามเดิมว่า ช่วง บุนนาค เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์  เกิดเมื่อปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน

แต่ในสุดเหลือท่านกับน้องอีก ๔ คน คือ เจ้าคุณหญิงแข เจ้าคุณหญิงปุก เจ้าคุณหญิงหรุ่น และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เท่านั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาด้วยกัน

ตอนเยาว์วัยเด็กชายช่วง บุนนาค ได้รับการศึกษาจากวัดพอประมาณ ไม่ได้เล่าเรียนอักขรสมัยอย่างลึกซึ้ง แต่ได้อ่านและเรียนตำราต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่เสนาบดีกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศหรือกรมท่า ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มีความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบทวีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกระบวนการเมืองและการติดต่อกับต่างประเทศ
และภายหลังที่รับราชการในกรมมหาดเล็ก ก็ศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาช่างจากมิชชันนารี จนสามารถต่อเรือรบ (เรือกำปั่น) ใช้ในราชการได้

นายช่วง บุนนาค ได้ถูกบิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่ออายุราว ๑๖ ปี ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร นายไชยขรรค์เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓
ต่อมาได้โปรดเลื่อนนายไชยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์

หลวงสิทธิ์นายเวรรับราชการมีความดีความชอบมาก จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ คือ ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ เลื่อนหลวงสิทธิ์นายเวรขึ้นเป็นจมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นหมาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กใน พ.ศ. ๒๓๙๓

ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม กับโปรดให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขณะที่มีอายุได้ ๔๓ ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:08:12
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:28

ปรากฏว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง นุนนาค) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการปกครองประเทศสยาม โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตตามลำดับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งมีความสำคัญมากจนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
“ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเหมือนเสนาธิการช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ ๔”

ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญในการปกครองประเทศสยามเป็นอันดับที่ ๒ รองจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา
พระบาทวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดีจึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐

เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรียวงศ์มักออกไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลา ๕ ทุ่มเศษ บนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๒๗ วัน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗

เมื่อศึกษาถึงประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จะเห็นได้ว่าท่านเป็นอัจฉริยบุรุษผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหลายของตระกูลบุนนาค ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของท่านจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยว่า ท่านเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการปกครองประเทศสยามในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาชาวต่างประเทศตั้งแต่สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:10:11
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:32

ตลอดอายุของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้สร้างผลงานในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย ดังต่อไปนี้ คือ

บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ต่อไปภายหน้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในหมู่เสนาบดี ดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการตอนหนึ่งที่มีต่อพระยาศรีสุริยวงศ์ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตว่า
“...ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ... การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เอง (คือ พระยาศรีสุริยวงศ์) ที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรใกล้จะสวรรคต พระยาศรีสุริยวงศ์ได้มีส่วนเสนอความเห็นต่อเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ) ผู้เป็นบิดาว่า ควรจะสนับสนุนให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์และมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อไป เพราะเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระบรมราชินี บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังก็เห็นด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:11:24
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:36

 ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบอำนาจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และการปกครองประเทศ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงต้องการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบอย่างชาวยุโรป ก็ได้ส่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกไปดูการต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ เพื่อดูแบบอย่างการบริหารและการปกครองของอังกฤษนำมาปรับปรุงบ้านเมือง

จึงนัยได้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวางตลอดสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อรัชกาลที่ ๔ จะเสด็จสวรรคต ก็ทรงฝากฝังและให้ท่านเป็นผู้พิจารณาว่า ควรจะมอบสมบัติให้แก่ผู้ใด และเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สนับสนุนให้เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ซึ่งยังทรงพระเยาว์ได้เป็นกษัตริย์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จะทรงมีพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่นี้ ถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะคิดทรยศต่อราชบัลลังก์ โดยยกตนเองเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะทำได้ แต่ท่านหาได้มีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงเกินศักดิ์ไม่ หากแต่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง คติประจำใจที่ท่านยึดถือไว้คือคำโบราณที่ว่า

“คำพระ คำพระมหากษัตริย์ คำบิดามารดา ใครลบล้างก็เป็นอกตัญญู”

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวชและทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ แล้ว
ก็โปรดเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า

“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร”

หลังจากนั้นก็พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่คนทั่วไปยังคงเรียกท่านว่า “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” เป็นหัวหน้าเสนาบดี มีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง

อย่างไรก็ดีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลยิ่งใหญ่ในประเทศสยาม ท่านได้ถือตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาข้าราชการแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักรอย่างเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญยิ่งในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะสั่งประหารชีวิตนักโทษขั้นอุกฤษฏ์ได้

ภาพนี้คือตราสุริยมณฑล
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:37

 สวัสดีครับ อ. เทาชมพู มานั่งที่ชานเรือนครับ
ผมเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านนี้อยู่เหมือนกัน ทั้งในทางดีและไม่ดี
อีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ยิน คือเรื่องที่นายทิม (คุณหลวงชื่ออะไร จำไม่ได้)ผู้แต่งนิราศหนองคาย ถูกลงโทษเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ที่พาดพิงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครับ
เรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องลึกอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ จึงขอถามสมาชิกทุกท่านในกระทู้นี้ครับ  

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 210.86.142.82,,]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 16:59:43
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:38

 จองที่นั่งไว้ก่อนครับ  

โดย: CrazyHOrse  [IP: 61.91.223.43,,]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 17:54:45
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:38

 มาเกาะระเบียงอ่านด้วยคนครับอาจารย์

โดย: ติบอ  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 18:13:11
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:39

 เรื่องนิราศหนองคาย อ่านมานานมากแล้ว รู้เพียงว่าผู้แต่งคือหลวงพิพัฒน์ภักดี(ทิม สุขยางค์) ผู้ติดตามของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง( เพ็ง เพ็ญกุล)ไปในทัพของเมืองหลวงที่ยกไปปราบฮ่อที่หนองคาย สมัยรัชกาลที่ ๕
นายทิมได้บรรยายความลำบากยากเย็นของการเดินทัพ เนื้อความบางอย่างก็ไม่เหมาะสมจะเผยแพร่นัก เพราะไปบาดความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่เข้า
ทำให้บุคคลสำคัญระดับเจ้าพระยา ๒ ท่านบาดหมางกัน ท่านหนึ่งคือเจ้าพระยามหินทรฯ นายของนายทิมเอง อีกท่านหนึ่ง ขออภัยจำไม่ได้แม่นว่าเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธุ์)ใช่หรือไม่
ผลสุดท้ายนิราศเรื่องนี้ก็เลยถูกเซนเซอร์ไปตามระเบียบ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 10:59:53
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:41

 บทบาททางด้านการต่างประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงสิทธินายเวร มีความคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาอยู่ในไทย การที่ได้คบหาสมาคมกับมิชชันนารีนี้ ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษ และรู้ขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก หมอบรัดเลย์แห่งคณะอเมริกันคอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ฟอเรน มิชชัน ได้กล่าวถึงหลวงสิทธินายเวรไว้ในบันทึกรายวันมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ท่าทางคมขำ พูดจาไพเราะมีอัธยาศัยดี...”

พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธินี้ หมอบรัดเลย์กล่าวว่าใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า
“นี่บ้านหลวงนายสิทธิ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย”
ที่บ้านหลวงนายสิทธินี้ พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอแลรักใคร่ท่านมาก...”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เคยเกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวสงครามอันนัมสยามยุทธ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก รับหน้าที่เป็นแม่ทัพหน้าคุมกำลังไปรบกับญวนที่เมืองบันทายมาศ (ฮา เตียน) โดยมีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ ๔) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพเรือไปรบ

ในด้านการติดต่อกับต่างประเทศนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก ดังปรากฏในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๓ ตอนหนึ่งว่า
“...จมื่นไวยวรนาถเล่าก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง...”

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประธานาธิบดีซาคารี เทย์เลอร์ แห่งสหรัฐอเมริกาส่งนายโจเซฟ บาเลสเตียร์ เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒
จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ที่เมืองสมุทรปราการได้มีส่วนได้มีส่วนในการต้อนรับทูตอเมริกันคณะนี้
และเป็นผู้ติดต่อระหว่างบาเลสเตียร์กับเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงเรื่องการทำการเจรจากัน ตลอดจนการจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเมื่อลอร์ดปาล์มเมอร์สตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้แต่งตั้งให้เซอร์เจมส์บรุ๊ค เป็นผู้แทนเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทยใน พ.ศ. ๒๓๙๓ จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้หนึ่งที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการตรวจร่างสัญญา และเป็นผู้รับร่างหนังสือของฝ่ายไทยไปเขียนลงกระดาษให้เรียบร้อยส่งตอบหนังสือของเซอร์เจมส์ บรุ๊ค

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 17:52:07
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:43

 ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๘ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์จอห์นบาวริง ผู้สำเร็จราชการประจำฮ่องกง เป็นราชทูตมาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้หนึ่งในคณะข้าหลวงดำเนินการเจรจากับอังกฤษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทเป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ จนทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบาวริงได้เป็นผลสำเร็จ

ระหว่างการเจรจา เซอร์จอห์น บาวริง ได้บันทึกสรรเสริญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญาและความสามารถยอดเยี่ยม
มีความคิดก้าวหน้าและใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมื่อเทียบกับบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ดังปรากฏข้อความในหมายเหตุประจำวันลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ ว่า

“...ท่านผู้นี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองจริง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องว่าเป็นผู้มีความฉลาด ล่วงรู้กาลล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดพอเหมาะแก่กาลเทศะ...”

และอีกข้อความหนึ่งในหมายเหตุประจำวัน ลงวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ ว่า

“...นิสัยของอัครมหาเสนาบดีนั้นน่าสรรเสริญมาก...ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งจะเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว
ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่าเป็นคนรักบ้านเมือง และฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตะวันออก...”

ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ อันเป็นการเริ่มศักราชทางการทูตระหว่างไทยกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับบรรดาชาติยุโรปและเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 17:56:41
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:43

 มาแล้วครับ แหม อาจารย์ นึกถึงผมยังงี้ผมรักอาจารย์มั่กๆเลยครับ ขอบคุณมากๆเลยครับ

ครับช่วงนี้ผมผลุบๆโผล่ๆ เดี๋ยวต้องไปทำงาน ต่างประเทศ 2 เดือนอีก จะยิ่งผลุบโผล่เข้าไปใหญ่ แต่ยังไงก็ไม่ลืมที่นี่หรอกครับ เข้ามาอ่านเท่าที่โอกาสครับ

โดย: paganini  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 18:48:36
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:45

 ขอฟ้องทีมวิชาการให้ช่วยเป็นพยานด้วยค่ะ
ว่าคุณ paganini แกชอบสารภาพรักกับดิฉันมาหลายกระทู้แล้ว
แต่จนบัดนี้ ยังไม่เคยโผล่ตัวจริงมาให้เห็น
ดิฉันและชาวเรือนไทยที่คอยดูตัว ก็เลยเก้อกันจนบัดนี้
********************
งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้ความสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ที่พวกมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับด้านสถาปัตย์กรรม วิชาการช่าง และเทคนิคต่าง ๆ ตามแบบอย่างตะวันตก ที่สำคัญได้แก่
๑. การต่อเรือกำปั่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้มีความสามารถในการต่อเรือโดยศึกษาจากมิชชันนารี  ในขณะที่ติดตามบิดาไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ หลวงสิทธิ์นายเวรได้ต่อเรือรบไทย (เรือกำปั่นรบ) ซึ่งเป็นเรือใหญ่ลำแรกในประเทศสยามที่ทำตามแบบฝรั่ง เป็นเรือบริกชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าและเสาท้ายสองเสาครึ่ง ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า เรือ “เอเรียล” (Ariel) หรือมีชื่อทางไทยว่าเรื่อ “แกล้วกลางสมุทร” หลวงสิทธิ์นายเวรได้นำเรือลำนี้ถวายรัชกาลที่ ๓ เป็นที่โปรดปรานและพอพระราชหฤทัยมาก
นอกจากนี้ยังได้ต่อเรือ “ระบิลบัวแก้ว” และยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่จันทบุรีที่มีน้ำหนักขนาด ๓๐๐-๔๐๐ ตัน มีจำนวนมากกว่า ๕๐ ลำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้อำนวยการต่อเรือปืนที่เรียกว่าเรือ “กันโบต” ขึ้น ๔ ลำได้แก่ เรือปราบหมู่ปรปักษ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไฟรีรณ และเรือประจัญปัจจนึก และต่อเรือกลไฟซึ่งได้แก่ เรืออรรคราชวรเดช และเรือเขจรชลคดี ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อขึ้นได้แก่เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือสุริยมณฑล
***************
ขอเล่าเกร็ดแทรกตรงนี้หน่อยค่ะ
ชื่อเรือ แอเรียล นั้น มาจากชื่อตัวละครในเรื่อง The Tempest ของเชกสเปียร์ ไม่รู้ว่ามิชชันนารีตั้งให้หรือว่าท่านตั้งเอง แต่เป็นชื่อที่เหมาะมาก แอเรียลเป็นชื่อภูตพรายตัวหนึ่งที่พรอสเพอโร ผู้ทรงคาถาอาคม ใช้มนตร์เอาตัวมาเป็นบริวารใช้สอยได้ถูกใจแอเรียล แปลตามศัพท์ว่า spirit of the air เป็นภูตพรายที่ว่องไวดังลมกรดสมชื่อ เฉลียวฉลาดใช้สอยได้ตามใจนึก เอามาเป็นชื่อเรือ ก็ให้ภาพว่าคงกางใบแล่นฉิวปลิวลม บังคับให้โต้คลื่นไปทางไหนก็ไปได้ดังใจนึก

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:44:55
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:47

 ๒. การสร้างประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในการเรือมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ยังคงสนใจในการเรือและมีกำลังอุดหนุนงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ท่านได้เล็งเห็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ในการเดินเรืออย่างหนึ่ง คือ ประภาคารหรือกระโจมไฟ เวลานั้นในประเทศสยามยังไม่มีประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างประภาคารขึ้น
เพื่อให้เป็นเครื่องหมายการนำเรือราชการและเรือสินค้าผ่านสันดอนเข้าออกได้โดยสะดวกที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เสร็จเรียบร้อยเปิดใช้ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน ๑๘,๐๒๑.๒๕ บาท นับเป็นประภาคารที่สร้างขึ้นตามระบบมาตรฐานสากลดวงแรกของไทย
ประภาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษปรากฏในแผนที่เดินเรือไทยหมายเลข ๑ a ว่า Bar or Regent Lighthouse ส่วนชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” และใช้เป็นเครื่องหมายการเดินเรือมาเป็นเวลานานถึง ๕๕ ปี กับ ๒๒ วัน (เลิกใช้เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:48:05
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 15:49

 ๓. การทหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรืองขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ควบคุมบังคับบัญชาจัดขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป”
ให้กัปตันนอกส์เป็นครูฝึก มีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ ณ ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม

งานด้านการก่อสร้าง

ในรัชกาลที่ ๓ จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายให้ลงไปเป็นแม่กองสร้างป้อมที่บางจะเกร็ง เพื่อให้เป็นที่อยู่ของแม่ทัพที่เมืองสมุทรปราการ สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๙๓ และพระราชทานนามว่า “ป้อมเสือซ่อมเล็บ”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้น ภายหลังจากเสร็จกลับจากประพาสสิงคโปร์และชวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙
แต่เดิมจะสร้างพระที่นั่งเป็นยอดโดม ใช้เสด็จออกขุนนางโดยต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ โดยมีท้องพระโรงกลางเป็นทางต่อเชื่อม
การสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ สร้างเป็นตึกสามชั้น เจ้าพระยาภาษุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง นายยอน คลูมิตธ์ เป็นผู้ออกแบบหลังคาเป็นยอดโดม แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นยอดปราสาท ดังนั้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจึงเป็นศิลปผสมผสานระหว่างศิลปไทยและยุโรป ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่า “หัวมงกุฎ ท้ายมังกร”

หมายเหตุ สำนวนที่ถูกต้องคือ "หัวมังกุ ท้ายมังกร" ค่ะ ทั้งมังกุและมังกรเป็นชื่อเรือคนละชนิดกัน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:50:42
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง