เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7548 พ.ศ.ผิด 60 ปี ???
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
 เมื่อ 07 พ.ค. 06, 14:18

 จากคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน"

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ 57 ฉบับที่ 17638 วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤษภาคม 2549

ว่าด้วยเรื่อง พ.ศ.ผิด 60 ปี ตามเนื้อความว่าดังนี้

"การนับพุทธศักราช...เริ่มนับกันตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่กระนั้น ตัวเลขพุทธศักราช...ของบางประเทศ ก็ไม่ตรงกัน เหตุเพราะมีคติการนับที่ไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างใกล้ตัว...ประเทศลังกา และพม่า ใช้หลัก เลข 544 บวกกับเลข ค.ศ. เป็นพุทธศักราช แต่ประเทศไทย...ใช้หลัก เลข 543 บวกกับเลข ค.ศ. เป็นพุทธศักราช

เพราะฉะนั้น พ.ศ.ของลังกา และพม่า จึงเร็วกว่าของไทยอยู่หนึ่งปี

ก็เป็นอันว่า เมื่อไทยนับว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 2499 ปี ลังกา พม่า ก็จะเป็น 2500 ปี

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร อธิบายไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ เบ็ดเตล็ด ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน...ว่า

เพราะพวกหนึ่ง นิยมนับปีย่าง...อีกพวกนับปีเต็ม

ตัวอย่าง นาย ค. อายุ 29 ปี 3 เดือน พวกที่นับเต็ม ก็จะนับว่า อายุ 29 ปีเต็ม พวกที่นับปีย่าง ก็จะนับว่า อายุ 30 ปีย่าง

เพราะความนิยมนับต่างกันแบบนี้ อาจารย์ประเสริฐ ท่านพบว่า ตัวเลข พระพุทธศักราช จึงเกินความจริงไป 1 รอบ หรือหกสิบปี

อาจารย์สันนิษฐานว่า อินเดียไม่ได้ใช้ พ.ศ.ติดต่อกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ใช้การนับเป็นรอบ รอบละ 60 ปีเรื่อยมา

จนมาเริ่มใช้ พ.ศ. ก็จะคำนวณกันว่า พระ พุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วกี่รอบ และเศษอีกกี่ปี

แต่เพราะวิธีนับรอบ ต่างกันเป็นสองพวก พวกหนึ่งนับรอบแบบอดีตล่วงไปแล้ว เช่น พ.ศ.80 ก็เรียกว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 รอบ กับ 20 ปี

แต่อีกพวก นับรอบใหม่ที่ย่างเข้า...เช่น พ.ศ.80 ก็ถือว่าเป็นปีที่ 20 ในรอบที่สอง

เมื่อพวกหนึ่ง...ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว รอบที่สอง ปีที่ 20 ก็เข้าใจว่า ล่วงไปแล้วสองรอบ กับอีก 20 ปี

จึงเรียกว่า พ.ศ.140 ผิดความจริงไปรอบหนึ่ง

ศาสตราจารย์ประเสริฐ บอกว่า การเรียก พ.ศ.ผิดนี้ เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตามชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า พระเจ้าอโศกเสวยราชย์ ระหว่าง พ.ศ.214-255

ที่ทราบว่าผิดความจริง ก็เพราะพระองค์ส่งสมณทูตไปตามเมืองต่างๆ (กระทั่งสุวรรณภูมิ) เมืองเหล่านี้มีศักราชจดไว้แน่นอน เทียบศักราชดูแล้ว พบว่า นับ พ.ศ.มากเกินไป 1 รอบ คือ 60 ปี

แต่จะเปลี่ยนแก้ว่าปีนี้ สมมติ พ.ศ. 2539 ควรจะเปลี่ยนเป็น พ.ศ.2479 ก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ที่จดไว้เมื่อ 60 ที่แล้ว ก็จดว่า พ.ศ.2479 ไปแล้วครั้งหนึ่ง."


ตกลงมันผิดไปรอบหนึ่งจริงหรือเปล่าครับผม แล้วมีผลต่อตำรามากน้อยแค่ไหนครับนี่
บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 พ.ค. 06, 22:15

 ถ้าอาจารย์ดร.ประเสริฐยืนยันเองก็น่าเชื่อว่ามีมูลความจริง

ถามดิฉัน  เห็นจะต้องปล่อยเลยตามเลยค่ะ    
ไปนับใหม่ให้ถูกต้อง   อาจจะยุ่งหนักเข้าไปอีก  อย่างน้อยต้องรื้อตำรามาแก้ใหม่ทุกสาขา  เพื่ออะไรก็ไม่รู้

แต่ละประเทศก็นับไม่เหมือนกันอยู่แล้ว  จะนับผิดเพิ่มขึ้นอีกครั้งจะเป็นไรไป
เอาเป็นว่ามันถูกตามแบบเก่าละกัน
การนับปี  ส่วนใหญ่ก็เพื่อประโยชน์ในการลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆในอดีต   นับกันหลากหลายแบบมาก่อน อย่างพ.ศ. /จ.ศ.
ไม่อยากเพิ่มว่า พ.ศ.เก่า/พ.ศ.ใหม่  เข้ามาให้เปลืองเนื้อที่สมอง

ท่านอื่นๆอาจมีความเห็นแตกต่างออกไปได้
บันทึกการเข้า
แม่หญิงดาวเรือง
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 พ.ค. 06, 11:44

 แสดงว่าตอนนี้เราอยู่พ.ศ.2480นะสิคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 พ.ค. 06, 12:24

 ไม่แน่ใจว่าดร.ประเสริฐเป็นท่านแรกที่ศึกษาประเด็นนี้หรือไม่ แต่ยืนยันได้ว่าดร.ประเสริฐพูดถึงหลายครั้งครับ

ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นเพียงสมมติฐานแล้ว น่าจะต้องถือว่าเป็นข้อเท็จจริง เพราะมีหลักฐานประกอบชี้ชัด

ส่วนที่ว่าจะทำให้สับสนนั้นผมกลับว่าไม่เป็นอย่างนั้น เท่าที่ทราบนับจากสมัยพระเจ้าอโศก ศักราชก็ผิดอย่างนี้แล้ว (ไม่ได้เริ่มผิดในสมัยพระเจ้าอโศก แต่ผิดมาก่อนนั้นตั้งแต่รอบไหนก็ไม่ทราบ) เรื่องราวก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีรายละเอียดมากนัก

นอกจากนี้ ศักราชเป็นเพียงตัวอ้างอิงในการศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตัวเรื่องราวเอง ดังนั้นไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องแก้ไข ขอให้รู้ก็น่าจะพอครับ เพราะเวลาอ้างอิงถึงจะได้เข้าใจตรงกันได้ไม่สับสนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 พ.ค. 06, 03:59

 กลับมาแล้วครับ อิอิ

หายไป ราวๆ ๓ เดือน

เรื่อง พ.ศ. คลาดเคลื่อนนี้ เคยมีการประชุมนานาชาติกันมาแล้วครับ และมีกันเป็นสิบมติเลย

การสรุปหามตินั้น ได้อาศัยเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การเปรียบเทียบปีที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้ามาทำสงคราม นับมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ และเรื่อยๆ มาจนถึงสมัยพุทธกาล ที่ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอชาติศัตรู และรุ่นต่อๆ มาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศก หรือ อีกสายก็อาศัยเอกสารจีน เป็นเกณฑ์

ส่วนเนื้อหานั้นยอมรับครับว่าจำไม่ได้แล้ว อ่านมาสี่ ถึงห้าปีได้แล้วครับ เสียดาย อ่านกระทู้นี้ช้าไป เพราะหนังสือไม่ได้อยู่ใกล้มือแล้ว

ถ้าท่านใดพบหนังสือชื่อ    
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดย อาจารย์ เสถียร โพธินันทะ ก็ช่วยลองค้นมาพิมพ์ก็จะเป็นพระคุณครับ

อ.เสถียร ได้สรุปมติต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ มีทั้งที่มากกว่า พ.ศ.ที่เราใช้ และน้อยกว่า

ถ้าจำไม่ผิด มีมติหนึ่งว่าไว้ว่า ๘๐ ปี ก็มีครับ

ส่วนเรื่อง ทำไมต้องรอบ ๖๐ ปี ก็จะขอขยายความสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบนะครับ เลข ๖๐ ปีนี้ เป็นการนับปีแบบอินเดียโบราณ และจีน เรียกกันว่า "พฤหัสบดีจักร" หมายถึง การนับปี โดยอ้างอิงรอบการเดินทางของดาวพฤหัสบดี รอบดวงอาทิตย์

ดาวพฤหัสบดี เดินทางรอบดวงอาทิตย์จะใช้เวลาประมาณ ๑๒ ปี (คือ โลกเราใช้เวลา ๑ ปี แต่ดาวพฤหัสบดีใช้เวลา ๑๒ ปี)

แล้วทำไมต้อง ๖๐ ปี ไม่นับแค่สิบสองปี เหตุที่ต้องนับ การโคจรของดาวพฤหัสบดี ถึง ๕ รอบ (๑๒ x ๕ = ๖๐) นั่นก็เพราะว่า การนับปีแบบพฤหัสบดีจักรนี้ เกี่ยวข้องกับ ปี ๑๒ นักษัตร กับ การลงตัวเลขศักราช คือ เลข ๑ ถึง ๑๐ ครับ การนับแบบนี้ เป็นการนับปีของจีนด้วยเช่นกัน ไทล้านนาของเราก็ใช้ เช่น ปีกดไจ๊ เป็นต้น ชื่อปีของล้านนาโบราณ ก็ยืมมาจากจีนครับ

การเข้าชื่อปีของจีน และล้านนา จะนับเอาปีนักษัตรขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเลข ศักราช โดยชื่อของแต่ละปีจะไม่ซ้ำกันเลย ตามหลักการ มีดังนี้ (ขอแปลชื่อปีเป็นแบบไทอยุธยาเข้าใจง่ายกว่าครับ) จะเริ่มนับปีแรกว่า ชวดเอกศก ก็ตรงกับ ศักราช ๑, ฉลูโทศก ก็ตรงกับศักราช ๒ ก็นับกันไปเรื่อยๆ พอถึง ระกา ก็จะเป็น ระกาสัมฤทธิ์ศก (คือ ปีที่สิบ เป็นระกา) ก็จะเริ่มนับเลขศักราช วนมาที่ เอกศก ใหม่ ดังนั้น ปีถัดไปก็จะนับว่า จอเอกศก  และ ต่อไปเป็น กุนโทศก

เมื่อถึงปี กุน ซึ่งเป็นปีที่ ๑๒ แล้ว ก็จะเริ่มนับปีนักษัตรใหม่ที่ชวดอีกครั้ง แต่เลขศักราชก็ยังคงนับต่อไปจาก กุนโทศก ดังนั้น ปีต่อมาจึงเป็น ชวดตรีศก

ก็นับเหลื่อมกันไปเรื่อยๆ ครับ นับไปจนกว่าจะมีชื่อซ้ำก็หยุด ปรากฏว่า ได้ ๖๐ ปีพอดี

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว บางศักราช จะมีชื่อปีต่างไปบ้าง คือ ขึ้นอยู่กับว่า จะเริ่มนับ ศักราชที่หนึ่ง ตรงกับปีนักษัตรอะไร เช่น จุลศักราช นับเอา ปีกุนเป็น จุลศักราชที่ ๑ ดังนั้น จึงชื่อว่า กุนเอกศก ปีต่อมาก็เป็น ชวดโทศก ก็จะนับไล่เลขไล่ปีกันไปตามนี้ครับ

สำหรับชื่อปีทั้ง ๖๐ ปี ของอินเดียนั้น แต่ละปีนี้ จะมีชื่อเฉพาะครับ เคยจดไว้ ไว้หาเจอแล้วจะมาโพสแล้วกันครับ (คงอีกเป็นปี อิอิ) ช่วงนี้ใครทราบก็ขอเชิญนะครับ จะได้เป็นวิทยาทานร่วมกัน
บันทึกการเข้า
ภูมิ
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 196


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 15:36

 http://koyomi.vis.ne.jp/directjp.cgi?http://koyomi.vis.ne.jp/sub/agetable.htm

สำหรับชื่อปีจีน(และญี่ปุ่น) ดูที่นี่ได้ครับ

จะวน ไม้ไฟดินทองน้ำ อย่างละสองปี ก็จะครับ 60 เช่นกัน
เช่น จะเริ่มจาก
หนูไม้
วัวไม้
เสือไฟ
กระต่ายไฟ

เมื่อวนครบรอบก็ 60 ปีพอดี
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 พ.ค. 06, 17:56

 เรื่องพ.ศ.นี้แต่ละประเทศก็นับแตกต่างกันมากนครับ เช่นของจีนนี่นับเป็น 1000 ปีก่อนค.ศ.เลยทีเดียว อ่านได้จากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของ อ.เสถียร โพธินันทะ ซึ่งเปรียบเทียบวิธีการนับทุกรูปแบบเอาไว้ ซึ่งรูปแบบที่ถูกต้องคือประมาณ 490-480 ปีก่อนค.ศ. โดยเปรียบเทียบเอกสารกรีกสมัย Alexander the Great บุกอินเดีย กับปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.218) ซึ่งรูปแบบของลังกา(ไทย พม่า ลาว เขมร) ก็นับสืบต่อจากสมัยอโศก แต่ทำไมถึงคลาดเคลื่อนไป 60 ปีนั้น ก็คงเป็นเพราะเหตุผลของอ.ประเสริฐกระมัง
นอกจากนี้ยังมีเอกสารในจีน (พระไตรปิฎก???) ที่อ้างว่ามาจากอินเดียและทำจุดเอาไว้ตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ 1 ก็คำนวณแล้วได้ประมาณ 485 ปีก่อนค.ศ.
ทั้งหมดนี้เขียนจากความทรงจำนะครับ ถ้าผิดพลาดก็ขออภัย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง