เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
อ่าน: 20685 แทนคำขอบคุณ บทความให้ download เรื่อง "ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาล
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 03 พ.ค. 06, 09:17

 กำลังจะตอบคุณเฟื่องแก้ว โชคดีอาจารย์เทาฯ มาช่วยชีวิต

คิดจะตอบว่า การแช่งนี่ไม่ใช่ทำได้ซี้ซั้วครับ ผู้ใหญ่แช่งเด็กนี่ ทำได้เลย แต่ถ้าเด็กแช่งผู้ใหญ่ละก้อ งานช้างครับ ไปอ่านลักษณะเบ้ดเสร็จดู
เพราะฉะนั้น หากผมแช่งอาจารย์เทาละก้อ หาเรื่องใส่ตัวครับ เห็นจะไม่เกินสามวันเจ็ดวัน ไอ้ที่คิดชั่ว กลับเข้าตัวหมด ผมจำสุภาษิตที่ว่า คนดีมีเกราะคุ้ม กันภัย ไม่ได้ แต่นั่นแหละครับ ยันตร์กันแช่ง ซึ่งท่าน มีอยู่แล้วครบถ้วนบริบูรณ์

คุณอันดรีอัส ประโยคสุดท้ายของอาจารย์ ให้นำไปปิดทองเก็บไว้เป้นขวัญนะครับ
น่าอิจฉา
บันทึกการเข้า
เฟื่องแก้ว
พาลี
****
ตอบ: 327

เลขานุการ


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 03 พ.ค. 06, 20:26

 ว้ายย อาจารย์คะ รับรองว่าหนูไม่ทำอะไรคุณ pipat เด็ดขาดค่ะ
แค่ระแวดระวังแบบแมวเฝ้าเรือนเท่านั้นเอง

ว่าจะชวนคุณ pipat เผาพริกเผาเกลือด้วยซ้ำไป
แล้วก็ เผาหอม เผากระเทียม เสียด้วย
ทำลาบคั่วรับประทานกันดีกว่า อย่าแช่งกันเลย
เป็นมโนกรรมเปล่า ๆ นะคะ คุณ pipat

คุณแอนเดรียส

ยังจำได้ค่ะ กระทู้ที่จับต้องไม่ได้นั่น
คุณแอนเดรียสแสดงความเห็นดีๆ ไว้เยอะ
เกือบจะยกไปใส่ท้ายข่าวแล้วเชียว

อีกอย่าง เฟื่องเห็นด้วยอย่างแข็งแรงกับอาจารย์เทาชมพู
ว่า คุณแอนเดรียส เป็นคนสุภาพ อ่อนน้อม
และมีอัธยาศัยทางอักษรที่ดีจริงๆ ค่ะ
(คราวก่อนแค่ตอบช้า ก็ยังมาขอโทษเฟื่อง ..โถ)

นี่เฟื่องต้องสะสมไมล์เท่าไหร่คะเนี่ย
ถึงจะได้อัพเกรดเป็นเครื่องบินส่วนตัว
ต่อไปการบินไทยก็ไม่ได้แอ้มเงินเฟื่องแล้วสิ
จำนวน "ความเห็นเพิ่มเติม" ของเฟื่องเนี่ย
เพิ่มแบบไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ค่ะ
น่าจะเปลี่ยนเป็น "ความเห็นเดิมๆ" มากกว่า
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 04 พ.ค. 06, 11:00

 สวัสดีทุก ๆ ท่านครับ
กระทู้นี้ ครึกครื้นอย่างไม่น่าเชื่อ  
1. ถึงพี่ติบอครับ
แม่ปูพร่ำสอนลูกปู เดินให้ดูตัวอย่างแม่นี้ ลูกปูก็งงอยู่ดี กี่ที ๆ ก็เข้าตัวเองหมดเลย(นิสัยแม่ปูเข้าตัวผมหมด)  
2. พอดีนึกขึ้นได้ว่า ชาวสยามเคยทำเครื่องบินได้ (จริงๆ ไม่ได้อำครับ)
เลยฝากลิงค์นี้เอาไว้ครับ
เครื่องบินทิ้งระเบิดบริพัตร
 http://www.dmbcrtaf.thaigov.net/aircraft/Bomb/boripat/boripat.htm
เครื่องบินขับไล่ประชาธิปก
 http://www.dmbcrtaf.thaigov.net/aircraft/Fighter/pachatipok/pachatipok.htm
เห็นแล้ว น่าเสียดายว่ากองทัพอากาศไม่ได้ผลิตเครื่องบินขึ้นมาอีก    
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 04 พ.ค. 06, 21:29

 ง่ะ คุณศรีจะให้ผมเป็นแม่ปูอีก 1 หน้าที่เหรอครับ ขอบายดีกว่า จะให้แบกไข่เป็นร้อยฟองไว้ที่ท้อง(ย้วยๆของผม)ด้วยนี่ผมไม่ไหวนา
แค่เฉพาะหน้าที่เรียนกับงานตอนนี้ก็ขโมยเวลาหลับเวลานอนผมมาหลายสัปดาห์จนแค่ส่องกระจกก็เจอแพนด้า ไม่ต้องไปหาชมถึงสวนสัตว์เชียงใหม่แล้วล่ะครับ

โถ่ ผมดาวน์โหลด PDF ของ อ.สมศักดิ์ไปตั้งนานอยากอ่านต่อใจจะขาด แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาอ่านต่อจากที่อ่านได้ตอนดาวน์โหลดไปใหม่ๆเลยครับ แหะๆ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 12:45

 รอดูว่าจะมีท่านผู้ใดเข้ามาเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอบู่หลายวัน  เห็นเลียวไปคุยกันเรื่องปูก็แล้ว  ก็ยังไม่มีท่านผู้ใดมาเสนอความเห็นเพิ่มเติม  เลยขออนุญาตต่อประเด็นเรื่องพระราชพินัยกรรมก่อนเลยนะครับ  วานพรรคพวกไปค้นพระราชพินัยกรรมฉบับที่คุณสมศักดิ์กล่าวถึง  เลยคัดมาฝากกัน  สำหรับข้อ ๔ ขออนุญาตละพระนามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม  เพราะหลานๆ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่  และครั้งหนึ่งหลานของท่านที่ขอไม่ออกนามนั้นได้เชิญพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงอธิบายความในพระราชหฤทัยพระราชทานไปยังบิดาของเจ้านายที่ขออนุญาตไม่ออกพระนามนั้น  มาให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้ล่วงลับไปแล้วอ่าน  ผมเป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวที่นั่งอยู่ด้วยกันในวันนั้นยังไม่มีโอกาสได้อ่านลายพระราชหัตถ์นั้นเลย  แต่ทราบจากสองท่านนั้นว่า  ในลายพระราชหัตถ์นั้นได้ทรงแสดงความเป็นสุภาพบุรุษตามที่ได้ทรงรับการอบรมมาจากอังกฤษ  และทรงขอโทษบิดาของเจ้านายพระองค์นั้น  
ต่อไปนี้เป็นพระราชพินัยกรรมฉบับสุดท้าย  และเป็นฉบับ (ที่เกือบจะ) สมบูรณ์    

พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ

ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้ รู้สึกอำนาจแห่งวัยธรรม, ไม่ควรประมาท, มีกิจการบางอย่างที่ฃ้าพเจ้าเป็นห่วง, จึ่งอยากจะสั่งไว้เสียให้รู้สึกโล่งใจ, จึ่งฃอสั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ดังต่อไปนี้ :-

ฃ้อ ๑ ถ้าถึงเวลาที่ฃ้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ฃ้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย, ฃ้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์, ให้ฃ้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด, เพราะ หม่อมเจ้า วรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด. เกรงจะไม่เปนที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ฃ้าราชการ, และอาณาประชาชน

ฃ้อ ๒ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่, ฃอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาเปนผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกฃ้าพเจ้าจะประสูติ. ถ้าประสูติเปนหญิง ก็ให้เปนไปตามฃ้อ ๑ ถ้าประสูติเปนชาย ก็ให้เปนไปตามข้อ ๓ ข้างล่างนี้

ฃ้อ ๓ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, ฃ้าพเจ้าฃองแสดงความ ปราร์ถนาว่า ให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชา เปนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล
(นี่เป็นคำสั่ง (ห้าม) อีกชั้น ๑ .- ถ้าเสนาบดีจะคิดเลือกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเปนผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์, ให้เสนาบดีกระทรวงวังคัดค้านด้วยประการทั้งปวงจนสุดกำลัง, เพราะฃ้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน ๑ อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และฃ้าพเจ้าจะไม่ลืมเลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ลิเอาราชอาณาเฃตต์ฃองพระราชวงศ์จักรีไปฃายฝรั่งเสีย ๓-๔ คราวแล้ว. ถ้าให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการ ลูกฃ้าพเจ้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้

ฃ้อ ๔ ต่อไปภายหน้า คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัฐิ, คือจะเอาองค์ใดฃึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้ ห้ามมิให้เอาพระอัฐิ...........................................................ขึ้นมาตั้งเคียงข้าพเจ้าเป็นอันขาด เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียข้าพเจ้า ก็ได้มาบำรุงบำเรอน้ำใจข้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น ต่อแต่นี้มาหาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ข้าพเจ้า อยู่เนืองนิตย์ ถ้าจะเอาผู้ใดตั้งคู่กับข้าพเจ้า ก็น่าจะตั้งอัฐิสุวัทนา ซึ่งถ้าเขามีลูกชายแล้วก็ไม่เป็นปัญหาเลย

คำสั่งนี้มอบไว้แก่เสนาบดีกระทรวงวังในตำแหน่ง ฉนั้นถ้าเสนาบดีกระทรวงวังจำเป็นต้องย้ายตำแหน่งหรือถึงอสัญกรรม ก็ให้มอบคำสั่งนี้ให้แก่เสนาบดีใหม่ ควรให้รู้กัน ๒ คนว่าเก็บไว้ที่ไหน เพื่อเสนาบดีเกิดมีเหตุฉุกละหุกขึ้น ผู้ที่รุ้อีกคน๑ จะได้มอบคำสั่งนี้แก่คนใหม่

พระราชวังพญาไท
วันที่  ๘  กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘
ราม วชิราวุธ ปร.

โปรดสังเกต  ถ้าเป็นลายพระราชหัตถ์รัชกาลที่ ๖ แล้ว  คำบางคำจะทรงใช้ ฃ แทน ข  และ ฅ แทน ค
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 12:46

 ขอย้อนมาถึงบทความของคุณสมศักดิ์ที่กรุณานำมาให้อ่านกันนั้น  ผมมีข้อสังเกตที่จะเรียนเพิ่มเติม

     ๑.๑  เรื่องห้ามบุคคลที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวมิให้สืบราชสันตติวงศ์

         ประเด็นนี้พระยาปฏิพัทธ์ภูบาล  ได้เล่าไว้ว่า  เมื่อครั้งที่ออกไปรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (คือรัชกาลที่ ๖) ที่ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น  สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นมีพระดำริจะถวายเจ้าหญิงญี่ปุ่นให้เป็นพระชายา  โปรดให้ทรงเลือกได้พระอัทธยาศัย  แต่สมเด็จพระบรมฯ ทรงตอบปฏิเสธ  และได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่คณะที่ไปรับเสด็จว่า  ธรรมดาของสามีภรรยาย่อมจะต้องมีปัญหากระทบกระทั่ง  เหมือนลิ้นกับฟัน  หากมีปัญหาขัดข้องใจกันขึ้นมา  ทางฝ่ายหญิงเกิดเรียกเรือรบเข้ามาปิดอ่าวเหมือน ร.ศ. ๑๑๒  ประเทศชาติมิยุ่งยากหรอกหรือ  อีกทางหนึ่งเชื่อว่า คงจะได้ทรงเห็นปัญหาวุ่นวายนี้จากประเทศต่างๆ ในยุโรปมาแล้ว  จึงทรงระมัดระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก  

   ดังนั้น เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นรัชทายาทจึงทรงมีสัญญาลูกผู้ชายกันไว้ว่า  หากทูลกระหม่อมจักรพงษ์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะมิทรงตั้งหม่อมคัทริน เป็นพระราชินี  และห้ามมิให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เป็นรัชทายาท
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 12:47

 ๒  เรื่องลำดับการสืบราชสันตติวงศ์
   
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แล้ว  ได้โปรดสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ (ปกติเจ้าฟ้าทรงกรม ศักดินา ๔๐๐๐๐) หี้พระเกียรติศักดิ์เป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  จึงมักจะกล่าวกันว่า  มีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้พระราชโอรสทั้งสองท้อง (คือ สายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งทรงเป็นพระขนิษฐภคินีร่วมพระชนนี) นี้  ให้นับอายุเรียงตามกัน  

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จกลับจากยุโรปแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พร้อมมีพระราชกระแสดังปรากฏในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นั้นแล้ว  จึงเท่ากับว่า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นไปตามแบบธรรมเนียมในยุโรป  คือ ให้นับสายสมเด็จพระพันปีหลวงตรงลงไปจนหมดเสียก่อน  จึงไปต่อที่สายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า   แล้วจึงไปถึงสายสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลยมารศรี  และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฏตามลำดับศักดิ์ของพระชนนี

เมื่อพระราชพินัยกรรมลงวันที่  ๘  กันยายน  ๒๔๖๘  ทรงกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงรับรัชทายาทในกรณีที่พระนางเจ้าสุวัทนาทรงมีพระประสูติกาลเป็นพระราชธิดา  กรณีนี้จึงเท่ากับว่าได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้ามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทั้งสามพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา  และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบุรณ์อินทราชัย ดังนั้นทายาทของทั้งสองพระองค์ (เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครนครราชสีมา ไม่ทรงมีพระทายาท) จึงถูกข้ามไปทั้งหมดตามกฎมณเฑียรบาล  มาตรา ๕

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว  จึงต้องไปเริ่มที่สายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  แต่ต้องข้ามสมเด็จพระบรมองค์ใหญ่ไปเพราะทรงเป็นมกุฎราชกุมารมาก่อนแล้ว  และไม่ทรงมีพระทายาทก่อนที่จะเสด็จสวรรคต  ลำดับต่อไปจึงต้องเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์  แต่เมื่อหาพระองค์ไม่แล้ว  จึงต้องเลื่อนลงมาที่พระโอรส ๒ พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล  และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช  จากนี้แล้วจึงจะไปถึงสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  และสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ตามลำดับ
   
   การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  มาอ้างว่า  คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงเรื่องการสืบราชสันตติวศ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์  และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ขึ้นพิจารณา (รายละอียดในหน้า ๒) นั้น   ผมกลับเห็นว่า นักกฎหมายระดับดอกเตอร์อังดรัวซ์  
ไม่น่าจะตีความกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หมวดที่ ๓ ๔ และ ๕ พลาดไปได้ถึงขนาดนั้น  ในกรณีพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์นั้นเข้าข่ายตามมาตรา ๑๑ (๔)  ประกอบด้วยมาตรา ๑๒  ส่วนพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชนั้น เข้าเกณฑ์มาตรา ๑๑ (๖) ตามพระราชพินัยกรรมที่อ้างถึงนั้น

   ส่วนที่มีการอ้างอิงถึงพระองค์อื่นๆ อีกนั้น  ก็เชื่อว่า เพียงแต่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะราษฎร์ในการที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์โดยมีคณะผู้สำเร็จาชการตามหมวดที่ ๖ แห่งกฎมณเฑียรบาล  และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงรับอัญเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว  คณะราษฎร์ก็ได้ใช้อำนาจต่างๆ ผ่านทางผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  จนเป็นเหตุให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ต้องปลงพระชนม์ชีพ  แล้วคณะราษฎร์ก็ได้ตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภา (ซึ่งกล่าวกันว่า  ทรงเกรงใจคณะราษฎร์เป็นพิเศษ) ขึ้นเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ  ผมว่าxitgfHoสำคัญนั้นอยู่ตรงนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 12:59

 ไม่ทราบจะขอบคุณคุณ V_Mee อย่างไรดี
ที่กรุณาขอให้พรรคพวกไปคัดพระราชพินัยกรรม และอุตส่าห์พิมพ์ลงมาให้พวกเราได้อ่านกัน

ข้อที่ ๔ ทำเอาอึ้งไปพักใหญ่  กริ้วมากจริงๆด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 13:11

 เห็นด้วยกับค.ห. 66  
เคยได้ยินมาอย่างนั้นเหมือนกันว่า มีการใช้อำนาจผ่านทางผู้สำเร็จราชการค่อนข้างมาก  
การสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตรฯ  หลานๆบางท่านก็ไม่เชื่อว่าเป็นการปลงพระชนม์ชีพ  
แต่เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คนรุ่นหลังก็คงหาหลักฐานได้แต่เพียงในตำราเท่านั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง