เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 62661 ที่มาของ "ตราบัวแก้ว"
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 20 พ.ย. 00, 06:00

จากกระทู้ลำดับ ๑๗๓ ความเห็นที่ ๙ คุณพระนาย ขอทราบที่มาของตราบัวแก้ว สัญลักษณ์ของกระทรวง
การต่างประเทศ พอดีมีบทความประวัติเรื่องตราบัวแก้วนี้อยู่ ก็จะขอคัดบางส่วนมาเสนอ ดังนี้

     เรื่องราวของตราบัวแก้ว ในชั้นเดิมมีมาอย่างไร ไม่เหลือหลักฐานโดยเฉพาะไว้ให้ทราบ จึงเป็นเหตุ
ขัดข้องในการทำความเข้าใจอยู่โดยมาก ดังมีตัวอย่างกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง พระราชลัญจกรและตรา
ประจำตัวประจำตำแหน่ง ซึ่งรวบรวมโดยพระยาอนุมานราชธน ว่า
     "ตราบัวแก้วเสนาบดีคลังนี้เหลือแปล จะเป็นตราดอกบัวทำตามบุญตามกรรมอย่างนั้นหรือประการใด
หรือจะหมายเป็นกมลาสน์ ถ้ากระนั้นทำไมไม่นั่งไม่ทำพรหมนั่งบนดอกบัว นี่เอาเทวดาหน้าเดียวบรรจุลงใน
เกษรบัว จะเป็นกมลาสน์ไม่ได้ และถ้าเป็นดอกบัวเปล่าก็ดี หรือเป็นกมลาสน์ก็ดี จะควรเป็นเครื่องหมาย
พนักงานคลังได้อย่างไร ตกลงยังแลไม่เห็นในตราดวงนี้"
(กมลาสน์ - น. ผู้มีดอกบัวเป็นที่พึ่ง คือ พระพรหม : ปทานุกรมฉบับนักเรียน พ.ศ. ๒๔๗๒)
(กมลาสน์ - กมล : บัว + อาสนะ : ที่นั่ง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๕)
     ในการตรวจสอบค้นหาประวัติของตราดวงนี้ จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงคำเรียกชื่อตรา, รูปดวงตรา
และนามบันดาศักดิ์กำกับตรา เป็นต้น ดังต่อไปนี้

     (๑) คำเรียกชื่อตรา
     (ก) ในเรื่องเก่าซึ่งว่าด้วยพระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์ แก่วัดในเมืองพัทลุงเรียกชื่อตราว่า "ตราเทพดา
อยู่ในดอกบัว" อีกตอนหนึ่งระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๒๑๕๘ เรียกว่า "ตราเทพดานั่งในดอกบัว" ส่วน
พระบรมราชูทิศในรัชชกาลสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. ๒๒๔๒ เรียกว่า "ตราบัวแก้ว"
     (ข) ในกฏหมายพระธรรมนูญเก่า ตราในศักราช ๑๕๕๕ (ถ้าเป็นมหาศักราชเทียบตรง พ.ศ. ๒๑๗๖)
เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง ฉบับหมอบรัดเลย์พิมพ์ เล่ม ๑ หน้า ๔๙)
     (ค) ในกฏหมายศักดินาพลเรือน ตราในศักราช ๑๒๙๘ (ถ้าเป็นมหาศักราชเทียบตรง พ.ศ. ๑๙๑๙)
เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง เล่ม ๒ หน้า ๑๓๔)
     (ฆ) ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวง ตราใน พ.ศ. ๑๙๗๖ เรียกว่า "ตราบัวแก้ว" (กฏหมายตราสามดวง
เล่ม ๒ หน้า ๑๙๓)
     หมายเหตุ - คำเรียกชื่อตราเป็น ๒ อย่าง สำหรับอย่างแรกที่เรียกว่า "ตราเทพดาอยู่ในดอกบัว" หรือ
"เทพดานั่งในดอกบัว" ไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบกฏหมาย แต่ก็ไม่ใช่คำเรียกที่เลื่อนลอย เพราะนอกจาก
ความหมายของคำเรียกซึ่งตรงกับรูปของดวงตราแล้ว คำเรียกนั้นยังมีเค้าเงื่อนไปตรงกับรูปของ
"สุขาวดี" ตามลัทธิพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนคำเรียกชื่อตราใน (ข( (ค) และ (ฆ) ว่า "บัวแก้ว" หมายถึง
วัตถุในหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ มีในลัทธิมหายานเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำเรียกทั้งสองอย่างจึงนับว่า
ไม่ขัดกัน

     (๒) รูปดวงตรา
     เอกสารเท่าที่มีตราบัวแก้วประทับ ซึ่งพอจะหาตรวจสอบได้ในหอหนังสือแห่งชาติปัจจุบันนี้ คือ
     (ก) พระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์แก่วัดในเมืองพัทลุง ภาษาไทยฉบับหนึ่ง ภาษาขอม อักษรเฉียง ฉบับหนึ่ง
เป็นสมุดโผจีน ลง พ.ศ. ๒๒๔๒ ประทับตราบัวแก้วดวงเล็กที่กลางขนบ รูปไม่ค่อยชัด เพราะชาดซึมพร่า
ในกระดาษเสียมากแล้ว
     (ข) กฏหมายตราสามดวง สมุดไทยขาว เส้นหมึก พ.ศ. ๒๓๔๗ ประทับตราคชสีห์  ตราบัวแก้วขนาดใหญ่
รูปชัดเป็นส่วนมาก ขนาดของตราบัวแก้ววัดผ่าสูญกลาง ๒ นิ้ว ย่อมกว่าตราอัครมหาเสนาธิบดีทั้งสองดวง
นั้นครึ่งนิ้วฟุต ลวดลายในดวงตราบัวแก้วมีดังนี้
     (๑) เส้นรอบนอกมี ๒ เส้น (น้อยกว่าของตราอัครมหาเสนาธิบดี ๑ เส้น
     (๒) บัวถัดเส้นรอบนอก เป็นรูปปลายกลีบบัวซ้อนเพียง ๒ ชั้น
     (๓) มีลวดรองปลายกลีบบัวเป็นวงใน ๓ เส้น
     (๔) รูปเทพดาประทับบนแท่นในดอกบัว มีเกษรบัวรายสองข้าง ทำปลายเกษรเป็นรูปกนกเปลว
     (๕) หัตถ์เทพดา ข้างขวาทรงดอกบัว ข้างซ้ายทรงอาวุธรูปสายฟ้า
     รูปตราตามลักษณะดังกล่าวมานี้ ให้ถือเป็นแบบสืบมาว่าถูกต้องชอบด้วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในหมายเลข (๕) "ดอกบัวต้องอยู่ข้างขวา อาวุธรูปสายฟ้าต้องอยู่ข้างซ้าย"

     (๓) ..........

     (๔) ..........

     (๕) สรุปความ
     อาศัยข้อความอิงหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมาตามลำดับแล้ว พอจะเก็บย่อแต่ในความสำคัญได้ว่า
     (ก) รูปตราบัวแก้ว มีความสำคัญอยู่ในรูป ๒ อย่าง คือ เป็นรูปเทพดานั่งในดอกบัวเป็นประการแรก
และเทพดาถือดอกบัวข้างขวา ถือรูปสายฟ้าคือวัชระข้างซ้ายเป็นประการที่ ๒ ความสำคัญทั้งสองประการนี้
ไปตรงกับเรื่องราวในลัทธิมหายาน ที่กษัตริย์ศรีธรรมราชทรงยกย่องนับถือตั้งแต่สมัยศรีธรรมราชยัง
เรืองอำนาจที่สุด ดังกล่าวไว้ในจารึกหลักที่ ๒๓
     (ข) .....
     (ค) .....
     (ฆ) ในการที่เรียกชื่อตราโกษาธิบดีว่า บัวแก้ว คงเรียกโดยหมายเอาวัตถุในหัตถ์เทพดาทั้งสองข้าง
รวมกัน คือข้างขวาเป็นดอกบัว เรียกว่าบัว ข้างซ้ายเป็นวัชระ เรียกว่า แก้ว เพราะว่าวัชระ หมายถึงอาวุธ
อย่างที่เรียกว่า วชิราวุธ ครั้งโบราณเคยแปลวชิราวุธว่า พระแสงแก้ววิเชียร ดังปรากฏคำแปลอยู่ในเรื่อง
วิธุรชาดกที่ ๘ ในมหานิบาต
     (ง) ถ้าข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับรูปดวงตราบัวแก้วนี้ถูกต้อง รูปเทพดาในดวงตรานั้นก็ควรเข้าใจว่าเป็น
เทวโพธิสัตว์ หาใช่เทพดาสามัญไม่.
 
ที่มา : นายปรีดา ศรีชลาลัย เรียบเรียงเรื่อง "ตราบัวแก้ว" ถวายแด่หม่อมเจ้าวงศ์ษานุวัตร เทวกุล ปลัด
กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๕
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 พ.ย. 00, 12:56

ขอบคุณครับ คุณลุง อ่านดูแล้วก็ทำให้งงว่า เทวดาที่อยู่ในดอกบัว เป็นเทวดาองค์ไหน
หรือว่าเทวดาที่ถือดอกบัวข้างหนึ่ง แล้วถือวัชระอีกข้างหนึ่งนี่ยังไง เพราะเท่าที่ทราบ วัชระ วชิระ คือสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์
หรือ ซีอุสของเทวดากรีก แต่ไม่เห็นบอกว่าเทวดาสององค์นี้จะถือดอกบัวยังไง
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 พ.ย. 00, 06:12

ผมไม่มีความรู้เรื่องเทวดาฝรั่งเลยครับ ต้องขออภัย
รู้จักแต่พระวิษณุ ที่เป็นคราประจำสถาบัน ว่าท่านมีสี่กร
เท่านั้นแหละครับ แล้วจะค้นมาตอบให้ทราบครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 พ.ย. 00, 15:56

ผมเคยมีบทความว่าด้วยตราบัวแก้วอยู่ที่ไหนสักแห่ง ขอค้นก่อนครับ
ส่วนที่ว่าเทวดาในตราเป็นเทพองค์ไหนนั้น ตามที่คุณลุงแก่คัดมาก็เห็นทางสันนิษฐานได้ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายพุทธมหายาน มากกว่าจะเป็นเทพฮินดูครับ ดังนั้น ไม่ใช่ทั้งพระอินทร์และซูส Zues ด้วย (แหม- ยังไงๆ ก็ต้องไม่ใช่ซุสอยู่แล้ว คุณพระนายก็ ตรากรมท่าสยามนะครับไม่ใช่กระทรวงต่างประเทศกรีก)

ผมเดาส่งว่า จะเป็นพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงอาวุธเป็นแก้ว คือวัชระเหมือนกัน และโดยที่เป็นโพธิสัตว์ อีกมือจะถือดอกบัวก็ไม่แปลกทางสายพุทธมหายานสร้างคติเรื่องโพธิสัตว์ขึ้นมาใหม่เพื่อแย่งศรัทธาคน แข่งกับคติเทพของฮินดู จึงเห็นได้ว่าโพธิสัตว์มหายานหลายองค์มีฤทะมีเดชมีอะไรคล้ายๆ ทางเทวดาฮินดู อย่างพระวัชรปาณีก็ถอดแบบไปจากพระอินทร์เลย ทรงวชิราวุธเป็นสายฟ้าด้วยกัน (เหมือนอีกองค์ คือซูส) เออ- แล้วถ้าพระอินทร์ทรงวชิราวุธเสียแล้ว รามสูรจะขว้างอะไรล่ะครับ...
เครื่องหมายวชิราวุธ คือสายฟ้านี้ เราคงจะคุ้นกับสายฟ้าที่ฝรั่งวาด หงิกๆ เหมือนรูปไฟฟ้า มากกว่าสายฟ้าของพระอินทร์หรือพระโพธิสัตว์ หรืออาจจะนึกภาพเป็นขวานรามสูรก็แล้วแต่ แต่สายฟ้าของพระอินทร์และพระโพธิสัตว์มหายานนั้น เป็นรูปอาวุธ 5 แฉกด้ามสั้นครับ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง เอาเป็นว่า รูปตราโรงเรียนวชิราวุธนั้นแหละ (เพราะมาจากพระนาม ร.6) นั่นคือสายฟ้าในจินตนาการแขก ทางพุทธมหายาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายย่อยคือวัชรยานของพวกลามะทิเบต ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญมาก มีความหมายโดยนัยว่าเป็นการบรรลุหรือรู้แจ้งโดยฉับพลัน เครื่องมือในพิธีของพระลามะ มีทำเป็นรูปวัชระ หรือประดับตกแต่งด้วยลวดลายวัชระมากมายหลายชิ้น
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 พ.ย. 00, 18:06

โทษครับนิ้วกระดิกผิดไป ท้าวยุปีเตอร์เทวาธิบดีโรมัน (นมส. ทรงเรียกไว้ยังงั้น) นั้น ข้างกรีกเรียกว่า ซูส - Zeus ไม่ใช่ Zues ตามที่เขียนไว้ครับ
พระโพธิสัตว์มหายานอีกองค์ คือพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี นั่นท่านถือดอกบัวในพระหัตถ์เลยแหละครับ ตามชื่อท่านเลย
เรื่องตำแหน่งกรมท่า โกษาธิบดี ที่ถือตราบัวแก้วนี่ ปกติก็แปลชื่อตำแหน่งว่าเป็นอธิบดีแก่พระคลัง แต่มีข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ผมเคยอ่าน แปล โกษ ว่า โลก แล้วเลยแปล โกษาธิบดี ว่า ผู้เป็นใหญ่ในโลก (แปลว่ารู้ world affairs?) ซึ่งถ้าอย่างนั้นจะถือตราพระโพธิสัตว์ก็คงได้ แล้วผมจะค้นมาให้ครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 13:28

 กระทู้เก่าอีกกระทู้หนึ่งครับ สมาชิกเรือนไทยรุ่นโน้นคือ คุณลุงแก่ก็ไม่อยู่แล้ว คุณพระนายก็ไม่อยู่แล้ว ออกจะคิดถึง

เมื่อหลังวันสงกรานต์ คือวันที่ 14 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวันครบรอบการสถาปนากระทรวงการต่างประเทศครบรอบ 131 ปี ผมก็เลยขอถือโอกาสเอาเรื่องของตราบัวแก้วตามหลักฐานของกระทรวงการต่างประเทศที่เขาบันทึกไว้เป็นทางการเพื่อใช้อบรมข้าราชการแรกเข้าในปัจจุบัน มาให้อ่าน เนื้อความหลายส่วนเหมือนกับที่คุณลุงแก่เคยคัดมาแล้ว ดังนี้ครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 13:32

ตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นรูปเทพยดานั่งในดอกบัว ถือดอกบัวข้างขวา ถือวชิระข้างซ้ายนั้น ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบัวแก้วเป็นตราซึ่งเจ้าพระยาพระคลังใช้ประทับในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาต่างๆ ทั้งนี้ เอกสารเหล่านี้จะมีตราสามดวงประทับอยู่ คือ ตราบัวแก้ว ตราราชสีห์ และตราคชสีห์ เนื่องจากมหาดไทย กลาโหมและกรมท่า เป็นเพียงสามกรมที่มีอำนาจบังคับบัญชาทางศาล

ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลังออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงกลายเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดระบบราชการใหม่ โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง ตราบัวแก้วจึงเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และเมื่อได้มีการยกเลิกการประทับตราในเอกสารราชการเมื่อปี พ.ศ. 2475 ตราบัวแก้วจึงกลายมาเป็นตราประจำกระทรวงการต่างประเทศจนทุกวันนี้
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 13:34

รูปดวงตรา
เอกสารเก่าที่มีตราบัวแก้วประทับ ซึ่งพอจะหาตรวจสอบได้ในหอสมุดแห่งชาติปัจจุบันนี้ คือ
(ก) พระบรมราชูทิศกัลปนาสงฆ์ วัดในเมืองพัทลุง ภาษาไทยฉบับหนึ่ง ภาษาขอมอักษรเฉียงฉบับหนึ่ง เป็นสมุดโผจีน ลง พ.ศ. 2242 ประทับตราบัวแก้วดวงเล็กที่กลางขนบ รูปไม่ค่อยชัดเพราะชาดซึมพร่าในกระดาษ
(ข) กฎหมายตราสามดวง สมุดไทยขาว เส้นหมึก พ.ศ. 2347 ประทับตราราชสีห์ ตราคชสีห์ ตราบัวแก้วขนาดใหญ่ รูปชัดเป็นส่วนมาก ขนาดของตราบัวแก้ววัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ย่อมกว่าตราอัครเสนาบดีทั้งสองดวงนั้นครึ่งนิ้ว ลวดลายในดวงตราบัวแก้วมีดังนี้
(1) เส้นรอบนอกมี 2 เส้น (น้อยกว่าตราของอัครมหาเสนาบดี 1 เส้น)
(2) บัวถัดเส้นรอบนอก เป็นรูปปลายกลีบบัวซ้อนเพียง 2 ชั้น
(3) มีลวดรองปลายกลีบบัวเป็นวงใน 3 เส้น
(4) รูปเทพยดาประทับบนแท่นในดอกบัว มีเกสรบัวรายสองขาง ทำปลายเกสรเป็นรูปกนกเปลว
(5) หัตถ์เทพยดา ข้างขวาทรงดอกบัว ข้างซ้ายทรงอาวุธรูปสายฟ้า

รูปตราตามลักษณะดังกล่าวมานี้ ได้ถือเป็นแบบสืบมาว่าถูกต้องชอบด้วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมายเลข (5) ดอกบัวต้องอยู่ข้างขวา อาวุธรูปสายฟ้าต้องอยู่ข้างซ้าย
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 13:51

ต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง
ข้อแรก ผมค่อนข้างเชื่อเป็นส่วนตัวว่า บางทีรัฐบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ อาจได้อิทธิพลของพระโพธิสัตว์มหายาน แต่ภายหลังเลือนไปเลยเรียกว่าเป็นเทวดา เพราะที่จริงพระโพธิสัตว์พุทธมหายานนั้น เดิมก็คิดขึ้นมาเพื่อแข่งกับเทพของฮินดู และเผอิญมีพระโพธิสัตว์อยู่สององค์จริงๆ คือ พระปัทมปาณีและพระวัชรปาณี องค์หนึ่งทรงสายฟ้าในพระหัตถ์ องค์หนึ่งทรงดอกบัวในพระหัตถ์ โพธิสัตว์วัชรปาณีนั้นออกจะเห็นได้ไม่ยากว่าลอกมาจาก (และแต่งเรื่องใหม่ให้มีฤทธิ์มากกว่า) พระอินทร์ของทางฮินดู ซึ่งทรงสายฟ้าเหมือนกัน แต่ทำไมช่างไทยและทางการกรุงศรีอยุธยาจึงจับโพธิสัตว์สององค์นี้มารวมกัน กลายเป็นเทพที่ถือสายฟ้ามือหนึ่ง ถือดอกบัวมือหนึ่ง อันนั้นผมไม่รู้

มีหลักฐานว่าก่อนที่เราจะรับพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่องรอยการนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานอยู่ทั่วไป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์ที่ขุดพบที่ไชยา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นปฏิมากรรมโบราณที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในเมืองไทยนั้น ก็เป็นพระโพธิสัตว์มหายาน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 14:07

 ข้อที่สอง เหตุผลที่หลักฐานของกระทรวงฯ ให้ไว้นั้นเป็นอันอธิบายได้ว่า ทำไมตราสามดวงที่ประทับในกฏหมายตราสามดวง จึงต้องเป็นสามดวงนี้ คือราชสีห์ คชสีห์และบัวแก้ว (รวมทั้งประทับในสนธิสัญญากับต่างประเทศด้วย) ก็เพราะว่า "3 กรมนี้เป็นกรมที่มีอำนาจทางศาล"

ตัวผมเองเคยอธิบายไว้ (ตามความเข้าใจของคนสมัยใหม่ที่เรียนรัฐศาสตร์) ไว้ที่อื่นอีกที่หนึ่งว่า ตราสามดวงแทนอำนาจ 3 ประการของรัฐไทย หรืออำนาจรัฐ 3 ด้าน ตามที่แบ่งในสมัยนั้น คืออำนาจด้านการทหาร อำนาจด้านการปกครองฝ่ายพลเรือน (หรือมหาดไทย) และอำนาจด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการเศรษฐกิจ แต่ที่อธิบายไว้ในที่นี้ก็เข้าที แม้ว่าผมจะสงสัยอยู่บ้างก็ตามว่า ถึงแต่เดิมมาอาจจะเป็นอย่างนั้น คือกลาโหมมหาดไทยก็มีศาล กรมท่าก็มีศาล มี 3 กรมที่มีศาลของตัวเอง แต่ผมเข้าใจว่าตอนหลังส่วนราชการอื่นๆ ก็มี อย่างนครบาลก็มีศาล กรมวังก็มีศาล (เว้นแต่จะถือว่าทั้งนครบาลและกรมวังนั้นรวมอยู่ในจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ซึ่งอยูใต้สมุหนายกอยู่แล้ว)

สมัยโน้นไทยเราไม่ได้ใช้ระบบ 3 อำนาจอธิปไตย - บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ อย่างทีเราหันไปใช้ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ฝรั่งเดี๋ยวนี้ครับ อำนาจอธิปไตย 3 ด้านนี้ รวมๆ กันอยู่ ถ้าจะแยกก็แยกโดยวิธีอื่นไม่ใช่แยกโดยสาขาของอำนาจอธิปไตย

ต้องบันทึกไว้อีกว่า ต่อมาการประทับตราก็เปลี่ยนธรรมเนียมไป ไม่ใช่ว่าใช้ตรา 3 ดวงนี้อยู่ตลอด เช่นพระราชสาสน์ถึงกษัตริย์ต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ตรา 3 ดวงนี้ ใช้พระราชลัญจกรดวงอื่นประทับ เช่น หงสพิมาน มหาโองการ มหาโลโต อะไรก็ว่าไป
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 14:14

 พอเห็นชื่อเจ้าขอกกระทู้เป็นลุงแก่ก็ตกใจ รีบแวะเข้ามาดู
ที่แท้คุณนกข. มาขุดกระทู้เดิมที่เคยเข้ามาแสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้ เมื่อปี43นี่เอง
ดีนะครับกระทู้เก่าๆพวกนี้ มีเนื้อหาสาระเข้มข้นควรรู้อยู่ไม่น้อย เอาออกมาปัดฝุ่นอ่านสักหน่อยก็ดีครับ
ก็มาลงชื่ออ่านตามระเบียบครับผม.
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 14:27

 ข้อที่สาม อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวของผมเองเลยแหละ เพิ่งคิดได้หรือตีความใหม่ได้เดี๋ยวนี้ปีนี้ ทั้งๆ ที่ทำงานที่นี่มาก็หลายปี เห็นตราบัวแก้วมาหลายๆๆๆๆ หนแล้ว

คือผมมองๆ ดูท่านเทวดาตรากระทรวง แล้วก้เพิ่งเกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาเองว่า จะถือว่าท่านเทวดาเป็นเทพองค์ไหนก็ช่างเถิด สาระสำคัญตามข้อเท็จจริงก็คือ ท่านถือดอกไม้ (ดอกบัว) ในมือข้างหนึ่ง ถืออาวุธหรือตะบองไฟฟ้าในมืออีกข้างหนึ่ง - นั่นเอง

ตีความอย่างสมัยนี้ ก็เรียกได้ว่า "carrot and stick" หรือไม้นวมไม้แข็ง หรือ Good Cop - Bad Cop ซึ่งเป็นกลยุทธสำคัญในการเจรจาต่อรองทางการทูต และการเจรจาต่อรองด้านอื่นทุกๆ ด้านนอกจากการทูตด้วย

ไม่รู้ว่าที่ผมเดามั่วอยู่นี้จะตรงกับเจตนาของท่านผู้ออกแบบตราตั้งแต่ร้อยๆ ปีที่แล้วครั้งกระโน้นหรือเปล่า สงสัยว่าเป็นแค่ความบังเอิญมากกว่า แต่เป็นความบังเอิญที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจดีครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 14:47

ขอบคุณครับคุณหมูฯ ที่สนใจ

ตราบัวแก้วเดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้ในทางราชการอีกแล้ว (เพราะหนังสือราชการทั้งหมดของรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาใช้ตราครุฑทั้งหมด รวมทั้งถ้าจะต้องประทับตราก็ประทับเป็นตราครุฑด้วยมานานหลายสิบปีแล้ว) เหลือแต่เป็นตราสัญลักษณ์กระทรวงที่ไม่เป็นทางราชการ และเป็นตราประจำสโมสรสราญรมย์อันเป็นสโมสรของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องหมายบอกสังกัดของข้าราชการกระทรวงนี้เวลาต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนเท่านั้น
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 14:53

 "สายฟ้า" ในมือเทวดานั้นดูๆ แล้วหน้าตาไม่เป็นวชิราวุธ ในรูปตรานั้นเป็นเปลวๆ เหมือนเปลวกระหนกลายไทย จะให้ถือว่าสายฟ้าหรือไฟฟ้า ในสายตาช่างไทยโบราณ เป็นไฟอย่างหนึ่งก็คงได้
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 15:10


ลองแปะรูปตราบัวแก้วครับ ขอให้ติด เพี้ยง!
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง