เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 29405 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า vs สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 22 เม.ย. 06, 11:42

กรณีสโตรเบลนั้น  สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังเสด็จประพาสยุโรป  ซึ่งเสด็จฯ ๒ ครั้งๆ แรก พ.ศ. ๒๔๔๐  ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐  เรื่องของสโตรเบลนี้ถ้าอ่านตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ทรงนิพนธ์ไว้ก็เชื่อว่า  น่าจะเกิดขึ้นในระหว่างที่เสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐  ซึ่งในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครอยู่  จึงน่าจะทรงทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี  (แต่ถ้าเป็นกรณีเสด็จฯ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐  แล้วมาพิจารณาใหม่ในตอนปลายรัชกาล  ระยะเวลาก็จะห่างกันถึงกว่า ๑๐ ปี คงเป็นไปไม่ได้)  เมื่อเป็นดังนี้จึงน่าจะพอคาดเดาได้ว่า สมเด็จพระบรมฯ ซึ่งทรงสำเร็จราชการในเวลานั้นก็คงจะทรงทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ในประเด็นเรื่องที่รัชกาลที่ ๖ ไม่ทรงพอพระทัยกรมพระยาดำรงนั้น  มีพระราชบันทึกส่วนพระองค์ที่พระราชทานไปยังสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือผู้ที่อยู่หลังฉากในการที่พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ และนายเซียวฮุดเส็ง รวมตลอดทั้งบุคคลอื่นๆ เขียนบทความโจมตีรัฐบาลโดยเฉพาะพระองค์รัชกาลที่ ๖ ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอๆ  ทรงพระราชวิจารณ์เป็นการโจมตีโดยไม่สร้างสรรค์  มุ่งหวังทำลายพระองค์และรัฐบาล
ซึ่งหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕  ได้ทรงให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการและสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทรงเป็นพระอภิบาลรัชกาลที่ ๖ ในยามที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว  และเมื่ออ่านในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นั้น  จะทรงพระราชบันทึกเป็นนัยๆ ไว่ว่า มีเจ้านายบางพระองค์พยายามที่จะมาครอบพระองค์ไว้  แต่ทรงขัดขืนด้วยการทรงนิ่งเสียเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งทำให้เจ้านายพระองค์นั้นไม่พอพระทัย  ก็ชวนให้คิดว่าเจ้านายพระองค์นั้นก็คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ส่วนสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการนั้นทรงให้ความเคารพและทรงยกย่องเป็นอัครมหาเสนาบดีถึงกับได้พระราชทานยศพิเศษเป็น มหาอำมาตย์นายกซึ่งเป็นยศชั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนเทียบเท่าจอมพล พร้อมกับเจ้าพระยายมราช  ในเรื่องนี้ ดร.สนธิ  เตชานันท์ ได้เคยเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า สมเด็จกรมพระยาดำรางราชานุภาพ ได้พยายามปล่อยข่าวว่า รัชกาลที่ ๖ จะทรงตั้งพระองค์เป็นอัครมหาเสนาบดี  แต่เมื่อไม่ทรงตั้งจึงทรงประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย  โดยหวังว่า รัชกาลที่ ๖ จะทรงง้อ  แต่ผิดคาด  โปรดให้ออกไปเลยและทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาป็นเสนาบดีมหาดไทยแทน

ในประเด็นที่รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวถึง "น้องชายเล็ก" ในพระราชบันทึกว่า ทรงถูกน้องเอาเปรียบอย่างไรนั้น  ก็ทรงแยกไว้เป็นเรื่องส่วนพระองค์  แต่ในทางราชการกลับทรงตั้งน้องพระองค์นั้นเป็น รัชทายาท  และทรงมอบหมายให้เป็นเสนาธิการทหารบก  ซึ่งเป็นตำแหน่งคุมกำลังทหารบกทั้งกองทัพ  เสมอกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลานี้  นอกจากนั้นในปัญหาข้อราชการต่างๆ ก็ทรงปรึกษาหารือกันโดยไม่มีอคติเช่นที่ทรงกล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเลย

เรื่องพระราชบันทึก "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" นั้น  ทรงเริ่มจดพระราชบันทึกตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ด้วยลายพระราชหัตถ์  เท่าที่ทราบพระราชบันทึกนี้มีทั้งหมด ๖ เล่ม  พระราชทานไว้แก่ เจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นประดุจบุตรบุญธรรมในพระองค์  เมื่อเจ้าพระยารามราฆพ ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว  ทายาทได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบันทึกทั้ง ๖ เล่มนี้ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันเสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพ  ปัจจุบันคงเก็บรักษาไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ

ส่วนพระราชพินัยกรรมที่อ้างถึงนั้น  ทรงทำขึ้นเมื่อวันที่  ๑๕  กันยายน  ๒๔๖๘  ก่อนสวรรคตเพียง ๒ เดือนเศษ

ในประเด็นเรื่องการสืบราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ นั้น  ขอคุณสมศักดิ์ได้กรุณาอ่านในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖  ในตอนที่กล่าวถึง พระชัยนวโลหะ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งในตอนนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชบายว่าด้วยหลักในการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ชัดเจนครับ
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 23 เม.ย. 06, 19:21

 "ส่วนพระราชพินัยกรรมที่อ้างถึงนั้น ทรงทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๖๘ ก่อนสวรรคตเพียง ๒ เดือนเศษ"

ไม่ทราบพอจะอธิบายเพิ่มเติมได้หรือไม่ครับว่า เหตุใดจึงระบุว่าเป็นวันที่ ๑๕ กันยายน เพราะที่มีคนเคยอ้างข้อความบางตอนของพินัยกรรมนี้ ระบุว่าเป็นวันที่ ๒๑ กันยายน

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 24 เม.ย. 06, 09:28

 มาจากวันที่ที่ลงในพระราชพินัยกรรมฉบับที่ผมเคยอ่านที่ว่ามีอยู่ ๓ หรือ ๔ แผ่น นั่นแหละครับ
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 28 เม.ย. 06, 11:42

 สวัสดีครับ อ. เทาชมพู และท่านอื่น ๆ ครับ
ขออนุญาตเสนอความเห็นเรื่องนี้ครับ
ผมมีข้อสงสัยที่ว่า
1. เหตุใด ร.6 จึงทรงสถาปนาสมเด็จฯ กรมพระดำรงฯ (ยศในขณะนั้น)เป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเมื่อปลายรัชกาล
2. เป็นไปได้หรือไม่ว่า เรื่องที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงออกจากราชการนั้น เป็นเพราะการลิดอำนาจของ ร. 6 และมีผู้กราบทูลกล่าวหาพระองค์ อันเนื่องมาจากความไม่พอใจบางประการ
บุคคลท่านนั้น อาจเป็นผู้ใกล้พระเบื้องยุคลบาท ก็เป็นได้ครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 10 พ.ค. 06, 10:32

 คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว สัมภาษณ์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2526 ณ ห้อง
ขออนุญาตตัดมาเฉพาะหน้า 39 “กรณีกรมป่าไม้”
"ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงประทานสัมภาษณ์ในวันนั้นก็คือเรื่องการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้องทรงออกจากการเป็นเสนาบดีมหาดไทย กับกรณีที่ทรงถูกกล่าวหาว่า “คอรัปชั่น” เงินของกรมป่าไม้
“คือเมื่อก่อนนี้มันมีสมุหเทศาภิบาล แล้วพ่อผมก็เป็นเสนาบดีมหาดไทย มีการประชุมกันทุกปี สมุหเทศาภิบาลมีเรื่องอะไรกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ก็กราบทูลผ่านเสนาบดี รัชกาลที่ ๖ ทรงย้ายสมุหเทศาภิบาลไปขึ้นกับกระทรวงวังกราบบังคมทูลตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต้องผ่านเสนาบดีมหาดไทย ซึ่งเรื่องนี้พ่อผมเล่าให้ฟังเองนะ พอเรื่องนี้ออกมา กรมพระจันทบุรีนฤนาทรับสั่งทันทีว่า ครั้งนี้กรมพระยาดำรงฯ ลาออกแน่ แล้วต่อมาพ่อผมก็ลาออก พ่อบอกว่า ‘พ่อคุมไม่ได้ ถ้าเผื่อว่าสมุหเทศาภิบาลกราบบังคมทูลทุกเรื่องไม่ผ่านเสนาบดี พ่อคุมไม่ได้’ หลังจากพ่อผมแล้วก็มีเสนาบดีอีกหลายคน จนถึงเจ้าพระยายมราช พอเจ้าพระยายมราชขึ้นมาเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านคืนให้หมด สมุหเทศาภิบาลก็ขึ้นกับเสนาบดีมหาดไทยตามเดิม
“แล้วพ่อผมยังได้กลับเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ อันนี้คนไม่ค่อยรู้ คือเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสิ้นพระชนม์-อันนี้พ่อผมเป็นคนเล่าเอง-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ให้เจ้าพระยามหิธรมาหาพ่อผม ว่าบัดนี้สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์ รู้สึกว้าเหว่พระราชหฤทัย จะขอเชิญเสด็จกลับเข้าไปเป็นเสนาบดี พ่อผมก็ให้ไปกราบทูลว่า ‘ชีวิตอยู่ในใต้ฝ่าพระบาท จะโปรดฯ ให้ทำอะไรก็ยินดีทั้งนั้น’ พอรัชกาลที่ ๖ ได้ยินดังนี้ก็ตบพระเพลาว่า ‘นี่สิสมเป็นเจ้านายผู้ใหญ่’"

"“คราวนี้ก็เรื่องป่าไม้ ที่ผมเคยพูดกับโลกหนังสือว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงหาว่า พ่อผมคอรัปชั่นเงินกรมป่าไม้ มีคนสงสัยกันมากว่าผมไปได้เรื่องนี้มาจากไหน อันนี้พี่สาวผมเป็นคนเล่า พ่อไม่ได้เล่าเอง ศิลปากรเคยเอามาตีพิมพ์แต่ผมจำไม่ได้ว่าเล่มไหนที่ว่ารัชกาลที่ ๖ เสด็จกลับมาจากเมืองนอก ท่านก็ทรงเสนอรัชกาลที่ ๕ ให้ย้ายกรมป่าไม้มาขึ้นกับกระทรวงเกษตราธิการ คือตอนนั้นมีกระทรวงเกษตรฯ แล้วทำไมจึงยังมาอยู่กับกระทรวงมหาดไทย คือรัชกาลที่ ๕ ท่านทรงเชื่อพ่อผม อะไร ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ก็อยู่ในมหาดไทยทั้งนั้น เมื่อก่อนนี้เหมืองแร่ก็อยู่มหาดไทย ป่าไม้ก็อยู่มหาดไทย รัชกาลที่ ๕ ท่านก็ไม่ได้ทรงตอบโดยละเอียด ท่านทรงตอบสั้น ๆ ว่า ‘ป่าไม้นั้นเงินมาก มหาดไทยจะยอมหรือ’ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ อาจจะทรงคิดว่าพ่อผมคอรัปชั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่อีกอันหนึ่ง อันนี้สำคัญจะเล่าให้คุณฟัง
“คือวันหนึ่งหลังจากเสด็จกลับจากปีนังแล้ว ไม่มีใครทูลถามอะไร ท่านเล่าขึ้นมาเอง ผมก็นั่งอยู่ตรงนั้น ท่านบอกว่า ‘เรื่องป่าไม้นั้น เราก็รู้อยู่ว่ามันควรจะได้เงินสักเท่าใด เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทไหนมีหลักฐานมั่นคง เราก็ให้สัมปทานเขาไป’ แล้วท่านยังเล่าต่ออีกว่า รัชสมัยรัชกาลที่ ๗ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการใช้นโยบายใหม่เปิดการประมูลแล้วก็ให้บริษัทที่ให้เงินสูงสุดทำ ปรากฏว่าบริษัทนั้นทำเงินไม่ได้เท่าที่เสนอมา เสนาบดีท่านนั้นต้องกราบบังคมทูลลาออกจากเสนาบดี
“ผมเข้าใจว่าท่านคงใช้นโยบายแบบนี้ คือเลือกบริษัทที่มั่นคงแล้วให้เงินคุ้มกับที่เขาควรจะได้ อันนี้อาจจะมีคนไปกราบทูลรัชกาลที่ ๖ ว่าท่านคอรัปชั่น
“เรื่องนี้ ท่านเล่าขึ้นมาเองเมื่อก่อนจะสิ้นไม่นาน มันคงขุ่นอยู่ในใจท่าน”"


ที่มา สุพจน์ แจ้งเร็ว.สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระนิพนธ์ประวัติศาสตร์ บันทึกตามทัศนะของท่านศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว.ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ม.ค. 2527 (หน้า 32-39)
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 10 พ.ค. 06, 13:21

 พอเริ่มได้ชิมผัดผักสาระ  จานนี้เข้า ก็ชักจะวางจานวางช้อนไม่ลงเสียแล้ว.
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 10 พ.ค. 06, 17:27

 ขอบคุณ คุณศรีปิงเวียง ที่เสนอเรื่องกรมป่าไม้เข้ามาพอดีกับที่ผมเพิ่งคัดสำเนา หนังสือกราบบังคมทูลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  ซึ่งกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ เมื่อ เดือนพฤศจิกายน - มกราคม ๒๔๔๘ (สมัยนั้นเปลี่ยนปี พ.ศ. ในวันที่  ๑  เมษายน นะครับ) เร็จพอดี
ในพระราชบันทึกนั้นได้ทรงกราบบังคมทูลรายงานสิ่งที่พบเห็นในระหว่างเมืองต่างๆ แลในตอนท้ายได้ทรงกราบบังคมทูลเสนอแนะเรื่องที่ควรจะปรับปรุงทั้งเรื่องข้าราชการ  การศึกษา  การทหาร และการป้าไม้ในมณฑลพายัพ  ซึ่งจะขอคัดมาเฉพาะเรื่องป่าไม้  เนื่องจากพระราชบันทึกฉบับนี้ค่อนข้งยาว  ถ้ามีท่านผู้ใดต้องการอ่านฉบับเต็มก็กรุณาส่ง SMS ถึงผมจะได้จัดส่งถึงท่านโดยตรง  หรือถ้าท่านอาจารย์เทาชมพูจะเห็นเหมาะสมให้โพสท์ลงในกระทู้นี้ได้  ก็ยินดีรับสนองครับ


วันที่  ๔  กุมภาพันธุ์  รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
ขอเดชะฝ่าะอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
   ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลเรื่องมณฑลพายัพตามกระแสพระบรมราชโองการต่อไป  ถ้าพลาดพลั้งประการใดพระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ
                                 ฯลฯ
   ส่วนการป่าไม้  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า  เป็นการสำคัญอย่างหนึ่ง  ตามที่จัดกันอยู่เดี๋ยวนี้ถึงแม้จะไม่มีทางเสียมากมายก็จริง  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าควรจะดีกว่านี้  ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลนี้  ไม่ใช่จะติเตียนในเรื่องจัดการกรมป่าไม้  เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ศึกษาในทางนั้น  แต่คิดทางราชการทั่วไป  การที่จ้างฝรั่งมาจากกรมป่าไม้พม่านั้น  ก็พอเห็นได้ว่ามีประโยชน์ ๒ ทาง  คือเขามีความรู้อยู่แล้วทาง ๑  อีกทาง ๑ เป็นทางสะดวกในการที่จะพูดจากับบริษัทฝรั่งและเจ้าของป่าไม้  ที่เป็นข้อบกพร่องคือเจ้าพนักงานป่าไม้  เป็นฝรั่งที่มิใช่เย็นตลิแมน  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วย่อมต้องไว้ยศให้มากขึ้น  เพราะฉะนั้นการพูดจาว่าขานกันกับเจ้าของป่าไม้ที่เป็นคนพื้นเมือง   มักจะมีที่ขุ่นเคืองกันอยู่บ้าง  และการที่เปลี่ยนทยอยกันิยู่เสมอนั้น  ดูจะไม่เป็นทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์มากคือ  พอผู้นี้จะรู้จักทางการก็พอหมดสัญญา  เรียกผู้อื่นมาใหม่  ผู้ที่เรียกมาใหม่  ยังต้องมาคลำเสียอีกนานกว่าจะลงทาง  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าเป็นเพราะเหตุนี้รัฐบาลจึ่งไม่ได้กำไรในป่าไม้มากเท่าที่ควรจะได้
                                ฯลฯ
   ตามที่ได้กราบบังคมทูลมาแล้วนี้ ได้ทราบเกล้า ฯ โดยทางสังเกตเองบ้าง  ทางสืบถามผู้ที่ควรรู้บ้าง  เพราะฉนั้นถ้าพลาดพลั้งประการใด  พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ
   ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

               ข้าพระพุทธเจ้า
                              (พระนามาภิไธย)  วชิราวุธ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 10 พ.ค. 06, 17:45

 ในประเด็นเรื่องการโอนอุปราชและสมุหเทศาภิบาลไปขึ้นกระทรวงวังเพื่อรายงานตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น  ขอแนะนำให้ไปอ่านปวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) ซึ่งท่านบันทึกเรื่องความประพฤติของข้าราชการที่ถูกส่งออกไปประจำตามหัวเมือง  ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบันทึกในสมเด็จพระยุพราชเมื่อคราวเสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพที่ขอคัดมาเพิ่มเติมจากเรืองป่าไม้ ดังนี้

                               ฯลฯ

        เมื่อได้กราบบังคมทูลเป็นระยะทางรายเมืองมาเช่นนี้แล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลสรุปทั่วไป  ในส่วนการปกครองเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า  การเลือกข้าราชการขึ้นไปนั้นจะต้องกระทำโดยระวังมาก  ถ้าจะเลือกแต่เฉพาะผู้มีความสามารถในทางราชการทางใดทางหนึ่งเท่านั้น  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าไม่พอ  จำจะต้องหาผู้มีความคิดกว้างขวางรู้จักผ่อนผันในทางการปกครอง  ถ้าจะทำไปให้สำเร็จจำจะต้องอาไศรยพวกเจ้านายและผู้เป็นใหญ่ในพื้นเมือง  คนไทยถึงแม้จะมีความสามารถปานใดถ้าไปเกิดเหตุให้เป็นที่บาดหมางหรือไม่ปรองดองกับคนในพื้นเมือง  ถึงแม้คนในพื้นเมืองนั้นจะไม่ขัดข้องก็คงยังลำบาก  เพราะที่ไหนเลยคนไทยที่ขึ้นไปจากเมืองได้จะทราบเหตุการณ์  และนิสัยใจคอของพลเมืองเท่าคนในพื้นเมืองเอง  เพราะฉะนั้นถ้าคนในเมืองไม่ช่วย  แม้การจะทำสำเร็จก็คงจะเป็นไปได้ชั่วคราว  ไม่ยั่งยืน  เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าข้อสำคัญคือ  ต้องพยายามที่จะกระทำให้ชาวเมืองเข้ากลมเกลียวกับเราได้  อย่าให้รู้สึกว่าพวกเราไม่ไว้ใจหรือตั้งใจไปกดขี่เอาแต่ตามอำเภอใจเรา  ผู้ที่เคยได้รับความนับถือในเมืองตนเองแล้ว  แม้มีผู้ใดประพฤติกิริยาอาการที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าหมิ่นประมาทและไม่เห็นเป็นคนเท่ากันเช่นนั้น  ย่อมจะทำให้เจ็บใจหรืออย่างน้อยก็เพียงขุ่น ๆ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าการที่ทำดีต่อไว้นั้นไม่มีที่เสียเลย  ในทางนี้พระยาสุรสีห์วิสิทธิศักดิ์เข้าใจดี  และความประพฤติของพระยาสุรสีห์ต่อพวกเจ้านายในเมืองลาวนั้นไม่มีที่ติ  ไปมีที่ผู้น้อยบ้างบางนาย  ที่ถือทิษฐิแข่งลาวแข่งไทยไม่รู้จักจบสิ้น  คนเหล่านี้ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ที่แลเห็นทางถูกแล้วเป็นอันมาก  การที่คนเหล่านั้นประพฤติเช่นที่กราบบังคมทูลมาแล้ว  เห็นด้วยเกล้า ฯ จะเป็นไปด้วยความเข้าใจผิด  คือเข้าใจว่าถ้าจะให้พวกลาวยำเกรงจำจะต้องไว้ยศ  ถือตัวไว้เสมอ ๆ  จำจะต้องให้รู้สึกว่าตนเป็นไทยเป็นนายลาว  ข้อนี้ถ้าจะนึกดูถึงใจชาวพายัพบ้าง  ก็พอจะแลเห็นได้ว่ามีสิ่งที่สะกิดใจทำให้ขุ่นอยู่เสมอ  พอที่จะเชื่องได้ก็มาติดข้อที่กราบบังคมทูลนี้  ยังอีกประการหนึ่งคือข้าราชการผู้น้อยเหล่านี้เองที่ตั้งใจจะแสดงตนดีกว่าลาวนั้น  หาได้ทำไปให้ตลอดไม่  คือความประพฤติในส่วนตัวควรจะกระทำให้เป็นเยี่ยงอย่างแห่งทางดี  ก็แลประสงค์จะให้ลาวนับถือไทย  ควรจะต้องประพฤติให้เสมอต้นเสมอปลายจึ่งจะน่านับถือจริง  ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยากจะกราบบังคมทูลเจาะตัวผู้ใด  แต่มาเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า  การที่กราบบังคมทูลครั้งนี้  กระทำในน่าที่องคมนตรี  จึงไม่ควรปิดบังสิ่งใดที่ควรจะทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจำใจจะกราบบังคมทูลต่อไป ผู้ที่ประพฤติผิดเช่นกราบบังคมทูลมาแล้วมีตัวอย่างสำคัญอยู่ก็คือ หลวงอุปนิกษิตสรบรรณ ข้าหลวงตรวจการคลัง  ในส่วนน่าที่ราชการไม่มีที่ติเตียนเลย  หลวงอุปนิกได้กระทำน่าที่โดยแขงแรง  แต่ในความประพฤติส่วนตัวอยู่ข้างบกพร่อง  ข้อสำคัญคือในเรื่องวาจาไม่สู้จะระวัง  พูดไปแล้วไม่ถือให้มั่นประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งชวนจะพูดสะกิดหัวใจพวกชาวเมืองอยู่บ้าง  ถึงแม้ในพวกข้าราชการไทยด้วยกันก็ดูไม่สู้จะปรองดองกับผู้ใด  แต่ที่ได้เกิดเหตุมาแล้วนับว่าเป็นการค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นกับพวกศาลทั้งสิ้น  กาที่ประพฤติไม่เป็นที่ปรองดองกับข้าราชการร่วมกันในที่เดียวกันเช่นนี้  ย่อมเป็นตัวอย่างอันไม่ดี  เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า หลวงอุปนิกก็ได้รับราชการอยู่ที่เชียงใหม่นานแล้ว  และทั้งเป็นผู้มีความรู้สมควรแก่น่าที่  และมีความหมั่นในราชการพอสมควร  ถ้าได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ย้ายไปรับราชการที่อื่น  หลวงอุปนิกคงจะเป็นกำลังราชการมากทั้งทางเสียก็คงจะไม่มีเหมือนที่นครเชียงใหม่นี้

                               ฯลฯ

อ่านพระราชบันทึกนี้แล้วชวนให้คิดว่า  ถ้ากระทรวงมหาดไทยยุคปัจจุบันคัดสรรข้าราชการที่จะไปประจำในสามจังหวัดภาคใต้ตามแนวพระบรมราโชบายดังกล่าว  บ้านเมืองเราคงจะสงบร่มเย็นกันถ้วนหน้า
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 12:49

 เพิ่มเติมเรื่องกรมป่าไม้ครับ

ต่อจากที่สมเด็จพระยุพราช (รัชกาลที่ ๖) เสด็จเลียบมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้ว  อีก ๑๐ ปีต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกได้เสด็จขึ้นมาตรวจราชการในมณฑลพายัพแล้วได้ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลรายงานซึ่งขอเชิญมาเฉพาะเรื่องป่าไม้ ดังนี้

วันที่  10  มกราคม  พุทธศักราช 2458
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
   ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต  ให้ข้าพระพุทธเจ้าไปตรวจราชการทหารในมณฑลภาคพายัพนั้น  ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้  เพราะเปนโอกาสให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ชมภาค 1 แห่งพระราชอาณาเขตรอันเปนส่วนใหญ่มั่งคั่งด้วยผู้คนข้าแผ่นดิน  ทั้งได้ศึกษากิจการทั้งปวงในแถลนั้น  ได้เพิ่มพูนความรู้ของตนขึ้นเปนอันมาก  ส่วนข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการซึ่งประจำอยู่ในที่ต่าง ๆ ในมณฑลภาคพายัพนั้น  ก็ได้มีจิตรกระทำการต้อนรับอย่างดี  และได้เปิดเผยชี้แจงการงานทั้งปวงให้ข้าพระพุทธเจ้าทราบ  ปราศจากความรังเกียจ  เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ นั้นเล่า  ก็ได้เอาใจใส่รับรองข้าพระพุทธเจ้าด้วยน้ำใจอันดียิ่ง  ทั้งนี้ก็เพื่อยึดเอาโอกาสแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ปรากฏแน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง  การรับรองอย่างใหญ่หลวงทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ประสบพบในมณฑลภาคพายัพนั้น  ข้าพระพุทธเจ้าถือว่าไม่ใช่สำหรับตัวข้าพระพุทธเจ้าโดยฉะพาะนั้นเลย  ย่อมเปนไปโดยอาไศรยเหตุที่ข้าพระพุทธเจ้ามีเกียรติยศเปนพระอนุชา  คนทั้งปวงจึงมีความยินดีรับรอง  เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเท่านั้น
   มณฑลพายัพ  เปนทำเลที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจราชการด้วยพระองค์เองแล้ว  แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิศริยยศเปนสมเด็จพระยุพราช  เหตุฉะนั้นย่อมทรงทราบตระหนักในลักษณภูมิประเทศและหนทางการงานทั้งปวงอยู่โดยแจ่มแจ้งแล้ว  ถึงกระนั้นก็ดีข้าพระพุทธเจ้ายังใคร่ที่จะขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบบังคมทูลความเห็นส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้าบางอย่าง  สำหรับพอเปนการแสดงให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า ข้าพระพุทธเจ้าเปนผู้นึกประโยชน์ของแผ่นดิน  และตั้งใจหาหนทางสนองพระเดชพระคุณในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท  ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าเปนล้นพ้นนั้นอยู่เสมอ  มีความคิดอย่างใดที่เห็นว่าพอจะเปนเครื่องประกอบพระราชดำริห์ในการเพิ่มพูนความศุขความสะดวกของประชาชน ข้าแผ่นดิน  ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นทำนิ่งเฉยไม่รู้ไม่ชี้เสียได้  ค้องนำความขึ้นกราบบังตมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท  ให้สมกับคำสาบาลในการถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา  แม้เปนการพลาดพลั้งหรือเหลือเกินไปประการใด  พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ
   ความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าซึ่งจะกราบบังคมทูลพระกรุณานั้น  จะได้รับพระราชทานแบ่งแยกเปนข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
ฯ ล ฯ
   7.  การป่าไม้  ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเปนการประหลาดที่สุดว่าเจ้าน่าที่ในกองบัญชาการมณฑลหรือเจ้าน่าที่กองบังคับการเมืองต่าง ๆ ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย  ถามใครไม่ได้ความทีเดียว  ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีโอกาสพบกับเจ้าพระยาสุรสีห์ในมณฑลภาคพายัพ  และตั้งแต่กลับมาถึงกรุงเทพฯแล้วก็ยังมิได้สนทนากัน  ไม่ทราบเกล้าฯว่าเจ้าพระยาสุรสีห์จะทราบในการงานเรื่องนี้ปานใด  แต่สังเกตว่าเจ้าพนักงานป่าไม้นั้นทำการต่างหากเป็นอิศระอยู่ฝ่ายเดียว  อล้วเจ้าพนักงานที่เชียงใหม่  กับที่ลำปางก็ต่างคนต่างทำ  ต่างขึ้นตรงต่อเจ้ากรมที่อยู่กรุงเทพฯ  ไม่มีใครรวมยอดที่โน่น  อีกประการ 1 เจ้าพนักงานป่าไม้ที่เปนผู้ใหญ่เรียกว่าปลัดกรมนั้นก็เปนฝรั่ง  และเอามาจากบริษัทซึ่งทำการป่าไม้อยู่ในมณฑลภาคพายพนั้นเอง  ก็คนพวกเดียวกันเช่นนั้น  จพคุมกันอย่างไร  และเจ้าพนักงานป่าไม้นั้นจะไม่เห็นแก่บริษัทมากกว่ารัฐบาลสยามหรือ  ข้าพระพุทธเจ้าช่างสงไสยจริงๆ  ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามศึกษาในเรื่องการป่าไม้มาก  เพราะเปนเรื่องที่มีคนมาบ่นร้องทุกข์ให้ฟังเนือง ๆ  แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เข้าใจ  จึงอยากได้ความรู้  ความประสงค์อันนี้ออกจะไม่ใคร่สำเหร็จ  เพราะเมื่อไต่ถามขอความรู้จากปลัดกรมป่าไม้ซึ่งประจำอยู่ที่เชียงใหม่นั้น  ก็รู้ฉะพาะแต่เรื่องเขาทำเท่านั้น  ถามว่าเก็บภาษีอากรกันอย่างใดเท่านี้  ก็ตอบไม่ได้เสียแล้ว  เพราะไม่ใช่น่าที่ของเขาดังนี้  ก็เปนหมดเรื่องกัน  ดูช่างมืดมนเสียจริงๆ
ฯ ล ฯ
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ
     ข้าพระพุทธเจ้า

วันที่ที่ลงในลายพระหัตถ์นี้ดูจะเคลื่อนไปจากที่เป็นจริง  เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรลายพระหัตถ์นั้นแล้ว  ได้มีพระราชหัตถเลขาตอบโดยอ้างว่าทรงได้รับลายพระหัตถ์นั้นเมื่อวันที่  ๓  มกราคม  แล้วได้พระราชทานสำเนาไปยังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้แสดงความเห็นด้วย  ดังมีรายละเอียดในร่างพระราชหัตถเลขา ดังนี้

ที่  ๙/๘๑๓
               วันที่  ๘  มกราคม  พระพุทธศักราช ๒๔๕๘
ถึงน้องชายเล็ก เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ
   หนังสือลงวันที่  ๓  เดือนนี้  เปนรายงานว่าด้วยการต่าง ๆ ในมณฑลภาคพายัพ  ตามที่ได้ออกไปตรวจราชการทหารมานั้น  ได้รับแล้ว  ได้ความพิสดารดีมาก  น่าประหลาดใจที่เรื่องถือตัวของข้าราชการกรุงเทพ ฯ ยังไม่มหมดลงได้  เพราะฉันได้เปนผู้ทักท้วงขึ้นเอง  ตั้งแต่ครั้งไปตรวจมณฑลภาคพายัพ  และได้คอยเขี่ยกันอยู่เสมอ  แต่ก็เปนจริงที่เปนนิสันคนไทยมักฟังเข้าหู ๑  ออกอีกหู ๑  เพราะฉะนั้นจะได้กำชับอุปราชคนใหม่ให้เอาใจใส่ในเรื่องนี้ยิ่งขึ้น
   ส่วนในข้อความเรื่องอื่น ๆ  จะได้พูดจาว่ากล่าวไปตามกระทรวงเจ้าน่าที่
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 13:06

 ต่อจากนั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น  (ท่านผู้นี้เคยเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑลพายัพ  มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕  และเมื่อแยกเมืองน่าน แพร่และนคลำปางไปเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว  ท่านผู้นี้ได้เลื่อนขึ้นเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ  ทำหน้าที่ปกครองมณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแทนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ลาออกไป)
ได้กราบบังคมทูลรายงานเรื่องป่าไม้ไว้ดังนี้

                        ศาลาว่าการมหาดไทย
               วันที่  ๒๓  เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๔๕๘

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
   ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับจดหมายกรมราชเลขานุการ ที่ ..(ต้นฉบับชำรุด)...  ลงวันที่  ๗  มกราคม  พระพุทธศักราช  ๒๔๕๘  ว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ให้ส่งสำเนารายงานของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ  ซึ่งเสด็จขึ้นไปตรวจราชการมณฑลภาคพายัพ  ว่าด้วยการงานต่าง ๆ ในมณฑลภาคพายัพไปให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาทำความเห็นในแพนกที่เกี่ยวแก่การในน่าที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  เพื่อจะได้ทรงพระราชวิจารณ์ต่อไป  ดังนี้  พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
   ข้าพระพุทธเจ้าได้พิจารณาข้อความในรายงานตลอดแล้ว  พระดำริห์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ฯ ตามที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้  แม้จะได้เสด็จไปในเวลาอันเร็วมีโอกาสได้ทอดพระเนตร์เห็นการงานแต่น้อย  ก็ได้ทรงพระวิจารณ์ถึงข้อความที่สลักสำคัญกว้างขวางโดยพระปรีชาอันสามารถ
ฯ ล ฯ
   บัดนี้  ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูล ฯ ความเห็นในแพนกที่เกี่ยวแก่น่าที่กระทรวงมหาดไทย  และที่ข้าพระพุทธเจ้าได้สนองพระเดชพระคุณมา  ตามที่ปรากฏในรายงานเปนลำดับไป
ฯ ล ฯ
   เรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ มีบาญชีรายได้รายจ่ายที่มณฑลบริบูรณ์ทุกประเภท  เว้นแต่แพนกป่าไม้ซึ่งไม่มีทั้งรายได้รายจ่าย  ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยขอร้องต่อเจ้ากรมป่าไม้หลายครั้ง  ได้รับคำตอบเพียงว่าจะทำให้ ๆ ล่วงเลยมาจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้  แต่ก็มิได้ร้องถึงกระทรวงให้ตลอดไป  เมื่อความรู้สึกถึงทุนรอนยังบกพร่องอยู่เช่นนี้  ข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งกรมป่าไม้ให้รีบทำบาญชีส่งไปให้มณฑลภาคพายัพ  คงจะแล้วได้ในเร็ว ๆ นี้
   เรื่องตัวพนักงานที่ยังต้องใช้ฝรั่งคนของบริษัทจ้างมาเปนพนักงานป่าไม้อยู่บ้างนั้น  ได้ความจากพระยามหาอำมาตยาธิบดีว่า  นักเรียนไทยที่จะให้ออกไปเปนตัวพนักงานมีไม่พอ  จึงต้องรับคนของบริษัทมาใช้  ด้วยเห็นว่ายังดีกว่าที่จะเรียกฝรั่งซึ่งยังไม่เคยทำงานป่าไม้จากเมืองนอกมาฝึกหัด  กว่าจะรอบรู้การงานต้องเสียเวลานานสู้คนของบริษัทที่เขาชำนาญมาแล้วไม่ได้  และทั้งยังไม่เคยปรากฏความเสียหายของคนพวกนี้  ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบสวนได้ความว่า  เวลานี้คนที่รับมาจากบริษัทสยามฟอเรสต์ให้มาทำงานเปนตะวเจ้าพนักงานยังมีอยู่ ๒ คน คือ นายเอชบี แกแรต  ซึ่งในบัดนี้ลาออกไปอยู่ในกองทัพอังกฤษ ๑  นายเอช ก๊าดเนอร์ เปนเจ้าพนักงานป่าไม้เมืองเชียงใหม่ ๑  นอกนั้นยังมีฝรั่งอีก ๖ คน  เปนคนที่เรียกจากในกรุงเทพ ฯ นี้บ้าง  เรียกมาจากเมืองนอกบ้าง  การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
               ควรมิควรแล้วแจ่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
              ข้าพระพุทธเจ้า     เจ้าพระยาสุรสห์วิสิษฐศักดิ์        ขอเดชะ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


และ“...เรื่องตัวพนักงานที่ยังต้องใช้ฝรั่งคนของบริษัทจ้างมาเปนพนักงานป่าไม้อยู่บ้างนั้น  ได้ความจากพระยามหาอำมาตยาธิบดีว่า  นักเรียนไทยที่จะให้ออกไปเปนตัวพนักงานมีไม่พอ  จึงต้องรับคนของบริษัทมาใช้  ด้วยเห็นว่ายังดีกว่าที่จะเรียกฝรั่งซึ่งยังไม่เคยทำงานป่าไม้จากเมืองนอกมาฝึกหัด  กว่าจะรอบรู้การงานต้องเสียเวลานานสู้คนของบริษัทที่เขาชำนาญมาแล้วไม่ได้  และทั้งยังไม่เคยปรากฏความเสียหายของคนพวกนี้...”
ก็ขอได้โปรดพิจารณาบันทึกของพระยาประชากิจกรจักร (ชุบ  โอสถานนท์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รับราชการในตำแหน่งปลัดกรมป่าไม้เป็นคนแรก  ท่านผู้นี้ได้ช่วยงานและศึกษางานป่าไม้จากมิสเตอร์สะเล็ด  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอยืมตัวมาจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียให้มารับราชการเป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรก  รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๔,๐๐๐ บาท  พร้อมค่าเดินทางและที่พักต่างหาก  มีกำหนดสัญญาจ้าง ๓ ปี  

พระยาชากิจกรจักร  ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นนายชุบ  ได้บันทึกเหตุการณ์ในระหว่างที่เป็นปลัดกรมป่าไม้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ว่า
“...ระหว่างพักอยู่ที่เมืองปาย  ได้พร้อมด้วยเจ้าอุตรการโกศลไปตรวจตามหมู่บ้านเรือนราษฎร  เพื่อทราบความทุกข์สุข  และทำความคุ้นเคย  เพื่อเห็นสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมือง  ส่วนการป่าไม้ในวันต่อมา  นายชุบ  โอสถานนท์ ได้เชิญผู้รับเช่าทำป่าไม้ทุกรายมาสอบถามแล้วให้ยื่นคำขอตีตราไม้ในป่าที่ตนทำไม้อยู่นั้น  แล้วนำนายชุบ  โอสถานนท์ ไปตรวจและตีตราไม้ให้  เมื่อได้ตีตราไม้ให้แล้วรายใด  รายนั้นต้องนำเงินค่าตอมาชำระต่อเจ้าอุตรการโกศล  เป็นผู้ออกใบรับให้ไป
ได้วางระเบียบให้ผู้รับเช่าทำป่าไม้ได้ปฏิบัติต่อเจ้าพนักงานป่าไม้เป็นระเบียบว่า  เมื่อผู้รับเช่าทำป่าไม้รายใดได้ตัดฟันไม้สักลงแล้ว  ให้ชักลากไม้ไปกองรวมไว้แห่งใดแห่งหนึ่ง  แล้วต้องมารายงานต่อเจ้าพนักงานป่าไม้  เพื่อขอให้ไปตรวจตีตราไม้ให้  เมื่อเจ้าพนักงานป่าไม้ได้ไปตรวจตีตราไม้ให้เสร็จแล้ว  ผู้รับเช่าทำต้องนำเงินค่าตอไม้มาชำระให้เสร็จแล้ว  จึงจะคัดไม้ที่เจ้าพนักงานได้ตีตราแล้วนั้นลงแม่น้ำปายได้  ไม้ที่คัดลงลงน้ำแล้วนั้น  ถึงฤดูน้ำมากก็ไหลลอยลงไปแม่น้ำสารวินสู่เมืองมระแหม่ง
   เมื่อได้ตรวจตีตราไม้เมืองปายเสร็จแล้ว  มิสเตอร์วูดพนักงานป่าไม้เมืองแม่ฮ่องสอน  ได้ขอร้องให้ไปช่วยตีตราไม้ที่แม่ฮ่องสอน  นายชุบ ฯ เป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงได้ไปช่วยตามขอร้องของมิสเตอร์วูดเสร็จแล้ว  พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๖ นายชุบ ฯ กลับเชียงใหม่  รั้นเจ้ากรมป่าไม้กลับจากกรุงเทพ ฯ ถึงเชียงใหม่  มิสเตอร์วูด เสนอหนังสือต่อเจ้ากรมป่าไม้ว่า  นายชุบ ฯ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการป่าไม้  เจ้ากรมป่าไม้จึงถาม  นายชุบ ฯ ได้ชี้แจงให้ทราบ  เจ้ากรมป่าไม้เห็นเป็นเรื่องไม่เป็นสาระ  จึงระงับเสีย
   นายชุบ ฯ เห็นว่า  เมื่อมิสเตอร์วูดประพฤติก่อเหตุความแตกร้าวเอาเปรียบกันเช่นนี้แล้ว  จะอยู่ในกรมป่าไม้ต่อไป  การจุกจิกอาจเกิดขึ้นได้   อันจะหาความเรียบร้อยได้ยาก  จึงได้ยื่นหนังสือต่อเจ้ากรมป่าไม้ขอลาออก  เจ้ากรมป่าไม้ไกล่เกลี่ยขอให้งดการลาออกเสีย  เพราะเสียดายที่ได้เป็นผู้เริ่มการกรมป่าไม้มาด้วยกันแต่แรก  แต่นายชุบ ฯ ยืนยันการลาออก  เจ้ากรมป่าไม้รู้ว่าการลาออกทั้งนี้  เนื่องแต่เรื่องมิสเตอร์วูด  แต่ไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล  จึงได้กราบทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงทราบว่า  นายชุบ ฯ ได้ขอลาออกจากกรมป่าไม้...”

เมื่อนายชุบลาออกจากกรมป่าไม้แล้ว  ยังคงรับราชการในกระทรวงมหาดไทยต่อมาจนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ถึง ๔ จังหวัด  แล้วได้เลือนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร และภูเก็ตตามลำดับ  ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงวังในตำแหน่ง สมุหพระราชมณเฑียรในตอนปลายรัชกาลที่ ๖  และออกรับพระราชทานบำนาญเพราะถูกดุลจากราชการในรัชกาลที่ ๗
ส่วนมิสเตอร์วูดคู่กรณีนั้น คือ William Willoughby Wood  ชาวอังกฤษ  เริ่มมาทำงานกับบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา จำกัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕  ได้เป็นผู้จัดการบริษัทฯ ที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๔๓  เป็นผู้หนึ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ขอยืมตัวมาทำหน้าที่เป็นพนักงานป่าไม้
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 11 พ.ค. 06, 17:03

 มีผู้ทักให้ขยายความคำว่า เย็นตลิแมน ในพระราชบันทึกของสมเด็จพระยุพราช  จึงขออนุญาตไว้ดังนี้ครับ

คำว่า เย็นตลิแมน มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Gentleman  หมายถึงสุภาพบุรุษซึ่งได้รับการอบรมมาดีแล้ว  เป็นผู้ที่สะอาดทั้งกายและจิตใจ  มีความเป็นนักกีฬา และเป็นผู้มีศาสนา

อ่านความเห็นของคุณศรีปิงเวียงแล้วดูจะติดใจเรื่องที่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับเข้ารับราชการในตอนปลายรัชกาลนั้น  ขอเรียนเพิ่มเติมว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  เคยโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร คัดสำเนาพระราชบันทึกรายวัน (ไดอารี) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพิมพ์แจกพระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต  เกษมสันต์ อดีตเลขาธิการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖  ซึ่งในพระราชบันทึกนั้นได้ทรงกล่าวถึงว่าพระมหากษัตริย์ไทยน้นแม้จะทรงปกครองบ้านในระบอบราชาธิปไตยก็จะต้องทรงดำรงพระองค์มั่นในทศพิธราชธรรม  ซึ่งประเด็นนี้มีเรื่องที่จะขอยกมาเป็นตัวอย่าง คือ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงแล้ว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน  สิงหเสนี) ราชเลขานุการในพระอองค์ออกไปเป็นอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน  เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์ในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมกับนานาชาติในฐานะที่ประเทศสยามเป็นชาติชนะสงคราม  ในระหว่างที่รัฐบาลอังกฤษกำลังเตรียมการที่จะลงนามในสัญญาที่แก้ไขใหม่นั้น  ทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ได้รายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า  เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นพระญาติสนิทของรัชกาลที่ ๖ ได้ลงโทษโอรสของพระองค์ด้วยการโบย  จึงยังไม่สมควรแก้ไขสนธิสัญญานั้นกับรัฐบาลไทย  เมื่อความทราบฝ่าละองธุลีพระบาทโปรดให้ตั้งศาลรับสั่งกระทรวงวังขึ้นชำระความ  โดยมีพระยามานวราชเสวีเป็นอัยการศาลรับสั่ง  ศาลรับสั่งที่มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นประธานตุลาการพิจารณาแล้วได้ความว่า  เสด็จในกรมฯ เสนาบดีทรงร่วมกับมหาดเล็กในพระองค์อีก ๓ คนโบยพระโอรสซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกมีชันษา ๑๓ กว่า ๓๐๐ ที  เพราะเหตุที่โรงเรียนหยุดแล้วไม่เสด็จกลับวังแต่เสด็จหนีไปเที่ยวที่ราชบุรี  ศาลรับสั่งพิพากษาให้จำคุกและปรับเจ้านายและมหาดเล็กนั้น  แต่ทรงพระมหากรุณาให้ยกโทษจำคุกเจ้านาย  คงให้ปรับสถานเดียว  ทั้งยังมีพระบรมราชโองการให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์  แต่เจ้านายพระองค์นั้นก็จะไม่ส่งคืน  จึงต้องทรงอ้างพระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์จึงยอมส่งคืน  และได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเป็นการภายในมิให้เสด็จในกรมฯ พระองค์นี้กลับเข้ารับราชการอีกเลย  แต่ในตอนปลายรัชกาลก็ยังทรงระลึกถึงเสด็จในกรมฯ พระองค์นี้ว่า เป็นพระญาติที่สนิทถึงกับทรงเลื่อนกรมเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ....  

จากพระราชจริยวัตรที่เล่ามานี้ก็เพื่อจะแสดงให้ทราบว่า  ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมมาตลอดพระชนมายุ  มิได้ทรงถือโกรธหรือผูกพยาบาทผู้ใด  การที่ทรงลงพระราชอาญาผู้ใดไปบ้างนั้นก็เพื่อให้ผู้นั้นได้สำนึกในความผิด  และเมื่อทรงเห็นว่า ได้ลงพระราชอาญาไปพอสมควรแล้วหรือผู้นั้นได้รู้สำนึกในความผิดของตนแล้วก็มักจะพระราชทานอภัยโทษให้ทุกราย  ดูตัวอย่างผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ที่มุ่งปองร้ายต่อพระชนม์ชีพ  ก็มิได้ทรงผูกพยาบาทอาฆาตแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 10:33

 เนื่องจากเราจะรู้จักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ในทางที่ทรงเป็นศิลปิน  โดยไม่ทราบกันว่า โดยส่วนพระองค์นั้นมีรับสั่งอยู่เสมอว่า ทรงเป็นทหาร  แม้สวรรคตแล้วก็ยังทรงมีพระราชพินัยกรรมว่า ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ  ทรงขอตายอย่างทหาร  ให้จัดการพระบรมศพเฉกเช่นนายทหารคนหนึ่ง  พระราชกรณียกิจบางประการจึงทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโดยอาศัยหลักการทางทหาร  ซึ่งพลเรือนหรือผู้ที่มิได้ศึกษพระราชกรณียกิจโดยตรงอาจเข้าใจไขว้เขวได้  ดังกรณีเรื่องการโอนบ้ายอุปราชและสมุหเทศาภิบาลไปสังกัดกระทรวงวังที่มีการกล่าวถึงข้างต้น  ซึ่งขอชี้แจงเป็นประเด็นๆ ดังนี้

ในประเด็น "...รัชกาลที่ ๖ ทรงย้ายสมุหเทศาภิบาลไปขึ้นกับกระทรวงวังกราบบังคมทูลตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต้องผ่านเสนาบดีมหาดไทย...  หลังจากพ่อผมแล้วก็มีเสนาบดีอีกหลายคน จนถึงเจ้าพระยายมราช พอเจ้าพระยายมราชขึ้นมาเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านคืนให้หมด สมุหเทศาภิบาลก็ขึ้นกับเสนาบดีมหาดไทยตามเดิม..."

ประเด็นนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงพระราชดำริอย่างไร  แต่จากประกาศพระบรมราชโองการให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาคและให้สมุหเทศาภิบาลที่มีอาวุโสสูงที่สุดเป็นอุปราชที่มีการจัดตังขึ้น ๓ ภาค  คือ มณฑลภาคพายัพ ประกอบด้วย มณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์  มีเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) เป็นอุปราช  ต่อมาเป็นนายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดข  กฤดากร (นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช)   มณฑลปักษ์ใต้ ประกอบด้วย มณฑลนครศรีธรรมราช  มณฑลปัตตานี  มณฑลสุราษฎร์และมณฑลภูเก็ต  อุปราชคือ นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราชเมศวร์  และมณฑลภาคตะวันตก ประกอบด้วยมณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรี  มี พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง  วีรยศิริ) อดีตผู้รั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นอุปราช

ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตนะครับว่า มณฑลที่รวมกันเป็นภาคและมีอุปราชประจำภาคซึ่งมีอำนาจตัดสินใจได้ในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากกรุงเทพฯ เฉกเช่นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลนั้นล้วนมีอาณาเขตติดต่อกับอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมด

ในเมื่อเหตุผลในการรวมมณฑลเป็นภาตเพื่อความคล่องตะวในการสั่งการแก้ปัญหา  แล้วทำไมจึงไม่โปรดให้รวมมณฑลในภาคอีสานซึ่งติดกับฝรั่งเศสเป็นภาคบ้าง?  
คำตอบในเรื่องนี้ผมมีข้อสังเกตอยู่เหมือนกันว่า  ทำไมจึงโปรดให้ทหารและเสือป่าไปซ้อมรบที่นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี ทุกปี  แล้วเมื่อญี่ปุ่นขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น  ในทางการทหารก็คงจะใช้ย่านนครปฐม ราชบุรี เป็นชัยภูมืตั้งรับก่อนข้าศึกจะบุกเข้าถึงกรุง้ทพฯ เป็นแน่

เรื่องการโอนอุปราชและสมุหเทศาภิบาลไปขึ้นกระทรวงวังนั้น  มีข้อที่น่าสังเกตว่า  โรดให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลที่มียศเป็นมหาอำมาตย์ (ยศข้าราชการพลเรือน) เปลี่ยนไปใช้ยศ มหาเสวก ซึ่งเป็นยศข้าราชการกระทรวงวัง  ส่วนผู้ที่มียศเป็นทหารให้คงใช้ยศทหารตามเดิม  เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฏพระราชบันทึกทรงอธิบายไว้แต่อย่างใด  แต่เทียบเคียงได้กับเมื่อโปรดให้ส่งกองทหารไทยไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑  มีพระบรมราชโองการสั่งให้ นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  - พลเอก พระยาเทพหัสดิน) แท่ทัพไทยในสมรภูมินอกจากรายงานสถานการณ์ผ่านไปทางกระทรวงกลาโหมแล้วให้มีรายงานกราบบังคมทูลตรงถึงพระองค์ด้วย  ทั้งนี้เพื่อจะทรงทราบสถานการณ์จริง  

ในกรณีที่อุปราชและสมุหเทศาภิบาลไปขึ้นตรงต่อพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น  ก็น่าเชื่อว่า เป็นการทรงเตรียมการที่จะเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑  ซึ่งในทางการทหารนั้นถือกันว่า  การปฏิบัติที่รวดเร็วโดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ทันตั้งตัวนั้นจะสามารถป้องกันอันตรายให้แก่กำลังพลได้มากที่สุด  ในฐานะที่ทรงเป็นองค์จอมทัพไทยและทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยนั้น  เชื่อว่า แม้ในเวลานั้นจะยังไม่ทรงตัดสินพระทัยที่ขะเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร หรือฝ่ายมหาอำนาจกลางก็ตาม  ก็คงจะต้องทรงเตรียมการหากชาติมหาอำนาจจะสนับสนุนให้คนในบังคับก่อความสงบขึ้นภายในพระราชอาณาจักร  จึงต้องทรงเตรียมการที่จะสนธิกำลังทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าด้วยกันโดยมีสายการบังคับบัญชาที่สั้นที่สุดเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการสั่งการแก้ไขสถานการณ์

เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ต้องเตรียมพร้อมผ่านพ้นไปแล้ว  ประกอบกับเจ้าพระยาสุรสีหฺวิฐ์ศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะสุขภาพไม่อำนวย  แม้จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาพักรักษาตัวกว่า ๖ เดือนแล้วก็ตาม  จึงโปรดให้ยกกระทรงนครบาลที่ปกครองเฉพาะมณฑลกรุงเทพฯ รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าที่ปกครองหัวเมือง  แล้วโปรดให้เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีลดทอนค่าใช้จ่ายลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 13 พ.ค. 06, 10:47

 ขอขอบพระคุณคุณลุง V_ Mee ครับ
ผมเห็นว่า ล้นเกล้าฯ ร.๖ ทรงเกรงพระทัยเจ้านายพระองค์นี้พอสมควรครับ ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนหนึ่งในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ หน้า 157-158 ครับ
"อนึ่งในระหว่างที่ยังมีปัญหาโต้เถียงกันอยู่นั้น ฉันได้สังเกตเห็นว่าเสด็จแม่ดูออกจะกริ้ว___อยู่ และกริ้วหญิงอาภาว่าเป็นผู้ชักให้ผัววุ่นต่าง ๆ
ฉันนึกวิตกว่าถ้าเรื่องจากฝ่ายน้องชายเล็กเข้าไปกระทบพระกรรณเสด็จแม่บ่อย ๆ ___คงต้องถูกกริ้วมากขึ้น ฉันจึ่งขอไปที่น้องชายเล็กว่าให้มีใจเย็น ๆ ไว้บ้าง"

เท่าที่ดู ผมคิดว่าคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคุยเป็นการส่วนตัวครับ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 15 พ.ค. 06, 12:05

 ขออนุญาตปรับความเห็นที่ 27 ครับ
ล้นเกล้าฯ ร.๖ ทรงเกรงพระทัยเจ้านายพระองค์นี้พอสมควรครับ
จริงๆ ผมต้องโพสต์ว่า
ล้นเกล้าฯ ร.๖ ทรงเคารพเจ้านายพระองค์นี้พอสมควร และทรงเป็นห่วงสมเด็จพระพันปีหลวงครับ ทรงเกรงว่าสมเด็จพระพันปีหลวงจะประชวรหนักขึ้น จึงเป็นไปดังที่กล่าวมาครับ
................................................
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
นายโสรัจ ช่อชูวงศ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 14 ม.ค. 21, 09:04

ผมใคร่ขอเรียนถามว่า จะค้นหา หนังสือกราบบังคมทูลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  ซึ่งกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ เมื่อ เดือนพฤศจิกายน - มกราคม ๒๔๔๘ (สมัยนั้นเปลี่ยนปี พ.ศ. ในวันที่  ๑  เมษายน) ได้จากที่ไหน หรือมีท่านผู้ใดที่มีสำเนาหนังสือฯ ดังกล่าวใคร่ขอรบกวนขอสำเนาหนังสือด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

หมายเหตุ คาดว่าหนังสือกราบบังคมทูลฯ จะมีรายละเอียดมากกว่า ลิลิตพายัพ และ ผมใคร่ศึกษาความเห็นของพระองค์ท่านต่อการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น
ขอบพระคุณครับ
นายโสรัจ ช่อชูวงศ์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 19 คำสั่ง