เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 14578 พระราชพินัยกรรม ร.6 เคยตีพิมพ์ที่ใดหรือไม่
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


 เมื่อ 18 เม.ย. 06, 20:46

 พินัยกรรมของ ร.6 ที่เสนาบดีกระทรวงวังอ่านในที่ประชุมเจ้านายผู้ใหญ่ในคืนวันสวรรคต 26 พฤศจิกายน 2468 (ตอนตี 2) ซึ่งเป็นการประชุมพิเศษเพื่อตกลงเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ข้อความใน "พินัยกรรม" นี้ ซึ่งความจริงคือ entry หนึ่งใน "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" (Diary) ของพระองค์ มีดังนี้

.................................................

หนังสือสั่งเสนาบดีวัง
เรื่องสืบสันตติวงศ์แลตั้งพระอัฐิ
(ดูรายวันน่า ๑๖๑)

ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้ รู้สึกอำนาจแห่งวัยธรรม, ไม่ควรประมาท, มีกิจการบางอย่างที่ฃ้าพเจ้าเป็นห่วง, จึ่งอยากจะสั่งไว้เสียให้รู้สึกโล่งใจ, จึ่งฃอสั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ดังต่อไปนี้ :-

ฃ้อ ๑ ถ้าถึงเวลาที่ฃ้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ฃ้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย, ฃ้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์, ให้ฃ้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด, เพราะ หม่อมเจ้า วรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด. เกรงจะไม่เปนที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ฃ้าราชการ, และอาณาประชาชน

ฃ้อ ๒ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่, ฃอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาเปนผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกฃ้าพเจ้าจะประสูติ. ถ้าประสูติเปนหญิง ก็ให้เปนไปตามฃ้อ ๑ ถ้าประสูติเปนชาย ก็ให้เปนไปตามข้อ ๓ ข้างล่างนี้

ฃ้อ ๓ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, ฃ้าพเจ้าฃองแสดงความปราร์ถนาว่า ให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชา เปนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล

(นี่เป็นคำสั่ง (ห้าม) อีกชั้น ๑ .- ถ้าเสนาบดีจะคิดเลือกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเปนผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์, ให้เสนาบดีกระทรวงวังคัดค้านด้วยประการทั้งปวงจนสุดกำลัง, เพราะฃ้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน ๑ อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และฃ้าพเจ้าจะไม่ลืมเลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ลิเอาราชอาณาเฃตต์ฃองพระราชวงศ์จักรีไปฃายฝรั่งเสีย ๓-๔ คราวแล้ว. ถ้าให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการ ลูกฃ้าพเจ้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้

ฃ้อ ๔ ต่อไปภายหน้า คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัฐิ, คือจะเอาองค์ใดฃึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า

............................................

ผมเอาจากบทความเรื่อง "ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ของ บุญยก ตามไท ใน ศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน 2528)


คำถามของผม ที่อยากขอความช่วยเหลือ หากท่านใดทราบคือ

มีคนเคยบอกผมว่า ตัวพระราชพินัยกรรมนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์ที่อื่น ในหนังสืองานศพ สักเล่ม อะไรทำนองนี้

ไม่ทราบมีใครทราบ หรือเคยเห็นหรือไม่

(ผมถามคุณบุญยกแล้ว ท่านจำไม่ได้แล้วว่า เอาตัว text มาจากที่ใด ในบทความเป็นภาพถ่ายลายพระหัตถ์ของ ร.6 และ ภาพถ่ายหน้าปก "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" เล่มที่มี พินัยกรรม)

ขอบคุณล่วงหน้าอย่างสูง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 เม.ย. 06, 21:52

 พินัยกรรมฉบับนี้ ไม่ใช่ความลับ

1 ครูที่สอนเรื่องไทยของผม เมื่อสัก 2520 อ้างวาเคยทูลกรมหมื่นพิทยลาภ เรื่องปักปันเขตแดนเสียเปรียบฝรั่ง ว่าเป็นความมัวหมองของสมเด็จดำรง และพระยาศรีสหเทพฯ ก็มาจากเอกสารนี้ แต่ในยุคนั้น คนไม่ค่อยเจาะเรื่องลึกขนาดนี้
2 ท่านสุภัทรฯ เขียนบทความ เรื่องร. 6 "ด่าพ่อฉัน" ไว้ครั้งหนึ่ง ค้นในสุภ้ทรดิศนิพนธ์คงเจอกระมังครับ อาจจะอยู่ในโลกหนังสือ ผมก็เลือนๆไปแล้ว

คุณสมศักดิ์ดูเหมือนเป็นสมาชิกใหม่(เหมือนผม...กระมัง ถ้าผิดก็ขอโทษครับ) แต่ถามดุยังกับด้อกเตอร์เชียวครับ
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 เม.ย. 06, 07:32

 คงไม่ลับในความหมายที่พูดๆกันถึงเนื้อหาอยู่ไม่น้อย
แต่ที่ถามก็เพราะว่า เท่าที่ผมเองหาเจอ ที่มีการตีพิมพ์ - ถ่ายมาจาก ฉบับจริง ก็เฉพาะครั้งนี้ (ศิลปวัฒนธรรม 2528)
แต่มีคนบอกว่าเคยตีพิมพ์ในหนังสืองานศพ จึงถามเผื่อมีท่านใดเคยเห็น
ผมเคยเห็นคนอ้างบางส่วน โดยระบุว่าบันทึกนี้ ร.6 ทำเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2468 แต่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ถ่ายมาจาก ลายพระหัตถ์จริงๆ ไม่มีวันที่ แสดงว่า คนที่อ้างบางส่วนนั้น น่าจะเคยได้เห็น แต่เขาก็บอกว่า นานแล้ว ลืมแล้ว ต้นฉบับที่อ้างหายแล้ว เลยไม่ทราบว่าเอามาจากที่ไหน (เขาบอกทำนอง "หนังสืองานศพ" นี่แหละ)

บทความท่านสุภัทร ใน โลกหนังสือ น่าจะหมายถึงอันนี้ กระมัง?
"สัมภาษณ์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล "รัชกาลที่ 6 ท่านหาว่าพ่อผมคอรัปชั่น" เบื้องหลังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ", โลกหนังสือ, ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 (กรกฎาคม 2525)

เป็นคำสัมภาษณ์ท่านสุภัทร โดยคุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ พูดเรื่องที่ ร.6 เขียนในบันทึกนั้น ("พินัยกรรม") แต่ไม่ได้พูด หรือ แสดงให้เห็นตัว "พินัยกรรม" นั้นจริงๆ



ปล. ความจริง คนที่พูดกันเรื่อง "พินัยกรรม" นี้สนใจเรื่อง ร.6 "ด่า" กรมดำรง แต่ผมเองไม่ได้สนใจประเด็นนี้ สนใจประเด็นอื่นครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 เม.ย. 06, 07:50

 ดิฉันกำลังรอคุณ V_Mee เข้ามาตอบ  ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัชกาลที่ ๖  
คงจะให้คำตอบได้ค่ะ
อีก ๒ ท่านคือคุณ UP และ คุณหยดน้ำ ก็น่าจะทราบ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 เม.ย. 06, 08:36

 พระราชพินัยกรรมในรัชกาลที่ ๖ นั้นมี ๒ ส่วนคือ

๑. ฉบับพุทธศักราช ๒๔๖๓ พระราชพินัยกรรมเรื่องการจัดงานพระบรมศพ  
๒. ฉบับพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระราชพินัยกรรมเรื่องรัชทายาทในการสืบราชสันตติวงศ์

ผมไม่แน่ใจว่าความตอนที่คุณสมศักดิ์ยกมานั้นอยู่ในหนังสือเล่มใด แต่เชื่อว่าคงอยู่ในเล่มใดเล่มหนึ่งตามรายชื่อหนังสือที่ผมจะยกมาต่อไปนี้ครับ

๑. "พระราชพินัยกรรม" ในหนังสือ พระมหาธีรราชเจ้า ของ ทวี มุขธระโกษา พิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖

๒. หนังสือ สำเนาพระบรมราชโองการแสดงพระราชประสงค์ในการที่จะจัดงานพระบรมศพ, มงคลสูตรคำฉันท์, ประมวลสุภาษิตและบทละครดึกดำบรรพ์ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกโท พระราชสาส์นโสภณ (อาจ ชูโต) พิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒

๓. พระราชพินัยกรรม์ ในหนังสือ พระมงกุฎเกล้าฯ และเจ้าฟ้าเพ็ชรรัตน์ฯ พิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๓

๔. จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ พิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๗
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 เม.ย. 06, 15:52

 เรียน คุณ UP

ต้องขอบพระคุณอย่างสูงที่กรุณาช่วยตอบ

แต่ผมเกรงว่า หนังสือ 3 ใน 4 รายการ ที่คุณเสนอมานั้น ไม่มีตัวบท (text) ของ "พินัยกรรม" ฉบับที่กล่าวถึง คือ

รายการที่ 1 และ 3 มีเฉพาะ "พินัยกรรม" ฉบับปี 2463 "พินัยกรรม" ฉบับนี้ ทรงสั่งเรื่องเกี่ยวกับวิธีจัดพิธี หากทรงสวรรคต ซึ่งที่สำคัญ คือห้ามไม่ให้มีนางร้องไห้ (เรื่องที่ ร.6 ทรง "เกลียด" การมี "นางร้องไห้" ในงานศพ ดูที่ทรงบันทึกไว้ในบทแรกๆของ "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" โดย "ราม วชิราวุธ" ซึ่งทรง "วิพากษ์" "นางร้องไห้" ในงานศพรัชกาลที่ 5 อย่างรุนแรง)

รายการที่ 4 ตีพิมพ์เฉพาะถึง "วันจักรี" ปี 2462 (6 เมษายน) หน้าสุดท้าย คือเรื่องที่ทรงบันทึกเรื่องทรงให้มีการจัดงาน "วันจักรี" ขึ้นเป็นครั้งแรก

เหลือเฉพาะรายการที่ 2 ซึ่งผมยังไม่เคยเห็น จะพยายามไปหาดู พรุ่งนี้เมื่อห้องสมุดเปิด

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบพระคุณอีกครั้ง ได้ผลอย่างไร จะมาเรียนให้ทราบ

ปล. หากมีเวลา คืนนี้ หรือพรุ่งนี้ ผมจะลอง scan รูป "พินัยกรรม" ฉบับที่ผมถามถึง ที่เป็นลายพระราชหัตถ์ ที่ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม มาให้ดูกัน เผื่อจะมีใครเคยเห็นอีก

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 เม.ย. 06, 14:38


นี่ครับ หน้าตา "พินัยกรรม" ฉบับที่ผมกล่าวถึง
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 เม.ย. 06, 14:40


นี่คือหน้าปกของ "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" (diary) เล่มที่มี "พินัยกรรม"
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 เม.ย. 06, 14:57

 เรียน คุณ UP

ผมเพิ่งไปเช็คอีกครั้งวันนี้ หนังสือ 4 รายการ ที่คุณเสนอ
ปรากฏว่าไม่มี
ไม่เป็นไรครับ ต้องขอบคุณอีกครั้ง หากบังเอิญ ได้เห็นที่ไหน วันหลังจะกรุณาบอกมา ก็จะขอบพระคุณอย่างสูง

ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับ "พินัยกรรม" ร.6 คือ ดังจะเห็นได้จากเนื้อหา ของ "พินัยกรรม" ฉบับที่ผมอ้างมาข้างต้นว่า นี่เป็น "พินัยกรรม" เชิง "รัฐ" คือ เกี่ยวกับเรื่อง ยกราชบัลลังก์ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

ยังมี "พินัยกรรม" ของ ร.6 อีก 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งคือ ฉบับที่คุณ UP พูดถึง ซึ่ง (ดังที่ผมกล่าวก่อนหน้านี้) เป็นการสั่งเรื่องการจัดพิธีศพ (ไม่ให้มีนางร้องไห้ เป็นต้น)
ยังมี "พินัยกรรม" อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสั่งเกี่ยวกับที่ดิน คือให้ยกที่ดิน วังพญาไท ให้ลูกที่ยังไม่เกิด หากเป็นชาย (ปรากฏว่าเป็ยหญิง ดังที่ทราบกัน ร.7 จึงตัดสินใจ ไม่ยกที่ดินนั้นให้) ที่ดินดังกล่าวปัจจุบัน คือ รพ.พระมงกุฏเกล้า

"พินัยกรรม" 2 ฉบับหลังที่เพิ่งพูดถึง มีลักษณะ private ("ส่วนพระองค์") ต่างกับฉบับแรก


ผมเพิ่งพูดคุยกับทางศิลปวัฒนธรรม เขาเดาว่า ต้นฉบับน่าจะมาจาก "ท่านสุภัทร" คือ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พระโอรส องค์สุดท้ายของ สมเด็จฯกรมดำรง แต่เขาไม่สามารถยืนยันได้แล้ว เพราะนานกว่า 20 ปีแล้ว

แต่ที่ผมยังติดใจคือ คนที่บอกผมว่า เคยมีการพิมพ์ในหนังสืองานศพ เขาอ้างข้อความบางตอนของ "พินัยกรรม" นี้ได้ แล้วระบุว่า เป็นวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๘ ... ปัญหาคือ ถ้า "พินัยกรรม" นี้ ศิลปวัฒนธรรม ได้มาจาก "ท่านสุภัทร" ซึ่งเป็นของส่วนพระองค์ คนที่บอกผม ก็ไม่น่าจะเห็นจาก ศิลปวัฒนธรรม เพราะ ในศิลปวัฒนธรรม ไม่มีการระบุวันที่เลย (แต่น่าเสียดายที่เจ้าตัวคนที่ว่า ก็จำไม่ได้เสียแล้วว่า "หนังสืองานศพ" ที่เขาว่า ได้เห็นคืออะไร)

สรุป ผมคงจะอ้างอิงจาก ศิลปวัฒนธรรม นี่แหละครับ
แต่หากท่านใด เคยเห็นที่ใด จะกรุณาบอกด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 เม.ย. 06, 00:58

 ต้องขอประทานโทษคุณสมศักดิ์ที่ผมไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าพระราชพินัยกรรมในหนังสือเล่มใดมาก่อนนอกจากศิลปวัฒนธรรม ถ้าหาทุกเล่มแล้วยังไม่พบ ผมก็จนด้วยเกล้าแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ดี ผมเข้าใจว่าสมุดจดหมายเหตุรายวันฉบับต้นฉบับของรัชกาลต่างๆ เมื่อสิ้นแผ่นดินนั้นๆ แล้ว แน่นอนว่าย่อมอยู่ในความดูแลของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ มาครับ

ส่วนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นฉบับนั้นในส่วนหนึ่งส่วนใดให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บรักษาไว้ หรือจะโปรดให้เก็บรักษาไว้ส่วนพระองค์ ณ สำนักแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ย่อมสิทธิส่วนพระองค์ที่จะทรงจัดการใดๆ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 เม.ย. 06, 07:24

 ผมเป็นฝ่ายประกาศขอความช่วยเหลือเองน่ะครับ คุณ UP และท่านอื่นพยายามแนะนำมา ผมได้แต่ขอบคุณ ถ้าบังเอิญนึกหนังสือไหนได้อีก กรุณาอย่าลังเลแนะนำผม ผมไม่ mind เลยแม้แต่น้อยเรื่องไปค้นแล้วไม่เจอ ผมชอบการไปค้นหนังสือที่ตัวเองไม่เคยเห็นหรือแม้แต่เคยเห็นแล้ว ก็ยินดีไปค้นอีก ถ้าท่านอื่นคิดว่าเคยเห็นส่วนที่ผมไม่เห็น (รวมทั้ง 4 เล่มที่แนะนำมา ซึ่งบางเล่มผมเห็นมาก่อน แต่ก็ได้ไปดูซ้ำ และได้อะไรใหม่ๆมา)

เรื่องต้นฉบับ diary ของพระมหากษัตริย์นั้น มี "เกร็ด" เล็กน้อย คือ ปรกติ เป็นจริงดังที่คุณ UP ว่า คือ เก็บอยู่ที่พระมหากษัตริย์ (พูดอย่างเจาะจง คือที่ สำนักราชเลขาธิการ โดยเฉพาะหน่วย ราชเลขานุการในพระองค์) บังเอิญ กรณีรัชกาลที่ ๖ มีปัญหาขึ้นเล็กน้อย เพราะหลังสิ้นพระชนม์ (ความจริง หลังนานมาก คือ มาจนถึงทศวรรษ ๒๔๘๐ สมัยรัฐบาลคณะราษฎร แล้ว เจ้าพระยารามราฆพ ได้ทำหนังสือ "ทวงขอ" สมุดจดหมายเหตุรายวัน ของรัชกาลที่ ๖ โดยให้เหตุผลว่า ทรงพระราชทานให้ท่านเจ้าพระยา คณะรัฐมนตรีมีมติไม่อนุญาต เพราะถือว่าเป็นสมบัติของรัฐ - ปล. สมัยหลัง ๒๔๗๕ จนถึงประมาณ ๒๔ฅ๐ เศษ รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมเอกสาร "ส่วนพระองค์" กระทั่ง พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ (และส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย) ดังนั้น จึงยังไม่อยู่ในการ "จัดการใดๆตามพระราชอัธยาศัย")
บันทึกการเข้า
สมศักดิ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 เม.ย. 06, 07:27

 ขออภัย พิมพ์ผิด บรรทัด เกือบสุดท้าย ต้องอ่านว่า "สมัยหลัง ๒๔๗๕ จนถึงประมาณ ๒๔๙๐ เศษ ....."
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 เม.ย. 06, 13:08

 มีในเวปนี้ด้วยครับ แต่ไม่ตรงที่ต้องการ อาจจะค้นต่อได้ ขอให้โชคดีนะครับ
พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 11 เรื่อง พระราชประเพณี ( ตอน 3 )
มื่นอมรดรุณารักษ์ ( แจ่ม สุนทรเวช ) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2514
ลองหาดู ท่านผู้นี้เขียนไว้มาก เป็นหนังสือชุดของศึกษาภัณฑ์ฯ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=4939&PHPSESSID=30195269e3ceeb1be752ba348bd45848  
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 เม.ย. 06, 16:57

 ขอแก้ไขตรงนี้ครับ
ยังมี "พินัยกรรม" อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสั่งเกี่ยวกับที่ดิน คือให้ยกที่ดิน วังพญาไท ให้ลูกที่ยังไม่เกิด หากเป็นชาย (ปรากฏว่าเป็ยหญิง ดังที่ทราบกัน ร.7 จึงตัดสินใจ ไม่ยกที่ดินนั้นให้) ที่ดินดังกล่าวปัจจุบัน คือ รพ.พระมงกุฏเกล้า

เรื่องนี้ผู้เล่าคงสับสนกระมังครับ  พระราชพินัยกรรมที่อ้างถึงนี้  พูดถึงพระราชวังสนามจันทร์ครับ  มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ว่าให้ตกเป็นของพระทายาท  หรือให้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก  โปรดดูรายละเอียดในสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เล่มที่ ๑

พระราชพินัยกรรมที่คุณสมศักดิ์อ้างถึงนั้น  ดูเหมือนจะไม่เคยมีการพิมพ์ในหนังสือใดๆ มาก่อนครับ  ที่เอามาอ้างกันนั้นก็เป็นการคัดลอกกันมา  แต่ฉบับที่ผมเคยเห็นนั้นเป็นแผ่นกระดาษรวม ๓ หรือ ๔ หน้าผมจำไม่ได้แล้ว  มีเนื้อความครบสมบูรณ์ทั้ง ๔ ข้อ  ดูเหมือนตอนท้ายจะลงพระบรมนามาภิไธยไว้ด้วย  แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าเคยอ่านมาจากที่ไหน  ที่เอาไปลงในศิลปวัฒนธรรมนั้น  เชื่อว่าจะต้องมีผู้ถ่ายสำเนาสมุดจดพระราชบันทึกรายวันนั้นไว้  จึงสามารถตัดตอนเอามาเผยแพร่กันได้เช่นนี้

ในประเด็นเรื่องการปักปันเขตแดนนั้น  ขอแนะนำให้อ่าน ประวัติการของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสง - ชูโต) ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง  และได้วิจารณ์สมเด็จกรมพระยาดำรงและพระยาศรีสหเทพ (ต่อมาได้เป็นพระยามหาอมาตยาธิบดี - เส็ง  วีรยศิริ) ไว้ค่อนข้างรุนรง

เมื่อกล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงและพระยาศรีสหเทพแล้ว  ก็มีข้อน่าสังเกตว่า  พระยามหาอมาตยาธิบดีหรือพระยาศรีสหเทพนั้น ได้รับราชการเป็นเสนาบดีและราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยร่วมกันมาตลอดรัชกาลที่ ๕ และต้นรัชกาลที่ ๖  โดยเฉพาะพระยามหาอมาตยาธิบดีนั้นเคยเป็นถึงรองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  แต่เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกราบถวายบังคมลาออกจากราชการใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น  กลับทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) อุปราชมณฑลภาคพายัพมาเป็นเสนาบดีแทน  ส่วนพระยามหาอมาตยาธิบดีถูกส่งไปเป็นอุปราชมณฑลภาคตะวันตก (ประกอบด้วยมณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรี)  และเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งใน พ.ศ. ๒๔๖๔  ก็โปรดให้รวมกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาลเข้าด้วยกัน  และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแทน
ส่วนพระราชวังพญาไทที่ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น  มีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงไปประมาณการในการที่จะคิดจัดให้เป็นโรงแรมในลักษณะรีสอร์ทแทนการสร้างโรงแรมที่สถานีรถไฟหัวลำโพงที่โปรดให้งดไปและไปสร้างโรงแรมที่หัวหินแทนนั้น เสด็จในกรมฯ ขอเวลาในการจัดทำประมาณการนั้น ๑ เดือน  แต่กว่าจะทำเสร็จก็สองเดือนเศษประจวบกับเวลาที่เริ่มทรงพระประชวรก่อนจะสวรรคต  จึงยังมิทันได้ทอดพระเนตรเรื่องนี้  ต่อมาเสด็จในกรมฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทราบพระราชประสงค์จึงได้โปรดให้แปลงเป็นโฮเต็ลพญาไทตามพระราชประสงค์  ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลเสนารักษ์ในตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
บันทึกการเข้า
NickyNick
พาลี
****
ตอบ: 290

ทำงานแล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 มิ.ย. 06, 11:04

 TEST
ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง