เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3273 วัฒนธรรม How to...
milaGro
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


 เมื่อ 09 เม.ย. 06, 14:48

 วัฒนธรรม How to; การไร้ที่พึ่งและขาดความลึกซึ้งของบุคคล

   ทุกวันนี้ตามแผงหนังสือเราหนังสือจำพวกหนึ่ง ซึ่งออกเป็นจำนวนมาก นั่นคือหนังสือที่เรียกว่า หนังสือ “how to” ในช่วงเริ่มแรก จะเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลจากต่างภาษา แต่ระยะหลังมานี้ คนไทยเองก็เริ่มเขียนหนังสือแนวนี้ด้วยตนเองเช่นกัน เนื่องจากหนังสือประเภท how to นี้ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูง

   เหตุใดหนังสือเหล่านี้ถึงได้รับความนิยมมากมาย?

ผู้คนในสังคมอันเร่งรีบทุกวันนี้ ต้องการคำแนะนำจากใครก็ไม่รู้คนหนึ่ง มีความรู้ความสามารถแค่ไหนไม่รู้ หรือแม้แค่ต้องการคำแนะนำจากดารา? นั่นคือสิ่งที่ปลดปล่อยหรือให้ปัญญาแก่พวกเขาหรือ

   เมื่อเราลองมองดู เหตุหนึ่ง อาจมาจากความที่ผู้คนในโลกดิจิตอลขาดที่พึ่งทางใจอย่างสิ้นเชิง โลกที่มนุษย์ต้องหมุนเร็วกว่าโลก ศาสนาอันเป็นที่พึ่งมาเนิ่นนานกลับถูกแทนที่ด้วยการดูดวงทางโทรศัพท์มือถือ การศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนากลับกลายเป็นการอ่านหนังสือ how to ซึ่งทุกๆคำตอบถูกเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว

เรื่องเหล่านี้ล้วนน่าเศร้าเมื่อเรากลับมาย้อนคิดว่า ผู้คนที่เรารู้จักหรืออยู่รอบตัว ไม่สามารถให้คำแนะนำหรือเป็นที่พึ่งอะไรให้เราได้เลยกระนั้นหรือ? ด้วยเนื้อหาส่วนมากของหนังสือประเภทนี้ จะออกแนว – ทำอย่างไร ให้มีความสุขในที่ทำงาน, วิธีมัดใจคนรัก และอื่นๆ ซึ่งเนื้อหาล้วนเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญอันไม่น่าจะเกินสัมปะชัญญะของคนคนหนึ่งที่จะสามารถรับรู้และสำนึกเอาเองได้

อีกเหตุคือผู้คนมองกันแต่ภายนอก ไม่สนใจหรือต้องการที่จะมองลึกเข้าไปในตัวตนหรือสาระของสิ่งใดสิ่งหนึ่งรอบตัว พวกเขามองหาแต่สิ่งที่ได้รับการทำให้ “ง่าย” มาเรียบร้อยแล้ว
การศึกษาอาจเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์นี้ การสอนให้ผู้เรียนมองแต่ภาพใหญ่ พยายามให้ผู้เรียนรู้กว้างในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยขาดการทำความเข้าใจต่อแก่นสารอันแท้จริง เมื่อผู้เรียนต้องการแต่สิ่งที่ง่ายและผิวเผิน พวกเขาก็ขาดซึ่งทักษะในการคิดพิเคราะห์ด้วยตัวเอง และเมื่อปัญหาเกิดขึ้น พวกเขาไม่สามารถแก้ได้ด้วยตนเอง

วรรณกรรมดีๆมากมายได้ให้ข้อคิดหรือสาระของชีวิตแก่ผู้อ่าน แต่เมื่อผู้อ่านไม่รู้จักคิดตาม ผู้อ่านไม่รู้จักตีความ ขาดความลึกซึ้งในการมอง หนังสือ how to ก็จะยังคงครองตำแหน่งหนังสือขายดีต่อไปอีกเป็นเวลานาน.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 เม.ย. 06, 18:16

 สำนวนภาษาเหมือนกับแปลมา
ทำไมถึงมองหนังสือ how to ในแง่ร้ายยังงั้นล่ะคะ   แล้วยังดูถูกคนอ่านแบบเหมารวมเสียด้วย
บันทึกการเข้า
ladydunce
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 เม.ย. 06, 18:41

 บทความคุ้นมาก  ( - - "")



แต่คนเราอาจจะคิดเหมือนกันก็ได้ขอรับ  ^^~




/me  พูดกับตัวเอง  "ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงนี้"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 เม.ย. 06, 18:56

 http://webboard.mthai.com/7/2006-04-05/219324.html  
บันทึกการเข้า
milaGro
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 เม.ย. 06, 13:16

 ครับ ผมเป็นคนนำไปลงไว้ใน Mthai เอง (ขาประจำ Mthai เหมือนกันครับ)

สำนวนภาษาอาจคล้ายแปลมา เพราะผมไม่ค่อยมีความสามารถทางการเขียนสักเท่าไหร่ เพียงแสดงมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง ที่อาจจะเป็นขั้วที่ตรงข้ามออกมาสักหน่อย
ผมเชื่อว่า การแสดงความเห็นอันเป็นกลางของบุคคลออกมา"มากเกินไป" จะไม่ก่อให้เกิดการถกเถียง การขัดเกลา การคิดต่อยอด หรือการใช้ปัญญาของบุคคล  ดังเช่นปรัชญาหรือหลักความคิดต่างๆในอดีต อันนำมาซึ่งภูมิปัญญาของมนุษยชาติทุกวันนี้ ล้วนเป็นการปรับปรุง แก้ไข และผสมผสานขององค์ความรู้อันสุดขั้วที่หลากหลาย

ที่ผมเขียนมานี้ ผมหมายถึงลักษณะที่คุณ เทาชมพู กล่าวว่า ผมมองหนังสือประเภทนี้ในแง่ร้าย - ถ้าให้เปรียบเทียบ คงคล้ายกับการโต้วาทีกระมังครับ - ที่ทั้งสองฝ่าย จะต้องนำความคิดของตนเองออกมาเสนอกัน และผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือบุคคลที่สาม ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาพินิจพิเคราะห์ และสร้างความเข้าใจต่อสิ่งนั้นๆด้วยตนเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้มีความต้องการให้เกิดการแตกแยกแต่อย่างใด เพียงแค่อยากให้เกิดการเสนอแนวคิดที่แตกต่างกันออกมาเท่านั้นเองครับ

ด้วยความเคารพครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 เม.ย. 06, 14:50

ขอโทษนะคะ  ขอพูดจริงๆไม่ได้กวน ว่าอ่านสำนวนคุณไม่รู้เรื่อง เลยไม่เข้าใจความคิด

การโต้วาทีหรืออภิปรายหรือแสดงความเห็นอะไรก็ตาม   ดิฉันถือหลักจริงใจกับความคิดเห็น   จะคิดเห็นบวกหรือลบ ซ้ายหรือขวานั้นไม่แปลก   แค่คิดยังไงก็แสดงออกมายังงั้น ซื่อตรงกับการแสดงออกของคน
คิดเป็นกลางก็บอกว่าเป็นกลาง    คิดดุเด็ดเผ็ดมันก็แสดงออกมาดุเด็ดเผ็ดมัน     แต่ไม่เคยคิดว่า  ต้องแสดงออกมายังงี้ เพราะถ้าแสดงยังโง้นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดยังงั้น

เอาเป็นว่า  ดิฉันไม่รังเกียจหนังสือ how to ทั้งหลาย    มันเป็นการแสดงความรู้ และทัศนะของผู้เขียน
จะรอบรู้ลึกซึ้งหรือรู้แต่หางอึ่ง  ก็ถือว่าเป็นความรู้  รู้มากรู้น้อยก็แล้วแต่ผู้บริโภคสนใจจะเลือกเสพ    เขาไม่ได้มาบังคับให้อ่าน  
อยากอ่านก็อ่าน ไม่อยากอ่านก็วาง   เราเลือกเปิดอ่านดูเพื่อดูแนวทางว่าน่าสนใจหรือไม่  แล้วค่อยซื้อหรือไม่ซื้อ

การเขียนหนังสือเล่มหนึ่งไม่ใช่ของง่าย     ยิ่งถ้าเขียนหลายๆเล่มให้คนอ่านเข้าใจ และติดตาม ยิ่งยากเข้าไปอีก    
เว้นไว้แต่หนังสือที่ผลิตออกมาเป็นยาพิษป้อนเยาวชนและคนอ่านทั่วไปแล้ว   ดิฉันให้เกียรติคนแต่งหนังสือเสมอ    
บางเล่มเปิดอ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องขบคิด   ก็เป็นเพราะเราอาจมีประสบการณ์มากกว่าเขา  หรือเรียนมามากกว่า   แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องง่ายๆของเขาจะไม่มีคุณค่าสำหรับผู้อื่น  มันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่  หรือแม้แต่เป็นความบันเทิงในวันแห้งแล้งสำหรับใครสักคนหรือหลายคนก็ได้
เราต้องคิดเผื่อคนอื่นด้วย   ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางการวัดอยู่คนเดียว

ขอจบด้วยพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นานาประเทศล้วน...............นับถือ
คนที่รู้หนังสือ.....................แต่งได้
ใครเกลียดอักษรคือ............คนป่า
ใครเยาะกวีไซร้..................แน่แท้คนดง
บันทึกการเข้า
HotChoc
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 เม.ย. 06, 20:45

 ผมไม่เคยอ่านหนังสือพวกนี้จริงจังเท่าไหร่นะครับ เคยแต่อ่านผ่านๆ ส่วนตัวผมมองว่าหนังสือ How-To เป็นผลของสังคมแบบ goal-oriented คือถ้าอยากจะทำอะไร หนังสือพวกนี้ก็จะบอกวิธีการทำเป็นขั้นเป็นตอนไป มีเหตุผลอธิบายพอให้น่าเชื่อถือเท่านั้น อาจจะไม่ได้อธิบายลงลึกอะไร ก็เหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นมั้งครับ ถ้าใครสนใจมากกว่านั้นก็อาจจะมี further readings ให้ไปหาอ่านกันต่อ แต่บางคนเขาก็ต้องการสูตรสำเร็จที่จะไปให้ถึงเป้าหมายเท่านั้น อ่านแค่ How-To ก็พอ

ส่วนเรื่องความลึกซึ้งก็แล้วแต่คนเขียนครับ แต่ผมเชื่อว่าคนที่อธิบายเรื่องยากให้ฟังง่ายเข้าใจง่ายได้ก็ต้องมีความสามารถพอควร
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 เม.ย. 06, 23:19

 ถ้ามองในชีวิตประจำวัน แนวคิดแบบ How-To นั้นมีอยู่มาตลอด บางครั้งเราเห็นแต่เราไม่รู้เอง

อย่างเช่นผมมีกิจธุระต้องไปสนามมวยลุมพินี ผมก็ถามทางเพื่อน

คำตอบที่ได้ก็เป็นแนว How-To นี่เอง

ความจริงแล้วผมจะหาแผนที่กรุงเทพมากางดูก็ได้ว่าจะไปทางไหนดี ดูแล้วก็จะเข้าใจ คราวหน้าอาจจะไปทางอื่นก็ได้

แต่ที่ผมไม่ทำอย่างนั้นอาจเป็นเพราะ
1.ผมอาจจะกำลังรีบ ไม่มีเวลามานั่งศึกษาแผนที่กรุงเทพ
2.ผมไม่รู้ว่าผมจะศึกษาไปทำไม ที่ต้องไปเพราะมีกิจจำเป็น ครั้งเดียวเลิก ไม่จำเป็นคงไม่ไปอีก ความรู้แบบนี้ผมเห็นว่าไม่จำเป็นสำหรับผม

จะเห็นได้ว่า How-To ก็มีดีเหมือนกัน

แต่ก็อย่างที่ว่า How-To เองเป็นความรู้แบบฉาบฉวย ตรงไปตรงมาและไม่ยืดหยุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับคนที่อ่านด้วย

ลองดูโจทย์เดิม ระหว่างที่ผมกำลังเดินทางไปสนามมวยลุมพินีโดยยึดตามคำแนะนำของเพื่อน ผมอาจจะเดินดุ่มๆก้มหน้าก้มตาไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้ผมก็ไม่ได้อะไรจากการใช้คำแนะนำแบบ How-To ครั้งนี้นอกจากสามารถไปถึงจุดหมายได้

แต่...

ถ้าระหว่างทางผมมองซ้ายมองขวาไปด้วย ดูว่าเดินผ่านสถานที่ไหนบ้าง ผมก็จะรู้จักสถานที่แถวนั้นไปด้วย หรือระหว่างเดินหากลำดับทิศทางลากเส้นทางเดินในหัวดูบ้าง ผมก็อาจจะพอเดาได้ว่าผมอาจจะเดินโดยใช้ทางอื่นได้อย่างไร

แน่นอนว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้คงไม่เท่ากับการไปนั่งศึกษาแผนที่ แต่ผมว่าเทียบกับเวลาที่เสียไปก็น่าจะถือว่าคุ้มค่า

ที่สำคัญ การเรียนรู้ทีละเศษทีละส่วนอย่างนี้ หากเรารู้จักประกอบความรู้เข้าด้วยกัน ถึงที่สุดผมก็อาจจะมีความรู้พอๆกับการไปนั่งศึกษาแผนที่ก็ได้

หากมองในแง่ของผลิตภาพของสังคมแล้ว How-To ยังสามารถนำคนที่มีความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์จำกัดเข้าถึง solution ได้ ซึ่งหมายความว่า How-To สามารถเพิ่มผลิตภาพของสังคมได้ (ในขณะที่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถก็ยังใช้ How-To เป็นแหล่งหาความรู้ได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น)

ดูๆแล้วก็ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ

ส่วนจะพึงใจหรือไม่นั้นคงขึ้นกับแต่ละคนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง