เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 27107 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 165

นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ


 เมื่อ 04 เม.ย. 06, 12:42

 สวัสดีครับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆชาวเรือนไทยทุกคน รู้สึกว่าช่วงนี้เรือนไทยจะเงียบเหงาจัง ผมเลยมาเพิ่มอีกสักกระทู้ให้มีบรรยากาศเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย
ตอนนี้ผมฝึกงานอยู่ที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรครับ ทราบประวัติท่านเจ้าพระยาเพียงเล็กน้อยเอง เลยอยากให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ทราบประวัติของท่านช่วยมาโพสเล่าให้อ่านหน่อยนะครับ โดยเฉพาะท่านออกญาฯ รู้สึกว่าท่านจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักเป็นอย่างดี
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 17:51

 พอดีมีหนังสือเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เนื่องในโอกาสที่วันประสูติครบ ๑๐๐ ปี ๑๕ เมษายน ๒๕๔๘ ซึ่งมีประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้เป็นพระบรรพบุรุษของเสด็จพระนางฯ อยู่ในมือ

แต่ก็เงื้อง่าเล็งอยู่นาน ไม่เห็นออกญาธรรมาฯ เข้ามาตามที่คุณนทีสีทันดรกำลังตามหา ก็ขอเริ่มสรุปเล่าเรื่องมาให้ฟัง เป็นการขัดตาทัพไปพลางๆ นะครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 17:55

 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) กับท่านผู้หญิงทับทิม เกิดที่เมืองพระตะบอง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๐๔

ท่านผู้หญิงทับทิมนั้น ท่านเป็นพวกบุนนาค เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกก็หนีพม่าไปอยู่กัมพูชา และมีธิดาคนหนึ่งคือทับทิม ซึ่งต่อมาคือท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาอภัยฯ นี่แหละครับ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ จึงนับญาติกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่าเป็นคนในตระกูลบุนนาคเช่นเดียวกันท่าน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:00

 ในวัยเยาว์ ท่านเจ้าคุณบิดาได้นำบุตรชายคนโตเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระอภัยพิทักษ์ ออกไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา

ครั้นเจ้าพระยาคทาธรฯ (เยีย) ผู้บิดา ถึงแก่อสัญกรรม พระอภัยพิทักษ์ (ชุ่ม) ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:21

 ผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสำนักสมัยนั้นยกย่องพระยาคทาธรฯ เป็นอันมากว่ามีกิริยามารยาทงาม รอบรู้ราชการ คุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางมากราย ที่สำคัญคือมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นที่สุด

เห็นได้จากเมื่อมีพระบรมราโชบายรวมศูนย์ คือจัดวิธีการปกครองหัวเมืองเขมรเสียใหม่  โดยรวมเมืองพระตะบองและเมืองใกล้เคียงที่เคยขึ้นต่อไทย จัดตั้งเป็น "มณฑลเขมร" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "มณฑลตะวันออก" และ "มณฑลบูรพา" ในที่สุด ให้มีสมุหเทศาภิบาลปกครอง มีเมืองศรีโสภณเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนับเป็นการทอนอำนาจเจ้าเมืองพระตะบองโดยตรง แต่พระยาคทาธรฯ ก็สนองพระบรมราโชบายนี้เต็มที่ ไม่มีทีท่ากระด้างกระเดื่องแต่อย่างใด

ขณะนั้นเมืองพระตะบองเป็นเหมือนเมืองหน้าด่านกันชนระหว่างไทยกับเขมรซึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส พระยาคทาธรฯ จึงต้องระวังตัวมาก ถ้าไปมีท่าทีประจบประแจงฝรั่งเศส ทางไทยก็จะระแวง ครั้นถ้าไปก้าวร้าวอวดดี ฝรั่งเศสก็จะหาว่ารุกราน แต่พระยาคทาธรฯ ก็รักษาตัวได้อย่างดี ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายฝรั่งเศสก็ไม่ได้รู้สึกขัดเคืองแต่อย่างใด

เมื่อพระยาคทาธรฯ เป็นผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบอง ก็เลยเรียกได้ว่าท่านตกอยู่ในวงล้อมของฝรั่งเศส แถมยังมีสมุหเทศาภิบาลที่เมืองศรีโสภณกำกับอยู่อีกชั้นหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๖ พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:29

 ในศกที่ท่านได้รับหน้าที่ควบสองตำแหน่งนั้นเอง ฝรั่งเศสก็หาเรื่องเข้ามารุกรานถึงเขตไทย ยึดเมืองจันทบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเจรจาแลกเปลี่ยนดินแดนคืน โดยยกฝั่งขวาแม่น้ำโขง ได้แก่เมืองมโนไพร และจำปาศักดิ์ ให้ฝรั่งเศสไป แต่ฝรั่งเศสยังใช้เล่ห์เหลี่ยม พอรับเอาดินแดนแลกเปลี่ยนคืนนั้นแล้ว ก็หันไปยึดเมืองตราดและเกาะต่างๆ จนถึงเกาะกูด ต่อเป็นของแถม ในที่สุดไทยจึงต้องทำสัญญาอีกครั้งเมื่อปี ๒๔๔๙ ยกมณฑลบูรพา ซึ่งมีเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ซึ่งเคยขึ้นต่อไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ให้ฝรั่งเศสไป เพื่อและเมืองตราดและเกาะต่างๆ กลับคืนมา

ระหว่างที่ไทยมีปัญหาพิพาทอยู่กับฝรั่งเศส พระยาคทาทรฯ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

"บิดาและปู่ได้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทมาหลายชั่วชั้นบรรพบุรุษแล้ว ไม่ปรารถนาจะย้ายไปเป็นข้ากรุงกัมพูชา ถ้าพระราชทานเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ไปเป็นของกรุงกัมพูชาเมื่อใด ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อพยพครอบครัวบุตรหลาน และภูมิลำเนา เข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ"
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:29

 ขออนุญาตพักไว้เท่านี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาเล่าต่อครับ
บันทึกการเข้า
นทีสีทันดร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 165

นสพ. จุฬาฯ ปี 6 (extern) แล้วครับ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:32

 ขอบคุณคุณ UP มากครับ ได้ความรู้เยอะเลย ที่รพ.เจ้าพระยาฯก็มีอนุสาวรีย์ของท่าน และมีรูปปั้นไก่มากมาย มีที่มายังไงพี่ UP ช้วยเล่าหน่อยนะครับ และที่มาของสมุนไพรอภัยภูเบศรมีที่มาอย่างไร คนไม่รบกวนคุณ Up มากนะครับ
ปล. ไปอยู่เวรต่อล่ะครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:35


เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 18:40

 เรื่อง "ไก่" นั้นเล่าคร่าวๆ ก่อนว่าเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านชอบผจญภัย เป็นนักนิยมไพร แล้วก็มีอุปนิสัยออกแนว "ลูกทุ่ง" ถึงไหนถึงกัน ฉะนั้น กล่าวกันว่าท่านชอบการชนไก่ ตามวิถีชาวบ้านสมัยนั้น

คำร่ำลือเช่นนี้เป็นเหตุให้มีผู้มากราบไหว้แก้บนที่อนุสาวรีย์ของท่านด้วยตุ๊กตาไก่ หรือการชนไก่ ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 เม.ย. 06, 19:07

 ระหว่างรอคุณ UP มาเล่าต่อในวันพรุ่งนี้
ขอคั่นด้วยภาพของสาวสวย
ชื่อตรีดาว อภัยวงศ์  
เชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
เธอเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ค่ะ
หลายคนคงจำเธอได้จากรายการ "เรียงร้อยถ้อยไทย"  
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 05 เม.ย. 06, 11:25

 มาเล่าต่อตามสัญญาครับ

ว่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซาบซึ้งในน้ำใจจงรักภักดีของพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) เป็นอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้วถ้าเจ้าคุณคทาธรฯ จะอยู่เมืองพระตะบองต่อไป ฝ่ายฝรั่งเศสก็คงยินดีชุบเลี้ยง เพราะท่านมีวาสนาบารมีมาก

ครั้นถึงคราวที่ไทยทำสัญญายกดินแดนมณฑลบูรพาให้ฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงตั้งเงื่อนไขว่าให้ฝรั่งเศสชดใช้เงินค่าขนย้ายสัมภาระสำมะโนครัวให้แก่พระยาคทาธรฯ เป็นจำนวนถึงปีละแสนเหรียญ ทุกปีจนตลอดชีวิต และให้ยอมให้พระยาคทาธรฯ ย้ายครอบครัวและสมบัติเข้ากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกตามประสงค์ทุกประการ พระยาคทาธรฯ จึงได้เริ่มอพยพครอบครัวเข้าเมืองไทยผ่านทางปราจีนบุรี

เล่าลือกันว่าการลำเลียงทรัพย์สินครั้งนั้นยิ่งใหญ่เป็นกองคาราวานมโหฬารมาก เพราะจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เพียงย้ายบ้านเท่านั้น แต่เปรียบได้กับการย้ายเมืองที่เคยตั้งมั่นมานับร้อยปี

นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบุตรคนหนึ่งของท่านเจ้าคุณฯ ได้เคยเล่าไว้ว่า

"เมื่อเราย้ายครอบครัวมา ผมอายุ ๔ ขวบ ก็จำอะไรไม่ค่อยได้นอกจากซน ขี่ช้างบ้าง ขี่ม้าบ้าง ถ้าท่านอยากรู้ว่าเขามากันยังไง โปรดอ่านดูหนังสือตาไซฟาเดน (Seiden-faden) เวลานั้นมียศเป็นนายร้อยตำรวจเอก ซึ่งมีหน้าที่ไปรับ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อย่างล้นพ้น ให้เกณฑ์คนเกณฑ์เกวียนไปรับ นอกจากเราจะบรรทุกเอามาจากทางโน้นแล้ว ยังมีพลเมืองเขมรที่ติดตามมาอีกมาก เราเดินทางรอนแรมมาตามป่า ไม่มีถนนอย่างเวลานี้ เป็นเวลาแรมเดือนกว่าจะมาถึงปราจีนบุรี"
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 05 เม.ย. 06, 11:42

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงคำนึงถึงความจงรักภักดีของพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและสมุหเทศาภิบาลมณฑลบูรพา คนสุดท้าย ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น

"เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ"

มีตำแหน่งในราชการกระทรวงมหาดไทย ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ เช่นเดียวกับเจ้าพระยาทั้งหลาย และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ได้ปลูกตึกหลังใหญ่อยู่ที่ยศเส ซึ่งบัดนี้คือบริเวณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นที่พำนักในกรุงเทพมหานคร

ต่อมาได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีอีกแห่งหนึ่ง เพราะท่านนิยมไพร ชอบผจญภัย เที่ยวป่าล่าสัตว์ การอยู่ในกรุง ไม่ใคร่จะต้องอัธยาศัยท่านเจ้าพระยาฯ นัก เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงไปสร้างบ้านเรือนอยู่ปราจีนบุรีแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงทราบว่าเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชอบเที่ยวป่า ในปีหนึ่ง จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี ท่านเจ้าพระยาฯ ก็ตื่นเต้นยินดีมาก จัดเตรียมช้างม้าพาหนะทุกอย่าง และตัวท่านเองก็ขึ้นขี่คอช้างเป็นควาญ คอยนำเสด็จประพาสทั่วดงศรีมหาโพธิ์ เป็นที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยอย่างมาก ดังที่มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ถึงสองฉบับ ใจความเกี่ยวกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีดังนี้

"เวลาบ่าย ได้ลงเรือแจวขึ้นไปบ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปประมาณสัก ๑๕ มินิต ที่เขาได้เลือกดีในแถบนี้ แลเห็นเขาดูเหมือนอยู่ใกล้ แต่ระยะทาง ๓ เส้นเศษ"

"รุ่งขึ้นวันที่ ๑๘ ขึ้นช้างพังหลังดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ข้างจะย่อม เดินไม่เต็มฝีย่าง หลังเรียบดี ชื่อ กปุม ลองทายดูถีว่าจะแปลว่ากระไร พอพ่อได้ยินก็เข้าใจ แต่เพื่อจะให้รู้แน่จึงถามคำแปล ก็ได้ความว่าดอกไม้ตูม คือคำที่เราใช้ว่ากระพุม หรือกรรพุม ยอกรกรรพุม ก็คือทำอุ้งมือเป็นตูม เป็นภาษาที่ใช้ในคำไทย... เจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำกับข้าวป่าเลี้ยง คือ ไก่เผา ปลาเผา มีผัดน้ำพริก ซึ่งเป็นของจะทำได้ในป่าง่ายๆ ไม่สู้ต้องการภาชนะสำหรับหุงต้ม ทำอร่อยดีมาก เลี้ยงกันแล้วกลับลงมาท่า ได้เลี้ยงน้ำชาอย่างสูงคือขนมจีนแกงไก่อีกครั้ง แล้วจึงได้ลงเรือล่องลงมาพลับพลาเมืองปราจีน ...ลืมบอกว่าช้างที่ไปวันนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำคอเอง คล่องแคล่วดีมาก แต่ช้างใหญ่ๆ เขาส่งออกไปตระเตรียมที่สำหรับจะตามช้างสำคัญ... ที่เลี้ยงช้างเจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ายจากปราจีนไปเลี้ยงสระขุด อยู่ในนี้แกทนปรับไปกินนาเขาไม่ไหว เพราะเหตุที่ดงพระรามเดี๋ยวนี้เป็นไร่ไปเกือบทั้งดงเสียแล้ว"

ต่อมา เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ปลูกตึกหลังใหญ่ทรงยุโรปบนที่ดินของท่าน ด้วยหวังจะได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งที่สอง แต่ไม่ทันได้เสด็จประพาสอีกครั้ง ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 เม.ย. 06, 11:56

 เล่ากันว่าท่านเจ้าพระยาฯ เสียใจมากที่ตึกดังกล่าวไม่ได้จัดเป็นที่รับเสด็จ และท่านก็ถือเสมอว่าตึกนั้นเป็นส่วนที่สร้างเพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ ท่านจะไม่ยอมเข้าพักแรมในตึกใหญ่ดังกล่าวเป็นอันขาด แต่จะพำนักอยู่ในเรือนของท่านด้านหลังตึกแทน

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตึกดังกล่าวก็ได้ใช้เป็นที่รับเสด็จสมความตั้งใจของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๕ ท่านเจ้าพระยาฯ ได้จัดตึกใหญ่นั้นเป็นที่ประทับแรมอย่างสมพระเกียรติ เมื่อเสด็จกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๒ และพระราชทานยศเป็น "มหาเสวกโท" ประจำราชสำนักกระทรวงวัง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อยายต่อจากนั้นไปว่า "อภัยวงศ์"

มหาเสวกโท เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ป่วยด้วยโรคเบาหวานเรื้อรังอยู่หลายปี เมื่อเข้าปัจฉิมกาลแห่งชีวิต ท่านได้หันมาบำเพ็ญกุศลเป็นอันมาก เช่น บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญคือได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดแก้วพิจิตร ที่เมืองปราจีนบุรี ทั้งวัด โดยท่านเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบเอง อุโบสถวัดแก้วพิจิตรจัดว่าเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างไทย เขมร และยุโรปที่ท่านเจ้าพระยาฯ ประยุกต์ขึ้นอย่างงดงามวิจิตร และนับเป็นวัดประจำสกุล "อภัยวงศ์"

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๖๕ สิริอายุ ๖๑ ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศพบนตึกใหญ่ที่ท่านสร้างไว้รับเสด็จ นับเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้พำนักร่างของท่านบนตึกที่สร้างขึ้นด้วยแรงแห่งความจักรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พร้อมพระราชทานโกศและเครื่องประกอบเกียรติยศศพตามเกียรติยศเจ้าพระยาทุกประการ

ครั้นถึงอวสานแห่งการศพ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดแก้วพิจิตร ตามความประสงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านนั้น มีเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อุตสาหะเสด็จและเดินทางมาเป็นจำนวนมาก มี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นอาทิ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 เม.ย. 06, 11:59


เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง