คัดลอกมาตรงๆจากเว็บไซต์ของคุณเล็กอิศรา
www.geocities.com/lekpage (จนใจระบุ URL เป๊ะๆไม่ได้ เพราะผมเซฟเก็บไว้นานแล้วครับ) ทั้งหมด 18 คำ อีกคำผมแถมเองครับ(เอาคำว่า ฮือ ดีไหม?

) ขออภัยในความผิดพลาด
ตำราแบบสำนักมาตรฐานครับ ชอบไม่ชอบก็ควรต้องรู้ครับ
*********************************************
• สร้อยโคลง
ขอเสริมพี่เล็กเรื่อง คำสร้อย หน่อยครับ ผมเคยสงสัยเสมอมา ว่าเราจะใช้คำสร้อย แบบไหน เมื่อไหร่
พอดีไปเจอหนังสือชื่อ "การประพันธ์โคลงสี่สุภาพ" ของ กรมศิลปากร พิมพ์ปี ๒๕๔๑
คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ นั้นจะใช้ต่อเมื่อใจความขาด
หรือยังไม่สมบูรณ์ หากความในบาทนั้นสมบูรณ์ได้ใจความดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีสร้อย
ซึ่งถ้าใช้สร้อยในที่ไม่จำเป็นก็จะทำให้โคลงบทนั้น "รกสร้อย" ตัวอย่างโคลงที่สมบูรณ์ไพเราะที่ไม่ต้องมีสร้อย
เช่น
๏ โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น ..................... ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน .............................. พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน .................................. ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว ............................... ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์
และตัวอย่างโคลงที่ความไม่สมบูรณ์ ต้องใช้สร้อยจากเรื่องเดียวกัน คือ
๏ อยุธยายสล่มแล้ว .............................. ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร ....................... เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์ ......................... ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ................................... ฝึกฟื้นใจเมือง
คำสร้อยที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณนั้น มีทั้งหมด ๑๘ คำ ดังนี้
๑. 'พ่อ' ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล เช่น ฤทธิ์พ่อ, นี้พ่อ, นาพ่อ ฯลฯ
ศัตรูหมู่พาลา ...................................... พาลพ่าย ฤทธิ์พ่อ
๒. 'แม่' ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก เช่น แม่แม่, มาแม่ ฯลฯ
แสนศึกแสนศาสตร์ซ้อง ......................... แสนพัน มาแม่
๓. 'พี่' ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจทำหน้าที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ หรือบุรุษที่ ๒ ก็ได้ เช่น เรือพี่, ฤๅพี่ ฯลฯ
สองเขือพี่หลับไหล ............................... ลืมตื่น ฤๅพี่
๔. 'เลย' ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น เรียมเลย, ถึงเลย ฯลฯ
ประมาณกึ่งเกศา ................................. ฤๅห่าง เรียมเลย
๕. 'เทอญ' มีความหมายในเชิงขอให้มี หรือขอให้เป็น เช่น ตนเทอญ ฯลฯ
สารพัดเขตจักรพาล ............................ ฟังด่ำ บลเทอญ
๖. 'นา' ดังนั้น เช่นนั้น
จำบำราศบุญเรือง .............................. รองบาท พระนา
๗. 'นอ' มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า 'หนอ' หรือ 'นั่นเอง'
ยอกไหล่ยอกตะโพกปาน ..................... ปืนปัก อยู่นอ
๘. 'บารนี' สร้อยคำนี้ นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า 'ดังนี้' 'เช่นนี้'
กินบัวอร่อยโอ้ .................................. เอาใจ บารนี
๙. 'รา' มีความหมายละเอียดว่า 'เถอะ' 'เถิด'
วานจวนชำระใจ ................................ ความทุกข์ พี่รา
๑๐. 'ฤๅ' มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
มกุฏพิมานมณ ................................. ฑิรทิพย์ เทียมฤๅ
๑๑. 'เนอ' มีความหมายว่า ดังนั้น 'เช่นนั้น'
วันรุ่งแม่กองทวิ ................................ ทศพวก นายเนอ
๑๒. 'ฮา' มีความหมายเช่นเดียวกับ คำสร้อย นา
กวัดเท้าท่ามวยเตะ ............................ ตึงเมื่อย หายฮา
๑๓. 'แล' มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
กัลยาเคยเชื่อไว้ ............................... วางใจ มาแล
๑๔. 'ก็ดี' มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
นิทานนิเทศท้าว ................................. องค์ใด ก็ดี
๑๕. 'แฮ' มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อย แล
อัชฌาสัยแห่งสามัญ ........................ บุญแต่ง มาแฮ
๑๖. 'อา' สร้อยคำนี้ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์
เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูด ในเชิง รำพึง แสดงความวิตกกังวล
เป็นไฉนจึงด่วนทิ้ง .......................... น้องไป พี่อา
๑๗. 'เอย' ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียก เหมือนคำว่า เอ๋ย หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
จำปาจำเปรียบเนื้อ .......................... นางสวรรค์ kuเอย
๑๘. 'เฮย' ใช้ในลักษณะที่ต้องการเน้น ให้มีความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวมาข้างหน้า
สร้อยคำนี้มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" ดังนั้นเมื่อใช้ในคำสร้อย จึงน่าจะมีความหมายว่า
เป็นเช่นนั้นแล้ว ได้เช่นกัน
ขึ้นดั่งชัยพฤกษ์พร้อม ....................... มุรธา ภิเษกเฮย
คำสร้อยทั้ง ๑๘ คำที่กล่าวมานี้ เป็นคำสร้อยแบบแผน ที่ใช้กันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว
ยังมีคำสร้อยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "สร้อยเจตนัง" เป็นคำสร้อยที่กวี ต้องการให้เป็นไปตามใจของตน
หรือใช้คำสร้อยนั้นโดยจงใจ ผู้ที่เริ่มฝึกหัดการประพันธ์ ควรใช้แต่สร้อยที่เป็นแบบแผน
หลีกเลี่ยงการใช้สร้อยเจตนัง ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน สร้อยแบบนี้ไม่พบบ่อยนัก
ในวรรณกรรมเก่า จึงหาตัวอย่างได้ยาก เช่น
หายเห็นประเหลนุช .......................... นอนเงื่อง งงง่วง
พวกไทยไล่ตามเพลิง ........................ เผาจุด ฉางฮือ
ลัทธิท่านเคร่งเขมง .......................... เมืองท่าน อือฮือ
การใช้คำสร้อยของกวีในอดีต แต่ละท่านมีความนิยมแตกต่างกัน ในงานประพันธ์บางชิ้น
ที่ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้ประพันธ์ อาจใช้รูปแบบความนิยมในการใช้คำสร้อย เป็นสิ่งช่วยวินิจฉัยว่า
ผลงานนั้นเป็นของกวีท่านใดได้
โดยคุณ : อังคาร (เพื่อนชาวถนนนักเขียน ในเว็บ pantip.com)