เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 18
  พิมพ์  
อ่าน: 57829 เรียนเชิญคุณจิตแผ้ว แล ผองมิตร
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 20:25

 
    ดั่งคล้าย พระพายโบก        วิปโยค และโศกศัลย์
ต่างหาย มลายพลัน                สุขสันต์ สรัญใจ
  บางครั้ง ถะถั่งโถม               พยุโหม โพยมใส่
เจ็บช้ำ ระกำใจ                       ทุรใน ฤทัยแด ฯ
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 20:48

 ขอขยายความในร้อยกรองประเภท ฉันท์  สักหน่อยนะครับ เพื่อที่ว่า บางทีอาจมี น้องๆเด็กๆเข้ามาอ่าน ก็จะได้เข้าใจและสนุกในการแต่ง การอ่าน ไปด้วยครับ


ฉันท์เป็นถ้อยคำร้อยกรอง ที่ได้กำหนดคณะ ครุลหุ และสัมผัสไว้


การแต่งฉันท์ ต้องบรรจุคำให้ครบ ตามจำนวนที่บ่งไว้ จะบรรจุคำให้เกินกว่ากำหนด เหมือนการแต่ง โคลง กลอน และกาพย์ ไม่ได้ เว้นไว้แต่อักษรนำ อนุญาตให้เกินได้บ้าง

แต่บัดนี้ ไม่ใคร่นิยมแล้ว คำใดที่กำหนดไว้ว่า เป็นครุและลหุ จะต้องเป็น ครุและลหุจริงๆ และเป็นได้ แต่เฉพาะ ตรงที่บ่งไว้ เท่านั้น จะใช้ครุและลหุ ผิดที่ไม่ได้  

คำที่ประสมด้วย สระอำ ในแม่ ก กา ก็ดี ใช้เป็นลหุได้ แต่บัดนี้คำที่ประสมด้วยสระอำ ไม่ใคร่นิยมใช้ เพราะถือว่า เป็นเสียงที่มีตัวสะกดแฝงอยู่ด้วย

(คัดลอกจากเว็บไซด์ที่อ.นิรันดร์ให้ไว้)



การอ่าน ก็ต้องอ่านให้เป็น คำครุและลหุ จริงๆ คำไหนเป็น คำครุ คำลหุ มีหลักดังนี้

คำครุ  เป็นเสียงหนัก ยาว ซึ่งจะสังเกตุได้จาก


1. พยางค์ไม่มีตัวสะกด (แม่ ก กาที่มีสระเสียงยาว ) เช่น มี – นา

2. พยางค์มีตัวสะกด เป็นเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ เช่น รัก- เธอ –มาก – ไป- เปล่า

คำลหุ   เสียงสั้น เบา ซึ่งจะสังเกตุได้ดังนี้

1. พยางค์ไม่มีตัวสะกด + สระเสียงสั้น เช่น สิ- คะ, นะ-คะ

สระ อำ ไอ ไอ เอา ซึ่งจะมีเสียง /ม/ ,/ย/ และ/ว/ เป็นเสียงตัวสะกดผสมอยู่ ไม่เป็นที่นิยม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 21:35

 กลบทใน ๑๔๐ ผมแต่งเลียนกลบทอัษฎางค์ดุริยาของคมทวน คันธนูครับ

กลบทจะคล้ายอินทรวิเชียรฉันท์ ต่างกันแต่ว่าลหุสองคำแรกในวรรคที่สองและสี่จะแทนด้วยครุหนึ่งคำครับ สัมผัสระหว่างวรรคเหมือนกัน ที่สำคัญคือคำลหุกลางวรรคทุกวรรคบังคับเป็นคำเดียวกัน นอกจากนี้จะบังคับสัมผัสในอีกดังนี้
0AXBC 00X00
0AXBC 0AXBC

X คือคำลหุบังคับซ้ำ
A สัมผัสสระกับ B
A สัมผัสอักษรกับ C ครับ
(A,B,C สัมผัสเฉพาะในววรคเดียวกันนะครับ ถ้าข้ามวรรคด้วยต้องตั้งชื่อว่ากลบทถวายวัดครับ   )

ใน ๑๔๐ ผมยืมบังคับเพิ่มเติมของกลบทอัษฎางค์ดุริยามาใส่อินทรวิเชียรฉันท์ครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีชื่อเฉพาะอยู่หรือไม่ ผู้ใดทราบกรุณาชี้แนะด้วยครับ บังคับเพิ่มจากอินทรวิเชียรฉันท์ปกติดังนี้ครับ

0AXBC 000X00
0AXBC 00AXBC

ยกมาอีกครั้งครับ


ดั่งเพลิงระเริงพลุ่ง   จิต(ะ)มุ่งระลุงแม่
ดื่มด่ำระส่ำแด      ระอุร้าวระด่าวดิ้น
ยากดับระงับด้วย    มน(ะ)ป่วยระรวยริน
ซานซมระทมสิ้น    รติจมระบมใจ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 21:40

 ขอโทษครับ ผังผิดครับ สลับบรรทัดกัน ที่ถูกต้องเป็น
0AXBC 0AXBC
0AXBC 00X00
และ
0AXBC 00AXBC
0AXBC 000X00
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 15 ส.ค. 06, 21:45

 อ้าว ถูกอยู่แล้วไปแก้เป็นผิดครับ
ถ้าเป็นไปได้ V team กรุณาช่วยลบ 154,155 ด้วยนะครับ
ขออภัยในความไม่สะดวกครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 13:13

 ว่าแล้วเชียว..
เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นกลบทแบบนี้
 

จะว่าไปแล้วไม่ค่อยเห็นใครใช้กลบทกับฉันท์เท่าไหร่ อย่างน้อยก็ไม่มากเท่ากลอนและโคลง

คุณอาชาฯละก็มักหาอะไรแปลกมาให้เล่นอยู่เรื่อยเลย
ครั้งก่อนก็ดัดแปลงโคลงสลับหน้า - หลัง

" ลองอยากก็แต่งเขา....ชายชาติ
อ่านคนมีไม่อาจ....ว่ารู้
กลับย้อนแต่งประหลาด....เล่นก็
หลังมาหน้าจากสู้....เพราะไม่ คงมัน "

ไม่ทันไรคราวนี้ก็เล่นสนุกดัดแปลงฉันท์อีกแล้ว
คราวหน้าน่าจะสกิดบอกกันสักนิดก่อน นะครับ แฮ่ะๆ ไม่งั้นผมหน้าแตกอย่างนี้อีก

ไอ้ผมรึสังเกตเห็นแต่สัมผัสใน ผมก็ใส่สัมผัสในให้ซะทุกวรรค
ยังไม่พอ ก็เลยแถมสัมผัสนอก ระหว่างวรรค ซะทุกวรรคเช่นกัน
แต่แป๊ววววววว....กลายเป็นว่าผิดกลบทไปซะนี่
ฮ่าๆๆ
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 13:25

 ขอต่อจาก #152 ครับ


การอ่านฉันท์ให้ไพเราะและถูกต้องนั้น  ก็ต้องอ่านให้เป็น คำครุและลหุ จริงๆ

คือถ้าหากคำครุ ไปอยู่ในตำแหน่งบังคับลหุ แล้วละก็ ให้อ่านเป็นคำลหุ ไม่อ่านเป็น ครุ

เช่น
ศิษย์ ปกติ อ่านว่า สิด
แต่ถ้าไปอยู่ในตำแหน่งลหุ ให้อ่านว่า สิ –สะ (ศิ-ษย์)

สุข (สุก) อ่านว่า สุ – ขะ

ดุจ(ดุด) อ่านว่า ดุ – จะ

สุขสันต์ (สุก - สัน) อ่านว่า สุ - ขะ -สัน

มีชื่อดารา – ดีเจ ชื่อดังท่านหนึ่ง ท่าทางชื่อของเขาจะไปถูกโฉลกกันคำลหุ ไม่ก็ไปตรงกับตำแหน่งบังคับ ลหุ เข้าพอดี
จากชื่อ สมพล (สม – พน) ก็เลยอ่านว่า สะ – มะ- พน
??

ฯลฯ

ขอให้สนุกกับฉันท์นะครับ
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 18:12

 จาก #142 ผิดบังคับ ครุ ลหุไปพยางค์หนึ่ง

....... เพ่งพิศประดิษฐ์ฉันท์ ........ ก็จะดั้นประดิษฐ์ให้
ลางคราวหทัย ........................ ระริกด้วยอิสตรี
....... ด้วยฤทธิฮอร์โมน .............. สติโผนผละอินทรีย์
ร้อนเร่าฤทัยมี ........................... ประดิพัทธกลัดใน

ขอแก้คำ หฤทัย เป็น ฤทัยไหว

....... เพ่งพิศประดิษฐ์ฉันท์ ........ ก็จะดั้นประดิษฐ์ให้
ลางคราวฤทัยไหว ..................... ระริกด้วยอิสตรี
....... ด้วยฤทธิฮอร์โมน .............. สติโผนผละอินทรีย์
ร้อนเร่าฤทัยมี ........................... ประดิพัทธกลัดใน

แผงผังได้เอามาลงเพื่อลุแก่โทษไปล่วงหน้าแล้ว
ถ้าเห็นที่ผิดก็ทักท้วงมาอีกนะครับ
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 19:59

 ด้วยความเคารพ
ถ้าอย่างนั้นขออนุญาตทักท้วง(ทันควัน) อีกสักนิดนะครับ แฮ่ะๆ จะได้สมบูรณ์แบบ

ต่อจากวรรคนี้เลยครับ "..ลางคราวฤทัยไหว .."
คือ "..ระริกด้วยอิสตรี.." ครับ

ริก และ อิส- ครับผม
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 16 ส.ค. 06, 21:41

 โอ้ย แยะจัง ขอบคุณหมู ฯ ตาคมที่ชี้แนะ
อ่อนซ้อมก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
จะซ้อมฉันท์บ่อยก็อาจต้องเปลี่ยนอาชีพจากครูฟิสิกส์

ตกไม้หันอากาศไปอีกตัวเดียวเอง

....... เพ่งพิศประดิษฐ์ฉันท์ ........ ก็จะดั้นประดิษฐ์ให้
ลางคราวฤทัยไหว ..................... ระริกด้วยอิสัตรี
....... ด้วยฤทธิฮอร์โมน .............. สติโผนผละอินทรีย์
ร้อนเร่าฤทัยมี ........................... ประดิพัทธกลัดใน

ผมว่า ผมแต่งผิด ๆ ถูก ๆ ก็อาจจะดี
เผื่อคนที่อยากแต่ง จด ๆ จ้อง ๆ จะได้กล้างแต่งบ้าง
แต่อย่างเพิ่งไปกระเซ้าเขาแรงนักล่ะ จะท้อเสียหมด

ผมเรียนฟิสิกส์ ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกันคือ
ลุยทำดะไปเรื่อย
ถูกก็ดี
ผิดก็ค่อยแก้เอา
บางคนที่มัวแต่กลัวจะทำผิด ก็ไม่ได้ทำเสียที
คอยแต่ลอกคีย์ แล้วก็เจอคีย์ผิด(แบบว่าผมเป็นต้นฉบับไง   )
บันทึกการเข้า
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 13:06

 สมาชิกของทางชมรมฯส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครทำงานสายตรงกับกาพย์กับกลอนเลย ที่เป็นครูอาจารย์ก็ไม่ได้สอนวิชาภาษาไทย ที่เรียนหนังสือก็ไม่มีใครเรียนเอกภาษาไทยเลย อาศัยเพียงความรักความสนใจในศิลปร้อยกรองของไทยเท่านั้น

นับเป็นเรื่องน่ายินดีครับ หากเราจะรักและอนุรักษ์สิ่งดีงามของบรรพบุรุษเหล่านี้ไว้สืบไป รวมทั้งชักชวนเชิญชวน และปลูกฝังให้ น้องๆ เด็กๆรุ่นหลังๆมารัก , อนุรักษ์เช่นเราและบรรพชนไว้

ก่อนหน้านี้(หมายถึงในช่วงปีนี้ไม่รวมปีก่อนๆ) คุณจิตแผ้วเอากลอนมาโพสไว้ ผมนึกสนุกจึงเข้ามาเสริม หลายๆท่านก็ทยอยมาสมทบ ขาประจำบ้างขาจรบ้าง หายหน้าไปแล้วบ้าง มีสมาชิกใหม่เข้ามาบ้าง คุณอาชาฯเองพึ่งก็ แย็บๆ เข้ามาบ้างเมื่อไม่นานมานี้ เห็นว่าแต่งได้ไพเราะและแหวกแนว(?) จึงเรียนเชิญมาสถิตอยู่ในกระทู้ซะ

ตอนนี้คุณท่านก็เป็นขาประจำไปเสียแล้ว    

สนุกดีนะครับว่าไหม คนหนึ่งขึ้นกลอน อีกสองอีกสามตาม
คนหนึ่งเปิดประเด็น และใส่เนื้อหาเรื่องใดๆ คนที่เหลือก็ช่วยกันตามประเด็น

บางคนเอาโคลงมาโพส ท่านทีแต่งเป็นก็แจม ที่ไม่เป็น ไม่คล่องก็หัด (นึกถึงคุณตะวันน้อยเหลือเกิน)

ไม่มีใครเป็นร้องกรอง หรือชำนาญฉันทลักษณ์ เสียทุกอย่างทำให้เรามีเรื่องสนุก เรื่องชวนหัวและยิ้มแย้มออกมาได้เสมอๆ


ทีนี้คุณจิตแผ้วเจ้าประจำหายไป ก็กลายเป็นหมูและอ.นิรันดร์ ที่นั่งหาวเฝ้ากระทู้กัน2คน ไม่มีอะไรทำก็แซวกันเอง หยอกกันเองสนุกสนานตามเรื่องตามราว อ๋อ..มีคุณอาชาฯอีกท่านหนึ่ง

คุณจิตฯ เป็น อ.สอน อังกฤษ
อ.นิรันดร์ เป็น อ.สอน วิทย์
คุณMathGuyเป็น อ.สอนคณิต
หมูน้อยเป็นนักวิจัย (วิจัยฝุ่น)
คุณอาชาฯเป็น ..เออ..ไม่ทราบแฮะ
คุณศรีฯ เป็น นักศึกษา
ฯลฯ
หลายๆท่าน แม้ทำงานไม่เกี่ยวกับกาพย์กลอน แม้ว่าจะไม่เก่งกาจเหมือนสมาชิกเว็บกลอนเว็บต่างๆ แต่ด้วยความรักในศิลปร้อยกรอง เราจึงมารวมตัวกันตรงนี้ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นครูเป็นศิษย์ เป็นมิตรสหายกัน


แล้วท่านที่อ่านผ่านเข้ามาละครับ ไม่คิดจะ มาร่วมเป็นสมาชิก ร่วมรักและรักษ์ ศิลปะเหล่านี้กับพวกเราบ้างฤครับ
 

.
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 13:49

 

อาชาเพียงลากรั้ง   รถไป
สารถีคือจิตใจ     กำหนดรู้
จะไปทิศทางใด    เพียงสั่ง
จะเผ่นร้อยเส้นสู้    บ่ยั้งตีนเลย

 
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
นิรันดร์
องคต
*****
ตอบ: 522


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 14:28

 แก้แล้ว ยังมีผิดอีกจนได้

ระริก เป็น ลหุ ครุ ผิดฉันทลักษณ์ ที่ต้องเป็น ลหุ ลหุ
คุณหมูฯเป็นคนพบแล้วแจ้งมาทาง SMS

ผมผิดจริง ช่วยบอกกัน ไม่โกรธเคืองหรอกครับ
เพราะไม่ได้พูดให้ผมเสียหายอะไร
แล้วผมก็เป็นประเภทดันทุรัง จะทำก็จะทำ

อยากให้คนที่คิดแต่งฉันทลักษณ์ คิดแบบนี้
สักพักก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น
แล้วถ้าพยายามต่อไปเรื่อย ๆ ก็ต้องเก่งสักวันจนได้  

ระหว่างภาคเรียน กลุ่มนักการศึกษาก็จะบางตาไปหน่อย เป็นธรรมชาติครับ

คุยเสียแยะ ขอแก้การบ้านที่ทำผิดไว้หน่อย

....... เพ่งพิศประดิษฐ์ฉันท์ ........ ก็จะดั้นประดิษฐ์ให้
ลางคราวฤทัยไหว ..................... เพราะพะพานอิสัตรี
....... ด้วยฤทธิฮอร์โมน .............. สติโผนผละอินทรีย์
ร้อนเร่าฤทัยมี ........................... ประดิพัทธกลัดใน

แต่งฉันท์นี่ รู้สึกจะยากกว่าคำพันธ์อื่น
ด้วยบังคับเป๊ะทุกพยางค์ที่ออกเสียงเลยทีเดียว

ผมอ่าน"สามัคคีเภท"ของท่าน"ชิต บูรทัต"เป็นแบบ หัดแต่งเล่นสมัยเป็นวัยรุ่น
ตอนนี้ เป็นรุ่นแง้มฝาโลง ก็ยังพลาดอีกแยะ
ถ้าเขาตอกฝาโลงแล้ว ห้ามคุณหมู ฯ มาทักนะ เพราะมั่นใจได้ ผมจะกลับมาแก้แน่ ๆ    
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 16:16

 ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ

ฉันท์เป็นฉันทลักษณ์ที่ยากจริงๆครับ สาเหตุหลักคือธรรมชาติของภาษาไทยไม่เหมาะกับฉันท์

ภาษาแขกไม่มีวรรณยุกต์ ธรรมชาติของภาษามีเสียงครุลหุอยู่มาก เมื่อไทยยืมมาก็กลายเป็นว่าต้องยืมคำแขกมาใช้ด้วย ไม่อย่างนั้นจะแต่งให้ตลอดรอดฝั่งได้ยาก

ฉันท์นั้นเน้นจังหวะ จังหวะการอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เสียงครุไม่ค่อยจะเป็นปัญหา เพราะว่าภาษาไทยออกเสียงคำโดดอยู่แล้ว เสียงสั้นหลายเสียงเราออกเสียงเป็นเสียงหนักได้สบาย ดูอย่างเวลาแต่งฉันทลักษณ์อื่นที่ไม่บังคับครุลหุ เราจะหยิบยืมคำสองพยางค์บางคำมาใช้เป็นหนึ่งคำบ่อยๆ อย่างระลึกจะให้ออกเสียงเป็นสองพยางค์ชัดว่า ระ-ลึก หรือรวบไปเน้นที่ ลึก(บางทีถึงกับเขียนว่า รฤก) อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนเสียงลหุจริงๆนั้นหายากในภาษาไทย คำไทยโดยธรรมชาติเป็นคำโดด เสียงบางคำถึงจะสั้นก็สั้นแบบหนัก มันก็เป็นครุอยู่ดี หากจะให้อ่านได้ราบรื่นแบบฉันท์จริงๆแล้ว ยังต้องระวังคำควบกล้ำซึ่งธรรมชาติจะออกเสียงหนักแม้จะมีรูปสระเสียงสั้นก็ตาม อย่าง ประดิษฐ์ จะออกเสียง ประ ให้เป็นเสียงเบานั้นยากแท้ จะหลบเลี่ยงก็ต้องออกเสียงเป็น ปะ แทน บางทีจะเห็นใช้ในรูปว่า ปดิษฐ์ ซึ่งนอกจากจะไม่ผิดกติกาแล้วยังคุ้นๆว่าตรงกับรากคำมากกว่าอีกครับ

ส่วนคำที่ไม่ใช่คำแขกอย่าง ผละ อันนี้ไปไม่เป็นเหมือนกันครับ ออกเสียงเบายาก และนึกไม่ออกว่าจะใช้คำไหนแทน

หรืออย่าง ก็ รูปสั้น แต่เสียง ก้อ เป็นเสียงยาว อย่างนี้ก็ลำบากเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วเจตนาของฉันทลักษณ์ผมยังเชื่อว่ามีความสำคัญมากกว่ารูป เพราะการแบบแผนเหล่านี้ ล้วนมีเจตนาเพื่อกำหนดจังหวะและท่วงทำนอง

ลองเทียบดูกับวิชชุมาลาฉันท์ก็ได้ครับ บังคับครุหมด วรรคละ 4 คำ บทละ 4 วรรค
1111 1111
1111 1111

พอมาอ่านอินทรวิเชียรฉันท์อีกที
11011 001011
11011 001011

จะรู้สึกเหมือนวิชชุมาลาที่เติมเขบ็ตเข้าไปชั้นหนึ่ง

ดนตรีแท้ๆเลยนะครับ

สุดท้ายเชื่อหูดีกว่าดูรูปครับ

ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หมูน้อยในกะลา
พาลี
****
ตอบ: 392

อะแฮ่ม!!


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 17 ส.ค. 06, 17:34

 
 
 ถึงเรามีร่างเพี้ยง           เพียงหมู
ขอมุ่งตามใจดู                ดั่งม้า
อาชาช่ำชองลู่                โลดแล่น
เรายิ่งมิรอช้า                  วิ่งห้อหวดตาม ฯ




ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับคุณม้าฯครับ

อาจมีเสริมด้วยเล็กน้อย ก็เช่นเรื่อง กลบท ครับ

บางที ใส่กลบท ไปทำให้บทกวี ยากขึ้น แต่ดูดี ดูมีศิลปะในการใช้คำและความหมายลึกซึ้งมากขึ้น แสดงถึงภูมิปัญญาและความคิด ของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี
แต่บางที การใส่กลบท ก็สามารถทำให้ความไพเราะของบทกวีลดลงแทนที่จะเพราะขึ้น กลับแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

ผมไม่ได้หมายถึงทุกบทกลอนกวี ที่ใส่กลบทลงไป แต่ผมพูดถึงการนำมาใช้ ถ้าใช้เป็นและถูกต้อง (หรือบางครั้งอาจไม่ถูกต้อง) ก็เป็นผลบวก
ถ้าใช้ไม่ถูกหรือขณะที่ไม่น่าจะใช้ ผลที่ออกมาก็ตรงข้าม

หรือท่านอื่นเห็นว่าอย่างไรครับ  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 18
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง