เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7264 บางตอนจาก สี่แผ่นดิน
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


 เมื่อ 27 มี.ค. 06, 09:44

 วีทีมครับ ถ้าเห็นว่ากระทู้ของผมนี้ล่อแหลม โปรดลบได้เต็มที่ ผมเชื่อในวิจารณญาณของทีมงาน

ที่ต้องขึ้นไว้อย่างนั้น เพราะกำลังจะพูดเรื่องที่เกี่ยวๆ กันหน่อยกับการเมือง คือผลกระทบจากมัน แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองเอง (เพราะผมก็เห็นด้วยกับกติกาข้อนั้นของวิชาการดอทคอม) สถานการณ์การเมืองไทยข้างนอกเว็บของเรากำลังอึมครึม อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว และอย่างที่ได้ยินกันเรื่อยๆ อยู่แล้วเหมือนกันก็คือ มีความแตกต่างกันทางความคิดเกิดขึ้นทั่วๆ ไป ในสังคม ในวงงาน ในครอบครัวหลายครอบครัว

ที่ทำงานผมก็มี แต่ท่านผู้ใหญ่ในระดับข้าราชการประจำระดับสูงท่านหนึ่งใช้คำว่า แตกต่างทางความคิดได้ แต่ขออย่าให้แตกแยก

เมื่อเจอเรื่องวุ่นๆ สมัยปัจจุบันมากเข้าจนผมชักจะเกิดอาการเครียดทางการเมือง PSS อย่างที่กรมสุขภาพจิตเขาบอกเมื่อหลายวันก่อน ผมก็เลยพยายามแก้ PSS โดยหนีไปหาหนังสืออ่าน ไปเจอเรื่องคล้ายๆ กันนี้ในสีแผ่นดิน ของอาจารย์คึกฤทะ เลยขอชวนเพื่อนสมาชิกหนีโลกปัจจุบันชั่วคราว ไปเยี่ยมแม่พลอยสมัยโน้นกันครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 09:47

 (พ.ศ. 2475 แผ่นดินที่สาม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนกรณีกบฏบวรเดชไม่นานนัก)
...อีกครู่หนึ่งตาอ๊อดก็เข้ามาคุกเข่าอยู่ตรงหน้า เอามือโอบหัวเข่าพลอยไว้แล้วพูดว่า “ทูนหัวของลูก ตั้งแต่นี้ไป แม่จะต้องทำใจให้แข็งไว้เสมอ ปล่อยให้ใจอ่อนไม่ได้เป็นอันขาด”

“ทำไมอ๊อด? ” พลอยถามเบาๆ

“เพราะเรื่องราวที่จะเกิดในครอบครัวเราก็ดี เกิดขึ้นในบ้านเมืองก็ดี จะมีสิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยรู้จักเข้ามาแทรกแซง ทำให้เกิดปัญหา เกิดความผิดพ้องหมองใจ เกิดความไม่แน่นอนใจ ถ้าคนใจไม่แข็งแล้วจะอยู่ไม่ได้” ตาอ๊อดตอบช้าๆ เหมือนกับพยายามจะอธิบาย

“แม่ไม่เข้าใจ...อ๊อด” พลอยพูดงงๆ “อะไรจะมาแทรกแซง อะไรจะมาทำให้ต้องผิดพ้องหมองใจกันแม้แต่ในครอบครัวเรา ซึ่งเคยแต่รักกัน?”

“การเมือง” ตาอ๊อดตอบสั้นๆ แล้วก็เอามืออันเย็นเฉียบของพลอยไปทาบไว้ที่แก้มของตน
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 09:47

 “แม่ไม่เข้าใจเลย” พลอยพูดเหมือนรำพึงกับตัวเองมากกว่าพูดกับคนอื่น “ไม่เข้าใจเลยจริงๆ เรามีอยู่ด้วยกันไม่กี่คน... อ้น อั้น อ๊อด ประไพ ... สี่คนเท่านั้นพี่น้องกัน รักกันมาตลอด กลมเกลียวกันมาแต่ไหนแต่ไร แล้วอยู่ๆ ก็มีอะไรเกิดขึ้น? มีอะไรเข้ามาทำให้ต้องแตกแยก ถึงต้องโกรธกันอย่างเมื่อกี้? อ๊อดบอกแม่ว่ามีของใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง... อ๊อดเรียกว่าการเมือง อะไรกันการเมือง? แม่ไม่รู้จัก อ๊อดต้องช่วยสอนแม่บ้าง...”

พลอยยกมือขึ้นลูบหน้าผากของตนเอง เหมือนกับจะปัดความมืดมนต่างๆ ให้หมดสิ้นไป แล้วพูดเบาๆ ต่อไปว่า “แม่แก่เต็มที อ๊อด ... แก่เกินไป! ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันที่ไหน อ๊อดต้องคอยบอกแม่ แม่จะได้ทำตัวให้ถูก เล่าให้แม่ฟังทีเถิด ว่าการเมืองเป็นอย่างไร เขาทำกันอย่างไร?”

“พูดยากเหลือเกินทูนหัวของลูก” ตาอ๊อดพูดเบาๆ เหมือนกับรำพึงกับตัวเองเช่นเดียวกัน ”ลูกก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรถูกเหมือนกัน แต่ก่อนนี้เมืองไทยเราไม่มีการเมือง ทุกคนก็ได้แต่ตั้งหน้าทำงานโดยเฉพาะของตน ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ความคิดความเห็นที่จะมี ก็มีแต่เพียงในกรอบของการงาน อย่างพี่อ้นนั้น แต่ก่อนถ้าจะนึกอะไรก็นึกถึงเรื่องทหาร พี่อั้นก็นึกถึงแต่เรื่องกฎหมาย ทั้งสองคนไม่มีวันที่จะขัดกันได้ เพราะทางที่จะใช้ความคิดเห็นนั้นเป็นคนละแนวกัน แต่เดี๋ยวนี้ ทั้งพี่อั้นและพี่อ้น มีทางที่จะใช้ความคิดเห็นกว้างขวางกว่าแต่ก่อนมาก คือ ใช้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองได้ เมื่อทั้งสองคนใช้ความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน มิใช่คนละแนวอย่างแต่ก่อน ถ้าความคิดนั้นตรงกันก็ดี ถ้าไม่ตรงกันก็เกิดเรื่อง อย่างที่แม่ได้เห็นแล้ว
ถ้าจะให้ลูกบอกให้รวบรัดได้ความว่า การเมืองคืออะไร ลูกก็บอกไม่ถูกเพราะการเมืองเป็นของกว้างขวางเสียเกินที่จะรวบรัดให้เข้ามาอยู่ในขอบของถ้อยคำเพียงสองสามคำได้ ลูกบอกได้แต่ว่าถ้าจะพูดในทางดี การเมืองก็ทำให้คนได้มีความคิดความเห็นกว้างขวาง ทำให้คนได้มีจิตใจสูง มานะบากบั่น อดทนต่อความทุกข์ และเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตนเห็นว่าถูก การเมืองจะทำให้ตนได้พอใจว่า ตนได้เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด ทำให้รู้สึกว่าตนได้เกิดมาเป็นคนโดยสมบูรณ์เป็นนายตัวเอง บังคับตัวเอง ไม่มีเจ้านายอื่นมาคอยบังคับ มองทางด้านดี การเมืองก็เป็นของที่ดีหนักดีหนา
แต่ถ้าจะมองทางแง่ร้าย การเมืองก็น่ากลัวอยู่ เพราะการเมืองทำให้คนต้องรบราฆ่าฟันกัน ทำให้พ่อทะเลาะกับลูก ผัววิวาทกับเมีย พี่ทะเลาะกับน้อง การเมืองทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างคนกับคน อาจทำให้เกิดบาดหมาง อาฆาตพยาบาทกันไปตลอดชีวิต บางเวลาการเมืองก็หามิตรให้ได้มาก แต่บางครั้ง การเมืองก็อาจทำให้เราต้องเสียมิตรไปจนหมด ตลอดจนทำให้ต้องเสียทรัพย์สมบัติ ติดคุกติดตะราง และเสียแม้แต่ชีวิต”

“ก็เมื่อรู้อยู่ว่าไม่ดีแล้วเขาไปหามาใส่บ้านใส่เมืองทำไม?” พลอยถามอย่างสงสัย

“ถึงคราวที่มันจะมา มันก็มาของมันเอง ไม่มีใครหาและไม่มีใครห้ามได้” ตาอ๊อดตอบแล้วก็ถอนใจใหญ่ “บ้านเมืองก็เหมือนคน ต้องเติบโตเปลี่ยนแปลงไป”...
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 09:49

 (แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้แสดงว่า คนไทยก็ยังเป็นคนไทยชอบสนุกอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการเมืองเข้ามาในเมืองไทย เห็นได้จากบทสนทนาระหว่างตาอั้น ผู้ร่วมคณะผู้ก่อการ กับตาอ๊อด – ผู้ไม่ได้ร่วมคณะอะไรทั้งนั้น - ที่พูดถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคนไทยอย่างยิ่ง คือพ่อเพิ่ม หรือคุณลุงเพิ่มของทั้งสอง โดยพลอยซึ่งเป็นแม่และเป็นน้องสาวของพ่อเพิ่มได้แต่นั่งฟังลูกๆ คุยกัน)

   ... “อ๊อดก็ไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่สักที เวลานี้กำลังมีเรื่องยุ่งๆ อ๊อดก็เห็นเป็นสนุกไปได้ อ๊อดควรจะช่วยเตือนคุณลุงให้เบาๆ ปากคอเสียหน่อย ไม่อย่างนั้นจะลำบากทีหลัง”

    ตาอ๊อดยังหัวเราะอยู่ แต่บอกว่า “อ๊อดก็เคยเตือนมาแล้วแต่คุณลุงก็ไม่ฟัง พี่อั้นบอกอย่างนี้ก็จะเตือนให้อีกทีหนึ่ง แต่ไม่กล้ารับรองอะไรทั้งนั้น เพราะตั้งแต่เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพกันมานี่ คุณลุงบอกว่า เลิกเล่นหมดแล้วพวกนกเขา ไม้ดัดและบอน โกรต๋น อะไรต่ออะไรที่เคยเล่นมาก่อน เพราะมีของเล่นใหม่”

   “เล่นอะไรอ๊อด?” พลอยถามเพราะคุ้นเคยกับของเล่นต่างๆ ของพ่อเพิ่มดี เมื่อได้ยินว่าพ่อเพิ่มได้ของเล่นใหม่ก็อยากจะรู้

   “คุณลุงบอกว่า เล่น การเมือง” ตาอ๊อดพูดแล้วก็หัวเราะต่อไปอย่างขบขัน

   “ฮืมม์!” ตาอั้นร้องเบาๆ

   “อนิจจังทุกขัง!” พลอยร้องขึ้นพร้อมๆ กัน ...
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 09:55

 ผมยังสงสัยอยู่หน่อยที่อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเขียนให้ตาอ๊อดเห็นว่า การเมืองเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยเอาเมื่อปี 2475 ก่อนนั้นไม่มีสิ่งที่ตาอ๊อดเห็นว่าเป็นการเมืองอยู่ในเมืองไทย

ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ผมออกจะไม่เห็นด้วย เพราะตั้งแต่มนุษย์รวมตัวกันเข้าเป็นสังคม ก็มี "การเมือง" แล้ว (อันนี้ขึ้นอยู่กับนิยามว่าอะไรคือการเมืองด้วย) ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าเผ่าไทมาจากภูเขาอัลไต ก็ต้องเชื่อว่าสังคมไทมีการเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยอยู่ภูเขาอัลไต สมัยน่านเจ้า สมัยอะไรๆ ก็มีหมด หรือถ้าเราไม่เชื่อว่าคนไทยมาจากอัลไต เช่นที่ถือกันว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน ก็ต้องเชื่อเหมือนกันว่าสังคมไทยซึ่งอาจจะอยู่มาตั้งแต่บ้านเชียงก็ได้ ก็มีการเมืองเหมือนกัน

ผมไม่รู้ว่าคนไทยมาจากไหน ได้ยินแต่ทฤษฎีหลายเรื่อง แต่ที่ผมจะพูดคือไม่ว่าคนไทยจะมาจากตรงไหน สังคมไทยก็มี "การเมือง" มาตั้งแต่สมัยคนไทยอยู่ตรงนั้นแล้ว
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:05

 สิ่งที่ตาอ๊อดอาจจะหมายถึงนั้น คงจะเป็น การเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือ participatory politics ซึ่งจะว่าเข้ามาในเมืองไทยตอน 2475 ก็พอจะได้ อาจถือได้ว่าก่อนหน้านั้นการเมืองหรือการบริหารจัดการบ้านเมือง รวมไปถึงการแก่งแย่งกันทางการเมืองด้วย เป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว ไพร่บ้านพลเมืองคนสามัญฝุ่นเมืองทั้งหลายไม่เกี่ยว ไม่ว่าเจ้าคุณกลาโหมท่านจะลุกขึ้นสำเร็จโทษขุนหลวงองค์เก่าแล้วตั้งตัวเป็นขุนหลวงองค์ใหม่ ก็ไม่เกี่ยวกับไพร่ฟ้าประชาชีเท่าไรนัก

ถึง พ.ศ. 2475 และต่อลงมา นักเรียนนอก (วิชากฏหมาย) อย่างตาอั้นและนายทหารอย่างตาอ้น อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้บ้าง แต่เชื่อว่าประชาชนธรรมดาทั่วไปในต่างจังหวัดก็อาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองมากนักอยู่ดี เว้นแต่ร่วมเป็นเรื่องสนุกอย่างพ่อเพิ่ม (แม้แต่พลอยด้วยก็ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างลูกๆ)
บันทึกการเข้า
บัวอื่น
อสุรผัด
*
ตอบ: 39


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:08

 รับไผ่แดงอีกเล่มมั๊ยคะคุณนิลกังขา ความขัดแย้งไม่ว่าจะจากไอ้แกว่น แก่นกำจร สมภารกร่าง หรือกำนัล อ่านแล้วอารมณ์ดีดีนะคุณ ฮึฮึ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:10

 ค่ะ ใช่ ไผ่แดง อ่านแล้วอารมณ์ดีจริงอย่างว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
B
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 148


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:34

 อ่านถึงตอนที่ตาอ๊อดพูดว่า "แต่ก่อนนี้เมืองไทยเราไม่มีการเมือง" ก็ตั้งใจว่าจะเข้ามาเขียนเหมือนกันค่ะว่า ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจและทรัพยากร ดังนั้นเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นสังคม นั่นย่อมหมายความว่ามีการมืองเกิดขึ้นแล้ว

แต่ถ้าพูดถึงการเมืองของไทย (หรือสยาม) ในระดับชาติที่เกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและการจัดสรรทรัพยากร อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านอาจตีความว่า ก่อนปี 2475 อำนาจตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆคือพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ชนชั้นปกครองหรือ elite เท่านั้นมังคะ เป็นการเมือง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นการเมืองนั่นแหละ แต่เป็นเป็นการเมืองแบบจำกัดกลุ่มคน พลเมืองทั่วๆไป ไม่มีสิทธิมีเสียง ที่จะก่อให้เกิดผลใดๆต่อการใช้อำนาจและการจัดสรรทรัพยากร  ไม่มีระบบการตรวจสอบ การถอดถอน ผู้กุมอำนาจแบบล่างขึ้นบน

ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (regime transition) เป็นระบบประชาธิปไตย อันนำมาซึ่งระบบการเลือกตั้งโดยการเลือกตั้งตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา ท่านก็เลยตีความว่ามีการเมืองเกิดขึ้น
บันทึกการเข้า
B
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 148


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:35

 โพสต์ไปแล้วถึงได้เห็นความเห็นที่ 5 นะคะ
บันทึกการเข้า
B
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 148


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 10:59

 อ่านสี่แผ่นดินแล้วมีความรู้สึกว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเป็นตัวแทนกลุ่มผู้มีอำนาจเก่า หรือชนชั้นศักดินา ท่าน ยืม ตัวละครของท่านพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายๆครั้ง และคงไม่ได้เป็นการพูดในทางลบต่อท่านผู้เขียนซึ่งดิฉันก็เช่นเดียวกับคนอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นแฟนงานเขียนของท่านนะคะ ถ้าดิฉันจะขอวิจารณ์ว่าท่านโหยหาอดีตอันรุ่งเรืองของชนชั้นของท่าน ผ่านความรู้สึกนึกคิดของแม่พลอย

แต่ก็ว่าไม่ได้ ดิฉันมาอ่าน สี่แผ่นดิน หลังจากท่านเขียนนิยายเรื่องนี้ไปแล้วหลายทศวรรษ ดังนั้นบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ย่อมแตกต่างกัน

อยากจะเขียนมากกว่านี้ แต่ไม่มีหนังสืออยู่ในมือ เกรงว่าจะจำอะไรคลาดเคลื่อนไปบ้าง เลยไม่พูดดีกว่าค่ะ

แต่สี่แผ่นดินและผลงานหลายๆเล่มของท่านที่มีที่บ้านกรุงเทพฯ เป็นหนังสือที่หยิบมาอ่านบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กๆค่ะ
บันทึกการเข้า
Karine!!
ชมพูพาน
***
ตอบ: 130

กำลังค้นหาทางสว่างของชีวิต


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 12:28

 อย่างไรการเมืองไทย ก็คือการเมืองไทย...แม้จะต่างการณ์ต่างยุคต่างสมัย ก็ยังคงมีวิธีที่ไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก และก็ยังคงมีคนที่เห็นการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมือง และการเมืองเป็นเรื่องของการเล่นอยู่เสมอ!!
บันทึกการเข้า

การศึกษาก้าวไกล ประเทศไทยรุ่งเรือง (แต่ตอนนี้ตูรุ่งริ่งชอบกล)
B
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 148


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 12:56

 กลับมาอ่านแล้วเพิ่งเห็นว่าพิมพ์ตกหล่น ขอเพิ่มเติมนะคะ

.....ก่อนปี 2475 อำนาจตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆคือพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ชนชั้นปกครองหรือ elite เท่านั้นมังคะ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการเมือง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นการเมืองนั่นแหละ แต่เป็นการเมืองแบบจำกัดกลุ่มคน คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่นอกวงนี้หรือถูก exclude ไป.....
บันทึกการเข้า
ศรีปิงเวียง
องคต
*****
ตอบ: 566

เรียนจบแล้ว


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 มี.ค. 06, 16:30

 ขออนุญาตโพสต์ข้อความตอนหนึ่งครับ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือเปล่า
"ในตอนเกิดสงครามโลก ค.ศ. 1939 มาแล้วนี้ พระองค์อาทิตย์ฯ จึงแลเห็นความยากในการเป็นคนใหญ่คนโต ถึงตรัสปรับทุกข์กับหญิงพิลัยเมื่อมาเฝ้าเสด็จพ่อว่า - หม่อมฉันสวดมนต์ไหว้พระทุกคืน,ขออย่าให้ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกเลยทีเดียว !-และก็เลยไปแต่งและซ้อมละคอนเล่นกับพระยาอนิรุทธฯ อยู่เรื่อยๆ "

คัดมาจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2542 หน้า 112
เรื่อง สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ตอน รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและสิ้นพระชนม์

ป.ล. บทนิพนธ์ในหม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุลครับ
หญิงพิลัย คือ ม.จ.พิลัยเลขา ดิศกุล
พระยาอนิรุทธฯ คือ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)
เสด็จพ่อ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
บันทึกการเข้า

ไม่เห็นใครแน่นอน
หยดน้ำ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 146

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 มี.ค. 06, 07:34

 ิอยากให้คุณ  B  เห็นอีกทัศนะหนึ่งเกี่ยวแนวคิดทางการเมืองของ  ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์  ปราโมชครับ


"...มักเชื่อกันว่า  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นผู้มีจิตวิญญาณเป็นพวกกษัตริย์นิยมอย่างแท้จริง  แต่จากผลงานของ  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เองแสดงให้เห็นว่า  ก่อนหน้า พ.ศ. 2494  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยโจมตีชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็น  "สังคโลกร้าวชำรุด"  ซึ่งมีแต่ความเห็นที่ตายตัว  เปลี่ยนแปลงไม่ได้"  เต็มไปด้วย  "ความเห็นแก่ตัว"  มี  "ความประมาท...  ความหลงระเริง...มีขัตติยะไปในทางที่ดื้อดึงแปลกประหลาดกว่าคนธรรมดาสามัญ...  ทรงอ่อนแอป้อแป้...  ยังดำรงฐานะความเป็นขัตติยะไว้ได้  เพราะคนไทยส่วนมากยังรักที่จะมีศาลพระภูมิ"  นอกจากนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังแสดงความไม่พอใจที่ถูก  "กาหน้า"  ว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม  พร้อมกับโจมตีนักการเมืองบางคน  ว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม  ขณะเดียวกันก็ได้แสดงความความคิดเห็นสนับสนุนจอมพล  ป.  และพลเอกเผ่าศรียานนท์  อยู่เสมอ..."


"...ใน พ.ศ. 2494  ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้  ม.ร.ว  คึกฤทธิ์ตัดสินใจเป็น  "พวกกษัตริย์นิยม"  อย่างเต็มที่  และพยายามทำให้  "อุดมการณ์กษัตริย์นิยม"  มีพลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ  ที่สำคัญก็คือ  การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  9  เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวร  และการที่พรรคประชาธิปัตย์  (ซึ่งกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของ  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ตั้งแต่ปลายปี  พ.ศ. 2491)  สูญเสียอำนาจและอิทธิพลที่เคยมีอยู่ในรัฐสภา  เนื่องจากมีการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน  2494  ในสถานการณ์เช่นนี้   พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรอีกแล้วจากการที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีพลังแข็งแกร่งขึ้น  แต่ ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์เองจะได้ประโยชน์โดยตรง  เพราะสามารถอิงตัวเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์  และยกระดับตนเองจาก  "เจ้าหางแถว"  ให้กลายเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง  ซึ่งทุกฝ่ายรับรู้ว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมราชสำนัก  ที่เป็นแบบแผนอันดีเลิศของความเป็นไทยในทุกด้าน..."


"...นับตั้งแต่กลางทศวรรษ  2490  ซึ่งเขียนสี่แผ่นดินเป็นต้นมา  ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรื้อฟื้นอุดมการณ์  "กษัตริย์นิยม"  โดยทำให้คนไทยเห็นว่า  สถาบันและองค์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันและบุคคลที่ขาดไม่ได้ของ  "ชาติไทย"  ..."  (สายชล  สัตยานุรักษ์  :  ภาควิชาประวัติศาสตร์  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทบยาลัยเชียงใหม่  ตีพิมพ์ในนิตยสาร  "ฟ้าเดียวกัน")
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง