เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 73359 ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 07:37

 หลักการเรื่องการถวายตัวทำราชการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้นั้นโบราณถือว่าต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำราชการ

สมัยโบร่ำโบราณก่อนปฏิรูประบบราชการในรัชกาลที่ ๕ นั้น การปฏิบัติราชการก็อยู่ในวงแคบ ส่วนมากจะอยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น การรับราชการก็เท่ากับว่าได้ถวายตัวรับใช้การของพระราชา

พิธีกรรมการถวายตัวที่เคร่งครัดสักหน่อยก็เฉพาะการเป็นข้าราชสำนัก โดยเฉพาะเหล่ามหาดเล็ก (สมัยก่อนการเริ่มรับราชการก็เริ่มด้วยการเป็นข้าราชสำนักหรือการเป็นมหาดเล็กแทบทั้งสิ้น จนอาจจะเรียกได้ว่าข้าราชสำนักกับข้าราชการสมัยก่อนนั้นแยกกันแทบไม่ออก เพราะราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ขึ้นกับราชสำนักเป็นหลัก)

ส่วนพิธีการถวายตัวก็คือการเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน (แพ-โบราณเรียกเพียงดอกไม้ธูปเทียน..ไม่ต้อง "แพ") นั่นแหละครับ

สมัยปัจจุบันนี้ จะใช้หลักเกณฑ์ใดมานิยามคำว่า "ทำราชการ" ตามบริบทอย่างโบราณคงยากอยู่ครับ

ท่านใดมีความเห็นอย่างไร ช่วยกันอภิปรายด้วยเถิดครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 07:51

 เรื่องอภิสิทธิ์ของราชนิกุลและราชินิกุลที่รับราชการในปัจจุบันนั้น ผมยังนึกที่เป็นรูปธรรมในยามที่คนเหล่านั้นยังมีชีวิตไม่ออก

จะนึกออกก็เกียรติยศพิเศษเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว!  

คือเรื่องหีบโกศบรรดาศักดิ์

ตามเกณฑ์ปกติ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย, ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ หรือทุติยจุลจอมเกล้า นั้น จะได้รับพระราชทาน "โกศโถ" บรรจุศพ

แต่หากเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุล จะได้รับพระราชทาน "โกศราชินิกุล" ซึ่งมีเกียรติสูงกว่าแทน

นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่ง ตลอดจนผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก/มงกุฎไทย, จตุตถดิเรกคุณาภรณ์, ตริตาภรณ์ช้างเผือก/มงกุฎไทย, ตติยดิเรกคุณาภรณ์, ตติยจุลจอมเกล้า (สืบตระกูล), ตติยานุจุลจอมเกล้า, และจตุตถจุลจอมเกล้า ตามเกณฑ์ปกติจะได้รับพระราชทาน "หีบก้านแย่ง" บรรจุศพ

แต่หากเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุล จะได้รับพระราชทาน "หีบกุดั่น" ซึ่งมีเกียรติสูงกว่าแทน

เกียรติยศพิเศษในปัจจุบันที่พระราชทานแก่ราชนิกุลหรือราชินิกุลผู้รับราชการนอกเหนือจากนี้ ยังนึกไม่ออกครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 08:00

 ขอถามคุณ UP
ญาติของดิฉันเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง    
เคยเล่าให้ฟังว่าลูกศิษย์หัวกะทิคนหนึ่งได้ "ถวายตัว"เป็น"ข้าหลวงเรือนนอก"
ในสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
แต่ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับอาชีพการงานประจำ

อย่างนี้พอจะเทียบกับถวายตัวรับราชการแบบโบราณได้ไหมคะ
คงต้องถวายดอกไม้ธูปเทียนแบบที่เล่าข้างบนนี้ด้วย?
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 08:44

 เอ..จะเป็นลูกศิษย์คนที่ผมเข้าใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ คิดว่าน่าจะเดาได้ถูกคนนะครับ    

ทราบมาว่าการถวายตัวเป็น "ข้าราชบริพารเรือนนอก" ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้น มีการทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนตามประเพณีครับ เมื่อเสด็จออกทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแล้วก็จะพระราชทานเข็มอักษรพระนามเป็นเครื่องหมายแห่งพระกรุณา ในลำดับชั้นสูงต่ำสุดแต่แต่พระอัธยาศัยและความเหมาะสม

(จริงๆ ข้าราชบริพารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ไม่มี "เรือนใน" หรอกครับ เพราะวังรื่นฤดีไม่มีที่พักเฉพาะของข้าราชบริพาร จะมีก็แต่สำหรับพนักงานประจำเช่น สารถี กรมวัง คนสวน พยาบาล คุณพนักงานฝ่ายในจากวังหลวง พนักงานห้องเครื่อง ข้าหลวง--ข้าหลวงในที่นี้หมายถึง "สตรี" ผู้รับใช้ในพระองค์)

สมัยก่อน วังเจ้านายฝ่ายในจะมี "ข้าหลวงเรือนใน" คือสตรีผู้ถวายตัวปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณซึ่งพำนักประจำอยู่ในวังนั้น กับ "ข้าหลวงเรือนนอก" คือสตรีผู้ถวายตัวปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณซึ่งพำนักอยู่นอกวัง เหมือนกับว่าบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของสตรีผู้นั้นได้ส่งมาถวายงานเจ้านายหรือเข้าเรียนงานอย่างในราชสำนักแบบไปกลับ หรือมาเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสนั่นแหละครับ

เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนไป ธรรมเนียมก็คลี่คลายมีวิวัฒนาการไป กิจการบางอย่างก็ต้องพึ่งบุรุษ หรือบ้างก็สุดแต่พระกรุณาของเจ้านายแต่ละวัง จึงทำให้มีการรับบุรุษเข้าเป็นข้าราชบริพารปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณเป็นครั้งคราวได้

แต่ครั้นจะเรียกบุรุษว่าเป็น "ข้าหลวง" ก็ฟังดูจะเป็นฝ่ายในไปหน่อย และหน้าที่ปฏิบัติก็ไม่ใช่เป็นเชิงรับใช้โดยตรง จะเรียก "มหาดเล็ก" ก็ดูไม่ตรงหน้าที่ หากแต่จะเป็นในลักษณะเฝ้าแหน ตามเสด็จ การประสานงาน จัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรในพระอุปถัมภ์ หรืองานบรรณาคม และการจัดการความเรียบร้อยสวยงามต่างๆ ในวัง

อย่างกรณีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงพระเมตตารับเด็กชายที่เป็นพระญาติบ้าง เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารบ้าง ไว้ในพระอุปการะ หรือพระราชทานโอกาสให้ได้ปฏิบัติงานถวายในส่วนที่เหมาะสม

ตั้งแต่สมัยประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ได้พระราชทานพระอนุญาตให้บุรุษมาทำหน้าที่เป็นสารถีบ้าง จัดการผลประโยชน์ ธุรกิจการงานส่วนพระองค์บ้าง ฯลฯ แต่จะไม่โปรดให้พำนักประจำถาวรในตำหนัก ถึงมีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็จะโปรดให้ประทับแยกจากสัดส่วนที่สตรีพักอย่างเป็นเอกเทศ เพราะยังทรงถือธรรมเนียมฝ่ายในอย่างโบราณ ทำให้คนไทยในอังกฤษทั้งหลายสรรเสริญพระเกียรติคุณของทั้งสองพระองค์เป็นอันมากว่า ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ได้อย่างเจ้านายฝ่ายใน ไม่เคยด่างพร้อยแม้ประทับในต่างประเทศ

แต่งานที่ข้าราชบริพารฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) จะปฏิบัตินั้น หากไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เช่น เพราะเหตุผลทางพระอนามัย หรือเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ต้องไม่ใช่งานที่จะสามารถจับต้องพระวรกาย หรือเข้าใกล้ชิดพระองค์ของเจ้านายฝ่ายในจนเกินงามเป็นอันขาด ทราบมาว่าธรรมเนียมฝ่ายหน้าฝ่ายในในวังรื่นฤดียังคงมีอยู่เข้มงวดพอสมควร ซึ่งต้องถวายพระเกียรตินี้แด่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ผู้ทรงวางแนวทางไว้

ส่วนจะเป็นการถวายตัวทำราชการหรือไม่ ผมไม่อาจสรุปได้ หากจะเปรียบ เห็นเข้าทางอย่างแม่พลอยไปถวายตัวแด่เสด็จฯ หรือนายศรถวายตัวแด่สมเด็จวังบูรพา (ต่างก็แต่ไม่ได้นอนอยู่ในวัง) มากกว่ากระมังครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 09:19

 นายศร ชาววังบูรพาเรียกว่า จางวางศร

เคยทราบมาว่า สมัยก่อนโน้นมีจางวาง  คือข้าราชบริพารชาย   แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ใต้ชายคาอย่างนางข้าหลวงสตรี
มีหน้าที่ดูแลงานการต่างๆที่ต้องอาศัยผู้ชายทำ หรือเป็นความถนัดของผู้ชาย   จัดผู้หญิงทำแทนไม่ได้
เช่นออกไปตรวจตราเก็บผลประโยชน์เงินทองค่าเช่า นอกวัง  ตามเสด็จไปในที่ต่างๆนอกวัง     ดูแลความปลอดภัยใครจะเข้าใครจะออก  เวลามีงานในวังเช่นงานทำบุญ ก็ไปนิมนต์พระ  จัดสถานที่ ยกแบกหามจัดข้าวของเครื่องใช้ที่หนักแรง

ถ้างั้นข้าราชบริพารเรือนนอกในปัจจุบัน พอจะเทียบกับ จางวาง ได้ไหมคะ?
สูงขึ้นถึงชั้นหัวหน้าก็เป็นกรมวัง?
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 10:02

 อืมม..พูดยากอยู่ครับ ขออนุญาตวิสัชนาเท่าที่สติปัญญาจะอำนวย ดังนี้

กรมวังปัจจุบันนี้เป็นข้าราชการสังกัดสำนักพระราชวัง ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดส่งมาประจำเจ้านายแต่ละวัง ไม่ได้มีสังกัดขึ้นตรงต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ในขณะที่ข้าราชบริพารเรือนนอกของวังรื่นฤดีนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในระบบราชการ ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

เรียกได้ว่าคนละสายงานบังคับบัญชา

ฉะนั้น การทำงานร่วมกันจึงเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ปรึกษาหารือกัน ไม่ได้เป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง แต่เท่าที่ปรากฏ กรมวังมักจะเกรงใจผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาในสำนักผู้บริหารงานในพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพาร และจะนอบน้อมมากต่อข้าราชบริพารที่อยู่มานาน ฉะนั้น กรมวังจะไม่สั่งงานข้าราชบริพาร  

ส่วนข้าราชบริพารก็จะไม่สั่งงานกรมวัง เพราะเขาไม่ใช่ลูกน้องโดยนิตินัย แต่จะเป็นแนวๆ ปรารภงาน ซึ่งก็อาจเท่ากับการขอให้กรมวังทำโดยพฤตินัย แต่จะไม่ทำตามที่ข้าราชบริพารปรารภก็ได้ ไม่ผิดอะไร แต่ก็ไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศ

สรุปว่า ในปัจจุบัน ข้าราชบริพารไม่อาจเทียบได้กับ "จางวาง" เพราะโดยนิตินัยนั้น ข้าราชบริพารอยู่ในสถานภาพที่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสูงหรือต่ำกว่ากรมวัง

การบริหารงานในพระองค์ (อย่างงานเลขาธิการ) นั้นเป็นลักษณะงานเอกชนขึ้นตรงต่อเจ้านาย ทั้งนี้ ข้าราชบริพารจะฟังการสั่งงาน หรือการขอแรงช่วยงานจากผู้ใหญ่ในส่วนนี้ ไม่ได้ฟังจากกรมวัง

อนึ่ง ผู้บริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น มีหน้าที่โดยตรงที่จะรับรับสั่งไปแจ้งแก่บุคคลต่างๆ ตลอดจนแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ในสำนักพระราชวังดำเนินการต่างๆ ได้ตามพระประสงค์ กล่าวโดยสรุปคือมีหน้าที่ในระดับการตัดสินใจ และเชิงนโยบาย

จากนั้น

กรมวัง (สังกัดสำนักพระราชวัง) คือพ่อบ้านก็จะปฏิบัติหน้าที่ หรือทำหน้าที่ประสานงานกับสำนักพระราชวัง (ในระดับปฏิบัติ) ตลอดจนทำหน้าที่เชิญของพระราชทาน นำเสด็จ ดูความเรียบร้อยในสถานที่ที่จะเสด็จไป ต้อนรับผู้มาเฝ้า จัดสถานที่และระเบียบการเฝ้า เบิกตัวผู้เฝ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นงานอย่าง Chamberlain ไม่ใช่ Secretariat

อนึ่ง ตามความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่าแท้จริงแล้ว คำว่า "ข้าราชบริพาร" ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน แต่เป็นคำเรียกรวมๆ ของบริวารในเจ้านาย เมื่อบุคคลได้ถวายตัวเข้าทำหน้าที่ที่ไม่รู้จักเรียกว่าอะไรดี (ข้าหลวงก็ไม่ใช่ มหาดเล็กก็ไม่เชิง พนักงานก็ฟังดูต่ำไป) ก็เรียกว่าเป็นข้าราชสำนักบ้าง เป็นข้าราชบริพารบ้าง ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าจริงๆ มีหน้าที่อะไร การปฏิบัติก็คงเป็นลักษณะงาน job ไม่ใช่งาน routine

ในขณะที่กรมวังและจางวาง เป็นตำแหน่งที่ชัดเจนแน่นอนในระบบราชการ

ผมจึงจนด้วยเกล้าที่จะเปรียบเทียบครับ เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ก็เริ่มงงๆ เสียเองแล้วครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 10:32

 อ่านทวนไปทวนมาอยู่ ๓ ครั้งก็เริ่มจะเข้าใจ(บ้างเล็กน้อย)
ทำให้นึกได้ว่า อาจารย์ในค.ห. ๑๗ ก็มีญาติคนหนึ่ง ทำงานคล้ายๆกันแบบนี้
คือไม่ได้รับราชการ  ไม่มีตำแหน่งใดๆ แต่ว่าทำงานถวายเป็น job ไม่ใช่ routine แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯลงมา และบางครั้งก็ทำถวายขึ้นไป ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

คนที่ทำงานแบบนี้มีหลายสิบคน   มักทำกันเงียบๆไม่เป็นข่าว

ดิฉันก็ยังเรียกไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นอะไร  เคราะห์ดีว่าไม่มีใครเคยถามคำถามนี้  อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยทราบกัน
จะนับเนื่องเป็นข้าราชบริพารได้หรือไม่   น่าจะได้นะคะ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 10:56

 ถูกเผงทีเดียวครับ

ท่านเหล่านั้นนับว่าเป็นข้าราชบริพารได้แน่ แต่ท่านก็มีงานประจำของท่าน

ตัวอย่างนอกเหนือจากอาจารย์ท่านที่เอ่ยในความเห็นที่ ๑๗ แล้วก็ยังมี เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางท่านก็รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของเจ้านายบางพระองค์ คอยตามเสด็จ ดูงานเอกสารและหนังสือต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้ว หน้าที่การงานประจำและตำแหน่งบริหารของท่านประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย ดั่งนี้เป็นต้น

แม้แต่สมาชิกในเรือนไทยบางท่านในที่นี้ ตามหลักที่เราได้คุยกันมาข้างต้นนี้ ผมก็อาจเรียกได้ว่าท่านเป็นข้าราชบริพารของเจ้านายบางพระองค์ได้เช่นกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 11:39

ค.ห.ท้ายๆนี้ มีการเอ่ยปริศนาตัวบุคคลประหนึ่งว่าเป็นเกมทศกัณฐ์ที่ไม่มีใบหน้ามาโชว์
อาจจะถือเป็นการลับสมองก็ได้ หรือก่อความเวียนหัวให้ผู้อ่านอื่นๆที่แวะเข้ามาอ่านก็ได้
ถ้าใครปวดเศียรเวียนเกล้า มาขอยาได้ฟรีที่นี่ค่ะ

ดิฉันอยากจะเดาว่าผศ. ท่านนั้นมีคำนำหน้าระบุว่าเป็นราชนิกุลอยู่ด้วยนะคะ  คุณ UP
ตอนนี้ท่านไปรับตำแหน่งในบัณฑิตวิทยาลัยแล้ว

ส่วนอาจารย์ลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมืองในค.ห. ๑๗ นั้น เป็นข้าราชบริพารแน่นอน
และสมาชิกเรือนไทยบางท่านที่แวะเข้ามาบ่อยๆก็เป็นข้าราชบริพารเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 12:36

 ขอเวลานอกท่านทั้งหลาย เล่นเกมทศกัณฐ์กับคุณเทาชมพูอีกแล้ว

..ถ...ผถ....ผิดคร้าบ...

ท่านที่ผมหมายถึงนั้น ไม่ใช่ราชนิกุลท่านที่ไปประจำอยู่บัณฑิตวิทยาลัยครับ

ผมหมายถึงท่านที่ตอนนี้ท่านยังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจำอยู่คณะอักษรศาสตร์ สมัยผมเรียน ก็มีโชคดีได้ลงเรียนวิชาเลือกเสรีเกี่ยวกับพุทธศาสนาของท่านด้วย สมัยนั้นท่านยังเป็น อาจารย์ ดร. (ท่านเป็นอาจารย์ ดร.มานานแสนนานเหลือเกิน) และเห็นว่าท่านเพิ่งได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์" เมื่อไม่นานมานี้

ขออนุญาตใบ้คำด้วยการแปลนามสกุลท่านจากภาษามคธเป็นภาษามคธว่า "อัสสวิโรฒการ" ครับ
บันทึกการเข้า
เฟื่องแก้ว
พาลี
****
ตอบ: 327

เลขานุการ


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 14:26

แปลภาษามคธจากภาษามคธ  
ปริศนาดาราทายครั้งนี้ ขอผ่านค่ะ

เฟื่องก็อ่าน ๆ แล้วก็เสนอหน้าเหมือนกันค่ะ
หวังว่าคงไม่ถือนะคะ แหะๆ

ขอมานั่งฟังเป็นเพื่อนคุณชื่นใจ
เดี๋ยวเดือนหน้าจะข้ามช่องแคบไปช่วยทำการบ้านนะคะ โถ
บันทึกการเข้า
กอประกาญจน์
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 15:00

 ขอมาทายด้วยคนค่ะ ตอบว่าอาจารย์ประพจน์ค่ะ เห็นท่านในโทรทัศน์บ่อยๆ ยังแปลกใจว่าทำไมท่านดูเหมือนอายุเท่าสมัยดิฉันยังเรียนอยู่เลย (ซึ่งผ่านมานานหลายปีแสงแล้วค่ะ)
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 15:25

 จุ๊ๆๆๆ...คุณกอประกาญจน์ ไปออกนามอาจารย์ท่านโจ่งแจ้งอย่างนั้น เดี๋ยวท่านเกิดไม่อยากเผยตัวแล้วผมจะโดนถอนเกรดคืนย้อนหลัง โทษฐานไขข้อมูลให้แพร่หลาย

เอาเป็นว่าผมไม่เฉลยก็แล้วกันว่าผมหมายถึงอาจารย์ท่านใด

จบข่าว
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 16:26

 เออ... เผลอเดาคนเดียวกับ อ.เทาชมพู ด้วยสิครับ
ที่ไหนได้ คุณอัพพูดถึงอีกท่าน แหะๆ


กลับไปหน้าแตกต่อครับ เหอๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 26 มี.ค. 06, 16:49

 ถ้าไม่ได้คุณกอประกาญจน์มาเป็นทีม   ก็ตกรอบไปแล้วค่ะ
ไม่อยากให้บอกนามสกุลจริง  ก็บอกแค่อักษรบางตัวก็ได้
ศ ฬ ห  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง