เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7774 หลายแง่หลายมุม เกี่ยวกับเรื่องแปล
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


 เมื่อ 22 มี.ค. 06, 02:46

 ตอนนี้มีข่าวฮอทที่แดน บราวน์ตกเป็นจำเลยในข้อหาที่ "หยิบ" พลอตเรื่องของนิยายเรื่องอื่นมาใช้ ว่ากันว่าหากเรื่องนี้
ไม่ได้เป็นเกมซูเอี่ยของทั้งสองฝ่ายเพื่อดันยอดขายหรือโปรโมทภาพยนต์ แดน บราวน์คงจะเหนื่อยน่าดู

"หลังจากที่ต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ในการไต่สวน สำหรับการฟ้องร้องเกี่ยวกับการขโมยพล็อตเรื่องของแดน บราวน์
ในงานเขียนเรื่อง The Da Vinci Code อันสุดโด่งดังของเขา โดยทนายฝ่ายโจทก์ได้แถลงว่าคำให้การของบราวน์นั้น
เชื่อถือไม่ได้ และสงสัยว่าทำไมภรรยาของเขาซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลในการเขียนงานดังกล่าวจึงไม่มาร่วมให้การด้วย
โดยการพิจารณาคดีจะสิ้นสุดในช่างต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ตามรายงานข่าวจากเอพีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
     
โดยคดีดังกล่าวเกิดจากการที่ ไมเคิล ไบเจนท์ และ ริชาร์ด ลี สองนักเขียนเจ้าของผลงาน The Holy Blood and the
Holy Grail เมื่อปี 1982 ยื่นฟ้องต่อศาลประเทศอังกฤษว่า แดน บราวน์ เจ้าของผลงานอันลือลั่น The Da Vicci Code
ได้ละเมิดแนวคิดหลักจากหนังสือของพวกตน โดยเฉพาะเนื้อหาที่อ้างถึงการสมรสระหว่างพระเยซูเจ้ากับหญิงสาวที่ชื่อ
แมรี แมกดาลีน รวมทั้งความเชื่อว่าทั้งสองพระองค์ได้ให้กำเนิดเลือดเนื้อเชื้อไขสืบต่อมาอีกด้วย"
 http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000038404

กระทู้นี้จะชวนเพื่อนสมาชิกคุยเกี่ยวกับเรื่องแปล ในหลายแง่หลายมุมที่สงสัยมานานค่ะ

1) กรณีที่เรื่องมาพ้องกันโดยบังเอิญ คนเขียนทีหลัง หาก "อมพระมาพูด" ศาลจะเชื่อไหมคะว่าฉันบกพร่องโดยสุจริต
คือมันบังเอิ้ญ.... บังเอิญ น่ะค่ะ

2) ในเคสของ   "กาเหว่าที่บางเพลง" หากผู้ประพันธ์ "ยืม" พลอตเรื่องของเรื่องอื่นมาบ้าง แต่สร้างฉากและดัดแปลง
สิ่งแวดล้อมในเรื่องเสียใหม่ จะสามารถพ้นข้อครหาได้หรือไม่คะ (มีอะไรเป็นเกณฑ์ว่ายืมมาก ยืมน้อยไหมคะ?)
[เปรียบเทียบกับการอ้างอิงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป อาจเป็น plagiarism]

3) จะทราบได้อย่างไรคะว่านิยายต่างประเทศเรื่องใดมีผู้แปลแล้วหรือยัง

4) หนังสือแปลรุ่นแรกๆที่แปลก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์จะเริ่มใช้อย่างจริงๆจังๆ จะสามารถนำมาพิมพ์จำหน่ายได้อีกหรือไม่

สุดท้ายผิดคาดไปนิดหนึ่งค่ะ เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นักแปลท่านหนึ่ง ที่พูดว่าคนจะแปลให้ดี ภาษาไทยต้องดี
ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ!! (หมายความว่าชนะกันที่สำนวนภาษาไทยนั่นเอง)
บันทึกการเข้า
Its me
อสุรผัด
*
ตอบ: 7

Chief engineer at Mueller Engineering, Inc. in Wisconsin, USA.


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 05:14

 Khun Nuchana:
Money motivates taking someone to court.
If "The Da Vinci Code" does not make millions of dollars there would not be any sueing.
For the same reason nobody sues Thai writers who copied the plots.
I started reading English novels when I read a book that had the same plot as the famous "Roy Montin" by Tommayuntri.
In case of "Black Bird at Bang Yai", I beleive that Mr. K.P. knew the original English writer.
I translated a few short science fictions. I got 700 bahts for each story from the publisher. I refered to the original author and the book. I was in college and did not know how to ask for copyright. I think the author will be glad to know that his story was translated in Thai.
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 09:17

 ในฐานะคนเคยแปลหนังสือเล่นมาบ้าง ไม่ใช่นักแปลอาชีพ ผมเห็นด้วยกับนักแปลท่านนั้นที่คุณ Nuch ยกมาครับ

อาจจะฟังดูแปลก ที่ว่าการแปลหนังสือภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้น คนแปลควรจะภาษาไทยดี งั้นหรือ? ใช่ครับ ถูกต้องแล้วครับ อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นความเห็นของนักแปลอาวุโสมากออีกท่านหนึ่ง คือ อ. สายสุวรรณ เคยพูดไว้คล้ายๆ กันอย่างนี้เหมือนกัน

ใจผมเห็นว่า อย่างน้อยๆ ภาษาไทยจะต้องดีพอๆ กับภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าถ้าภาษาอังกฤษไม่ดีก็จะอ่านต้นฉบับไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้น แต่ถ้าดีแต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว ภาษาไทยไม่ได้เรื่อง ต่อให้เข้าใจต้นฉบับดีขนาดไหนก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเวลาแปลได้ให้คนอ่านในภาษษไทยเข้าใจ จำเป็นต้องดีทั้งสองภาษา คิดง่ายๆ ฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิต ภาษาอังกฤษดีเยี่ยมขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่รู้ภาษาไทยเลย ไม่มีทางจะแปลหนังสือฝรั่งออกเป็นไทยได้ ถึงคนไทยที่รู้ภาษาไทยดียอดเยี่ยม แต่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเลย ก็แปลหนังสือไม่ได้เช่นกัน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 10:41

 1) กรณีที่เรื่องมาพ้องกันโดยบังเอิญ ก็ต้องมีการสวบสวนกันล่ะครับ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ เพราะมันบังเอิญกันได้ แต่เรื่อง the Divinci Code นี่ ผมนึกว่าเป็น plot จากพวก conspiracy theory เก่าแก่ซะอีก



2) กรณีกาเหว่าที่บางเพลง ถ้าจะฟ้องกันจริงๆคงไม่รอด เพราะถ้าจำไม่ผิด คุณชายคึกฤทธิ์ท่านก็บอกเองว่าดัดแปลงมา



3) ถ้าเป็นปัจจุบันคงไม่ยาก เพราะผมเข้าใจว่าปกติจะลงมือแปลจริงจังคงต้องคุยกับสนพ.เรื่องซื้อลิขสิทธิ์ก่อน ซึ่งปกติสนพ.จะติดต่อกับบริษัทที่เป็นนายหน้าอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ยังไม่ขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องกันก็ยุ่งละครับ ผมจำได้ว่าจินตวีร์ วิวัธน์ เคยแปลนิยายเรื่องหนึ่งลงในต่วย'ตูน พิเศษได้ไม่กี่ตอนแล้วถูกนักแปลอาวุโสท่านหนึ่งจดหมายมาต่อว่าว่าคุณจินตนาทำผิดมรรยาทที่มาแปลเรื่องที่ท่านได้แปลไว้แล้ว คุณจินตนานำจดหมายมาลงพิมพ์ไว้ ก็ตอบโต้กันอยู่ 2-3 ฉบับ ผมจำเหตุผลของคุณจินตนาที่ให้ไว้ตอนนั้นได้อย่างนี้

- คุณจินตนาไม่ทราบจริงๆว่ามีผู้แปลไว้แล้ว

- ถึงมีผู้แปลไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีการขอลิขสิทธิ์ สำนวนแปลปกติก็มีได้อยู่หลายสำนวนอยู่แล้ว

ส่วนเหตุผลจากฝั่งคนอ่าน(อย่างผม) ขอบอกว่าสำนวนแปลของนักแปลอาวุโสท่านนั้นช่างชวนหลับเหลือเกิน และอยากให้คุณจินตนาแปลต่อไป



ถึงที่สุดแล้วคุณจินตนาเองต้องยอมแพ้หยุดแปลไปเองครับ



4) อยากพิมพ์ก็คงได้ แต่ก็อาจจะเสี่ยงที่จะมีปัญหา แต่ทุกวันนี้ผมก็เห็นมีหนังสือที่แปลโดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์พิมพ์ออกมาอยู่มากมายนะครับ กฎหมายมีอยู่ก็จริง แต่ถ้าไม่มีเจ้าทุกข์มาฟ้องก็ไม่มีการดำเนินการครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 11:53

 เวลาอ่าน "กาเหว่าที่บางเพลง"  ได้อิงแอบกับบรรยากาศแบบไทยๆ รวมทั้งได้ข้อคิดดีๆ
หลายอย่างที่เมื่ออ่าน The Midwich Cuckoos แล้วไม่ได้ความรู้สึกแบบนี้

ตรงนี้ดิฉันคิดว่าผู้ประพันธ์ทำได้แนบเนียนหมดจด ซึ่งเราต้องให้เครดิตท่าน
ที่สามารถปล่อยฝีมือขัดเกลาจนซีนฝรั่งไม่หลงเหลือในเรื่องเลย  
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 13:49

 1) จาก ค.ห. ที่ 1 หากแดน บราวน์ แพ้ จะเกิดอะไรขึ้นคะ นอกจากค่าปรับ (lump sum settlement) และ/หรือ

ก. หนังสือถูกแขวน
ข. หนังสือขายต่อไปได้ แต่แบ่งกำไรกัน
ค. แดน บราวน์ไม่รอให้ตัวเองแพ้ แต่เลือกหนทาง out of court settlement

2) ขยายความข้อ 4 ที่กระทู้ เผอิญดิฉันได้รับคำแนะนำให้ไปหาอ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่ผู้แปล แปลได้ลื่นไหล
ใช้ภาษาไทยได้ดี ไม่มีสะดุด แต่พบว่าไม่มีวางขายอีกแล้ว ก็เลยแปลกใจ อย่างที่คุณหม่าพูดน่ะค่ะ บางเรื่องไม่ได้รับ
ลิขสิทธิ์ แต่ก็วางขายกันเกลื่อน ต่างประเทศก็ไม่ได้มาเอาเรื่องเอาราวอะไร (ถ้าเป็นนักเขียนโนเนมคงกล้าเสี่ยง)

** ที่บ้านมีหนังสือแปลเรื่องเพื่อนรัก โดยพวงร้อย คำเรียง ตีพิมพ์ ปี 2520
เอ...คุณพวงร้อย (vTeam) นี่เป็นนักเขียนด้วยหรือคะ?
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 14:52

 ถ้าแดน บราวน์(ทำท่าจะ)แพ้ ผมว่าต้องยอมความกันแหละครับ

ยากนะ ที่คดีแบบนี้จะไปถึงที่สุดในกระบวนการทางศาล
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 19:15

 ขออนุญาตตอบคำถามของกระทู้ข้อ 1,2 และข้อสุดท้ายครับ

เริ่มจากข้อแรก ในความรู้สึกส่วนตัวของผมนะครับ ถ้าเรื่องที่ ไมเคิล ไบเจนท์ และ ริชาร์ด ลี ได้นำเสนอขึ้นมาในหนังสือ Holy Blood and the Holy Grail ของเขา เป็นการสันนิษฐานส่วนตัวโดยไม่มีการกล่าวถึงมาก่อน ประเด็นนี้ก็คงมีการขุดคุ้ยกันต่อไปได้อีกนาน และบราวน์คงต้องยอมความไปในที่สุดล่ะครับ

แต่ถ้าเรื่องที่บราวน์หยิบขึ้นมาพูด เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ก่อนแล้วในวงการนักประวัติศาสตร์โลก เรื่องก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันอยู่แล้วนี่ครับ

(แต่ถ้าเรื่องดังกล่าวมีการพูดคุยกันขึ้นมา เพราะหนังสือเรื่อง Holy Blood and the Holy Grail ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะ เวลาก็ผ่านไปนานพอที่ผู้อ่านจะสนใจเนื้อหาเพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์จากบางส่วนของหนังสือได้นะครับ)



ข้อ 2 ผมไม่คิดว่าจะเป็นข้อครหาอะไรกับการหยิบยืมตัวละคร หรือโครงเรื่องมาจากที่ไหนแต่อย่างใดครับ เพราะเข้าใจว่าการหยิบยืมบุคลิกตัวละครหรือโครงเรื่อง มาเปลี่ยนฉาก ปรับโครงเรื่องขึ้นใหม่ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับงานเขียนครับ และมั่นใจด้วยว่าถ้าผู้ประพันธ์สามารถทำได้ดี งานเขียนชิ้นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าเช่นเดียวกับงานเขียนที่มีคุณค่าชิ้นอื่นๆครับ

ถ้าใครได้ฟังนิทานเก่าๆที่เล่าจากปากต่อปากของคนหลายเชื้อชาติ อาจพอเห็นภาพรางๆได้ว่านิทานแต่ละเรื่องจะถูกเปลี่ยนพลอตเรื่องไปจากเดิมนิดๆหน่อยๆเมื่อก้าวข้ามกำแพงที่แบ่งแยกสังคม 2 สังคมออกจากกันให้เข้ากับสังคมของผู้เล่าและผู้ฟังมากขึ้น
เช่น สังคมของเชื้อชาติ หรือ สังคมของศาสนา ไงครับ

จากสังคมใกล้ๆ หรือสังคมที่ห่างออกไป เช่น คนเชียงใหม่เล่าแบบหนึ่ง คนกรุงเทพฯก็เล่าอีกแบบหนึ่ง โดยไม่สามารถหาต้นตอของผู้เล่าได้อย่างแน่นอนด้วยนะครับ

หรือชาดกเล่าอย่างหนึ่ง คนธรรมดาก็เล่าอีกอย่างหนึ่ง
ใครนึกไม่ออกลองนึกเปรียบเทียบภาพ "กากะชาดก" กับ "กากี" ดูครับ
- ชาดกเรื่องนี้เล่าว่าพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาครุฑได้ไปลักเอานางสุสันธี ซึ่งเป็นมเหสีพระเจ้าตัมพราชมา
พระเจ้าตัมพราชได้ให้คนเล่นพิณชื่อ นายอัคค ออกตามหาไปถึงเกาะนาคจนพบนางสุสันธีจึงได้ร่วมรักกัน
เมื่อนายอัคคเดินทางกลับมายังแล้ว จึงได้ขับเพลงเล่าถึงเกาะนาคและนางกากีให้พระยาครุฑซึ่งมาเล่นสกากับพระเจ้าตัมพราชฟัง
พระโพธิสัตว์พระยาครุฑจึงเกิดความสะท้อนใจนำนางสุสันธีมาคืนพระเจ้าตัมพราช

(จะเห็นว่าจากพลอตง่ายๆ เมื่อผู้เล่าเติมสีสันเข้าไปนางกากีก็แทบจะเรียกได้ว่ามีสามีทุกสปีชีส์และทุกอาชีพก็คงไม่ผิดมั้งครับ)



ส่วนคำถามสุดท้ายของคุณนุชนาถ้ามองอย่างผม(เหมือนที่เล่าไว้ในข้อ 2)
เห็นทีความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ 4 จะตอบไว้หมดแล้วนะครับ ขออนุญาตเปลี่ยนใจไม่ตอบดีกว่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 20:07

 ขอตอบ

1) กรณีที่เรื่องมาพ้องกันโดยบังเอิญ คนเขียนทีหลัง หาก "อมพระมาพูด" ศาลจะเชื่อไหมคะว่าฉันบกพร่องโดยสุจริต
คือมันบังเอิ้ญ.... บังเอิญ น่ะค่ะ

ถ้ามันบังเอิญจริงๆ   คนเขียนทีหลังสามารถหาหลักฐานสิ่งแวดล้อมหรือแรงจูงใจมาตอบให้ศาลเชื่อได้ ว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้
เช่น  ความรู้หรือข้อคิดในเรื่องนี้เป็นสิ่งแพร่หลายมาก่อนอยู่แล้ว/ผู้เขียนหาหลักฐานได้ว่าได้สอบถาม และหาแหล่งความรู้มาแสดงให้เห็น ฯลฯ

 2) ในเคสของ "กาเหว่าที่บางเพลง" หากผู้ประพันธ์ "ยืม" พลอตเรื่องของเรื่องอื่นมาบ้าง แต่สร้างฉากและดัดแปลง
สิ่งแวดล้อมในเรื่องเสียใหม่ จะสามารถพ้นข้อครหาได้หรือไม่คะ (มีอะไรเป็นเกณฑ์ว่ายืมมาก ยืมน้อยไหมคะ?)
[เปรียบเทียบกับการอ้างอิงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป อาจเป็น plagiarism]

ไม่ได้ค่ะ  "กาเหว่าที่บางเพลง" เมื่อทำเป็นหนัง ไม่สามารถโกอินเตอร์ได้เพราะเจอปัญหาข้อนี้    มันคนละเรื่องกับการอ้างอิงหนังสือ

3) จะทราบได้อย่างไรคะว่านิยายต่างประเทศเรื่องใดมีผู้แปลแล้วหรือยัง
ตรวจสอบได้จากเอเยนต์แปล   ในเมืองไทยมีหลายๆแห่ง  เขามีรายชื่อหนังสือที่มีผู้ขอแปลเป็นไทยแล้ว      หรือเขียนถามโดยตรงที่สนพ.ที่ถือลิขสิทธิ์ฉบับภาษาต่างประเทศอยู่

4) หนังสือแปลรุ่นแรกๆที่แปลก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์จะเริ่มใช้อย่างจริงๆจังๆ จะสามารถนำมาพิมพ์จำหน่ายได้อีกหรือไม่
ไม่ได้ค่ะ   ถ้าทำก็เสี่ยงถูกฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์เอาเองนะคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:01

ต่อไปนี้เป็นการคิดเล่นเรื่อยเปื่อย ซึ้งผมคิดมาพักใหญ่แล้ว ตั้งแต่ทำงานอยู่เจนีวา

เมืองนั้นเผอิญเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศองค์การหนึ่ง คือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ผมไปทำงานก็ขับรถผ่านสำนักงานองค์การนี้ทุกวัน แม้ว่างานที่ผมทำขณะนั้นจะไม่เกี่ยวข้องมากนักกับองค์การที่ว่านี่ก็ตาม

ที่ผมคิดเล่นเรื่อยเปื่อยส่งเดชไปก็คือ ในด้านหนึ่ง ผมเห็นใจว่า คนที่คิดค้นอะไรขึ้นมา เขาควรจะมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เขาอุตส่าห์คิด และคนที่ไม่ยอมคิดเองแต่ลอกคนอื่นหน้าด้านๆ ไปหาสตางค์นั้นก็ควรเรียกได้ว่าเป็นโจรขโมยความคิด อันนี้ผมรู้สึกว่าเป็นแนวคิดของฝรั่งระบบทุนนิยม ซึ่งมักชอบเห็นหรือแปลงอะไรต่ออะไร ตีค่าอะไรต่ออะไรเป็นเงินไปได้หมด แต่ถึงจะรู้สึกอย่างนั้นผมก้พอเข้าใจเขา คือคนที่คิดยังงี้ (และผลักดันแนวคิดนี้จนเป็นมาตรฐานสากลไปแล้ว) ได้ เหตุผลที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นว่า ถ้าหากไม่มีระบบคุ้มครองความคิดของคน (หรือที่เรียกว่าสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา) ที่เข้มแข็ง ใครคิดอะไรขึ้นมาก็ถูกลอกถูกขโมยเสียหมดแล้ว คนช่างคิดทั้งหลายก็จะหมดกำลังใจ เลิกคิดอะไรใหม่ๆ ดีๆ โลกก็จะไม่ก้าวหน้า - โอเค

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามสุดโต่งสุดลิ่มทิ่มประตูไปเลยจากแนวคิดแรก ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่ามีบางครั้งผมรำคาญ หรือรู้สึกว่าการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไม่ได้จำเป็นต้องนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของสังคมชนหมู่มากที่สุดหรือทำให้โลกนี้ดีขึ้นก้าวหน้าขึ้นเสมอไป

ยกตัวอย่างจากมุมมองของผู้บริโภค คุณ C.H. ใจเดียวกับผม ที่ว่า สำหรับนักอ่าน ถ้าไม่ยกเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์การแปลขึ้นมาแล้ว การมีสำนวนแปลหลายๆ สำนวนจากต้นฉบับชุดเดียวกัน ย่อมดีกว่าการถูกบังคับให้อ่านสำนวนแปลอยู่ฉบับเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อคนแปลคนนั้นแปลห่วย และคนแปลคนอื่นที่อาจจะแปลได้ดีกว่า ไม่สามารถแปลแข่งได้ เพราะติดที่ว่าเผอิญคนแปลคนแรกรีบไปทำข้อตกลงลิขสิทธิ์การแปลกับสำนักพิมพ์เจ้าของต้นฉบับซะแล้ว ถือว่าเป็นผู้แปลที่ "ถูกต้อง"

ที่จริง การมีแข่งกันหลายๆ สำนวนน่าจะเป็นไปตามหลักของทุนนิยมเสรีอีกข้อ (ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าระบบคิดแบบทุนนิยมเสรีเหมือนจะแย้งกันเอง) คือ การแข่งขันโดยเสรี ซึ่งว่ากันว่าน่าจะทำให้ผลประโยชน์ตกกับผู้บริโภคไม่ใช่หรือครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:23

 ผมคิดว่ามันน่าจะมีสมดุลระหว่างปรัชญาการเคารพในสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของมนุษย์ผู้รังสรรค์ ... ชิ้นงาน อะไรก็ตามแต่ ที่เป็นชิ้นงาน ด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือความ... เรียกอะไรดี โลภ? เห็นแก่ตัวเห็นแก่กำไรของผู้ทรงสิทธิ์ หรือผู้อ้างสิทธิ์

สิ่งอะไรที่ฝรั่งในระบบทุนนิยมเห็นว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกันได้นั้น วัฒนธรรมอื่นๆ บางทีก็ไม่เห็นว่าจะสามารถจะจับจองซื้อขายเป็นเจ้าของครองสิทธิ์ได้ แต่โลกเราเดี๋ยวนี้เป็นโลกทุนนิยมไปหมดแล้ว แม้แต่ผมก็เป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยม ก็ต้องยอมรับมาตรฐานของทุนนิยม ตัวอย่าง คนอินเดียนแดงบางเผ่าในอเมริกา (หรืออะบอริจิ้นในออสเตรเลียก็เหมือนกัน) เขาเห็นว่า ฟ้าดินก็คือฟ้าดิน ไม่เป็นของใคร คือเป็นของทุกคน ทุกคนใช้ได้หมด การที่คนขาวลุกขึ้นตีเส้นแบ่งฟ้าแบ่งดินเป็นส่วนๆ แล้วก็ออกโฉนดครอบครองที่ดิน ล้อมรั้วกัน ซื้อขายแผ่นกระดาษโฉนดกันโดยให้มีผลเป็นการเฉือนฟ้าดินเป็นส่วนๆ ไปตามกระดาษด้วยนั้น พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องบ้าไร้สาระที่สุด

ความคิดในหัวคนก็เหมือนกัน มันจดทะเบียนยึดถือครองได้จริงๆ หรือ? แล้วต่อให้ทำได้จริง (ในบางระดับก็ทำได้ ในบางระดับควรทำ แต่ผมยังเชื่อว่าในบางระดับ ควรทำหรือ?) ต่อให้ใส่กรงขังความคิดได้  มันจะเปนการบำรุงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ในโลก หรือจะเป็นการขัดขวางนวัตกรรมกันแน่ก็ยังสงสัยอยู่ ความคิดที่จะงอกงามได้ดี ควรเป็นเสรีไม่ใช่ถูกขังกรงไม่ใช่หรือ?

เรื่องวัฒนธรรมต่างกันมองต่างมุมกัน มีอีกตัวอย่าง เผอิญเมืองเจนีวาเป็นที่ตั้งขององค์การอนามัยโลกและองค์การการค้าโลกด้วย แล้วก็มีการถกเถียงกันมานานแล้ว ถึงเรื่องสิทธิบัตรยา คุณว่าควรหรือไม่ควรคุ้มครองครับ ถ้าคุ้มครอง ควรคุ้มครองแค่ไหน ร้อยละร้อยเต็มที่ บริษัทยามีอำนาจสิทธิ์ขาดในการกำหนดว่าใครจะเอาสูตรเขาไปใช้ได้แค่ไหนอย่างไร ผลิตได้แต่ไหน ขายราคาเท่าไหร่... เพียงเพราะเขาถือสิทธิบัตรยาอยู่ ใช่ไหม ใครแอบผลิตแข่งกับเขา ถือเป็นยาเถื่อนยาปลอม ต้องจับปราบให้สิ้นซากใช่ไหม - นั่นมุมหนึ่ง (ก็เขาอุตส่าห์ลงทุนไปตั้งแยะคิดค้นขึ้นนี่)
คิดมุมกลับ ถ้ายามันเป็นของดี ทำให้โรคหาย ควรส่งเสริมให้แพร่กระจายโดยไม่ต้องมีขอบเขตเลย ใครใคร่ผลิตผลิต ใคร่ค้าค้า หรือไม่? คนยากจนในประเทศโลกที่สาม ตายด้วยโรคร้ายแรงไปวันๆ ปีๆ เท่าไหร่ เพราะไม่มีเงินจะซื้อยา ก็บริษัทยาฝรั่งเจ้าของสิทธิบัตรขายแพงเหลือเกิน ปิดประตูค้าผูกขาดนี่ แล้วคนอื่นจะช่วยคนป่วยจนๆ มนุษย์ตาดำๆ จะผลิตยาตัวนั้นออกมามั่ง ขายถูกๆ ก็ไม่ให้เขาผลิต กลัวขาดทุนกำไร โห- ใจดำไหมล่ะ?

จะว่าไง ระหว่างมนุษยธรรมกับความถูกต้องในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา?

ดีเบทนี้ก็ยังเถียงกันอยู่ครับ อันนี้ผมพูดให้ง่ายๆ oversimplify แยะแล้ว แต่ก็คล้ายๆ อย่างนี้แหละ

ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา หรือในเอเชียที่อื่นบางแห่ง สูตรยาแผนโบราณเป็นสูตรสาธารณะนะครับ ไม่มีใครอ้างเป็นเจ้าของหรือหวงเป็นเจ้าของ เรียกว่า ... "ยาผีบอก" ผีเป็นผู้มาบอกให้เป็นทาน คนจะเอาไปใช้ ใครก็ใช้ได้ ทำบุญให้ผีหรือเสียค่ายกครูนิดหน่อยพอ แต่ก็นั่นแหละก็เถียงได้อีกว่า ยาผีบอกก็เป็นยาผีบอกอยู่แค่นั้น ไม่สามารถพัฒนาเป็นยาใหม่ๆ ดีๆ ทันสมัยได้ เพราะไม่มีแรงจูงใจทางพาณิชย์ ไม่มีใครลงทุนทำห้องแล็บทดลองค้นคว้า เพราะถ้าได้ผลขึ้นมาก็ไม่สามารถหากำไรทางธุรกิจได้ ก็จริงของเขาอีก
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:35

 แล้วที่มันแย่อีกข้อหนึ่ง ก็ตรงระบบการจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์นี่แหละ คือโอเค การคุ้มครองมันควรต้องมี สงสารคนที่เขาคิดก่อน แต่ในหลายกรณีมันไม่ใช่ยังงั้น ระบบที่เป็นอยู่มันแค่บอกว่า คนที่รีบลุกขึ้นมาจดก่อนได้รับการคุ้มครองไปเลยก็มี (กลับไปยกตัวอย่างคนแปลห่วย แต่ไว รีบทำข้อตกลงกับสำนักพิมพ์ต้นฉบับก่อนอีกครั้ง) กลายเป็น first come first served

อะไรบางอย่างที่เคยเป็นของเราอยู่มานมนากาเล เราไม่เคยคิดจะจดตีทะเบียน ใครก็ไม่รู้แว่บมา คว้าไปจดแจ้งตามระบบที่กำหนด อะไรบางอย่างนั้นกลายเป็นของเขาไปซะแล้ว

ไม่ต้องยกตัวอย่างก็คงได้ หรือจะยกอันที่ผมรู้สึกแย่สุดๆ ก็ได้ว่า ไม่กี่ปีก่อนตอนที่โรมาเนียจะทำสวนสนุก ธีมปาร์กเกี่ยวกับแดรกคูล่า ซึ่งตามประวัติศาสตร์ก็เป็นคนโรมาเนียนโบราณ คือเจ้าชายวลาด เทเปส แคว้นทรานซิลวาเนียก็อยู่ในประเทศนั้น มีจริง จนเป็นแรงบันดาลใจให้แบรม สโตเกอร์เอาไปแต่งเป็นเรื่องท่านเคานท์ผีดิบดูดเลือด แล้วก็กลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่องแล้ว ฝรั่งก็รวยไป แต่ไม่เคยมีใครเอาเงินมาบริจาคให้โรมาเนียสักบาท ครั้นพอมาถึงปลายศตวรรษที่ 20 โรมาเนียจะลุกขึ้นขอหาเงินจากตำนานแดรกคูล่าบ้าง ไม่ได้ครับ เจ้าของผู้ทรงสิทธิ์กลายเป็นฮอลลี่วู้ด ทั้งๆ ที่เดิมตัวไปเก็บเศษพงศาวดารของเขามาแท้ๆ...

คิดเล่นๆ เรื่อยเปื่อยครับ พอกันไม่ให้สมองเป็นอัลไซเมอร์
บันทึกการเข้า
เฟื่องแก้ว
พาลี
****
ตอบ: 327

เลขานุการ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:39


.
ตอบคำถามไม่ได้ แต่เห็นด้วยกับ คหพต. ที่ 1,7,9 และ 10 ค่ะ  
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:53

 เห็นแมวคุณเฟื่องแก้วแล้วน้ำตาจะร่วง

แมวผมหายไปสัปดาห์หนึ่งแล้ว หน้าตาเหมือนในรูปที่คุณเฟื่องแก้วแปะไว้เป๊ะเลยครับ แล้วมันก็ชอบนอนหงายท้องให้เกาพุงอย่างนี้ด้วย

คิดถึงจัง ไม่รู้เป็นตายร้ายดียังไง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 มี.ค. 06, 21:54

 ***ครั้นพอมาถึงปลายศตวรรษที่ 20 โรมาเนียจะลุกขึ้นขอหาเงินจากตำนานแดรกคูล่าบ้าง ไม่ได้ครับ เจ้าของผู้ทรงสิทธิ์กลายเป็นฮอลลี่วู้ด ***

ชักสงสัย    เพราะ
๑) โรมาเนียเป็นถิ่นเกิดของเจ้าชายที่เหี้ยมโหดชื่อเจ้าชายวลาด มีสมญาว่า Dracula แปลว่า Devil
๒) ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ นักเขียนอังกฤษชื่อบราม สโตเกอร์แต่งนิยายเกี่ยวกับผีดิบดูดเลือดชื่อเคานต์แดรกคิวลา   มีนิวาสถานอยู่ที่ทรานซิลวาเนีย
แต่แกนอกจากดูดเลือดชาวบ้านแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับปวศ. สักอย่าง

หนังสือเรื่องนี้เป็นลิขสิทธิ์ของคุณบราม สโตเกอร์ จวบจนแกตายไป  ลูกหลานที่รับมรดกแกก็รับเรื่องนี้ไปจนสุดสิ้นอายุลิขสิทธิ์ คือ ๕๐ ปีหลังแกตาย(หรือ ๗๕ ปี ไม่แน่ใจเรื่องตัวเลข)
ระหว่างนี้ใครทำหนังทำละครก็ต้องตจ่ายเงินให้ทายาทของคุณสโตเกอร์

แต่ตัวหนังและละครนั้นเป็นสิทธิ์ของผู้ผลิต   ส่วนบทหนังบทละครเป็นสิทธิ์ของผู้เขียนบท   เว้นแต่ผู้เขียนบทขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ผลิตไปด้วย
หนังนี่ใครเอาไปฉายตามใจชอบไม่ได้  ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของ จนกว่าจะหมดอายุสิทธิ์

ดิฉันก็ไม่ทราบว่าทางโรมาเนียยื่นมือเข้ามาขอเอี่ยวในฐานะอะไร  เพราะมาถึงขั้นนี้แล้วมันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับเจ้าชายวลาดอีก
จะว่าเป็นสิทธิ์ในสมญา แดร็กคิวล่า   ชื่อนี้ก็ไม่ใช่ชื่อตัวและนามสกุลของเจ้าชาย   เป็นสมญาที่เอาไปใช้กันได้โดยเสรี  ไม่มีลิขสิทธิ์

หรือว่าโรมาเนียไม่สามารถเอาชื่อ แดร็คคิวล่า ไปหากินได้   เพราะมันกลายเป็นชื่อหนังไปแล้ว?  
แต่ถ้าโรมาเนียจะเลี่ยงบาลี ใช้ Prince Dracula ดิฉันว่าได้นะคะ  คนละคนกับ Count Dracula
แต่...อีกที  ชื่อหนังก็ซ้ำกันได้นี่คะ  เหมือนชื่อนิยายน่ะแหละ  ไม่ถือว่าละเมิด

อันนี้ก็คิดเรื่อยเปื่อยบริหารสมองไปตามเรื่องตามราวเหมือนกันค่ะ   ผิดถูกยังไงใครรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ช่วยเข้ามาแก้ไขทีนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง